การประเมินการพึ่งตนเองของไทโซ่ดงหลวง

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 16, 2009 เวลา 0:01 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2926

 

การประเมินสถานการณ์การพึ่งตนเองของพี่น้องไทโซ่ ดงหลวง

 


ตอก..52 และพื้นที่ชาวบ้าน..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 10, 2009 เวลา 22:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2960

สายวันนั้นรีบเร่งจะไปประชุมกับ อบต.เรื่องข้อบัญญัติการบริหารงานสูบน้ำเพื่อการชลประทาน ผมขับรถผ่านบ้านนาหลัก ก็ต้องหยุดกึก สายตาไปเห็นผู้นำเราขี่มอเตอร์ไซด์ มีไม้ไผ่ท่อนอยู่ด้านหลัง


ลูกน้องผมสองคนนั่งในรถดูเธอเฉยๆ หรือใจจรดจ่ออยู่กับการประชุม แต่ผมต้องลงไปที่มอเตอร์ไซด์คันนั้น ก่อนที่ผมจะเอ่ยปากใดๆ ชาวบ้านท่านนั้นก็ยิ้มให้ผมอย่างยินดีและจริงใจ ผมทักทายตามปกติ

ไม่บอกก็รู้ว่าชาวบ้านท่านนี้ไปเอาไผ่ป่ามาเพื่อเอาไปแปรรูปเป็นตอกเตรียมมัดรวงข้าวที่กำลังจะสุกในไม่นานเท่าใดนัก

# ฤดูทำงานหนักมาถึงอีกแล้ว

# กิจกรรมการประชุมชาวบ้านต้องเบาบางลงอย่างมาก

# ข้าวใหม่กำลังจะออก ช่วงภาวะขาดข้าวกำลังจะหมดไป

# พายุกิสนา ผ่านพ้นไปแล้ว และฤดูหนาวกำลังจะเข้ามาแทนที่


มองไปรอบๆบริเวณหมู่บ้าน เห็นกองขี้ตอก ร่องรอยของการเตรียมตัวรับข้าวใหม่ เห็นชาวบ้านผึ่งตอกที่ “จัก” แล้ว บางคนก็กำลังลงมือทำ..

วิถีชาวบ้านวนเวียนเช่นนี้ เหมือนน้ำที่ไหลไป ไหลไป เหมือนสายพานเครื่องจักรที่หมุนวนเวียนรอบวิถีที่ธรรมชาติการดำรงกำหนดให้ไว้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ไม่ได้มีตารางแผนงานบนกระดาษ แต่มีตารางในสำนึก ในสัญชาติญาณ


ผ่านหมู่บ้านออกไป ก็หยุดรถอีก ดูข้าวในทุ่ง สีทองเริ่มทอแสงออกมา ใช้เวลาจนลืมตัวว่าต้องไปประชุมอีกไม่กี่นาทีนี้แล้ว…


นึกย้อนไปปีที่แล้วที่พบธุรกิจค้าตอกมัดข้าวที่มาจากลำปาง บุกถึงถิ่นมุกดาหารที่บ้านคำชะอี และที่ทราบตลอดริมโขงก็มีธุรกิจค้าตอกที่มาจากฝั่งลาว ขึ้นที่อุบล นครพนม และที่อื่นๆที่ยังไม่ทราบข่าวยืนยัน ธุรกิจนี้ทำเงินปีละนับล้านบาท แค่ไผ่ป่าที่เอามาจักเป็นตอกแบบง่ายๆ..


ในโอกาสเดียวกันที่ผมต้องบันทึกภาพนี้ไว้ คือการปลูกข้าวในที่ว่างเพียงนิดหน่อยข้างทาง ข้างถนน นี่คือการใช้พื้นที่ทุกกระเบียดเพื่อการปลูกข้าวเอาไว้กิน ของไทโซ่ ดงหลวง เพราะพื้นที่ทำกินมีน้อย เพราะข้าวไม่พอกิน พื้นที่ใดจะปลูกข้าวได้เป็นใช้ประโยชน์ทั้งหมด…


เหตุการณ์บ้านเมืองมากมายที่ครอบครองพื้นที่สื่อสาธารณะไปหมดสิ้น หากจะมีชาวบ้านบ้างก็ต้องเกี่ยวข้องกับข้าราชการ หรือนักการเมือง เช่น กรณียายไฮ เหอะ แล้วยายไฮก็จะหายไปจากพื้นที่นั้นๆ

