ไม่อยากออกไปข้างนอก..

769 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2009 เวลา 22:49 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 12498

ยามฝนตก ต้นไม้หลังบ้านสารพัดชนิดก็เขียวชอุ่ม พุ่มไสว


ดอกไม้ก็ออกดอก ลืมไปแล้วว่าชื่ออะไร ดูเหมือนจะเอามาจากเชียงรายนะครับ ต้นก้ามปู หรือจามจุรี ใหญ่หลังบ้านก็มีใบสวยงามเต็มต้น มีผึ้งรังไม่เล็ก แต่อยู่สูงมากและปลายกิ่ง คิดจะเอาน้ำหวานก็หมดปัญญา


ใต้ต้นจามรุรีมีต้นมะขามหวานอยู่ต้นหนึ่ง ผมซื้อมาจากเพชรบูรณ์นานมากจนลืมไปแล้วว่าเมื่อไหร่ แต่เนื่องจากมันอยู่ใต้ต้นก้ามปู ไม่ใช่กลางแดดโล่งๆ มันจึงไม่โตซะที ซ้ำบางปีมีเถาวัลย์พืชอื่นๆเลื้อยขึ้นมาปกปิดจนมองไม่เห็นต้นมะขาม มันก็ไม่ตาย ไม่เคยมีฝักให้ชิมรสว่ามันหวานจริงหรือโดนหลอก

มาสองสามวันนี้ ตกเย็นๆผมชอบออกมานั่งที่ระเบียงห้องนอนชั้นสอง มองออกไป มันสงบเงียบ ดูต้นไม้เขียวๆ เอาหนังสือโปรดมานั่งอ่าน ปากก็จุ๊บจั๊บ(นี่แหละมันถึงอ้วน) โน่นนี่ โดยเฉพาะผลไม้โปรดต่างๆ

เย็นวันวานผมสังเกตเห็นมีนกเขาคู่หนึ่งบินมาเกาะที่ต้นมะขาม ตัวหนึ่งเกาะเฉยๆผงกหัวไปมาเท่านั้น อีกตัวก็เดินไปมุมโน้นมุมนี้


เย็นมากแล้ว นกเขาคู่นี้ก็ไม่นิ่งเสียที ผมมาเอะใจอาจเป็นเพราะว่าผมนั่งดูเขาอยู่บนระเบียงนี่ละมั๊ง จึงเข้าไปในห้องแล้วแอบมองเขาผ่านกระจกหน้าต่าง

จริงด้วย นกเขาคู่นี้บินสั้นๆย้ายมาที่ต้นฝ้ายคำที่มีใบใหญ่กว่าใบมะขาม เกาะอาศัยได้มิดชิดกว่า ตัวผู้(ผมเดาเอา) เดินไปหามุมที่ดีที่สุด แล้วตัวเมีย(เดาอีกเช่นกัน) ก็ย้ายที่ไปเกาะเคียงคู่กัน

ผมเปิดประตูออกไปนอกชานเพื่ออยากถ่ายรูปเขา เจ้าตัวผู้ก็ออกมา และดูเรา และดูเขาพร้อมจะบินไปทันที ผมเห็นแล้วก็ทราบดีว่า เขาคงละแวงเราจึงปิดประตูและแอบดูเขาทางกระจกตามเดิม…

เย็นวันนี้ผมอยากออกไปนั่งที่นอกชานตามเดิม….แต่เห็นนกเขาคู่นี้มาอยู่อาศัยที่เดิมแล้ว จึงเปลี่ยนใจครับ ไม่อยากออกไปข้างนอก(ชาน) เพราะไม่อยากไปสร้างความไม่ปลอดภัยให้นกเขาคู่ที่น่ารักนี้ ผมอยากให้นกเขาคู่นี้มาอาศัยนานๆครับ…

ประทับใจการใช้ชีวิตคู่ของนกเขาจริงๆ..


วัดพระบาทห้วยต้ม

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 พฤษภาคม 2009 เวลา 22:41 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 930

วันนี้ ไทยทีวีเอาเรื่องวัดพระบาทห้วยต้มมาออกอากาศ เล่าถึงงานบุญที่ยิ่งใหญ่

กล่าวถึงว่าชนชาวปกากะญอไม่เลี้ยงสัตว์ ถือศีลอย่างเคร่งครัด ทานมังสะวิรัติ

นอกจากปกากะญอที่ศรัทธาท่านครูบาชัยวงศ์ษาแล้ว ยังมีประชาชนทั่วไปศรัทธาท่านมากมายต่างก็มาร่วมงานบุญประจำปีนี้

ครูบาชัยวงศ์ษา ท่านมีบารมี สูงส่งที่ทำให้ชนชาวปกากะญอศรัทธาท่านอย่างที่สุด แสงธรรมที่นี่จึงเรืองรองไปทั่วสารทิศ

เมื่อมีศรัทธา ทุกสิ่งทุกอย่างก็ตามมา พุทธของเรานั้นมักแสดงศรัทธาโดยการสร้างสิ่งสวยงามทางวัตถุอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา ซึ่งเราเห็นโดยทั่วไป ความสวยงามและใหญ่โตยิ่งสร้างบรรยากาศให้ขลังมากขึ้น ศักดิ์สิทธิมากขึ้น

แต่อย่าไปติดรูปแบบภายนอกเลย ภายในต่างหากที่ยิ่งใหญ่กว่าความยิ่งใหญ่


แผนที่“ห้วยต้ม”เพิ่มเติม

22 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 พฤษภาคม 2009 เวลา 14:47 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 976

เอารูปวัดพระบาทห้วยต้มมาลงอีกครั้ง เม้งเอามาลงแล้วครั้งหนึ่ง

 

 

 

 

ประเด็นของเม้งน่าสนใจว่า จะวางแผนปลูก 2000 ต้นอย่างไร

  • ปลูกรอบวัด
  • ปลูกรอบวัด + ปลูกรอบชุมชน
  • ปลูกรอบวัด + ปลูกแต่ละคุ้มบ้าน(รูปสี่เหลี่ยมตาราง)
  • ปลูกรอบวัด + ปลูกพื้นที่วัดที่ว่างที่อาจจะมีอยู่
  • ปลูกรอบวัด + ปลูกตามสถานที่ที่เป็นข้อสรุปของชุมชน

แต่ละแห่งนั้นสอดคล้องกับคุณสมบัติของต้นเอกมหาชัย หรือไม่อย่างไร หากจะให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ปกากะญอ แบบไหนดีที่สุดที่เขายอมรับ

ในฐานะไม่รู้เรื่องก็คิดไปเรื่อยเปื่อยครับ


ฝนที่มุกดาหาร

20 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:14 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1096

 

 

 

ขณะนี้ที่มุกดาหารฝนตกพรำพรำ แต่หนัก ดูท่าทางจะยาว

เกรงว่าหลายๆที่ที่เป็นภูเขา รวมทั้งดงหลวง

อาจจะเกิดน้ำหลาก และท่วมในบางจุด

ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดเกือบทุกปี


ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..3

247 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 เวลา 19:51 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5850

เราลงไปถึงเหมืองสมศักดิ์จริงๆประมาณ 5 โมงเย็น เพราะเราเสียเวลาในกรุงเทพฯและการออกจากรุงเทพฯนั้นเอง ระหว่างเดินทางมานั้นผมดูอุณหภูมิภายนอกรถประมาณ 39 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเรามาถึงเหมืองนี้อุณหภูมิแค่ 27 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง ป้าเกล็นนั่งอยู่กับผู้มาเที่ยวกลุ่มหนึ่ง เมื่อเรามาถึงป้าเกล็นก็ลุกออกมาต้อนรับเรา เมื่อเราแสดงตัวว่าเป็นใครมาจากไหน จองห้องพักมาแล้ว ป้าเกล็นก็พยักหน้าว่าทราบการจัดการนี้แล้ว



ป้าเกล็นเชิญเรานั่งพักและดื่มน้ำเย็นและกาแฟ โดยเฉพาะขนมเค้กที่ตั้งอยู่ที่โต๊ะตลอดวันใครใคร่กินก็มากินได้ตลอด กาแฟและเครื่องดื่มอื่นๆ มีบริการตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บริการตัวเอง ขอไม่เล่าความเป็นไปเป็นมาเรื่องของป้าเกล็นและเหมืองแร่สมศักดิแห่งนี้



ท่านใดสนใจ เข้าไปที่ www.parglen.com ยกเว้นบางส่วนที่ผมสนใจ ความจริงประวัติและพัฒนาการเหมืองแร่สมศักดิ์นี้น่าสนใจมาก ความรุ่งเรืองนั้นเท่ากับประวัติศาสตร์เหมืองแร่ดีบุกที่ภูเก็ต การเดินทางเข้ามาที่นี่ปัจจุบันที่เรายังใจเต้นตุ๊บตั๊บ หากย้อนหลังไปสมัยแรกๆที่คุณลุงสมศักดิ์มาบุกเบิกจะยากลำบากแค่ไหน


ผมสงสัยว่าใครหนอช่างมาสำรวจแร่จนพบที่นี่ สมัยเมื่อ 50 ปีขึ้นไปโน้นนะเครื่องมือวิทยาศาสตร์ก็เป็นแบบง่ายๆแล้วมาสำรวจได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่ามีแร่ปริมาณมากพอที่จะลงทุนทำเหมือง ป้าเกล็นเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อพี่สมศักดิ์(สามีเธอ) เอาความรู้มาจากสมัยที่รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดีย พม่า รัฐบาลอังกฤษเอาช่างจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและเหมืองแร่มาจากอังกฤษมาสำรวจพื้นที่แถบนี้ทั้งหมด…


บรรพบุรุษคุณลุงสมศักดิ์คือเจ้าเมืองคนแรกของเมืองสังขละซึ่งเป็น ปกากะญอ ความรู้นั้นจึงตกมาถึงคุณพ่อคุณลุงสมศักดิ์ ทำให้ผมนึกถึงรัชการที่ 5 ทรงจ้างนักทำแผนที่ซึ่งเป็นจากอินเดียและพม่ามาทำแผนที่และเส้นเขตแดนประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นอาณาจักรประเทศไทยนั้นครอบคลุมไปถึงหลวงพระบางโน้น… ฝรั่งชุดนี้จึงได้รับพระทานให้เข้ารับราชการเป็นเจ้ากรมแผนที่คนแรกของประเทศไทยฝรั่งคนนี้คือ เจมส์ แมคคาร์ธี (พระวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่คนแรก) http://resgat.net/explorings.html ผู้สนใจประวัติศาสตร์อย่าพลาดบันทึกของพระวิภาคภูวดลนะครับสุดยอดจริงๆ



ภาพความยากลำบากสมัยบุกเบิก และที่เก็บกุญแจที่ยังรักษาสภาพเดิมๆไว้

เมื่อ 45 ปีที่แล้วที่ป้าเกล็นมาใช้ชีวิตที่เหมืองแร่นี่สภาพความยากลำบากสุดโหดนั้น ผมสงสัยว่าแล้วเมื่อเหมืองฉีดทำแร่ได้แล้วขนแร่ไปขายที่ไหน อย่างไร ป้าเกล็นเล่าอย่างมีความสุขว่า แรกก็ใช้วัวต่าง ที่มีวัวเป็นร้อยๆตัว ขนแร่จากที่นี่ข้ามภูเขาไม่รู้ว่าจะกี่ลูกไปลงเรือที่ทองผาภูมิ แล้วเข้าเมืองกาญจนบุรี

ป้าเกล็นคงจะตอบคำถามนักท่องเที่ยวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ป้าเกล็นมีความสุขที่จะตอบ อาหารทุกมือ อร่อยและมีปริมาณมากเกินที่เราจะทานได้หมด ดีกว่าโรงแรมหลายแห่ง อาจเป็นเพราะป้าเกล็นเป็นฝรั่งออสเตรเลียที่มีเชื้อสายมาจากอังกฤษ วัฒนธรรมการประกอบโต๊ะอาหาร การวางจาน ช้อนแก้ว อาหารทุกชนิด ผมว่าดีกว่าโรงแรมหลายแห่งครับ ค่าใช้จ่าย 1200 บาทต่อหัวต่อคืนรวม package tour นั้นผมว่าคุ้มค่า(กรณีที่เอารถ4WDไปเอง) สำหรับคนที่ชอบธรรมชาติ ป่าเขา เงียบๆ อาหารอร่อย ที่พัก สะอาด ที่นี่คือสุดยอด แต่สำหรับคนที่ต้องการ ช็อปปิ้ง ห้องแอร์ internet และความสะดวกสบาย ต่างๆนั้นผมแนะนำว่าอย่าไปเลย


ครอบครัวป้าเกล็น บุตรชายคนเดียวซึ่งปัจจุบันเป็น CEO ของบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง

เนื่องจากอยู่หุบเขาลึกชายแดนนั้น อย่าถามหาคลื่นมือถือ ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ มีแต่จะมีเป็นจุดๆตามเส้นทางที่ลงไปหาเหมืองแร่ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อุทยานมาปักป้ายบอกว่าบริเวณที่สามารถใช้มือถือได้ การติดต่อของเหมืองกับโลกภายนอกนั้นใช้วิทยุสื่อสาร ป้าเกล็นขึ้นเสาวิทยุสูง ติดต่อกับคนที่ตกลงกันไว้ให้เป็นสถานที่ติดต่อสื่อสารกันที่ทองผาภูมิ แล้วทองผาภูมิก็จะติดต่อสำนักงานที่กรุงเทพฯซึ่งบุตรชายป้าเกล็นคนเดียวอยู่กับครอบครัวที่นั่น

(ขออภัยที่เอาบันทึกนี้มาลงใหม่ เพราะเกิดความผิดพลาดก่อนหน้านี้)


ปิล๊อก 4 ไฟฟ้าพลังน้ำ

1042 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 เวลา 16:11 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11093

มีสิ่งหนึ่งที่ผมและคนข้างกายสนใจมาก พอดีเธอกำลังทำวิจัยเรื่องพลังงานเพื่อชุมชนอยู่ด้วย เลยเข้าตากรรมการ ที่เหมืองแร่นี้ปกติผลิตกระแสฟ้าเองด้วยเครื่องทำไฟฟ้าที่ใช้เครื่องยนต์แบบทั่วๆไป ก็จะเปิดเครื่องเฉพาะเวลาค่ำจนถึงสามทุ่ม และไปเปิดอีกทีตอนตีห้า


ฝายเล็กๆที่กักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

หลังสามทุ่มไปแล้วป้าเกล็นผลิตกระแสไฟฟ้าเองจากพลังงานน้ำ..?? เราหูผึ่ง…หลังจากนั้นก็ตั้งคำถามมากมายกับคุณป้า รุ่งเช้าเราก็รีบเดินไปดูองค์ประกอบการผลิตกระแสฟ้าโดยใช้พลังงานน้ำทันที

เหนืออาคารหลักของสถานที่นี้เป็นที่สูงลาดเอียงขึ้นไป มีอาคารที่พักอีกสามหลัง ด้านล่างเป็นร่องลำห้วยธรรมชาติ ป้าเกล็นสร้างฝายเล็กๆขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำ แล้วต่อท่อน้ำออกไปสู่เครื่องกลไกผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ที่วันก่อนผมเอารูปมาทายว่าเป็นอะไร เพื่ออะไร ทายเล่นๆ



