อ่อน แต่ แข็ง..

69 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มิถุนายน 2009 เวลา 21:42 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2434

ไปหาไม้ดอกประเภทเลื้อยมาปลูกที่รั้วบ้าน เพื่อสร้างสีสันให้กับที่พักอาศัย เฝ้ารดน้ำ ดูแลเขาพอประมาณตามโอกาส เช่นให้ปุ๋ยชีวภาพน้ำ ใส่ปุ๋ยโคนต้น รดน้ำให้ชุ่มชื้น ยามไม่อยู่ก็มีคนดูแล เมื่อช่วงวันหยุดก็มาดูแลเขาบ้าง


หากไม่สังเกต ก็เป็นปกติไม่เห็นอะไร เพราะเราก็เห็นไม้เลื้อยมามากมาย ใครๆก็เห็น สารพัดแบบ ทั้งไม้ป่าไม้บ้าน ทั้งเล็กใหญ่ เมื่อมีเวลาก็มานั่งชื่นชมเขาที่กำลังงอกงาม ช่วงฤดูฝน

แต่ดูนั่นซิ เจ้ายอดอ่อนที่พยายามเลื้อยไปยึดเกาะสิ่งต่างๆนั้น เขามีพัฒนาการที่น่าสนใจ เพราะยอดเขาอ่อน เมื่อพยายามเลื้อยยืดยาวออกไปเหมือนยื่นแขน ที่ไม่มีกระดูก ยอดอ่อนย่อมโน้มต่ำลงมาเพราะน้ำหนักตัวเขาเอง และความอ่อน

แต่แล้วเขาเองนั่นแหละกลับรวมตัวกัน ยอดอ่อนนั่นแหละรวมตัวกัน พันยอดอ่อนด้วยกันเองให้แน่น แล้วจะเกิดความแข็งแรงมากขึ้นกว่าจะมีเพียงยอดอ่อนยอดเดียวยื่นออกไป…?!?!

เขาให้สติแก่เรา..


ในพื้นที่ใกล้เคียงกันนั้น มีมันป่าที่เอามาจากดงหลวง มาปลูกทิ้งไว้ ยามได้ฝนก็แตกยอดอ่อนเลื้อยออกมาจากหัวใต้ดิน เขาเลื้อยไปหาต้นไม้ และพยายามเลื้อยขึ้นที่สูง

แต่เขาก็เป็นยอดอ่อน เหมือนยอดอ่อนไม้ดอกข้างบน

ยอดอ่อนต้นมันกลับมีวิธีสร้างความแข็งแรง หรือสร้างความแข็งในการยื่นยอดออกไปไกลๆเพื่อไปยึดสิ่งที่อยู่สูงขึ้นไปได้ โดยการบิดตัวเองเป็นเกลียว… บางยอดอ่อนนั้นสร้างเกลียวยื่นยาวกว่าสองเมตร..

ต้นไม้ไม่มีจิตวิญญาณ สัญชาติญาณ การเรียนรู้ หรือ…

ต้นไม้ใช้ความเป็นธรรมชาติที่เราหาคำอธิบายชัดๆไม่ได้หรือ..

เมื่อย้อนมามองสังคมมนุษย์เรา มันบอกอะไรๆเราบ้างกระมัง..

ท่านคิดว่าอย่างไรบ้างล่ะครับ..


ปรุงทฤษฎีให้ร้อน..

2041 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มิถุนายน 2009 เวลา 14:03 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 81067

ครอบครัวผมเป็นพวกบริโภคนิยม คือ นิยมหาอาหารอร่อยทานกัน ถึงได้อ้วนไง.. คนข้างกายผมก็ทำอาหารอร่อย ถูกปาก เพียงแต่เธอไม่ค่อยมีเวลาทำเท่านั้น เดินทางร่อนไปทั่วประเทศ เหนือ ใต้ ออก ตก ไปหมด สิ้นสุดงบประมาณปีนี้เธอก็ออกจากราชการแน่นอนแล้ว ไปเป็นอิสระ Freelance ดีกว่า อิอิ

พูดถึงอาหาร แกงเหลืองภาคใต้ก็มีสูตรเฉพาะ มีทั้งคนชอบเผ็ดมากเผ็ดน้อย ใส่หน่อไม้ดองต้องคัดสรรมา น้ำต้องข้น ปลาต้องเป็นเฉพาะชนิดนี้เท่านั้นถึงจะเข้ากันดี และจะกินแกงเหลืองต้องมีผักท้องถิ่นมากๆ หากมีไข่เจียวมาคู่กัน…อูย…หิวหละซี… ในขอนแก่นเองมีร้านอาหารภาคใต้มากกว่า สามร้าน ล้วนแต่คนแน่นตลอด คืออร่อยทุกร้าน แม้ว่ารสชาติและส่วนประกอบจะแตกต่างไปบ้างก็ตาม

แรกๆผมไม่คิดว่าจะมาตกล่องปล่องชิ้นกับสาวใต้ ผมว่าสาวเหนืองาม กิริยามารยาทเรียบร้อย..ซะไม่เมี๊ยะ มาทำงานอีสานผมก็ว่าสาวเขมรแถบสุรินทร์ดำขำก็งามไปอีกแบบ ยิ่งสาวผู้ไท กะเลิง..งามก็มีมากมายชวนให้มองไปหมด ไปเที่ยวทางใต้ ทางตะวันออก ก็มีสาวงามถูกตาต้องใจไม่แพ้กัน

เป็นว่า ไม่ว่าอาหารชนิดเดียวกัน ก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน องค์ประกอบแตกต่างกันไปบ้างตามเงื่อนไข และกระบวนการปรุงอาหารก็คงจะมีเคล็ดลับเฉพาะที่เป็นแบบฉบับของใครของมัน เป็นของเก่าต้นตระกูลก็เคยได้ยินบ่อยๆ ปัจจุบันสูตรอาหารเหล่านี้เมื่อเป็นธุรกิจไปแล้วราคาค่างวดซื้อขายกันแพงๆเชียวหละ

สาวที่ไหนก็สวยทั้งนั้น แม้สาวดอยบนที่สูงเมื่อจับมาแต่งตัวแล้วเธอก็เช้งวับไปหมด ที่เรามักเรียกกันว่า สวยไปคนละแบบ.. ไม่เชื่อไปถามอาเหลียง เฮียตึ๋งดูซี พูดทีไรเอาผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดปากทุกที..อิอิ..

อาหารอร่อย สาวสวยนั้น มันขึ้นอยู่กับการปรุงแต่ง การปรับปรุง พัฒนา การทดลองปรุงแบบนั้นแบบนี้ นานเข้า ก็ลงตัวว่ารสชาดแบบนี้ ใช้ได้ ผู้คนชม ติดใจ เราก็ได้สูตรอาหารที่เป็นที่ยอมรับกัน

สาวท้องทุ่ง..ตัวดำเหนี่ยง สาวดวงตาไม่มีเล่าเต้ง หรือสาวไหนๆ ลองมาแต่งใส่เสื้อผ้า ทำผมทำเผ้า ผัดหน้าทาปาก ใส่น้ำปรุงน้ำหอม โอย..ขี้คร้านหนุ่มๆ แก่ๆ จะช๊อคตาย..

แม้ว่าปัจจุบันจะมีสูตรที่บอกกล่าวกันทั่วไปว่า แกงเหลืองนั้นต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง การแต่งตัวควรพิจารณาอะไรบ้าง หากไม่มีศิลปะการทำอาหารก็เทให้สุนัขรับประทานเถอะ.. แต่หากพัฒนาจนสุดยอดแล้ว น้ำแกงหยดสุดท้ายก็อร่อย..ไม่ยอมทิ้งเด็ดขาด สาวๆบางคนหน้าตาไปวัดไปวาได้ แต่แต่งตัวไม่เป็น โทษที คุณดำเหนี่ยงข้างวัดสวยกว่าเยอะเลย

การปรุงแต่งเป็นศิลปะ เป็นเรื่องฝีมือ เป็นทักษะ เป็นความชำนาญ เป็นศาสตร์เฉพาะตัวของใครของมัน เลียนแบบได้แต่อาจดีไม่เท่า

ผมเรียนรู้ทฤษฎีการพัฒนามากก็มาก หลักการต่างๆก็เยอะ แต่เมื่อเอาลงสู่ชุมชนจริงๆ บางทีมันไปไม่เป็นก็เกิดขึ้นบ่อยๆ ล้มกลางเวทีก็เคยหน้าแตกมาแล้ว ผมจึงมักแลกเปลี่ยนกับน้องๆว่า เราเป็นคนทำงานพัฒนาชุมชนนั้น คือคนที่ต้องเรียนรู้หลักการ หรือทฤษฎี แล้วเอามาปฏิบัติให้เกิดมรรคเกิดผล ซึ่งเป็นเรื่องยาก ไม่ง่ายอย่างที่พูดกันปาวๆในชั้นเรียน

หลักการเดียวกัน ทฤษฎีเดียวกัน ไปใช้ที่ภาคเหนือ ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากภาคใต้ ในภาคอีสานเดียวกัน เอาหลักการ หรือทฤษฎีไปปฏิบัติที่อีสานใต้ กับชุมชนเทือกเขาภูพานก็แตกต่างกัน ในภูมินิเวศวัฒนธรรม ภูมินิเวศเกษตร ภูมินิเวศสังคมที่แตกต่างกัน ก็มีรายละเอียดการปรุงแต่งที่แตกต่างกัน

ผู้บริหารมักมองไม่เห็น แม้นักปฏิบัติเองก็ไม่เข้าใจว่าหลักการเหมือนกัน แต่การนำไปใช้ต้องรู้จักดัดแปลง ปรับปรุงขั้นตอน รายละเอียดให้สอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ

ครูบาอาจารย์ หรือนักวิชาการ จำนวนมาก ก็มักสร้างทฤษฎี สร้างหลักการใหม่ๆขึ้นมา เป็นตัวย่อบ้าง เป็นคำคล้องจองกันบ้าง เป็นโค้ดต่างๆบ้าง แต่เมื่ออธิบายลงไปไม่เคยได้ยินการกล่าวถึงรายละเอียดการปรุงแต่งในระดับปฏิบัติการเลย หากจะบอกว่าเป็นเรื่องของนักปฏิบัติที่ต้องไปหาเอาเอง ผมก็ว่า เป็นการกล่าวที่ไม่สมบูรณ์

ผมสนับสนุนชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แบบเครดิตยูเนี่ยน ขึ้นในระดับหมู่บ้านและชุมชนใหญ่ กว้างขึ้นไป หลักการของเครดิตยูเนี่นยนั้น มีเป็นต้นฉบับที่ใช้กันทั่วโลกคือ จิตตารมณ์ 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจกัน แต่ที่สุรินทร์ ชาวบ้านซึ่งเป็นชนชาวเขมรนั้นบอกว่า “อาจารย์ พวกเราแค่ดื่มน้ำสาบานแบบท้องถิ่นเท่านั้น เจ้าจิตตารมณ์ ตาแรม อะไรนี่ผมไม่เข้าใจ ไม่ต้องพูดถึงเลย ดื่มน้ำสาบานเท่านั้นพอ…”…!!

เมื่อรายละเอียดในความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ จะไปกำหนด KPI แบบเดียวกันใช้ทั่วประเทศ ผมว่านักประเมินผลท่านนั้นก็ล้าหลังไปแล้ว

หากนักปฏิบัติบ้าแต่ทฤษฎี ปรุงไม่เป็น ท่านผู้นั้นก็เป็นเพียงผู้หวังดีคนหนึ่งเท่านั้น

หากนักบริหาร นักวิชาการ นักพูด กล่าวแต่หลักการ ทฤษฎี แต่ไม่บ่งชี้ถึงการปรุงแต่งในภาคปฏิบัติ ศาสตร์นั้นก็แห้งแล้งเกินไป จืดชืด ใช้อะไรแทบไม่ได้..


AAR พระบาทห้วยต้ม

35 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มิถุนายน 2009 เวลา 1:47 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1393

ระหว่างเดินทางจากเชียงใหม่-พิษณุโลก เฮียตึ๋งคุยให้ฟังหลายเรื่อง โดยเฉพาะ จปผ.2 และอื่นๆ อยากแสดงความเห็นไว้ว่า


พิธีก๊วบของไทยโซ่ดงหลวง..

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 22:49 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 999

เอาพิธีครอบ หรือก๊วบ ของไทยโซ่ ดงหลวงมาให้ชมครับ กรุณาดูจากซ้ายไปขวา แล้วลงไปที่ซ้ายและขวาตามลำดับนะครับ


โฮ้ง โฮ้ง..

16 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 20:17 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3008


สวัสดีค่ะ หนูชื่อคุกกี้ เผ่าพันธุ์หนู โกลเด้น รีทรีฟเวอร์

หนูถูกเนรเทศนอนนอกบ้าน เพราะหนูมีเห็บเยอะ รักษายังไม่หาย อิอิ


หนูชอบกินข้าวคลุกหมูผัด ขนมปัง แกนสับปะรด มะม่วงสุก ผลไม้ทุกชนิด แต่อาหารสำเร็จรูปสำหรับสุนัขหนูไม่ชอบกิน ก็มันไม่อร่อย…อ่ะ สู้ฝีมือแม่ตุ๊ไม่ได้เลย..

อิอิ อาหารว่าง เล่นๆของหนูคืออิฐเผา หนูไปขโมยมาจากกระถางต้นไม้ มีอยู่รอบบ้าน หนูไม่กินจริงๆร๊อก แค่กัดเล่นๆพอหายอยากก็ทิ้งกลางสนามนั่นแหละ พี่นาง(คนสวน)ชอบดุหนูเสียงดัง ว่าเอามาเล่นอีกแล้ว…


วันก่อนพ่อบู๊ดเอาไปฉีดยาแก้เห็บและวัคซีนป้องกันโรคอะไรก็ม่ายรุ

หมอทักว่าหนูอ้วนมากเกินไป ต้องลดอาหาร และออกกำลังกาย อิอิ.. พ่อบู๊ดเลยพามาวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะ แหะ แหะ หนูหอบแฮกๆเลย…..

จริงๆพ่อบู๊ดก็ต้องลดน้ำหนักด้วยแหละ..โฮ้ง โฮ้ง..



ระลึกถึงครูองุ่น มาลิก…

235 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 0:39 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4562

ผมได้รับจดหมายจากมูลนิธิไชยวนา ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กทม

ความจริงผมก็ได้รับข่าวสารประจำของมูลนิธิแห่งนี้ แต่คราวนี้เป็นการเชิญเข้าร่วมงานรำลึกถึงครูองุ่น มาลิก ครบรอบ 19 ปีที่ท่านถึงแก่กรรมไปในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2533 ตรงพอดีที่ครอบครัวเราขึ้นไปลำพูน เชียงใหม่ จึงรับปากกับคุณสินสวัสดิ์ ยอดบางเตย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไชวนา จะเขียนบันทึกถึงครูองุ่น


ลูกช้างรุ่นเก่าๆโดยเฉพาะคนที่ทำกิจกรรมทุกคนย่อมรู้จักครูองุ่น มาลิก ท่านนี้ เพราะท่านเป็นครูสอนจิตวิทยา หลาย Courses ซึ่งวิธีการสอนของท่านก็ไม่เหมือนท่านอื่นๆ นักศึกษาคนใดที่เป็นนักกิจกรรมก็ยิ่งรู้จักท่าน เพราะท่านเป็นผู้สนับสนุนคนให้เรียนหนังสือ และใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่ประเทืองปัญญา และช่วยเหลือสังคม


เดินขึ้นบันไดไปห้องขวามือแรกสุดที่เห็นนั่นแหละครับคือวิมานของผม

แน่นอนครับผมทั้งเรียนกับท่านและทำกิจกรรมกับท่าน และพวกที่ทำกิจกรรมส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน ที่มาจากครอบครัวมีอันจะกินก็มีแต่จำนวนน้อยกว่า พวกที่มีฐานะยากจนก็มักพบปัญหาเรื่องการเงินสนับสนุนจากทางบ้าน ผมจำได้ว่าครอบครัวผมส่งธนาณัติไปให้ผมเดือนละ 600 บาทเพื่อนบางคนได้น้อยกว่าผมอีก ครูองุ่นท่านไปซื้อที่ดินข้างมหาวิทยาลัย ปลูกบ้านแล้วอนุญาตให้นักศึกษาพวกนี้ไปสิงสถิตที่นั่น เราเรียกที่ตรงนี้ว่า “สวนอัญญา” ที่นี่จึงเป็นแหล่งนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยซึ่งรวมนักศึกษาที่มาจากเกือบทุกคณะ
ที่นี่เป็นที่พัก เป็นที่ประชุมทั้งทางการและไม่ทางการ เป็นที่สะสมเอกสารความรู้ต่างๆที่เราใช้เพื่อการเสวนากันและเป็นที่พักผ่อนหย่อนกาย จึงเป็นที่เพ่งเล็งของพวกตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ จนครั้งหนึ่งถูกเผาเสียเรียบอย่างอยุธยาเสียเมือง…