แล้วพ่อสาย นายหล่อง ป้าลำไย พ่อใบ นายสมจิต..ไปอยู่ที่ไหนในพื้นที่สาธารณะ เพราะเขาไม่มีอะไรน่าสนใจจะเป็นข่าวหรือ…

เกษตรกรชายป่า ที่เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างซื่อสัตย์ เก็บกวาดเอาไปบำรุงชาติ แต่งบประมาณที่ย้อนกลับมานั้นมันน้อยนิดเสียจนชาวบ้านต้องดิ้นรนกันเองในเรื่องทำมาหากิน

เถอะ..ชาวบ้านอย่างเราก็ยินดีเราซื่อสัตย์ จริงใจ และเทิดทูนองค์เหนือหัวที่ทรงพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียง

ขอพื้นที่สาธารณะให้เรามีตัวมีตนบ้างเถอะนะ.. แม้คุณจะเพียงผ่านมาแล้วผ่านไปก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรหรอก..

ขอบคุณที่บ้านแห่งนี้แบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้าน..


คราม..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2009 เวลา 21:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 4633

คนที่บ้านผมคลั่งผ้าครามยิ่งนัก ท่องไปที่ไหนพบผ้าครามเป็นคว้ามาเต็มตู้ไปหมด โดยเฉพาะฝ้ายครามสวยๆที่ย้อมด้วยกรรมวิธีโบราณนั้น ผมเองก็ชอบครับ


ก็สีสวย ตัดเสื้อผ้าใส่ก็งดงาม ภูมิฐาน และสามารถตัดเสื้อได้ตั้งแต่ ฮ่อมไปจนเชิ้ต และสูทงามหรู

เท่าที่ทำงานพัฒนาชนบทมานั้นเราพบหมู่บ้านที่ทอผ้าฝ้ายและย้อมครามหลายแห่ง แต่ละแห่งก็สวย แต่ที่ติดตาติดใจก็ต้องที่สกลนคร กลุ่ม ผู้ไท กะเลิง ญ้อ แถบ อ.กุดบากและ ผ่านทีไรเสียเงินทุกที..


ผู้ไทที่เรณูนคร หรือคำชะอีก็ไม่แพ้ใครครับ กลุ่มแม่บ้านใช้เวลาว่างทอส่งขายทั้งแปรรูปมากมาย เป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพรองไปเลย โดยเฉพาะกลุ่มศิลปาชีพ ทุกปีผู้แทนสมเด็จท่านจะมาตระเวนรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านไป ท่านคงทราบดี


ที่ทำเงินทำทองเป็นกอบเป็นกำคงมีหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็ที่บ้านภู อ.กุดบาก กลุ่มแม่บ้านโดยการสนับสนุนของ NGO มาส่งเสริมการผลิตและพัฒนาฝีมือจนส่งออกไปญี่ปุ่นนานหลายปีมาแล้ว และอีกหลายอำเภอของสกลนครนั้นมีกลุ่มทอและ “ผลิตคราม” ส่งขายมาภาคเหนือด้วยซ้ำไป คนข้างกายบอกว่าทำเงินปีละนับสิบล้าน????


กลุ่มไทโซ่ ดงหลวง ของอาว์เปลี่ยน ก็มีผลิตบ้างแต่ในมุมมองของผมเห็นว่าไม่เด่นโดดอย่างของสกลนคร

วันนี้ไม่ได้มาขายเสื้อผ้าครามนะครับ แต่ระหว่างนั่งรถกลับบ้านขอนแก่น มีน้องที่ทำงานที่เป็นผู้ไท อ.นาคูนั่งรถมาด้วยก็คุยกันถึงเรื่องนี้ แล้วเธอก็บอกว่า

พี่..คนโบราณนั้นเขาใส่แต่เสื้อย้อมครามผ้าฝ้ายทั้งนั้น ไม่ว่างานไหนๆ หน้าร้อนก็ไม่ร้อน หน้าหนาวก็อุ่น ผมเองก็ตอบว่าเห็นด้วยเพราะเคยใช้มาพอสมควร

เธอคุยต่อไปอีกว่า พี่.. แม่หนูบอกมาตั้งแต่หนูยังเด็กๆว่า หากโดนสัตว์กัด ต่อย เช่น มด แมลงละก็ หายาหม่อง ยาแก้อื่นๆไม่ได้ ก็ให้เอาผ้าฝ้ายที่ย้อมครามนี้ไปชุบน้ำหมาดๆ อิงของร้อนๆแล้วเอามานาบลงตรงที่สัตว์มากัด ต่อย รับรองได้ผลชะงัด..


