เห็ดเรืองแสง..

โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 24, 2009 เวลา 22:29 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 7277

วันนี้โครงการมีการสัมมนาเกษตรกรผู้นำกิจกรรมด้านการเกษตรสาระต่างๆในดงหลวงทั้งหมด 40 คนมาคุยกันตามแผนงาน ก็เป็นกึ่งรูปแบบทางการตามระเบียบราชการที่มีกฎระเบียบกำกับ..


ผมไม่พูดสาระการประชุมนะครับ แต่มีสาระที่เกิดขึ้นระหว่างการคุยกันช่วงพัก อย่างที่ผมกล่าวถึงบ่อยๆว่าพี่น้องดงหลวงนั้นวิถีชีวิตเขานั้นพึ่งพิงป่าสูงมาก


วันนี้มีอดีตข้าราชการท่านหนึ่งมาสารภาพว่าอดีตของท่านนั้นคือนายพรานล่าสัตว์ป่ามาขาย เพราะเงินเดือนครูนั้นนิดหน่อย พอแค่ส่งลูกเรียนหนังสือเท่านั้น ต้องเข้าป่าล่าสัตว์หารายได้เพิ่ม ไม่ลงรายละเอียด

มีสิ่งหนึ่งที่อดีตนายพรานกล่าวว่า โอ กลางคืนผมก็ไป เอาไฟฉายไป หมาตัวหนึ่ง ผมได้สัตว์ทุกครั้ง เพราะผมยิงแม่น ไม่ว่าปืนแก็ป อาก้า หรือ เอ็ม16 ก็ตาม ผมยิงแม่น แม้ปัจจุบันนี้..??

บ่อยครั้งผมไปกลางคืนเห็นเห็ดเรืองแสง... ผมหูผึ่งเลย จึงถามรายละเอียดว่ามันเป็นอย่างไรเห็ดเรืองแสง… มีทั้งเห็ดที่เราฉายไฟไปแล้วเรืองแสงออกมา และที่มืดๆก็เรืองแสงออกมา พวกนี้เป็นเห็ดพิษทั้งนั้น กินไม่ได้ มันก็แปลกดีนะครับว่าเห็ดมันเรืองแสงได้


แสงของเห็ดสีอะไรครับ… สีนวลๆเหมือนไฟฉายเรานี่แหละ พบบ่อย

มีอดีตสหายป่าท่านหนึ่ง บอกว่า สมัยอยู่ป่านั้นเราจะเดินทางโยกย้ายที่พัก หรือปฏิบัติการกลางคืนกัน แม้มีไฟฉายแต่เราไม่ใช้เพราะจะเสียลับ เราจะใช้เห็ดเรืองแสงเหล่านี้แหละ เอามาติดข้างหลังเสื้อบ้าง เป้บ้าง แล้วจึงเดินทางไปมืดๆ คนเดินข้างหลังก็เห็นเราว่าเดินไปทางไหนเพราะเห็ดเรืองแสงนี่แหละ…


ผมสนใจจึงตามไปหาครู Goo ได้ความรู้เพิ่มเติมมาว่า ที่คณะเกษตรฯ มข.มีคณาจารย์ศึกษาประโยชน์ของเห็ดเรืองแสงมาหลายปีแล้ว และพบว่าสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ที่มักเป็นศัตรูการปลูกมะเขือเทศ

ในต่างประเทศ เห็ดเรืองแสงในสกุลอื่นๆ มีสารบางชนิดที่สามารถบำบัดโรคมะเร็ง และยับยั้งการดื้อสารแอนตี้ไบโอติกส์ได้

เอกสารของ มข. ยังกล่าวว่า เห็ดเหล่านี้เปล่งแสงได้โดยไม่ปล่อยความร้อนออกมา ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ไบโอลูมิเนสเซนซ์

ผมอยากทำงานด้านค้นคว้าพืชป่าที่จะมีประโยชน์แก่มนุษยชาติจริงๆ เพราะยังมีอีกมากมายที่เราไม่รู้จักคุณค่าของเขา แม้เห็ดพิษเรืองแสงนี้ ก็มีอีกมากมายหลายชนิดที่เรายังไม่ได้ศึกษา…

——————–

แหล่งข้อมูลและรูป : http://www.darasart.com/webboard/Question.asp?GID=3277 ; http://ora.kku.ac.th/res_kku/Abstract/AbstractView.asp?Qid=766385826; http://board.212cafe.com/viewcomment.php?aID=7007494&user=roverden30&id=25&page=2&page_limit=50