ครูองุ่นเป็นสาวสวยจากรั้วจามจุรี ท่านเป็นดาวจุฬา ดูรูปสิครับสาวๆท่านสวยมาก ท่านบินข้ามฟ้าไปเรียนเมืองนอกเมืองนา แล้วกลับมาเป็นครูสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยแรกๆ ปี 2512 ผมเข้าไปเรียน มช. ผมพักที่หอชายอาคาร 1 ท่านก็พักที่นี่เป็นห้องมุมสุดขวามือ
ท่านเดินไปสอนที่คณะสังคมศาสตร์ เป็นครูท่านเดียวที่นุ่งผ้าถุงไปสอน พูดจาฉะฉาน active เกินคนปกติ มีจิตใจเมตตาธรรมเหลือประมาณนับ โดยเฉพาะลูกศิษย์ลูกหาที่ยากจน และพวกบ้ากิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม ท่านจะเข้าไปสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำเสมอแม้กระทั่งเงินทองกินข้าวท่านก็ให้บ่อยๆ โดยไม่คิดจะเอาคืน


ครูองุ่นเป็นลูกศิษย์ตัวยงของท่านพุทธทาส ท่านเอานักศึกษาลงไปสวนโมกหลายต่อหลายครั้ง ท่านเอาคำสอนและแนวคิดของท่านพุทธทาสไปเผยแพร่ในห้องเรียน ซึ่งหลายเรื่องสอดคล้องกับวิชาที่ท่านรับผิดชอบการสอน ท่านเอาเอกสารสวนโมกไปแจก ให้นักศึกษาได้เรียนได้อ่าน และตั้งวงเสวนาเล็กๆกันเป็นประจำ ผมเองสมัยนั้นไม่ได้สนใจศาสนาในมุมการปฏิบัติธรรม แต่สนใจศาสนาในแง่หลักการสร้างคนให้เป็นคนดี ยุติธรรม ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน และเรามักจะตีความคู่ขนานไปกับหลักการของระบบคอมมูน ท่าน ดร.นิพนธ์ ศศิธร อดีตอธิการบดี มช.และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ(ท่านเสียชีวิตไปเมื่อเดือนที่แล้วเอง) ท่านเคยกล่าวในเวทีอภิปรายไว้ว่า ใครก็ตามที่พัฒนาความรู้ในวิชาสาขาใดๆก็แล้วแต่ไปสู่สูงสุด ก็จะไปสู่จุดเดียวกันของความจริง

สมัยก่อนและหลัง 14 ตุลา 2516 นั้น ถือว่าเป็นยุคแรกๆของขบวนการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งพอๆกับการจัดงานเต้นรำที่เรียกงานบอลล์ของนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง ครูองุ่นจะเข้าร่วมการฟังบ่อยครั้งที่สุดและแน่นอนเกือบทุกครั้งท่านจะยกมือลุกขึ้นแสดงความเห็นเป็นประจำ จะเรียกขาประจำก็ได้ หลายครั้งเมื่อจบการอภิปรายแล้ว พวกเรายังมาตั้งวงคุยกันต่อที่สวนอัญญา ครูองุ่นก็ตามมาร่วมแจมด้วย ผมจำได้ว่าเหตุผลของครูนั้นเน้นเรื่องความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และหลักการของพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะแนวทางที่มนุษย์สามัญทั่วไปควรยึดถือปฏิบัติ



ด้วยความที่ครูเป็นผู้ศรัทธาพุทธศาสนาแรงกล้า ครูจึงชวนพวกนักกิจกรรมทางการเมืองเข้าวัดบ่อยๆ วัดหนึ่งที่ท่านมีกิจกรรมประจำคือวัดประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือวัดฝายหิน ที่ตั้งอยู่ที่สูงขึ้นไปเหนือที่ตั้งมหาวิทยาลัย เราต้องเดินขึ้นไป ครูองุ่นไปสนทนาธรรมกับท่านเจ้าอาวาส ท่านชวนพวกเรามาปลูกต้นไม้ มาพัฒนาบริเวณวัดให้น่าดูน่าพักผ่อน และหลายครั้งเราก็ใช้บริเวณวัดเป็นที่ตั้งวงเสวนาการเมืองกัน


ครั้งหนึ่งท่านศิลปินใหญ่ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านมีงานสอนที่คณะศึกษาศาสตร์ในวิชา Art Appreciation ผมก็ลงเรียนกับท่านด้วย ตอนนั้น อ.ถวัลย์กำลังดังสุดขีด ท่านได้รับเชิญไปอภิปรายในมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งคนฟังล้นหลามจริงๆ ทึ่งในความเป็นศิลปินของท่าน การแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดจาฉะฉานเอะอะ ดังทะลุเหมือนฟ้าจะแตก แต่สาระทุกคำพูดของท่านล้วนมาจากแก่นแกนของพุทธศาสนาทั้งนั้น ผมฟังท่านไม่กระดิกหรอกครับ แต่ได้สร้างประเด็นในใจติดตัวมาจนผมออกบวชนั่นแหละจึงศึกษาในหลายเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ ครูองุ่นชวนพวกเราและอาจารย์ถวัลย์ไปเปิด นิทรรศการงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ที่ Rock Bowl ที่วัดฝายหิน เดิ่นซะไม่เมี๊ยะ ก็ช่วยกับแบกงานศิลปะซึ่งเป็นแผ่นงานเขียนรูปบนผ้าใบบ้าง บนแผ่นเหล็กบ้างจำนวนมาก ไปวางตามโขดหิน โน่นบ้าง นี่บ้าง เต็ม Rock Bowl แล้วอาจารย์ถวัลย์ก็ยืนเอามือกอดอกผมยาวที่ม้วนเรียบร้อยดูเคร่งขรึม นักศึกษาอาจารย์ต้องปีนภูเขาขึ้นมาดูงานศิลป์ อาจารย์ถวัลย์ก็เดินอธิบาย ครูองุ่นก็เติมเต็มในมุมสาระของศาสนา…


อีกช่วงหนึ่งที่ผมใกล้ชิดท่านครูองุ่นคือช่วงที่ผมออกมาทำงานพัฒนาชนบทแล้วและถูกตำรวจจับกุมในข้อหา “ผู้เป็นภัยต่อสังคม” คนสมัยนี้ได้ยินคำนี้อาจจะนึกว่าผมเป็นผู้ร้ายเที่ยวขโมย ปล้นเขากิน ลักเด็กเรียกค่าไถ่ หรือ ทำพิเรนเอาก้อนหินขว้างรถ ไม่ใช่นะครับ ข้อหานี้ความจริงก็คือกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลสมัยนั้น ครูองุ่นโดนข้อหานี้ด้วย และเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันที่เรียกเสียไพเราะว่า “ศูนย์การุณยเทพฯ” ในเวลาเดียวกับผม มีผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษาที่หนีเข้าป่าไม่ทัน มีอาจารย์อีกหลายท่าน ครูองุ่นมักจะพาพวกเรานั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ และเสริมสร้างจิตใจในช่วงทุกข์ให้แก่พวกเรา

แม้ท่านออกจากราชการไปแล้วท่านก็ไม่หยุดการทำงานเพื่อสังคม ยังทำคณะหุ่นมือแล้วตระเวนไปจัดแสดงตามที่ต่างๆหลายภูมิภาคเพื่อสร้างเด็ก สั่งสอนสิ่งดีงามกับเด็กๆผ่านละคอนหุ่นมือ ครั้งหนึ่งท่านไปแสดงที่ขอนแก่น ผมพาครอบครัวไปพบท่าน ตอนนั้นลูกขวัญยังเล็ก ท่านก็ให้ลูกขวัญหยิบหุ่นมือมาหนึ่งตัว ขวัญหยิบหัวไก่โต้ง เธอเอามาเล่นที่บ้านตามจิตนาการแบบเด็กๆเป็นนาน และเอานอนบนที่นอนด้วยทุกคืนจนโต

ผมไม่อาจกล่าวคุณงามความดีของครูองุ่นได้หมด ผมกราบครูคนนี้ด้วยความสนิทใจ ความมีเมตตาของท่านนั้นเปี่ยมล้นเหลือคณา เพื่อนอดีตนักศึกษาอีกหลายท่านก็กล่าวถึงครูองุ่นมามากมายในวาระอื่นๆ


ท่านยังได้ตั้งมูลนิธิไชวนาขึ้นที่ที่ดินของท่านในซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55 เพื่อประโยชน์แก่สังคมดังนี้

  • ขอเห็นสถานที่นี้ ร่วมเย็นเขียวขจี รักษาความเป็นธรรมชาติไว้จวบจนนิรันดร
  • ที่นี้จะเป็นศูนย์ย่อมๆแสดงถึงความรัก ความเมตตาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
  • ขอให้เราเลือกเส้นทางถ่อมตน ยืนหยัด ทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอแบบนกน้อยทำรังแต่พอตัว
  • หวังว่าคนรุ่นหลังผู้มีจิตใจเสียสละเพื่อสังคม จะเข้ารับภาระสืบทอดดำเนินกิจกรรมในที่ดินแห่งนี้ จักมีความคิดกว้างไกล สามารถขยายงานรับใช้สังคมได้ในวงกว้างยิ่งขึ้นสืบไป

เนื่องในวาระครบรอบการเสียชีวิตของครูองุ่น ขอก้มกราบระลึกถึงคุณงามความดีของครู ที่ผมเดินบนเส้นทางวิถีชีวิตชนบทจนถึงปัจจุบันนี้นั้นก็เพราะอดีตส่วนหนึ่งสำนึกของผมเกิดมาเพราะส่วนที่เกี่ยวข้องกับครูนี่แหละ
ครูมีส่วนสร้างผมมาครับ


ลูกศิษย์ลูกหาของครูยังสืบสานเจตนารมณ์ทำงานเพื่อแผ่นดินอยู่ครับครู…


ขอเธอจงมั่นใจ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2106

กุมภาพันธ์ที่เชียงใหม่อากาศกำลังสบาย ข้าพเจ้านั่งพูดคุยอยู่กับเพื่อนอาจารย์ผู้ดำริว่าจะบวชทั้งๆที่ท่านเพิ่งทำปริญญาโทสาขาเคมีจากมหิดลมาหยกๆ โรงไม้หลังคาตองตึงที่เรานั่งอยู่นี่ พวกเราเรียกว่าโรงธรรม สร้างขึ้นด้วยเงินของนักศึกษาและอาจารย์บางคนที่สนใจอยู่ด้านเหนือของเนื้อที่สามไร่ครึ่งซึ่งคุณชวน รัตนรักษ์ มอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสร้างเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของนักศึกษา บริเวณตรงนี้จึงได้ฉายานามว่า “สวนธรรมรักษ์” ทิศตะวันตกติดวัดฝายหิน ทิศตะวันออกมีถนนเล็กๆคั่นกลางระหว่างสวนธรรมรักษ์และพิพิธภัณฑ์ชาวเขาของมหาวิทยาลัย


มองออกไปเห็นลูกสาวบุญธรรมวัยสิบขวบของข้าพเจ้าวิ่งลงมาจากทางลาดขึ้นวัดพร้อมกับเด็กหญิงเพื่อนของเธอ กระหืดกระหอบตรงมาที่เรานั่งอยู่

“แม่ แม่ ไปดูซี พี่นักศึกษาเขานั่งน้ำตาไหลอยู่หน้าพระ เขาให้เงินโอ้กับสุนทรีคนละยี่สิบบาท เขาบอกว่าวันนี้วันเกิดพี่ น้องเอาไปทำอะไรก็ได้ตามใจชอบนะ”

ข้าพเจ้ามองไปทางเพื่อนเชิงถามความเห็น อาจารย์วัฒนะลุกขึ้นยืนพลางบอกว่าเราไปกันเถอะ ส่วนเด็กรับปากว่าจะเล่นอยู่แถวนั้น

ตอนนั้นบ่ายอ่อนๆดวงอาทิตย์เพิ่งจะพ้นเส้นฉากไปน้อยเดียว เมื่อเรารุดไปถึงหน้าวิหารมองเข้าไปเห็นสาวคนหนึ่งใส่เสื้อม่อฮ่อม ผมเรียบประบ่านั่งขัดสมาธิอยู่หน้าพระพุทธ ศีรษะ, คอ,ไหล่ หลังที่ตรงแน่วนิ่งอย่างนั้นอธิบายว่ามีประสบการณ์เชิงสมาธิมิใช่น้อย เราสองคนพากันเดินเบาๆไปที่หน้าพระนั่งลงห่างจากเธอแค่เอื้อม เรากราบพระแล้วนั่งนิ่งๆ ข้าพเจ้าชายตาสังเกตที่ข้อมือเธอ มีสายสิญจน์ผูกข้างละเส้น เธอเป็นเด็กผิวขาว ใบหน้าที่น้ำตาไหลพรากเป็นสีชมพูเข้ม เธอไม่เปลี่ยนท่านั่งและไม่หันมามองเรา สักครู่เธอทอดแขนลงกับพื้น แล้วค้อมศีรษะลงซบ

ข้าพเจ้าไม่รู้จะสื่อสารกับเธอท่าไหนดี และเริ่มด้วยเรื่องใด จึงนั่งงงอยู่ ส่วนภายในเหมือนปฏิภาณกำลังถูกระดมเมื่อเธอเงยศีรษะขึ้นแล้วข้าพเจ้ากระเถิบเข้าไปใกล้ แล้วทำเป็นสนใจ

“คุณผูกสายสิญจน์รับขวัญ แล้วใจคอสบายขึ้นหรือ ใครผูกให้นะ”

“ไม่ช่วยอะไรหรอก พระที่ลำพูน”

ข้าพเจ้าต้องหาเรื่องสนทนาต่อให้ได้ สังเกตรู้ว่าเธอเป็นนักศึกษาไม่ปีสามก็ปีสี่

“คุณมีปัญหากับอาจารย์วิชาสัมมนาหรือเปล่า มันมีทางทำความเข้าใจกันได้นะ”

“ไม่มี” น้ำเสียงเด็ดขาดฟังชัด ไม่ปนสะอื้นสักหยด

ข้าพเจ้าต้องแหวกกำแพงการร้องไห้สงสารตัวเองนี่น่ะเกราะกำบังตัวร้าย สังเกตดูหน้าตาท่าทางเป็นเด็กเชาวน์ปัญญาสูงพอใช้ ลักษณะช่วยตัวเองได้ หันมาทางอาจารย์วัฒนะเชิงปรึกษา สหายก็พยักหน้าให้ว่าต่อไป

“แล้วคุณไปพบอาจารย์ที่ปรึกษามาแล้วรึ ท่านว่าไงมั่งล่ะ”

“ไม่จำเป็น”

ข้าพเจ้าเดาว่าไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับอาจารย์ ไม่ใช่เกี่ยวกับเพื่อนหญิงหรือชายแต่ก็ลองดู

“เพื่อนน่ะเขาให้ความอบอุ่นใจ แต่เรื่องสอบนี่ตัวใครตัวมัน”

เธอนิ่ง ข้าพเจ้าซุ่มเสี่ยงเอาว่า ต้องบุกเรื่องสติ ปัญญาและการช่วยตัวเองมากกว่าเรื่องคิดพึ่งพิงครอบครัวและเพื่อนฝูง จึงทดลองป้อนการสื่อสารให้เกี่ยวกับสัมฤทธิ์ผลทางการงานต่อไป

“คุณร่ำเรียนช่วยตัวเองมาได้ถึงขนาดนี้ ได้พิสูจน์ความเด็ดเดี่ยวเชาวน์ปัญญาจนแน่ใจแล้ว อ้ายเรื่องยุ่งๆน่ะมันส่วนหนึ่ง ความสามารถที่ฝึกฝนมาน่ะมันยุ่งอยู่ มันไม่ลดถอยสาบสูญไปไหน ก็ปัญหาที่มันเกิดขึ้นนี่ใช้ปัญญาแก้ได้มิใช่รึ”

ข้าพเจ้าหยุด ไม่มีเสียงตอบจากเธอ สังเกตใบหน้าไม่มีร่องรอยของน้ำตาอีกต่อไป ดวงตาที่จ้องจับพื้นตรงหน้าแสดงความเด็ดเดี่ยว เลือดที่เคยฉีดแรงแถบแก้มลดระดับลงแล้ว เธอนั่งนิ่ง

“ปัญหามันเกิดกับเรา สำคัญอย่าไปทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ต้องแก้มันด้วยฝีมือเราเอง ต้องจับเงื่อนงำของปมให้ได้ แง่มุมไหนของปมแข็งที่มันทิ่มแทงเจ็บคุณต้องรู้ คนอื่นเขาช่วยคุณได้เพียงปัดเป่าให้มันโล่งๆ จนเห็นอ้ายตัวขัดแย้ง แต่คนที่จะพิชิตความขัดแย้งคือเราคนเดียว”