อีกอย่างที่คนโบราณใช้กันมานานคือ หากเข้าป่าขึ้นดอย เกิดไปกินผิด เช่น กินเห็ดมีพิษเข้าละก็ ให้เอาผ้าฝ้ายย้อมครามนี้มาแช่น้ำในขัน สักพักหนึ่ง แล้วให้เอาน้ำในขันนั้นมาดื่มกิน ได้ผลมามากต่อมากแล้ว

หนูเองก็ไม่เคย..แต่มีครั้งหนึ่งหนูใส่เสื้อผ้าครามเข้าไปชนบทที่กาฬสินธุ์ มีพ่อเฒ่าคนหนึ่งเดินมาจับเสื้อหนูแล้วก็ออกปากขอดื้อๆ ว่าอยากได้ผ้าฝ้ายย้อมครามโบราณแบบนี้มานานแล้ว จะเก็บเอาไว้ และเพื่อใช้แก้กินผิดกินเบื่อดังกล่าวด้วย… ผู้เฒ่าอ้อนวอนจนเธอต้องยกให้ทั้งๆที่บอกว่าหนูใช้ใส่แล้วมันสกปรก แกก็ไม่ถือ….

ผมขับรถไป ใจหนึ่งก็น้อมรับความรู้นี้

แต่อีกหลายคนคงส่งเสียง หึ.. หึ.. อยู่ในลำคอ


รับผู้ว่าแล้วมารับทูต

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 2, 2009 เวลา 1:56 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1829


เดินทางไปมุกดาหาร สายๆ เพื่องานในหน้าที่และงานสังคม

หนึ่ง ไปต้อนรับผู้ว่าคนใหม่ ทำไมต้องไปต้อนรับ..

สอง ไปต้อนรับท่านทูตไทยประจำเวียตนาม รูปหล่อ คนเก่ง โตเร็ว

ท่านทูตมาราชการที่อุดร แล้วขอเลยมาพบเพื่อนเก่าที่มุกดาหาร เดี๋ยวค่อยลงละเอียดกันน่าสนใจครับคุยกับทูต

ทั้งสองท่าน ผู้ว่ากับทูต เป็นลูกช้างรหัส 17 ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน ตอนทั้งคู่เข้า มช ผมจบไปทำงานพัฒนาชาวบ้านที่สะเมิงแล้ว อิอิ


งานสูบน้ำห้วยบางทราย ดงหลวง

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 12, 2009 เวลา 21:52 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2639

บ้านพังแดง เป็นหมู่บ้านไทโซ่ ที่มีที่ตั้งเป็นที่ค่อนข้างราบ เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง อาชีพทำนาปี ข้าวไร่และมันสำปะหลังเป็นหลัก ขึ้นป่าเอาของป่ามาเป็นอาหารและเอาไปแลกข้าวบ้าง จากการทำ Feasibility study เมื่อก่อนที่จะมีโครงการนั้นพบว่าเกษตรกรต้องการแหล่งน้ำมาทำการเกษตร แม้ว่าจะมีลำห้วยบางทรายไหลผ่าน แต่ก็มีปัญหาการนำน้ำมาใช้


โครงการจึงตัดสินใจวางแผนก่อสร้างโครงการสูบน้ำเพื่อการชลประทานขึ้น มีพื้นที่รับประโยชน์ 1500 ไร่ ระบบน้ำใช้การสูบน้ำไปเก็บไว้บนถังแล้วปล่อยน้ำไปตามระบบท่อลึกใต้ดิน 1 เมตร ไปโผล่ที่แปลงนาเกษตรกรจำนวน 145 หัวจ่าย เกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบค่ากระแสไฟฟ้าโดยทางราชการจะรับผิดชอบในช่วง 3 ปีแรก แต่ทั้ง 3 ปีนั้นก็เก็บค่าบริการน้ำจากเกษตรกรทุกเดือนตามมิเตอร์น้ำเหมือนระบบประปาในเมืองในอัตรา ลบม.ละ .65 บาท เก็บเป็นกองทุนไว้ เมื่อปีที่ 4 เกษตรกรก็ต้องรับผิดชอบเต็มร้อยเปอร์เซนต์


รูปซ้ายมือนั้นคืออาคารสูบน้ำเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ มีเครื่องสูบน้ำสองชุด เป็นระบบอัตโนมัติได้ และ Manual ได้ระบบไฟฟ้าเหมือนระบบที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์
(ดีซะไม่เมี๊ยะ….ดีเกินไป…)