กังหันพลังน้ำตัวเริ่มต้นผลิตกระแสไฟฟ้า

รูปนี้คือกังหันที่รับน้ำจากท่อที่ปล่อยน้ำมาจากฝายเล็กๆด้านบนนั้น เมื่อน้ำไหลออกมาก็จะไปโดนกังหันซึ่งมีที่รองรับน้ำอยู่ ความแรงของน้ำจะดันให้กังหันนี้หมุน ยิ่งน้ำมีแรงดันสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้กังหันนี้หมุนเร็วขึ้นเท่านั้น พลังน้ำที่มาหมุนนี้เอง มนุษย์ก็ฉลาดเอาการหมุนนี้ไปใช้ประโยชน์ซะเลย ดูรูปต่อไป


แสดงการทดรอบการหมุนของกังหันเพื่อสร้างความเร็วมากขึ้นในการปั่นกระแสไฟฟ้า

อีกด้านหนึ่งของกังหันนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากการหมุนนั้นมาปั่นกระแสไฟฟ้า โดยใช้การทดรอบการหมุนให้เร็วขึ้น เช่น วงล้อ 1 หมุนหนึ่งรอบจะทำให้วงล้อเล็กๆ 2 หมุนไปมากกว่า สิบรอบ จากวงล้อเล็ก 2 หมุนหนึ่งรอบก็ทำให้วงล้อใหญ่ 3 หมุนหนึ่งรอบเช่นกัน แต่วงล้อที่ 4 จะได้มากกว่าหนึ่งรอบแน่นอน และที่หมายเลข 4 นี้ตัวตัว generator หรือตัวก่อกำเนิดไฟฟ้าก็จะหมุนไป เมื่อหมุนด้วยความเร็วก็จะสร้างกระแสไฟฟ้าออกมา ก็เอากระแสไฟฟ้านี้ไปใช้ (เรื่องนี้ คอน อธิบายดีกว่าผม)


ชาลีกับเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ

คุณผู้ชายที่เราเห็นนั่นคือคุณชาลี เจ้าหน้าที่เหมืองแร่เก่าแก่ ของคุณลุงสมศักดิ์ ปัจจุบันมาทำหน้าที่ดูแลกิจการ ช่วยคุณป้าเกล็นสารพัดเรื่อง คุณชาลีเป็นคนมหาสารคาม เมื่อรู้ว่าผมมาจากขอนแก่นก็ให้ความเป็นกันเองสูง ถามอะไรก็ขยายความจนละเอียดลออ หมดจด หมดสิ้น สมใจอยากทีเดียว คุณชาลีบอกว่า อุปกรณ์ทุกอย่างดัดแปลงมาจากวัสดุ อุปกรณ์เหมืองแร่เก่าๆทั้งหลาย ไม่ได้ซื้อหามาใหม่แต่อย่างใด การทดรอบการหมุนของกังหันไปสู่ generator นั้นก็ทำกันแบบลูกทุ่ง ไม่ได้เอาวิศวกรที่ไหนมาคำนวณหาค่าสูงสุดของพลังงาน ก็พอได้ ปริมาณไฟฟ้าที่ได้ก็พอใช้ ยิ่งฤดูน้ำหลากมากๆ เปิดทั้งวันทั้งคืนก็ได้ไฟพอใช้ คุณชาลีบอกว่า ระดับความต่างของฝายเก็บน้ำกับกังหันนี้ประมาณ 4-7 เมตรเท่านั้น

ผมเองสังเกตตอนหลังสามทุ่มที่ใช้เครื่องพลังน้ำนี้ปั่นไฟฟ้านั้น กระแสไฟอ่อน หลอดไฟประหยัดบางหลอดไม่ติด แต่น่าจะเป็นเพราะปริมาณน้ำที่ป้าเกล็นต้องประหยัด เอามาใช้แต่พอสมควร


ผลงานที่ได้จากเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ

ดูอาเจ๊ใช้ไฟฟ้าจากพลังน้ำทำงานคอมพิวเตอร์บนที่นอนซิ มีไฟฟ้าให้แสงสว่างเพียงพอ เราทดสอบแล้วรู้สึกพอใจมากกับแนวคิดนี้ เห็นว่าคนข้างกายจะหอบทีมงานที่มีวิศวไฟฟ้าไปดูกับตาอีกในไม่ช้านี้ เอากะแม่ซิ…

ความจริงผมก็คิดมานานแล้วเรื่องพลังงานทดแทน แต่มาสะกิดใจเอาตอนมาเห็นกับตานี่แหละ แหล่งน้ำที่ดงหลวงผมมีหลายต่อหลายแห่งที่ดีกว่าฝายเล็กๆของป้าเกล็น น้ำที่เอามาใช้สร้างพลังงานนี้ก็ไม่เสียเปล่า สามารถเอาไปใช้เพื่อการเกษตรได้อีก …

นี่เป็นประกายที่เกิดจากการเที่ยว…และหยิบเอามาคิดต่อ

นี่เป็นประกายเอาไปเสนอต่อโครงการเพื่อทำนำร่องในชนบทอีสานต่อ ใครสนใจก็เชิญซักถามรายละเอียดกับคุณชาลีได้นะครับ โดยเข้าไปที่ web ของป้าเกล็นนั่นแหละครับ



ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..2

320 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 เวลา 15:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11023

จากเขื่อนเรามุ่งตรงไปที่ ต.ปิล๊อก ซึ่งเป็นเขตชายแดนไทย-พม่า ติดกับเมืองทวาย มะริด เย สะเทิม มะละแหม่ง มีสถานที่สำคัญคือ สำนักงานอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งที่พักของชาวเต็นท์และที่เดินทางมาด้วยรถเก๋ง เลยไปจะเป็นบ้านอีต่อง ซึ่งติดชายแดนเลย ที่นี่จะมีสถานีก๊าซที่ต่อท่อมาจากพม่าที่โด่งดังมาแล้วเพราะระหว่างก่อสร้างขนส่งท่อก๊าซไปใช้ในประเทศไทยนั้นถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ฯมากมาย



ระหว่างทางไปอีต่องและเหมืองแร่นั้นมีที่พักรถและชมวิว กว้างขวาง จอดรถได้หลายคัน เราก็ลงดูแผนที่ ทิวทัศน์รอบข้าง สวยงาม ถนนช่วงนี้จนไปถึงอีต่องนับว่าใช้ได้ เป็นถนนลาดยางแม้จะคับแคบไปสักนิด แต่การจราจรไม่คับคั่ง จำได้ว่าตลอกเส้นทางเกือบร้อยกิโลเมตรนั้นมีรถสวนทางกันไม่ถึงสิบคัน


ก่อนถึงหมู่บ้านอีต่องจะเป็นสถานีตำรวจอีต่อง คดีต่างๆไม่มี ตำรวจก็ไม่มีอะไรทำจริงๆ.. นั่งตบยุงไปวันๆ เงียบจนนึกว่าไม่มีใครอยู่  ก่อนถึงสถานีตำรวจนี้มีทางลงเขาซ้ายมือบอกว่าไปเมืองแร่สมศักดิ์ เป็นอันว่าถนนดำก็สิ้นสุดลงตรงนี้ ต่อไปนี้เป็นถนนดิน ก้อนกรวด ลูกรัง และลาดชัน ซึ่งทางเหมืองแร่บอกกล่าวผู้มาเที่ยวไว้ก่อนแล้วว่า หากเอารถเก๋งมาเองก็ให้ไปจอดที่สถานีตำรวจอีต่อง ทางเหมืองจะเอารถ 4WD ไปรับ ส่วนใครที่เอา 4WD มาเองก็ลงไปได้แต่ระมัดระวังด้วยตลอดระยะทางประมาณ 5 กม.
นี้เป็นการทดสอบรถ ทดสอบคนขับรถ

ผมเองเคยคุ้นชินเส้นทางแบบนี้ตั้งแต่สมัยทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่มาแล้วก็ตื่นเต้นนิดหน่อยเพราะเป็นเส้นทางใหม่ที่มาเป็นครั้งแรก แต่ใจนึกว่า โชคดีที่ฝนไม่ตกเพราะหากฝนตกสภาพถนนที่เต็มไปด้วยกรวด หินที่ไม่ได้เทปูนหรือลาดยางนั้นมันกลิ้งไปมาตามแรงหมุนของล้อรถ และลื่น ไถลไปข้างๆได้ง่ายหากบังคับรถไม่ถูกต้องตามหลักการใช้ การขับเคลื่อน 4 ล้อ คนที่ไม่เคยผ่านเส้นทางแบบนี้ก็หวาดเสียวพอได้ยินเสียงกรี๊ดกร๊าดได้แน่นอน บางช่วงความลาดชันน่ากลัวไม่ว่าลงหรือขึ้น ยิ่งหากมีรถสวนทางกันละก็ ต้องใช้ฝีมือกันเชียวหละ


รถที่จะมาเหมืองแร่ต้องเป็น 4WD เท่านั้น ก่อนมาควรตรวจสภาพการใช้งานการขับเคลื่อนสี่ล้อก่อน ตรวจสภาพยางทั้ง 4 ล้อ เบรกและควรตรวจสอบยางอะไหล่และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับกรณีฉุกเฉินต่างๆคนรักรถย่อมรู้ดี

หลังจากที่ผมลงไปถึงเหมืองแล้ววันต่อมามีนักธุรกิจจากบุรีรัมย์ พาลูกสาวสองคนลูกชายหนึ่งคนลงมาที่เหมืองด้วย Fortuner ตอนขาขึ้น มาขอความรู้วิธีใช้เกียร์ Low แกบอกว่าตั้งแต่ซื้อมาไม่เคยใช้เกียร์ Low เลย ที่มานี่ก็เพราะลูกสาวอ้อนวอนให้พามาหน่อย อยากมา จองห้องพักไม่ได้ แต่ก็อยากมาโชคดีที่มีคนเชคเอ้าท์ไปก่อน 4 คนพอดี


คุณชาลี ลูกน้องป้าเกล็นก็เล่าให้ฟังว่า มีบางคนซื้อรถประเภท 4WD มาแล้วไม่เคยใช้เลยและไม่ตรวจสภาพรถก่อนลงมาเหมืองแร่ พอมาถึงขาขึ้นต้องใช้ HighLow พบว่าใช้ไม่ได้ เพราะไม่เคยใช้ น้ำมันหล่อลื่นแห้งไปหมดแล้ว….

สำหรับกลุ่ม OffRoad คงชอบมากๆที่จะมาที่นี่ ได้ลุยสมใจอยากละครับ โดยเฉพาะหน้าฝน..

สำหรับผมเหมือนกลับไปสะเมิงเมื่อ สมัยปี 2518 เลยครับ


แด่เธอ..

1879 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 เวลา 12:24 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 22048

 

ถ้าเธอกินข้าวด้วยรสชาติ

เธอจะผิดหวังในอารมณ์เมื่ออาหารจานข้างหน้าเธอไม่ถูกปาก โดยไม่คำนึงถึงคุณค่า

แม้เธอจะเป็นคนที่เติบโตมาในเมือง

แต่เธอเข้าใจและยอมรับได้ต่อการใช้ชีวิตในชนบท

 

อย่าทานอาหารด้วยรสชาติ

อย่าทนไม่ไหวต่อการปรับตัวในชุมชน เพื่อพี่น้องที่รอเรา..

 

เธอไม่โดดเดี่ยวหรอกที่รัก

เพราะเพื่อนจำนวนมาก..ยืนอยู่ข้างเธอ..

อย่างน้อยก็ฉันคนนี้แหละ..


ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..

344 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 7032

คนข้างกายผมงานเข้าตลอดปีตลอดชาติ ห้องนอนคือห้องทำงาน ที่หลับบ่อยๆคือบนเก้าอี้ จนพังไปหลายตัวแล้ว ปกติเธอทำงานไปก็เปิดทีวีดูละเม็งละครไป น้ำหูน้ำตาไหลก็บ่อย เมื่อเธอเห็นรายการแนะนำสถานที่เที่ยวก็จะไปเที่ยวเสียทุกที่ ที่นั่นก็อยากไป ที่นี่ก็อยากไป แต่จริงๆไม่เคยว่างเลย

มาคราวนี้นัดกับลูกสาวไว้ว่าจะพาเที่ยว โดยแม่เป็นคนเลือกสถานที่ เธอบอกว่าไป ปิล๊อก…

ผมได้ยินมานานแล้วตั้งแต่เด็กๆว่าที่นี่คือเหมืองแร่ ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้มาปิล๊อก ผมเข้า Web www.parglen.com
จองที่พักเสียแต่เนิ่นๆ ทราบว่ามีคนเที่ยวมากโดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากเหมืองมาอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้ยืนยันการเดินทาง เพราะหากไม่ไปเขาจะได้เอาคนอื่นที่ต้องการไปเที่ยวเข้าพักแทน…


ผมเองก็สนใจเพราะ ได้พาครอบครัวเที่ยวพร้อมๆกัน และอยากมาชายแดนตะวันตกบ้างยิ่งเป็นชายแดนไทยพม่ายิ่งสนใจเพราะดูแผนที่หลายครั้งแล้วว่าน่าเที่ยวเพราะเป็นเขตภูเขา ผมชอบภูเขาครับ แต่ก็ไม่รังเกียจทะเล

เช่นเคย..กว่าจะหลุดออกจากกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรได้ก็เล่นเอาสุดเบื่อ คนบ้านนอกขอนแก่นอย่างเรานั้น แม้จะมีรถติดบ้างก็ไม่เท่าในกรุงเทพฯ ที่คลานกระดึ๊บกระดึ๊บเสียพลังงานมหาศาล ที่เสียมากกว่าคือความรู้สึก.. แต่เอาเถอะจะไปเที่ยวแล้วก็ทำใจให้สนุกสนานดีกว่า..อิอิ

ปิล็อกอยู่ตรงไหน: หากท่านชอบดูแผนที่ประเทศไทยก็นึกถึงซีกตะวันตกของประเทศ ตรงชายแดนไทยต่อกับพม่า เลยตัวจังหวัดกาญจนบุรีไปที่ อ.ทองผาภูมิ


เดินทางทรหด: กว่าจะหลุดกรุงเทพฯเข้าสู่นครปฐมเข้าสู่เมืองกาญจนบุรีก็ลุ้นแทบแย่เพราะเป็นวันหยุดยาวใครต่อใครก็ออกต่างจังหวัดกันทั้งนั้น ผมนั้นยิงยาวไปเมืองกาญจนบุรีต่อไปทองผาภูมิเพราะใจสั่งว่าควรใช้เวลาให้มากที่สุดที่เหมืองแร่
จากทองผาภูมิไปสังขละนั้นต้องเลี้ยวซ้าย แต่เราตรงไปเพื่อไปปิล๊อกเป้าหมายของเรา เลยทางแยกนี้นิดเดียวเราก็แวะเที่ยวเขื่อนเขาแหลมเพื่อพักรถคู่ใจและชื่นชมวิวสวยๆของน้ำเหนือเขื่อน เมื่อมาเห็นแล้วก็หวาดเสียวครับ เพราะตัวเขื่อนสูงกว่าอำเภอทองผาภูมิและเมืองกาญจนบุรีมากทีเดียว คิดเล่นๆว่าหากเขื่อนพังไปละก็ พลังน้ำมหาศาลนั้นจะกวาดบ้านเรือนผู้คนไปมากมายมหาศาลทีเดียว ยิ่งทราบว่าแถบนี้มีรอยเลื่อนสังขละบุรีด้วยแล้ว ภาวะนาอย่าให้เกิดเลย มีคนต่างถิ่นมาเที่ยวเหมือนเรา สองสามคัน



เราสอบถามยามหน้าปากทางเข้าเขื่อนถึงเส้นทางและระยะทางไปเหมืองปิล๊อก พร้อมกับดูแผนที่ที่ผมเตรียมไปแล้ว ก็ได้คำอธิบายแจ่มแจ้ง ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มคุยกันว่านี่แหละ กฟผ. มืออาชีพเขาฝึกเจ้าหน้าที่เขาเยี่ยมจริงๆ ขอชม กฟผ.ครับ



ความมืดที่ให้ชีวิต..