เธอนั่งนิ่ง ลมหายใจสม่ำเสมอทั้งกายและอารมณ์สงบระงับลงแล้วคงเป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าร่ายยาวอีกครั้ง

“เรื่องทั้งหลายที่มันมาประชุม มาประกอบกันแล้วสร้างความวุ่นวายนี่นะเพราะมันโถมกระหน่ำเข้ามาพร้อมๆกัน มันกองสุมกันจนหาไม่พบว่าอะไรก่อนกลัง ปุบปับคุณก็เห็นเป็นภาพที่ยุ่งเหยิง คุณก็ระย่อท้อใจเป็นธรรมดา คุณหวาดหวั่นสิ้นหวังเอาง่ายๆตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือศึกษาปัญหา เอาใหม่ เอาใหม่ ถอยออกมาหลายๆก้าว ตั้งสติให้มั่น รื้ออ้ายกองยุ่งออกมาทีละชิ้น ใจเย็นๆแกะออกมาเป็นเรื่องสู้มันทีละเปราะ”

เธอนั่งนิ่ง ลักษณะอารมณ์ผ่อนคลาย ข้าพเจ้าว่าต่อ

“อ้ายสองเรื่องนี่สอดเป็นปมเพราะมันบังเอิญเกิดขึ้นพร้อมๆกัน อ้อความกระชั้นชิดของเวลาน่ะเราต้องรู้ อ้าวก็เรื่องต่างๆน่ะบางทีมันก็เกิดขึ้นในสถานที่ใกล้ๆกันก็ได้นี่นา เอ้าจับมันแยกออกจากกันให้ได้ จะได้แก้มันทีละส่วน

ก็ตอนนั้นคุณเหนื่อย จิตใจก็ห่วงเรื่องสอบ หวั่นใจจะทำไม่ได้เป็นเยี่ยมอย่างหวัง แล้วก็อีกเรื่องมันโถมซ้อนทับมาที่คุณ คุณก็ต้องเซถลาเป็นธรรมดา เอ้อ บัดนี้ตั้งตัวใหม่ก็ยังทัน คุณร้องบอกมันซิ อ้ายตัวยุ่งทั้งหลาย เจ้าจะรวมกันมาปรุงแต่งอารมณ์ฉันให้เอียงล่มไม่ได้อีกต่อไป”

ไม่มีเสียงตอบ ข้าพเจ้าหันไปมองที่อาจารย์วัฒนะ เห็นท่านนั่งนิ่งราวกับกำลังระดมกำลังภายใน สายตาจับนิ่งอยู่ที่พื้นตรงหน้า ข้าพเจ้าหันมามองหญิงสาว เห็นเธอนั่งสงบ ข้าพเจ้าวางมือบนตักตัวเอง หลับตาลง ตั้งกายให้ตรงและหายใจลึกๆ

เมื่อรู้สึกความเคลื่อนไหวอีกครั้ง มือเธอเอื้อมมากุมมือข้าพเจ้าไว้ แล้วก้มศีรษะลงต่ำใกล้จรดมือของเราทั้งสอง

“อาจารย์ขา หนูขอบคุณอาจารย์ อาจารย์ช่วยหนูไว้ หนูไปได้ละ”

“จ้ะ กราบพระซิ ท่านคุ้มครองคุณ”

“อาจารย์ทั้งสองต่างหากช่วยหนู หนูไปล่ะค่ะ”

เธอพลันลุกขึ้นก้าวเท้าออกเดิน ข้าพเจ้ายังงงไม่หาย ไม่ทันพูดจาอะไรกับเธออีก มองไปที่ประตูวิหาร เห็นแต่ด้านหลัง

เมษายน 2520 ชุมนุมพุทธศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดพิธีบวชนักศึกษาที่วัดบุปผาราม ทันใดนั้นก็มีหญิงผู้หนึ่งเดินตรงมาจับมือทั้งสองข้างของข้าพเจ้ากุมมือไว้แน่นนาน ปากพร่ำว่า นี่หรืออาจารย์องุ่น อาจารย์ช่วยลูกสาวดิฉันไว้ หญิงผู้นี้คือมารดาของหญิงสาวร่างระหงในเสื้อม่อฮ่อมน้ำเงิน สาวผู้นั้นจบจากคณะสังคมได้เกียรตินิยมในปี 2518 นั้นเองได้มีงานทำเป็นหลักฐาน

คุณแม่เล่าว่า ลูกสาวเป็นเด็กเรียนดีมาแต่เล็กๆ ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบเที่ยวเตร่ ใส่ใจเรื่องทำใจให้สงบ

ก่อนหน้าจะเกิดเรื่อง ลูกสาวฝันไปว่าถูกสุนัขกัด ตั้งแต่นั้นมาแกก็ขี้ตกใจเพราะใกล้วันเกิดและใกล้สอบ จากนั้นมาไม่กี่วันมีผู้หญิงแก่ๆคนหนึ่งเดินเข้าประตูบ้านมา สุนัขที่เลี้ยงในบ้านก็งับเอา ขณะนั้นคุณแม่กำลังไปธุระนอกบ้าน จึงมอบให้ลูกสาวช่วยดูแลตลอดจนพาแกไปส่งบ้าน

เมื่อลูกสาวส่งเงินให้หญิงชราร้อยบาทก็บอกให้นั่งคอยสักครู่จะแต่งตัวแล้วพาไปโรงพยาบาล ครั้นเมื่อแต่งตัวเสร็จออกมาหน้าบ้านก็ไม่พบหญิงชราผู้นั้น ความห่วงใยว่าหญิงชราจะไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง สร้างความกระสับกระส่ายอย่างสุดจะระงับได้

รับปากแม่ว่าจะจัดการช่วยหญิงชรา ก็ไม่ได้ทำ ตัวเองฝันว่าถูกสุนัขกัดแต่คนแก่ก็มารับเคราะห์แทน บัดนี้หญิงชราจะเป็นไงบ้างก็ไม่รู้ แม่กลับมาเย็นนี้ก็จะกลุ้มใจอีก อาการหวาดหวั่นและกังวลอย่างหนักจึงปรากฏแก่เธอ เศร้าและซึมไม่พูดจา ย้ำคิดแต่เรื่องคนแก่รับเคราะห์แทน และคนแก่จนๆนั้นจะระเหเร่ร่อนไปแห่งใด กำหนดสอบก็ใกล้เข้ามา นอนไม่หลับ อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง น้ำตาไหลพรากหักห้ามไม่ได้ จิตใจที่เคยสงบเป็นสมาธิก็พลุ่งพล่านจนทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เปิดหนังสือออกอ่านเปิดหน้าไหนก็อยู่หน้านั้น มีแต่น้ำตาเท่านั้นที่หยดเผาะๆราดอักษร

ก่อนจะถึงวันเกิด ลูกด้นดั้นไปถึงลำพูน ไปคนเดียว ปรารถนาจะให้คุณพระคุณเจ้าช่วย กลับมาแล้วก็ยังตั้งตัวไม่ได้ จนวันนั้นแหละค่ะ เขาออกจากบ้านแล้วไปพบอาจารย์ที่วัดฝายหิน กลับมาบ้านเขาจึงทำอะไรๆได้เหมือนเคย

ภาพด้านหลังของหญิงสาวระหง ผมตรงประบ่า ท่ามกลางกรอบประตูวิหาร เบื้องหน้าเธอ ผืนฟ้าสีคราม ฉันไม่รู้จักชื่อเธอ ภาพเธอพูดว่าอะไรหนอ

ข้าพเจ้ารักภาพนี้ตรึงตรามิรู้ลืม เธอคือลูกสาวผู้กล้าหาญของสถาบัน เธอสอบผ่านวิชา “พิชิตความกลัว” ด้วยคะแนนพอตัว เธอคงอยากประสาทพรให้แก่เพื่อนทุกคน

“ขอเธอจงมั่นใจ”

———-

หมายเหตุ ผมขออนุญาตคัดงานเขียนของครูองุ่น มาลิก ซึ่งท่านเขียนมาประมาณ 25 ปีมาแล้ว ท่านเอาไปลงในหนังสือชื่อ นรี ปีที่2 ฉบับที่ 25 ปักษ์หลังเดือนเมษายน 2527 เนื่องในโอกาสที่จะครบรอบการเสียชีวิตของครูองุ่นปีที่ 19 ในวันที่ 21 มิถุนายน นี้…

เรื่องนี้มูลนิธิไชวนา ของครูองุ่นนำมาลงในหนังสือชื่อ ภาพนี้ขอเธอจงมั่นใจอีกครั้ง ในเดือนมิถุนายน ปี 2545


แอบดูน้องนกอาบน้ำ..

45 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 มิถุนายน 2009 เวลา 23:20 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2324

เห็นเบิร์ดเขาเลี้ยงนกธรรมชาติ บอกว่ามีกระถางให้น้ำนก และนกหลายชนิดก็มากินน้ำ เล่นน้ำ ผมก็เลยลองทำบ้าง เอากระถางรองว่างๆมาวางบนหัวเสารั้ว เอาน้ำใส่ ทิ้งไว้เฉยๆ นกเขาก็มาเอง

ปกติหลังบ้านผมเป็นบึง ที่เทศบาลเก็บเอาไว้เป็นแก้มลิงของตัวเมืองขอนแก่น หากมีฝนตกหนักมากๆน้ำในตัวเมืองก็ถูกระบายมาลงที่นี่ เต็มไปหมด ทิ้งไว้ สองสามสัปดาห์ก็แห้งงวดลงไป


เมื่อไม่มีน้ำและพื้นที่โล่งว่างเปล่า ก็จะมีต้นไม้ธรรมชาติมาขึ้นเต็ม เขียวขจี เมื่อไม่มีคนมาทำกิจกรรมแถบนี้ สัตว์ก็ใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะนกต่างๆ ออกลูกออกเต้า ร้องกันเจี๊ยบจ๊าบ พระธรรมชาติของ ดร.เม้งของเรานี่ สวยงามจริงๆ ผมชอบลากเก้าอี้ตัวโปรดมานั่งดูต้นไม้ใบเขียวๆ ฟังเสียงนกร้อง ดูชีวิตเขาแล้วย้อนมาดูตัวเราเอง.. และแน่นอนหลายบทความมาจบลงที่ตรงแถบนี้แหละครับ ..อิอิ..


เพียงชั่วโมงแรกที่เอาจานรองกระถางใส่น้ำมาวางไว้หัวเสา เจ้านกสองสามชนิดก็แวะเวียนมากินน้ำ แต่เจ้ากระจาบนี่แวะเวียนมาทั้งวัน หลายเที่ยว เอ..หรือว่ามันหลายตัวก็ไม่รู้ เพราะมันเหมือนกันไปหมด เขาไม่กินน้ำเฉยๆ เล่นน้ำสนุกกันใหญ่เลย..


วันๆ มาหลายรอบ หรือหลายตัว ดูเขาสนุกมากครับ


เขาเล่นน้ำแล้วก็ไปเกาะใกล้ๆ สลัดปีก ขน อือ….สบายตัวแล้ว…..


สดชื่น …

ใครยังไม่อาบน้ำบ้าง…อิอิ เหม็น….

วันนี้เราอาบน้ำแล้ว….หอมแล้ว….


ความขัดแย้ง ทางออก …3

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 มิถุนายน 2009 เวลา 0:04 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2714

ผมคงเหมือนๆกับท่านอื่นๆที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการเข้าสู่การเมืองโดยตรง แม้ว่าน้องพ่อผม(อา) เคยเป็น สส.มาหนึ่งสมัยแล้วเสียชีวิตไป แต่ผมก็ไม่มีส่วนใดๆต่อการใกล้ชิดกับการเมือง การเข้าสู่กระบวนการนักศึกษาที่มีความคิดเห็นทางการเมืองก็อยู่ในช่วงของเยาวชนมากกว่า เมื่อมาทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านในชนบท ด้านการพัฒนาองค์กร มีบทสรุปส่วนตัวที่สามารถจำลองประเทศเป็นองค์กร ถือว่าเป็นข้อสังเกตก็แล้วกัน

ลองทำแบบจำลองขึ้นดังภาพนี้

  1. สังคมอุดมคติคือสังคมสันติภาพ สงบสุข สังคมคุณธรรม พึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออาทรต่อกัน เห็นอกเห็นใจกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ มีศีลธรรม ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม หรือสังคมนิยม ไม่ว่าคุณจะเป็นนักธุรกิจ หรือเกษตรกร ฯลฯ หากสังคมนั้นๆมีคุณสมบัติหรือองค์ประกอบลักษณะสังคมเป็นเช่นนี้ ก็เป็นสังคมอุดมคติ จากภาพ เป็นเส้นสีแดงตรงแกนกลางนั่น
  2. แต่สังคมในความเป็นจริงนั้นไม่ได้ขับเคลื่อน พัฒนา ก้าวหน้าไปแบบเป็นเส้นตรงที่ราบรื่น สงบเรียบร้อย มีความสุขทั่วหน้า ตรงข้ามมีปัญหาอุปสรรคมีความต้องการการเปลี่ยนแปลงไปตามความประสงค์ของบุคคล กลุ่มคน ฯลฯ ทั้งจากภายนอกประเทศ เช่น กรณีการเสียดินแดนในสมัยล่าอาณานิคม และภายในประเทศเอง เช่นกรณีการปฏิวัติต่างๆ เราเรียกความประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงไปตามบุคคล กลุ่มคนนั้นว่า “แรงผลักทางสังคม” ก็ย่อมหันเหสังคมไปในทิศทางที่เขาต้องการ
  3. ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีบุคคล กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราเรียกได้ว่า “ความขัดแย้ง” ก็ย่อมที่จะสร้าง “แรงต้านทางสังคม” ตั้งแต่เป็นไปตามกติกาสังคมจนถึงขั้นรุนแรง
  4. การต่อสู้ระหว่างสองแรงดังกล่าวอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นไปตามวิถีของสังคม และเป็นไปในแนวทางที่รุนแรง เมื่อแรงทั้งสองปะทะกันในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมีทั้งใช้ระยะเวลาสั้นและยาวนาน ก็ลงเอยด้วยข้อสรุปทางสังคม ที่อาจจะเป็นในลักษณะที่สังคมยอมรับได้ หรือจำใจยอมรับ และยังมีคลื่นใต้น้ำ แต่ไม่ปรากฏการกระทำ หรือยังไม่เป็นพลังทางสังคม
    รอเวลาสะสมพลังด้วยขบวนการต่างๆ เช่นกรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
  5. มีข้อสังเกตว่าไม่ว่าสังคมจะถูกกระทำแล้วหันเหไปทางใดๆก็ตาม ก็ย่อมหันกลับมาในแนวสังคมอุดมคติ หรือใกล้เคียง เพราะเป็นสภาพที่ทุกคนยอมรับว่านั่นคือสังคมที่ทุกคนปรารถนา แม้ว่าจะไม่ใช่ในทุกกระเบียดนิ้ว แต่สถาบันทางสังคมต่างๆจะเป็นผู้คัดหางเสือสังคม สถาบันต่างๆทางสังคมจึงมีบทบาทมากๆต่อการพัฒนาประเทศชาติ เช่นสถาบันยุติธรรมต่างๆ สถาบันการศึกษา สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา และอื่นๆ
  6. ดังนั้นไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไปอย่างไร หากสถาบันต่างๆหนักแน่นในหลักการของสังคมอุดมคติก็ย่อมเป็นแรงต้านที่เป็นพลังถ่วงให้พลังผลักที่ไม่พึงประสงค์ไม่เข้ามาครอบงำสังคม
  7. นี่คือทางออกของความขัดแย้งในสังคมที่สถาบันต่างๆต้องออกมาแสดงพลังความถูกต้องของการขับเคลื่อนสังคมอุดมคติ ให้สังคมทุกภาคส่วนมีสติ
  8. เนื่องจากปัจจุบันพลังความต้องการที่เป็นแรงผลักทางทางสังคมนั้นซับซ้อนมากขึ้น เขาพูดในสิ่งที่ดูดี แต่เบื้องลึกแฝงเร้นไปด้วยผลประโยชน์ยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจ นี่คือปัญหาที่ซับซ้อน และยุ่งยากมากขึ้นในการทำความเข้าใจถึงความเป็นจริง
  9. ทางออกที่สำคัญคือ ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม ต้องสร้างสังคมอุดมคติให้ใกล้เคียงความเป็นจริงให้มากที่สุด สนับสนุนสถาบันทางสังคมได้แสดงพลังที่ถูกต้องออกมาเพื่อร่วมกันคัดหางเสือสังคมให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง

หากปล่อยให้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเช่นนี้สังคมจะเป็นอย่างไร