รูปขวามือนั่นแหละคือปัญหา A คืออาคารสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยบางทราย B คือถังเก็บกักน้ำก่อนปล่อยเข้าสู่ระบบท่อ เพราะที่ตั้งอาคารอยู่ตรงทางโค้งทางฝั่งซ้ายของลำห้วยบางทรายเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึง น้ำก็พัดพาเอาทรายตามธรรมชาติไหลมาด้วย ซึ่งก็ไหลเข้ามาถมทับหัวสูบน้ำ ตามรูปด้านล่างซ้ายมือ


ปริมาณทรายที่ถมทับนั้นมากมายใช้แรงงานคน ประมาณสองวันเต็มๆ ที่เหน็ดเหนื่อย ขั้นตอนการเอาทรายออกก็ต้องนั่งเรือข้ามฝั่งเอาถุงปุ๋ยที่ซื้อมาจากเมืองไปใส่ทรายบนตลิ่ง ใส่เรือนำข้ามฝั่งมาวางซ้อนทับกันเป็นเขื่อนแล้วสูบน้ำภายในอาคารหัวสูบน้ำออก แค่นี้ก็ค่อนวันเข้าไปแล้ว จากนั้นก็เปิดลูกกรงเหล็กลงไปที่อาคารหัวสูบน้ำค่อยๆตัดทรายทีละกระป่อง จนเอาทรายที่ถมทับหัวสูบน้ำออกหมด..


ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างก็มาร่วมใช้แรงงานกัน ใครติดธุระไม่ได้มาก็เอาไก่ต้มมาแทน วัยรุ่นหรือลูกหลานที่กำลังหนุ่มแน่นก็เป็นแรงงานหลักต่างมาช่วยกันเต็มที่


เหนื่อยก็ล้อมวงกินข้าวเหนียวที่เตรียมมา เนื้อที่เป็นโปรตีนคือ หนูป่าย่างหอมกรุ่น.. ชาวบ้านเหนือยอย่างนี้ทุกปี จนมาสรุปบทเรียนว่า ปัญหานี้ควรแก้ไข โดยการทำหัวสูบน้ำยื่นออกไปกลางลำห้วยบางทราย เพราะตรงนั้นน้ำไหลตลอดจะไม่มีทราย ทางวิศวกรราชการมาดูหลายครั้ง ก็ยังไม่ได้แก้ไขอย่างใด

ชาวบ้านอ่อนใจที่ระบบถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้เตรียมแก้ปัญหาสิ่งนี้ ทุกปีก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งจะต้องระดมแรงงานมาขุดลอก คนที่นั่งอยู่กรุงเทพฯก็คิดว่า “ราชการสร้างให้แล้ว แค่นี้ชาวบ้านก็ช่วยๆกันหน่อยซิ…” อุปสรรคนี้เป็นประการหนึ่งที่ทำให้การใช้ประโยชน์จากโครงการไม่เป็นไปตามที่โครงการคาดหวัง…

ประเด็นคือ ที่สถานที่อื่นที่สามารถตั้งอาคารสูบน้ำได้โดยไม่เกิดปัญหาทรายมาถมทับหัวสูบน้ำ
นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนอื่นๆอีก เช่น ปลายท่อระบบน้ำไม่มีทางเปิดออก, น้ำที่ปล่อยลงท่อแม้จะมีตัวกรอง แต่ตะกอนขนาดเล็กก็หลุดไปตามท่อได้ ก็จะไปจับตัวที่มิเตอร์วัดปริมาณการใช้น้ำ ทำให้เกิดไม่หมุน ก็ไม่ทราบปริมาณการใช้น้ำ ท่อรั่ว แกนวาล์วเปิดปิดน้ำที่เครื่องสูบน้ำเป็นเหล็กหล่อ เกิดหักขึ้นมา ผ่านไปเกือบปีแล้วยังไม่ซ่อม…ฯ

ระบบที่ซับซ้อน ดีเกินไปนั้นเมื่อถ่ายโอนให้อบต. จะสามารถดูแลได้มากน้อยแค่ไหน.. งานแบบนี้หากอยู่ภายใต้ระบบราชการก็ยากที่จะคล่องตัวในการบำรุงรักษา แค่บริหารจัดการระบบก็หนักอึ้งแล้ว ยังต้องมาบริหารชาวบ้านให้มาใช้ประโยชน์อีก…

แค่โครงการสูบน้ำนี้โครงการเดียวก็ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์… มิเช่นนั้นงบที่ลงทุนไปครึ่งร้อยล้านบาท ก็จะเป็นซากอีกแห่งหนึ่งของระบบที่มีเจตนาดี แต่ไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ


