สังคมขลุกขลิก
อ่าน: 1034วันนี้ผมขับรถไปรับคุณตุ๊ที่ มข. ระหว่างทางตรงสามแยกทางรถไฟจะออกถนนมิตรภาพ มีรถเมล์ต่างอำเภอจอดนิ่งอยู่ ผมเห็นรถเก๋งแซงซ้ายขึ้นไป ยังนึกว่า เอ้ารถเมล์มาจอดทำไมกลางสามแยกนี่ ทำให้รถเริ่มติด นึกตำหนิในใจว่า “คนไทยเราทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ทำไมไม่จอดแอบชิดถนน..
เมื่อผมขับรถไปใกล้ๆ ก็เห็นคุณยายแก่ๆ ผมขาว มีลูกสาวจูงมือวิ่งปุเลงๆ พยายามจะรีบไปขึ้นรถเมล์คันนั้น ผมเดาเรื่องราวออกว่า อ๋อ รถเมล์จอดคอยคุณยายและลูกสาวคุณยายนั่นเอง สภาพพื้นที่จะจอดริมถนนแบบเหมาะสมก็จะเสียเวลา จะไปเลยก็อยากรับคุณยาย เลยจอดมันอย่างนี้ คงไม่นานร๊อก ผมนึกถึงใจคนขับรถเมล์
แม้ระยะทางจะไม่ไกลมากนักคุณยายก็หอบทีเดียว เข้าใจได้ครับ ใครเห็นภาพนี้แล้วก็ให้อภัยรถเมล์คันนั้น ผมเดาเอาเองนะ …..
ความเหมาะสมถูกต้องตามระเบียบจราจร หรือสามัญสำนึกของสังคมเมือง สังคมบริหารจัดการ สังคมที่ต้องการความเป็นระเบียบมากกว่า ชุมชนอื่นๆ เหตุการณ์แบบนี้ ก็คงจะต้อง
- ไม่หยุดรถ ไม่รับผู้โดยสารลักษณะนี้ เลยตามเลย ให้คุณยายหรือผู้โดยสารรอคันอื่นต่อไป
- รับผู้โดยสารโดยพยายามจอดเข้าข้างทางอย่างถูกต้องแล้วกระเป๋ารถวิ่งลงมาจูงคุณยายไปขึ้นรถ
แต่นี่เขาจอดกลางสามแยก รอคุณยายไปขึ้นรถ…
ผมนึกไปถึงการจัดงานศพคุณแม่ผมที่เพิ่งผ่านมา เนื่องจากผมไม่ได้คลุกคลีชุมชนที่บ้านมานาน และไม่เคยเข้าไปอยู่วงในของการจัดงานศพ ที่เรียกว่า “แม่งาน” ก็มืดแปดด้าน แต่เราอาศัยเรามีกระบวนการ มีประสบการณ์จัดงานอื่นๆ และลักษณะการบริหารจัดการงาน สิ่งที่เราทำคือ ประชุมน้องๆ พี่ๆ ไล่เลียงว่าจะต้องทำอะไรบ้างตั้งแต่ต้นจนจบ พิมพ์ตารางละเอียด ประเด็นหลัก ประเด็นรอง เอาอะไรที่ไหน ติดต่อใคร ใครรับผิดชอบ หากไม่เป็นไปตามลำดับจะทำอย่างไร ..ฯลฯ
อาศัยน้องๆที่อยู่กับแม่ หรืออยู่ที่บ้าน เขาจึงรู้เรื่องราวแบบนี้มากกว่าผม เราก็ทำแผนการบริหารจัดการงานศพขึ้นมาแล้วมอบให้ทุกคนถือไว้ช่วยกันเติมเต็ม ทุกคืนจะมี AAR จนถึงเที่ยงคืนทุกคืน เพื่อสรุปปัญหา อุปสรรค และงานที่จะทำในวันต่อไป เรียกว่า เอาการจัดการแบบสมัยใหม่เข้ามาใช้..
แต่การเดินของงานมันมีรายละเอียดมากกว่าสิ่งที่เราคุยกันมากมายมหาศาล ทุกคนต้องพร้อมตัดสินใจทันที หรือรีบปรึกษาหารือกันเพื่อสรุปว่าจะเอาอย่างไร.. เพราะการจัดงานศพนั้นมีพิธีกรรมมากมาย แต่ละพิธีกรรมก็มีรายละเอียดเฉพาะ คนที่ดำเนินการพิธีกรรมนั้นๆเราก็ต้องประกบเพื่อขอทราบรายละเอียดเพื่อเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ มีพิธีสงฆ์ มีผู้ใหญ่มาร่วม รายละเอียดพิธีสงฆ์เป็นอย่างไร อะไรก่อน หลัง ใครจะเป็นคนทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ โอ้โฮ….มันมากมายมากกว่าที่เราคุยกันหลายเท่านัก
ผู้ดำเนินการพิธีต่างๆนั้นขาดอะไรก็กวักมือเรียกเราให้ไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มา เดี๋ยวนี้…อ้าว..ทำไมไม่บอกตั้งแต่แรก…ขนาดเตรียมกันมาแล้วนะ..
