ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..เกริ่น..

586 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:30 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 3962

เป็นบุญเหลือเกินที่ได้มาฟังท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม มาบรรยายท่ามกลางของจริงต่อหน้าในเรื่องการจัดการน้ำในสังคมโบราณและปัจจุบัน


ท่านอาจารย์ เป็นคนเรียบง่าย ท่านมีอายุ  70 ปีแล้ว แม้จะต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงยามเดินเหิน แต่ก็แข็งแรง

ระหว่างนั่งรถไปไหนต่อไหน สมาชิกในรถนั่งหลับกัน แต่ท่านไม่หลับ แถมคุยประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นของท่านต่อเรื่องต่างๆตลอดทาง เล่นเอาผม ทึ่งในตัวท่านจริงๆ

หลายเรื่องเป็นความสำคัญระดับประเทศ เช่น ความคิดเห็นของท่านต่อเขาพระวิหาร ต่อข้อมูลที่ทัวร์ไกด์ส่งต่ออย่างผิดๆให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาชมโบราณสถานต่างๆ เช่นที่พิมาย พนมรุ้ง … ล้วนเป็นประเด็นที่สังคมไทยน่าที่จะหาข้อสรุป มิใช่ปล่อยให้ความต่างไม่มีข้อสรุป ซึ่งหากการส่งต่อข้อมูลนั้นๆของทัวร์ไกด์ไม่ถูกต้อง นั่นคือความล้มเหลวของ ททท. และระบบการผลิตบุคลากรที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนชาติเช่น ทัวร์ไกด์ …

บางเรื่องทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นในเรื่องมุมมองต่อภูมิภาคนี้ ต่อชุมชนต่างๆที่เข้าไปทำงานด้วย และเกิดความเข้าใจภารกิจของสหวิทยาการมากขึ้น

…ฯลฯ

มีหลายประการที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนในเรื่องการจัดการน้ำ

มีบางประการมาตอกย้ำข้อสรุปเรื่องคุณสมบัติของประชาชนในระบบภูมินิเวศวัฒนธรรมที่ผมมีที่ดงหลวง

——

…หากคุณไม่แสวงหาก็ไม่มีทางได้พบ..

(ยังไม่มีเวลาสรุปครับ)


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 15 บูรณาการทีมงาน

131 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:53 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4120

ภาพเก่าเล่าเรื่อง 15 บูรณาการทีมงาน

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

————-

งานหลักของเราที่สำคัญงานหนึ่งคือการสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งเราเลือกเป็นชนิดเครดิตยูเนี่ยนที่มีสภาคริสจักร์แห่งประเทศไทยเป็นผู้นำเข้ามาและจัดตั้งสันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยทำงานสนับสนุนไปทั่วประเทศ


เราตระเวนขายความคิดนี้ตลอดทั้งปีทั่วทุกหมู่บ้านทั้ง 4 ตำบล โดยใช้วิธีออกไปประชุมชาวบ้านยามกลางคืน คุย คุย คุย มากกว่า 7-8 ครั้งต่อหมู่บ้าน ก่อนที่จะมั่นใจว่า เข้าใจ และสนใจเราจึงจะจัดตั้งขึ้นมา

รูปที่เห็นนั้นคือทีมงานของโครงการและทีมงานของ สันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยที่ตระเวนไปคุยกับชาวบ้านร่วมกับเรา โดยใช้รถมอเตอร์ไซด์ที่เห็นนั่นแหละ ส่วนฝรั่งคนนั้นเป็นอาสาสมัครชาวเยอรมันที่มาศึกษาชุมชนพักหนึ่งแล้วก็กลับไป ดูเขาจะสนใจมวยไทยมากกว่าชนบท เพราะเขาลงทุนไปเรียนมวยไทยที่กรุงเทพฯอยู่สามเดือน

เรามีกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนทั้งหมด 27 กลุ่มใน 4 ตำบล จากปี พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบันรูปแบบกลุ่มปรับเปลี่ยนไป เป็นการยุบรวมเป็นกลุ่มระดับตำบล ซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่า ชนบทไกลปืนเที่ยงเยี่ยงสะเมิงนั้นจะมีนิสัยการออมและมีเงินมากขนาดนี้

อาจเป็นเพราะจิตตารมณ์ 5 ประการ หรือหลักการรวมกลุ่มของเครดิตยูเนี่ยนที่เน้น ความซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ ไว้วางใจกัน กลุ่มจึงเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มอื่นๆล้มหายตายจากไปนานแสนนานแล้ว…

อาจเป็นเพราะเราตอกย้ำความเข้าใจต่อหลักการจนอิ่มจึงจัดตั้งกลุ่ม มิใช่ประชุมเช้าตั้งกลุ่มตอนบ่าย แต่เราใช้เวลาตลอดทั้งปีให้ความรู้ความเข้าใจจนถึงแก่นแท้ ทะลุปรุโปร่ง จนแน่ใจแล้วจึงตั้งกลุ่มขึ้นมา แล้วเราก็เป็นพี่เลี้ยงต่ออีก 5 ปี..

นี่เองที่ผมมีความคล่องในการขับรถมอเตอร์ไซด์ เพราะขับจากบ้านนี้ไปบ้านโน้นวนเวียนในป่าเขาตลอดทั้งปี ค่ำไหนนอนนั่น กินกับชาวบ้าน นอนกับชาวบ้านแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านจนเขาเรียกเป็นลูกเป็นแม่ เป็นพ่อกันทั้งนั้น…

เอ..หมดงานพัฒนานี่ผมไปสมัครเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างได้สบายเลยนะเนี่ย อิอิ..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 13 ยอดภู

27 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1351

สะเมิงเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูเขา สมัยนั้นไม่มีถนนดำ หรือที่ลาดยางเลย หมู่บ้านจะเกาะกลุ่มกันตามพื้นที่หุบเขา ที่มีพื้นที่มากน้อยแตกต่างกัน บางหมู่บ้านจะต้องข้ามภูเขาไป และแน่นอนระหว่างตำบลก็จะมีภูเขาขวางกั้น


มอเตอร์ไซด์จึงเหมาะสมที่สุดที่จะใช้เป็นยานพาหนะ เพื่อทำงานในโครงการนี้ พวกเราเองก็เป็นวัยรุ่น การขับมอเตอร์ไซด์ขึ้นดอย ลงดอย จึงคุ้นชินจนเป็นปกติ บ่อยครั้งที่เราหยุดรถบนยอดเขาแล้วมองกลับลงไปในหมู่บ้าน ไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน เถียงนา และทิวเขาไกลลิบโน้น สร้างบรรยากาศ และจินตนาการมากมายทีเดียว อากาศเย็นสบาย และวัฒนธรรมชุมชนที่เปิด แม้กับคนต่างถิ่นอย่างเรา เป็นชีวิตที่มีความสุข

บางช่วงฤดู เราชอบที่จะหยุดที่ยอดเขาเพื่อดูเมฆปกคลุมหมู่บ้านเบื้องล่างเสียมิด เหมือนเราอยู่บนสวรรค์ คิดถึงสะเมิง..


Contrast of Light: Contrast of Life

26 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:44 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1225

เป็นคนที่ค่อนข้างชอบภาพประเภทนี้ ภาพที่สีตัดกัน

มันมีความชัดเจน เด่นโดด และขมุกขมัวอยู่ในเฟรมเดียวกัน

เอ..นักแปลความหมายคงอธิบายอะไรเป็นตุเป็นตะ..