ไม้ข่มเหง

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 12, 2009 เวลา 2:03 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2777

ผมไม่ได้ไปข่มเหงใคร และใครก็ไม่ได้มาข่มเหงผมหรอกครับ …

แล้วคำนี้เกี่ยวกับรูปที่เอามาแสดงอย่างไร หลายท่านคงสงสัย


เมื่อเข้าที่ทำงานตอนเช้าวันนี้ก็มีโน๊ทบนโต๊ะทำงานกล่าวว่า พ่อไข วงศ์กระโซ่เสียชีวิตแล้ว จะเผาวันนี้ ขอเชิญ…เข้าร่วมงานศพด้วย

พ่อไข เป็นผู้นำชาวบ้านที่เราสนิทสนมด้วยตั้งแต่แรก พ่อไขเป็นกลุ่มคนแรกๆที่ดงหลวงที่ทดลองทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเพื่อใส่พืชผักต่างๆจนได้ผล พ่อไขทำเกษตรผสมผสานให้คนอื่นๆดู ขุดสระน้ำ เอาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ ตามแนวคิดของเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนคร

พ่อไขยังมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นมัคทายกวัด ดูแลเอาใจใส่พระสงฆ์องค์เจ้าทุกด้าน


วัย 70 เศษที่มาล้มป่วยด้วยเรื่องของตับ เร่ร่อนไปรักษาตามโรงพยาบาลมามากมายทั้งของรัฐของเอกชน ทั้งสมุนไพร ..แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

กว่าผมจะเสร็จงานที่ทำงานก็บ่ายแก่แล้ว รีบเดินทางประมาณ 60 กม.เข้าดงหลวงมาถึงบ้านงานพบว่าเคลื่อนศพไปสถานที่เผาแล้ว ผมยิ่งงงเพราะเขาใช้สวนของพ่อไขเป็นสถานที่เผาศพ ไม่ได้ใช้วัด หรือป่าช้า ทั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของลูกหลาน โดยเฉพาะกลุ่มไทโซ่ ที่จะเอาบรรพบุรุษไปเผาและเก็บกระดูกไว้ที่สวน ที่นาของเจ้าของ

ผมได้เห็นพิธีแบบชาวบ้านที่แปลกตาไปจากแบบเมือง การกองฟืนแล้วเอาศพไปวางไว้ข้างบนนั้นทางภาคกลางเรียก “เผามอญ” หลังจากพระทำพิธีแล้วญาติสนิท มิตรสหายเอาน้ำมะพร้าว และน้ำพิเศษชนิดหนึ่งไปรดลงใบหน้าศพ ครบถ้วนแล้ว ก็จะทำพิธีเผา

เห็นชาวบ้านช่วยกัน ยกไม้ขนาดใหญ่มากจำนวน 4 ต้นเอามาวางพิงทับโลงศพด้านละสองต้น ดังภาพ

ผมถามผู้นำชาวบ้านว่า ไม้ใหญ่ที่เอามาอิง มาทับนั้นทำไว้ทำไม… ผู้นำบอกผมว่า เอามาทับไม่ให้เวลาเผาศพ เผาโลงแล้ว โลงจะกลิ้งตกลงมาเพราะการเผาไหม้น่ะซี เขาเรียกไม้สี่ต้นนี้ว่า “ไม้ข่มเหง” ผมฟังไม่ผิดครับเพราะซักผู้นำจนมั่นใจว่าเรียกเช่นนั้นจริงๆ เป็นคำเดียวกับ ข่มเหง นั่นแหละ ผู้นำคนนั้นยืนยัน

เอาไม้ใหญ่ไปวางทับเพราะต้องการ “ข่มเหง” โลงศพไม่ให้ไหลกลิ้งลงมาช่วงเผานั่นเอง…..

(ใช้มือถือถ่ายรูปช่วงเย็นมากแล้วจึงไม่ชัด)


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 2

อ่าน: 3888

การพัฒนาแก่ง จุดเริ่มของปัญหา..?

