คราม..

โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2009 เวลา 21:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 4550

คนที่บ้านผมคลั่งผ้าครามยิ่งนัก ท่องไปที่ไหนพบผ้าครามเป็นคว้ามาเต็มตู้ไปหมด โดยเฉพาะฝ้ายครามสวยๆที่ย้อมด้วยกรรมวิธีโบราณนั้น ผมเองก็ชอบครับ


ก็สีสวย ตัดเสื้อผ้าใส่ก็งดงาม ภูมิฐาน และสามารถตัดเสื้อได้ตั้งแต่ ฮ่อมไปจนเชิ้ต และสูทงามหรู

เท่าที่ทำงานพัฒนาชนบทมานั้นเราพบหมู่บ้านที่ทอผ้าฝ้ายและย้อมครามหลายแห่ง แต่ละแห่งก็สวย แต่ที่ติดตาติดใจก็ต้องที่สกลนคร กลุ่ม ผู้ไท กะเลิง ญ้อ แถบ อ.กุดบากและ ผ่านทีไรเสียเงินทุกที..


ผู้ไทที่เรณูนคร หรือคำชะอีก็ไม่แพ้ใครครับ กลุ่มแม่บ้านใช้เวลาว่างทอส่งขายทั้งแปรรูปมากมาย เป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพรองไปเลย โดยเฉพาะกลุ่มศิลปาชีพ ทุกปีผู้แทนสมเด็จท่านจะมาตระเวนรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านไป ท่านคงทราบดี


ที่ทำเงินทำทองเป็นกอบเป็นกำคงมีหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็ที่บ้านภู อ.กุดบาก กลุ่มแม่บ้านโดยการสนับสนุนของ NGO มาส่งเสริมการผลิตและพัฒนาฝีมือจนส่งออกไปญี่ปุ่นนานหลายปีมาแล้ว และอีกหลายอำเภอของสกลนครนั้นมีกลุ่มทอและ “ผลิตคราม” ส่งขายมาภาคเหนือด้วยซ้ำไป คนข้างกายบอกว่าทำเงินปีละนับสิบล้าน????


กลุ่มไทโซ่ ดงหลวง ของอาว์เปลี่ยน ก็มีผลิตบ้างแต่ในมุมมองของผมเห็นว่าไม่เด่นโดดอย่างของสกลนคร

วันนี้ไม่ได้มาขายเสื้อผ้าครามนะครับ แต่ระหว่างนั่งรถกลับบ้านขอนแก่น มีน้องที่ทำงานที่เป็นผู้ไท อ.นาคูนั่งรถมาด้วยก็คุยกันถึงเรื่องนี้ แล้วเธอก็บอกว่า

พี่..คนโบราณนั้นเขาใส่แต่เสื้อย้อมครามผ้าฝ้ายทั้งนั้น ไม่ว่างานไหนๆ หน้าร้อนก็ไม่ร้อน หน้าหนาวก็อุ่น ผมเองก็ตอบว่าเห็นด้วยเพราะเคยใช้มาพอสมควร

เธอคุยต่อไปอีกว่า พี่.. แม่หนูบอกมาตั้งแต่หนูยังเด็กๆว่า หากโดนสัตว์กัด ต่อย เช่น มด แมลงละก็ หายาหม่อง ยาแก้อื่นๆไม่ได้ ก็ให้เอาผ้าฝ้ายที่ย้อมครามนี้ไปชุบน้ำหมาดๆ อิงของร้อนๆแล้วเอามานาบลงตรงที่สัตว์มากัด ต่อย รับรองได้ผลชะงัด..


อีกอย่างที่คนโบราณใช้กันมานานคือ หากเข้าป่าขึ้นดอย เกิดไปกินผิด เช่น กินเห็ดมีพิษเข้าละก็ ให้เอาผ้าฝ้ายย้อมครามนี้มาแช่น้ำในขัน สักพักหนึ่ง แล้วให้เอาน้ำในขันนั้นมาดื่มกิน ได้ผลมามากต่อมากแล้ว

หนูเองก็ไม่เคย..แต่มีครั้งหนึ่งหนูใส่เสื้อผ้าครามเข้าไปชนบทที่กาฬสินธุ์ มีพ่อเฒ่าคนหนึ่งเดินมาจับเสื้อหนูแล้วก็ออกปากขอดื้อๆ ว่าอยากได้ผ้าฝ้ายย้อมครามโบราณแบบนี้มานานแล้ว จะเก็บเอาไว้ และเพื่อใช้แก้กินผิดกินเบื่อดังกล่าวด้วย… ผู้เฒ่าอ้อนวอนจนเธอต้องยกให้ทั้งๆที่บอกว่าหนูใช้ใส่แล้วมันสกปรก แกก็ไม่ถือ….

