เก่งมาจากไหน ก็แพ้หัวใจอย่างครู
ในสัปดาห์ของการนิเทศการสอน ซึ่งฝ่ายวิชาการและแผนงานโดยแผนกวิชาได้ซ้อมนิเทศครูใหม่กันมาแล้ว งวดนี้จึงเป็นการนิเทศโดยผู้บริหาร ครูปูซึ่งขณะนี้ถูกขอให้กลับมาช่วยดูแลฝ่ายวิชาการและแผนงานอีกฝ่ายหนึ่ง (อีกแล้ว) ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนิเทศด้วย ช่วงเย็นคณะกรรมการจะประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสรุปผลการนิเทศของอาจารย์แต่ละท่านกัน
หลังจากพิจารณากันตามเกณฑ์ที่ให้มาแล้ว ก็จะมีการหยิบยกจุดเด่น และจุดที่ควรพัฒนาของอาจารย์แต่ละท่านขึ้นมาแลกเปลี่ยนกันด้วย ซึ่งข้อหลังนี่ ก็เป็นมุมมองของผู้บริหารท่านนั้น ๆ ซึ่งก็คงเป็นความถนัด ความรู้ความสามารถของตัวคณะกรรมการแต่ละท่านเองที่ (คิดว่า) มีมากพอ จึงหยิบขึ้นมาถก คณะกรรมการ 5 ท่าน อาจารย์ท่านนั้นก็เจอเข้าไปแล้ว 5 จุดอ่ะนะ
ถ้าการตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบ้านเราก็จะดีหรอกเนาะคะ หลายคนคงกระดี๊กระด๊า ตามคนนู้นคนนี้ไปช่วยกันสะท้อนวิธีการปฏิบัติงานของตัวเองกันเป็นทิวแถว องค์กร ประเทศชาติคงจะเจริญวัฒนาถาวรไปถึงไหนต่อไหนแล้วล่ะค่ะ
แต่กลายเป็นว่า อาจารย์ที่ได้รับการนิเทศจากแผนกวิชามาแล้ว เมื่อต้องมารับการนิเทศจากผู้บริหาร กลับเกิดอาการตื่นตระหนกอกสั่นขวัญเสีย สอนผิดสอนถูก พูดตะกุกตะกัก สติกระเจิดกระเจิง ขั้นตอนการสอนสับสน พูดผิดพูดถูกกันเกือบทั้งนั้น
ครูปูได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่มีการประชุมสรุปผลในช่วงเย็น แต่คณะกรรมการนิเทศทั้งหมดยังไม่คิดว่าเป็นประเด็นอะไรมากนัก คงตื่นเต้นม้าง… นั่นสิ แล้วทำไมต้องตื่นเต้นขนาดนั้นล่ะ?
2 วันต่อมา ประเด็นยิ่งชัดขึ้น อาจารย์ใหม่ท่านนึงสอนเรื่องอาหาร เลยเตรียมมาจะพูดถึงส่วนประกอบของแต่ละเมนูและคุณค่าทางโภชนาการ
แต่เด็ก ๆ กลับตอบไม่ตรงคำถามแฮะ
เด็ก ๆ แย่งกันตอบแย่งกันแสดงความคิดเห็น แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับแม่ เมนูเด็ดฝีมือแม่ ตั้งแต่เขาจำความได้จนถึงตอนนี้
แม่หนูทำแกงเขียวหวานอร่อย ใครมีงานบุญที่ไหนต้องแม่หนู หนูก็ทำเป็นนะ เพราะหนูต้องคอยช่วยแม่มาตลอดตั้งแต่เด็ก ๆ …
เด็กอีกคนบอกว่า อาจารย์พูดอาหารนี่ ทำผมคิดถึงบ้านเลยอ่ะ
แต่ครูกลับบอกเด็กว่า อย่าพูดนอกเรื่อง! (แง้ว…)
สอนไปขยิบหูขยิบตากับเด็กที่กำลังถามไป ประหนึ่งเหมือนจะส่งสัญญานว่า อย่าถามมากครูกำลังโดนนิเทศ เพื่อความแน่ใจหลังจากการสอนเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้สอบถามอาจารย์ท่านนั้น พบคำตอบเดียวกันกับที่คิดไว้