เมื่อฤดูฝนผ่านไปน้ำในแม่น้ำชีลดลง ก็ดึงเอาน้ำในแก่งละว้าไหลออกเป็นปกติที่ห้วยจิบแจงและห้วยปากผีแป้ง เกษตรกรจึงมีความเห็นว่าควรสร้างทำนบกั้นการไหลออกที่ห้วยจิบแจง แต่พบว่ากำลังของชาวบ้านไม่สามารถสร้างทำนบที่แข็งแรงได้ สร้างขึ้นมาก็พังทลายทุกปี จึงเสนอทางราชการเข้ามาพิจารณาก่อสร้างอย่างแข็งแรงต่อไป


เรื่องนี้ตกไปอยู่ที่ อบจ.ขอนแก่น ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและมีความชำนาญเฉพาะด้านอย่างกรมชลประทานควรเข้ามารับผิดชอบ กรมชลจึงออกมาสำรวจรายละเอียดแล้วจัดทำการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำตามที่ชาวบ้านเสนอให้แล้วยังจัดทำคันดินรอบแก่งละว้า ทำนบดินเป็นชนิด Homogeneous Type
สันทำนบดินกว้าง 6.00 เมตรยาว 7/668.25 กม. ไม่มีระบบส่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีอาคารทิ้งน้ำ (River Outlet) อาคารระบายน้ำล้น (Service spillway) ทางระบายน้ำฉุกเฉิน (Emergency Spillway) ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 2,920 เมตร

เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ สภาพน้ำในแก่งละว้าก็เริ่มผิดปกติไปจากเดิม ปริมาณน้ำไหลเข้าลดลง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรอบแก่งละว้ามากขึ้น

เมื่อทรัพยากรน้ำแก่งละว้าถูกแย่งชิง..

นานแสนนานมาแล้วที่ชาวบ้านต่างอพยพมาจากต่างถิ่นเข้ามาตั้งรกรากรอบแก่งละว้าแห่งนี้ เพียงเพื่อใช้ทรัพยากรน้ำทำมาหากินไปตามวิถี แต่แล้ววันหนึ่งน้ำแห่งนี้ถูกแบ่งไปให้ชาวเมืองอย่างเทศบาลบ้านไผ่โดยการชักน้ำใส่ท่อยาม 15 กม.ไปทำประปาในปริมาณมากมายต่อวัน เมื่อกรมชลประทานมาก่อสร้างทำนบกั้นน้ำไหลออกจากก่งละว้า ชาวบ้านต่างชื่นชม แต่เมื่อสร้างคันดินรอบแก่งด้วย

วัตถุประสงค์ที่ทางราชการตั้งไว้คือ



1 ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบของกิจการประปา อ.บ้านไผ่ ในอัตรา 99,000 ม.3/วัน น้ำจำนวนนี้รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในเขตเทศบาล

2 ใช้เป็นแหล่งแพร่-เพาะและขยายปลาน้ำจืด รวมทั้งราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจะได้ใช้เป็นแหล่งจับปลาได้ด้วย
3 ราษฎรและสัตว์ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่รอบหนองสามารถจะอาศัยใช้น้ำในหนองเพื่อการอุปโภคบริโภค ในฤดูแล้ง - ประโยชน์โดยทางอ้อม - ราษฎรที่อาศัยอยู่รอบๆ หนองสามารถจะซักน้ำในหนองไปใช้ในการเพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งเท่าที่ปริมาณน้ำต้นทุนจะอำนวย
4 อาจใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับโรงงาน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นในอนาคต
5 ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของราษฎรที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง


เมื่อท่านเห็นวัตถุประสงค์นี้แล้วท่านคิดอะไร…..

น้ำในแก่งละว้าที่ชาวบ้าน 40 หมู่บ้านได้กินได้ใช้มานานแสนนานกลับกลายเป็น น้ำแก่งละว้าเพื่อคนในเทศบาลบ้านไผ่ไปแล้ว ส่วนเพื่อเกษตรกรนั้นเอกสารราชการกล่าวว่า …”ต้องพิจารณาน้ำต้นทุนที่จะอำนวยก่อน….”

หากท่านเป็นชาวบ้านตาสีตาสาที่รอบแก่งละว้านี้

ท่านคิดอะไรบ้าง และจะทำอะไรบ้าง….???!!!

ขอบคุณแหล่งข้อมูล http://www.rid6.net/~khonkaen/MidProject/Lawa/Lawa.htm

http://ridceo.rid.go.th/khonkhan/datamid/pm_lawa.html


แด่น้องผู้หิวโหย..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 2, 2009 เวลา 13:20 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3037

เมื่อเรามาถึงดงหลวง จังหวัดมุกดาหารใหม่ๆ เราตื่นเต้นที่จะพบกับชนเผ่าที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน ด้วยนิสัยคนทำงานชุมชนก็ตระเวนหาข้อมูลเกี่ยวกับชนเผ่ากะโซ่ ทั้งจากการบอกเล่า และเอกสารเท่าที่จะหามาได้ ชิ้นสำคัญก็เป็น เอกสารจากสำนักวัฒนธรรมของจังหวัดฯ และบันทึกสหายใหญ่ พคท. สมัยที่อยู่ป่าดงหลวง

