แด่น้องผู้หิวโหย..
อ่าน: 3016เมื่อเรามาถึงดงหลวง จังหวัดมุกดาหารใหม่ๆ เราตื่นเต้นที่จะพบกับชนเผ่าที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน ด้วยนิสัยคนทำงานชุมชนก็ตระเวนหาข้อมูลเกี่ยวกับชนเผ่ากะโซ่ ทั้งจากการบอกเล่า และเอกสารเท่าที่จะหามาได้ ชิ้นสำคัญก็เป็น เอกสารจากสำนักวัฒนธรรมของจังหวัดฯ และบันทึกสหายใหญ่ พคท. สมัยที่อยู่ป่าดงหลวง
ส่วนใหญ่คำบอกเล่าของทางข้าราชการก็จะมอง กะโซ่ ในแง่ต่ำต้อย ด้อยการศึกษา สกปรก นับถือผี พัฒนาไม่ขึ้น ล้าหลัง นิยมขึ้นภูเขา ฯลฯ ราชการจึงระดมทรัพยากรเข้าไปฟื้นฟู รวมทั้งมีโครงการพระราชดำริอยู่ที่นั่นด้วย
เมื่อเราเข้าไปครั้งแรกๆ ในหัวก็จะมีข้อมูลเหล่านั้นเต็มไปหมด จึงพยายามพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ฯ และคิดต่อไปว่า โครงการที่เราเข้ามารับผิดชอบนั้นจะทำให้เขาพัฒนาขึ้นได้อย่างไรบ้างภายใต้กรอบภารกิจที่ถูกกำหนดมาแล้วตามระบบ
มีสิ่งสะดุดใจหลายประเด็นที่เราพยายามควานหารอยเชื่อมการเข้าถึง เข้าใจและพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เช่น การยกหมู่บ้านเข้าป่า ทั้งตำบล และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ออกมาจากป่า การนับถือผี รูปรอยของการปรับตัว มุมสะท้อนกลับของสหายนำในป่าที่ว่าเป็นพวกวีระชนเอกชน ฯ
เมื่อเราใช้กระบวนการ PRA (Participatory Rapid Appraisal)ศึกษาชุมชนอย่างละเอียด ปัญหาใหญ่ที่เราพบประการหนึ่งก็คือ การขาดแคลนข้าวสำหรับบริโภค เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า หลายครอบครัวขาดแคลนมากกว่า 4 เดือนโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่เป็นรอยต่อของ “ข้าวเก่าหมด ข้าวใหม่ยังไม่ออก”
ปัญหานี้ในอดีต เกิดขบวนการเข้าป่าหาของป่าไปแลกข้าวตามหมู่บ้านรอบๆเทือกเขาภูพาน ตั้งแต่ อ.นาแก ไปจนถึง อ.เขาวง อ.คำชะอี เรื่องราวการหาของป่าแลกข้าวก็พิลึกกึกกือมากมาย….
แม้กระทั่งวันนี้การขาดแคลนข้าวจะลดลงแต่ก็ยังมีภาพสะเทือนใจให้ได้พบเห็นกัน
ในภาพนี้ พ่อแม่ต้องออกไปทำมาหากิน ส่วนใหญ่คือเข้าป่าไปหาพืช สัตว์ต่างๆมาประกอบอาหารไปวันวัน หรือหากโชคดีก็ได้สัตว์มีราคาก็ขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน พี่ต้องรับหน้าที่ดูแลน้องๆเล็ก…
ที่ผ่านมาการแก้ไขของชาวกะโซ่คือ การเข้าป่าไปหาสัตว์ ทั้งกิน ขาย การรับจ้างต่างๆในไร่นาซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีการจ้าง การส่งลูกไปทำงานในเมืองแล้วส่งเงินมาทางบ้าน เคยมีการตั้งธนาคารข้าวแต่พบว่าชาวบ้านจะไม่นิยมบริโภคข้าวที่เก็บไว้นานๆ จะเอาข้าวไปขายแล้วเอาเงินมาให้กู้แก้ปัญหาอีกที..???
กิจกรรมการเพิ่มผลผลิตข้าวจึงถูกระดมความรู้ความสามารถเข้ามามากขึ้น และกระบวนการจัดการอื่นๆก็ตามมา แม้จะไม่ราบรื่นนักแต่ก็ได้พยายามทำกันเต็มกำลัง
เพื่อนร่วมงานจับภาพนี้ได้ พี่กำลังตำมะขามสดกับกะปิให้น้องเล็กสองคนกินเป็นมื้อกลางวัน….???
นับวันผมน้ำหนักลดลงไปเรื่อยๆแล้วครับ….
Next : ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 2 » »
7 ความคิดเห็น
สะเทือนใจจริงๆค่ะ สภาพแบบนี้จะมีกี่ครอบครัว จะยาวนานเท่าใด
ไม่ทราบว่า การเข้าไปช่วยทำได้เพียงใดแล้วคะ พี่บางทราย
น่าคิด
ต่างกับคนในเมืองที่กินทิ้งกินขว้างกันอยู่นะคะ
นึกถึงเผือก มัน กลอยค่ะพี่บู๊ท และน่าคิดต่ออีกเยอะเลยตั้งแต่การไม่นิยมกินข้าวที่เก็บไว้นานๆ งั้นนำมาแปรรูปเก็บไว้เหมือนเสบียงสมัยก่อนจะเป็นยังไงน้อ ที่นำข้าวมาคั่วคลุกเกลือ น้ำตาล งาใส่กระบอกไม้ไผ่ใช้เป็นเสบียงติดตัวยามเดินทางออกรบทัพจับศึกนู่นน่ะค่ะ
ป้าหวานครับพบกันวันที่ 6 ที่พูลแมนนะครับ
ความจริงเรื่องนี้ราชการเข้าไปแก้ปัญหามานานก่อนผม
เมื่อทางผมเข้ามาก็หลงทางอยู่พักใหญ่ครับ
พี่กำลังจะจัด community dialogue หัวข้อเรื่องนี้ เพื่อดูมุมมองของชาวบ้านอีกครั้งครับ คงมีทางออก แต่หากไม่เข้ากรอบโครงการก็ต้องดิ้นไปดึง MGO อื่นเข้ามา หรือราชการที่ยังสนใจปัญหานี้ครับ