เด็กตีกันจนผู้ใหญ่ต้องหันมามอง

อ่าน: 6213

เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนทั่วกรุงเทพ โดยท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ดร.สกล  เขมะพรรค เป็นประธานในที่ประชุม โดยร้องขอแนวทางเพื่อกำหนดเป็นมาตรการป้องกันปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาทอย่างเร่งด่วน เพราะช่วงนั้นสื่อมวลชนก็ประโคมข่าวกันเช้าเย็น

กระทบทั้งหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ความรู้สึกครู จนถึงผู้หลักผู้ใหญ่

และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสถานศึกษาอาชีวศึกษาในสายตาของผู้คนในสังคมแน่นอน

เรียนอาชีวศึกษาเพื่อจะไปประกอบอาชีพ แต่ถ้าสังคมหรือสถานประกอบการไม่ต้อนรับ

ระบบการผลิตกำัลังคนของการศึกษาบ้านเราก็จะเอียงกระเท่เร่ไปมากกว่าที่เป็นอยู่เข้าไปอีก

แต่ละโรงเรียนก็มีมาตรการแตกต่า่งกันไปค่ะ

ตรงประเด็นบ้าง ระบายความคับแค้นแน่นอกบ้าง ก็ว่ากันไป

หัวอกสถานศึกษาอาชีวะจะเอา คนนอกมาแก้มารับฟัง ก็ต้องร่ายกันยาว

จะมาเริ่มทำความรู้จัก ทำความเข้าใจแบบนับหนึ่งใหม่ก็คงไม่ทัน

ท่านจึงขอให้เร่งเสนอ ๆ กันมา เพื่อจะได้รวบรวมแล้วไปกลั่นกรองกันอีกที

มาตรการที่ผู้บริหารแต่ละที่เสนอก็สะท้อนให้เห็นวิธีคิดที่จะส่งผลโดยตรงต่อแนวทางการดูแลนักศึกษาในสถาบันนั้นแน่นอนค่ะ

บ้างก็นำเสนอวิธีการจัดเวรยามป้องกัน

บ้างก็เสนอให้รัฐจัดผลตอบแทนให้สถานศึกษาอาชีวเอกชนเสียใหม่

บ้างก็นำเสนอชุดหน่วยลาดตระเวน พร้อมอุปกรณ์สื่อสารครบครัน แบ่งสายตรวจออกเป็นแต่ละเส้นทางเพื่อจับตาดูพฤติกรรมตลอดเส้นทางที่นักศึกษาเดินทางมาและกลับ

ครูปูก็ขอมีส่วนร่วมด้วยค่ะ เพราะเห็นว่าประเด็นความร่วมมือจากผู้ปกครองนั้นสำคัญมาก เห็นควรให้สถานศึกษา ทำข้อตกลงกับผู้ปกครองอย่างจริงจังในการร่วมมือกันดูแลนักเรียนนักศึกษาในเรื่องต่าง ๆ

ท่านที่ปรึกษาฯ สรุปประเด็นที่ได้จากการประชุม พร้อมทั้งแจ้งทันทีเลยว่า ปิ๊งข้อไหนบ้าง ว่าแล้วก็หันมาทางครูปูว่า ข้อเสนอที่อาจารย์พูดเรื่องการกำหนดให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมมากขึ้นนั้น ขอให้ช่วยจัดส่งมายัง email ของผมหน่อยด้วย

ครูปูจึงดำเนินการทันทีเย็นวันนั้นเลย โดยเสนอความคิดเห็นไปดังนี้ค่ะ

—————————

เรียน    ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่อง     ขอเสนอความคิดเห็นเรื่องการแก้ปัญหาเด็กทะเลาะวิวาท

จากการที่ได้เข้าร่วมประชุมผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนเพื่อร่วมแก้ปัญหาเด็กทะเลาะวิวาท  ที่โรงเรียนไทยบริหารธุรกิจ  เมื่อวันที่  19  กรกฎาคม  2553 ที่ผ่านมา  ทราบว่ายังคงมีประเด็นค้างจากท่านที่ปรึกษา ฯ เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเด็ก(อาชีวะ)ทะเลาะวิวาทซึ่งสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่สถานศึกษาอาชีวศึกษาโดยรวม จึงขอร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นดังกล่าวดังนี้

1.  นิยาม “เด็กทะเลาะวิวาท” กันให้ชัดเสียก่อน เข้าใจว่าการทะเลาะวิวาทเป็นสับเซ็ตของพฤติกรรมเด็กที่ไม่มีความสุข  เด็กที่ขาดความสุขจากอะไรมาก็แล้วแต่ (บ้าน โรงเรียน สังคม ฯลฯ)   มักต้องการพื้นที่แสดงออก  ต้องการการยอมรับ  เมื่อไม่ได้หรือได้ไม่เพียงพอ ก็ต้องเรียกร้องด้วยการแสดงออกต่าง ๆ นานา  เช่น  การหนีเรียน การรวมกลุ่มมั่วสุมเรื่องเพศ ยาหรือกิจกรรมอื่น   อะไรก็ได้ที่อาจทำให้ได้รับการยอมรับ จากใครก็ได้ ทางใดก็ได้ โดนกร่นด่าก็เอา เพราะอย่างน้อยก็แสดงว่าได้รับความสนใจแล้ว  เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนคงมิใช่แค่ทำอย่างไรไม่ให้เด็กตีกันเท่านั้น แต่เป็นการที่เราทุกคนจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ของเรามีความสุขโดยรวมมากขึ้นต่างหาก