นี่แสดงว่าครูต่างหากที่ไม่ลึกซึ้ง ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เข้าใจแก่นของเรื่องที่ตัวเองกำลังสอน ตัวเด็กน่ะเขาสังเคราะห์ความรู้ความเข้าใจเลยเถิดไปถึงไหน ๆ แล้ว แต่ครูเองต่างหากที่ยังติดแง่ก ๆ ไม่ได้งอกเงยเติบโตไปพร้อม ๆ กับเด็ก
อันนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
เสียดายกับช่วงเวลาที่ใจเด็กเขาเปิดรับ
เสียดายโอกาสทองที่ครูอาจจะได้ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของเด็กบางคนขึ้นมาได้
เสียดายช่วงโอกาสที่ครูจะได้ฉวยโอกาสเติมเต็มจิตสำนึกและคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ เพื่อวางรากฐานวิธีคิดให้เด็กเสียแต่เนิ่น ๆ
ครูปูจึงขอให้ระงับการนิเทศไว้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาความตื่นตระหนกของอาจารย์ที่ส่งผลใหห้การเรียนการสอนปั่นป่วนไปหมดในสัปดาห์นี้ให้ได้เสียก่อน เพราะถ้าอาจารย์เขารับการนิเทศโดยแผนกวิชาผ่านมาแบบปกติ ทำไมเมื่อรับการนิเทศโดยผู้บริหาร ถึงได้เสียจริตขนาดน้าน เอ ถ้าฟังแค่นี้ปัญหามันต้องอยู่ที่ผู้บริหารสิ เคยทำอะไรให้เขากลัว เขาเกร็งขนาดนี้หรือเปล่าน๊อ (ครูปูล่ะตัวดี ทำเป็นพูดไปเหอะ) ทำไมการรับการนิเทศถึงได้ผิดเพี้ยน ทำไมกลายเป็นช่วงเวลาของการจับผิดในความคิดของพวกอาจาย์ไปได้ จนทำให้อาจารย์ลืมคิดถึงคนที่สำคัญที่สุดก็คือพวกเด็ก ๆ ไปได้
พวกเราต้องทำอะไรผิดขั้นตอนกันมาแล้วแหงม ๆ
เกร็งใช่ไหม กลัวไม่ดีพอ กลัวผิด กลัวถูกต่อว่า โดยผู้บริหารเหรอ ถ้าเราเตรียมการมาดี สอนในสิ่งที่เราเข้าใจ คอยหมั่นฝึกฝนเพิ่มเติมองค์ความรู้ที่มีอยู่เสมอ ๆ ถ้าทำดีที่สุดแล้ว เห็นพัฒนาการในตัวเด็กชัด ใครเขาจะมาเพิ่มให้ก็น่าจะขอบคุณ ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ดูก่อนว่าน่างัดข้อด้วยไหม ถ้าเจอเวทีแลกเปลีั่้ยนได้ก็ยิ่งดี ถ้าไม่เห็นด้วยก็แล้วกันไป มั่นใจในสิ่งที่ทำไปเล้ย…
เออ วุ๊ย พอคิดกลับไปกลับมาแบบนี้แล้วก็เห็นภาพชัดขึ้นนะ ว่าแต่จะแก้ไขสถานการณ์นี้กันยังไงดีล่ะ
พลันความคิดพิเรนแล่นเข้าสมองปรู๊ด…
กระซิบผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและแผนงานที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงว่าครูปูจะทดลองอะไรให้ดูสนใจไหม อาจารย์ก็ยิ้ม ๆ งง ๆ เหมือนทุกครั้ง แต่ก็ตอบสนใจทันที ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่คงรู้ล่ะค่ะว่าต้องเป็นอะไรที่พิเรน ๆ มัน ๆ แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้แน่ตามสไตล์ครูปู
เย็นวันนั้นครูปูขอให้เรียกประชุมอาจารย์ผู้สอนทุกท่านเข้าประชุมพร้อมกันทันทีโดยไม่แจ้งวาระการประุชุมให้ทราบ มีเวลาว่างอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อเตรียมการ
