เรื่องของใจยังไงก็ห้ามชุ่ย

อ่าน: 178120

กระติกน้ำดื่มที่วางไว้หน้าห้องทำงานตั้งแต่เมื่อคืนหายไปไหนไม่ทราบ ว่าไปก็สมควรแล้วล่ะค่ะ ไม่เก็บเองนี่ แม่บ้านก็พยายามช่วยหา

“เมื่อเช้าหนูยังเห็นอยู่เลยค่ะ”

ก็เลยสั่งว่าถ้าเจอก็เก็บไว้ให้ด้วยแล้วกัน ถ้าไม่เจอก็ไม่เป็นไร ช่างมัน ที่บ้านยังมีอีกเยอะ (แนะ)

อาจารย์ในห้องทักกันว่า

“อาจารย์ปูนี่ ง่ายดีเนอะ เห็นของหายประจำ (ว่าเค้าเหรอตะเอง) แต่ไม่เห็นทุกข์ร้อนอะไรเหมือนชาวบ้านเขาเลย ถ้าเป็นคนอื่นไม่ได้นะ ถ้วยชาม ปากกา ข้าวของเครื่องใช้ต้องเขียนชื่อแปะกันไว้ทุกคน ผู้ใหญ่ท่านอื่นของหายชิ้นเดียว วิทยาลัย ฯ แทบแตก”

ได้แต่ยิ้ม ๆ

“อ้าว ก็เซ่อเองนี่คะ ดันวางไว้แล้วลืมเก็บทำไมล่ะ 555 หายแล้วจะไปโทษใครล่ะ ตอนเด็ก ๆ โดนยายว่าบ่อย ๆ ว่า “ชุ่ย”  เพราะนิสัยกระเปิ๊บกระป๊าบ ทำอะไรลน ๆ เร็ว ๆ สมาธิไม่ดีแบบนี้แหละ  เดี๋ยวทำของแตก เดี๋ยวทำของหล่น เดี๋ยว ๆ ของก็หายหาไม่เจอ (เคยอ่านจากที่ไหนสักแห่ง เขาบอกว่าเป็นกรรมเก่าที่เคยลักขโมยของชาวบ้านมาแต่ในอดีตนู่นเชียว :()

หลายครั้งที่เจอข้าวของของตัวเองในความครอบครองของคนอื่น ก็จะไม่เคยทวงหรอกนะคะ ก็มันตั้งนานมาแล้วอะ ช่างเหอะ เขาคงใช้จนชินไปแล้ิวล่ะ  ป๊าด.. บางรายไปเห็นอีกทีเขาเขียนชื่อกำกับไว้ข้างใต้ว่าเป็นของเขาไปเสียแล้ว  ท่าจะนานจัด จนแน่ใจว่าไม่มีเจ้าของอะนะ  คิดไปคิดมา เออ ก็ดีเหมือนกันนะ เขาก็รักก็หวงของดีนะ ไม่เหมือนเรา ดีแล้วที่เขาไม่ชุ่ยเหมือนเรา  :)”

ลองค้นดูความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็พบว่าความหมายแร๊งส์ อยู่เหมือนกัน

ชุ่ย
ชุ่ย ๑, ชุ่ย ๆ
ความหมาย : ว. หวัด ๆ, มักง่าย, ไม่ได้เรื่องได้ราว, เช่น เขียนชุ่ย ๆ ทําชุ่ย ๆ พูดชุ่ย ๆ.

ชุ่ย ๒
ความ หมาย : (วรรณ) ก. เสือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป, เสือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้, เช่น อ้ายพลายแก้วมิ่งเมืองไม่เงื่องงุย เอางาชุ่ยสอยดาวเข้าราวนม. (ขุนช้างขุนแผน)
.

เคยโทษว่าเป็นเพราะมีแต่เพื่อนเล่นที่เป็นเด็กผู้ชายที่โตกว่าทั้งนั้น  ก็เลยเล่นแต่อะไรพิเรน ๆ แบบเด็กผู้ชาย จึงทำให้ไฮเปอร์ สมาธิเว้า ๆ แหว่ง ๆ แบบนี้หรือเปล่า

ยิ่งตอนนี้สายตาก็ยาวไกลเข้าไปทุกวัน อะไรที่อยู่ใกล้ ๆ ตัว มองไม่เห็นหรอกค่ะ แม่ทิ้ง แม่เหยียบแหลก งานเยอะเรื่องแยะ ความจำก็ไม่ค่อยดี แถมไม่พิถีพิถันอีกต่างหาก

