Unexpected Impact

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 13, 2009 เวลา 23:49 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2595

ในกระบวนการทำงานพัฒนานั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการประเมินผล ซึ่งมักจะกระทำในหลายรูปแบบแล้วแต่โครงการนั้นๆจะออกแบบไว้ เช่น เป็นแบบ External evaluation team บางแห่งก็ใช้แบบ Internal หากเป็นโครงการใหญ่ๆ ก็อาจจะใช้ International evaluation team เข้ามาทำการประเมินกัน หรือใช้แบบผสมผสาน …

ทั้งหมดก็จะยึดทฤษฎีการประเมินผลที่เป็นสากล ไม่ค่อยแตกต่างกัน ไม่ว่าทีมไหนๆ ซึ่งบางโครงการก็ย้อมสีกันสวยงาม บางโครงการก็ตรงไปตรงมาดี แต่ทั้งหมดก็พบว่าไม่เคยมีทีมไหนประเมินผลส่วนที่เรียกว่า “ผลกระทบที่ไม่ได้คาดคิดของโครงการ” อาจจะมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน เช่น ทีมมักมีเวลาจำกัด กรอบการประเมินถูกกำหนดมาแล้ว หรือทีมประเมินผลคิดไม่ถึงประเด็นนี้ด้วยซ้ำไป….

เรื่องนี้ผมมาฉุกคิดเพราะผมไปงานศพ…???

จริงๆครับ.. “พิลา” พนักงานขับรถของโครงการ พี่ชายเขาเสียชีวิตเพราะเป็นโรคกระเพาะ เราไปร่วมงานศพ พิลาก็เลี้ยงอาหารตามประเพณี พวกเราอิ่มหนำสำราญกัน มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันคือ “ข้าวอร่อยจังเลย…”


วันต่อมาผมถามพิลาว่าเอาข้าวอะไรมาเลี้ยงเราอร่อยติดใจกันใหญ่ พิลาตอบว่า เป็นข้าวมะลิจากนาที่ผมทำนั่นแหละพี่ เป็นข้าวอินทรีย์ที่ผมเอาความรู้มาจากพี่เปลี่ยน จากทุกคนในโครงการ จากชาวบ้าน และจากพี่ด้วย…. แล้วรายละเอียดก็พรั่งพรูออกมา พิลาบอกว่าตอนนี้เขาดังในหมู่บ้านไปแล้ว เพราะเพื่อนบ้านก็ตะลึงว่าการทำข้าวอินทรีย์นั้น รสอร่อย ต้นทุนไม่สูงเพราะไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงมากๆ และผลผลิตต่อไร่ก็ไม่แตกต่างไปจากการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ สุขภาพดีไม่ต้องเสี่ยงสารพิษ ราคาข้าวอินทรีย์ก็สูงกว่า ฯลฯ


ที่นาของพิลาไม่ได้อยู่ในพื้นที่โครงการ แต่ความสำเร็จข้าวอินทรีย์ที่พิลาทำมานั้น ได้ความรู้มาจากโครงการ.. หากมีการประเมินผลโครงการไม่ว่า จะเป็นด้าน Result, Output,  Outcome หรือแม้แต่ Impact ความสำเร็จของพิลานั้นก็หลุดจากกรอบการประเมินแน่นอน ยิ่งเป็นทีมประเมินมาจากภายนอก

ย้อนไปที่สะเมิง เชียงใหม่ เมื่อโครงการพัฒนาชนบทที่เคยทำงานสิ้นสุดลง เราพบว่า พนักงานขับรถของเราสมัยนั้น ต่อมาได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน และ อบต.และประธาน อบต. ที่ตำบลสะเมิงใต้นั้นคือลูกจ้างโครงการที่เป็นชาวบ้านที่สมัยนั้นทำหน้าที่เป็นพนักงานส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน..

ผมได้มีโอกาสคุยกับทั้งสองคน เราพบว่า ด้วยการที่เขาคลุกคลีกับเรามานาน เขาเรียนรู้ระบบคิด สาระของงานพัฒนาด้านต่างๆ ภาษา ศัพท์แสงทางการพัฒนาชุมชน เขาเรียนรู้จากเราทั้งสิ้น ทั้งหมดมีส่วนสร้างเขาให้มีความรู้ในเรื่องงานพัฒนาชุมชน มีทักษะในการพูด แสดงความคิดเห็นแง่มุมต่างๆของการพัฒนาท้องถิ่นของเขา เหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาแตกต่างจากคู่สมัครคนอื่นๆ และเขาก็ได้รับเลือกให้มาทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน หลังจากที่โครงการสิ้นสุดไปแล้ว….

มีความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ไม่น้อยทีเดียวที่กระบวนการประเมินผลมองไม่เห็น นึกไม่ถึง นี่คือ Unexpected Impact


เมฆทะมึนกับรุ้งสวย..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2009 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2834

หลังจากประชุมกับราชการช่วงเช้า บ่ายประชุมทีมงาน แล้วเดินทางกลับขอนแก่น ประชุมอีกพรุ่งนี้


เราฝ่าฝนก้อนใหญ่ ดำทะมึน น่าเกรงขาม


เมื่อเราผ่านอุโมงค์เมฆฝนก้อนมหึมาแล้ว ฟ้าก็ใสแดดส่อง ผมมองกระจกข้างคนขับ เห็นรุ้งในกระจกสวย จึงหยุดรถแล้วเก็บภาพมาฝาก


นานแล้วที่ไม่ได้เห็นรุ้งเต็มวงของเขา (ครึ่งวงกลม) เสียดายที่กล้องผมจับได้แค่ที่เห็น สวยมากครับสีแจ่มชัด ใหญ่ แม้เสาไฟจะเกะกะไปหน่อย แต่ก็หามุมยาก เอาเท่าที่ได้ครับ.
.


โศลกแดง

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 28, 2009 เวลา 23:47 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1919

…โศลกแดง..

ไม่โฟนอิน โฟนเอ้าท์ เอาเท่าไหร่..

มันยุ่งเหยิง ยั้วเยี้ย ละเหี่ยใจ

อยู่นิ่งๆ ซะปะไร ทำไมมี

มาปลุก มาปั่น หันซ้ายขวา

ให้คนไทย เผชิญหน้า จะป่นปี้

แดงจะเดือด เลือดจะแดง ปัฐพี

เพราะคนไทย ยังมี ไม่คล้อยตาม

******


หลักการ “สองสูง”

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 22, 2009 เวลา 22:31 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2897

นักธุกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศนี้

เสนอ “หลักการสองสูง”

ซึ่ง  บำรุง บุญปัญญา วิเคราะห์ว่า นี่คือหายนะใหม่ของเกษตรกรไทย

อยากทรายรายละเอียด และต้องการแลกเปลี่ยน

ไปสวนป่า 28 ก.พ. นี้  …ซิครับ..


รอยเท้า…2

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 17, 2009 เวลา 0:17 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3541

สายวันนั้น น้องเอก คุณพ่อของแม่ชีน้อยป่านแวะมาหาที่สำนักงานมุกดาหาร
ตามประสาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ มีอะไรก็คุยเปิดอกกัน


ทราบว่าตั้งแต่บุตรสาวเสียชีวิตความอาลัยอาวรณ์ยังมีมากมาย

เพื่อนสาวคนหนึ่งรับอาสาจะเขียนหนังสือให้
โดยจะรวบรวมข้อมูลจากทุกคนที่มี

เอกบอกว่าตอนนี้ เพื่อนคนนึ้ขึ้นไปอยู่ที่บน “ภูไม้ฮาว”
ผมจึงตั้งใจจะไปเยี่ยมเธอที่ภูไม้ฮาว

ภูไม้ฮาวคือชื่อดอย หรือ ภู ที่เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์

สถานที่แห่งนี้เป็นที่สุดท้ายที่แม่ชีน้อยป่านอาศัยอยู่และเสียชีวิตที่นี่


เพื่อนคนนี้ต้องการอารมณ์ความรู้สึกจริงๆจึงขึ้นภูไม้ฮาวไปนอนในสถานที่ที่แม่ชีน้อยป่านเคยนอน เคยนั่งเคยอาศัยก่อนเสียชีวิต
แล้วถือโอกาสปฏิบัติธรรมด้วย




ผมจอดรถที่ตีนภูแล้วค่อยๆเดินขึ้นไปแบบไม่เร่งรีบ ดูธรรมชาติของภูไม้ฮาวซึ่งผมมาเยือนเป็นครั้งที่สามแล้ว ครั้งนี้พบชาวบ้านมาช่วยพระอาจารย์พัฒนาทางเดินให้ปลอดภัย ซ่อมแซมระบบประปา โดยทั้งหมดนั้นมาออกแรงตามความศรัทธาที่มีต่อพระอาจารย์

เมื่อเดินขึ้นไปถึงศาลาหลังแรกก็เห็นพระอาจารย์ กำลังพูดคุยกับชาวบ้านอยู่ ผมเดินเข้าไป พระอาจารย์ก็ยิ้มรับพร้อมเชิญให้ขึ้นไปกินน้ำเย็นๆก่อน ผมก้มกราบพระอาจารย์ แม้อายุเลยหกสิบไปแล้วแต่ดูยังสดใส สมกับผู้ปฏิบัติธรรมจริงๆ

ต่างซักถาม ตอบคำถามกันพอสมควรแล้วผมก็ขออนุญาตไปพบน้องสาวคนนั้นที่ขึ้นมาปฏิบัติธรรม พระอาจารย์ก็ชี้ให้ไปที่กุฏิหลังขาวโน้นนน พร้อมกับบอกให้คนพาไป…

เธอชื่อ “เงาศิลป์” เก๋ ไหมล่ะชื่อเธอ รีบเดินออกมาหาผมอย่างดีใจ หลังจากคุยกันแล้วเธอก็บอกว่า ช่างเป็นธรรมจัดสรรจริงๆ หนูกำลังต้องการเข้าขอนแก่น พี่มาวันนี้ หนูก็จะติดรถไปขอนแก่นด้วย…… เธอขอเวลาจัดการเรื่องส่วนตัวและภาระที่นี่ให้เรียบร้อยก่อน…

ผมก็เลยเดินชมบริเวณสำนักสงฆ์ไปทั่ว สวยมากครับ สงบ ธรรมชาติ เดิมๆ น่าจะเป็นสถานที่บำเพ็ญธรรมนั้นดีแล้ว ลมพัดเอื่อยๆกำลังสบาย ผมถือโอกาสเก็บรูปมามากมาย

และหนึ่งในนั้นคือ สถานที่พักและปฏิบัติธรรมคือทางเดินจงกรมของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ทราบว่ายามค่ำคืนสถานที่สงบ บรรยากาศเงียบ อากาศโดยรอบเอื้อ มีพระอาจารย์คอยแนะนำ ตอบปัญหาการปฏิบัติธรรม….

นอกจากเธอแล้วยังมีแม่ชีสาวอีกหลายท่าน แม่ชีอายุเลยกลางคนไปแล้วก็หลายท่าน
แต่ละคนมีทุกข์มาทั้งนั้น ทั้งใจ ทั้งกาย ต่างก็มาหาที่พึ่ง สำนักสงฆ์ พระอาจารย์ครรชิตแห่งภูไม้ฮาว


บนทางเดินนี้ไม่ใช่แคทวอล์ค แต่เป็นทางเดินจงกรมของสตรีสาวหลายท่านที่มาบวชเป็นแม่ชีผ้าขาวที่มุ่งมั่นมาที่นี่ แต่เท้าบนทางเดินนี้ไม่ได้ใส่ส้นสูง หรือรองเท้าแพงระยับของยี่ห้อใดๆ

เธอเปลือยเท้าเปล่า เดินจงกรมยามเวลากลางคืนที่สงบ


ใช่ครับ รูปรอยเท้านี้คือ รอยเท้าของสตรีผู้ปฏิบัติธรรม เป็นรอยเท้าจงกรม ตรงจุดที่ต้องหมุนตัวกลับพอดี

นี่คือ รอยเท้าผู้ปฏิบัติธรรมครับ…


รอยเท้า..1

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 15, 2009 เวลา 1:33 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2366

รอยเท้าใคร..

ทำไมมาอยู่ตรงนี้…

มีวัตถุประสงค์อะไร..

เป็นเท้าผู้หญิงหรือผู้ชาย…

(แล้วจะเฉลยทีหลัง)


เย้..งานเสร็จแล้ว

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 5, 2009 เวลา 2:17 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2328

เย้….งานเสร็จแล้ว  น้องๆนั่งหลับกันแล้ว อิอิ


ข้อเสนอต่อ DfC

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 3, 2009 เวลา 10:42 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2322

สมัยที่ทำงานกับโครงการไทยเนเทอร์แลนด์ ชื่อ โครงการการจัดการน้ำในระดับไร่นา ที่เขื่อนลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น ผมทำหน้าที่เป็น ฝ่ายสังคม ที่คอยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เจ้าหน้าที่สนามในการปฏิบัติงาน เสริมผู้เชี่ยวชาญด้านฝึกอบรม ที่ทำหน้าที่ไปสำรวจ Training Needs Assessment (TNA) แล้วก็จัดกระบวนการฝึกอบรมขึ้น ซึ่งก็มักจะเป็นรูปแบบเดิมๆ คือเป็น formal training

เมื่อผมลงสนามพบว่าน้องๆในสนามที่ได้รับความรู้มาแล้วนั้น มีหลายอย่างที่ต้องเติมเต็ม และขยายความ สาระที่พูดกันในห้องประชุม หลายคนมีคำถาม หลายคนไม่เข้าใจ หลายคนเบลอๆ