ป๊าด… ป๋าแวะมารับคอมพิวเตอร์โน้ตบุค ไปให้พ่อครูบาที่โรงแรม เลยนั่งเมาท์กันจนเลยเวลา ผช.ฝ่ายวิชาการฯ ก็จับไมค์พูดไปเรื่อย หวังเพื่อฆ่าเวลา เพราะครูปูมัวแต่นั่งเมาท์ เปิดวงสนทนาชาเย็นกับป๋าเพลิน (โทษป๋า ชวนคุย ฮี่ๆๆ) พอเครื่องเสร็จ ฝากป๋าไปได้แล้ว ก็รีบวิ่งจู๊ดเข้าห้องประชุมทันที
ก้าวแรกที่เหยียบเข้าห้องก็ขออนุญาตเป็นภาษาอังกฤษแล้วเริ่มกระบวนการเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดทันที อาจารย์หลายท่านคงช็อค แต่ก็ปรับสภาพแปลงร่างเป็นเด็กกันอย่างรู้ทัน คงได้อ๋อกันแล้วว่าวันนี้อาจารย์ปูแกจะสอนภาษาอังกฤษให้ดูเป็นตัวอย่าง
ความขำขัน ตลกโปกฮาต่อเพื่อนครูที่ตอบเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ครูปูชวนให้ออกมามีส่วนร่วมทำท่าทางเพื่อแสดง body language สื่อให้เพื่อน ๆ ที่เหลือทายกันจนได้คำตอบด้วยความเข้าใจ ผ่านไป 30 นาที อาการช็อคเริ่มผ่อนคลาย กลายเป็นความสนุกสนาน แย่งกันตอบ หัวเราะหัวฮา ตบมือ กรี๊ด ๆ เหมือนเด็กเด๊ะ มิผิดเพี้ยน
ครูปูหยุดสอนซะเฉย ๆ แล้วบอกเอาใหม่นะ เดี๋ยวจะคิดว่าเป็นเรื่องความรู้ความสามารถอย่างเดียว ครูปูจะกลับไปสอนเรื่องเมื่อกี้ใหม่ แต่คราวนี้เป็นโหมดภาษาไทย ผลที่ได้ก็ยังใกล้เคียงกับเมื่อสักครู่ การเลือกใช้คำ วิธีการอธิบายแบบใช้ภาษากายเข้าไปร่วมเยอะ ๆ การยิงมุก การชวนเชิญให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมแทบจะทุกขั้นตอน การให้ความสนใจกับผู้เรียนอย่างทั่วถึง การมอบบทบาทให้ความสำคัญกับผู้เรียนอย่างเหมาะสม แสดงว่าการจะจัดการเรียนการสอนนอกจากองค์ความรู้ที่เตรียมจะนำเสนอแล้ว มันก็ยังมีเรื่องของเทคนิควิธีการบวกลูกเล่นลูกฮา อยู่ด้วยเหมือนกันนา ซึ่งของอย่างนี้ ถ้าเตรียมการ ถ้าฝึกฝน ก็จะเก่งขึ้น คล่องขึ้น มั่นใจขึ้น
ต่อจากนั้นแล้วชวนกันพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ กัน เปิดเวทีกว้าง ๆ ให้คอมเมนท์กลับครูปูบ้าง เพื่อสะท้อนให้เขาเห็นว่ากระบวนการนิเทศแท้จริงเป็นกระบวนการที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันพัฒนา
เห็นไหมแม้กระทั่งผู้ช่วยผู้อำนวยการที่ว่าแน่ ๆ ก็ยังมีข้อที่ควรพัฒนาเลย เพราะไม่มีสิ่งใดคนใดบนโลกบุบ ๆ ใบนี้ที่จะสมบูรณ์แบบหรอก เพียงแต่ถ้าเราเตรียมการมาดี เราก็จะยิ่งมั่้นใจมากขึ้น พริ้วขึ้น แล้วอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องเล่นกับองค์ความรู้ แล้วที่เรามีอยู่ล่ะ มันใหม่สด น่าสนใจขนาดนั้นแล้วหรือยัง
ไม่ต้องไปบ่นหรอกว่า เด็กไม่ตั้งใจเรียนเลย ติดเกมส์ นอนดึก มาสาย หนีเรียน เข้าห้องช้า หลับในห้องเรียน ลองถามดูสิ ว่าพอถึงเวลาที่เขาจะเล่นเกมส์ที่เขาสนใจนี่ เขากระตือรือร้นไหม เข้ากระชุ่มกระชวยไหม ที่ผู้ใหญ่เรียกว่าหมกมุ่นน่ะ คงใช่ แสดงว่าไอ้เจ้าเกมส์นั่น ต้องมีอะไรดีที่สามารถดึงดูดใจเด็กได้สิ