เดี๋ยวแม่ครัวก็ตะโกนบอกว่าขาดนั่น ขาดนี่ให้ไปซื้อมาเดี๋ยวนี้.. จริงๆ สิ่งที่เตรียมไว้นั้นเมื่อถึงเวลาหลายเรื่องต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ทันทีตอนนั้น เดี๋ยวผู้ใหญ่มาทักว่าเรื่องนั้นควรจะเป็นแบบนี้ ท่านเจ้าอาวาสวัดจะเอาแบบนั้น พระผู้ใหญ่ของเราบอกว่าควรเป็นแบบนี้ ….ห้า ห้า ห้า หัวปั่นไปหมด
แต่แปลกนะครับ ทุกคนจริงจังในการจัดงานสุดฝีมือ ระหว่างดำเนินการอาจจะมีการกระแทกกระทั้นบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเจ้าภาพ ก็พี่พี่น้องน้องนี่แหละที่หัวปั่นทีเดียว เพราะมันไม่เป็นไปตามลำดับการประชุมมาทั้งหมด … แต่เราก็เข้าใจว่าทำไมเป็นเช่นนั้น….
หลักของการจัดงานคือ ประหยัด ถูกต้องตามประเพณี กระชับไม่ยืดยาด แค่การตัดสินใจเรื่องการเชิญผู้ใหญ่มาทอดผ้าบังสกุลตอนเวลาเผา สามวันก็ตกลงกันไม่ได้ อิอิ น้องคนนั้นบอกต้องเชิญผู้ใหญ่เขา น้องคนนี้ต้องเชิญเจ้านายเขา หากเชิญคนนี้ คนนั้นก็ต้องเชิญ ไม่งั้นไม่ได้ และคาดการณ์กันว่านักการเมืองท้องถิ่นก็จะแห่มากันเพื่อเสนอหน้าเป็นปกติในงานแบบนี้ และส่วนใหญ่บีบบังคับเจ้าภาพให้เขาเป็นประธานในการทอดผ้า ไม่เช่นนั้น อาจได้รับผลกระทบในเรื่องอื่นๆ ผมเป็นงงกับไอ้นักการเมืองแบบนี้ บังเอิญ ผมรู้จักหมด และเขารู้ว่าบ้านผมซื้อเสียงไม่ได้ และมาบังคับไม่ได้ แม้ว่าจะมีความพยายามแหย่มาก็ตาม…
การรับฟังความเห็นจากผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ การขอปรึกษาหารือญาติผู้ใหญ่ของเราเป็นเรื่องสำคัญ การไปกราบขอคำแนะนำพระผู้ใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ ฯลฯ และคำแนะนำทั้งหมดบางเรื่องไม่ตรงกันเลย ห้า ห้า ห้า เราต้องมาตัดสินใจและกระทำมิให้ทุกฝ่ายน้อยใจ เสียน้ำใจ…
ผมสรุปเองว่า สังคมไทยชุมชนเป็น “สังคมขลุกขลิก” ไม่สามารถเอาแบบเป๊ะๆแบบสังคมเมือง สังคมการจัดการได้ จะมีขาด มีเกิน มีน้อย มีมาก แต่งานไปได้ ทุกอย่างไปได้ เพราะทุกคนพร้อมยื่นมือมาช่วย พร้อมยื่นมือมาแนะนำ บอกกล่าว นี่คือลักษณะแม่งานของชุมชน และหากจะมีอะไรขาดๆเกินๆไปบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องต้องตำหนิ ติเตียน ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง
ประสบการณ์ครั้งนี้ผมคุยกับน้องสาวที่เป็นข้าราชการที่บ้านว่า น่าทำ “คู่มือการจัดงานศพนะ” นี่คิดแบบคนที่ทำงานสมัยใหม่ หากแม่งานชาวบ้านจริงๆมาได้ยินก็คงหัวเราะก๊ากส์ จนน้ำหมากหกแน่ๆ เพราะเรื่องที่เรานึกไม่ถึงมีตั้งเยอะ และไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ต้องแก้ปัญหากันเฉพาะหน้าตรงนั้น
การจัดงานศพในมุมของผมที่ผ่านมานั้นมันขลุกขลิกๆ แต่ผ่านไปด้วยดี หลายคนแอบชมลับหลังว่ากระชับดี และแอบมาขอเอกสารบางอย่างไปเป็นตัวอย่างด้วย เช่น การเขียนประวัติผู้วายชนม์ ก็ไม่เหมือนงานอื่นๆ เขาชอบว่างั้น การให้ลูกหลานอ่านคำกลอนให้คุณยายด้วยตัวเขาเอง เน้นการตรงเวลา และผู้มาทอดผ้าหน้าเมรุนั้นเอาเพียง 1-2 คนเท่านั้น ฯ
ความขลุกขลิกนี้ผมว่าคล้ายๆรถเมล์คอยคุณยายกลางสามแยกนั่นแหละ เมื่อเห็นสาระของเหตุการณ์นั้นแล้วก็เข้าใจ และยืดหยุ่นได้ แต่สังคมที่วุ่นวายแบบสังคมเมืองนั้น ต้องการความแน่นอน ชัดเจน ต้องการระเบียบ กฎ กติกามากกว่า ต้องการกฎหมายบังคับมากกว่า
มุมมองนี้เองที่ผมนึกไปถึงเรื่องราวหลายเรื่องที่ผมทำงานในชนบท มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ..