พระยอดเมืองขวาง
อ่าน: 3159เดือนนี้เมื่อ 117 ปีมาแล้ว (ค.ศ. 1894) “พระยอดเมืองขวาง” ของไทยถูกขึ้นศาลผสมระหว่างผู้พิพากษาไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งสัดส่วนผู้พิพากษาฝรั่งเศสมากกว่า ตัดสินให้ลงโทษพระยอดเมืองขวาง จำคุก 20 ปี เป็นที่เจ็บแค้น และโศกเศร้าของคนไทยยิ่งนัก แม้องค์พระปิยมหาราช
พระยอดเมืองขวางคือใคร..?
(ขออนุญาตสำเนาข้อมูลจากhttp://th.wikipedia.org/wiki/พระยอดเมืองขวาง เพราะกระชับมากกว่าข้อมูลที่ผมมีอยู่)
พระยอดเมืองขวาง (พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2443) เป็นข้าราชการฝ่ายปกครองในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นข้าหลวง
เจ้าเมืองคำมวน เมืองคำเกิ สังกัดกองข้าหลวงเมืองลาวพวน ในบังคับบัญชาของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวง ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่ต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส ในกรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)
พระยอดเมืองขวาง เดิมชื่อ ขำ เป็นต้นสกุล ยอดเพ็ชร์ เกิดเมื่อปีชวด ร.ศ. 71 (พ.ศ. 2395) ที่อำเภอบรรพตพิสัย
จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบุตรของพระยาไกรเพ็ชร์ (มิตร กฤษณมิตร) เริ่มรับราชการเป็นข้าหลวงผู้ช่วยในกองข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ์ รักษาราชการกองข้าหลวงลาวกาว ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ ซึ่งเป็นที่มาของฉายา “พระยอดเมืองขวาง” ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองคำมวน เมื่อประมาณ พ.ศ.2428 2328? รับผิดชอบบ้านนาเป คำเกิด คำมวน นากาย ปากพิบูลย์ และแก่งเจ๊ก มีอาณาเขตติดต่อกับเวียดนาม
[1]
ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างการปักปันเขตแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสต้องการเมืองคำมวน กองทหารนำโดยมองซิเออร์ลูซ (Luce) บังคับให้พระยอดเมืองขวางออกจากเมืองคำมวน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม
พ.ศ. 2436 แต่พระยอดเมืองขวางไม่ยินยอม จึงเกิดการสู้รบกันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม
พ.ศ. 2436 เมื่อนายลูซ สั่งให้นายกรอสกุรัง พร้อมกับทหารญวน เข้ามาจับกุมหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยของพระยอดเมืองขวาง ที่ตำบลนาหลักหิน ปลายด่านคำมวนต่อกับเมืองท่าอุเทนของฝั่งไทย และเกิดการต่อสู้กัน ทำให้นายกรอสกุรังเสียชีวิตพร้อมกับทหารญวน 11-12 คน บาดเจ็บ 3 คน ฝ่ายทหารไทยเสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 4 คน [2][3]
จากเหตุการณ์นี้ นายออกุสต์ ปาวีไม่ พอใจ กล่าวหาว่าพระยอดเมืองขวางเป็นฆาตกร บุกเข้าไปทำร้ายนายกรอสกุรังขณะนอนป่วยอยู่ในที่พัก และนำเรื่องขึ้นพิจารณาคดีในศาลรับสั่งพิเศษ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร แม่ทัพใหญ่อีสานใต้เป็นประธานคณะผู้พิพากษา ซึ่งประกอบด้วย พระยาสีหราชเดโชชัย
พระยาอภัยรณฤทธิ์
พระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์
พระยาธรรมสารนิติ์
พระยาฤทธิรงค์
พระยาธรรมสารเนตติ์ มีหลวงสุนทรโกษา และนายหัสบำเรอ อัยการเป็นทนายฝ่ายโจทย์ มีนายตีเลกี (William Alfred Tilleke ต่อมารับราชการเป็น พระยาอรรถการประสิทธิ์ ต้นสกุล คุณะดิลก) และนายเวอร์นอน เพจ (Vernon Page ชาวอังกฤษ) เป็นทนายจำเลย [2]
การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง ดำเนินเป็นเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 16 มีนาคม
พ.ศ. 2437 ศาลมีคำพิพากษาว่า พระยอดเมืองขวางไม่มีความผิดตามฟ้อง และให้ปล่อยตัวเป็นอิสระ สร้างความไม่พอใจให้กับนายลาเนสซัง ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน และขอให้จัดตั้งศาลผสมไทย-ฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คน เดินทางมาจากไซ่ง่อน สยาม 2 คน พิจารณาคดีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม
พ.ศ. 2437 และตัดสินให้จำคุกพระยอดเมืองขวาง 20 ปี ด้วยเสียงข้างมาก 3 เสียงของฝ่ายฝรั่งเศส
พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกอยู่ 4 ปี ก็ได้รับอิสรภาพ จากคำร้องขอของรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2441
[4] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบำนาญให้เป็นพิเศษเดือนละ 500 บาท ท่านได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ ต่อมาได้ล้มป่วย และเสียชีวิตใน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) อายุได้ 48 ปี เป็นต้นสกุล “ยอดเพ็ชร์” และ “กฤษณมิตร”
ผมอ่านเรื่องนี้ในปริญญานิพนธ์ ของท่านอาจารย์สุวิทย์ ธีรศาศวัติ แห่ง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านเขียนเรื่องนี้สมัยที่ท่านอยู่วิทยาลัยครูนครสวรรค์ ผมทำสำเนาเอกสารนี้ไว้เป็นสิบปีแล้ว ไม่ได้อ่านแบบจริงจังเสียที มาคราวที่จะต้องไปทำงานลาว ผมก็ค้นเอกสารที่บ้านที่เขียนเกี่ยวกับลาวไว้หลายเล่ม แล้วทยอยเอามาอ่าน แต่ก็จดๆจ้องๆ มีเรื่องอื่นมาแซงคิวไปหมด หนึ่งในจำนวนเอกสารเหล่านี้ ผมได้จากลุงเอกมา 1 เล่ม สุดยอดจริงๆ
ผมลงกรุงเทพฯโดยนั่งรถนครชัย ที่นั่งกว้างขวาง นั่งเก้าอี้เดี่ยว เลยแบกเอกสารเล่มใหญ่ไปอ่านตลอดเส้นทาง อ่านแล้วเกิดจินตนาการถึงสมัยนั้น ที่ฝรั่งเศส เข้ามารังเกประเทศเรา แล้วเราก็เสียดินแดนไปเรื่อยๆ เพราะความขี้โกงของประเทศมหาอำนาจ ทบทวนประวัติศาสตร์ไว้บ้างก็ดีนะ..
เพิ่มเติมข้อมูลได้ที่:
http://www.formumandme.com/article.php?a=911
http://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=221