ส่วนใหญ่คำบอกเล่าของทางข้าราชการก็จะมอง กะโซ่ ในแง่ต่ำต้อย ด้อยการศึกษา สกปรก นับถือผี พัฒนาไม่ขึ้น ล้าหลัง นิยมขึ้นภูเขา ฯลฯ ราชการจึงระดมทรัพยากรเข้าไปฟื้นฟู รวมทั้งมีโครงการพระราชดำริอยู่ที่นั่นด้วย

เมื่อเราเข้าไปครั้งแรกๆ ในหัวก็จะมีข้อมูลเหล่านั้นเต็มไปหมด จึงพยายามพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ฯ และคิดต่อไปว่า โครงการที่เราเข้ามารับผิดชอบนั้นจะทำให้เขาพัฒนาขึ้นได้อย่างไรบ้างภายใต้กรอบภารกิจที่ถูกกำหนดมาแล้วตามระบบ

มีสิ่งสะดุดใจหลายประเด็นที่เราพยายามควานหารอยเชื่อมการเข้าถึง เข้าใจและพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เช่น การยกหมู่บ้านเข้าป่า ทั้งตำบล และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ออกมาจากป่า การนับถือผี รูปรอยของการปรับตัว มุมสะท้อนกลับของสหายนำในป่าที่ว่าเป็นพวกวีระชนเอกชน ฯ


เมื่อเราใช้กระบวนการ PRA (Participatory Rapid Appraisal)ศึกษาชุมชนอย่างละเอียด ปัญหาใหญ่ที่เราพบประการหนึ่งก็คือ การขาดแคลนข้าวสำหรับบริโภค เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า หลายครอบครัวขาดแคลนมากกว่า 4 เดือนโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่เป็นรอยต่อของ “ข้าวเก่าหมด ข้าวใหม่ยังไม่ออก”

ปัญหานี้ในอดีต เกิดขบวนการเข้าป่าหาของป่าไปแลกข้าวตามหมู่บ้านรอบๆเทือกเขาภูพาน ตั้งแต่ อ.นาแก ไปจนถึง อ.เขาวง อ.คำชะอี เรื่องราวการหาของป่าแลกข้าวก็พิลึกกึกกือมากมาย….


แม้กระทั่งวันนี้การขาดแคลนข้าวจะลดลงแต่ก็ยังมีภาพสะเทือนใจให้ได้พบเห็นกัน
ในภาพนี้ พ่อแม่ต้องออกไปทำมาหากิน ส่วนใหญ่คือเข้าป่าไปหาพืช สัตว์ต่างๆมาประกอบอาหารไปวันวัน หรือหากโชคดีก็ได้สัตว์มีราคาก็ขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน พี่ต้องรับหน้าที่ดูแลน้องๆเล็ก…


ที่ผ่านมาการแก้ไขของชาวกะโซ่คือ การเข้าป่าไปหาสัตว์ ทั้งกิน ขาย การรับจ้างต่างๆในไร่นาซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีการจ้าง การส่งลูกไปทำงานในเมืองแล้วส่งเงินมาทางบ้าน เคยมีการตั้งธนาคารข้าวแต่พบว่าชาวบ้านจะไม่นิยมบริโภคข้าวที่เก็บไว้นานๆ จะเอาข้าวไปขายแล้วเอาเงินมาให้กู้แก้ปัญหาอีกที..???


กิจกรรมการเพิ่มผลผลิตข้าวจึงถูกระดมความรู้ความสามารถเข้ามามากขึ้น และกระบวนการจัดการอื่นๆก็ตามมา แม้จะไม่ราบรื่นนักแต่ก็ได้พยายามทำกันเต็มกำลัง

เพื่อนร่วมงานจับภาพนี้ได้ พี่กำลังตำมะขามสดกับกะปิให้น้องเล็กสองคนกินเป็นมื้อกลางวัน….???

นับวันผมน้ำหนักลดลงไปเรื่อยๆแล้วครับ….


เห็ดเรืองแสง..

16 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 24, 2009 เวลา 22:29 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 7373

วันนี้โครงการมีการสัมมนาเกษตรกรผู้นำกิจกรรมด้านการเกษตรสาระต่างๆในดงหลวงทั้งหมด 40 คนมาคุยกันตามแผนงาน ก็เป็นกึ่งรูปแบบทางการตามระเบียบราชการที่มีกฎระเบียบกำกับ..