2.  หากนิยามแล้วก็กำหนดบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก ตั้งแต่วงในสุดก่อน อันได้แก่ผู้ปกครองและสถานศึกษา

3.  กำหนดให้ผู้ปกครองต้องทำสัญญาความร่วมมือกับสถานศึกษาในการดูแลพัฒนาการและพฤติกรรมด้านต่าง ๆ   เพื่อเป็นข้อตกลงในการทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาที่นักศึกษาศึกษาอยู่ในสถานศึกษา เช่น จะต้องมีผู้ปกครองที่มาแสดงตน รับผิดชอบกับเด็กโดยตรง ต้องมีความพร้อมและเต็มใจในการร่วมมือกับสถานศึกษาเพื่อส่งเสริม    สนับสนุนพัฒนาการทุก ๆ ด้านของนักศึกษา  ยินดีมอบข้อมูลของนักศึกษาที่สถานศึกษาจำเป็นต้องทราบ พร้อมทั้งทำความเข้าใจในข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่เนิ่น ๆ  จากประสบการณ์การคลุกคลีกับผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีเวลาให้กับบุตรหลานแม้กระทั่งเรื่องที่สำคัญ ๆ  เช่น ผลการเรียน พฤติกรรม จึงต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ชัดตั้งแต่แรก  ซึ่งสถานศึกษาจะได้ถือเป็นโอกาสประเมินระดับความร่วมมือของผู้ปกครองเพื่อออกแบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป  ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานเรื่องการมาเรียน ขาดสาย การติดตามผลการเรียน การรับทราบกำหนดการกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานศึกษา เป็นต้น อีกทั้งผู้ปกครองยังต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการให้การดูแล กำกับ ติดตาม และตีกรอบนักศึกษาอย่างเหมาะสมเพื่อสอดรับกับกฎระเบียบและนโยบายของสถานศึกษาอีก และต้องประสานงานด้วยความเข้าใจอันดี  และด้วยวิธีการที่แสดงถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

4.  สถานศึกษาต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเรื่องคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักศึกษาของตนโดยเน้นการมีส่วนรวมตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดตลอดจนบุคลากรทุกฝ่ายเพื่อให้บังเกิดผลอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม  เหมือนคำขวัญของบางโรงเรียนที่สะท้อนถึงนโยบายของสถานศึกษา  เช่น  ประพฤติดี  มีวินัย  ใฝ่เรียนรู้ ประพฤติดีต้องมีคุณลักษณะอย่างไร  มีวินัยเรื่องอะไรกำหนดให้ชัดเจน ใฝ่เรียนรู้ต้องผ่านเกณฑ์อย่างไรบ้าง  กำหนดให้สอดรับกับระเบียบข้อบังคับของโรงเรียนและนโยบายพัฒนากำลังคนของชาติ  หากไม่ปฏิบัติตามนี้จะตีกรอบอย่างไร

ขอขยายความเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากมีรายละเอียดในทางปฏิบัติเยอะมาก  เช่น  หากนักศึกษายังไม่ได้ทำผิดระเบียบข้อบังคับใด ๆ แต่กลับมีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เที่ยวเตร่ มีพฤติกรรมชู้สาว (กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นักศึกษาซึ่งผู้ปกครองก็ต่างยินยอม) สถานศึกษาจะมีวิธีการตีกรอบเพื่อป้องกันมิให้เรื่องนี้ลุกลามสร้างปัญหาต่อ ๆ ไปได้อย่างไร

จากตัวอย่างพฤติกรรมดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  สถานศึกษาควรต้องคำนึงถึงการกำหนดเกณฑ์ด้านพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักศึกษาให้ครอบคลุมมากพอ เช่น การก้าวร้าวไม่เชื่อฟังพ่อแม่  สถานศึกษาควรมีบทบาทเพิ่มในการเข้าไปกำกับ ช่วยเหลือและไกล่เกลี่ยเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องดังกล่าวเสียใหม่  ประสานแผนกวิชาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดรับ จัดให้มีการพูดคุยและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง   หากไม่ได้ผล ก็ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น  เช่น สั่งพักการเรียนให้ทบทวนพฤติกรรมตนเอง     ร่วมมือกับผู้ปกครองกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เช่น งดอำนวยความสะดวกเรื่องยานพาหนะ  จำกัดค่าใช้จ่ายลง  ประสานงานกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามพัฒนาการของพฤติกรรม หรือจัดส่งนักศึกษาเข้าค่ายอบรมคุณธรรมจริยธรรม ที่ปลูกฝังทัศนคติเรื่องการเป็นคนดี    กตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวอีก  คงต้องพิจารณาสถานภาพการเป็นนักศึกษา   เพื่อส่งสัญญาณให้เด็กเห็นว่า คุณธรรมดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ และเขาต้องปรับตัวและพัฒนาเรื่องดังกล่าวให้จงได้