ผมขับรถไป ใจหนึ่งก็น้อมรับความรู้นี้

แต่อีกหลายคนคงส่งเสียง หึ.. หึ.. อยู่ในลำคอ

« « Prev : รับผู้ว่าแล้วมารับทูต

Next : ตอก..52 และพื้นที่ชาวบ้าน.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 เวลา 8:41

    อืม เกร็ดที่เล่ามาน่าสนใจจังค่ะพี่บู๊ด เบิร์ดชอบแต่ไม่ได้จริงจังจนสะสม แต่ชอบดู ชอบคิดว่าจะพัฒนาเป็นอะไรได้บ้างนอกจากเสื้อ เพราะสีนี้สวยมากในต่างประเทศจะชอบแนวนี้

    เบิร์ดเคยสงสัยเกี่ยวกับเสื้อหม้อฮ่อม (ไม่รู้เขียนยังไง เห็นแพร่เขียนอย่าง ชร.เขียนอย่าง) เห็นว่าย้อมมาจากต้นฮ่อมแล้วมันคือครามหรือเปล่า และคุณภาพของต้นครามรวมทั้งเทคนิคที่ทำให้สีสวยติดทนนั้นคืออะไร สภาพของน้ำเกี่ยวมั้ย สายพันธุ์ครามและฝ้ายที่มาย้อมสายพันธุ์ไหนดีที่สุด เหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดและซับซ้อนมากเหลือเกินนะคะ และเสียดายถ้าต้องหายไปกับสารเคมี

    แต่จากภาพที่พี่บู๊ดนำมาฝากบอกได้ว่า”สวย”มากค่ะ เนื้อผ้าดูแน่น สีการย้อมสม่ำเสมอ การตัดเย็บการทอวางลายผ้าได้สวย สมค่างานฝีมือ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 เวลา 10:27

    ฮ่อมกับคราม คือ สายพันธุ์เดียวกันแต่อาจมีหลายสายพันธุ์ย่อยครับ ใช้ indigo เหมือนกัน พี่ไม่ได้เข้าไปศึกษารายละเอียด แต่ทราบคร่าวๆว่ามีเทคนิคมาก มีเคล็ดลับที่ตระกูลเก็บไว้มากเหมือนกัน

    เป็นความรู้ที่มีคนเข้ามาทำปริญญาเอกหลายคน และที่เชียงรายก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ ม.ฟ้าหลวงศึกษาลายผ้าจากฮ่อมและครามด้วยครับ พิมพ์ออกมาเป็นเล่มโตเลย

    เคยรู้จักสตรีคนไทยสนใจเรื่องนี้มากจนเข้ามาศึกษาแล้วข้ามไปอยู่ลาวไปเิปิดโรงงานผลิตผ้าครามส่งออกญี่ปุ่นอย่างเดียวเลยครับ ฮ่อม ทางเหนือก็เป็นครามรู้ท้องถิ่นที่มีมานานมาก สมัยที่ทำงานสะเมิงก็ไปนั่งดูแม่ๆเขาย้อมฮ่อม  แต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจลึกซึ้งแต่ไปดูเฉยๆ

    น้ำมีผลแน่นอนต่อการย้อม เพราะการย้อมมีส่วนผสมน้ำด่าง น้องคนนั้นก้เล่าให้ฟังว่าคนโบราณอีสานบางท้องถิ่นใช้เปลือกถั่วลิสง มาเผาเอาไปแช่น้ำเพื่อเอาน้ำด่างไปใช้ผสมการย้อมผ้าฝ้ายครามด้วย  รายละเอียดไม่ทราบ ได้แต่ฟัง  แล้วก็ฮือฮาไปกับเทคนิคของชาวบ้าน  เอาเทคโนโลยี่การเป็บบันทึกปัจจุบันย้อนไปเก็นรายละเอียดเหล่านี้ของอดีตคงสนุกนะครับ

    การย้อมให้จาง ให้เข้มจนดำก็คือการย้อมหลายๆครั้งเท่าที่ทราบนะครับ อาจจะมีเทคนิคอื่นๆอีกก็ได้  ที่ขอนแก่นมีร้านที่เขารับเย็บผ้าฝ้ายโดยตรง ค่าจ้างบางทีแพงกว่าค่าผ้าอีกครับ คนข้างกายว่าอย่างนั้น  อิอิ

  • #3 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 เวลา 21:49

    ตอนจัดเวทีผ้าครามที่ดงหลวง
    มีการพูดถึง “ผีหม้อคราม”
    ถ้าหากย้อมแล้วครามไม่ติดไม่กินผ้า ท่านให้เชิญผีหม้อครามโดยการใช้ปูนเคี้ยวหมาก
    ถอดบทเรียนได้ว่า ความเป็นกรด-ด่าง มีผลต่อการย้อมครามด้วยครับ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 เวลา 22:30

    ขอบคุณเปลี่ยนที่มาเติมเต็มครับ
    เพื่อนพี่ที่เคยทำงานสะเมิง เป็นอดีตสามีน้องสุธรรมที่เป็นผู้ส่งออกดอกไม้ และโรงงานผลิตน้ำหมักผักพลูคาว ที่ลำพูน  เจ้าหมอนี่ตกงานมาสองปี ตอนนี้ได้งานที่เวียงจันทร์ เขาขอทราบว่ามีเพื่อนที่นี่บ้างไหม พี่ให้ชื่อเปลี่ยนไปเด้อ.. ชื่อวิทวัช

  • #5 ออต ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 ตุลาคม 2009 เวลา 17:33

    อ้ายเปลี่ยน/อาจารย์บางทราย

    เรื่องที่เคยปรึกษาไว้ทำผ้าดงหลวงเน้นพัฒนาจากอัตตลักษณ์ของพี่น้องบรู  ทราบจากน้องที่สำนักงานโครงการวิจัยออตผ่านแล้วครับ
    รอให้้เสร็จสิ้นภารกิจในช่วงตุลาคม นาวนี้คงได้เก็บข้อมูลครับ  แล้วจะปรึกษาอีกครั้งหนึ่งครับ  ไม่แน่ผ้าทอมือดงหลวงอาจจะมีเรื่องชวนคิดอีกมาก

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 ตุลาคม 2009 เวลา 17:47

    ด้วยความยินดีครับ ออต


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.61404299736023 sec
Sidebar: 0.29040598869324 sec