  1. สังคมก็จะเสียเวลาในการขับเคลื่อนสังคมเข้าสู่สังคมอุดมคติ นานมากขึ้น เสียหายมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น ยุ่งเหยิงมากขึ้น
  2. เพราะแรงผลักดันทางสังคมที่มีทิศทางมิใช่สังคมอุดมคติจะใช้เวลาที่เขาครองอำนาจนั้นๆสร้างความเข้าใจแก่สังคมใหม่ตามแนวทางที่เขากำหนด

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นเบื้องต้นอย่างหยาบๆ นะครับ


ความขัดแย้ง ทางออก…2

580 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 มิถุนายน 2009 เวลา 7:23 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 12586

ผมขอเอาบทความเก่า ชื่อ ร่างแนวคิด “องศาของการเปลี่ยนแปลง” มาเป็นตุ๊กกะตา พิจารณาในเรื่องความขัดแย้ง: ทางออก

——-

ปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม นั้นจะกล่าวแบบกว้างๆก็เพราะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมประเทศนั่นเอง ผู้บันทึกเคยแลกเปลี่ยนเรื่องนี้กับคนทำงานพัฒนาชนบท และกลุ่มเพื่อนๆในวงการ NGOs และสรุปร่างแนวคิดนี้ไว้ อย่างคร่าวๆ

สังคมไทยหรือสังคมไหนๆก็มีอดีต มีประวัติศาสตร์ มีพัฒนาการ มีเหตุการณ์ต่างๆมากมาย และอดีตทั้งหมดมีผลต่อพัฒนาการของสังคมในปัจจุบัน นี่เองคือความสำคัญของการเรียนการศึกษาประวัติศาสตร์ ในทุกสาขาที่เป็นองค์ประกอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ฯ


Diagram ข้างบนนั้นแสดงให้เห็นแนวสมมุติการเคลื่อนของสังคม จากฐานเดิมของความเป็นไทยๆ เรามีสถาบันกษัตริย์ เรามีสถาบันศาสนาที่เปิดกว้างทุกศาสนา เรามีสถาบันสังคมที่เป็นแบบแผนปฏิบัตินั่นคือวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อต่างๆ ที่เราเรียกรวมๆกันว่า ทุนทางสังคม วันเวลาผ่านการขับเคลื่อนด้วยสถาบันเหล่านั้น สังคมก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยภายในของสังคมเป็นด้านหลัก อาจจะมีปัจจัยภายนอกบ้างก็ในแง่ของการเกิดศึกสงครามแต่ก็เป็นเพียงชั่วคราว และไม่ได้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก


สังคมประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อสังคมโลกขับเคลื่อนและเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเรา เช่น ลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในสมัยนั้น ซึ่งผู้นำประเทศและพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์ไทยทรงปรีชาญาณนำพาประเทศรอดพ้นมาได้ แต่เป็นเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตามมา เช่น การทำสัญญาเบาริ่ง ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นเงื่อนไขการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่ให้มีการค้าขายระหว่างประเทศ (ก่อนหน้านี้ก็มีแล้ว แต่ไม่ได้ส่งผลมาก) การนำเข้าสินค้าและสิ่งอื่นๆเข้ามาในประเทศเรา ทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นการสะสมปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงอีกหลายประการในช่วงเวลาต่อมา


นอกจากสัญญาเบาริ่งแล้วในช่วงเวลาต่อมาเราก็เริ่มสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นการกำหนดแผนพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ความทันสมัย อันเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งด้านสร้างสรรค์ และสะสมปัจจัยให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆตามมาภายหลัง แล้วสังคมโลกก็ก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีทุนเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมโลกให้พัฒนาไป

สังคมโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วนั้น ได้เกาะเกี่ยวให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคการค้าเสรีระหว่างประเทศขึ้น มีส่วนทำให้สังคมไทยเปิดกว้างต่อธุรกิจต่างๆทั่วโลกที่สามารถเลือกมาลงทุนในประเทศไทยได้ และกอบโกยกำไรอย่างมหาศาลออกไป ระบบนี้ผลักดันให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่งทีเดียว ส่งผลกระทบมหาศาลต่อวิถีชีวิต และระบบชุมชนต่างๆอย่างไม่เคยมีมาก่อน ปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคมที่เราทราบกันดีตามสื่อมวลชนต่างๆนั้น คือผลพวงของความไม่สมดุลของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนผู้ด้อยโอกาสต่างๆในสังคม


สัญญาเบาริ่งก็ดี แผนพัฒนาฯชาติก็ดี ระบบโลกาภิวัฒน์ก็ดี ระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศก็ดี และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งหมดนั้นคือแรง G ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันสังคมไทยให้เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนตัวตามแนว A1 ไปสู่ A2 จนถึง A5 และ Ac นั้น หันเหไปสู่แนว Acg1 (ตาม diagram) ด้วยแรงกระทำของ G นั่นเอง

ทิศทางการเคลื่อนที่ของสังคมประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากแนว A5- Ac ไปสู่แนว A5-Acg1 นั้นก่อให้เกิด “องศาของการเปลี่ยนแปลง” (หรือ D) และแปรผันตามแรง G ที่กระทำต่อการเคลื่อนที่ของ A5 สู่ Ac


ปรากฏการณ์ขยับตัวของปัจจัยภายนอกที่รุกเข้ามา ทั้งโดยการพยายามเข้ามาแสวงหาประโยชน์ และการนำเข้ามาของทุนภายใน และการเข้ามาด้วยเงื่อนไขอื่นๆ ทวีความหนาแน่นมากขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยที่รัฐบาลผู้บริหารประเทศต้องการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่การเป็นแหล่งอุตสาหกรรมของโลก ต้องการยกระดับให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความทันสมัย และด้วยเหตุผลอื่นๆ ได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของ “องศาของการเปลี่ยนแปลง” มากขึ้น

แรงกระทำที่มากขึ้นของ G กระทำต่อ แนวการเคลื่อนตัวของ A5-Ac ส่งผลให้ทิศทางการเคลื่อนตัวของสังคมจากแนว A5-Ac เปลี่ยนไปเป็น A5-Acg2 และก้าวไปสู่ A5-Acg3 และต่อไปเรื่อยๆตราบเท่าที่ G มีแรงมากเพียงพอ หรือกล่าวในอีกทางหนึ่งก็คือ แรงกระทำที่มากขึ้นของ G จะสร้างให้เกิด “องศาของการเปลี่ยนแปลง” มากขึ้นเป็นสัดส่วนตรงนั่นเอง

การเคลื่อนที่ของ A5 นั้นมิใช่มีเพียงปัจจัยภายนอกเท่านั้น ยังมีปัจจัยภายในเองด้วย เช่นการยอมรับคุณค่าของแรง G การปรับเปลี่ยนค่านิยมของ A5 การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การหลงใหลในรสนิยม ทัศนคติแบบ G มากขึ้นของมวล(Mass) ใน A5 แนวนโยบายของรัฐบาล และแรงผลักดันของกลุ่มทุนระดับชาติ ฯลฯ

การขยายตัวขององศาของการเปลี่ยนแปลงนั้นก็มี “แรงเสียดทาน” หรือ “แรงต้าน” อันเป็นคุณสมบัติเดิมของ A5 ที่ไม่ยอมรับคุณค่าใหม่บางเรื่องบางส่วนของ G เราอาจจะเรียกรวมๆของแรงต้านนี้ว่า “พลังต่างๆในสังคม” หรือก็คือ “ทุนทางสังคม” ของสังคมไทยนั่นเอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นเป็นแบบสะสม ค่อยเป็นค่อยไป และสังคมที่อยู่ศูนย์กลางอำนาจ หรือตัวเมืองจะเปลี่ยนแปลงก่อน หรือมากกว่าสังคมที่อยู่ห่างออกไป หรือสังคมชนบท ตามทฤษฎี Periphery Theory ในทางสังคมวิทยามานุษยวิทยา

Diagram การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ เป็นแบบจำลองรวมๆที่มิได้นำปัจจัยทั้งหมดมาประกอบโดยละเอียด ทั้งนี้เพียงเพื่อสร้างให้เห็นภาพคร่าวๆของทิศทางการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น และจากข้อคิดของเด็กข้างถนนจึงปรับ diagram ให้อยู่ในลักษณะตามหลักมากขึ้น


องศาของการเปลี่ยนแปลง: คือค่าความเบี่ยงเบนของแนวทางการเคลื่อนตัวของสังคมด้วยแรง G กับสังคมประเทศไทย (หรือแรงทุนทางสังคม)

ความหมายต่างๆ

Ac คือ ลักษณะของสังคมไทยแบบเดิมๆ

Acg1 คือ สังคมไทยที่เปลี่ยนจากลักษณะเดิม Ac ไปด้วยแรง G ที่องศาการเปลี่ยนแปลง Ac-A5-Acg1

Acg2 คือ สังคมไทยที่เปลี่ยนจากลักษณะเดิม Ac ไปด้วยแรง G ที่องศาการเปลี่ยนแปลง Ac-A5-Acg2

Acg3 คือ สังคมไทยที่เปลี่ยนจากลักษณะเดิม Ac ไปด้วยแรง G ที่องศาการเปลี่ยนแปลง Ac-A5-Acg3

แรงกระทำ G จากภายนอก คือปรากฏการณ์สำคัญของประเทศที่มีผลต่อการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในรูปต่างๆที่เรียกว่าการพัฒนา การทำธุรกิจ ฯลฯ มีอะไรบ้าง เช่น

  • สัญญาเบาริ่ง
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • การขยายตัวเข้ามาของระบบทุนนิยม Globalization
  • สัญญาการค้าแบบเสรีระหว่างประเทศ

สิ่งต่างๆดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับระบบปกครองที่เป็นแบบเสรีประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงสังคม การแกว่งตัวของ Acg แรงกระทำกับแรงต้านในสังคม

บทความนี้อยู่ที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/190479 ผมเขียนไม่จบครับ มีเรื่องอื่นๆแทรกเข้ามาเลยข้างเติ่งอยู่อย่างนั้นเองครับ ต้องหามุมสงบมาต่อเรื่องนี้

ผมอยากเชิญท่านอัยการและทุกท่านที่สนใจเข้าไปดูที่ G2K เพราะมีเฮียตึ๋งเสนอ “หลักการแกว่งของลูกตุ้ม” อาจารย์บัญชา, เม้ง รวมทั้งท่านอื่นๆเสนอความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยครับ

ทั้งหมดนี้อาจคิดว่าเป็นแนวตั้งต้นที่ให้เกิดการคิดต่อครับ


แรงกระทบใจ..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 มิถุนายน 2009 เวลา 12:10 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2561

ใครอ่านบันทึกของผมเกี่ยวกับดงหลวงมาตั้งแต่ blog เดิม คงจะพอรู้ว่าดงหลวงเป็นอย่างไร ท่านที่เข้าร่วมเฮฮาศาสตร์ครั้งที่ 3 ดงหลวงก็คงได้สัมผัสชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าโซ่มาบ้างแล้ว


เนื่องจากเมื่อวานผมประชุมทีมงานเพื่อรื้อแผนงานทั้งหมดใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ดังที่ผมเกริ่นมาตลอดนั่นแหละว่ามีการเปลี่ยนแปลงเบอร์หนึ่งไปแล้ว เลี้ยงส่งกันแล้วที่ร้อยเอ็ดเมื่อคืนวานนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานใหม่ก็มาต้อนรับกัน…เฮ่อ


ผมก็ทำความเข้าใจกับทีมงานว่าเราถูกจำกัดงบประมาณหมดสิ้น จากที่เคยมีเคยได้ เคยทำ เป็นถูกรวบยอดไว้ที่ท่านคนเดียว กิจกรรมจำนวนหลายกิจกรรมเราจึงไม่มีงบประมาณ ทีมงานก็ออกไปทำงานก็ไม่มีงบประมาณสนับสนุนเท่าที่ควร หลายต่อหลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็ตัดสินใจควักกระเป๋าเองแล้วเอามาเบิกงบประมาณบริหารสำนักงาน ซึ่งเราพอเจียดให้ได้ แต่ก็จำกัดจำเขี่ยเต็มที

เพื่อควบคุมงบประมาณบริหารสำนักงานให้อยู่ในวงที่พอสัมมาพาควร แก่เหตุแก่ผล ผมจึงกล่าวกับน้องๆว่า ทุกครั้งที่เราไปประชุมกับชาวบ้านนั้นไม่จำเป็นต้องขนกระติก ถ้วยกาแฟ แก้วน้ำ ขนมอีกเป็นปี๊บๆ ไปบริการชาวบ้านทุกครั้ง เพราะการเอากาแฟไปให้ชาวบ้านกินเดี๋ยวชาวบ้านติดกาแฟก็จะไปสร้างรายจ่ายให้แก่เขา เอาขนมไปเป็นปี๊บๆแจกพร้อมกาแฟ พร้อมทั้งเทให้หมดเมื่อจบการประชุม มันเป็นเงื่อนไข เดี๋ยวคราวต่อๆไปไม่มีไปให้ก็จะถูกต่อว่า เอาแค่น้ำดื่มสะอาด ก็เพียงพอ อีกทั้งประหยัดงบประมาณที่เราก็ไม่ค่อยมีด้วย ขนมที่ซื้อยกปี๊บไปให้นั้นเราก็รู้ดีว่าคุณค่ามันไม่มีอะไรหรอก มีแต่แป้งกับน้ำตาล กินมากๆก็จะเป็นการเสียวัฒนธรรมการบริโภค ติดน้ำตาล กลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นมาอีก เจตนาดีแต่ผลที่เกิดไม่ดีต่อสุขภาพ


ที่ร้านสหกรณ์กลางหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เราเคยสนับสนุนการบริหารจัดการของเขานั้น เราพบว่า ในถังขยะมีแต่กระป๋องกาแฟสำเร็จรูปที่โฆษณาทางทีวีสารพัดยี่ห้อ ยิ่งเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว กินกันจนติดเป็นนิสัยไปแล้ว จะเข้าป่าไปหากบหาเขียดก็ต้องแวะมาซื้อเจ้าขวดนี้ก่อนไป เงินเสียไปโดยไม่ควรเสีย…ขวดเกลื่อนป่าเป็นมลภาวะต่อไปอีก…..

ในกรณีเช่นนี้เป็นการมองต่างมุมกันนะครับ ความจริงแต่ละครั้งๆนั้นใช้งบประมาณไม่มากมายอะไรหรอก สำนักงานบริหารได้ แต่หลักการ แนวคิด เหตุและผล มองต่างกัน


น้องเธอบอกว่า สงสารชาวบ้านเขา ยิ่งช่วงนี้ ข้าวใหม่กำลังปลูก ยังไม่ได้ผลผลิต ข้าวเก่าก็เริ่มน้อยลงหรือเกือบหมด หรือบางครอบครัวหมดลงแล้ว จึงต้อง “หากินซามตาย” ความสงสารของนักพัฒนานั้นมีท่วมหัวอกหัวใจ เราเข้าใจแต่มิใช่เอากาแฟเอาขนมที่ไม่มีประโยชน์ไปให้ กินข้าวก็พอแล้ว…

ข้าวนั้นทำให้เยอะๆ ทั้งข้าวทั้งกับข้าว เลี้ยงไปเลย ไม่ว่ากัน…

เพราผมต้องแอบบอกความลับไว้อย่างหนึ่งว่า ผมเคยน้ำตาตกมาแล้วที่การประชุมครั้งหนึ่งชาวบ้านมากันมากพอสมควร เราเองก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้เอะใจอะไร แต่ดีใจที่ชาวบ้านมากันมาก

ท่านครับ… แต่ละคนตักข้าวพูนจาน กับข้าวพูนจาน คนเมืองมาเห็นก็จะต้องคิดว่า พี่น้องโซ่ของผมมูมมาม ตะกละตะกราม ไม่มีมารยาทในการกิน (มารยาทคนเมือง)


แต่ท่านครับ…เมื่อทุกคนอิ่มข้าวแล้ว ที่หม้อแกงนั้นมีแกงติดก้นหม้อมีแต่น้ำโหลงเหลง คนแก่ คนเฒ่า ทั้งชาย หญิง และคนเป็นแม่หลายคนกำลังตักใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมมารวมทั้งข้าวที่เหลือด้วย แล้วก็เอาใส่ถุงย่าม หรือห่อพกของตนเอง บางคนก็เดินกลับบ้านไปเลย บางคนก็รอการประชุมบ่ายต่อไป…

เขาไม่ได้กินข้าวอิ่มมาหลายวันแล้วครับ..

ลูกหลานที่บ้านก็รอข้าวเหมือนกัน…ครับ..



ตอบครูมิม..

