โซ่..
อ่าน: 1825งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทรายที่ผมแบกภาระอยู่นั้นเป็นน้ำหนักที่อยู่บนบ่ามาตลอด เพราะไม่สามารถสร้างการบรรลุผลให้เกษตรกรมาใช้ประโยชน์ได้มากเท่าที่คาดการณ์ เราพยายามมาหลายปี จนอาว์เปลี่ยน(ปาลียน)เปลืองเนื้อเปลืองตัวไปก็มาก
การก้าวออกจากหลักการเดิมจึงเกิดขึ้น จาก contract farming เป็นการทดลองพืชพื้นๆที่ชาวบ้านคุ้นเคยมาก่อนแล้วนั่นคือ มันสำปะหลัง การวางแผนงานจึงเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวบรู หรือไทโซ่ 3 คนหนุ่ม และอีก 1 คนสูงอายุ 16 การทดลอง ทั้งชนิดของมันสำปะหลังและ experiment (ไม่ขอลงรายละเอียด)
เมื่อการทดลองสิ้นสุด เราก็เชิญผู้ร่วมการทดลอง และชาวบ้านเป้าหมายมาพูดคุยกันเพื่อเรียนรู้ ซักถามถึงผลที่เกิดขึ้นของการทดลองเป็นอย่างไร เพื่อให้ชาวบ้านที่สนใจเอาไปขยายการผลิตที่ลดต้นทุนแต่เพิ่มผลผลิตมากขึ้น
เราทำงานกับพี่น้องบรูมานานพอสมควร ทราบดีว่า อุปนิสัยของไทโซ่นั้นแตกต่างจากเกษตรกรอื่นๆต่างกรรมต่างวาระแตกต่างกัน
นายต๊อก อายุเป็นเยาวชนตอนปลาย มีครอบครัวแล้ว จบการศึกษา ป 4 เข้าร่วมการทดลองด้วยความสมัครใจ วันที่เราจัดเวทีสรุปบทเรียนนั้นเราเชิญท่านนายอำเภอดงหลวง เจ้าพนักงานพัฒนาที่ดิน และเจ้าพนักงานการเกษตรอำเภอ เพื่อให้ท่านเหล่านั้นมารับทราบและให้คำแนะนำ และนำผลไปเผยแพร่ต่อไปด้วยเราวางแผนไว้ว่าจะเชิญเกษตรกรทั้ง 4 คนมาเป็นวิทยากร
“เวลาของเรากับชาวบ้านนั้นต่างกัน” เมื่อถึงเวลาต่างทยอยมาแต่ไม่มีทางที่จะตรงกับเวลาตามกำหนดการ พอดีข้าราชการที่เราเชิญมานั้นท่านเข้าใจก็ไม่ได้ตำหนิ แต่อย่างใด
เมื่อถึงเวลาอันสมควร ปรากฏว่า นายต๊อก เชื้อคำฮดเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดลองไม่มาปรากฏตัว ยุ่งละหว่า น้องเรารีบขับรถวิ่งหาตัวกันใหญ่ นายต๊อกไปไหนนนนนนน…..
สักพักน้องเอาตัวนายต๊อกมาจนได้ แกยิ้มแหยๆ….
ผม : ถามว่าหายไปไหน ทำไมไม่มาร่วมสรุปบทเรียน
ต๊อก: ผมกลัวขึ้นเวที ผมไม่อยากขึ้นเวที ผมพูดไม่เก่ง..
ผม: ……?!?!?!……
การจัดเวทีสนทนาจึงดัดแปลงให้เรียบง่ายที่สุด เป็นการนั่งล้อมวง มีผมเป็นผู้กระตุ้น ซักถามประเด็นต่างๆ….
ข้าราชการที่มาร่วมงานต่างชื่นชมว่าเป็นการสรุปบทเรียนที่น่าสนใจ แม้เขาเองก็ได้เรียนรู้อีกหลายอย่างครับ…
หลังสิ้นสุดงานผมถามน้องว่า ไปหานายต๊อกได้ที่ไหน เขาตอบว่า โน้น…ชี้ไปที่ตีนภูเขา นายต๊อกแอบไปขุดมันสำปะหลังที่ตีนเขานั้น…
การทำงานกับชาวบ้านนั้น จะเอามาตรฐานข้างนอกไปใช้..ในบางพื้นที่นั้นจงใตร่ตรองให้หนัก