71 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 พฤษภาคม 2009 เวลา 7:29 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1900

 

 

ฟ้าฉ่ำฝนที่มุกดาหาร

ชาวบ้านต่างสดใส

เริ่มเตรียมตัวเตรียมใจ

ทำนาทำไร่……วิถีเรา


เพื่ออะไร..

881 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 พฤษภาคม 2009 เวลา 23:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 110681

ท่านดูรูปนี้แล้วคิดอะไรบ้าง..

ท่านคิดว่ารูปนี้คืออะไร

เพื่ออะไรครับ


รังใหม่..

15 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 พฤษภาคม 2009 เวลา 21:19 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 992

ข้างโต๊ะทำงานเป็นหน้าต่าง

นอกหน้าต่างคือต้นปาล์มสิบสองปันนา

นกน้อยสองตัวคู่รักกัน

ช่วยกันคาบใบไม้มาบรรจงสร้างรังใหม่

เตรียมสำหรับลูกน้อยที่จะเกิดมา…

ธรรมดา…ชีวิต

ธรรมดา..สัตว์โลก..


เฮฮาศาสตร์.. เจ้าเป็นไผ

378 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 เวลา 16:58 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8916

อาสายกร่าง สรุปตัวตนเฮฮาศาสตร์ เจ้าเป็นไผ ให้ทุกท่านช่วยต่อเติมเสริมแต่ง เพื่อใส่ใน เจ้าเป็นไผ๑ ครับ

เฮฮาศาสตร์รวมตัวกันอย่างไร

นับตั้งแต่ “การจัดการความรู้” (KM) เป็นหลักการที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในสังคมแล้ว นั้น รูปแบบการจัดการก็พัฒนาอย่างหลากหลายมากขึ้น รูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันคือ บล็อก สมาชิกที่ใช้บล็อกบันทึกเรื่องราว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แวะอ่าน ทักทาย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนถูกคอกัน จึงขยับจากโลกเสมือนอันเชื่อมโยงสมาชิกข้ามระยะทาง และข้อจำกัดของเวลา สู่โลกความเป็นจริงของกิจกรรมกลุ่ม เสริมสร้างความผูกพันระหว่างกัน

เป็นการรวมตัวกันแบบธรรมชาติ ต่างมีอิสรเสรีภาพ เป็นตัวของตัวเอง เอาความเป็นคนคนหนึ่งเข้ามาหากันมิได้มาด้วยยศฐาบรรดาศักดิ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะ หัวโต ตัวเล็ก ขี้เหร่ ความหล่อ ความสวย เพศ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่เงื่อนไขของการมารวมกลุ่ม หรือกล่าวโดยสรุปรวมก็คือ รวมกันด้วยใจนั่นเอง

ทำไมต้องเฮฮาศาสตร์

ทุกคนจำเจกับระบบ ไม่ว่าราชการหรือธุรกิจ หรือองค์กรอื่นๆ อยากสัมผัสอะไรที่ง่ายๆ กันเอง ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้สาระ เอาใจว่ากัน สนุกสนานก็มีสาระได้ ไม่เครียดไม่ผูกมัดแต่รับผิดชอบ ยืดหยุ่น สัมพันธ์กันด้วยลักษณะทางวัฒนธรรมพื้นๆของสังคมแต่ไม่ใช่ระเบียบ ข้อบังคับ หรือการขึ้นต่อ หากกลุ่มตกลงทำร่วมกันก็ทำ ก็ขอเรียกว่าเฮฮาศาสตร์

เฮฮาศาสตร์คือองค์กรแบบไหน

เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่องค์กรแบบปกติทั่วไป (Formal Organization) ที่มีโครงสร้างบุคลากรเป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ เรียกกันว่า Organization chart เช่น มีผู้มีตำแหน่งสูงสุด แล้วลดหลั่นกันลงมา มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน เช่น องค์กรในระบบราชการ องค์กรบริษัท ระบบธุรกิจต่างๆ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรที่ไม่มีโครงสร้าง เป็น Un-Structural Organization หรือ Non-Formal Organization ไม่มีชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ไม่มี Organization chart ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน

แต่เฮฮาศาสตร์ “มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง” ความหมายคือ กลุ่มจัดรูปของกลุ่มตามฐานความรู้ ความสามารถ ความถนัด จัดเจน เฉพาะที่ปรากฏออกมาในระหว่างสมาชิกในกลุ่ม และเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยาย ตามการแสดงออก ตามการนำ ตามการศรัทธา นี่แหละเป็นโครงสร้างแบบดั้งเดิมของสังคมเรา

อธิบายขยายความได้ดังนี้ ย้อยหลังไปรัชการที่ 5 ก่อนที่ระบบราชการจะเข้าไปสู่สังคมชนบทนั้น สังคมชนบทอยู่ร่วมกันแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ ไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีอนามัยตำบล ไม่มีผู้ช่วยฯ ไม่มีสารวัตร ไม่มีตำรวจ ฯลฯ แต่สังคมชนบทมีหมอพื้นบ้าน มีช่างไม้ ช่างหล่อ มีผู้ทำพิธีกรรมพื้นบ้าน ผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ทางอีสานก็มี เจ้าโคตร เฒ่าจ้ำ หมอธรรม หมอเป่า หมอนวด นางเทียม ฯลฯ ทุกภูมิภาคไม่ว่าเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ทุกชุมชนจะมีบุคลากรเหล่านี้อยู่ ซึ่งต่างก็มีบทบาทในสังคมนั้น ๆ และระหว่างชุมชนที่เราเรียกท้องถิ่น ต่างอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน มิได้ใช้เงินทองมาเป็นสื่อกลางในการพึ่งพาว่าจ้าง มีน้ำใจแก่กันและกัน เคารพ ยอมรับและมีมารยาทระหว่างกันที่เราเรียกว่ารวม ๆ ว่าวัฒนธรรมชุมชน หรือวิถีชุมชน

ภาพชนบทดั้งเดิมดังกล่าวเราเรียกว่าเป็น Local structure หรือ Traditional structure และซ่อนตัวอยู่ในสังคมปัจจุบันที่เอาโครงสร้างระบบราชการที่เรียกว่า การปกครองท้องถิ่นเข้าไป โครงสร้างดั้งเดิมเหล่านั้นก็ถูกลดบทบาทลง และเลือนจางหายไปกับกาลเวลา มากน้อย แล้วแต่ปัจจัย เช่น ความเข้มแข็งของระบบดั้งเดิมของบางชุมชนยังหนาแน่นเพราะมีบุคลากรของชุมชนเป็นผู้มีบารมี ทั้งชุมชนยอมรับนับถือ เคารพ หรือปัจจัยที่นักสังคมศาสตร์มักเรียกว่า ความเข้มข้นของระบบดั้งเดิม อาจดูจากระยะห่างของที่ตั้งหมู่บ้านนั้นกับศูนย์กลางอำนาจ (Periphery theory) แต่หลักการนี้ด้อยลงไปมากเมื่อระยะทางในสมัยก่อนถูกลดลงด้วยระบบการสื่อสารยุคดิจิตอลในปัจจุบัน ในป่าในเขาก็สามารถรับรู้เรื่องไข้หวัด H1N1 ได้พร้อมๆกับในเมืองและทั่วโลก

เวลาเราเข้าไปทำงานในชุมชนเราจะวิเคราะห์โครงสร้างชุมชนด้วยสองมิติ คือ มิติสมัยใหม่ หมายถึงระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งเปิดเผยชัดเจน เห็นชัดจับต้องได้ มีสถิติ มีการจดบันทึก มีรายงาน ฯ อีกมิติคือ ระบบโครงสร้างเดิมของชุมชน ใครคือเจ้าโคตร ใครคือเฒ่าจ้ำ ใครคือหมอธรรม ใครคือหมอนวด ใครคือช่าง ใครคือผู้นำจิตวิญญาณ เราหาตัวได้อย่างไรมีหลายวิธี นักวิชาการก็ใช้ Sociogram

บทบาทของโครงสร้างนี้ในสังคมชุมชนมีบทบาทไม่แพ้โครงสร้างทางระบบการปกครองท้องถิ่น ใครทำงานกับชุมชนแล้วไม่เข้าใจมิตินี้ก็ทำงานยากสักหน่อย

เฮฮาศาสตร์จำลองภาพโครงสร้างสังคมเดิมนี้มา หรือมีลักษณะที่ใกล้เคียงมาก และหากเราจะทำ Sociogram ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เราก็จะพบว่า ใครมีปัญหาเรื่อง บล็อก คอมพิวเตอร์ ก็ต้องวิ่งไปหา คอน เม้ง โสทร ใครมีคำถามเรื่องสมุนไพรก็ต้องแวะไปจีบป้าจุ๋ม ใครอยากสนทนาเรื่องการส่งเสริมการเกษตรก็ต้องน้องสิงห์ป่าสัก และหากจะถามว่าทั้งกลุ่มยอมรับใคร ศรัทธาใครในลักษณะนำก็ต้องพ่อครูบาฯ ลุงเอก เป็นต้น การยอมรับเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องแต่งตั้ง แต่ไม่มีโครงสร้าง แต่มีการยอมรับในความรู้ความสามารถ ซึ่งคล้ายๆบทบาทหน้าที่โดยธรรมชาติต่อกลุ่ม

เป้าหมายเฮฮาศาสตร์เพื่ออะไร

ถ้าจะดูพัฒนาการของกลุ่มเฮฮาศาสตร์จะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาโดยใคร หน่วยงานไหน ฯ จึงไม่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ไม่มีเป้าหมายเฉพาะ แต่เฮฮาศาสตร์เกิดจากการค่อยพัฒนาความสัมพันธ์ จากบันทึกมาสู่รูปแบบกลุ่มก้อนของคนถูกคอกัน แบบหลวมๆ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ใดๆในปัจจุบัน เป็นเพียงการเริ่มต้น และกำลังเดินทางไปสู่อนาคตที่ยังไม่ได้กำหนด แต่ทุกคนมองเห็นกว้างๆร่วมกันว่า เพื่อกันและกัน จากแคบสู่กว้าง จากปัจเจกสู่สังคม ทุกย่างก้าวในห้วงเวลาที่เคลื่อนตัวไป เฮฮาศาสตร์กำลัง Formulate ตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป แบบธรรมชาติ ไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่มีกำหนดเวลา แต่กลุ่มคิดอ่านทำกิจกรรมร่วมกันตามจังหวะแห่งความลงตัวของตัวเอง น้อยมากไม่สำคัญ ใหญ่เล็ก ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การเสริมสร้าง หนุนเนื่องกำลังใจและศักยภาพแก่กันและกันนั้นเป็นสาระที่กลุ่มเลือกที่จะทำ ตามความเห็นชอบร่วม อาจกล่าวว่าเพื่อสมาชิก เพื่อกลุ่มที่หลวมๆ เพื่อสังคมนี่คือแนวทางที่เป็นไป ปล่อยให้การเคลื่อนตัวและเวลาในอนาคตเกิดการปรับตัวไปสู่สภาพที่เหมาะสมที่สุดของความเป็นเฮฮาศาสตร์

ศักยภาพของเฮฮาศาสตร์

การเป็นเฮฮาศาสตร์แบบไม่มีโครงสร้างเหมือนรูปแบบองค์กรทั่วไปนั้น เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาพัฒนาการจากเริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบันนั้น เฮฮาศาสตร์เกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร ความไม่ติดยึดต่างๆนั้น เป็นลักษณะที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งมองว่าน่าจะส่งผลให้มีการปรับตัวได้สูง หากต้องการการปรับตัว แต่สุมเสี่ยงต่อการทำกิจกรรมร่วมกันที่มีความซับซ้อนมาก

กรณีเมื่อกลุ่มมีภารกิจงานที่มีความซับซ้อนที่ต้องการความจัดเจนต่องานนั้นๆ ก็สุ่มเสี่ยงหากกิจกรรมนั้นๆอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดต่างๆ เช่นเวลาที่จำกัด ย้อนไปนึกถึงสังคมดั้งเดิมจะจัดงานใหญ่ เช่น งานศพ หรืองานโกนจุก บวชนาค ในหมู่บ้านนั้น จะมี “แม่งาน” เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งก็คือ เจ้าภาพนั่นเองหรือญาติสนิทของเจ้าภาพ ก็จะปรึกษาหารือกันว่างานมีอะไรบ้างที่ต้องทำ ขนาด จำนวน เวลา ฯ จะทำได้อย่างไร ก็ต้องไหว้วานญาติสนิท เพื่อนบ้านที่สนิท หรือ เพื่อนบ้านที่เป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ เช่นจะทำขนมหม้อแกงต้องป้าจุ๋ม จะแกงเผ็ดเป็ดย่างต้องแม่สร้อย จะทำห่อหมกต้องแม่เบิร์ด จะจัดอาสนะสำหรับพระมาสวดมาเทศน์ ต้องพ่อเหลียง จะหุงข้าวกระทะใบบัวต้องตาจอมป่วน จะประดิษฐ์ประดอยดอกไม้ถวายพระต้องตาออต เหล่านี้เป็นต้น ก็ไปเชิญมา บอกกล่าวมา หรือบางทีไม่ต้องบอกเขาเหล่านั้นก็มาโดยอัตโนมัติ รู้งาน จิตอาสา เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ดูซิงานที่ซับซ้อนไม่มีองค์กรโครงสร้างก็จัดได้ ทำได้ สำเร็จลงได้ด้วยความเป็นชุมชนแบบหมู่บ้าน

เฮฮาศาสตร์กำลังปรับตัวจำลองภาพชุมชนดั้งเดิม แต่น่าจะดีกว่า เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคสังคมโบราณ สามารถดัดแปลงความรู้ความสามารถสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ เฮฮาศาสตร์เป็นสังคมพิเศษของยุคสมัย เป็น Cyber community เป็นชุมชนเสมือน เราพบปะกันทุกวันบนตัวอักษร แม้ความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ ไม่เหมือนชุมชนดั้งเดิมจริงที่สัมพันธ์กันแบบคลุกคลีถึงตัวกันทุกวัน ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงแนบแน่นกว่าหลายเท่าตัว เฮฮาศาสตร์ก็น่าจะพัฒนาไปในทิศทางนั้น

ดูเพิ่มเติมได้ที่


ร่องรอยบางทราย

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:43 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 988

(หยิบเอามาตัดต่อ ปรับปรุงใหม่เพื่อ “เจ้าเป็นไผ ๑”)

เด็กบ้านนอกอีกคน….