แต่ดีตรงที่เป็นคนไม่ค่อยหวงของ ไม่ยึดติด ไม่ค่อยเสียดาย ก็เลยทำใจให้ขำ ๆ ได้ เมื่อของหายทุกทีไป

ตะกี้พ่อครูบา Video Call มา แล้วบอกว่าได้ไอเดียเรื่องบ้านแล้ว จะทำเป็นกระต๊อบไม้ไผ่ซึ่งไฮโซขึ้นมาอีกนิดตรงใช้ไม้แผ่นใหญ่หน่อย มีที่เก็บของนิด ก็พอ

โป๊ะเชะ ถูกใจวัยโจ๋ เป็นอย่างยิ่ง เพราะก็ไม่รู้จะเอาพื้นที่ เอาอาณาบริเวณไปทำอะไรนักหนา แค่นอนและมีพื้นที่ทำภารกิจส่วนตัวนิดหน่อยก็พอแล้ว

แต่กลับกันค่ะ ถ้าเป็นเรื่องของงาน เรื่องของส่วนรวมแล้วล่ะก็ แม่จำแม่น จำทน จำนาน ใครพูดอะไรไว้เมื่อไหร่สมัยไหน จำได้หมด ทำอะไรมักจะต้องวางแผน 1 แผน 2 แผน 3 กันพลาด  ยิ่งเป็นเรื่องคนจะระมัดระวัง จะคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง จำได้หมดเลยนะ ใครจี๊ดเรื่องอะไร ใครเคยมีแผลเรื่องไหน คนนี้ต้องใช้ไม้นี้ คนนู้นต้องให้คนนี้เป็นคนเข้าไปปะทะ เพราะถูกจริตกัน

แสดงว่าสมองเราก็ไม่ได้สั่งการ อาการชุ่ยไปเรื่อยเปื่อยนี่เนาะคะ  มีการเลือกเรื่องที่จะชุ่ยได้ด้วยแฮะ กลับเลือกใส่ใจ เลือกที่จะละเอียดละเมียดละไมกับบางเรื่องได้  ยังกะเป็นอาการของคนละคนกันแน่ะค่ะ

เอ หรือเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญในแต่ละเรื่องของตัวเราเองคะ

เีิ้รื่องไหนเราไม่ถือ ไม่เคร่ง สบาย ๆ ชิว ๆ เราก็ fell free ที่จะชุ่ย

แต่ถ้าเรื่องไหนเราให้ความสำคัญ อยู่ในความสนใจ คาดหวังและตั้งความหวังไ้ว้ เราก็จะใส่ใจ ละเอียดละออ จะไม่ยอมชุ่ยเป็นอันขาด

วันนี้ได้คุยโทรศัพท์กับทางบ้าน เรื่องการเตรียมงานทำบุญเลี้ยงพระให้  คุณยาย ในโอกาสครบรอบ 90 ปี  แล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายเสนออะไรที่ง่าย ๆ ขั้นตอนน้อย ๆ ใช้เวลาน้อย ๆ อยุ่คนเดียว  พอเริ่มรู้สึกตัวว่าเราชักพูดจาไม่เข้าพวกแล้ววุ๊ย!

จึงต้องสรุปแล้วก็เอาตามที่ทางบ้านเขาต้องการทั้งหมดนั่นล่ะค่ะ

คิดไปคิดมาก็เลยนึกขึ้นได้ว่า หลังจากวางหูไปแล้วนี่ต้องโดนหม่อมยายเมาท์ว่าเรา็ยังคงเป็น “นางสาวสมชุ่ย” เหมียนเดิมแหง ๆ เลย

เรื่องนี้ครูปูจะยืนกรานให้ได้ดั่งใจก็ได้นะคะ ถ้าคิดหยาบ ๆ แค่เอาความถูก ผิด สะดวก ประหยัดและความพอสมแก่เหตุแก่ผล แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องบนโลกนี้ที่จะแบนราบเป็นแผ่นกระดานให้เราเดินผ่านไปอย่างราบรื่นโดยไม่ต้องเลี้ยว ไม่ต้องหลบ ไม่ต้องยอมใคร หรืออะไรบ้างเลยหรอกนะคะ

แต่ะละเรื่องราวที่เกิดขึ้น มักมีมิติที่ซ่อนเร้นแอบแฝงทะแยงคู่ไปด้วยกันเสมอ ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดความรู้สึกของปุถุชนคนธรรมดาเช่นเรา

ข้อพิพาทหลายเรื่องที่หลงทาง จะเอาแต่ชนะคะคานโดยมิได้แสกนซ้ำ ว่าสิ่งที่เราฟังแล้วไม่สมเหตุสมผลจนเราต้องคัดค้านเมื่อครู่ จริง ๆ แล้วมี “สาร” อะไรซ่อนไว้ในความคิดคำนึงของคู่พิพาทหรือไม่  ไม่ว่าจะเป็นความไม่เข้าใจ ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ การแปลความหมายแปลเจตนาซึ่งกันและกันผิด ความกลัว ความอับอาย ความไม่รู้ ความต้องการความสนใจ ความต้องการการยอมรับ ฯลฯ

สังเกตว่า เมื่อเกิดสิ่งที่ทำให้เราไม่พึงใจ “ใคร” หรือ “อะไร” ขึ้นมา เรามักเลือกที่จะละเลย หรือทำ “ชุ่ย ๆ” ใส่  แล้ว action ก็มักจะเท่ากับ reaction ตามสมการแห่งความสมดุลย์เสียด้วย พอโดนเขาทำ “ชุ่ย ๆ” กลับบ้าง เราก็ต่อกรรมด้วยการเขียนชื่อเขาไว้ในบัญชีบุคคลที่เราไม่ไว้วางใจ บุคคลที่เราจะไม่วางตัวสนิทสนม บุคคลที่จะเราจะไม่มีวันคิด มองและรู้สึกดี ๆ แบบที่เคยเป็นอีกต่อไป

นี่ถ้าเราฉลาดได้อีกหน่อย รู้เท่าทันตัวเอง รู้เท่าทันเหตุการณ์หรืออาการของคู่พิพาท หากเรายอมทุ่มทุนอีกนิด ถอยหลังมาบริหารจัดการจากต้นตอของปัญหา โดยไม่ต้องไปดักคอทำเป็นรู้ทัน ให้เขาได้เจ็บ ได้อายล่ะ

ในเมื่อต้องเจอกับปัญหายาก ๆ ที่แก้ไม่ได้ ก็ลองใช้เทคนิคการลดความสำคัญหรือขนาดของมันลงดู ลองทำให้มันเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือแกล้งทำเป็นว่ามันไม่เคยมีอยู่จริงจะยิ่งเจ๋ง   ใหญ่โตนักหรือ กระโดดข้ามแ..่งเลย ฮ่า…

ทดลองทำเนียน ๆ เหมือน reset ระบบกันใหม่อีกทีจะดีไหม ลองพยายามตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เท่าที่เรารับรู้หรือพอจะทำได้ ก่อนจะเอาชื่อเขาขึ้นบัญชีจะดีไหม  ทำเท่าที่ทำได้และอยากทำอะนะคะ  ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่โกหกตัวเอง ทำด้วยความเข้าใจ

ถ้ายังไม่สำเร็จอีกก็คงต้องปล่อยมันไป จะตีค่ากันว่าไม่น่าสนใจไม่คู่ควร เป็นเพียงอากาศธาตุซึ่งกันและกัน ทีนี้ก็เอาเลยแล้วกัน ก็ไม่รู้จะทำไงแล้วนี่!

อ้อ  มีอีกอย่างนึงที่พอจะทำได้แต่ยากที่สุดเลยค่ะ นั่นคือการวางเฉย หมายถึงเฉยจริง ๆ ไม่ต้องลบ ไม่ต้องจ้องนะคะ

อย่างน้อยวิธีการนี้ก็มีข้อดีอยู่บ้าง ตรงที่เราจะได้แน่ใจและไม่ลังเลหรือเสียดายภายหลัง ว่ายังไม่ได้ลองพยายามอย่างเต็มทีู่ดูสักตั้ง

จากเดิมอาจจะคุยกันไม่ได้เลย ไม่ยอมกันเลย เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จก็ถือเป็นศูนย์อยู่แล้ว ในเมื่อไม่ีมีอะไรจะเสีัย ไฉนจึงไม่เปิดใจทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการบริหารจิตใจ ในการบริหารปัญหาซึ่งกันและกันดูล่ะเนอะ

ชุ่ยกับสิ่งของนี่คงยังไม่เท่าไหร่

แต่ขออย่าให้เป็นเรื่องของหัวจิตหัวใจ ความรู้สึกรู้สาของใครเลย

เนาะคะ

Post to Facebook

« « Prev : คบกันทนจน 40 ปี

Next : สงกรานต์แถวบ้านหนู » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

19826 ความคิดเห็น