ย้อนมองดูตัวเอง

วิถีชีวิตก็อยู่ระหว่างชนบทและเมือง

สลับไปมาเช่นนี้แบบครึ่งต่อครึ่ง

จึงเป็นชีวิตที่มีคำถามมากจริงๆ


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 11 กล้วยอบสะเมิง

1320 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 76310

สถานที่: สะเมิง

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2523

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

พื้นที่สะเมิงนั้นอาชีพหลักคือการทำนาปีข้าวเหนียว และข้าวไร่ตามไหล่เขา หลังนาก็ปลูกกระเทียม ซึ่งขึ้นชื่อว่าคุณภาพดี เพราะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี กระเทียมที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือใช้ปุ๋ยมูลสัตว์นั้นเก็บเอาไว้นานๆจะไม่ฝ่อ เหมาะเอาไปทำพันธุ์ต่อ สรรพคุณทางยาก็มีมากกว่า นอกจากนี้มีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ข้าวโพดพื้นบ้าน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา ฯลฯ พืชเศรษฐกิจที่ทำเป็นแบบ Contract farming คือยาสูบพันธุ์เวอจิเนีย และที่ขาดไม่ได้คือกล้วยน้ำว้า


ชาวสะเมิงมีทั้งคนเมืองและชนเผ่าไทยลื้อ นอกนั้นก็เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากเป็นม้งกับปกากะญอ กล้วยที่สะเมิงลูกใหญ่ หวาน ดก เพราะดินภูเขาดีมาก อาชีพที่สำหนึ่งคือการทำกล้วยอบขาย

เราเคยได้ยินกล้วยตาก แต่ที่สะเมิงเป็นกล้วยอบ เพราะใช้วิธีอบในเตา เกษตรกรเรียนรู้และดัดแปลงมาจากอาคารอบ หรือบ่มใบยาสูบนั่นเอง โดยสร้างอาคารเล็กๆขึ้น ภายในอาคารปิดด้วยดินที่มีโครงด้านในเป็นไม้ไผ่สาน ทึบ แบ่งป็นสองชั้น ชั้นล่างเกือบติดพื้นดิน เว้นไว้สำหรับเอาฟืนท่อนใหญ่ๆใส่เข้าไปได้ ชั้นบนแบ่งย่อยเป็นชั้นสำหรับใส่ตะแกรงอบกล้วย จะกี่ชั้นก็แล้วแต่การออกแบบของเจ้าบ้านนั้น

ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างแบ่ง หรือ กั้นด้วยแผ่นเหล็กชิ้นใหญ่ เพื่อใช้เผาพื้นด้านล่างแล้วให้เกิดความร้อนส่งแผ่ไปอบกล้วยที่อยู่บนชั้นต่างๆนั้น


ขั้นตอนการอบกล้วยนั้นเป็นความลับ(ทางราชการ)ที่มีเทคนิคเฉพาะของใครของมัน แต่โดยทั่วไปคือ คัดเลือกกล้วยที่เริ่มสุก และกล้วยเหล่านั้นจะไม่เอามาจากสวนที่มีต้นหญ้าคาขึ้น ชาวบ้านบอกว่า หากเอากล้วยจากสวนที่มีหญ้าคา จะทำให้กล้วยออกรสฝาดมากกว่า เอากล้วยมาปอกเปลือกลงในอ่างใหญ่ ล้างน้ำปูนเพราะ….

แล้วก็เอาไปเข้าเครื่องบีบให้แบนดังรูป แล้วก็เอาไปวางเรียงกันในตะแกรง มากเพียงพอสำหรับการอบครั้งหนึ่งๆ แล้วก็ปิดประตู ทำการก่อไฟเผาฟืนใส่เข้าไปด้านล่างของเตาอบนี้ ควบคุมความร้อนด้วยเทอร์โมมิเตอร์ ความร้อนเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ)

นานพอสมควรก็เปิดประตูเอาตะแกรงออกมากลับกล้วยเอาด้ายอื่นลงล่างบ้าง และสลับตะแกรงบนลงล่าง ล่างขึ้นบนบ้าง ดูแลฟืนให้มีตลอด นานเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ) เมื่อได้ที่ก็เอาออกมาทิ้งให้อุ่นๆบรรจุถุงพลาสติก ขาย

สมัยก่อน กก.ละ 10 บาท กินกันพุงกาง เดียวนี้แพงขึ้นไปเท่าไหร่แล้วไม่รู้…

กล้วยอบสะเมิงขึ้นชื่อว่ารสอร่อย สะอาด ออกจากเตาก็เข้าถุงเลย.. ไม่ได้ทิ้งให้แมลงวันตอม..

ใครเข้าสะเมิงละก็ถามหากล้วยอบนะครับ ที่บ้านศาลา หรือบ้าน ป่ากล้วยก็ได้ รับรองไม่ผิดหวังแน่ๆ..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 8 ทัศนศึกษากรุงเทพฯ

1408 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 16598

กิจกรรมการพัฒนานั้นมีมากมาย ล้วนแต่เป็นความคาดหวังที่จะก่อเกิดในสิ่งที่ดี แก่บุคคล แก่ชุมชน แก่กลุ่ม องค์กร หรือแม้แต่ส่งผลสะเทือนในระยะยาว


แต่ทั้งหมดนั้นก็ก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นด้วย เพราะไม่ได้คิดถึงส่วนนี้ หรือคิดไม่ถึง หรือไม่ระมัดระวัง หรือ ฯลฯ

สะเมิงเป็นเมืองปิด หรือกึ่งปิด(เหมือนดงหลวงช่วงที่ผมเข้าไปใหม่ๆ) เพราะชาวบ้านมีเวลาส่วนใหญ่อยู่กับท้องที่ท้องถิ่น เชื่อมต่อกับโลกภายนอกด้วยรถโดยสารที่มีจำกัด และวิทยุที่ฟังได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะทีวี เลิกกันเลย ทั้งอำเภออาจจะมีไม่ถึง 10 เครื่อง เพราะเป็นพื้นที่ภูเขา ไม่สามารถรับคลื่นได้ สมัยนั้นยังไม่มีระบบดาวเทียม…

ความหวังดีของเราก็คือ พาคณะแม่บ้าน และเยาวสตรีออกไปศึกษาดูงานในเมืองจนถึงกรุงเทพฯ โดยเชื่อมกับเพื่อนองค์กรพัฒนาเอกชนในเมือง เพื่อดูแหล่งสลัม ซึ่งก็คือพี่น้องจากชนบทที่มาอาศัยที่นี่เพื่อหางานทำ….

เราคิดในแง่ดี มีการเตรียมมาตัวมาก ก่อนการเดินทาง ระหว่างการเดินทาง และหลังการเดินทาง พูดคุยกันมากเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สภาพสังคมในมุมต่างๆ ในครั้งนั้นเรามีโอกาสติดต่อกับองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิสตรีที่ถูกกดขี่ เราเลือกกรณีขายบริการจำนวนหนึ่งที่มาทำงานในกรุงเทพฯ การพบปะพูดคุยกันมีการเตรียมการอย่างดี โดยภาพรวมก็ออกมาดี ใครต่อใครก็แสดงความเห็นว่า อยู่บ้านนอกเราดีกว่า ไม่มีเงินใช้แต่มีกิน ไม่ต้องดิ้นรน เผชิญปัญหาการกดขี่มากมายเช่นกรณีอาชีพนี้…

เราเดินทางกลับสะเมิง ต่างแยกย้ายกับกลับบ้าน….

……

ทุกอย่างก็เดินไปตามปกติ เราก็ออกตระเวนเยี่ยมเยือนพี่น้องกันตามแผนงาน..

แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น…. มีหญิงสาวในหมู่บ้านหายตัวไปสามคน..

ต่อมาทราบว่าเธอเหล่านั้นแอบหนีหมู่บ้านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปหากลุ่มสตรีที่ขายบริการนั้น..??

พระเจ้า….

กิจกรรมของเรามีส่วนเป็นการชี้โพรงให้กะรอกเสียแล้ว…..


ผู้ค้าเทคโนโลยี..

234 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 กรกฏาคม 2009 เวลา 14:43 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4913

เมื่อวันก่อนนั่งดูข่าวทีวีอยู่ดีดีหน้าจอก็ดำมืด ปลุกไม่ตื่นเลย มีแต่เสียง

ต้องอุ้มไปส่งร้านที่เราซื้อมาแผนกซ่อม ทิ้งไว้ 4 วันทางร้านโทรมาบอกว่า

..พี่ ทีวีรุ่นนี้เขาเลิกผลิตอะไหล่แล้ว..มาเอากลับไปได้เลย…!!!!

ถามเขาว่า ไม่มีอะไหล่เทียมเลยหรือ เขาบอกว่าที่ร้านเป็นตัวแทนจำหน่าย ใช้แต่ของแท้ ลองไปร้านซ่อมอื่นดู

ใช้เวลาไปถามร้านที่รับซ่อมทีวีเก่าแก่ของขอนแก่น ช่างบอกว่า..เอามาเลยพี่ จัดการให้ได้ ไม่มีปัญหา..

เรากลับไปร้านแรก บอกให้ช่างแบกไปใส่รถหน่อย ช่างยกมาใส่ท้ายรถแล้วก็บอกว่า

ช่าง: ….พี่มันเป็นที่ปลั๊กข้างในมันเสื่อม ไม่มีอะไหล่ แต่สามารถใช้วิธีเชื่อมได้ ทุกอย่างยังใช้ได้ เป็นแค่ตรงนี้เอง…

ผม: ..อ้าว..เป็นแค่นี้ทำไมไม่ซ่อมให้พี่ล่ะ..