บ้านริมแม่น้ำน้อย ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง สมัยเมื่อสี่สิบปีที่แล้วเป็นชนบทไปไหนมาไหนก็เดินด้วยเท้าเปล่า อย่างดีก็จักรยานหรือพายเรือ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดคือชาวนา ชีวิตผันไปตามฤดูกาล ชนบทคือโรงเรียนที่กล่อมเกลาจิตใจให้คุ้นเคยกับทำนองวิถีและวัฒนธรรมชาวนาภาคกลาง

เป็นครอบครัวใหญ่ ปู่มีย่าสองคน แต่ละย่ามีลูก 7 คน พ่อเป็นลูกย่าใหญ่และเป็นคนโตจึงรับภาระเลี้ยงน้องสองแม่มาทั้งหมด กระนั้นพ่อยังกระเสือกกระสนเรียนจนจบ ม 3 และได้สิทธิเป็นครูเลย แม่เป็นชาวนาธรรมดาที่กำพร้าพ่อมาแต่เล็ก ซึ่งสัตย์และจิตใจเหมือนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ชอบทำบุญ ไหว้พระ เข้าวัด ฟังเทศน์ เลี้ยงลูก 6 คนด้วยการทำนา พยายามให้ได้เรียนหนังสือทั้งหมด

ก๋ง(ปู่)มีเชื้อจีน จึงรู้จักทำมาค้าขายแต่มาแต่งงานกับชาวนาจึงผันมาทำนา เป็นคนดุมากๆ น้องพ่อคนถัดมาจึงทนไม่ไหว เพียงขโมยปืนปู่ไปเล่นก็แจ้งตำรวจมาจับลูกเข้าคุกเลย อาคนนี้ออกจากคุกได้ก็ไม่กลับบ้านเข้าป่าเป็นเสือปล้นเขากินไปเลยแต่ก็มาถูกเสือด้วยกันฆ่าตาย พ่อมีนิสัยดุเหมือนปู่ เอะอะอะไรก็ไม้เรียวที่เหน็บข้างฝาตลอดสองอัน เกือบทุกวันที่บ้านจะต้องมีลูกคนใดคนหนึ่งถูกตี….

สภาพสังคมสมัยนั้น

เรียนโรงเรียนวัดที่พ่อเป็นครูใหญ่ จึงถูกตีเป็นตัวอย่างเสมอหากทำอะไรผิด โรคคางทูมระบาด เป็นกันทั้งโรงเรียน อีสุกอีใสระบาด เป็นกันทั้งตำบล โรคอหิวาระบาด เป็นกันทั้งอำเภอ เจ็บตายกันมาก สถานที่อนามัยที่ดีที่สุดสมัยนั้นคือไปหาหมอมิชชันนารี ที่มาเปิดโรงพยาบาลเล็กๆที่ตลาดวิเศษชัยชาญ รักษาได้ทุกโรค…ราคาถูก แถมแจกเอกสารศาสนาด้วยเป็นการ์ตูน

สิ่งที่ชอบที่สุดคือ งานวัด หนังกลางแปลง งานบุญกลางบ้าน งานประเพณีต่างๆ ได้กินขนมแปลกๆ ได้กินน้ำแข็งใสใส่น้ำสีแดงสีเขียวและนมข้นโรย ข้าวโพดคั่ว ตังเม … ถ้าเป็นงานศพก็ได้กิน “ข้าวตัง” ก้นกระทะใบบัวใหญ่ที่เขาใช้หุงข้าวเลี้ยงคนทั้งวัดที่มาในงาน คืนไหนมีหนังกลางแปลงมาฉาย ไม่เคยดูหนังจบสักเรื่องหลับก่อน พ่อต้องแบกกลับบ้านทุกที แต่ตื่นเช้ามืดกับพี่ชายจะวิ่งกันมาที่บริเวณฉายหนัง เพื่อเดินหน้ากระดานหาสตางค์ที่อาจจะมีคนมาดูหนังทำหล่นตามพื้นเมื่อคืน ก็มักจะได้บ่อยๆ…

เมื่อลูกชาวนาไปเรียนหนังสือ….

หน้าฤดูทำนาก่อนไปเรียนหนังสือทุกคนต้องตื่นแต่ตี 4 แบกไถบ้าง จูงควายบ้างออกไปทำนากับพ่อ เดินทางไกลเป็นกิโล กลัวผีก็กลัวเพราะต้องเดินผ่านวัด ผ่านป่าช้า ขณะเดินตาก็หลับ จึงล้มลุกคลุกคลาน ไปกับโคลนบ้าง ขี้ควายบ้าง ถึงนาก็ฟ้าสางพอดี เอาควายเทียมไถ ไถนาพอเหนื่อย สว่างเต็มที่แม่กับพี่สาวก็หาบกระจาดข้าวมาถึง จึงหยุดพักกินข้าว แล้วก็รีบกลับบ้านไปอาบน้ำไปโรงเรียน

หน้าแล้งก็เอาควายไปเลี้ยงกับพี่ กับน้องและเพื่อนบ้าน เอาผ้าขาวม้าปูท้องนาบ้างใต้ต้นไม้ใหญ่บ้าง ดูท้องฟ้า เห็นเครื่องบินพ่นควันสีขาว ใจก็ฝันอยากเป็นนักบิน เห็นนักเรียนนายสิบแต่งตัวด้วยเครื่องแบบหล่อ เท่ห์กลับบ้าน ใจก็อยากแต่งชุดแบบนั้นบ้าง

ขึ้นชั้นมัธยมก็ไปโรงเรียนประจำอำเภอ ต้องเดินวันละ 10 กิโลไป-กลับ ผ่านตลาดวิเศษชัยชาญ เด็กตลาดเรียนเก่ง เด็กบ้านนอกอย่างเราเข็นแล้วเข็นอีก กำลังจำดีดี พ่อตะคอกหน่อยเดียวความรู้วิ่งหนีไปหมด กลัวจนลาน แอบร้องให้ น้อยใจที่เห็นพ่อลูกคนอื่นเขาเล่นกัน กอดกัน แต่บ้านเราไม่มีเลย

กระแสการสร้างชีวิตคือการเรียนหนังสือและเข้ารับราชการ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์จะให้ไปเรียนต่อครู ปกศ. ที่ อยุธยา ใครเก่งก็เข้าสวนสุนันทา บ้านสมเด็จ ที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นที่วิเศษชัยชาญมีครูคนเดียวที่จบปริญญาตรีมาจากประสานมิตร

เด็กบ้านนอกมาอยู่ในเมืองใหญ่….

คุณตาอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนแถว สำเหร่ ธนบุรี ท่านเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่วิเศษชัยชาญมานอนค้างที่บ้าน เพราะเป็นบ้านหลังเดียวที่มีส้วมซึม เห็นเราทำงานช่วยพ่อแม่ ตักน้ำใส่ตุ่ม กวาดบ้านถูบ้าน ตัดไม้ รดน้ำต้นไม้ คุณตาก็ออกปากให้ไปเรียนต่อ มศ. 4-5 ที่ โรงเรียนสมบุญวิทยา ที่คุณตาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่นั่น

พ่อพาผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯทางเรือซึ่งมีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สองชั้นวิ่งจากท่าเตียน กรุงเทพฯ ผ่านอยุธยา อ.ผักไห่ อ.วิเศษชัยชาญ ไปสิ้นสุดที่ อ.โพธิ์ทอง เพื่อไปส่งสินค้า ขาล่องว่างเปล่าก็จะรับคนเดินทางลงกรุงเทพฯ ถึงท่าเตียนก็เช้ามืดพอดี

คืนแรกที่ธนบุรี คลองสำเหร่ บ้านสวน ก็น้ำตาตก เมื่อมาอยู่สภาพเมืองที่เราไม่เคย อึดอัดไปหมด จะทำอะไรก็ย่องๆ ไม่กล้าคุยกับใคร อยู่บ้านนอกกินข้าวทีเป็นจานพูนเต็มๆ ตักเพิ่มเอาเต็มที่ ก็บ้านเราทำนา ข้าวปลาเหลือเฟือ คนเมืองกรุงเขากินข้าวนึ่งเป็นก๊อกเล็กๆ มันจะไปอิ่มอย่างไง จะกินหลายก๊อกก็ไม่ได้ อายเขา กลางคืนท้องร้อง หิว นอนร้องให้ คิดถึงแม่ที่บ้านนอก คิดถึงน้อง คิดถึงพี่ แต่ก็ต้องทนเพราะมาเรียนหนังสือ…

เช้าตื่นขึ้นมาคุณน้ามีลูกสาวสองคนเรียนชั้นประถมโรงเรียนเดียวกันก็ต้องจูงมือไปโรงเรียนด้วยกัน แหกปากร้องทุกวันเดินไปด้วยร้องไปด้วย เราก็ถือกระเป๋ามือหนึ่ง อีกมือก็จูงน้อง

บางคืนนั่งดูหนังสือเรียนทนไม่ไหว หิวข้าว ค้นกระเป๋ากางเกงมีเหรียญสิบบาทเหลืออยู่ ก็แอบออกจากบ้านลงใต้ถุนไปปากซอยซื้อราดหน้ากินห่อหนึ่งแล้วแอบเข้าบ้าน หมาเห่าเสียงดังลั่น เลยความแตกว่าเราแอบออกจากบ้านไปปากซอย พ่อรู้เรื่องจึงขึ้นมาสั่งสอนเสียยกใหญ่ โอย..ไม่อยากอยู่แล้วเมืองหลวงเมืองหลอน อยากกลับบ้านนอกดีกว่า

เด็กมหาวิทยาลัยกลิ่นอายบ้านนอก

สอบผ่าน ม.ศ. 5 แล้วสอบ Entrance(1) ติดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งๆที่ไปสอบครูพิเศษที่อยุธยาก็ได้ แต่สละสิทธิเพราะเลือกเอามหาวิทยาลัย ทราบข่าวว่าพ่อดีใจเป็นที่สุดที่ลูกได้เรียนมหาวิทยาลัย เที่ยวเดินอวดคนโน้นคนนี้ แม่เล่าว่าตกกลางคืนนอนเอามือก่ายหน้าผาก แล้วบ่นว่า “แล้วจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน” พี่สาวก็เรียน น้องอีก 4 คนก็กำลังเรียนไล่ๆขึ้นมา ครูประชาบาลกับแม่บ้านที่เป็นชาวนาจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน

แม่ไปขอยืมเงินพระที่วัด พ่อต้องกู้เงินครู และทำนามากขึ้น ที่จำแม่นที่สุด ครั้งหนึ่งปิดเทอมกลับมาบ้าน ตอนถึงเวลาต้องกลับไปเรียน มช. ทางบ้านไม่มีเงินเลย แม้ค่ารถจะเดินทางไปเชียงใหม่ แม่บอกให้ผมลงไปใต้ถุนบ้านหาเก็บเศษขวดที่หลงเหลืออยู่รวบรวมไว้พรุ่งนี้เอาไปขาย ได้เท่าไหร่ก็เอา แล้วจะไปขอยืมเงินหลวงพ่อที่วัดอีก…..

ที่เชียงใหม่ มีโลกกว้างมีเพื่อนใหม่ทุกภูมิภาค เพื่อนปักษ์ใต้สนิทกันที่สุดเพราะบ้านเขาส่งของกินมาให้เรื่อยๆ จำพวกปลาแห้ง เอามาทอดกินกับข้าวต้มกลางคืนดึกๆที่ดูหนังสือกัน สมัยนั้นเข้าสู่ 14 ตุลา บรรยากาศมหาวิทยาลัยอบอวลไปด้วยการอภิปราย การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เราอยู่ในกลุ่มเด็กบ้านนอกที่สนใจเรื่องความยากจน ปัญหาชนบท บ้านเมืองจึงเข้ากลุ่ม และมีท่านอาจารย์หลายท่านมาเป็นที่ปรึกษา และรุ่นพี่พี่ที่แรงสุดๆ

ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น ล้มระบบเชียร์แบบเก่าๆที่เป็นระบบ ว๊ากเกอร์ จับกลุ่มศึกษาหนังสือป็อกเก็ทบุ๊คที่ออกมามากมายในช่วงนั้นที่เป็นหนังสือที่เรียกว่าก้าวหน้า เช่น เรื่อง การพัฒนาความด้อยพัฒนา หนังสือของจิตรภูมิศักดิ์ ยูโทเปีย งานของสตาลิน เหมา แม่ของกอร์กี้ หนังสือโฉมหน้าศักดินา ที่เป็นหนังสือต้องห้าม เดอ แคปปิตัลลิส และมากมาย…. เราอ่านกันอย่างจะไปสอบ ทีหนังสือเรียนหละไม่ค่อยเอา เอามาเสวนากัน คุยกัน ถกกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน เชิญอาจารย์มาแสดงความเห็น เชิญรุ่นพี่พี่มาแสดงความเห็น และที่สุดขีดคือเราไปล้มงานบอลที่นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งชอบจัดงานแบบนั้น ที่เราเห็นว่าไร้สาระ

ในที่สุดเราจัดค่ายศึกษาที่เรียกค่ายจร(2) เอาเพื่อนนักศึกษาที่สนใจทิศทางเดียวกันออกชนบท จัดกันเอง ควักกระเป๋ากันเอง แล้วเอาสาระที่พบมาแลกเปลี่ยนชีวิตที่ไปอยู่ชนบทกัน มันสุดๆเพราะสารพัดสิ่งที่พบมา ยี่สิบคนที่ผ่านค่ายศึกษาจรจะกล่าวถึงตลอด ล้วนเป็นนักศึกษาแพทย์ เภสัช ทันตะ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล ที่เรามักเรียกกันว่าฝั่งสวนดอก มีพวกสังคมไม่กี่คน ทั้งกลุ่มนี้เข้าป่ากันหมด

จัดตั้งพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยชื่อพรรคประชาธรรม เสนอตัวเป็นนายกองค์การนักศึกษา มช. โดยผมเป็นเลขาธิการพรรค ฟอร์มทีมกันลงเลือกตั้งเป็นนายกองค์การ ผมอยู่เบื้องหลัง และทีมเราได้รับเลือก เอาแต่ทำกิจกรรมชนบท ไม่ค่อยได้เรียน แต่เราก็จบออกมา

เส้นทางอาชีพ..