« « Prev : ห่วงพี่น้องภาคใต้

Next : แด่น้องผู้หิวโหย.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

16 ความคิดเห็น

  • #1 สิงห์ป่าสัก ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 มิถุนายน 2009 เวลา 15:50
    • สวัสดีครับ อ.บางทราย
    • แวะมารับความรู้เพิ่ม
    • มีอีกหลายๆ เรื่องที่เรายังไม่มีความรู้เลยนะครับ
    • ขอบคุณมากครับ
  • #2 ต้นปาล์ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 1:15

    สวัสดีครับ อ.บางทราย ผมได้ทราบเรื่องที่ เจอเห็ดเรืองแสงอะครับ คือผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับยีนไอพวกนี้อยู่ แต่ยังไม่เคยได้ตัวอย่างเห็ดที่มาจากประทเศไทยเลย  เดินหาแล้วก้ไม่พบ แต่ชาวบ้านแถวนั้นน่าจะรู้ดีมานานแล้ว ผมจึงอยากจะติดต่อ ถ้าหากพบเจอกี ขอให้เก็บใส่ถุงมาได้ไหมครับ ผมจะแสดงระเมินราคาให้ อย่างไรก้ติดต่อมานะครับ 0897426340  tonp@live.com

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 13:40

    ถึงน้องสิงห์ป่าสัก พี่ขออภัยที่ทิ้งไปนานไม่ได้เข้ามาตอบ
    ใช่ครับอีกมากมายที่เรายังไม่รู้
    ไอ้ที่ควรจะรู้ ยังรู้ไม่หมดเลย เน๊าะ
    ยิ่งที่อยากรู้เพิ่มเข้าไปอีก ยิ่งมากมายที่เราไม่รู้

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 13:43

    ถึงคุณต้นปาล์มครับ

    ผมเองก็ไม่เคยเห็น แต่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นคนบอกผม จึงเชื่อได้ว่ามีจริงเพราะพื้นที่ที่ผมอยู่เป็นป่า และชาวบ้านแถบนี้เคยไปใช้ชีวิตในป่ามานาน  เอางี้ผมจะลองไปคุยกับชาวบ้านเรื่องนี้ และหากเขารับปากและหามาได้ก็จะส่งข่าว

    แต่อยากรู้เพิ่มเติมว่า คุณต้นปาล์มเอาไปศึกษาเพื่ออะไร
    เป็นนักศึกษาหรือครับ เรียนที่ไหน ระดับไหน ขยายความให้รู้จักกันหน่อยซิครับ

  • #5 Weerasak ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 เวลา 20:35

    ผมวิจัยเกี่ยวกับเห็ดเรืองแสงอยู่ครับ จริงๆน่าจะเรียกว่า เห็ดเปล่งแสงได้ เพราะมันจะเปล่งแสงได้ตลอดเวลาแม้ว่าจะอยู่ในสภาพกลางวันก็ตาม ในภาพแรกของ web นี้เป็นภาพของผมที่ถ่ายในตอนกลางวันแต่อยู่ในห้องมืด ผมศึกษาในด้านบ่งชี้ชนิดก่อนครับและพบว่าเป็นเห็ดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neonothopanus nambi เป็นการรายงานการพบเห็ดชนิดนี้ครั้งแรกในประเทศไทย ในเขตอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ผมและทีมงานมุ่งศึกษาต่อในด้านการใช้ประโยชน์จากเห็ดชนิดนี้ในด้านการเกษตร โดยค้นหาสารพิษและดูว่าเป็นพิษกับศัตรูพืชชนิดใดบ้าง จึงพบว่าเห็ดนี้สร้างสารพิษต่อ ไส้เดือนฝอยรากปม ขณะนี้ทีมงานกำลังศึกษาการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อยู่ครับ การเริ่มต้นครั้งแรกแยกเชื้อบริสุทธิ์ ได้ยากมาก ผมใช้เวลาแยกอยู่ 3 ปีจึงแยกได้ครับ เห็ดนี้เป็นสมบัติของแผ่นดินครับ ผมกำลังวิจัยเพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯอยู่ครับ  หากท่านใดมีคำแนะนำผม ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ

    รศ.ดร.วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ และทีมงาน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 เวลา 21:30

    ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่มาแสดงต้นเรื่องนี้ ผมทำงานที่ดงหลวง บ้านอยู่ขอนแก่นนี้เอง ภรรยาผมก็อยู่ที่ มข.นี่แหละครับ
    ผมสนใจงานของอาจารย์เพราะมันเป็นประโยชน์ที่ใช้พืชมาควบคุมศัตรู โรคของพืชด้วยกันเอง หากมีโอกาสจะแวะมารบกวนอาจารย์ที่คณะนะครับ