ผมไม่พูดสาระการประชุมนะครับ แต่มีสาระที่เกิดขึ้นระหว่างการคุยกันช่วงพัก อย่างที่ผมกล่าวถึงบ่อยๆว่าพี่น้องดงหลวงนั้นวิถีชีวิตเขานั้นพึ่งพิงป่าสูงมาก


วันนี้มีอดีตข้าราชการท่านหนึ่งมาสารภาพว่าอดีตของท่านนั้นคือนายพรานล่าสัตว์ป่ามาขาย เพราะเงินเดือนครูนั้นนิดหน่อย พอแค่ส่งลูกเรียนหนังสือเท่านั้น ต้องเข้าป่าล่าสัตว์หารายได้เพิ่ม ไม่ลงรายละเอียด

มีสิ่งหนึ่งที่อดีตนายพรานกล่าวว่า โอ กลางคืนผมก็ไป เอาไฟฉายไป หมาตัวหนึ่ง ผมได้สัตว์ทุกครั้ง เพราะผมยิงแม่น ไม่ว่าปืนแก็ป อาก้า หรือ เอ็ม16 ก็ตาม ผมยิงแม่น แม้ปัจจุบันนี้..??

บ่อยครั้งผมไปกลางคืนเห็นเห็ดเรืองแสง... ผมหูผึ่งเลย จึงถามรายละเอียดว่ามันเป็นอย่างไรเห็ดเรืองแสง… มีทั้งเห็ดที่เราฉายไฟไปแล้วเรืองแสงออกมา และที่มืดๆก็เรืองแสงออกมา พวกนี้เป็นเห็ดพิษทั้งนั้น กินไม่ได้ มันก็แปลกดีนะครับว่าเห็ดมันเรืองแสงได้


แสงของเห็ดสีอะไรครับ… สีนวลๆเหมือนไฟฉายเรานี่แหละ พบบ่อย

มีอดีตสหายป่าท่านหนึ่ง บอกว่า สมัยอยู่ป่านั้นเราจะเดินทางโยกย้ายที่พัก หรือปฏิบัติการกลางคืนกัน แม้มีไฟฉายแต่เราไม่ใช้เพราะจะเสียลับ เราจะใช้เห็ดเรืองแสงเหล่านี้แหละ เอามาติดข้างหลังเสื้อบ้าง เป้บ้าง แล้วจึงเดินทางไปมืดๆ คนเดินข้างหลังก็เห็นเราว่าเดินไปทางไหนเพราะเห็ดเรืองแสงนี่แหละ…


ผมสนใจจึงตามไปหาครู Goo ได้ความรู้เพิ่มเติมมาว่า ที่คณะเกษตรฯ มข.มีคณาจารย์ศึกษาประโยชน์ของเห็ดเรืองแสงมาหลายปีแล้ว และพบว่าสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ที่มักเป็นศัตรูการปลูกมะเขือเทศ

ในต่างประเทศ เห็ดเรืองแสงในสกุลอื่นๆ มีสารบางชนิดที่สามารถบำบัดโรคมะเร็ง และยับยั้งการดื้อสารแอนตี้ไบโอติกส์ได้

เอกสารของ มข. ยังกล่าวว่า เห็ดเหล่านี้เปล่งแสงได้โดยไม่ปล่อยความร้อนออกมา ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ไบโอลูมิเนสเซนซ์

ผมอยากทำงานด้านค้นคว้าพืชป่าที่จะมีประโยชน์แก่มนุษยชาติจริงๆ เพราะยังมีอีกมากมายที่เราไม่รู้จักคุณค่าของเขา แม้เห็ดพิษเรืองแสงนี้ ก็มีอีกมากมายหลายชนิดที่เรายังไม่ได้ศึกษา…

——————–

แหล่งข้อมูลและรูป : http://www.darasart.com/webboard/Question.asp?GID=3277 ; http://ora.kku.ac.th/res_kku/Abstract/AbstractView.asp?Qid=766385826; http://board.212cafe.com/viewcomment.php?aID=7007494&user=roverden30&id=25&page=2&page_limit=50



ห่วงพี่น้องภาคใต้

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 16, 2009 เวลา 10:20 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1816

 

 

จะไปปลูกต้นไม้ทำบุญ

อุทิศส่วนกุศล

ให้พี่น้องชาวใต้ที่สูญเสียชีวิต..



Main: 0.085767984390259 sec
Sidebar: 0.059694051742554 sec