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มิถุนายน 2009 เวลา 23:52 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1539

เศรษฐกิจพอเพียง

จะสร้างครูอย่างไรให้ เขียนแผนการสอนแบบบูรณาการ ให้มีความรู้ความเข้าใจ ให้มีความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรม และให้มีความสามารถในการจัดสื่อ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน

จากคำถามของครูมิมนั้น มาพิจารณาจากมุมมองของคนอยู่ในสนามแล้วเห็นว่า ต้องลำดับคำถามใหม่ให้สอดคล้องต่อการปฏิบัติจริง จาก ตัวเลข 1 ถึง 4 นั้นเป็นโจทย์ที่มิมตั้งคำถามไว้ หากจะตอบคำถามนี้ในมุมการปฏิบัติต้องลำดับใหม่เป็น A ถึง D ทั้งนี้เพราะว่า เราต้องมีความรู้ความเข้าใจจริงๆเสียก่อน แล้วสร้างความรู้ความเข้าใจนั้นให้มีความรู้ ความเข้าใจซ้ำๆก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ รู้รอบด้าน รู้ละเอียด รู้ที่มาที่ไป รู้ผลโดยตรงโดยอ้อม ฯลฯ แล้วเอาความเชี่ยวชาญนั้นไปสร้างสรรค์สื่อต่างๆสร้างอุปกรณ์ต่างๆที่จะใช้เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ แล้วจึงเอาองค์ความรู้ทั้งหมดนั้นไปเขียนแผนการสอนแบบบูรณาการที่เป็นจริงๆได้ ดู diagram


เบื้องหลังโจทย์นี้มีรายละเอียดอะไรไม่ทราบ อาจจะมีเงื่อนไข ปัจจัยอีกหลายอย่าง แต่หากพิจารณาเฉพาะคำถามทั้ง 4 ข้อนั้น ขอแสดงความเห็นว่า

  • สนับสนุนแนวคิดของเม้ง ว่าจะต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ทำจริงๆ ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีเท่าไหร่ลงมือทำจริงๆ อาจพิจารณาทำกิจกรรมนี้ร่วมกับเด็กนักเรียนในพื้นที่โรงเรียนเอง หรือ ลงไปเลือกชาวบ้านสักคนแล้วทำร่วมกัน เพื่อศึกษารายละเอียด อย่างลึกซึ้ง ทุกขั้นตอนจริงๆ
  • จากความรู้เชิงทฤษฎี ครูก็จะรู้ในเชิงปฏิบัติจริง ครูจะเข้าใจจริงๆ ละเอียด ลึกซึ้งเพราะทำมาด้วยมือจริงๆ
  • การทำจริง อาจจะทำหลายๆคนร่วมกับชาวบ้าน หรือทั้งทำกับชาวบ้านและทำกันเองในโรงเรียนร่วมกับนักเรียน ร่วมกับครูท่านอื่นๆ ร่วมกับครูสาขาอื่นๆ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจะบูรณาการไปในตัวเสร็จ บางทีครูเกษตรมองไม่ออกว่าคณิตศาสตร์จะมาบูรณาการอย่างไร อาจรู้แต่ไม่ลึกซึ้งเท่า แต่ครูสายตรงจะรู้ว่า ขั้นตอนนี้เรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์เรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ครูภาษาไทยเข้ามาก็รู้ว่า องค์ความรู้ทั้งหมดนั้นมันมีภาษาถิ่นปนอยู่ในการเรียกสิ่งของ ปัจจัยการผลิต ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ครูจะเกิดความชำนาญด้วย เชี่ยวชาญ เกิดบูรณาการ
  • เมื่อถึงขั้นตอนนี้ครูเองก็สามารถเอาองค์ความรู้ทั้งหมดมาพิจารณาพัฒนาสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนได้อย่างสอดคล้องกับเงื่อนไขจริง สอดคล้องกับท้องถิ่น และเป็นจริง
  • แล้วองค์ความรู้ทั้งหมดก็สามารถเอาไปทำแผนการเรียนการสอนแบบบูรณาการได้จริงๆ จากประสบการณ์จริง

การทำเช่นนี้ เป็นแบบการต้องการหลักสูตรที่สมบูรณ์ที่สุด ทำได้จริง สอดคล้องกับพื้นที่จริง มิใช่แค่หลักการ  ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับพื้นที่

เรื่องนี้ต้องย้ำกันว่า เศรษฐกิจพอเพียงที่สงขลานั้นไม่เหมือนกับที่บุรีรัมย์ ที่พิษณุโลกและที่มุกดาหาร หลักการเดียวกันแต่รายละเอียดต่างกัน รูปแบบต่างกัน ความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดแตกต่างกัน เชี่ยวชาญต่างกัน การจัดสื่อการเรียนการสอนต่างกัน แผนการเรียนการสอนก็ย่อมต่างกัน เพราะ สภาพพื้นที่ต่างกัน ระบบภูมินิเวศเกษตรต่างกัน ระบบวัฒนธรรมชุมชนต่างกัน วิถีชีวิตชุมชนต่างกัน วิถีวัฒนธรรมการบริโภคต่างกัน องค์ประกอบครอบครัวแตกต่างกัน เงื่อนไขรายละเอียดของปัจจัยต่างๆไม่เหมือนกัน การตัดสินใจของชาวบ้านต่างกัน ฯลฯ

นี่เองหลักการเดียวกัน แต่รายละเอียดต่างกัน ความจริงข้อนี้จะสะท้อนความแตกต่างของทุกขั้นตอนเลย

สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ทำจริงเราจะรู้ได้อย่างไร….

จะเอาความรู้ระดับไหนไปให้เด็กล่ะ เอาแค่หลักการ แนวทางการปฏิบัติ บทเรียนรู้จากกรณีศึกษา หรือประสบการณ์จากของจริง ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง ฯ

ข้อเสนอของพี่นี้ไปตรงกับ Diagram ที่เบิร์ดเอามาเสนอให้ดูนั่นแหละ

ความสำคัญคือ

  • มีรายละเอียดเฉพาะมากมาย ล้วนแตกต่างกัน รูปแบบที่หนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับอีกสถานที่หนึ่ง เพราะความแตกต่างของระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรม เพราะความแตกต่างของคน ชนเผ่า ท้องถิ่น ภูมิภาค

  • องค์ความรู้จึงเป็นแค่เพียงหลักการ ทางปฏิบัติต้องนำไปดัดแปลงให้เหมาะสม สอดคล้องกับระบบนิเวศเกษตร วัฒนธรรม ชุมชน ฯ

ครูมิมเลือกเอาเองนะครับ อิอิ


รากเหง้า…2

270 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 มิถุนายน 2009 เวลา 1:04 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 5389

ผมเอาบางตอนของการคุยกับพ่อคืนวันนั้นมาแสดง

———–

พ่อ: นามสกุลของย่าคือ กุลมา … ตอนพ่ออายุ 6 ขวบเศษ ย้ายบ้าน.. เหตุที่ย้ายเพราะแพ(คนสมัยก่อนบางส่วนอาศัยเรือนแพ..บางทราย) ย่าถูกโจรปล้นเป็นครั้งที่สอง… คืนนั้นเวลาตีสองเศษๆ ใครๆก็ได้ยิน สมัยโน้นชาวบ้านเรามีอาวุธไม่ค่อยดี เตี่ยไปอยู่แพ เห็นผิดสังเกต ก็เตรียมปืนกันคนละกระบอก มีปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา และปืนปัสสะตัน ปืนนี้นับว่าเยี่ยมแล้วในสมัยนั้น ผลที่สุดเอาจริงเอาจังเข้า ปืนก็ยิงไม่ออกสักกระบอกเดียว…


พ่อ: โจร 7 คนมาปล้น เรามีแพอยู่ 4 หลังเชี่อมต่อกัน ในแพก็มี ย่าตุ้ย ก๋งเริก อาแต้ม แพอีกหลังก็มี อาเทียม อาถมกับลูกๆ ต่างหนีเอาตัวรอดไปได้หมด ย่าอิ่มของเรานอนล่อที่สุดริมแผงกั้นมีซี่เหล็กและผ้าม่านกั้นถกขึ้นไปได้ น้ำแรงจัด โจรมันเอาเรือมาก็ปะทะแพโครมคราม ย่าอิ่มตื่นตกใจก็เอะอะขึ้น โจรเข้าคว้าแขนย่า แกสะบัดหลุด หนีออกทางหลังแพครัวกระโดดน้ำหนีไปได้หวุดหวิด ก๋งคลานขึ้นฝั่งได้ ไอ้พวกโจรเข้าในแพไม่ได้เป็นนานจึงเข้าไป มันใช้ขวานจาม “กำปั่น” อยู่เป็นชั่วโมง ก็เปิดได้ เอาของในกำปั่นไปหมด สารพัดเงินทอง เพชรนิลจินดา ข้าวของมีค่ามันเอาไปหมด ย่าตุ้ยมีเงินทองมาก ใครๆก็เรียกกันว่า “ยายตุ้ยแพเอียง” ก็เงินทองมากมาย หนักจนแพเอียง กำปั่นใหญ่มีใบเดียวแต่หีบเหล็กมีเยอะหลายสิบใบ..

พ่อ: ..ย่าโกรธกับก๋ง เลยเอาพ่อกับอาชินหนีก๋งไปอยู่กับญาติที่นครชัยศรี นครปฐม สมัยนั้นต้องนั่งเรือไปกรุงเทพฯก่อน มีเรือกลไฟของบริษัทพิทักษ์พานิช คือเรือเขียว กับบริษัทสยามสตีมเบกเกท คือเรือแดง เจ้าของเรือแดงเป็นฝรั่งชาติเดนมาร์ค เข้ามาขอสัมปทาน ส่วนเรือเขียวเป็นของคนไทย อยู่ผักไห่ ชื่อ ขุนพิทักษ์ เป็นคหบดีร่ำรวยมาก มีที่ดินไร่นาสาโทเยอะแยะ มีกิจการเรือกลไฟรับส่งคนโดยสารจากกรุงเทพฯถึง อ.วิเศษชัยชาญ..

พ่อ: ไปอยู่นครชัยศรีเป็นแรมเดือน เตี่ยไปซื้อปืนเมาเซอร์สามกระบอกที่กรุงเทพฯ แล้วเลยไปรับย่ากลับบ้าน เมื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เตี่ยก็ชวนพ่อไปเที่ยววัดมหาธาตุ พ่อไม่ได้คิดอะไร คิดว่าไปเที่ยวกันเท่านั้น ไปถึงวัดมหาธาตุก็ไปคณะที่ 24 แทนที่จะไปเที่ยว เตี่ยกลับเอาพ่อไปฝากพระอาจารย์เรื่อง ซึ่งเป็นญาติกัน เตี่ยตั้งใจจะให้เรียนหนังสือที่วัดมหาธาตุนี้ พ่อดีใจที่จะได้เรียน แต่ใจหนึ่งก็คิดถึงแม่คิดถึงน้อง เตี่ยกลับไปแล้ว พ่อก็ร้องให้จะกลับ ดิ้นพลาดๆ พระอาจารย์ก็ตีซะจนหยุดร้อง.. คืนนั้นทั้งคืนไม่ได้นอน เพราะคิดถึงแม่ คิดถึงน้อง ตี 4 เช้ามืด เรือจะออกจากท่า เปิดหวูด โอย…มันโหย หวน ใจจะขาดรอน รอน เชียวเอ๋ย นานเข้าก็จางไป จนอาจารย์เห็นว่าเราเชื่องแน่ก็เลยพาเราไปตัดเสื้อผ้า เพื่อเข้าโรงเรียน…


พ่อ: สมัยพ่อเรียนนั้นยังไม่มีกระดานชนวนเลย ใช้กระดานไม้มะกอก หรือกระดานไม้สักอย่างดี เอาดินหม้อผสมน้ำข้าว หรือผสมน้ำมันยาง ทาให้เป็นสีดำ แล้วใช้ดินสอพองปั้นเป็นแท่งยาวๆเป็นดินสอเขียน แล้วก็ไม่ได้อ่านเป็น กอ ขอ คอ ฅอ งอ อย่างปัจจุบัน สมัยนั้นอ่าน กอ ข้อ ขอ ค่อ คอ งอ, จอ ฉอ ช่อ เชาะ ยอ, ดอ ตอ ถ่อ ท่อ เทาะ นอ มีตำราเรียนเร็ว มีประถมกอกา มีมูลบทบรรพกิจ คนเขียนหนังสือสมัยโน้น เอาอักษรทั้ง 24 ตัว ผสมสระทั้งหมด เรียกว่า แจกลูก แล้วไปเรียนตัวสะกด แม่กม แม่กก แม่กด แม่กบ…แม่เกย พ่ออ่านได้ถึงแม่เกย เกย ไก กาย กาว กิว กีว กึว กืว กุว กูว เกว เกว แกว แกว…..

พ่อ: สมัยนั้นเรียนกับพระท่านสอนเป็นธรรมทาน ไม่มีสินจ้างรางวัล ไม่มีเงินเดือน เครื่องแบบนักเรียนวัดมหาธาตุสมัยนั้นโก้หรูมาก คล้ายๆนักเรียนวชิราวุธปัจจุบัน เสื้อห้าตะเข็บ กางเกงฟอร์มสีดำยาวคลุมเข้า หมวกฟางถัก หัวตัด ทรงปีกแข็ง อยู่วัดมีกติกาว่า เช้าขึ้นมาต้องปัดกวาดเช็ดถูกุฏิ คอยจัดอาหารให้พระอาจารย์ คอยรับบาตรมาจัดให้ท่าน ประเคน เป็นกิจวัตร พระกรุงเทพฯสมัยนั้นบางวันอัตคัด บางวันได้ข้าวทัพพีเดียวไม่พอฉันท์ ต้องหุงข้าว สมัยนั้นไม่ว่าผู้ดีหรือชาวบ้านต้องมีหม้อ 2 แบบเท่านั้นคือ หม้อดิน กับหม้อทองเหลือง… หม้อดินหุงข้าวไม่มีหู ทรงคอชะลูด ปากบาน มีฝาครอบ เวลาข้าวสุกน้ำเดือดต้องยกลงวางที่ “เสวียน” ถักด้วยหวายมีหูโค้งเข้าหากันถึงปากหม้อพอดี หาผ้าเทินฝาหม้อแล้วก็เอียงหม้อเช็ดเอาน้ำข้าวออก หาก “ฝาละมี” เลื่อน ข้าวร่วง ข้าวหกก็ถูกดุ หากทำเป็นครั้งที่สองที่สามก็โดนเฆี่ยน

ครั้งหนึ่งพ่อทำจานแตกใบหนึ่ง เป็นจานที่พระใช้ฉันท์ จะเอาไปเก็บเข้าที่ หลุดมือตกแตก เราก็รีบจะไปเรียน พระอาจารย์เห็นก็วิ่งมาฉุดเข้ากุฏิลั่นกลอนเลย เหลียววซ้ายขวาไม่มีอะไร เห็นสากกะเบือ แกก็คว้าเอามาห้ำตั้งแต่หลังมือเรื่อยไปถึงข้อศอก แล้วห้ำลงมา จากแขนซ้ายไปแขนขวา พ่อร้องสุดชีวิต แกก็ไม่หยุด จนเจ้าคณะต้องพังกุฏิเข้ามาช่วย.. พ่อไม่ได้ไปโรงเรียนสามวัน.. ต่อมาแม่มารับกลับวิเศษชัยชาญ ไปเรียนต่อที่นั่นโดยไปอาศัยบ้านเสมียนสรรพากร แม่บ้านสมัยนั้นติดการพนัน พวกเมียข้าราชการเล่นการพนันกันมาก หยอดบ่อ ทอยกอง ไพ่ตองบ้างละ.. พ่อไปจบ ม. 3 ที่จังหวัดอ่างทอง…

——-

การคุยกับพ่อแม่ หรือแม้ผู้เฒ่าผู้แก่ทั่วไปนั้น เราได้อะไรมากมายจริงๆครับ เราเห็นประวัติศาสตร์สมัยนั้น เห็นวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ระบบการเรียน การสั่งสอนนอกจากความรู้ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าได้มากๆ คือ การสัมผัสรากเหง้าอันเป็นชีวิตของผู้เล่า ยิ่งเป็นบุพการีเราด้วยแล้ว เนื้อหาสาระ อารมณ์ ความรู้สึกมันมีพลังอย่างมาก รับรู้ได้ สัมผัสได้ ซึ่งบรรยากาศเช่นนั้นมันได้สร้างความสำเหนียก ความสำนึกแก่เราโดยอัตโนมัติ…

ด้วยเหตุฉะนี้เอง ผมจึงชอบใจที่อัยการชาวเกาะ เขียนบันทึกสอนลูก…ตลอดไปถึงสาระในหน้าที่การงาน ที่น้อยคนจะเข้าถึงสาระละเอียดเช่นนั้น

ในวาระที่พ่อครูบาฯในฐานะเป็นคนเก่า เล่าความหลัง ถือว่าจะเป็นบันทึกของยุคสมัย ของหนุ่มอีสานคนหนึ่ง ผมว่าจะสะท้อนเรื่องราวต่างๆทำให้เราเข้าใจอีสานอีกมุมหนึ่งได้ดีทีเดียว นักประวัติศาสตร์ถือว่านี่เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่า

สังคมเราพัฒนาไปแต่ข้างหน้า ผมก็คิดว่าเราสมควรที่จะก้าวไปข้างหน้า แต่การก้าวไปข้างหน้านั้นหากมีรากเหง้าเหล่านี้ติดสมองบ้างแล้ว สังคมคงชั่งน้ำหนักออกว่า สังคมไทยที่มีขั้วชนบทกับเมือง ที่เราจำลองภาพมานี้นั้น ความทันสมัยที่เหมาะสมกับบ้านเราจะอยู่ตรงไหนจึงจะพอดี ลงตัวกับบ้านเรา มิใช่ก้าวไปข้างหน้าเพราะต้องการให้ทันสมัย หรือให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยไม่พิจารณาให้อยู่บนรากของสังคมไทยเลย

ถ้าเราเอาแต่มุ่งไปข้างหน้าแบบสุดโต่ง ย่ิอมจะสร้างช่องว่างของความเป็นคนไทย ชนบทกับเมือง เกษตรกรกับธุรกิจ ช่องว่างนี้จะถ่างออกมากขึ้น หลักการปกครองบ้านเมืองนั้นถือว่าปรากฏการณ์นี้เป็นอันตราย

นับได้ว่า เจ้าเป็นไผ เป็นส่วนย่อย เล็กๆ ที่จารึกรากเหง้าสังคมไทยทั่วทุกภาคเอาไว้บ้างแล้ว….