ช่าง: ก็ทางร้านเขาบอกพี่ไปก่อนอย่างนั้น

ผม: อ้าว ..?.. แล้วซ่อมให้พี่ได้ไหมล่ะ..

ช่าง: ได้ครับ.

ผม:….????!!!!???? เง็งจริงๆ งั้นยกกลับคืนร้านเอาไปซ่อมให้พี่หน่อยนะ..

ช่าง: ได้ครับ แล้วก็ยกทีวีกลับคืนเข้าร้านไปอีกครั้ง..

เดาว่าค่าซ่อมคงไม่เกิน 500 บาท ดีกว่าไปซื้อเครื่องใหม่..

นึกถึงวันก่อน ไฟเลี้ยวที่กระจกมองหลังที่อยู่ข้างรถซ้ายขวาไม่ทำงาน เอาไปถามร้านประดับยนต์ เขาบอกว่า พี่ซ่อมไม่ได้ต้องเปลี่ยนกระจกใหม่ทั้งชุด(สองข้าง) ไปถามสามร้านก็ตอบเหมือนกัน เราเลยทิ้งไว้ไม่ซ่อม ไม่เปลี่ยน…ต่อมาลองเอาไปร้านประดับยนต์เก่าแก่ขอนแก่นร้านหนึ่งอยู่หน้าวัดศรีจันทร์ ให้เขาดู อาเจ๊…เมียเจ้าของร้าน ออกมารับ ถามปัญหาแล้วก็เดินไปจับกระจกมองหลังที่ไฟเลี้ยวไม่ทำงาน มองไปมาแล้วก็บอกว่า พี่ อาจเป็นเพราะสายไฟขาดก็ได้ ลองให้ช่างถอดดูไหม ผมก็ว่าเอาเลย…

ไม่นานเท่าไหร่ ช่างก็พยักหน้า บอกว่า สายไฟขาดจริงๆ เดี๋ยวเชื่อมให้ ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งชุด…. อาเจ๊ เดินมาบอกว่า เป็นแบบนี้หลายคันแล้ว บางร้านเขาไม่ดูจะเปลี่ยนใหม่ทั้งชุดลูกเดียว..

ผมเสียเงินไปแค่ 200 บาท แทนที่จะเสีย เกือบหมื่นบาท…

ธุรกิจเทคโนโลยีนั้น ร้านค้ามองเรา คือ ไอ้งั้งคนหนึ่ง

หรือ คนที่ร้านค้าจะรักษาผลประโยชน์ลูกค้าเพื่อซื้อใจ…

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงอาจารย์แฮนดี้ครับ เพราะท่านเป็นนักเทคโนโลยีพอเพียง

อย่างไรก็ตาม

ร้านประดับยนต์หน้าวัดศรีจันทร์ ได้ใจผมไปหมดแล้ว..

ช่างคนซ่อมทีวีคนนั้นก็ได้ใจผมไป เช่นกัน..


อาม่า..ข้าวพื้นบ้าน..ดงหลวง

15 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:50 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2988

ดูอาม่าเมื่อเช้าทำให้ย้ำความตั้งใจที่ทีมงานร่วมกันคิดไว้ว่า เรามาช่วยกันฟื้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน และขยายข้าวอินทรีย์ออกไปในพื้นที่โครงการ…


ปาลียน ส่งต่องานวิจัยแบบชาวบ้านไว้เรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่ดงหลวงไว้ น้องๆทีมงานก็สานงานต่อ และเราก็มีข้อสรุปครั้งที่หนึ่งไว้ว่า เป็นไปได้ที่เราจะเพิ่มผลผลิตข้าวในสภาพปกติ และเป็นข้าวอินทรีย์ ปีนี้เราก็ดำเนินการต่อเพื่อศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด..


ก่อนที่พี่น้องดงหลวงจะลงนาเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ทีมงานก็ไปเอาข้าว “เล้าแตก” และ “มะลิแดง” มาจากกาฬสินธุ์เพื่อมาให้พี่น้องดงหลวงขยายพันธุ์และเอาไปปลูกกันในปีต่อๆไป อาม่าบอกว่า ข้าวเล้าแตกมีคุณค่าเหมาะกับ สว.ทั้งหลาย และ…

เมื่อวันก่อนผมกับทีมงานก็ไปประสานงานกับสำนักงานชลประทานจังหวัดเพื่อแลกเปลี่ยนกันถึงแหล่งน้ำที่กรมชลประทานมาก่อสร้างไว้ในดงหลวง และการใช้ประโยชน์ เราก็แอบคิดในใจว่า พื้นที่ที่จะขยายพันธุ์ข้าวดังกล่าวควรจะอยู่ในพื้นที่ชลประทานเป็นอันดับแรก เพราะจะมีหลักประกันในเรื่องน้ำไว้ก่อน และต่อไปก็เป็นเกษตรกรที่มีสระน้ำประจำไร่นาที่สมัครใจ


หากโครงการต่อเฟสที่สองได้ คงต้องเตรียมเกษตรกรในเรื่องการเป็นแหล่งผลิตข้าวพื้นบ้านอินทรีย์ แต่ทั้งหมดนี้ต้องผ่าน กระบวนการ “ชุมชนสนทนา” (Community Dialogue) ก่อน…

ขอบคุณอาม่าครับ..



สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยพบ..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:55 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 748

ข้างบ้านมีต้นมะม่วง ซึ่งปล่อยตามธรรมชาติ ไม่ค่อยดูแลเท่าไหร่ แค่ให้บ้านมีต้นไม้เขียวๆ อยากตัดแต่งกิ่ง เธอก็บอกไม่ต้องทำ ผมก็เอากล้วยไม้ไปแขวนไว้ สาม สี่ กระถาง มีแมลงก็ไม่พ่นยาเคมีไล่ จึงไม่ค่อยได้กินผล ออกดอกดกมาก แต่ไม่ติดผล มีนกมาทำรัง ออกลูกแล้วก็เร่ร่อนไปตามประสาเขาบ่อยๆ


บ่ายวันหยุดวันหนึ่ง เดินไปดูกล้วยไม้ พบว่ามีใบไม้ใบหนึ่งเปื่อยจนเนื้อใบหลุดลุ่ยไปหมดแล้ว เหลือเพียงโครงกลางใบที่เรียกก้านใบคงสภาพอยู่ และบนก้านนั้นมีสิ่งประหลาดอยู่ 9 หน่วย ไม่รู้จักว่าเป็นพืชชนิดไหน เห็ดชนิดใด หรือ..? เพราะไม่เคยพบมาก่อน ตั้งใจว่าจะถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วก็ไปทำธุระอื่นจนลืมไปเสีย 1 สัปดาห์


เมื่อวันหยุดที่ผ่านมานึกขึ้นได้ก็คว้ากล้องไปถ่ายไว้ แต่ก็ไม่สามารถถ่ายสวยๆ ชัดๆได้ ก็ได้เท่าที่เห็น

เรียนชีววิทยามาก็คืนครูไปหมดแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทไหน….เอามาให้ดูกันเล่นๆครับ แต่แน่ใจว่ามันไม่เกี่ยวกับ เสื้อแดงเสื้อเหลือง ไม่เกี่ยวกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ไม่น่าจะเกี่ยวกับไข้หวัด 2009 และไม่ได้มาจากต่างดาวแน่ๆ

แต่น่าจะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ความพอดีของสิ่งแวดล้อม ที่เจ้าสิ่งมีชีวิตนี้เกิดขึ้นมา อิอิ…



ภาพเก่าเล่าเรื่อง 6 ยานพาหนะสมัยนั้น

896 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 14:47 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 16565

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

ปี พ.ศ. 2518-2522 นั้น ถนนมีแต่ฝุ่นกับโคลน ฝุ่นในฤดูแล้ง โคลนในฤดูฝน เวลาเราออกพื้นที่ ก็จะไปหลายวัน ไปหมู่บ้านไหนก็ค้างนอนกับบ้านชาวบ้าน อุปกรณ์ประจำของเราก็คือเป้ที่มีถุงนอน เสื้อ กางเกงและสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้



ระหว่างเดินทางจากบ้าน อมลอง ไปหาดส้มป่อย จะต้องผ่านแม่น้ำแม่ขาน ที่ฤดูแล้งชาวบ้านเอาต้นไม้ใหญ่ๆมาทำสะพานแบบหยาบๆให้รถปิคอัพผ่านไปยังตำบลยั้งเมิน ที่ไกลออกไป