    อาจารญคงจะเอาเห็ดชนิดนี้มาขยายพันธุ์ในห้องแลป และกำลังศึกษาอยู่ น่าสนใจมากครับอาจารย์ เพียงแต่ว่าดงหลวงจะมีข้อมูลอะไรมาเพิ่มเติมให้อาจารย์ได้บ้าง ก็นึกไม่ออก เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมครับ

    ขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับ แล้วจะหาโอกาสมาพบอาจารย์ครับ

  • #7 Weerasak ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 เวลา 11:13

    เรียน อ.บางทราย  ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ
    เมื่อ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็มีเห็ดเรืองแสงชนิดที่ผมกำลังศึกษาอยู่นี้ ออกดอกที่ในบริเวณของ ม.ขอนแก่น สวยดีครับ เท่าที่สังเกตดู มักจะออกดอกเพียงครั้งเดียวต่อปี และในเวลาที่ใกล้เคียงกันที่ อ.ภูเวียง ก็มีเห็ดชนิดนี้ ออกดอกด้วย ครับ ไว้แล้วจะ post รูปเข้ามาดูนะครับ

    อ. วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์

  • #8 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 เวลา 23:59

    อ.วีระศักดิ์ ครับ ผมเสนอให้อาจารยืเขียนบันทึกเรื่องนี้น่าจะดีนะครับเอามาลงที่ lanpanya นี่แหละครับ
    อยากดูรูปจังเลย

    ที่สวนป่าครูบาสุทธินันท์ ซึ่งเป็นสวนยูคาลิปตัส  มีเห็ดขึ้นเยอะ  แต่ไม่ทราบว่ามีชนิดเรืองแสงบ้างรึเปล่า เพราะดูเหมือนทุกคนจะใหม่ต่อเรื่องนี้ครับ
    ขอบคุณมากครับอาจารย์

  • #9 Weerasak ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 ตุลาคม 2009 เวลา 17:16
    เรียน อ.บางทราย  ผมรอรูปจากลูกศิษย์ อยู่ครับ  สำหรับเห็ดในป่ายูคาลิปตัส นั้นพบตามรากทั่วๆไป คล้ายกับเห็ดผึ้งมีรสชาติขม ทางใต้กินกับน้ำพริก เพือนอาจารย์ บอกว่าอร่อยมาก เรียกว่าเห็ดเสม็ด ต้นเสม็ด กับต้นยูคาเป็นไม้ในตระกูลเดียวกัน ครับ ทางวิชาการเขาเรียกว่าพวก ectomycorrhiza เป็นเห็ดราที่มีประโยชน์ ส่งเสริมการเจริญของต้นไม้ใหญ่ ครับ

    อ วีระศักดิ์

  • #10 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 ตุลาคม 2009 เวลา 18:57

    อาจารย์มาเติมความรู้ให้ผมและท่านที่เข้ามาอ่านดีมากเลยครับ เห็ดเป็นพืชทีมีมากมายในธรรมชาติ อาจารย์ผ่านชายป่าที่ไหนๆก็จะพบชาวบ้านไปเก็บออกมาขายกัน  การเอาเห็ดออกจากป่าปีหนึ่งๆหากมีการคำนวนน่าจะเป็นปริมาณที่มากมายนะครับ

    สมัยก่อนผมทำงานที่ชายป่าห้วยขาแข้ง ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นแหล่งเห็ดโคนป่าที่ใหญ่ มีปริมาณมาก เมื่อฤดูกาลที่เขาออก พ่อค้าคนกลางจะเอารถปิคอัพไปจอดคอยที่ปากทางเข้าป่าเพื่อรอชาวบ้านไปเก็บเห็ดออกจากป่าแล้วจะเหมาเอาไปขายในกรุงเทพฯต่อไป ทำเงินปีหนึ่งมากมาย
    ผมก็ชอบซื้มาทานครับ  แต่สมัยนั้นผมไม่เคยได้ยินเห็ดเรืองแสงเลย อาจจะเป็นไปได้ที่ ผมไม่ได้ถามชาวบ้าน แต่มันมทีอยู่แล้ว