เมื่อเกิด 16 ตุลา เพื่อนๆเข้าป่าหมด ผมก็เข้าป่าหลังดอยสุเทพ แต่เป็นป่าเพื่อทำงานพัฒนาชนบท เป็นโครงการของมูลนิธิฟริดริช เนามัน แห่งเยอรมัน สังกัดสำนักงานเกษตรภาคเหนือ มี ดร.ครุย บุญยสิงห์เป็น ผอ. สมัยนั้น พื้นที่ทำงานคืออำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ สมัยนั้นเรียกว่าเป็นสังคมกึ่งปิดเพราะ การเดินทางเข้าออกยากลำบาก มีรถปิคอัพวันละเที่ยว ถนนเป็นลูกรัง ฝุ่นในฤดูแล้ง เป็นโคลนในฤดูฝน ในรถที่ใช้จึงต้องมีอุปกรณ์เสริมคือ มีด เลื่อย โซ่ จอบ เสียม สำหรับใช้ประโยชน์ตอนต้นไม้ล้มขวางทาง ติดหล่ม ส่วนเจ้าหน้าที่โครงการใช้มอเตอร์ไซด์วิบากรุ่นแรกๆ

ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายคือ คนเมือง ไทยลื้อ และชาวไทยภูเขา เช่น ปกากะญอ ม้ง(3) มูเซอร์ คนเมืองและไทยลื้อมีจำนวนมากที่สุดนับได้ว่าเป็น NGO หรือ องค์กรเอกชนเพื่อการพัฒนาชนบทแห่งยุคแรกๆของประเทศไทย

เนื่องจากเป็นยุคหลัง ตุลาทมิฬ ราชการจะเพ่งเล็งนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยที่มาทำงานชนบท ก็จะติดตามสอดส่องดูแลการทำงานแบบลับๆตลอดโดยเราไม่รู้ตัว มีวิธีมากมายที่จะหาข้อมูลพิสูจน์ว่าเราคือใครกันแน่ โดยคนใกล้ตัวเรามากที่สุดนั่นแหละเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เรียก แหล่งข่าว หรือสายตำรวจ

บ่อยครั้งที่เราไม่ได้นอนพักที่สำนักงานที่หน้าอำเภอสะเมิง แต่ไปพักตามบ้านชาวบ้านและที่พักที่โครงการไปสร้างไว้แบบง่ายๆในตำบล เพื่อนคนหนึ่งเอาแฟนเข้าไปพักด้วย เราก็อาศัยเธอได้ช่วยทำอาหารให้ ต่อมาเพื่อนสังเกตว่าทำไมเธอต้องออกจากพื้นที่เข้าจังหวัดทุกเดือน แรกๆเธอก็บอกว่ากลับบ้านตามปกติ แต่เมื่อสังเกตอย่างละเอียดเธอผิดปกติไป ในที่สุดเรารู้ว่าเธอเป็นสายให้ตำรวจเพราะในสมุดบันทึกเธอนั้นทำรายงานไว้ว่าใครทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แล้วที่เธอออกไปในเมืองเพราะเอารายงานไปส่งให้ตำรวจลับ…

เพื่อนก็ให้เธอออกไปจากพื้นที่ แล้วเราก็มุ่งหน้าทำงานกันต่อและระวังตัว แต่งานของเรานั้นต้องพบปะชาวบ้าน ประชุมกับชาวบ้าน ยามค่ำคืนเพราะกลางวันชาวบ้านไปไร่นาทำงานจึงใช้เวลากลางคืนประชุม ในสายตาราชการนั้นผิดปกติเพราะการประชุมต้องใช้เวลากลางวันเท่านั้น เราสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่อนามัยตำบลที่เป็นสตรีเพราะเธอห้าวเหมือนผู้ชาย และคบผู้ชาย เล่นกีฬาแบบผู้ชายขี่มอเตอร์ไซด์วิบากลุยๆ แถมพูดภาษาก้าวหน้า วันหนึ่งเราขี่มอเตอร์ไซด์ไปทำงานพบซองจดหมายตกอยู่ระหว่างทาง เราหยิบขึ้นมาดูเห็นลายมือเรารู้ว่าเป็นของอนามัยตำบลท่านนั้น แต่ส่งถึงตู้ป.ณ.แห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ เราและเพื่อนสงสัยตัดสินใจเปิดดู เราตกใจมากเพราะนี่คือจดหมายส่งรายงานให้ตำรวจลับที่เชียงใหม่ โดยใช้หมายเลขแทนตัวบุคคล ที่สาระเรื่องราวคือการทำงานของเราที่ไปประชุมกับชาวบ้านในที่ต่างๆ

เราจ้างชาวบ้านที่สำเร็จ ปวช. มาเป็นเลขาสำนักงาน ทำหน้าที่เลขาทั่วไป บันทึกการประชุม พิมพ์รายงาน ฯลฯ ไปประชุมที่ไหนหัวหน้างานก็เอาเธอไปด้วย ปีละครั้งที่เราออกนอกพื้นที่ไปเปลี่ยนบรรยากาศประชุมสรุปงานกันตามชายทะเลบ้าง หรือที่ที่ทุกคนลงความเห็นว่าอยากไป เลขาท่านนี้ก็ลุยๆ สามารถนั่งวงดื่มกับพวกเราที่กำลังแตกเนื้อหนุ่มได้ยันสว่าง ทุกครั้งที่เธอออกไปในตัวเมืองก็มักอ้างว่าขอไปเยี่ยมเพื่อนที่นั่นที่นี่ แล้วเราก็จับได้ว่า เธออีกคนที่เป็นสายลับให้ตำรวจ หมดตูด อะไรต่อมิอะไรที่เป็นเอกสารในการทำงาน ที่เราคุยกันแบบส่วนตัว มุมมอง ความคิดเห็นต่างๆที่เป็นส่วนตัว สาระที่เราคุยกันในวงเหล้า เธอเก็บรายละเอียดหมดสิ้นแล้วถูกส่งไปที่.. เป็นอันว่าคนรอบข้างเราถูกตำรวจลับซื้อตัวไปหมดสิ้น

นอกจากเรื่องราวเครียดๆแบบนี้แล้วผมยังพบเรื่องเหลือเชื่ออีกหลายอย่าง พื้นที่ที่มีสภาพป่าเขาอย่างสะเมิงสมัยนั้น วิถีชาวบ้านยังเดิมๆความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติมีมากและมักมีปรากฏการณ์ที่ทำให้ต้องเชื่อ นี่เองที่เป็นเบ้าหล่อหลอมให้คนชนบทมีพฤติกรรมความเชื่อที่ต่างไปจากคนเมือง

เรื่องเหลือเชื่อมีหลายครั้ง ซึ่งเป็นความเชื่อของสิ่งเหนือธรรมชาติของชาวบ้าน ครั้งที่สำคัญคือ การเผชิญหน้ากับ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”(4) ที่แสดงอิทธิฤทธิจนงานค่ายอบรมเยาวสตรีแตกกระเจิง เจ้าพ่อข้อมือเหล็กคือผีเจ้านายที่คอยดูแลพื้นที่รอบๆตัวเมืองเชียงใหม่ ส่วนที่เป็น อ.สะเมิงกับอ.แม่ริม เรื่องราวโดยสรุปคือ เยาวสตรีคนหนึ่งไปอาบน้ำที่ห้วยกลางทุ่งนาแล้วฉี่ บังเอิญตรงนั้นมีหอเจ้านาย หรือศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ เจ้าที่จึงอาละวาดในรูปของผีเข้าร่างสตรีคนนั้น ชาวบ้านและพระมาช่วยกันแก้ไขแต่ไม่สำเร็จ เมื่อค่ายแตกกลับออกมาข้างนอกอ.สะเมิงผีเจ้านายจึงมาเข้าร่างแล้วบอกว่า สตรีนางนี้ทำผิด ฮีตคอง จึงต้องทำพิธีโบราณขอขมาลาโทษจึงหาย

อีกเรื่องที่เหลือเชื่อ..ต่อเนื่องจากเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ผู้จัดต้องทำจดหมายราชการไปขออนุญาตผู้ปกครองเด็กเยาวสตรีทุกคน เมื่องานค่ายจบสิ้นไปแล้ว วันหนึ่งสมาคมฯได้รับซองจดหมายที่เคยส่งไปถึงผู้ปกครองเยาวสตรีตีกลับมาที่สำนักงานตามที่อยู่หัวซองจดหมาย หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการใช้ซองจดหมายสมาคม ลบการจ่าหน้าซองเดิมออกแล้วจ่าหน้าซองใหม่ ส่งไปให้คนคนหนึ่งที่สมาคมไม่เกี่ยวข้องด้วย แต่จดหมายไม่ถึงผู้รับจึงตีกลับ(เข้าใจว่าที่อยู่ผิดพลาด) เมื่อเปิดอ่านความภายในทุกคนก็ต้องตกตะลึง ตึง ตึง เพราะเป็นจดหมายที่ส่งไปจากผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในพื้นที่ทำงาน สะเมิง จดหมายไปถึงคนหนึ่ง สาระคือ คนเดิมที่ส่งรายละเอียดวันเดือนปีเกิดมาให้นั้นคนนั้นตายไปแล้ว คราวนี้ส่งเพิ่มมาให้ใหม่ขอให้ทำพิธีไสยศาสตร์ฆ่าคนนี้ รายชื่อที่ระบุนี้เป็นผู้นำชาวบ้านของเรา มีความขัดแย้งกับผู้นำหมู่บ้าน ทำไงดีล่ะเมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ผมเข้าไปตรวจสอบข้อมูลพื้นที่พบว่ามีคนตายในหมู่บ้านจริงโดยไม่ทราบสาเหตุ เราก็เอาจดหมายนี้ไปแจ้งความตำรวจไว้ก่อน พร้อมกับไปแจ้งให้ผู้มีรายชื่อนั้นทราบ แล้วก็ทำพิธีแก้เคล็ด วุ้ย เสียว อย่าลบหลู่เป็นเด็ดขาด

ความอ่อนด้อยในประสบการณ์ชีวิตแบบนี้ และความบริสุทธิ์ในความตั้งใจทำงาน คิดอะไรพูดอย่างนั้น แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ระแวดระวังเรื่องลัทธินั้น เรากลายเป็นพวกสุ่มเสี่ยง  แค่ปีเดียว ผมก็โดนตำรวจพื้นที่ซิวในฐานะ “ผู้เป็นภัยต่อสังคม” ตามข้อหานักเคลื่อนไหวสมัยนั้น ที่ศูนย์การุณยเทพภาคเหนือ ผมพบอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่าน อาจารย์วิทยาลัยครู นักศึกษา แม้กระทั่งผู้นำชาวนามากมายเต็มศูนย์ไปหมด

ทหารและตำรวจ เอาตัวเราไปอบรมประชาธิปไตยเสียใหม่ สามเดือนก็ปล่อยออกมาพร้อมใบประกาศว่าผ่านการอบรมมาแล้ว และให้กลับเข้าไปทำงานเดิมได้ แต่อยู่ภายใต้การติดตามของตำรวจลับ

ที่ศูนย์การุณยเทพฯเชียงใหม่นั้น ผมได้พบนักศึกษาสาว มช.รุ่นน้องคนหนึ่ง เธอสวยงามและเธอเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่งในเชียงใหม่ เป็นบุตรสาวร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ และเป็นพระสหายด้วย ผมพบอดีตดาวจุฬาที่มาเป็นอาจารย์ มช. และเป็นอาจารย์ผม ท่านอาจารย์ท่านนี้มีสมบัติเป็นที่ดินในกลางกรุงเทพฯราคานับหลายร้อยล้าน แต่ท่านอาจารย์ได้บริจาคให้เป็นที่ตั้งของสถาบันปรีดีพนมยงค์ ผมพบน้องนักศึกษา ปวช.ที่มีความสามารถทางการวาดการ์ตูน และต่อมาเขาโด่งดังในเรื่องความสามารถของเขาเพราะเป็นการ์ตูนนิสในหนังสือพิมพ์ที่ขายดีของเมืองไทยทั้งรายวันและรายสัปดาห์

แม้ว่าที่ทำงานเก่าจะยินดีรับกลับเข้าทำงาน แต่ฝรั่งเจ้าของงานอิดออดที่จะให้ทำต่อ อ้างว่ายังส่งผลกระทบต่อหน่วยงานราชการที่เคลือบแคลงใจในตัวผม ผมบวชซะเลย ที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม สุพรรณบุรี 1 พรรษา แล้วมาสึกในพื้นที่ทำงานโดยพระอาจารย์ท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่

การทำงานพัฒนาชนบทที่สะเมิง ผมพบคนข้างกายที่เธอเป็นบัณฑิตอาสารุ่น 6 มธ. เธอจบจุฬา ภาษาเยอรมัน จึงพูดกับเจ้าของโครงการที่เป็นชาวเยอรมันได้ ครั้งหนึ่งรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งของเยอรมันเดินทางมาดูงานที่เยอรมันให้การสนับสนุน โดยมี ท่านอานันท์ ปัญยารชุน อดีตเอกอัคราชทูตไทยประจำเยอรมันพามาพื้นที่ คนข้างกายถือโอกาสนำเสนองานเป็นภาษาเยอรมัน ท่านรัฐมนตรีสตรีชื่อ มิส แฮมบรูเชอร์ ฟังเมื่อจบ ท่านทูตก็ควักนามบัตรออกมามอบให้แล้วก็กล่าวว่า “หากต้องการไปศึกษาต่อที่เยอรมันที่ไหนก็ได้ ยินดีสนับสนุน”

สถานการณ์ผมไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะฝ่ายบริหารโครงการ ผมเลยไม่สร้างความอึดอัดอีกต่อไป ลาออก ไปหางานอีสานทำดีกว่าและได้งานทำที่สุรินทร์ คนข้างกายผม ก็เดินทางไปเรียนต่อที่เยอรมันโดยทุนของมูลนิธิหนึ่ง

ที่สุรินทร์ผมทำงานชายแดนกับชาวเขมรแถบ อ.กาบเชิง อ.สังขะ อ.บัวเชด อ.ปราสาท เป็นช่วงที่ทหารเขมรมักจะบุกเข้ามาปล้นเอาข้าวไปกิน ฆ่าชาวนาตาย หรือชาวนาเข้าป่าไปเหยียบกับระเบิดตาย เป็นโครงการที่สนับสนุนโดย CUSO แคนาดา โดยมี ดร.สุธีรา ทอมสัน(วิจิตตรานนท์) เป็นที่ปรึกษาโครงการ ผมมาเรียนภาษาเขมรกับวิทยาลัยครูสุรินทร์

เปลี่ยนแปลงบทบาท…

ที่สุรินทร์นี่เองที่พี่ใหญ่ในวงการและเพื่อนๆ NGO(5) รวมตัวกันตั้ง NGO-CORD และจัดประชุมสัมมนาทุกปี ผมเป็นกรรมการอยู่พักหนึ่งก็ลาออกให้รุ่นน้องๆทำต่อ เพื่อนที่ขอนแก่นชวนมาทำงานกับโครงการ USAID ที่สำนักงานเกษตรท่าพระ ก็เปลี่ยนจาก NGO มาเป็นที่ปรึกษา

ช่วงปี พ.ศ. 2526 ช่วงหลังสงครามอินโดจีน วงการ NGO คึกคักมากที่สุด เกิดองค์กรใหม่ๆมากมายที่ทำงานกับชาวบ้านทั้งเป็น Local และ International NGO และเป็นผลพวงของการเมืองในประเทศ นักศึกษาจึงออกชนบทมากและมีอุดมการณ์สูง นอกจากนี้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐก็มีจำนวนไม่น้อย

ย้ายไปทำงานที่ โครงการ Northeast Rainfed Agricultural Development (NERAD) ที่ท่าพระ สนับสนุนโดย USAID โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นแม่งาน มีทุกกรมภายใต้กระทรวงเกษตรฯมาร่วมงานด้วย เป็นโครงการที่ใหญ่มีพื้นที่ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร และขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างนำร่อง เป็นช่วงที่โครงการอีสานเขียวเข้ามาพอดี

ทำงานกับฝรั่ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ เป็นครั้งแรกที่ทำงานร่วมกับฝรั่งเต็มทีมซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ มีสิทธิพิเศษสามารถสั่งเหล้าฝรั่งทุกยี่ห้อในราคาสินค้า PX ผมก็ PX บ้างแต่ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร กินเหล้าฝรั่งยี่ห้อดังๆซะหมดทุกยี่ห้อแล้วในราคาไม่ถึงพันบาทต่อ “ขวดใหญ่”