สะพานไม้แบบชั่วคราวนี้ คือต้นไม้ทั้งต้นที่เอามาวางเรียงกัน ยึดติดกันด้วยเหล็กที่มีปลายแหลมสองด้านตอกเข้าไปในเนื้อไม้ให้ยึดติดกัน(ดูเหมือนจะเรียกปลิง หากผิดขออภัย) เมื่อฤดูฝนมา น้ำป่าหลาก ตรงนี้แหละที่เราต้องมาพร้อมๆกันหลายคน เพราะบางช่วงไม่สามารถขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ต้องช่วยกันประคองเอาข้ามฝั่ง


บางช่วงน้ำป่ามาแรงมาก พัดพาเอาสะพานไม้สักทั้งต้นนั้นหายไปหมดแล้ว เราก็ต้องช่วยกันแบกมอเตอร์ไซด์ข้ามแม่น้ำขานแห่งนี้ หากน้ำลด ก็อาจจะขับข้ามได้

และรูปนี้ คลาสสิคจริงๆ นายสุรพล จำนามสกุลไม่ได้แล้ว เป็นนายอำเภอสะเมิง ออกตรวจเยี่ยมชาวบ้านกับพวกเรา ยังต้องยอมถอดกางเกงนุ่งผ้าขาวม้าข้ามแม่น้ำขาน…

มันจริงๆ..ชีวิตคนทำงานพัฒนาชนบท..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 5 โรงเรียนเด็กเล็ก

55 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:54 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4957

สถานที่: Kindergarten บ้านงาแมง ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2520

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


ใครไปพระบาทห้วยต้มก็จะเห็น “ป้าดาว” ผู้เป็นเจ้าของกิจการ น้ำพลูคาวหมักใส่ขวดขาย กิจการส่งออกหัวไม้ดอกไปต่างประเทศ กิจการน้ำดื่มที่ จ.ลำพูน และอื่นๆ อดีตเธอคือครูพี่เลี้ยงสถานดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนภายใต้โครงการที่ผมทำงานอยู่ ภายใต้ความรับผิดชอบคนข้างกายผม

วันนั้นเธอคือสาวเพิ่งจะรุ่น ชื่อ สุธรรม ชาวบ้านเชื้อสายปกากญอ ที่มีความแตกต่างจากเด็กชาวบ้านคนอื่นๆ ตื่นตัว กล้าแสดงออก กล้าพูดจาไม่กลัวเกรงใคร ฉะฉาน ฉับฉับฉับ… รักความก้าวหน้า ทำทุกอย่างที่ทำได้ ไม่รังเกียจ


นี่คือสภาพ Kindergarten ในป่าเขาลำเนาไพร ไกลความเจริญ อิอิ.. ดูเหมือนว่าพ่อแม่เด็กเสียเงินเดือนละสิบบาท ค่าบริหารจัดการ สถานที่ดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนนี้..

รูปเหล่านี้มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้วครับ… สมัยนั้นยังไม่มี digital


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 4 ที่ตั้งสำนักงานโครงการฯ

458 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 7:39 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 6925

สถานที่: สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2518

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


ช่วงที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ(สกน.)เป็นสำนักงานในเมืองของโครงการพัฒนาชนบทที่ผมทำงานอยู่นั้น เพิ่งก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ(2518) มี ดร.ครุย บุญยสิงห์ เป็น ผู้อำนวยการโครงการ ภรรยาท่านคือนักพูดเพื่อสังคมคนสำคัญที่มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นทางทีวีบ่อยคือ คุณหญิงเต็มสิริ บุญยสิงห์

สกน.สมัยนั้นยังไม่มีร้านอาหารกาแลที่สวยงามเช่นปัจจุบัน สำนักงานแบบนี้มีทุกภาค ช่วงที่มีการปรับโครงสร้างระบบราชการถูกยุบไปเป็นเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สกน.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์

ปกติผมจะประจำอยู่ที่พื้นที่โครงการคือสะเมิง จะออกมาที่นี่เดือนละครั้งช่วงที่มีการฝึกอบรมผู้นำเกษตรกรเท่านั้น..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 3 ฝิ่น

153 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:06 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4662

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ



สภาพพื้นที่ อ.สะเมิงเป็นภูเขา หมู่บ้านจะตั้งอยู่ระหว่างหุบเขา ที่มีลำห้วยน้ำใสไหลผ่าน ทุกช่วงฤดูทำนาเราจะเห็นภาพนี้จนคุ้นชินตา บ่อยครั้งที่เราหยุดรถมอเตอร์ไซด์เพื่อชื่นชมภาพสวย เช่นนี้ อิอิ บางครั้งเราก็ลงไปนอนเล่นที่เถียงนาหรือกระต๊อบนั่น..


ปี พ.ศ.2518 นั้น ยอดเขาบางแห่งที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวม้ง จะมีการปลูกฝิ่นกันอย่างเปิดเผย เราชอบขึ้นไปชมไร่ฝิ่น ซึ่งเจ้าของไร่คุ้นเคยกับพวกเราก็มิได้มีปฏิกิริยาในทางลบแต่ประการใด หลังจากนั้นไม่กี่ปีทางราชการก็ปราบปรามอย่างหนัก การปลูกฝิ่นจึงหมดสิ้นไป หรือลบลี้มากขึ้นกว่าอดีตที่เคยทำมา



ภาพเก่าเล่าเรื่อง 2 ยานพาหนะและการเดินทาง

54 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 0:32 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4393

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


ยานพาหนะในการทำงานคือ มอเตอร์ไซด์ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คุณสมบัติประการหนึ่งคือ ต้องขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ สมัยนั้นเป็น เอนดูโร 125 CC รุ่นที่เห็นเป็น ซูซูกิ 2 จังหวะ ใช้ปีเดียวพัง ต่อมาเปลี่ยนเป็น Honda รุ่น Trial 125 CC ระบบ 4 จังหวะ


ต้องใส่หมวกกันน็อค (Helmet) ใส่ถุงมือ และใส่รองเท้าหุ้มหน้าแข้ง ตามกติกาฝรั่งที่ว่า safety first เป็นครั้งแรกๆในสังคมไทยที่คนขับขี่มอเตอร์ไซด์ต้องใส่หมวกกันน็อค ชาวบ้านชอบมามองเราเป็นตัวตลก


สภาพพื้นที่ หมู่บ้านใน อ.สะเมิง อย่างที่เห็น เป็นป่าเขา ทางลำบากมาก ลำห้วยแม่ขานสมัยนั้นยังไม่มีสะพาน ต้องข้ามลำต้นไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันทำ เมื่อฤดูน้ำหลาก ต้นไม้ใหญ่ๆที่เห็นก็หลุดลอยไปตามน้ำ ออกเขื่อนภูมิพลโน้น ฤดูแล้งก็หาต้นไม้มาทำใหม่…!!!??? ฤดูฝน เส้นทางเป็นร่องลึก ดินเหนียว ล้มแล้วล้มอีก บางปีต้องพันล้อด้วยโซ่ และมีไม้แคะดินออกจากล้อประจำรถเรา


น้ำในลำห้วยแม่ขานสะอาดใสแจ๋ว ชาวบ้านบางคนก็ดื่มกิน

มอเตอร์ไซด์เหล่านี้ทุกคนต้องเรียนวิธีการซ่อมแซมปัญหาพื้นฐานได้ และต้องทนุถนอมดุจหญิงสาว เพราะเมื่อใช้งานครบสามปี ทางโครงการโอนรถนี้ให้เป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าหน้าที่คนนั้นเลย…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 1 วิถีนักพัฒนาชุมชน

30 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:56 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3096

สถานที่: บ้านแม่สาบ ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2519

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


งานหน้าที่หลักประการหนึ่งคือตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆของพื้นที่โครงการ เพื่อประชุมชาวบ้านในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์ ที่มีสันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุน ภายใต้การดูแลของสภาแคทอลิคแห่งประเทศไทย ต่อมาจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ชนิดหนึ่งภายใต้กรมส่งเสริมสหกรณ์

เราจะตระเวนไปตามหมู่บ้านแล้วพักนอนที่บ้านชาวบ้าน ซึ่งจะมีบ้านประจำที่เราสนิทสนมด้วย บ้านนี้เป็นไทยลื้อ ชายหนุ่มที่ยืนขวามือของผมเป็นลูกชายแม่อุ้ย พ่ออุ้ย เจ้าของบ้าน ที่เราเลือกให้เป็น เกษตรกรผู้นำประจำหมู่บ้านนี้ ไทยลื้อเป็นชนเผ่าที่ขยัน แข่งขันกันทำงาน รักความก้าวหน้า อัตราการเรียนหนังสือสูงๆของเด็กรุ่นใหม่สูงกว่าชนเผ่าอื่นๆ ปรับตัวต่อเทคโนโลยี่ได้เร็ว ฉลาด อิอิ สาวก็สวย..ด้วย :-


ไปสุรินทร์ทำไม..