หากครอบครัวและสถานศึกษายังมิสามารถปลูกฝังค่านิยมเช่นนี้ให้แก่เขาในวัยนี้ได้ ก็ยากที่จะเติบโตไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า   และถ้ายังปล่อยปะละเลยอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ทัศนคติเช่นนี้ ย่อมสร้างปัญหาให้สังคมแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

5.  พัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษา กำกับตรวจสอบให้กลไกของระบบทำงานได้จริงและมีประสิทธิภาพ เน้นการมีส่วนร่วมตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดจนถึงบุคลากรทุกฝ่ายงาน     สถานศึกษาเองต้องมีนโยบายที่เข้มแข็งและเอาจริงเอาจังเรื่องการให้การดูแลและเอาใจใส่นักศึกษา   ตั้งแต่การคัดเลือก บุคลากรที่มีความเป็นครู มีความรู้ความเข้าใจและมีจิตวิทยาในการให้การดูแลวัยรุ่น  ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรได้เข้ารับการอบรมเพิ่มเติมความรู้ความสามารถอยู่เสมอ

6.  จัดบรรยากาศภายในสถานศึกษาให้มีความอบอุ่นเป็นกันเองเพื่อลดความกดดันที่อาจเกิดขึ้นในตัวนักศึกษา

7.   จัดกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสในนักศึกษาได้แสดงออกถึงศักยภาพที่ตนมีได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ และสอดแทรกกิจกรรมที่ส่งเสริมความรัก ความอบอุ่น การรู้จักคุณค่าของตนเอง  การมีทัศนคติที่คิดบวกต่อชีวิต    และเน้นการปลูกฝังค่านิยมที่เหมาะสมให้แก่นักศึกษาในทุกรายวิชา

8.   ให้การเสริมแรงแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของงาน

อนึ่ง  ขอเสนอในส่วนที่เกี่ยวกับสถานศึกษาและผู้ปกครองเท่านั้นเนื่องจากสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนเพื่อการแก้ไขได้ทันที เหมาะกับการดำเนินการในมาตรการระยะเร่งด่วนนี้   ในส่วนอื่นๆ หากมีโอกาสจะได้นำเรียนเสนอต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ด้วยความนับถือ

นางสาวพิชญ์สินี   อัครโกศลเดชา

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกิจการนักเรียนนักศึกษา

โรงเรียนวิบูลย์บริหารธุรกิจ  รามอินทรา (VBAC)

————–

หากพี่ ๆ น้อง ๆ ท่านใด มีข้อเสนอแนะเช่นไร ก็เรียนเชิญได้นะคะ

จะได้เห็นประเด็นที่เกี่ยวข้องได้หลากมุมขึ้น

สถานศึกษาเองก็คงเอื้อมได้ส่วนหนึ่ง ต้องอาศัยชุมชนและทุกภาคส่วนในสังคมกันแล้วล่ะค่ะ

หลังจากได้มีโอกาสติดตามพ่อครูบาไปประชุมกับ คกก.พัฒนาการศึกษาที่ทำเนียบ ตาม บันทึกนี้ ก็ได้มีโอกาสมอบหนังสือก๊าก! ให้ท่าน  พร้อมได้รับหนังสือเข้าจากหน่วยงานต้นสังกัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าท่านจะนำทีมมาขอเยี่ยมชมโรงเรียนด้วย ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นวันไหนคิวไหน แต่ครูปูเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้วค่ะ ก็ตั้งโชว์ไว้ทุกวันอยู่แล้วอ่ะ หากมีจุดไหนสามารถยังประโยชน์ หรือพอจะแลกเปลี่ยนเป็นแนวทางกับสถานศึกษาอื่นได้บ้างก็น่าจะดี

และหากมีสิ่งใดที่ได้เรียนรู้จากคณะกรรมการฯ ได้บ้าง ก็ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาของตนเองค่ะ

อย่างน้อยเด็ก ๆ ที่ยังคงตีกันก็จะได้สะใจกันขึ้นมาได้บ้าง

ว่าในที่สุด  ก็มีผู้ใหญ่หันมามองพวกเขา

จริง ๆ

เสียที

นักศึกษา

Post to Facebook

« « Prev : เก่งมาจากไหน ก็แพ้หัวใจอย่างครู

Next : ครูขอโทษนะลูก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

259 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.30651712417603 sec
Sidebar: 5.1466498374939 sec