แล้วทำไมพอถึงเวลาที่เข้าเรียนกับเราเขาไม่มีอาการแบบนั้นล่ะ โทษเด็กอย่างเดียวเลยเหรอ ทำไมไม่ถามกลับบ้างว่าแล้วเราทำตัว ทำเนื้อหารายวิชา ปรับเทคนิควิธีการชักจูงให้เขาอยู่กับเนื้อหาได้อย่างสนุกสนาน น่าสนใจ พอจะสู้กับเกมส์ กับการ์ตูน กับเพื่อน ๆ เขากับการหนีไปเที่ยวห้าง ฯลฯ ได้บ้างหรือยัง
เข้าใจค่ะว่าครูก็ไม่ใช่ผู้วิเศษ ยิ่งน้อง ๆ ที่เพิ่งจบมาใหม่ ๆ ประสบการณ์ก็ยังน้อย แต่ของอย่างนี้ ใครกินใครอิ่ม การเสาะแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ การพัฒนาความคิดให้ทันสมัย มีคำอธิบายที่มาจากความเข้าใจจริงสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว จำเป็นมากที่จะต้องมีเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับเด็ก ๆ แล้วถ้าครูมีวัฒนธรรมในการ update ตัวเอง upgrade องค์ความรู้ เทคนิควิธีการอยู่เสมอ ๆ เด็ก ๆ เขาสัมผัสถึงความใหม่สดและน่าสนใจของครูได้ค่ะ
แล้วพอเด็กเขาเข้าใจ ใจเขาก็จะเปิดรับ กำแพงแห่งความลังเลสงสัยไม่ไว้วางใจของเขาก็จะทลายลง ทีนี้ล่ะค่ะ ครูจะป้อนอะไรเข้าไป ทั้งองค์ความรู้ การชักชวนให้ฝึกฝน ทั้งความจริงใจ ความห่วงใย คุณลักษณะที่อยากจะให้เขาเป็น จะปลูกหรือจะฝังอะไร พอดินพร้อมแล้ว ทีนี้ล่ะ มีสิทธิ์ล่ะเรา
ถ้าตั้งใจทำเขาเรียก ครูขยัน
ถ้าครูขยัน วันหนึ่ง ครูก็จะเก่ง
ถ้าทำอย่างเอาจริงเอาจังไปเรื่อย ๆ แสดงว่าเราเป็น ครูดี
ถ้าทำไปเรื่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย เราจะกลายเป็น ครูคนเก่งคนดี กันทุกคนเลยล่ะค่ะ
หลังจากวันนั้น ครูหลายคนก็สะท้อนว่า มีแรงฮึดมากขึ้น เพราะได้มุมมองใหม่ ๆ ของการจัดการเรียนการสอน พยายามปรับวิธีเรียนให้เป็นธรรมชาติ ยึดของจริง ชวนเขาพูดคุยเรื่องใกล้ตัวที่มองเห็นภาพได้ง่ายขึ้น สอดแทรกคุณธรรมระหว่างการสอนได้แบบเนียน ๆ และสามารถใช้วิธีบูรณาการระหว่างรายวิชาได้บ้างแล้ว ก็ดีค่ะ พัฒนากันไป ผิดพลาดก็แก้ไขกันไป กำไรทั้งนั้น (^_^)
มีข้อเรียกร้องกันด้วยนะ ว่าแหม อาจารย์ปูน่าจะจัดสอนภาษาอังกฤษให้ครูทุกวันไปเลยเนอะ เอาซัก 30 นาทีหลังเลิกงานก็ได้ นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ English After Work ที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ค่ะ
โปรดติดตามด้วยความระทึกระทวยพลัน
ฮี่ๆๆ
« « Prev : ความในใจของคนบ้าที่กำลังอาละวาด
Next : เด็กตีกันจนผู้ใหญ่ต้องหันมามอง » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เก่งมาจากไหน ก็แพ้หัวใจอย่างครู"