รากเหง้า..1

2114 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 พฤษภาคม 2009 เวลา 20:58 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 22035

ผมมานั่งทบทวนแนวคิดเจ้าเป็นไผ และสิ่งที่เบิร์ดเสนอที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=1831 และที่ คอน เสนอ ธีม จปผ. 2 ไว้ที่ http://lanpanya.com/journal/archives/4979 นั้น ผมมีความคิดเห็นคล้อยตาม และนึกถึงอะไรอีกมากมาย

ประเด็นของผมคือ : พ่อแม่สร้างชีวิตมาด้วยชีวิต มีคุณค่ามาก แต่ลูกไม่ค่อยได้รับรู้ ไม่ได้เรียนรู้อย่างละเอียด แม้ว่าเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ยุคสมัยของพ่อแม่กับลูกต่างกันลิบลับก็ตาม แต่พัฒนาการชีวิตของพ่อแม่นั้นหากลูกๆได้สัมผัสอย่างลึกซึ้ง ก็เป็นการรับลูกต่อทางรากเหง้า และวัฒนธรรม ที่มีฐานแท้ของท้องถิ่นสังคมไทย

ชีวิตเด็กบ้านนอกอย่างผมและหลายๆคนนั้น ต่างใฝ่ฝันมุ่งไปข้างหน้า มากกว่าจะเซ้งกิจการทำนาของพ่อแม่มาทำต่อ พ่อแม่เองก็คิดเช่นนั้น “ไปเป็นเจ้าคนนายคนซะ ไปเป็นข้าราชการมีเงินเดือนกินซะ จะได้ไม่มาลำบากอย่างพ่อแม่”

ครอบครัวที่ยากจนหลายคนทั้งคนไทยคนจีน ลูกคนโตบางทีเสียสละให้น้อง ยอมออกมาเป็นแรงงานกับพ่อแม่ เพื่อหาเงินส่งน้องเรียนหนังสือ ดอกเตอร์หลายคนที่ผมยกมือไหว้ก็มีร่องรอยเช่นนี้

พ่อแม่ผมก็คงเหมือนกับทุกคนที่ต่างพร่ำสอนมารยาท วิธีการครองตนในสังคมที่หลากหลาย และให้ยึดถือสารพัดวัฒนธรรม ประเพณีทั้งที่สั่งสอนโดยตรงและโดยอ้อม โดยปกติพ่อ แม่ ก็จะเล่าบางช่วงชีวิตให้ฟังตามจังหวะ สถานการณ์ แต่ก็ไม่ต่อเนื่องแบบม้วนเดียวจบ จึงมีหลายเรื่องที่พ่อแม่ไม่ได้เล่า บางทีญาติพี่น้องซะอีกเล่าให้ฟัง

ช่วงที่ผมทำงานที่ขอนแก่นประมาณปี 2529 พ่อซึ่งเป็นข้าราชการครูเกษียณ ล้มป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ต้องนอนที่โรงพยาบาลอ่างทอง ผมก็ลงไปเยี่ยม ไปนอนด้วย ไปปรนนิบัติแทนแม่ที่รับมาหนักนานตลอด


ค่ำวันนั้น พ่อเรียกผมเข้าไปนั่งข้างเตียงแล้วก็เล่าชีวิตของพ่อให้ฟังอย่างละเอียด ผมตงิดในใจจึงเอาเทปบันทึกเสียงพ่อไว้ด้วย พ่อเล่าแบบลืมตัว จนสว่างคาตา แม่ตื่นขึ้นมาก็ต่อว่าพ่อ ว่าลูกต้องเดินทางกลับไปขอนแก่นทำไมคุยกันยันสว่างเลย เดี๋ยวลูกขับรถไม่ไหว อันตราย.

จริงๆผมไม่ทราบหลายช่วงหลายตอนของชีวิตพ่อมาก่อน เพราะไม่มีใครเล่าให้ฟัง เรื่องราวที่พ่อเล่าให้ฟังตลอดคืนนั้น มีทั้งรากเหง้าของตระกูล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บ้านเมือง บุคคล สังคม การดำรงชีวิต วิถีชีวิตยุคก่อนสงครามโลก การเปลี่ยนครั้งสำคัญๆของประเทศชาติ ฯลฯ เพราะมันเป็นทางเดินของชีวิต ตลอดทั้งคืนมีทั้งหัวเราะกันสองคนพ่อลูก มีทั้งร้องให้ เพราะพ่อฝ่าด่านความยากลำบากมามากกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่านัก

คืนแห่งประวัติศาสตร์นั้นผมเกิดสำนึกขึ้นอย่างสูงส่งโดยอัตโนมัติ ผมเข้าใจว่าทำไมพ่อจึงเป็นดุ โดยเฉพาะกับลูกๆ ทำไมพ่อจึงเคี่ยวเข็ญพวกเราในเรื่อง การรักใคร่กันระหว่างพี่น้อง แม้ว่าพ่ออยากให้รับราชการ แต่หากเราตัดสินใจอยากเป็นอะไร พ่อก็ไม่ได้ขัด แต่ขอให้เป็นคนดี…. ในตระกูลผมนั้น พ่อเสียสละโอกาสที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงทั้งที่อยากจะเรียน เสียสละมรดกที่นาทำกิน ให้น้องๆ(อาผม)ก่อน พ่อก็ได้น้อยที่สุด ดังนั้นอาทุกคนเคารพพ่อมาก เมื่อพ่อพูดอะไร อาทุกคนฟัง

ผมไม่ได้มุ่งหมายให้ลูกๆ ก็อปปี้มาทั้งหมดซึ่งเป็นไปไม่ได้ ซึ่งทำไม่ได้ และไม่ควรทำ แต่ลูกเมื่อมีวุฒิภาวะแล้วย่อมรู้ดีว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

  • มีลูกจำนวนมาก พอออกจากบ้านก็รู้แต่โลกข้างนอก แต่ชีวิตของพ่อแม่อย่างละเอียดนั้นไม่รู้เรื่อง หรือรู้น้อย เพราะไม่มีเวลาให้กับพ่อแม่ แต่มีเวลาให้กับเพื่อนและโลกสื่อสารยุคใหม่
  • อนุมาณว่าพ่อแม่อยากจะเล่าชีวิตให้ลูกๆฟัง แต่เมื่อลูกบอกจะทำโน่นทำนี่ พ่อแม่ก็ตามใจ และคิดไปข้างหน้ามากกว่าจะเอาอดีตของพ่อแม่มาเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อกลั่นเอา ชีวิตออกมาให้ลูกได้เรียนแบบต่อยอด
  • อดีตของพ่อแม่จะล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไรนั้น แม้ว่าพ่อแม่อยากจะเล่าให้ลูกๆฟัง ลูกที่เป็นวัยรุ่นนั้นเขาฟัง แต่ไม่ได้ยิน เพราะใจเขาจดจ่อแต่เรื่องอื่นๆ กว่าจะสำนึกได้ว่าชีวิตของพ่อแม่นั้นมีค่าต่อเรา ก็มักสายไปเสียแล้ว
  • ลูกบางคน เมื่อมีโอกาสได้ทราบรายละเอียดชีวิตของพ่อแม่แล้วคิดได้ เกิดมุมหักเหชีวิตครั้งสำคัญ เกิดสติ เกิดสำนึก เกิดความผูกพัน ซึ่งนี่คือฐานรากของทุนทางสังคม วัฒนธรรมของตะวันออก

อีกไม่กี่เดือนถัดมาพ่อผมก็เสียชีวิต ที่โรงพยาบาล ด้วยโรคต่างๆอันเนื่องมาจากถุงลมโป่งพอง ผมถอดเทปสิ่งที่พ่อและผมคุยกันคืนนั้น จัดทำเป็นเล่มและทำสำเนาแจกให้ญาติพี่น้อง เทปบันทึกการคุยกันคืนนั้นผมทำสำเนาแจกญาติพี่น้องทุกคน..

บังเอิญเรื่องที่จะเขียนนี้กลายเป็นมีสองวัตถุประสงค์ไปโดยบังเอิญ อันแรกคือ ต้องการบอกกล่าวว่า การทำเจ้าเป็นไผนั้น เล่มสอง ควรจะตกแต่งสาระความชัดเจนให้เข้าเป้าหมายร่วมกัน อย่างที่ “คอน”เสนอ อย่างที่สองบุคคลที่ผมกล่าวถึงในบันทึกนี้คือพ่อผมซึ่งท่านเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมโป่งพอง

พอดีวันนี้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกพอดี…


ไม่อยากออกไปข้างนอก..

769 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2009 เวลา 22:49 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 12492

ยามฝนตก ต้นไม้หลังบ้านสารพัดชนิดก็เขียวชอุ่ม พุ่มไสว


ดอกไม้ก็ออกดอก ลืมไปแล้วว่าชื่ออะไร ดูเหมือนจะเอามาจากเชียงรายนะครับ ต้นก้ามปู หรือจามจุรี ใหญ่หลังบ้านก็มีใบสวยงามเต็มต้น มีผึ้งรังไม่เล็ก แต่อยู่สูงมากและปลายกิ่ง คิดจะเอาน้ำหวานก็หมดปัญญา


ใต้ต้นจามรุรีมีต้นมะขามหวานอยู่ต้นหนึ่ง ผมซื้อมาจากเพชรบูรณ์นานมากจนลืมไปแล้วว่าเมื่อไหร่ แต่เนื่องจากมันอยู่ใต้ต้นก้ามปู ไม่ใช่กลางแดดโล่งๆ มันจึงไม่โตซะที ซ้ำบางปีมีเถาวัลย์พืชอื่นๆเลื้อยขึ้นมาปกปิดจนมองไม่เห็นต้นมะขาม มันก็ไม่ตาย ไม่เคยมีฝักให้ชิมรสว่ามันหวานจริงหรือโดนหลอก

มาสองสามวันนี้ ตกเย็นๆผมชอบออกมานั่งที่ระเบียงห้องนอนชั้นสอง มองออกไป มันสงบเงียบ ดูต้นไม้เขียวๆ เอาหนังสือโปรดมานั่งอ่าน ปากก็จุ๊บจั๊บ(นี่แหละมันถึงอ้วน) โน่นนี่ โดยเฉพาะผลไม้โปรดต่างๆ

เย็นวันวานผมสังเกตเห็นมีนกเขาคู่หนึ่งบินมาเกาะที่ต้นมะขาม ตัวหนึ่งเกาะเฉยๆผงกหัวไปมาเท่านั้น อีกตัวก็เดินไปมุมโน้นมุมนี้


เย็นมากแล้ว นกเขาคู่นี้ก็ไม่นิ่งเสียที ผมมาเอะใจอาจเป็นเพราะว่าผมนั่งดูเขาอยู่บนระเบียงนี่ละมั๊ง จึงเข้าไปในห้องแล้วแอบมองเขาผ่านกระจกหน้าต่าง

จริงด้วย นกเขาคู่นี้บินสั้นๆย้ายมาที่ต้นฝ้ายคำที่มีใบใหญ่กว่าใบมะขาม เกาะอาศัยได้มิดชิดกว่า ตัวผู้(ผมเดาเอา) เดินไปหามุมที่ดีที่สุด แล้วตัวเมีย(เดาอีกเช่นกัน) ก็ย้ายที่ไปเกาะเคียงคู่กัน

ผมเปิดประตูออกไปนอกชานเพื่ออยากถ่ายรูปเขา เจ้าตัวผู้ก็ออกมา และดูเรา และดูเขาพร้อมจะบินไปทันที ผมเห็นแล้วก็ทราบดีว่า เขาคงละแวงเราจึงปิดประตูและแอบดูเขาทางกระจกตามเดิม…

เย็นวันนี้ผมอยากออกไปนั่งที่นอกชานตามเดิม….แต่เห็นนกเขาคู่นี้มาอยู่อาศัยที่เดิมแล้ว จึงเปลี่ยนใจครับ ไม่อยากออกไปข้างนอก(ชาน) เพราะไม่อยากไปสร้างความไม่ปลอดภัยให้นกเขาคู่ที่น่ารักนี้ ผมอยากให้นกเขาคู่นี้มาอาศัยนานๆครับ…

ประทับใจการใช้ชีวิตคู่ของนกเขาจริงๆ..


ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..3

247 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 เวลา 19:51 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5845

เราลงไปถึงเหมืองสมศักดิ์จริงๆประมาณ 5 โมงเย็น เพราะเราเสียเวลาในกรุงเทพฯและการออกจากรุงเทพฯนั้นเอง ระหว่างเดินทางมานั้นผมดูอุณหภูมิภายนอกรถประมาณ 39 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเรามาถึงเหมืองนี้อุณหภูมิแค่ 27 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง ป้าเกล็นนั่งอยู่กับผู้มาเที่ยวกลุ่มหนึ่ง เมื่อเรามาถึงป้าเกล็นก็ลุกออกมาต้อนรับเรา เมื่อเราแสดงตัวว่าเป็นใครมาจากไหน จองห้องพักมาแล้ว ป้าเกล็นก็พยักหน้าว่าทราบการจัดการนี้แล้ว



ป้าเกล็นเชิญเรานั่งพักและดื่มน้ำเย็นและกาแฟ โดยเฉพาะขนมเค้กที่ตั้งอยู่ที่โต๊ะตลอดวันใครใคร่กินก็มากินได้ตลอด กาแฟและเครื่องดื่มอื่นๆ มีบริการตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บริการตัวเอง ขอไม่เล่าความเป็นไปเป็นมาเรื่องของป้าเกล็นและเหมืองแร่สมศักดิแห่งนี้



ท่านใดสนใจ เข้าไปที่ www.parglen.com ยกเว้นบางส่วนที่ผมสนใจ ความจริงประวัติและพัฒนาการเหมืองแร่สมศักดิ์นี้น่าสนใจมาก ความรุ่งเรืองนั้นเท่ากับประวัติศาสตร์เหมืองแร่ดีบุกที่ภูเก็ต การเดินทางเข้ามาที่นี่ปัจจุบันที่เรายังใจเต้นตุ๊บตั๊บ หากย้อนหลังไปสมัยแรกๆที่คุณลุงสมศักดิ์มาบุกเบิกจะยากลำบากแค่ไหน


ผมสงสัยว่าใครหนอช่างมาสำรวจแร่จนพบที่นี่ สมัยเมื่อ 50 ปีขึ้นไปโน้นนะเครื่องมือวิทยาศาสตร์ก็เป็นแบบง่ายๆแล้วมาสำรวจได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่ามีแร่ปริมาณมากพอที่จะลงทุนทำเหมือง ป้าเกล็นเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อพี่สมศักดิ์(สามีเธอ) เอาความรู้มาจากสมัยที่รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดีย พม่า รัฐบาลอังกฤษเอาช่างจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและเหมืองแร่มาจากอังกฤษมาสำรวจพื้นที่แถบนี้ทั้งหมด…


บรรพบุรุษคุณลุงสมศักดิ์คือเจ้าเมืองคนแรกของเมืองสังขละซึ่งเป็น ปกากะญอ ความรู้นั้นจึงตกมาถึงคุณพ่อคุณลุงสมศักดิ์ ทำให้ผมนึกถึงรัชการที่ 5 ทรงจ้างนักทำแผนที่ซึ่งเป็นจากอินเดียและพม่ามาทำแผนที่และเส้นเขตแดนประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นอาณาจักรประเทศไทยนั้นครอบคลุมไปถึงหลวงพระบางโน้น… ฝรั่งชุดนี้จึงได้รับพระทานให้เข้ารับราชการเป็นเจ้ากรมแผนที่คนแรกของประเทศไทยฝรั่งคนนี้คือ เจมส์ แมคคาร์ธี (พระวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่คนแรก) http://resgat.net/explorings.html ผู้สนใจประวัติศาสตร์อย่าพลาดบันทึกของพระวิภาคภูวดลนะครับสุดยอดจริงๆ



ภาพความยากลำบากสมัยบุกเบิก และที่เก็บกุญแจที่ยังรักษาสภาพเดิมๆไว้

เมื่อ 45 ปีที่แล้วที่ป้าเกล็นมาใช้ชีวิตที่เหมืองแร่นี่สภาพความยากลำบากสุดโหดนั้น ผมสงสัยว่าแล้วเมื่อเหมืองฉีดทำแร่ได้แล้วขนแร่ไปขายที่ไหน อย่างไร ป้าเกล็นเล่าอย่างมีความสุขว่า แรกก็ใช้วัวต่าง ที่มีวัวเป็นร้อยๆตัว ขนแร่จากที่นี่ข้ามภูเขาไม่รู้ว่าจะกี่ลูกไปลงเรือที่ทองผาภูมิ แล้วเข้าเมืองกาญจนบุรี

ป้าเกล็นคงจะตอบคำถามนักท่องเที่ยวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ป้าเกล็นมีความสุขที่จะตอบ อาหารทุกมือ อร่อยและมีปริมาณมากเกินที่เราจะทานได้หมด ดีกว่าโรงแรมหลายแห่ง อาจเป็นเพราะป้าเกล็นเป็นฝรั่งออสเตรเลียที่มีเชื้อสายมาจากอังกฤษ วัฒนธรรมการประกอบโต๊ะอาหาร การวางจาน ช้อนแก้ว อาหารทุกชนิด ผมว่าดีกว่าโรงแรมหลายแห่งครับ ค่าใช้จ่าย 1200 บาทต่อหัวต่อคืนรวม package tour นั้นผมว่าคุ้มค่า(กรณีที่เอารถ4WDไปเอง) สำหรับคนที่ชอบธรรมชาติ ป่าเขา เงียบๆ อาหารอร่อย ที่พัก สะอาด ที่นี่คือสุดยอด แต่สำหรับคนที่ต้องการ ช็อปปิ้ง ห้องแอร์ internet และความสะดวกสบาย ต่างๆนั้นผมแนะนำว่าอย่าไปเลย


ครอบครัวป้าเกล็น บุตรชายคนเดียวซึ่งปัจจุบันเป็น CEO ของบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง

เนื่องจากอยู่หุบเขาลึกชายแดนนั้น อย่าถามหาคลื่นมือถือ ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ มีแต่จะมีเป็นจุดๆตามเส้นทางที่ลงไปหาเหมืองแร่ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อุทยานมาปักป้ายบอกว่าบริเวณที่สามารถใช้มือถือได้ การติดต่อของเหมืองกับโลกภายนอกนั้นใช้วิทยุสื่อสาร ป้าเกล็นขึ้นเสาวิทยุสูง ติดต่อกับคนที่ตกลงกันไว้ให้เป็นสถานที่ติดต่อสื่อสารกันที่ทองผาภูมิ แล้วทองผาภูมิก็จะติดต่อสำนักงานที่กรุงเทพฯซึ่งบุตรชายป้าเกล็นคนเดียวอยู่กับครอบครัวที่นั่น

(ขออภัยที่เอาบันทึกนี้มาลงใหม่ เพราะเกิดความผิดพลาดก่อนหน้านี้)


ปิล๊อก 4 ไฟฟ้าพลังน้ำ

1042 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 เวลา 16:11 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11088

มีสิ่งหนึ่งที่ผมและคนข้างกายสนใจมาก พอดีเธอกำลังทำวิจัยเรื่องพลังงานเพื่อชุมชนอยู่ด้วย เลยเข้าตากรรมการ ที่เหมืองแร่นี้ปกติผลิตกระแสฟ้าเองด้วยเครื่องทำไฟฟ้าที่ใช้เครื่องยนต์แบบทั่วๆไป ก็จะเปิดเครื่องเฉพาะเวลาค่ำจนถึงสามทุ่ม และไปเปิดอีกทีตอนตีห้า


ฝายเล็กๆที่กักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

หลังสามทุ่มไปแล้วป้าเกล็นผลิตกระแสไฟฟ้าเองจากพลังงานน้ำ..?? เราหูผึ่ง…หลังจากนั้นก็ตั้งคำถามมากมายกับคุณป้า รุ่งเช้าเราก็รีบเดินไปดูองค์ประกอบการผลิตกระแสฟ้าโดยใช้พลังงานน้ำทันที

เหนืออาคารหลักของสถานที่นี้เป็นที่สูงลาดเอียงขึ้นไป มีอาคารที่พักอีกสามหลัง ด้านล่างเป็นร่องลำห้วยธรรมชาติ ป้าเกล็นสร้างฝายเล็กๆขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำ แล้วต่อท่อน้ำออกไปสู่เครื่องกลไกผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ที่วันก่อนผมเอารูปมาทายว่าเป็นอะไร เพื่ออะไร ทายเล่นๆ



กังหันพลังน้ำตัวเริ่มต้นผลิตกระแสไฟฟ้า

รูปนี้คือกังหันที่รับน้ำจากท่อที่ปล่อยน้ำมาจากฝายเล็กๆด้านบนนั้น เมื่อน้ำไหลออกมาก็จะไปโดนกังหันซึ่งมีที่รองรับน้ำอยู่ ความแรงของน้ำจะดันให้กังหันนี้หมุน ยิ่งน้ำมีแรงดันสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้กังหันนี้หมุนเร็วขึ้นเท่านั้น พลังน้ำที่มาหมุนนี้เอง มนุษย์ก็ฉลาดเอาการหมุนนี้ไปใช้ประโยชน์ซะเลย ดูรูปต่อไป


แสดงการทดรอบการหมุนของกังหันเพื่อสร้างความเร็วมากขึ้นในการปั่นกระแสไฟฟ้า

อีกด้านหนึ่งของกังหันนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากการหมุนนั้นมาปั่นกระแสไฟฟ้า โดยใช้การทดรอบการหมุนให้เร็วขึ้น เช่น วงล้อ 1 หมุนหนึ่งรอบจะทำให้วงล้อเล็กๆ 2 หมุนไปมากกว่า สิบรอบ จากวงล้อเล็ก 2 หมุนหนึ่งรอบก็ทำให้วงล้อใหญ่ 3 หมุนหนึ่งรอบเช่นกัน แต่วงล้อที่ 4 จะได้มากกว่าหนึ่งรอบแน่นอน และที่หมายเลข 4 นี้ตัวตัว generator หรือตัวก่อกำเนิดไฟฟ้าก็จะหมุนไป เมื่อหมุนด้วยความเร็วก็จะสร้างกระแสไฟฟ้าออกมา ก็เอากระแสไฟฟ้านี้ไปใช้ (เรื่องนี้ คอน อธิบายดีกว่าผม)


ชาลีกับเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ

คุณผู้ชายที่เราเห็นนั่นคือคุณชาลี เจ้าหน้าที่เหมืองแร่เก่าแก่ ของคุณลุงสมศักดิ์ ปัจจุบันมาทำหน้าที่ดูแลกิจการ ช่วยคุณป้าเกล็นสารพัดเรื่อง คุณชาลีเป็นคนมหาสารคาม เมื่อรู้ว่าผมมาจากขอนแก่นก็ให้ความเป็นกันเองสูง ถามอะไรก็ขยายความจนละเอียดลออ หมดจด หมดสิ้น สมใจอยากทีเดียว คุณชาลีบอกว่า อุปกรณ์ทุกอย่างดัดแปลงมาจากวัสดุ อุปกรณ์เหมืองแร่เก่าๆทั้งหลาย ไม่ได้ซื้อหามาใหม่แต่อย่างใด การทดรอบการหมุนของกังหันไปสู่ generator นั้นก็ทำกันแบบลูกทุ่ง ไม่ได้เอาวิศวกรที่ไหนมาคำนวณหาค่าสูงสุดของพลังงาน ก็พอได้ ปริมาณไฟฟ้าที่ได้ก็พอใช้ ยิ่งฤดูน้ำหลากมากๆ เปิดทั้งวันทั้งคืนก็ได้ไฟพอใช้ คุณชาลีบอกว่า ระดับความต่างของฝายเก็บน้ำกับกังหันนี้ประมาณ 4-7 เมตรเท่านั้น

ผมเองสังเกตตอนหลังสามทุ่มที่ใช้เครื่องพลังน้ำนี้ปั่นไฟฟ้านั้น กระแสไฟอ่อน หลอดไฟประหยัดบางหลอดไม่ติด แต่น่าจะเป็นเพราะปริมาณน้ำที่ป้าเกล็นต้องประหยัด เอามาใช้แต่พอสมควร


ผลงานที่ได้จากเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ

ดูอาเจ๊ใช้ไฟฟ้าจากพลังน้ำทำงานคอมพิวเตอร์บนที่นอนซิ มีไฟฟ้าให้แสงสว่างเพียงพอ เราทดสอบแล้วรู้สึกพอใจมากกับแนวคิดนี้ เห็นว่าคนข้างกายจะหอบทีมงานที่มีวิศวไฟฟ้าไปดูกับตาอีกในไม่ช้านี้ เอากะแม่ซิ…

ความจริงผมก็คิดมานานแล้วเรื่องพลังงานทดแทน แต่มาสะกิดใจเอาตอนมาเห็นกับตานี่แหละ แหล่งน้ำที่ดงหลวงผมมีหลายต่อหลายแห่งที่ดีกว่าฝายเล็กๆของป้าเกล็น น้ำที่เอามาใช้สร้างพลังงานนี้ก็ไม่เสียเปล่า สามารถเอาไปใช้เพื่อการเกษตรได้อีก …

นี่เป็นประกายที่เกิดจากการเที่ยว…และหยิบเอามาคิดต่อ

นี่เป็นประกายเอาไปเสนอต่อโครงการเพื่อทำนำร่องในชนบทอีสานต่อ ใครสนใจก็เชิญซักถามรายละเอียดกับคุณชาลีได้นะครับ โดยเข้าไปที่ web ของป้าเกล็นนั่นแหละครับ



ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..2

320 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 เวลา 15:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11017

จากเขื่อนเรามุ่งตรงไปที่ ต.ปิล๊อก ซึ่งเป็นเขตชายแดนไทย-พม่า ติดกับเมืองทวาย มะริด เย สะเทิม มะละแหม่ง มีสถานที่สำคัญคือ สำนักงานอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งที่พักของชาวเต็นท์และที่เดินทางมาด้วยรถเก๋ง เลยไปจะเป็นบ้านอีต่อง ซึ่งติดชายแดนเลย ที่นี่จะมีสถานีก๊าซที่ต่อท่อมาจากพม่าที่โด่งดังมาแล้วเพราะระหว่างก่อสร้างขนส่งท่อก๊าซไปใช้ในประเทศไทยนั้นถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ฯมากมาย



ระหว่างทางไปอีต่องและเหมืองแร่นั้นมีที่พักรถและชมวิว กว้างขวาง จอดรถได้หลายคัน เราก็ลงดูแผนที่ ทิวทัศน์รอบข้าง สวยงาม ถนนช่วงนี้จนไปถึงอีต่องนับว่าใช้ได้ เป็นถนนลาดยางแม้จะคับแคบไปสักนิด แต่การจราจรไม่คับคั่ง จำได้ว่าตลอกเส้นทางเกือบร้อยกิโลเมตรนั้นมีรถสวนทางกันไม่ถึงสิบคัน


ก่อนถึงหมู่บ้านอีต่องจะเป็นสถานีตำรวจอีต่อง คดีต่างๆไม่มี ตำรวจก็ไม่มีอะไรทำจริงๆ.. นั่งตบยุงไปวันๆ เงียบจนนึกว่าไม่มีใครอยู่  ก่อนถึงสถานีตำรวจนี้มีทางลงเขาซ้ายมือบอกว่าไปเมืองแร่สมศักดิ์ เป็นอันว่าถนนดำก็สิ้นสุดลงตรงนี้ ต่อไปนี้เป็นถนนดิน ก้อนกรวด ลูกรัง และลาดชัน ซึ่งทางเหมืองแร่บอกกล่าวผู้มาเที่ยวไว้ก่อนแล้วว่า หากเอารถเก๋งมาเองก็ให้ไปจอดที่สถานีตำรวจอีต่อง ทางเหมืองจะเอารถ 4WD ไปรับ ส่วนใครที่เอา 4WD มาเองก็ลงไปได้แต่ระมัดระวังด้วยตลอดระยะทางประมาณ 5 กม.
นี้เป็นการทดสอบรถ ทดสอบคนขับรถ

ผมเองเคยคุ้นชินเส้นทางแบบนี้ตั้งแต่สมัยทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่มาแล้วก็ตื่นเต้นนิดหน่อยเพราะเป็นเส้นทางใหม่ที่มาเป็นครั้งแรก แต่ใจนึกว่า โชคดีที่ฝนไม่ตกเพราะหากฝนตกสภาพถนนที่เต็มไปด้วยกรวด หินที่ไม่ได้เทปูนหรือลาดยางนั้นมันกลิ้งไปมาตามแรงหมุนของล้อรถ และลื่น ไถลไปข้างๆได้ง่ายหากบังคับรถไม่ถูกต้องตามหลักการใช้ การขับเคลื่อน 4 ล้อ คนที่ไม่เคยผ่านเส้นทางแบบนี้ก็หวาดเสียวพอได้ยินเสียงกรี๊ดกร๊าดได้แน่นอน บางช่วงความลาดชันน่ากลัวไม่ว่าลงหรือขึ้น ยิ่งหากมีรถสวนทางกันละก็ ต้องใช้ฝีมือกันเชียวหละ


รถที่จะมาเหมืองแร่ต้องเป็น 4WD เท่านั้น ก่อนมาควรตรวจสภาพการใช้งานการขับเคลื่อนสี่ล้อก่อน ตรวจสภาพยางทั้ง 4 ล้อ เบรกและควรตรวจสอบยางอะไหล่และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับกรณีฉุกเฉินต่างๆคนรักรถย่อมรู้ดี

หลังจากที่ผมลงไปถึงเหมืองแล้ววันต่อมามีนักธุรกิจจากบุรีรัมย์ พาลูกสาวสองคนลูกชายหนึ่งคนลงมาที่เหมืองด้วย Fortuner ตอนขาขึ้น มาขอความรู้วิธีใช้เกียร์ Low แกบอกว่าตั้งแต่ซื้อมาไม่เคยใช้เกียร์ Low เลย ที่มานี่ก็เพราะลูกสาวอ้อนวอนให้พามาหน่อย อยากมา จองห้องพักไม่ได้ แต่ก็อยากมาโชคดีที่มีคนเชคเอ้าท์ไปก่อน 4 คนพอดี


คุณชาลี ลูกน้องป้าเกล็นก็เล่าให้ฟังว่า มีบางคนซื้อรถประเภท 4WD มาแล้วไม่เคยใช้เลยและไม่ตรวจสภาพรถก่อนลงมาเหมืองแร่ พอมาถึงขาขึ้นต้องใช้ HighLow พบว่าใช้ไม่ได้ เพราะไม่เคยใช้ น้ำมันหล่อลื่นแห้งไปหมดแล้ว….

สำหรับกลุ่ม OffRoad คงชอบมากๆที่จะมาที่นี่ ได้ลุยสมใจอยากละครับ โดยเฉพาะหน้าฝน..

สำหรับผมเหมือนกลับไปสะเมิงเมื่อ สมัยปี 2518 เลยครับ


ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..