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 กรกฏาคม 2009 เวลา 2:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2457

ขณะที่ผมนั่งดูรายการระลึกถึงไมเคิล แจคสัน พิธีกรเชิญคุณมาโนช พุฒตาลมาคุยด้วย ซึ่งเขาเป็นผู้รู้ในเรื่องเสียงเพลงและประวัติบรรดานักร้องต่างประเทศ คุณมาโนชพูดถูกใจผมมาก กล่าวว่า ความคลั่งใคร้ของแฟนๆไมเคิลนั้น “เกินจริง ยกให้ไมเคิลเป็น King of Pop เขามีชื่อเสียงมากตั้งแต่เด็ก และดังมาตลอด วิถีเขาอย่างราชา จนเขาไม่เคยสัมผัสชีวิตความเป็นปุถุชนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเกินจริง ในสังคมนี้มีสิ่งเกินความจริงหลายอย่าง… การที่คนยกย่องเขามากมายมหาศาลนั้นมันไม่ได้ก่อประโยชน์แก่สังคม อาจจะมีเพียงธุรกิจเท่านั้นที่รองรับการเป็น Superstar ของเขา ขณะที่มีคนเล็กๆที่ทำประโยชน์แก่สังคมนี้ แต่เขาอยู่ในมุมมืดของการเป็นข่าว การดำเนินชีวิตของเขาเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าไมเคิล แต่สังคมไม่เคยกล่าวถึงเขาเหล่านั้น....”


ผมนึกถึงเรื่องในอดีตน้องเขยผมมีเหตุขัดคอกับเพื่อนบ้านที่เป็นคนนอกเข้ามาอยู่ในสายเครือญาติ เขาไม่ทราบพัฒนาการตระกูลเราเพราะเขาเป็นคนนอก ความรุนแรงของความขัดแย้งนั้นมันบานปลายมากกว่าที่เราคิดถึง เรื่องนี้เปิดเผยมาในภายหลังอีกหลายปีต่อมา คือ คู่ขัดแย้งของน้องเขยผมไปว่าจ้างมือปืนมาให้ไปทำร้ายแก่ชีวิตน้องเขยผม ต่อมามือปืนมาสารภาพแก่ครอบครัวผมว่า เขารับงานมาไม่รู้ว่าเป้าหมายคือใคร แต่เมื่อจะลงมือทราบว่าเป็นคนในครอบครัวผม มือปืนคนนั้นยกเลิกงานชิ้นนี้ เพราะเขากล่าวว่าเขาสำนึกใน “ข้าวแดงแกงร้อน” ที่อดีตปู่ผม พ่อผมเคยมีโอกาสเลี้ยงดูเขามา บุญคุณต้องทดแทน แม้ว่าน้องเขยผมเป็นคนนอก แต่ก็เข้ามาในตระกูลผมแล้ว มือปืนคนนี้จึงไม่ทำงานชิ้นนี้ต่อให้จบ….

ผมไม่ทราบว่าสังคมนี้จะมีอะไรอย่างนี้คงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน.ไม่มีสำรวจหาความคงอยู่ หรือมันเป็นเพียงสิ่งบอกเล่าเรื่องในอดีตเท่านั้น


หลายสิบปีก่อน ขณะที่ผมและเพื่อนนั่งทานก๊วยเตี๋ยวที่ร้านเล็กๆแห่งหนึ่ง มีขอทานเข้ามาขอเงิน เพื่อนผมถามว่า เอาเงินไปทำอะไร ขอทานคนนั้นบอกว่า เอาไปซื้อข้าวกิน เขายังไม่ได้กินข้าว เพื่อนผมกล่าวกับขอทานคนนั้นว่า หากหิวข้าวก็นั่งลงตรงนี้เดี๋ยวจะสั่งก๊วยเตี๋ยวให้กินเอาไหม ขอทานคนนั้นพยักหน้า แล้วเราก็นั่งกินก๋วยเตี๋ยวโต๊ะเดียวกัน เขากินเสร็จก็ขอห่อเศษที่เหลือกลับไปด้วย…… ผมจำได้ติดหูติดหาต่อการกระทำของเพื่อนคนนี้…

เวลาผมออกหมู่บ้าน และมีโอกาสกิน นอนที่หมู่บ้านชาวบ้าน เราทราบดีว่า อาหารทุกมื้อที่ชาวบ้านทำให้ผมและเพื่อนๆกินนั้น เป็นอาหารที่ดีที่สุดที่เขาสรรหามาให้

ตอนที่คุณแม่(ยาย)ผมยังมีชีวิตและนอนแบบอยู่บนเตียงเป็นเวลา 7 ปีนั้น แม่มักจะเรียกผมไปหา แล้วกล่าวว่า “แม่ดีใจที่บู๊ดอยู่บ้านให้เห็นหน้า…” คนป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลยนั้นอยากให้คนใกล้ชิดมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ก็แค่ให้สบายใจ..

ผมไม่รู้จักคุณปิ๋วเป็นการส่วนตัว แทบจะไม่เห็นหน้าค่าตาด้วยซ้ำไป แต่ผมกินข้าวจากฝีมือเธอ จากความตั้งใจของเธอ จากน้ำใจของเธอ ผมอิ่มหนำสำราญจากการประกอบอาหารของเธอให้ผมและเพื่อนๆอีกนับจำนวนไม่หมดที่ผ่านสวนป่า…

ผมเชื่อว่าเพื่อนทุกคนก็คิดเหมือนผม และมีประสบการณ์คล้ายๆที่ผมกล่าวมา เมื่อผมมีโอกาสจึงเก็บหยูกยา และของใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานของแม่ที่เหลืออยู่ น่าจะเป็นประโยชน์แก่คุณปิ๋วมากกว่าที่เก็บไว้เฉยๆที่บ้านผม…

คุณปิ๋วต้องการกำลังใจ เธอต้องการคุณหมอและการรักษากาย แม้ว่าคุณปิ๋วเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ไปทำให้ฟันเฟืองใหญ่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมนี้ สังคมในฝันของเรา…

ผมมีความรู้สึกดีดีมอบให้คุณปิ๋วน่ะครับ

นี่คือเหตุผลที่ผมไปสุรินทร์…

(หมายเหตุ: เอารูปมาจาก blog ของพ่อครูบาฯ)


หนึ่งขวบปี..ที่นี่มีอะไร 1

290 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 กรกฏาคม 2009 เวลา 10:36 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3153

(ย้ายมาจากลานเจ๊าะแจ๊ะครับ)

ถามตัวเองว่าหนึ่งขวบปีของลานปัญญามีอะไรที่นี่บ้าง ก็นึกๆพอจะเห็นสิ่งต่อไปนี้

จุ๊บจุ๊บ..เจ๊าะแจ๊ะ:
ผม เห็นคนคอเดียวกันมาเจ๊าะแจ๊ะกันที่นี่ในสาระพันเรื่องทั้งบ่นกะปอดกะแปด ทั้งเศร้า ทั้งดีใจ เรื่องในใจเอามาบอกกัน ให้กำลังใจกัน ชี้แนะกัน ทักท้วงกัน เสริมทักษะกัน จุดไฟปัญญาให้แก่กัน ปลอบประโลมแก่กัน ไถ่ถาม เติมเต็ม แม้กระทั่งฟ้องร้องกัน อิอิ..

โดย ธรรมชาติและเป็นที่เข้าใจกันว่าตรงนี้เป็นอะไรแบบสั้นๆ ได้ใจความที่ต้องการสื่อแก่กัน และใครต่อใครอย่างน้อยก็เข้ามาผ่านข้อความนี้ ก่อนไปลานอื่นๆ หากอยากจะเจ๊าะแจ๊ะก็หยอดลีลาลงไปตามแบบฉบับของตัวเอง หลายหลากอารมณ์

หลากหลายรสคำ:
แต่ ละคนมีเบ้าหลอมที่แตกต่างกัน ใครมีเบ้าแบบไหนไปรู้จักกันได้ที่ “เจ้าเป็นไผ๑” แต่ละคนมีรสนิยม ต่างกัน แม้กระทั่งความตั้งใจที่แตกต่างกัน แต่ละ “ลาน” จึงเป็นแบบฉบับของตนเอง ซึ่งมีทั้ง ขำกลิ้ง อมยิ้ม น่าคิด ชวนคิด แหย่ให้คิด จนกระทั่งกระแทกให้คิด บอกกล่าว เคร่งขรึม ตามจับความคิดตนเอง เตือนตัวเอง บอกกล่าวสิ่งที่พบเห็น สาระแห่งการงาน การชีวิต เทคโนโลยี ใครอยู่ในแบบไหนนึกกันเอาเองเด้อครับ..

