วิเคราะห์ เฮงซวย..
อ่าน: 1249บ่อยครั้งที่เราได้ยินคนพูดว่า ร้องเพลงคนละคีย์ เล่นเพลงคนละคีย์
บ่อยมากๆ นั่งฟังพระเทศน์แล้วไม่รู้เรื่อง เพราะพระท่านพูดคนละภาษากับผู้ฟัง อธิบายได้คือ พระท่านเอาหลักธรรมมาเทศน์ ที่มีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าปุถุชนจะฟังเพียงผ่านหูเท่านั้นแล้วเข้าใจ คำบางคำอาจจะต้องปฏิบัติเป็นแรมปีจึงจะเข้าใจลึกซึ้งถึงความหมายนั้นๆ เช่น มหาสติปัฏฐาน 4 (การเห็นกายในกาย การเห็นเวทนาในเวทนา การเห็นจิตในจิต และการเห็นธรรมในธรรม)
ยกตัวอย่าง การพิจารณาให้เห็น เวทนา ในเวทนา หมายถึง เข้าใจในเวทนาจริงๆอย่างถูกต้อง เห็นเวทนาตามความเป็นจริงไม่ถูกครอบงําโดยกิเลส หรือทิฎฐุปาทาน(ยึดมั่นในความเชื่อของตนเองอย่างผิดๆ)
เห็นว่าสักแต่เพียงกระบวนการทางธรรม(ชาติ)เป็นปกติอย่างนี้ตลอดกาล เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ไปยึดมั่นหรือถือมั่นให้เป็นอุปาทานในเวทนาหรือการเสพรสความรู้สึกรับรู้ ในอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นนั้น (ข้อมูลจาก www.kammatan.com)
ถามว่าการที่ปุถุชนคนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ เดินไปทำบุญที่วัดแล้วพระท่านพูดว่า “ให้ญาติโยมมั่นพิจารณา เวทนาในเวทนานะ…” เราจะเข้าใจไหม ผมเชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะเข้าใจ ตรงนี้เองที่ผมเรียกว่า พูดกันคนละภาษา เล่นเพลงคนละคีย์
ผมเรียนหนังสือกับท่านอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี สมัย มช.ปี 2512 นั้น ท่านเพิ่งกลับมาจากนอก และกำลังดังเป็นพลุแตก เข้ามาสอนวิชา Art appreciation เดือนแรกฟังท่านไม่รู้เรื่องเลย อะไรโลกิยะ อะไรโลกุตระ จนพวกเราเรียก Art อัปรีย์ อิอิ
การที่พระคุณเจ้าเอาสาระของมหาสติปัฏฐาน 4 มากล่าวนั้น ท่านกล่าวด้วยฐานของท่านที่มีความรู้ ความเข้าใจ มากกว่าปุถุชน กล่าวในฐานที่ท่านพัฒนาจิตไปนั่งอยู่ในสภาวธรรมนั้นๆ คำพูดของท่าน สาระของท่านจึงอยู่เหนือคนทั่วไปจะเข้าใจท่านได้
เช่นเดียวกับท่านอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี ท่านศึกษาและปฏิบัติด้านโลกุตระธรรมมามากมายจนจิตท่านขึ้นไปแขวนลอยอยู่ที่ตรงนั้น สิ่งที่ท่านพูด ทำ คิด อ่าน จึงมีภาษาออกมาที่อยู่บนฐานของธรรมที่ท่านสถิตที่ตรงนั้น ดูได้จากงานของท่าน
แน่นอนท่านอาจารย์ ดร.โสรีย์ ท่านรู้ เข้าใจ ปฏิบัติ ฝึกฝนจิตสำนึกของท่านในทางปรัชญาธรรมมากกว่าเราๆ ท่านๆ หลายคำที่ท่านแสดงความเห็น เราจึงต้องตั้งสติ ฟังอย่างโยนิโสมนสิการ แต่กระนั้นมิอาจเข้าใจได้ทั้งหมด ต้องฟังซ้ำ ขอคำอธิบายเพิ่มเติม และเหมือนท่านควบคุมสติให้นิ่งสงบอยู่ในมิตินั้น จึงไม่ง่ายนักที่เราจะเข้าใจท่าน
เมื่อเราใช้มิติของปุถุชนไปสอบถามท่าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ท่านอยู่ในมิตินั้นๆ ท่านอาจจะรำคาญกับคำถามแบบนี้ ท่านย่อมกล่าวคำที่ไม่เสนาะหูออกมา ด้วยความที่เป็นศิลปิน ภาษาที่ใช้จึงบาดหู ที่ในชีวิตปกติเราไม่ค่อยได้ยินคำนี้บ่อยนัก ผมเองพยายามปรับตัวตั้งนานกว่าจะพยายามเขย่งตัวเองขึ้นไปฟังสาระในคำกล่าวต่างๆของท่าน
คนพูดพูดด้วยคีย์หนึ่ง คนฟังฟังด้วยอีกคีย์หนึ่ง
นั่นคือ ป้าหวานอยู่ในคีย์หนึ่ง ขณะที่อาจารย์ขึ้นไปอยู่ในอีกคีย์หนึ่ง
ความต่างตรงนี้เองที่เป็นที่มาของคำว่า..เฮงซวย.. หากผมเป็นคนพูดคำถามนั้น ผมก็โดน เฮงซวย เป็นสองเท่า..