สถานที่ทำงานแห่งนี้เองที่ ผมได้เรียนรู้เครื่องมือทำงานวิจัยและสามารถนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาชนบทที่เรียก RAT (Rapid Assessment Technique) ซึ่งเข้ามาครั้งแรกในประเทศไทยที่สถาบันวิจัยระบบการทำฟาร์ม(FSR/E) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝรั่งที่โครงการก็ร่วมมือกับคณะเกษตรเอาเข้ามาใช้ แล้วพัฒนาเครื่องมือนี้เป็น RRA (Rapid Rural Appraisal) และเป็น PRA(Participatory Rapid Appraisal) ในที่สุด ก่อนที่จะดัดแปลงไปอีกมากมายขยายไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้

เครื่องมือที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่เรียนรู้ในครั้งนั้นคือ Agro-ecosystem Analysis (AEA) เป็นเครื่องมือใช้วิเคราะห์พื้นที่ เหมาะที่จะใช้ประกอบการวางแผนงานพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะทางกายภาพ ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นตัวเด่นตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ PRA ประมาณปี 2525-2530 ที่ทำงานที่นั่น ได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานต่างๆมากมาย ประสบการณ์ครั้งนั้นยังเอามาใช้ในการทำงานจนทุกวันนี้

วนเวียนไปกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐอีกหลายแห่ง เช่น โครงการไทย-ออสเตรเลีย เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ทั่วภาคอีสาน โดยมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ) เป็นแม่งาน และร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำดื่มน้ำใช้ เช่น กรมชลประทาน กรมอนามัย กรมการปกครอง กรมโยธาธิการ กรมการพัฒนาชุมชน กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท และมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สมัยแจกโอ่งยักษ์ให้ชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มในระดับครัวเรือน

แล้วไปโครงการ ไทย-เนเทอร์แลนด์ เรื่องการพัฒนาน้ำในระดับไร่นาที่เขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ ที่นี่รู้จักระบบชลประทาน ระบบการทำการเกษตรแบบก้าวหน้า การปลูกพืชเศรษฐกิจนานาชนิด ระบบ Contract farming โดยจัดจ้างเจ้าหน้าที่สนามจำนวนมากจากผู้ที่เรียนจบอุดมศึกษามาร่วมงาน

จากนั้นเข้าร่วมกับโครงการ NEWMASIP กับกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปเรื่องน้ำชลประทานทั่วภาคอีสาน เป็นโครงการของกรมชลประทานโดยตรง มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำในระบบเขื่อนขนาดกลาง และใหญ่ของภาคอีสาน การส่งเสริมการผลิต การตลาดพืชผัก การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชลประทานให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และการพัฒนาหลักสูตรการสร้างวิศวกรชลประทานยุคใหม่ ที่ใช้ระบบผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่ชำนาญการเฉพาะด้านมากมาย ช่วยให้กรมชลประทานมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นมาก

แล้วก็ย้อนไปทำงาน International NGO ที่ห้วยขาแข้ง นครสวรรค์ คือ องค์การ Save the Children (USA) เป็น NGO ขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณมาก และทำงานช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ยากจน ตามพื้นที่ชายขอบกลุ่มป่าห้วยขาแข้งที่อุดมสมบูรณ์ ที่นี่เองได้ร่วมมือกับ ส.ป.ก.และ NGO ท้องถิ่นทำโครงการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก.ตลอดแนวชายขอบป่ากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง ทั้งในจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี โดยได้รับการสนับสนุนจากDANCED ประเทศเดนมาร์ค คลุกคลีกับป่ามากที่สุดทั้งในแง่วิชาการและการปฏิบัติกับชาวบ้าน เพราะเป็นพื้นที่ที่ท่าน สืบ นาคะเสถียร ปลิดชีพตัวเองสังเวยป่า จนเกิดกระบวนการดูแลรักษาป่าอย่างจริงจังต่อเนื่องมา มีโอกาสร่วมงานกับกรมป่าไม้อย่างใกล้ชิด มีเจ้าหน้าที่สนามซึ่งเป็นเด็กหนุ่มสาวที่จบอุดมศึกษามาร่วมงานจำนวนมาก

แล้วชีวิตก็ผันผวนอีกครั้งเมื่อต้องเข้ากรุงเทพฯไปทำงานกับบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท TEAM Consulting Engineering and Management จำกัด เป็นบริษัทคนไทยที่มีขนาดใหญ่ มีบริษัทในเครือมากมาย ผมไปรับผิดชอบด้านสังคมกับโครงการของรัฐหลายโครงการ เช่น การก่อสร้างเขื่อนท่าด่านที่จังหวัดนครนายก การศึกษาประเมินผลเขื่อนที่จังหวัดลำปาง การศึกษาผลกระทบการวางท่อน้ำมันเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ศึกษาผลกระทบด้านเสียงของเครื่องบินที่ขึ้นลงของสนามบินสุวรรณภูมิต่อสถาบันเทคโนโลยี่ลาดกระบัง การศึกษาผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะจังหวัดชุมพร ร่วมมือกับ ADB ศึกษาผลกระทบการก่อสร้างถนนทางหลวงของกรมทางหลวง ศึกษาผลกระทบการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกของ กรุงเทพฯ ศึกษาแนวทางการยกระดับความสามารถของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเขื่อนต่างๆ

เมื่อ ส.ป.ก.ได้โครงการ “ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรูปที่ดินด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสานในภาคอีสาน” เป็นเงินกู้จากญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทที่ผมสังกัดได้งานนี้ ร่วมกับอีกสองบริษัท จึงส่งผมกับทีมงานไปประจำที่จังหวัดมุกดาหารจนถึงปัจจุบันนี้..

งานที่มุกดาหารเป็นโจทย์ที่ยากเพราะชาวบ้านในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ติดเชิงเขาภูพานน้อย เป็นชนเผ่าไทโซ่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากประสบการณ์เดิมที่เคยมีมา จึงเป็นงานที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

บทเรียนชีวิตในงานพัฒนาชนบท

โดยส่วนตัวชอบอ่านหนังสือ แล้วเอามาเขียนย่อให้ตัวเองเข้าใจ สรุปสาระนั้นๆไว้เป็นส่วนตัว เพราะการเขียนเป็นการกลั่นกรองความคิดออกมา เอาเฉพาะแก่นออกมา โดยใช้เทคนิค Flowchart, diagram, mind map, graph, note ย่อ วิธีการเขียนก็เอาตามแบบสไตล์ตัวเองที่ชอบ ที่เข้าใจง่าย จับหลักให้ได้ แล้วขยายรายละเอียดทีหลัง การที่เราสนใจดังกล่าว รู้สึกว่าเราจะได้มุมมองเรื่องราวต่างๆได้ดี เราเห็นทั้ง Overview และเฉพาะเจาะลึก

เทคนิคที่เราเรียนมาจากการร่วมลงมือทำ กรณี AEA นั้นทำให้เรามีมุมมอง Overview มากกว่าเพื่อนคนอื่นๆบางคน และเมื่อเราคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือต่างๆของ PRA ทำให้เราสามารถเจาะลึกถึงข้อมูลต่างๆได้ดี และพยายามหาข้อมูลด้านนี้มาประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอ

การที่เราผ่านการใช้เครื่องมือการหาข้อมูลต่างๆมาพอสมควร ช่วยให้เรามี “จินตนาการ” ได้ดีกว่า เมื่อเอ่ยถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง(Subject) เราสามารถกวาดข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆได้ (Subject area) แม้จะไม่มีข้อมูลเราก็รู้ว่าจะไปหาที่ไหน

การเรียนที่ดีที่สุดคือทำเอง ปฏิบัติเอง เพราะมันมีช่องว่างระหว่างภาษาอักษรกับภาษาความรู้สึก ตัวอักษรไม่มีรายละเอียดเท่า หรือหากจะบรรยายให้เทียบเท่าก็ไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆ การปฏิบัติจริงมันมีความรู้สึกเข้ามาอยู่ในผลของการเรียนรู้ด้วยที่ต่างจากการเรียนจากตัวหนังสือ หรือเพียงการบอกเล่า ความรู้สึกจะช่วยให้เราชั่งน้ำหนักในขั้นตอนสุดท้ายได้

เนื่องจากเราเป็นมนุษย์สามโลก คือโลกในเมือง โลกในชนบท และโลกในจินตนาการ การคลุกคลีสองโลกเมืองกับชนบทจึงเห็นโลกที่สามว่าภาพรวมควรเป็นอย่างไร เหล่านี้ช่วยให้เรามีทัศนคติกว้างต่อสังคมโดยรวม และเฉพาะส่วนที่เราเข้าไปทำงานด้วย

เห็นว่าสังคมชาวบ้านนั้นถูกลากถูไปโดยรัฐและระบบธุรกิจโดยไม่เข้าใจถ่องแท้ต่ออัตลักษณ์ของชุมชนทั้งหลาย ซึ่งเขามีลักษณะเฉพาะ แตกต่าง ที่มีส่วนดีอันเป็นทุนทางสังคมอยู่แล้ว กลับโดนระบบข้างนอกมาทำลายอย่างไม่รู้ตัว ยิ่งนานวันช่องว่างของสังคมเมืองกับชนบทยิ่งห่างไกลมากขึ้นแน่แง่ของวิถีคิดและการดำรงชีวิต

เฮฮาศาสตร์

ไม่คิดว่าจะมาพบสังคมแบบนี้ เมื่อมาพบก็ประทับใจ เฝ้ามองแบบเป็นเนื้อในไปด้วยในตัว

จุดเด่นคืออยู่บนฐานของจิตใจที่เอามุมดีมารวมกันที่สังคมจริงขาดแคลน แต่ขณะเดียวกัน หลวมเพราะไม่มีโครงสร้างซึ่งมีผลบ้างต่อการทำงานใหญ่ที่ซับซ้อน แต่หากดัดแปลงวิถีสมัยใหม่เข้ามาใช้เฉพาะกิจก็จะเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มได้ แต่ความหลวมนั้นเองกลายเป็นความสัมพันธ์ใหม่ของกลุ่มคนในสังคมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างทุนทางสังคม

ผลกระทบ(Impact)ต่อการรวมกลุ่มมีมากมายในทิศทางที่ดี เช่น เกิดการนำความรู้ไปต่อยอด เกิดการขยายวงสัมพันธ์ไปถึงเด็กๆที่เป็นลูกหลาน อันเป็นการส่งต่อไม้ทางวัฒนธรรม ระหว่างวัย

เป็นสังคมเติมเต็มบางส่วนของวิถีชีวิตปกติ

คิดอะไร…..

เป็นคนหนึ่งในสังคมใหญ่ที่หนาแน่นไปด้วยคนที่แก่งแย่งกันไปยืนอยู่ข้างหน้า หรือให้เหนือกว่า สูงกว่า ผมจะเลือกตรงข้าม

เพราะเป็นคนชนบท ยากจน และบังเอิญผ่านกระบวนการ 14-16 ตุลาเต็มๆ จึงตั้งใจว่าจะทำงานเกี่ยวกับชนบท และได้ทำสมใจอยาก

คิดเยอะ แต่ทำได้น้อย แต่เพียงนิดหน่อยก็ขอให้ได้ทำเถอะ ดีกว่าคิดเฉยๆหรือพูดเฉยๆยังมีเพื่อนที่คิดคล้ายเรา ทำคล้ายเราอีกมากก็ไปจับมือกับเขา

ไม่จำเป็นต้องมาทำเหมือนกันหมด ยืนตรงไหนก็ทำดีที่ตรงนั้นได้ เพราะสังคมมิใช่มีแต่ชาวนา เกษตรกร มีอีกหลายกลุ่ม ทุกกลุ่มประกอบกันเป็นสังคม ประเทศ ที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน ขี่คอกันขึ้นไป ผมจะอยู่ตรงข้ามทันที

คำสอนทุกศาสนาคือสิ่งที่เราพยายามดัดแปลงตนเองให้เข้าใกล้มากที่สุด เห็นว่าเส้นทางเดินตามคำสอนนั้นคือทางรอดของมวลมนุษยชาติ และต้องเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น

ธรรมชาติคือสรรพสิ่ง เราก็เป็นเสี้ยวส่วนของธรรมชาติ เราไม่มีทางอยู่รอดได้หากไม่มีธรรมชาติ แต่ธรรมชาติอยู่ของเขาได้แม้ไม่มีเรา

สังคมไทยเราไม่ได้สนใจการพัฒนาที่ใช้มุมมอง ทุนทางสังคม และอัตลักษณ์ ไม่จำแนกแยกแยะ ไม่เคารพและใช้ฐานของอัตลักษณ์นั้นเป็นที่ตั้ง

ระบบราชการไม่เหมาะสมกับการเป็นโครงสร้างในการพัฒนาสังคมไทยในสภาพปัจจุบันแล้ว

ให้อภัยเขาก่อนให้อภัยตัวเอง..

เชิงอรรถ


A52S 3

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 เวลา 23:41 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1412
  1. เรามาลองทบทวนความหลังจั๊กหน่อยนะขอรับคุณท่าน เมื่อตอนเฮสามที่ดงหลวง ผมได้สรุปลักษณะของเฮฮาศาสตร์ไว้สมัยนั้นว่าดังนี้นะเจ้าคุณ



ถือว่าเป็นบันทึกช่วงเวลาหนึ่งของการเคลื่อนตัวของเฮฮาศาสตร์ก็แล้วกันนะครับ สิ่งเหล่านี้สรุปจาการเฝ้ามองรถขบวนนี้ที่ชื่อเฮฮาศาสตร์ครับ

เมื่อสมัยที่ทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่ อยู่ในหมู่บ้านคนเมือง วันหนึ่งมีงานศพในหมู่บ้าน พิธีกรรมของภาคเหนือก็คล้ายๆชนบททั่วไป แต่ที่ผมประทับใจมากๆคือ บ้านที่ผมไปพักช่วงนั้น ก็ไม่ได้เป็นญาติโกโหติกาอะไรกับครอบครัวที่มีงานศพนั้น เพียงเป็นเพื่อนบ้าน ร่วมหมู่บ้าน เขาก็ต้องลงจากบ้านหยิบเอาของติดมือไปร่วมงานศพ โดยเจ้าภาพไม่ต้องออกการ์ดเชิญ ไม่ต้องเดินมาออกปากเชิญ แต่ทุกคนต้องลงบันไดเรือนชานไปร่วมงานศพ แต่สังคมในเมือง ออกการ์ดเชิญยังไม่ไปเลย… ปรากฏการณ์นี้เราคงไม่ต้องอธิบาย

ผมเห็นหลายครั้งที่พ่อครูบาตีฆ้องงานนั่นงานนี่ ก็มีคนลงจากบ้านเดินไปร่วมงานโดยไม่ต้องออกปากเชิญ ป้าจุ๋มก็ดี รอกอดก็ดี อาจารย์แฮนดี้ ก็ดี จอมป่วน ก็ดี และใครต่อใครต่างลงบันไดเดินมาที่สวนป่า ยิ่งกรณีเจ้าเป็นใผ โน้นสุดใต้เมืองไทย(น้องแป๊ด) สุดเหนือเมืองล้านนา(น้องอึ่งอ๊อบ) ต่างก็ส่งเสียงอาสาช่วยอย่างเต็มหัวใจ ผมเห็น ผมรู้สึกได้ และทุกท่านก็เห็นและรู้สึกเหมือนผมเช่นกัน (อีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึงนะครับ)

นี่คือความสวยงามของเฮฮาศาสตร์ หากจะมองว่านี่คือกลุ่มยุ่งเหยิงหรือ Chaos ผมก็ว่าเป็น chaos ที่สวยงาม

  1. อย่างที่ผมเฝ้ามองกลุ่ม หรือองค์กรชาวบ้านมาหลายปีและพบเห็นการปรับตัวหลายๆแบบก่อนเดินเข้าสู่เป้าหมาย และผมเคยสร้างไดอะแกรมไว้เพื่อบอกให้ทราบว่า เส้นทางเดินของกลุ่มนั้นไม่ใช่ราบรื่น ไหล วิ่งไปสู่เป้าหมายอย่างไม่มีแรงเสียดทาน ไม่ใช่ครับลองดูนี่ซิ


ลองดูไดอะแกรมนี่นะครับ คนแซ่เฮรวมกลุ่มกันที่ A และต้องการเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ X ตามเส้นทางสีแดงนั้นคือเส้นทางเดินโดยมีการทำกิจกรรมต่างๆแล้วแต่กลุ่มจะสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่นเฮฮาศาสตร์ครั้งต่างๆ การทอดกฐิน การปลูกป่า ทำหนังสือเจ้าเป็นใผ ระพี…ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ยิ่งทำก็ยิ่งมีส่วนสำคัญที่ให้เฮฮาศาสตร์เข้าถึงกัน และปรับตัวเข้าหากันโดยอัตโนมัติด้วยปัจเจกเอง แต่ในทางตรงข้ามก็จะมีปัญหา อุปสรรค เข้ามา ทั้งเบาๆ และหนัก ถึงหนักหนา

ข้อสังเกตการปรับตัวขององค์กรชาวบ้านคือ การเดินทางจาก A ไปที่ X นั้นเมื่อพบปัญหา องค์กรก็จะปรับไปสมมุติปรับไปที b องค์กรเดินไปสักพักก็พบปัญหาอีก องค์กรก็ปรับ สมมุติปรับไปที่ c และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ข้อสังเกตคือ การปรับตัวนั้นก็ยึดเอาเป้าหมายเป็นหลัก การแกว่งขององค์กรอาจเกิดขึ้น แต่แล้วก็ปรับเข้ามาเส้นตรง ผมอาจะเรียกเส้นตรงนี้ว่า ความมีคุณธรรม หรือ norm ขององค์กรพึงประสงค์ที่จะเดินเข้าสู่เป้าหมายที่ดีที่สุด


ข้อสังเกตของผมต่อองค์กรชาวบ้านในกรณีที่พบอุปสรรคก็คือ

สมาชิกต่างมาหาข้อเท็จจริงว่ามันคืออะไร บกพร่องตรงไหนและหาทางออกแบบชาวบ้าน ซึ่งหลายๆครั้งเราคิดไม่ถึงหรอกครับ… เพราะเขามีความเชื่อ มีวัฒนธรรม มีวิถีปฏิบัติแบบของเขา แต่กลุ่มก็เดินต่อไปได้หลังการปรับตัว แล้วก็มักจะพบปัญหาอีก หนักบ้างเบาบ้าง บางกลุ่มแก้ไม่ไหวล้มไปต่อหน้าต่อตาก็มี ที่แก้ได้ ปรับตัวได้แต่แคระแกรน ล้มก็ไม่ล้ม โตก็ไม่โต ก็มี ที่เติบโตแบบหยุดไม่อยู่ก็มี เหล่านี้ผมมีข้อสังเกตว่า

  • กลุ่มผู้นำมีบทบาทที่สำคัญในการแก้ปัญหา หากฟังเสียงสมาชิกอย่างจริงใจ แสดงความจริงใจต่อกลุ่ม แสดงให้เห็นถึงเป็นคนมีคุณธรรม ไม่ถือประโยชน์ส่วนตน เสียสละจริงๆให้สมาชิกเห็น มีประวัติที่ดี สรุปว่าเป็นคนดี
  • กลุ่มผู้นำมีภาวะผู้นำสูง เมื่อนำก็นำ แต่นำอย่างมีส่วนร่วม กล้าตัดสินใจ มีประสบการณ์ฯ
  • สมาชิกก็จริงใจต่อการแสดงออกในการมีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือในข้อตกลงของกลุ่ม หรือไม่ผิดแผกไปจากวัฒนธรรม ข้อปฏิบัติทางวิถีของชุมชนนั้นๆ
  • หากกลุ่มนั้นมีกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับ ก็เอามาทบทวน ปรับให้เกิดความเหมาะสม
  • ข้อที่พบบ่อยมากทั้งองค์กรในชุมชน และองค์กรใหญ่ๆนอกชุมชน แม้ราชการ ธุรกิจ คือ “การสื่อสาร” ระบบการสื่อสาร เครื่องมือการสื่อสาร วิธีการสื่อสาร ช่องทางการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ ฯ
  • อีกประการที่พบบ่อยเช่นกันกันคือ “ความคาดหวัง” พ่อจอมป่วนคาดว่าลุงบางทรายจะเข้าใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ ลุงบางทรายคาดหวังว่าตาออตจะเข้าใจเรื่องที่คุยกัน ประธานคาดว่าสมาชิกจะเข้าใจ สมาชิดคาดว่าสิ่งที่พูดนั้นประธานจะรู้เรื่อง เข้าใจตรงที่อยากสื่อสาร…. เปล่า…ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด มีเรื่องตลกมากมายเกี่ยวกับ การสื่อสาร เมื่อยี่สิบปีก่อน ผมนั่งรถราชการไปกับ ดร.ท่านหนึ่งที่เป็นรอง ผอ. สำนักงานเกษตรภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมประชุมประจำปี เราเชคอินที่โรงแรมเอากระเป๋าไว้ แล้วก็เดินทางเข้าที่ประชุมที่จังหวัดนครพนม เมื่อเราเดินทางถึง ดร.ท่านนั้นก็คิดว่า การประชุมคงนานให้พนักงานขับรถคอยเขาคงเบื่อ ให้เขากลับไปพักที่โรงแรมก่อนด้วยความหวังดี จึงบอกพนักงานขับรถว่า “กลับไปก่อนเถอะเดี๋ยวกลับไปกับเพื่อนที่เข้าร่วมประชุมนี้ก็ได้” (ในความหมายคือเมื่อเสร็จการประชุมจะกลับที่พักโรงแรมพร้อมกับท่านอื่นๆเอง) แต่แล้วพนักงานขับรถขับรถกลับขอนแก่นเฉยเลย..เพราะคิดว่านายบอกให้กลับบ้านแล้วนายจะเดินทางกลับกับเพื่อนๆที่มาร่วมประชุมนั้น….ฮา..(ไม่ออก)

(มีต่อ)



A52S 2

2658 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 เวลา 8:18 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 26676

 

  1. การเป็นเฮฮาศาสตร์แบบไม่มีโครงสร้างในรูปแบบองค์กรทั่วไปนั้น เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวของมันเอง

     


     

  • เราย้อนกลับไปพิจารณาพัฒนาการจากเริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบันนั้น เฮฮาศาสตร์เกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร ความไม่ติดยึดในกฎระเบียบ ข้อบังคับ การมา การไป การเข้าร่วม ไม่เข้าร่วม เป็นอิสระ มิได้อยู่ภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ แต่เป็นใจสั่งมา เป็นสำนึก เป็นมารยาท เป็นวัฒนธรรม หรือเรียกได้ว่าเอาตัวตนมาสัมพันธ์กัน ทั้งหมดนี้คือต้นทุนทางสังคม ชนิดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบที่เราคุ้นชินกับโครงสร้างที่มีชั้นของตำแหน่ง ส่วนใหญ่เราจึงประทับใจและโหยหา ความสัมพันธ์ระหว่างกันในเงื่อนไขแบบเฮฮาศาสตร์ ที่สลัดหลุด ยศ ตำแหน่งออกไป เหลือเพียงลักษณะทางวัฒนธรรม เช่น พี่ น้อง พ่อ แม่ ฯลฯ ไม่มีเกราะกำแพงขวางกั้น เปิด และเรียบง่าย
  • ลักษณะดังกล่าวนี้จะมีความยืดหยุ่นสูงกว่า ซึ่งผมมองว่าน่าจะส่งผลให้มีการปรับตัวได้สูง หากต้องการการปรับตัว
    แต่สุมเสี่ยงต่อการทำกิจกรรมร่วมกันที่มีความซับซ้อนมาก

     


    เฮฮาศาสตร์ เหมือนเราขึ้นรถลงเรือลำเดียวกัน

     

  • กรณี A52S นั้นบ่งชี้มาให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อกลุ่มมีภารกิจงานที่มีความซับซ้อนที่ต้องการความจัดเจนต่องานนั้นๆ ก็สุ่มเสี่ยงหากกิจกรรมนั้นๆอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดต่างๆ เช่นเวลาที่จำกัด ย้อนไปนึกถึงสังคมดั้งเดิมจะจัดงานใหญ่ เช่นงานศพ หรืองานโกนจุก บวชนาค ในหมู่บ้านนั้น จะมี “แม่งาน” เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งก็คือ เจ้าภาพนั่นเองหรือญาติสนิทของเจ้าภาพ ก็จะปรึกษาหารือกันว่างานมีอะไรบ้างที่ต้องทำ ขนาด จำนวน เวลา ฯ จะทำได้อย่างไร ก็ต้องไหว้วานญาติสนิท เพื่อนบ้านที่สนิท หรือ เพื่อนบ้านที่เป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ เช่นจะทำขนมหม้อแกงต้องป้าจุ๋ม จะแกงเผ็ดเป็ดย่างต้องแม่สร้อย จะทำห่อหมกต้องแม่เบิร์ด จะจัดอาสนะสำหรับพระมาสวดมาเทศน์ ต้องพ่อเหลียง จะหุงข้าวกระทะใบบัวต้องตาจอมป่วน จะประดิษฐ์ประดอยดอกไม้ถวายพระต้องตาออต เหล่านี้เป็นต้น ก็ไปเชิญมา บอกกล่าวมา หรือบางทีไม่ต้องบอกเขาเหล่านั้นก็มาโดยอัตโนมัติ เพราะในหมู่บ้านไม่มีใครอีกแล้ว.. รู้งาน จิตอาสา เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ โอยรายละเอียดเรื่องนี้มีมากมาย เขียนได้เป็นเล่ม และน่าสนใจมาก…. ดูซิงานที่ซับซ้อนไม่มีองค์กรโครงสร้างก็จัดได้ ทำได้ สำเร็จลงได้ด้วยความเป็นชุมชนแบบหมู่บ้าน แต่เฮฮาศาสตร์เป็นชุมชนแบบไหน..จะจัดงานใหญ่ๆภายใต้รูปแบบกลุ่มเฮฮาศาสตร์ได้อย่างไร


ทุกครั้งที่เฮจัดงาน เราเห็นลูกหลานมาอยู่ร่วมกัน การถ่ายเททุนสังคมเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

  1. ผมคิดว่าทำได้เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคสังคมโบราณ เราก็ดัดแปลงความรู้ความสามารถสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ เฮฮาศาสตร์เป็นสังคมพิเศษของยุคสมัย เป็น Cyber community เป็นชุมชนเสมือน เราพบปะกันทุกวันบนตัวอักษร แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ ไม่เหมือนชุมชนดั้งเดิมจริงที่สัมพันธ์กันที่เขาคลุกคลีกันแบบตัวถึงตัวกันทุกวัน ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงแนบแน่นกว่าหลายเท่าตัว เฮฮาศาสตร์ก็น่าจะพัฒนาไปในทิศทางนั้น

     


     

  2. แต่เฮฮาศาสตร์ยังอยู่ในขั้น Formulate ความเป็นองค์กรตามธรรมชาติ ที่คล้ายคลึงหมู่บ้านที่ค่อยๆปรับความกลมกลืนกันมากขึ้นตามเหตุการณ์ ตามกาลเวลาที่เคลื่อนไปพร้อมกับกิจกรรมที่ทำร่วมกัน สังเกตเวลามีกิจกรรมอะไร พ่อครูบาก็ตีฆ้อง ร้องป่าวทาง blog จะมีนั่นมีนี่เมื่อนั่นเมื่อนี่ ใครว่างก็ยกมือขึ้น ใครปลีกตัวได้ก็ลงชื่อมาร่วมงานกัน แล้วต่างๆก็ค่อยๆเข้ารูปเข้าร่วมมากขึ้น แต่กิจกรรมที่ซับซ้อนเช่นการทำหนังสือเจ้าเป็นใผนั้น เป็นกิจกรรมที่มีรายละเอียดมาก ต้องการความถูกต้อง แม่นยำ ต้องการคนที่มีประสบการณ์มาช่วยกัน ยิ่งมีเวลาที่จำกัดก็ต้องยิ่งต้องการจำนวนคนเป็นทวีคูณ เนื่องจาก เฮฮาศาสตร์ ไม่มีโครงสร้างชั้นตามลำดับทำดีที่สุดก็ประกาศลงใน Blog ดังที่แป๊ดและอึ่งอ๊อบได้ทำไปแล้ว แต่ความเป็นองค์กรหลวมๆ แบบ Cyber ที่ต่างจากชุมชนที่มีหอกระจายข่าว การเข้าถึงข่าวสารด่วนๆนั้นเรายังไม่ได้พิจารณากัน ปล่อยให้เป็นการเข้าถึงผ่านหน้าลานเจ๊าะแจ๊ะ ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่ได้เข้ามาสำรวจทุกวันทุกเวลา เพราะภารกิจส่วนตัวนั่นเอง จึงกลายเป็นจุดอ่อนไปทันที และความรู้สึกของแป๊ด อึ่งอ๊อบต่องานที่รับมานั้นกับความรู้สึกของสมาชิกเฮทั่วไปนั้นก็ต่างกัน การ Pay attention จึงไม่ได้กระทำโดยทันทีทันใด หรือ serious กับข่าวสารนั้นเท่าที่ควร บทเรียนนี้จึงชี้มาที่กลุ่มว่า “ต้องทบทวนและหาทางรับมือกับงานในอนาคตนะ”

     

(มีต่อ)

    


A52S 1

18 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 พฤษภาคม 2009 เวลา 14:48 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1567

ตั้งใจไว้ว่าจะบันทึกเรื่องนี้ เห็นด้วยที่น้องหมอตาบอกว่า ทำ AAR “เจ้าเป็นใผ๑” กันหน่อย เลยพยายามสำรวจมุมมองตัวเองเรื่องนี้ออกมาครับ

ต้องบอกว่าความคิดเห็นต่อไปนี้มิใช่ถูก ผิด เป็นเพียงความเห็นที่พวกเรามักถามไถ่กันเองว่า พี่คิดไงอ่ะ น้องคิดไงอ่ะ ดังนั้นการกล่าวถึงสถานการณ์นี้จึงมิได้เจตนาที่จะยกย่องใครและกล่าวร้ายท่านผู้ใดนะครับ ผมคิด วิเคราะห์ด้วยการสรวมวิญญาณนักเฝ้ามองการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน การขยับตัวของสังคม

ผมมีฐานรากเป็นนักพัฒนาเอกชนที่อิสระ แต่ทำงานกับระบบราชการ สังกัดบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง คลุกคลีกับชาวบ้านมานานพอสมควร สนใจเรียนรู้เรื่องราวของระบบทุน และเรียนรู้โลกแห่งธรรมชาติ มุมมองนี้อาจจะมีประโยชน์แก่สังคมนี้บ้างก็พอใจที่ไม่เก็บเอาไว้ในถังแห่งความทรงจำ