ไม่ใช่สาระเท่านั้นที่เป็นแบบเฉพาะ การใช้ภาษา อักษร ก็หลากหลายลีลา ไปจนถึงหลุดลุ่ย(บางที)..อิอิ

เห็นคนในคน:
ใคร ก็ไม่รู้กล่าวว่าอยากรู้จักกันก็คุยกันซี อยากรู้จักกันมากกว่านี้ก็ต้องหากิจกรรมทำด้วยกัน อยากจะสัมผัสมุมลึกกันก็ต้องยามมีปัญหา แต่เพื่อนพ้องในลานพิสูจน์แล้วว่า เป็นคนคอเดียวกันจริงๆ เพราะเราชุมนุมกันหลายครั้ง และร่วมแก้ปัญหากันหลายครั้ง จากวันแรกมาถึงวันนี้ ผมว่าพวกเรากลายเป็นคนรู้ใจกันไปหมดแล้ว ยิ่งปอกเปลือกเห็นแก่นใน จปผ๑ ก็ยิ่งแดงโล่มาเลย ผมหลับตานึกถึงใครสักคน ก็เห็นอากัปกิริยาไปหมด ได้ยินน้ำเสียง หัวเราะ แหย่เย้าจนรู้นิสัยใจคอที่น่ารักแก่กัน

ที่มาแรงแซงโค้งดูจะเป็นอาม่าที่รักของพวกเรา..

ทำในสิ่งที่ไม่เคยหรือไม่ค่อย:
อัน นี้ผมเห็นก็ขำแบบดีใจที่ CEO ใหญ่ของเราลงทุนหาจอบขุดดินถมถนน ผมเดาว่าท่านผู้นี้ไม่เคยมาก่อน แต่อยู่ในชุมชนนี้ได้ทำ อิอิ..น่ารักจะตาย… บางท่านคงไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวา ก็ได้มีโอกาสกราบพระงามๆ มีช่วงเวลาที่สัมผัสรากเหง้าทางจิตวิญญาณบ้าง บางคนไม่เคยและไม่ค่อยเข้าครัวก็ได้ย้อนรอยปลายจวักกัน ให้อิ่มเอมเปรมพุงกะทิไปหลายมื้อหลายคราว ยังคิดถึงผัดหมี่โคราชของท่านสะมะนึกะ …..ฯลฯ….

รุมสอน:
นี่ เป็นกรณีพิเศษจริงๆ ไม่มี blog ที่ไหนที่มีเหตุการณ์นี้ ไม่มีชุมชนเสมือนที่ไหนที่เป็นเช่นนี้ ไม่มี KM ที่ไหนที่มีภาพนี้ ที่นี่มีเจ้า “จิ” เหน่อเสน่ห์ เป็นกรณีเด่นที่สุดประการหนึ่งของลานเรา เพราะเราอยากเห็นภาพเหล่านี้ คล้ายๆๆแบบนี้ในกลุ่มคนทำงานแต่ไม่เกิด ไม่ค่อยเกิด แต่กลับมาเกิดกับลูกหลานน่าหยิกคนนี้ เธอมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็มาวางไว้ที่ลาน ลุง ป้า น้า อา ปู่ ทวด ต่างทยอยกันมาเยี่ยมเยือนลูกลิง เอ้ยลูกหลานคนนี้.. คำแนะนำออกมา มันช่างวิเศษแท้ๆ พ่อครูว่าเหมือนกดปุ่ม..

ผมชอบสังคมนี้ตรงนี้มาก นึก ถึงสมัยเด็กๆ ในหมู่บ้านนอกที่วิเศษชัยชาญ เย็นๆเด็กในหมู่บ้านจะรวมตัวกันที่ลานกลางบ้านแล้วนัดเล่นสนุกๆกัน และเป็นที่รู้กันว่า เด็กที่เล่นนั้นไม่ว่าจะลูกครูใหญ่ หรือลูกคนไม่มีที่ดินชายบ้าน ผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิ์สั่งสอน ตักเตือน แนะนำทุกอย่างหากเด็กคนใดเล่นพิเลนเกินไป หรือเกเร หรือทำให้ข้าวของเสียหาย แม้กระทั่งลงโทษตีเด็กคนนั้น พ่อแม่ทุกครอบครัวก็อนุญาต  ผมมองย้อนหลัง มันเป็นสังคมที่สวยงาม ที่ต่างช่วยกันประคับประคองความดีงาม ถูกต้อง ถูกทำนองครองธรรม กรณีจิคนสวย ก็เช่นกัน ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย มาช่วยกันชี้แนะสิ่งที่ถูกที่ควรเมื่อเด็กมีปัญหา และเธอกล้าเอามาบอกกล่าว… งามจริงๆสังคมแห่งนี้

แปลกใหม่:
ปัจจุบัน มีบางคนเรียกเราว่า ป๋า..เรายังต๊กกะใจ ว่า เฮ้อ ตูข้านี่เป็น สว.ไปแล้วหรือนี่.. ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนลืมนับไปแล้ว มีหลายเรื่องก็ไม่รู้ก็ได้รู้ในที่นี่ ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ไม่เคยสัมผัสก็ได้รับรู้ อยากกอดสาวๆก็ได้กอด อิอิ.. ต้นอะไร เอกมหาชัย ชื่อก็พิสดาร แถมยังสารพัดประโยชน์ ทึ่งกระบี่ สุดยอดมุมลับของภูเก็ต อลังการเชียงราย ศรัทธายิ่งใหญ่ที่ลี้ลำพูน โดยเฉพาะท่านเทพ เอาอะไรก็ไม่รู้ไม่เคยพบเคยเห็นมาให้ศึกษา น่าดูน่าเรียนทั้งนั้น ท่านแฮนดี้ ก็คนอะไรช่างคิดช่างทำช่างสร้างสรรค์ ผมละอยากให้ถ้วยรางวัล “นักประดิษฐ์พอเพียง” แก่ท่านจริงๆ ผมว่าหลายคนก็เพิ่งได้ยินคำว่า dialogue ในมุมการเอามาใช้ประโยชน์เชิงพัฒนาคน.. ฯลฯ.. เห็นไหมล่ะ มากมายสาระที่แปลกใหม่สำหรับผม

น่าจะมีอีกมาก เท่าที่ด่วนๆคิดเอาก็เห็นดังกล่าวนี้แหละครับ



เสียงบ่นจากคนชายขอบ..

26 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 มิถุนายน 2009 เวลา 18:06 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 998

หากเขาคือเพื่อนร่วมชาติ ที่เรานับญาติว่าเป็นพี่น้องไทย เขามีอาชีพเกษตรกรรม ทำนาไว้กินและขายให้พวกเราซื้อ ทำไร่เพื่อขายผลผลิตเป็นรายได้ในครอบครัว …..ฟังเขาบ้างซิ..


ช่วงฝนตกนี้ ครอบครัวส่วนใหญ่ก็หอบลูกจูงหลานไปอยู่เถียงนาโน้น..อย่าไปหาที่บ้านเลยไม่พบแน่นอน อย่ามาประชุมเลยช่วงนี้ อย่ามีกิจกรรมอะไรเลย เพราะเราต้องการทำนาให้ราบรื่นเสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วเรื่องอื่นๆก็ค่อยว่ากัน


อย่ามาทำหนังสือราชการเหมือนบังคับว่าจะต้องไปนั่นไปนี่ แล้วหากงานในนาผมไม่สำเร็จ ไม่ทันตามฤดูกาล พวกคุณๆรับผิดชอบไหม ไม่ใช่ว่าเอาคุณเป็นตัวตั้ง อยากประชุมก็เรียกประชุมอ้างโน่นอ้างนี่


เบื่อจริงๆพวกนี้น่ะ ไม่รู้จักกาลเทศะ เรียนหนังสือมาก็สูงๆ แค่นี้ไม่เข้าใจ ไม่รับฟัง ไม่อินังขังขอบ แล้วจะให้ชาวนาอย่างเราไปคล้อยตามคุณจนหมดได้อย่างไร อ้าวไม่ไปประชุมก็หาว่าไม่ร่วมมือ ขาดประชุมไปก็หาว่าไม่มีส่วนร่วม…สารพัดจะว่ากล่าว…


ไม่หละ จะอะไร อย่างไรก็ช่าง เราต้องเอาข้าวของเราไว้ก่อนอื่น ก็พวกคุณมีเงินเดือนกิน ทำหรือไม่ทำก็มีเงินกิน พวกเราซิ ไม่ทำไม่มีกิน จึงต้องทำและทำ

ทุ่งนาก็คือสำนักงานของเรา โอเพ่นแอร์นะจะบอกให้


นานวันเข้าพวกเราฟังคุณพูดไม่รู้เรื่องมากขึ้น มากขึ้นทุกที ก็ไหนว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น การสื่อสารดีขึ้น ลงทุนนับแสนล้านที่บากกอกนั่นน่ะ เรานึกไม่ออกว่าเงินจำนวนนั้นน่ะมันมากมายแค่ไหน แต่การพัฒนาการผลิตขั้นพื้นฐานของเรายังแก้กันไม่ตกเลย คุณจะวิ่งหนีเราไปไหนกัน ….