    ขอบคุณมากครับ

  • #11 Weerasak ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 เวลา 16:46

    เรียน อ บางทราย
    พอดีมีงานเข้าครับ เลยไม่ได้แวะมาเยียมใน web มีเรื่อง ขำ ขำ เกี่ยวกับเห็ดครับ ตอนที่ผมเข้าไปทำงานในพื้นที่ อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อ.ภูเวียง ขอนแก่น  ใหม่ๆนั้น ทาง อบต. เล่าให้ผมฟังว่าที่นั่นมีเห็ดที่กินได้ เป็นจำนวนมาก ผมเลยบอกว่าถ้าเห็ดออกดอกแล้ว ช่วยโทรมาบอกหน่อย พอถึงช่วงฤดูฝนประมาณเดือน สิงหาคม ผมได้รับแจ้งข่าวว่าที่ โคกภูตากา มีเห็ดออกดอกเป็นจำนวนมาก มีผู้คนจากทั่วสารทิศมุ่งหน้าไปเก็บเห็ดกัน อบต บอกผมว่า “อาจารย์  เห็ดออกดอกมากๆๆ ในโคกฯ อาจารย์รีบมาด่วนเลยนะครับ เดี๋ยวอด  เพราะผมนับจำนวนคนที่ผ่านหน้าบ้านผมไปเก็บเห็ดแล้ว มีจำนวนมากกว่า จำนวนดอกเห็ดที่ออกมา ครับ”   วันนั้นเลย อดเก็บเห็ดครับ

    วีระศักดิ์

  • #12 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 เวลา 17:05

    ห้า ห้า ห้า..อาจารย์เล่าเรื่องผมหลับตานึกเห็นภาพ
    เห็นเป็นอาหารดปรดของชาวบ้าน ท้องถิ่น ทั้งเอามาทำอาหารได้หลายอย่าง ผมเองก็ชอบ ยิ่งผมทานมังสวิรัติมาเป็นสิบปีแล้ว เห็ดจึงเป็นอาหารปกติไปเลย ครับ  ผมก็สนใจ บางครั้งนึกว่าจะออกจากงานมาเพาะเห็ดขาย สนใจจึงไปดูฟาร์มเห้ดของน้องๆที่ท่าพระ เห็นแล้วก็อยากทำ แต่ต้องมีสถานที่กว้างซะหน่อย ที่ดินของผมมีอยู่เชียงใหม่โน้น มันเลยไม่ได้คิดต่อครับ..

    ขอบคุณอาจารย์ครับ

  • #13 วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มกราคม 2010 เวลา 0:28

    เรียน อ บางทราย
    ผมต้องขอโทษครับ ที่หายหน้าไปนาน ผมเข้ารับการผ่าตัด โรคจอประสาทตาลอกหลุด ตั้งแต่ 12 พ.ย. 52  ที่ผ่านมา และต้องนอนคว่ำหน้าจนถึง 8 มค 53 พึ่งกลับมาทำงานได้ครับ มีข่าวเกี่ยวกับการเสวนาเรื่อง เห็ด และการฝึกอบรมการเพาะเห็ด ครับ ผมจัดที่ ในงานวันเกษตรภาคอีสาน 24 มค 53 นี้นะครับ 9.00-16.00 ฟรีตลอดวัน  มีเรื่องราว ของเห็ด หลายชนิด เช่น เห็ดโคน เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า รวมทั้งเห็ดเรืองแสงแน่ๆ ครับ พบกันนะครับ นากสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ด ก็มา ครับ

  • #14 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มกราคม 2010 เวลา 0:44

    โอโฮ…..นอนคว่ำหน้าตลอดเลยรึครับ…
    ขอให้อาจารย์หายเจ็บป่วยโดยเร็วนะครับ
    ช่วงงานวันเกษตรอีสานผมกลับมาจากเชียงใหม่แล้วครับ ตั้งใจไว้อยู่ครับว่าจะมาชมงาน โดยเฉพาะต้นไม้ต่างๆครับ คงได้พบอาจารย์นะครับ

  • #15 วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 มกราคม 2010 เวลา 19:49

    ยินดี ครับ พบกันวันที่ 24 มค 2553 นี้ ที่ ศาลาเสวนาวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี ในงานวันเกษตรภาคอีสาน  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชวนผู้สนใจมาร่วมฟัง เยอะๆ นะครับ เริ่มเวลา 9.00 น เป็นต้นไป ครับ   ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

  • #16 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 มกราคม 2010 เวลา 22:10

    ผมมาจากเชียงใหม่ครับอาจารย์ อาจจะช้าไปบ้างก็ขออภัยล่วงหน้าก่อนนะครับ แต่ละพยายามมาครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.83878993988037 sec
Sidebar: 0.27847504615784 sec