  1. จั่วหัวไว้ว่าเป็นการวิเคราะห์เฮฮาศาสตร์ผ่าน A52S ก็คือการ หยิบเอาสถานการณ์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2552 มาเป็นตัวเริ่ม แล้วมองย้อนไปรอบๆเฮฮาศาสตร์จากทัศนของตัวเองดังกล่าว A52S ก็เป็นตัวย่อของ April 52 Situation เรียกให้มันแปลกๆไปซะงั้นแหละ เพราะช่วงที่มีสถานการณ์ A52S นั้นมันสะท้อนภาพกลุ่มเฮฮาศาสตร์ที่ชัดเจน ในทัศนะของผม ที่พวกเรา พี่ๆ น้องๆ มักไถ่ถามกันว่า เอ..มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร นะเจ้าเฮฮาศาสตร์นี่น่ะ เราก็บอกอธิบายยากให้เข้ามาสัมผัสเอง A52S ก็เป็นอีกคำอธิบายหนึ่งของเฮฮาศาสตร์


  2. เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่องค์กรแบบปกติทั่วไป (Formal Organization) ที่มีโครงสร้างขององค์กรเป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ที่มักเรียนกันว่า Organization chart เช่น มีผู้มีตำแหน่งสูงสุด แล้วลดหลั่นกันลงมา มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน เหมือนกับองค์กรระบบราชการ องค์กรบริษัท ระบบธุรกิจต่างๆ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรที่ไม่มีโครงสร้าง เป็น Un-Structural Organization หรือ Non-Formal Organization ไม่มีโครงสร้างที่เป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ไม่มี Organization chart ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน

  3. แต่เฮฮาศาสตร์มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง….ย้ำว่าเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง ความหมายคือ กลุ่มจัดรูปของกลุ่ม(กลุ่มเฮฮาศาสตร์)ตามความรู้ ความสามารถที่ปรากฏออกมาในระหว่างสมาชิกในกลุ่มและเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยาย ตามการนำ ตามการศรัทธา….นี่แหละเป็นโครงสร้างแบบดั้งเดิมของสังคมเรา

    ขออธิบายดังต่อไปนี้ ย้อยหลังไปก่อนที่ระบบราชการจะเข้าไปสู่สังคมชนบทนั้น(รัชการที่ 5) สังคมชนบทอยู่กันแบบดั้งเดิมไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีอนามัยตำบล ไม่มีผู้ช่วยฯ ไม่มีสารวัตร…ไม่มีตำรวจ..ไม่มี.. แต่มีหมอพื้นบ้าน มีช่างไม้ ช่างหล่อ มีผู้ทำพิธีกรรมพื้นบ้าน ผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ทางอีสานก็มี เจ้าโคตร เฒ่าจ้ำ หมอธรรม หมอเป่า หมอนวด นางเทียม ฯลฯ ทุกภูมิภาคไม่ว่าเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ทุกชุมชนจะมีบุคลากรเหล่านี้อยู่ ซึ่งต่างก็มีบทบาทในสังคมนั้นๆและระหว่างชุมชนที่เราเรียกท้องถิ่น ต่างอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน มิได้ใช้เงินทองมาเป็นสื่อกลางในการพึ่งพาว่าจ้าง มีน้ำใจแก่กันและกัน เคารพ ยอมรับและมีมารยาทระหว่างกันที่เราเรียกว่าวัฒนธรรมชุมชน


    ภาพนี้เราเรียกว่า Local structure หรือ Traditional structure และซ่อนตัวอยู่ในสังคมปัจจุบันที่เอาโครงสร้างระบบราชการที่เรียกว่า การปกครองท้องถิ่นเข้าไป โครงสร้างเหล่านั้นก็เลือนจางหายไปกับกาลเวลา มากน้อย แล้วแต่ปัจจัย ที่นักสังคมศาสตร์มักเรียกว่า ความเข้มข้นของระบบดั้งเดิมอาจดูจากระยะห่างของที่ตั้งหมู่บ้านนั้นกับศูนย์กลางอำนาจ (Periphery theory) แต่หลักการนี้ด้อยลงไปมากเมื่อระยะทางในสมัยก่อนถูกลดลงด้วยระบบการสื่อสารยุคดิจิตอล ในป่าในเขาก็สามารถรับรู้เรื่องไข้หวัด H1N1 ได้พร้อมๆกับในเมือง

    เวลาเราเข้าไปทำงานในชุมชนเราจะวิเคราะห์ชุมชนด้วยสองมิติ คือ หนึ่งมิติสมัยใหม่ หมายถึงระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งเปิดเผยชัดเจน เห็นชัดจับต้องได้ มีสถิติ มีการจดบันทึก มีรายงาน..ฯ อีกมิติคือ ระบบโครงสร้างเดิมของชุมชน ใครคือเจ้าโคตร ใครคือเฒ่าจ้ำ ใครคือหมอธรรม ใครคือหมอนวด ใครคือช่าง ใครคือผู้นำจิตวิญญาณ…เราหาตัวได้อย่างไร เราก็ใช้ sociogram (ไม่ขออธิบายครับ) บทบาทของโครงสร้างนี้ในสังคมชุมชนมีบทบาทไม่แพ้โครงสร้างทางระบบการปกครองท้องถิ่น ใครทำงานกับชุมชนแล้วไม่เข้าใจมิตินี้ก็ทำงานยากสักหน่อย..

    เฮฮาศาสตร์จำลองภาพโครงสร้างสังคมเดิมนี้มา และหากเราจะทำ sociogram ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เราก็จะพบว่า ใครมีปัญหาเรื่อง blog คอมพิวเตอร์ ก็ต้องวิ่งไปหา คอน เม้ง โสทร เป็นต้น ใครมีคำถามเรื่องสมุนไพรก็ต้องแวะไปจีบป้าจุ๋ม ใครอยากสนทนาเรื่องการส่งเสริมการเกษตรก็ต้องน้องสิงห์ป่าสัก และหากจะถามว่าทั้งกลุ่มยอมรับใคร ศรัทธาใครในลักษณะนำก็ต้องพ่อครูบาฯ ลุงเอก เป็นต้น การยอมรับเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องแต่งตั้ง แต่ไม่มีโครงสร้าง แต่มีการยอมรับในความรู้ความสามารถ ซึ่งคล้ายๆบทบาทหน้าที่โดยธรรมชาติต่อกลุ่ม…

    นี่เองจึงเรียกว่า เฮฮาศาสตร์เป็นกลุ่มที่มีโครงสร้าง(แบบความรู้ความสามารถ ความถนัด)แบบไม่มีโครงสร้าง(ตำแหน่งหน้าที่ลำดับชั้น)

    (มีต่อ)


ล้วงมากกว่าลูก..

359 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤษภาคม 2009 เวลา 22:53 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 12189

ณ ที่ทำงานแห่งหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา

มีโครงการทำงานเพื่อชุมชนแห่งหนึ่ง ในหลายปีที่ผ่านมา คนทำงานมีความสนุกมาก แต่มาปีนี้ต่างจากช่วงปีก่อนๆจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะนายเบอร์สองที่กำกับโครงการเดี้ยงเรื่องสุขภาพ นายมือหนึ่งก็ลงมาฮุบโครงการทันที ที่ว่าฮุบก็เพราะ ปกติโครงการแบบนี้ไม่มีนายใหญ่คนไหนลงมาเล่นเอง แต่คนนี้ลงมามากกว่าที่เรียกว่าล้วงลูก มาสั่งให้ทำอย่างโน้น อย่างนี้ จนวุ่นไปหมดเลยน่ะซี…

แรกๆเราก็ทึ่งวิธีคิดของนายเบอร์หนึ่ง แหมเป็นนายใหญ่แต่คิดอะไรที่เหมือนก้าวหน้ามาก ใช้ศัพท์แสงทางวิชาการ เทคนิคต่างๆมากมายจนหัวหน้างานระดับจังหวัดและพวกเราที่เป็นที่ปรึกษางงไปตามๆกัน งงก็คือ นายพูดอะไร…ไม่เห็นมีใครเข้าใจเลย…

จริงๆสิให้ดิ้นตาย..ไม่มีใครรู้เรื่อง ต่างตีความกันไปคนละทิศละทาง ซึ่งไม่เหมือนกันเลย เบอร์สองใหม่ที่นายหิ้วมาด้วยนั้นก็เปะปะ เบอะบะ ต่างก็พยายามใช้คำที่นายพูด แต่ก็ไม่เคลียร์…คนที่ปฏิบัติข้างล่างก็ยิ่งมองหน้ากัน

ครั้งหนึ่งนายใหญ่ไปประชุมต่างจังหวัด ใครพูดไม่ถูกใจก็แสดงอำนาจ “เดี๋ยวผมย้ายเลย”…. “นี่คุณ..ผมไม่ใช่เพื่อนเล่นคุณนะ”.. แม้เพื่อนตัวเองที่เรียนกันมายังโดนย้ายไปต่อหน้าต่อตาในการประชุมที่มีเพื่อนข้าราชการครึ่งร้อยคน.. แค่นี้ก็หัวหดเข้ากระดองหมดสิ้น สุดที่จะมีใครอาจหาญ กล้าลุกขึ้นมามาทัดทานได้…..

แค่หกเดือนหัวหน้างานจังหวัดก็ยื่นจดหมายลาออกไปแล้วหนึ่งคน ทนไม่ไหวต่อวิธีการทำงานแบบพิลึกกึกกือของนายใหญ่ เราก็ภาวนาสิ้นเดือนตุลาคมนี้พระผู้เป็นเจ้ามาเอาตัวนายคนนี้ไปที่ชอบที่ชอบเถอะ..สงสารประเทศนี้ อย่ามีนายใหญ่มาปู้ยี่ปู้ยำงานเพื่อชุมชนเลย…

อำนาจ??? หากคนที่ครอบครองเป็นคนดี สังคมก็ก้าวหน้า พัฒนา เจริญ

แต่หากคนครอบครอง บ้าอำนาจและไร้สาระ ก็จะเป็นเวรกรรมจริงๆ

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ประเทศไทยนะครับ….

อ้าว ตายละ หลุดปากบ่นไปซะแล้ว.. เฮียตึ๋งอย่าว่ากันนะ แก่แล้วอ่ะ… อิอิ


บทเรียนจากที่อื่น..

2458 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 เมษายน 2009 เวลา 20:09 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 13435

ไปเห็นบทเรียนจากที่อื่น ซึ่งผมชอบอ่านครับ

 

 


 


เฮฮาศาสตร์เพื่อวันนี้และวันข้างหน้า

843 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 เมษายน 2009 เวลา 0:33 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 16477

เฮฮาศาสตร์ไม่ได้ก่อตัวเพียงเพื่อวันนี้ แต่จะก้าวไปเพื่อวันข้างหน้า

เมื่อผมก้าวเข้ามาเป็น Blogger ผมก็ยังเหนียมๆ เพราะผมมาจากขุนเขาที่ล้าหลัง สกปรก มีแต่กลิ่นโคลนสาบควาย ดงหลวงที่ไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อผมเริ่มบันทึกเรื่องราวจากดงหลวงมากขึ้นก็มีเพื่อนมากขึ้น และผมก็ก้าวออกไปเยี่ยมเยือนบันทึกของท่านอื่นๆ โลกผมกว้างขวางอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน

ผมตระหนักดีว่าเรื่องราวที่ผมบันทึกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะชุมชนชนบท ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวส่วนของเรื่องราวทั้งหมดที่ปรากฏบน blog ผมทราบดีว่าเรื่องราวของบันทึกผมนั้นจำกัดผู้สนใจอยู่ในวงแคบๆเท่านั้น

แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เพียงรอให้ใครต่อใครเข้ามาเยี่ยมเยือนเรา แต่การเข้าไปเยี่ยมเยือนท่านอื่นๆต่างหากที่ช่วยเปิดโลกกว้างมากขึ้น แล้วผมก็ใช้เวลาท่องไปในโลกกว้างนั้น ทั้งที่ปรากฏตัวตนและท่องไปแบบเงียบๆ

และในที่สุดผมก็พบปราชญ์แห่งอีสาน ที่ใครๆก็ต้องแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือน ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ติดบันทึกของท่านผู้นี้งอมแงม โดยเฉพาะสาระที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผมสนใจ สำบัดสำนวนที่โดนใจ ลูกเล่นลูกฮา เพียบ ทำให้สาระที่แข็งกลับกลายเป็นมีเสน่ห์อย่างที่ยากผมจะทำตามได้

ท่านคือครูบาสุทธินันท์ที่ผมแอบศรัทธาท่านจนผมทนหัวใจเรียกร้องไม่ไหวต้องก้าวเข้าไปสัมผัสกลุ่มผู้เป็นกัลยาณมิตรที่สวนป่า ที่นั่นผมรู้จักเพื่อนตัวเป็นๆมากมายมากันทั่วสารทิศ ผมซึ้งความเป็นผู้ใหญ่ของพ่อครูบาฯ ครอบครัวของท่าน ผมประทับใจเพื่อนทุกคนที่ต่างก็หอบหัวใจมากองไว้ที่นั่น …..

ที่นั่นผมรู้จักเพื่อนๆมากกว่าเพียงพบกันใน blog และการพบกันแบบเป็นๆนี่เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมต่างๆที่เราเริ่มคิดอ่านทำร่วมกัน…และจะพัฒนาต่อไป..

แล้วคำว่าเฮฮาศาสตร์ก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ในวงการ Blog โดยพ่อครูบาเป็นเสาหลักร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่อีกหลายท่าน รูปแบบของกลุ่ม blogger กลุ่มนี้ก็มีการตั้งคำถามจากคนนอกและแม้คนในด้วยกันเองว่าคืออะไร เพื่ออะไร จะไปทางไหน…. ซึ่งเรามักคุยกันว่าคำถามนั้นไม่มีคำตอบต้องเข้ามาสัมผัสเอง

เฮฮาศาสตร์กลายเป็นเวทีรวมตัวและหัวใจที่สร้างเรื่องทึ่งๆให้เกิดขึ้นมากมาย การเข้าร่วมที่มาจากเหนือสุด ใต้สุด ต่างหอบหัวใจมามอบให้แก่กันอย่างที่ไม่พบเห็นในสังคมนี้มากนัก การร่วมมือ การอาสา การให้ซึ่งกันและกันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า….

ผมไม่อาจกล่าวว่านี่คือสวรรค์ แต่ไม่ใช่นรกแน่นอน

ผมไม่อาจกล่าวว่านี่คืออุดมการณ์สูงสุด แต่นี่คือความสุขและสาระที่หาได้อย่างจริงใจ

ผมไม่อาจกล่าวว่านี่คือที่สิ้นสุด แต่นี่เป็นเพียงเริ่มต้น

ผมไม่เชื่อว่าอุปสรรคจะมาพรากเรา ตรงข้ามผมเชื่อมั่นว่านั่นคือโอกาส

ผมจึงกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มหัวใจว่าเฮฮาศาสตร์ไม่ได้ก่อตัวเพียงเพื่อวันนี้ แต่เพื่อวันข้างหน้า และอนาคตด้วย

ผมเชื่อมั่นว่าเราจะจับมือร่วมกัน…

ปัญหา อุปสรรค เป็นเพียงก้อนกรวดที่เราต้องช่วยกันเก็บกวาดและก้าวผ่านไปบนเส้นทางที่ยาวไกลโน้น…



Main: 0.1946849822998 sec
Sidebar: 0.052500009536743 sec