344 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 7027

คนข้างกายผมงานเข้าตลอดปีตลอดชาติ ห้องนอนคือห้องทำงาน ที่หลับบ่อยๆคือบนเก้าอี้ จนพังไปหลายตัวแล้ว ปกติเธอทำงานไปก็เปิดทีวีดูละเม็งละครไป น้ำหูน้ำตาไหลก็บ่อย เมื่อเธอเห็นรายการแนะนำสถานที่เที่ยวก็จะไปเที่ยวเสียทุกที่ ที่นั่นก็อยากไป ที่นี่ก็อยากไป แต่จริงๆไม่เคยว่างเลย

มาคราวนี้นัดกับลูกสาวไว้ว่าจะพาเที่ยว โดยแม่เป็นคนเลือกสถานที่ เธอบอกว่าไป ปิล๊อก…

ผมได้ยินมานานแล้วตั้งแต่เด็กๆว่าที่นี่คือเหมืองแร่ ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้มาปิล๊อก ผมเข้า Web www.parglen.com
จองที่พักเสียแต่เนิ่นๆ ทราบว่ามีคนเที่ยวมากโดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากเหมืองมาอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้ยืนยันการเดินทาง เพราะหากไม่ไปเขาจะได้เอาคนอื่นที่ต้องการไปเที่ยวเข้าพักแทน…


ผมเองก็สนใจเพราะ ได้พาครอบครัวเที่ยวพร้อมๆกัน และอยากมาชายแดนตะวันตกบ้างยิ่งเป็นชายแดนไทยพม่ายิ่งสนใจเพราะดูแผนที่หลายครั้งแล้วว่าน่าเที่ยวเพราะเป็นเขตภูเขา ผมชอบภูเขาครับ แต่ก็ไม่รังเกียจทะเล

เช่นเคย..กว่าจะหลุดออกจากกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรได้ก็เล่นเอาสุดเบื่อ คนบ้านนอกขอนแก่นอย่างเรานั้น แม้จะมีรถติดบ้างก็ไม่เท่าในกรุงเทพฯ ที่คลานกระดึ๊บกระดึ๊บเสียพลังงานมหาศาล ที่เสียมากกว่าคือความรู้สึก.. แต่เอาเถอะจะไปเที่ยวแล้วก็ทำใจให้สนุกสนานดีกว่า..อิอิ

ปิล็อกอยู่ตรงไหน: หากท่านชอบดูแผนที่ประเทศไทยก็นึกถึงซีกตะวันตกของประเทศ ตรงชายแดนไทยต่อกับพม่า เลยตัวจังหวัดกาญจนบุรีไปที่ อ.ทองผาภูมิ


เดินทางทรหด: กว่าจะหลุดกรุงเทพฯเข้าสู่นครปฐมเข้าสู่เมืองกาญจนบุรีก็ลุ้นแทบแย่เพราะเป็นวันหยุดยาวใครต่อใครก็ออกต่างจังหวัดกันทั้งนั้น ผมนั้นยิงยาวไปเมืองกาญจนบุรีต่อไปทองผาภูมิเพราะใจสั่งว่าควรใช้เวลาให้มากที่สุดที่เหมืองแร่
จากทองผาภูมิไปสังขละนั้นต้องเลี้ยวซ้าย แต่เราตรงไปเพื่อไปปิล๊อกเป้าหมายของเรา เลยทางแยกนี้นิดเดียวเราก็แวะเที่ยวเขื่อนเขาแหลมเพื่อพักรถคู่ใจและชื่นชมวิวสวยๆของน้ำเหนือเขื่อน เมื่อมาเห็นแล้วก็หวาดเสียวครับ เพราะตัวเขื่อนสูงกว่าอำเภอทองผาภูมิและเมืองกาญจนบุรีมากทีเดียว คิดเล่นๆว่าหากเขื่อนพังไปละก็ พลังน้ำมหาศาลนั้นจะกวาดบ้านเรือนผู้คนไปมากมายมหาศาลทีเดียว ยิ่งทราบว่าแถบนี้มีรอยเลื่อนสังขละบุรีด้วยแล้ว ภาวะนาอย่าให้เกิดเลย มีคนต่างถิ่นมาเที่ยวเหมือนเรา สองสามคัน



เราสอบถามยามหน้าปากทางเข้าเขื่อนถึงเส้นทางและระยะทางไปเหมืองปิล๊อก พร้อมกับดูแผนที่ที่ผมเตรียมไปแล้ว ก็ได้คำอธิบายแจ่มแจ้ง ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มคุยกันว่านี่แหละ กฟผ. มืออาชีพเขาฝึกเจ้าหน้าที่เขาเยี่ยมจริงๆ ขอชม กฟผ.ครับ



เฮฮาศาสตร์.. เจ้าเป็นไผ

378 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 เวลา 16:58 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8912

อาสายกร่าง สรุปตัวตนเฮฮาศาสตร์ เจ้าเป็นไผ ให้ทุกท่านช่วยต่อเติมเสริมแต่ง เพื่อใส่ใน เจ้าเป็นไผ๑ ครับ

เฮฮาศาสตร์รวมตัวกันอย่างไร

นับตั้งแต่ “การจัดการความรู้” (KM) เป็นหลักการที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในสังคมแล้ว นั้น รูปแบบการจัดการก็พัฒนาอย่างหลากหลายมากขึ้น รูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันคือ บล็อก สมาชิกที่ใช้บล็อกบันทึกเรื่องราว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แวะอ่าน ทักทาย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนถูกคอกัน จึงขยับจากโลกเสมือนอันเชื่อมโยงสมาชิกข้ามระยะทาง และข้อจำกัดของเวลา สู่โลกความเป็นจริงของกิจกรรมกลุ่ม เสริมสร้างความผูกพันระหว่างกัน

เป็นการรวมตัวกันแบบธรรมชาติ ต่างมีอิสรเสรีภาพ เป็นตัวของตัวเอง เอาความเป็นคนคนหนึ่งเข้ามาหากันมิได้มาด้วยยศฐาบรรดาศักดิ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะ หัวโต ตัวเล็ก ขี้เหร่ ความหล่อ ความสวย เพศ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่เงื่อนไขของการมารวมกลุ่ม หรือกล่าวโดยสรุปรวมก็คือ รวมกันด้วยใจนั่นเอง

ทำไมต้องเฮฮาศาสตร์

ทุกคนจำเจกับระบบ ไม่ว่าราชการหรือธุรกิจ หรือองค์กรอื่นๆ อยากสัมผัสอะไรที่ง่ายๆ กันเอง ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้สาระ เอาใจว่ากัน สนุกสนานก็มีสาระได้ ไม่เครียดไม่ผูกมัดแต่รับผิดชอบ ยืดหยุ่น สัมพันธ์กันด้วยลักษณะทางวัฒนธรรมพื้นๆของสังคมแต่ไม่ใช่ระเบียบ ข้อบังคับ หรือการขึ้นต่อ หากกลุ่มตกลงทำร่วมกันก็ทำ ก็ขอเรียกว่าเฮฮาศาสตร์

เฮฮาศาสตร์คือองค์กรแบบไหน

เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่องค์กรแบบปกติทั่วไป (Formal Organization) ที่มีโครงสร้างบุคลากรเป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ เรียกกันว่า Organization chart เช่น มีผู้มีตำแหน่งสูงสุด แล้วลดหลั่นกันลงมา มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน เช่น องค์กรในระบบราชการ องค์กรบริษัท ระบบธุรกิจต่างๆ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรที่ไม่มีโครงสร้าง เป็น Un-Structural Organization หรือ Non-Formal Organization ไม่มีชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ไม่มี Organization chart ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน

แต่เฮฮาศาสตร์ “มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง” ความหมายคือ กลุ่มจัดรูปของกลุ่มตามฐานความรู้ ความสามารถ ความถนัด จัดเจน เฉพาะที่ปรากฏออกมาในระหว่างสมาชิกในกลุ่ม และเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยาย ตามการแสดงออก ตามการนำ ตามการศรัทธา นี่แหละเป็นโครงสร้างแบบดั้งเดิมของสังคมเรา

อธิบายขยายความได้ดังนี้ ย้อยหลังไปรัชการที่ 5 ก่อนที่ระบบราชการจะเข้าไปสู่สังคมชนบทนั้น สังคมชนบทอยู่ร่วมกันแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ ไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีอนามัยตำบล ไม่มีผู้ช่วยฯ ไม่มีสารวัตร ไม่มีตำรวจ ฯลฯ แต่สังคมชนบทมีหมอพื้นบ้าน มีช่างไม้ ช่างหล่อ มีผู้ทำพิธีกรรมพื้นบ้าน ผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ทางอีสานก็มี เจ้าโคตร เฒ่าจ้ำ หมอธรรม หมอเป่า หมอนวด นางเทียม ฯลฯ ทุกภูมิภาคไม่ว่าเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ทุกชุมชนจะมีบุคลากรเหล่านี้อยู่ ซึ่งต่างก็มีบทบาทในสังคมนั้น ๆ และระหว่างชุมชนที่เราเรียกท้องถิ่น ต่างอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน มิได้ใช้เงินทองมาเป็นสื่อกลางในการพึ่งพาว่าจ้าง มีน้ำใจแก่กันและกัน เคารพ ยอมรับและมีมารยาทระหว่างกันที่เราเรียกว่ารวม ๆ ว่าวัฒนธรรมชุมชน หรือวิถีชุมชน

ภาพชนบทดั้งเดิมดังกล่าวเราเรียกว่าเป็น Local structure หรือ Traditional structure และซ่อนตัวอยู่ในสังคมปัจจุบันที่เอาโครงสร้างระบบราชการที่เรียกว่า การปกครองท้องถิ่นเข้าไป โครงสร้างดั้งเดิมเหล่านั้นก็ถูกลดบทบาทลง และเลือนจางหายไปกับกาลเวลา มากน้อย แล้วแต่ปัจจัย เช่น ความเข้มแข็งของระบบดั้งเดิมของบางชุมชนยังหนาแน่นเพราะมีบุคลากรของชุมชนเป็นผู้มีบารมี ทั้งชุมชนยอมรับนับถือ เคารพ หรือปัจจัยที่นักสังคมศาสตร์มักเรียกว่า ความเข้มข้นของระบบดั้งเดิม อาจดูจากระยะห่างของที่ตั้งหมู่บ้านนั้นกับศูนย์กลางอำนาจ (Periphery theory) แต่หลักการนี้ด้อยลงไปมากเมื่อระยะทางในสมัยก่อนถูกลดลงด้วยระบบการสื่อสารยุคดิจิตอลในปัจจุบัน ในป่าในเขาก็สามารถรับรู้เรื่องไข้หวัด H1N1 ได้พร้อมๆกับในเมืองและทั่วโลก

เวลาเราเข้าไปทำงานในชุมชนเราจะวิเคราะห์โครงสร้างชุมชนด้วยสองมิติ คือ มิติสมัยใหม่ หมายถึงระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งเปิดเผยชัดเจน เห็นชัดจับต้องได้ มีสถิติ มีการจดบันทึก มีรายงาน ฯ อีกมิติคือ ระบบโครงสร้างเดิมของชุมชน ใครคือเจ้าโคตร ใครคือเฒ่าจ้ำ ใครคือหมอธรรม ใครคือหมอนวด ใครคือช่าง ใครคือผู้นำจิตวิญญาณ เราหาตัวได้อย่างไรมีหลายวิธี นักวิชาการก็ใช้ Sociogram

บทบาทของโครงสร้างนี้ในสังคมชุมชนมีบทบาทไม่แพ้โครงสร้างทางระบบการปกครองท้องถิ่น ใครทำงานกับชุมชนแล้วไม่เข้าใจมิตินี้ก็ทำงานยากสักหน่อย

เฮฮาศาสตร์จำลองภาพโครงสร้างสังคมเดิมนี้มา หรือมีลักษณะที่ใกล้เคียงมาก และหากเราจะทำ Sociogram ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เราก็จะพบว่า ใครมีปัญหาเรื่อง บล็อก คอมพิวเตอร์ ก็ต้องวิ่งไปหา คอน เม้ง โสทร ใครมีคำถามเรื่องสมุนไพรก็ต้องแวะไปจีบป้าจุ๋ม ใครอยากสนทนาเรื่องการส่งเสริมการเกษตรก็ต้องน้องสิงห์ป่าสัก และหากจะถามว่าทั้งกลุ่มยอมรับใคร ศรัทธาใครในลักษณะนำก็ต้องพ่อครูบาฯ ลุงเอก เป็นต้น การยอมรับเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องแต่งตั้ง แต่ไม่มีโครงสร้าง แต่มีการยอมรับในความรู้ความสามารถ ซึ่งคล้ายๆบทบาทหน้าที่โดยธรรมชาติต่อกลุ่ม

เป้าหมายเฮฮาศาสตร์เพื่ออะไร

ถ้าจะดูพัฒนาการของกลุ่มเฮฮาศาสตร์จะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาโดยใคร หน่วยงานไหน ฯ จึงไม่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ไม่มีเป้าหมายเฉพาะ แต่เฮฮาศาสตร์เกิดจากการค่อยพัฒนาความสัมพันธ์ จากบันทึกมาสู่รูปแบบกลุ่มก้อนของคนถูกคอกัน แบบหลวมๆ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ใดๆในปัจจุบัน เป็นเพียงการเริ่มต้น และกำลังเดินทางไปสู่อนาคตที่ยังไม่ได้กำหนด แต่ทุกคนมองเห็นกว้างๆร่วมกันว่า เพื่อกันและกัน จากแคบสู่กว้าง จากปัจเจกสู่สังคม ทุกย่างก้าวในห้วงเวลาที่เคลื่อนตัวไป เฮฮาศาสตร์กำลัง Formulate ตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป แบบธรรมชาติ ไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่มีกำหนดเวลา แต่กลุ่มคิดอ่านทำกิจกรรมร่วมกันตามจังหวะแห่งความลงตัวของตัวเอง น้อยมากไม่สำคัญ ใหญ่เล็ก ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การเสริมสร้าง หนุนเนื่องกำลังใจและศักยภาพแก่กันและกันนั้นเป็นสาระที่กลุ่มเลือกที่จะทำ ตามความเห็นชอบร่วม อาจกล่าวว่าเพื่อสมาชิก เพื่อกลุ่มที่หลวมๆ เพื่อสังคมนี่คือแนวทางที่เป็นไป ปล่อยให้การเคลื่อนตัวและเวลาในอนาคตเกิดการปรับตัวไปสู่สภาพที่เหมาะสมที่สุดของความเป็นเฮฮาศาสตร์

ศักยภาพของเฮฮาศาสตร์

การเป็นเฮฮาศาสตร์แบบไม่มีโครงสร้างเหมือนรูปแบบองค์กรทั่วไปนั้น เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาพัฒนาการจากเริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบันนั้น เฮฮาศาสตร์เกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร ความไม่ติดยึดต่างๆนั้น เป็นลักษณะที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งมองว่าน่าจะส่งผลให้มีการปรับตัวได้สูง หากต้องการการปรับตัว แต่สุมเสี่ยงต่อการทำกิจกรรมร่วมกันที่มีความซับซ้อนมาก

กรณีเมื่อกลุ่มมีภารกิจงานที่มีความซับซ้อนที่ต้องการความจัดเจนต่องานนั้นๆ ก็สุ่มเสี่ยงหากกิจกรรมนั้นๆอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดต่างๆ เช่นเวลาที่จำกัด ย้อนไปนึกถึงสังคมดั้งเดิมจะจัดงานใหญ่ เช่น งานศพ หรืองานโกนจุก บวชนาค ในหมู่บ้านนั้น จะมี “แม่งาน” เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งก็คือ เจ้าภาพนั่นเองหรือญาติสนิทของเจ้าภาพ ก็จะปรึกษาหารือกันว่างานมีอะไรบ้างที่ต้องทำ ขนาด จำนวน เวลา ฯ จะทำได้อย่างไร ก็ต้องไหว้วานญาติสนิท เพื่อนบ้านที่สนิท หรือ เพื่อนบ้านที่เป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ เช่นจะทำขนมหม้อแกงต้องป้าจุ๋ม จะแกงเผ็ดเป็ดย่างต้องแม่สร้อย จะทำห่อหมกต้องแม่เบิร์ด จะจัดอาสนะสำหรับพระมาสวดมาเทศน์ ต้องพ่อเหลียง จะหุงข้าวกระทะใบบัวต้องตาจอมป่วน จะประดิษฐ์ประดอยดอกไม้ถวายพระต้องตาออต เหล่านี้เป็นต้น ก็ไปเชิญมา บอกกล่าวมา หรือบางทีไม่ต้องบอกเขาเหล่านั้นก็มาโดยอัตโนมัติ รู้งาน จิตอาสา เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ดูซิงานที่ซับซ้อนไม่มีองค์กรโครงสร้างก็จัดได้ ทำได้ สำเร็จลงได้ด้วยความเป็นชุมชนแบบหมู่บ้าน

เฮฮาศาสตร์กำลังปรับตัวจำลองภาพชุมชนดั้งเดิม แต่น่าจะดีกว่า เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคสังคมโบราณ สามารถดัดแปลงความรู้ความสามารถสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ เฮฮาศาสตร์เป็นสังคมพิเศษของยุคสมัย เป็น Cyber community เป็นชุมชนเสมือน เราพบปะกันทุกวันบนตัวอักษร แม้ความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ ไม่เหมือนชุมชนดั้งเดิมจริงที่สัมพันธ์กันแบบคลุกคลีถึงตัวกันทุกวัน ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงแนบแน่นกว่าหลายเท่าตัว เฮฮาศาสตร์ก็น่าจะพัฒนาไปในทิศทางนั้น

ดูเพิ่มเติมได้ที่



Main: 0.20831608772278 sec
Sidebar: 0.076852083206177 sec