บ้านนี้เมืองนี้ มีชาวนาจำนวนล้านๆคนเป็นส่วนประกอบสำคัญ คุณมองแต่จะขายสินค้าหากำไรจากพวกเรา ร่ำรวยกันหน้าบาน อวดความมั่งมีกัน ร่ายมนต์ตราแก้ปัญหาประเทศชาติบนหน้าจอทีวีไม่เว้นแต่ละวัน แต่ปล่อยให้เราเดินไปตามยถากรรม

เจ้านักการเมืองการแมงตัวดี พูดคำก็อ้างเรา พูดสามคำก็ว่าเพื่อเรา เปล่า ลึกๆพวกคุณก็เอาเราเป็นสะพานก้าวไปหาผลประโยชน์ของพวกคุณ เพื่อน พี่น้องเราหลายคนก็หลงคารมคมคาย ที่มาเล่นละคอนบนหลังคารถที่พวกคุณยืนปาวๆแล้ววิ่งไปตามหมู่บ้านเรา…

สักวันเถอะ เมื่อช่องว่างมันถ่างกันมากขึ้น คุยกันไม่รู้เรื่องมากขึ้น ที่พวกคุณเรียกว่ามันไม่สมดุลนั่นแหละ มันจะสายเกินไป แล้วจะมาแก้ไขเมื่อมันสายไปแล้วนา…


ไก่ฟ้าพญาลอ..

60 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 มิถุนายน 2009 เวลา 19:46 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4566

วันก่อนเอารูปนี้มาลง

ไปค้นข้อมูลมา เขาชื่อไก้ฟ้าพญาลอ ไม้อยู่ในวงศ์ ARISTOLOCHIACEAE ชื่อพฤกษศาสตร์ Aristolochia ringens ดอกมีกลิ่นเหม็น ไม่ใช่ไม้กินแมลง ไม้เถาเลื้อยนำเข้าจากต่างประเทศ วิธีการเลี้ยงดูต้องหาหลักให้เลื้อย ชอบแดด รดน้ำวันละครั้งไม่ชอบน้ำ อายุสั้น ออกดอกเถาก็มักจะตายหรือแตกโคนใหม่ (ข้อมูลชื่อจาก หนังสือพันธุ์ไม้อาจารย์ เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไข พ. ศ. 2544)


ลำต้นมีขนสั้นปกคลุม ใบ ใบเดี่ยวรูปหัวใจ ปลายมนถึงแหลม โค้นเว้าลึก สีเขียวสด ขนาดใบกว้าง 7-12 เซนติเมตร ก้านใบสั้น ดอก ออก ดอกเดี่ยว รูปร่างคล้ายนก โคนดอกเชื่อมกันเป็นกระเปาะกลมคล้ายนก ส่วนปลายแยกเป็น 2ส่วนคล้ายหาง สีเขียวอ่อนและมีเส้นสีม่วงแดงสานกันเป็นลายตาข่าย ผล รูป ทรงกระบอก มีเหลี่ยม 6เหลี่ยม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เมล็ดมีปีกนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ รูปทรงของดอกแปลกตาสวยงามดี ชอบแสงแดดจัด ออกดอกช่วงเดือน พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ขยายพันธ์โดยเมล็ด ปักชำ

แถมข้อมูลรูปนี้เป็นไก่ฟ้าพญาลอตัวจริง

ไก่ฟ้าพญาลอมีชื่ออยู่ในวรรณคดีไทยเรื่องต่างๆ แล้วยังมีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงจัดส่งไก่ฟ้าพญาลอ 1 คู่ ไปพร้อมกับสัตว์ป่า 4 เท้า ไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งไปให้พิพิธภัณฑ์สัตว์ศาสตร์ (Imperial Zoological Museum) ซึ่งทำให้พระจักรพรรดิแห่งประเทศฝรั่งเศสทรงพอพระราชหฤทัยมาก
นับได้ว่าไก่ฟ้าพญาลอคู่นั้นได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

เป็นไก่ฟ้าพญาลอคู่แรกที่ชาวฝรั่งเศส และยุโรปได้รู้จัก จึงเรียกไก่ฟ้าชนิดนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยว่า Siamese Fire-backed Pheasant ซึ่งแปลว่า ไก่ฟ้าหลังสีเพลิงแห่งประเทศสยาม มาตั้งแต่บัดนั้น และในปี พ.ศ. 2409 ไก่ฟ้าพญาลอคู่นั้นได้ออกไข่และฟักออกมาเป็นลูกไก่ฟ้า ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ในปัจจุบันชื่อที่ใช้เรียกไก่ฟ้าพญาลอได้ถูกย่อให้สั้นลง เหลือเพียง Siamese Fireback เท่านั้น เพื่อความกระชับ
ซึ่งเป็นชื่อที่นักเลี้ยงไก่ฟ้าทั่วโลกนิยมใช้เรียก

ประเด็นสำหรับวันนี้คือ ผมมีเมล็ดอยู่จำนวนหนึ่งเหลือจากการเพาะ จึงอยากให้เพื่อนๆเอาไปเพาะ ปลูกกัน น่าจะแบ่งได้สัก 3 ท่านครับ ใครต้องการบอกด่วนส่งที่อยู่มาให้ผมทางอีเมล์นะครับ

ขอบคุณข้อมูลและรูปจาก:-

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pinnjung&month=04-2009&date=12&group=16&gblog=2

http://www.thailantern.com/main/boards/index.php?showtopic=1253

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AD

http://gotoknow.org/blog/naree122/238767?page=1

http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp


ตามหาสิทธิ์บัตรทอง..

405 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 มิถุนายน 2009 เวลา 20:24 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 6877

พ่อครูบาฯต้องไปตรวจสุขภาพประจำที่ รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น ซึ่งผมเดาเอาว่า พ่อครูบาฯมีบัตรทองรักษาทุกโรค ยกเว้นโรคทางใจ อิอิ.. แต่เมื่อมาใช้บริการที่ รพ.ศรีนครินทร์ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้เพราะข้ามเขต… เมื่อข้ามเขตก็ต้องจ่ายเงิน

น้องหมอเจ๊ท่านปรารถนาดี ในฐานะที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่รู้เรื่องนี้ดี ก็แนะนำว่า พ่อครูบาฯสามารถโอนย้ายสิทธิบัตรทองนี้ไปที่ขอนแก่นได้ หากเป็นไปได้ ก็จะไม่เสียเงินแต่อย่างใด สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้เต็มที่

น้องหมอเจ๊แนะนำว่า พี่บู๊ดบ้านอยู่ขอนแก่น หากโอนย้ายที่พักพ่อครูบามาเข้าทะเบียนบ้านพี่บู๊ด ก็สามารถดำเนินการต่อเนื่องเรื่องการโอนสิทธิการใช้ประโยชน์บัตรทองของพ่อครูบามาที่ รพ.ในขอนแก่นได้เลย ซึ่งเป้าหมายคือ รพ.ศรีนครินทร์

หมอเจ๊ได้แนะนำเบื้องต้นว่ามีเพื่อนเป็น ผอ. สป.สช.เขตขอนแก่นแนะนำให้พี่บู๊ดไปติดตามเรื่องการย้ายสิทธินี้ให้ด้วย ความจริงระบบระเบียบก็เหมือนกัน แต่ที่ขอนแก่นอาจจะมีรายละเอียดพิเศษอะไร ก็ขอไปศึกษาติดตามหน่อย แล้วมาปรึกษากัน

ผมเข้ามาขอนแก่นเมื่อวานค่ำ เช้าวันนี้จึงตระเวนไปศึกษาเรื่องนี้

โอ…ผมได้ประโยชน์มาก ได้เรียนรู้หลายประการเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลของรัฐตามสิทธิ ซึ่งผมก็มีประกันสุขภาพ


ที่ สำนักงาน สป.สช. (เลข1) ผมไม่พบ ท่านผอ.ท่านติดธุระอื่น มีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำ ดีมากๆ ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ ให้รายละเอียด ค้น internet ข้อมูลของท่านครูบาฯ ข้อมูลของครอบครัวผมเพื่อดูลู่ทางว่ามีทางใดบ้างที่จะดำเนินการในเรื่องนี้

เจ้าหน้าที่แนะนำให้ผมไปศึกษารายละเอียดกับสำนักงานท้องถิ่นในพื้นที่ที่ผมเคยติดต่อ (ลูกขวัญผมเคยใช้สิทธิผ่าตัดต่อมทอลซิล) ผมไปที่สำนักงานดังกล่าวที่เลข 2 พบคุณพยาบาลอ้วนตึบกำลังงานเข้า ก็ยืนคอยครู่หนึ่งท่านเห็นเข้าก็เรียกไปถาม ผมอธิบายท่านแล้ว ท่านก็ให้คำแนะนำละเอียดยิบ แต่เพื่อความแน่ใจให้ไปติดต่อศูนย์อนามัยชุมชนที่สร้างขึ้นใหม่สดๆร้อนๆ ใกล้บ้านผมที่หมายเลข 3

ที่นั่น เจ้าหน้าที่สตรีต้อนรับดีมาก กระฉับกระเฉง อธิบายเป็นขั้นตอน อาจเป็นเพราะคนไข้ไม่มาก ไม่ยุ่งก็ได้ คำแนะนำนั้นทำให้ผมกระจ่างมากขึ้นเรื่อยๆถึงสิทธิและขอบเขตความรับผิดชอบของ รพ.ศูนย์ขอนแก่น และ รพ.ศรีนครินทร์

สรุปว่าบ้านพักของผมนั้นอยู่ในเขตความรับผิดชอบของ รพ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่อาจไปใช้สิทธิที่ รพ.ศรีนครินทร์ได้ แต่ก็มีสองกรณีที่สามารถไปศรีนครินทร์ได้คือ

  1. คนไข้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นแล้ว คณะแพทย์ศูนย์ขอนแก่นมีความเห็นว่าให้ไปรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ ก็จะส่งคนไข้ไปที่นั่น
  2. คนไข้ต้องการไปรักษากับแพทย์ประจำที่ รพ.ศรีนครินทร์เอง ก็ไปได้เลยแต่ไม่สามารถใช้สิทธิ์บัตรได้ นั่นหมายความว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง(ซึ่งไม่ใช่ความประสงค์)

อื่นๆ

  1. มีคำแนะนำจาก สป.สช.ว่าให้พยายามอธิบายคุณหมอที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นว่า รักษาประจำกับคุณหมอที่ รพ.ศรีนครินทร์จึงขอให้กรุณาโอนย้ายสิทธิไปที่ รพ.ศรีนครินทร์เลยจะได้ไหม ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นกับการติดสินใจของแพทย์ผู้ทำการรักษา…

เพื่อความรอบคอบผมไปที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่น หมายเลข 4 เพื่อพบเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสุขภาพประจำ รพ.ศูนย์ขอนแก่น ผมได้พบเจ้าหน้าที่สาวสวย ซักถามผมแล้วเราก็พูดกัน ผมได้ข้อมูลที่ซ้ำๆจนมั่นใจว่า

  • การโอนย้ายทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ผมเตรียมเอกสาร สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมลงนามรับรอง
  • พิเศษคือสำเนาทะเบียนบ้านนั้นให้ผมระบุ ยืนยันว่าพ่อครูบามาเป็นสมาชิกมรครอบครัวนี้ โดยไม่จำเป็นต้องย้ายมาจริงๆ
  • ผมมอบเอกสารทั้งสองนั้นให้พ่อครูบาไปแสดงต่อ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งนั้นๆ หรือฝ่ายประกันสุขภาพประจำโรงพยาบาลนั้นๆ แล้วทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ แต่ต้องคอยการออกบัตรใหม่ประมาณ 45 วัน แต่(ทราบว่าระหว่างนั้นสามารถใช้เอกสารสำรองไปใช้สิทธิได้)
  • ข้อมูลอื่นๆคือ ส่วนใหญ่คุณหมอมักจะไม่ส่งสิทธิต่อไปที่อื่นยกเว้นกรณีจำเป็นจริงๆ ตรงข้ามที่ รพ.ศรีนครินทร์เสียอีกที่ส่งมาที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่น เหตุผลที่สำคัญคือ ที่ รพ.ศรีนครินทร์นั้นเป็นโรงเรียนแพทย์ ต้นสังกัดคือ ทบวงมหาวิทยาลัย ไม่ใช่กระทรวงสาธารณะสุข เช่น รพ.ศูนย์ขอนแก่น ดังนั้น รพ.ศรีนครินทร์จึงมักมีเป้าหมายต่อคนไข้ที่แตกต่างออกไป

ก่อนออกมาจาก รพ.ศูนย์ขอนแก่น คุยกับเจ้าหน้าที่ว่า หนทางที่ดีที่สุดคือ ให้หาคนที่อยู่ในเขตบริการของ รพ.ศรีนครินทร์ แล้วย้ายพ่อครูบาฯไปเข้าทำเบียนย้ายที่นั่น โดยไม่ต้องมาทำที่ รพ.ศูนย์ซึ่งเสี่ยงว่าจะไม่สามารถโอนสิทธิไปที่ รพ.ศรีนครินทร์ได้

ผมนึกถึง อ.แป๋ว อ.หมอเจเจ คุณพยาบาลอุบล นึกถึงป้าหวาน ซึ่งเป็นกลุ่ม blogger แต่ที่แน่ๆได้สบายคือลูกน้องของคนข้างกายหลายคนที่มีที่พักในขอบเขตความรับผิดชอบของศรีนครินทร์ และเธอเหล่านั้นก็ยินดี

เพื่อความมั่นใจผมควรจะไปสอบถามต้นเรื่องดีกว่า คือ ฝ่ายประกันสุขภาพของ รพ.ศรีนครินทร์ หมายเลข 5 ผมไปถึงช่องระบุเรื่องการโอนสิทธิ์ เจ้าหน้าที่นั่งว่างงานพอดี ผมอธิบายยาวยืด เจ้าหน้าที่ท่านก็นั่งยิ้มแป้นให้ผม…เมื่อผมอธิบายเสร็จท่านก็กล่าวว่า

คุณคะ..โควต้าประกับสุขภาพบัตรทองที่จะมาใช้ที่รพ.ศรีนครินทร์นี้หมดแล้วค่ะ หมดตั้งแต่ปี 2549 แล้วค่ะ

ผม..????!!!!! จบกัน เดินเรื่องมาทั้งวัน มาจบเอาสุดท้ายนี่เอง…

สรุปคือ

  • การโอน-ย้าย สิทธิประกันสุขภาพนั้นทำได้ และทำได้ง่ายด้วย
  • เมื่อมีสิทธิที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นจะขอไปใช้สิทธิที่ รพ.ศรีนครินทร์ด้วยตัวเองไม่ได้ กระทำได้ก็ต่อเมื่อ แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจย้ายผู้ป่วยอันเนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์เท่านั้น
  • กรณี รพ.ศรีนครินทร์นั้นเนื่องจากเป็นโรงเรียนแพทย์ จึงรับการประกันสุขภาพในปริมาณคนไข้ที่จำกัดเท่านั้น ซึ่ง รพ.ศรีนครินทร์ก็ไม่รับเพิ่ม ไม่รับโอน ย้ายสิทธิแล้วตั้งแต่ปี 2549 เพราะปริมาณมากแล้ว
  • หากต้องการใช้สิทธิบัตรทองที่ขอนแก่นทำได้เฉพาะการโอนย้ายมาที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นเท่านั้น ในกรณีนี้ย้ายโดยผมเป็นผู้จัดทำเอกสารระบุยืนยันการเข้าพักอาศัยในทะเบียบบ้านของผม โดยไม่ต้องย้ายมาจริง แล้วใช้สิทธินี้ย้ายสิทธิบัตรทองจากบุรีรัมย์มารพ.ศูนย์ขอนแก่นได้เลย แต่ใช้สิทธิได้เฉพาะที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่นเท่านั้น..

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ผมศึกษามาในวันนี้ครับ จึงเรียนมายังพ่อครูบาฯ และหมอเจ๊ด้วยครับเพื่อปรึกษาหาทางอื่นๆต่อไป



Main: 1.7210829257965 sec
Sidebar: 0.078483104705811 sec