นี่เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการบันทึกของผมครั้งแรกขึ้น เป็นบันทึกที่เกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เมื่อผมพบก็หยิบประเด็นนั้นมาบันทึกขยายความแล้วทำสำเนาส่งให้ทุกคน นอกจากนี้ก็เป็นแบบ F2F คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน และอาจจะเป็น Micro group discussion แค่สองสามคนก็ตั้งวงแบบไม่เป็นทางการคุยกัน ยืนคุยกันบ้าง ร้านอาหารบ้าง นั่งริมคันนาบ้าง เติมเต็มกันทันที เพื่อให้น้องๆอิ่มในข้อสงสัย ขัดข้อง

ซึ่งประเด็นทั้งหมดนั้นเราเองก็ไม่รอบรู้ไปทั้งหมด ประเด็นไหนที่ไม่แจ้งก็ไปค้นหามาแล้วเติมเต็มในรูปของบันทึกแล้วสำเนาแจกให้ทุกคนได้เรียนรู้ด้วย บันทึกนี้เป็นหลัก หยิบทุกประเด็นมาบันทึกแล้วกระจายไป ทำเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 บันทึก

องค์ความรู้ที่เติมเต็มนี้ เมื่อสิ้นปีรวมเล่มได้เลยครับ จัดหมวดหมู่และเพิ่มเติมส่วนที่ไม่ครบถ้วนลงไป ก็เป็นสิ่งที่อาจเรียกว่า KM ได้แบบ Field practice และเป็นประโยชน์มากสำหรับน้องๆที่ถือว่าเป็นมือใหม่ในการเข้ามาทำงานกับชาวบ้านในสาระ การจัดการน้ำในระดับไร่นา

ในทำนองเดียวกัน ผมติดตามทุกท่านที่ทำเรื่อง Dialogue for Consciousness (DfC) เห็นพลัง เห็นความก้าวหน้า เห็นปิติ เห็นประโยชน์ และชื่นชมที่ทุกท่านต่างหยิบฉวยสิ่งที่เป็นประโยชน์จากเฮฮาศาสตร์นี้ จาก Lanpanya นี้ไปใช้

ผมใคร่เสนอแนะว่า ทุกท่านที่เข้ามาร่วมในกระบวนการ ย่อมได้ปิติ ย่อมมีพลัง ย่อมกระหายที่จะหยิบฉวยความรู้ที่เสพเข้าไปนั้นไปดัดแปลงใช้ในงาน ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นกับความรับผิดชอบ

แต่น่าที่จะเกิด ประเด็นปัญหาที่อยากแลกเปลี่ยน ถามไถ่ ต้องการเติมเต็ม ขยายความ แต่อาจจะยังไม่มีช่องทางที่จะทำเช่นนั้น เพราะไม่ได้ถูกจัดการวางช่องทางไว้ ข้อเสนอผมก็คือ

· เชิญท่านเหล่านั้นเข้ามาในลาน แล้วเปิด ลาน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเติมเต็ม ขยายความกันต่อไปให้กว้างขวาง นอกจากผู้จัดการเป็นผู้แลกเปลี่ยนแล้ว ท่านอื่นๆที่มีประสบการณ์ก็จะได้เพิ่มเติมแลกเปลี่ยนไปอีกด้วย

· หากท่านเหล่านั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะเข้า ลาน ได้ ผู้จัดต้องบอกกล่าวว่าขอให้ส่งประเด็นมาที่ผู้จัดแล้วผู้จัดจะแลกเปลี่ยนเป็นบันทึก แล้วส่งคืนไปให้ พร้อมๆอาจจะสำเนาให้เพื่อนคนอื่นๆรับรู้ด้วย(อย่างที่ผมทำ)

· จัดทีมงานเยี่ยมเยือนตามวาระโอกาสอย่างไม่เป็นทางการ เอาขนมไปฝาก เอาเอกสารติดมือไป.. เพื่อ ทำ Follow up และใช้โอกาสนั้นสอบถาม แลกเปลี่ยน เป็นแบบ DfC follow up ….แล้วอย่าลืมเก็บประเด็นนั้น สาระที่แลกเปลี่ยนกันนั้นมาบันทึกแล้วทำสำเนาให้ทุกคนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันด้วย

· ใช้เครื่องมือสื่อสารอื่นๆ มือถือ โทรศัพท์สายตรง จดหมาย ..ฯลฯ เพื่อเปิดช่องให้มีการสื่อสารต่อเนื่องระหว่างกัน

· ทั้งหมดนี้เป็นเชิงรับ แต่พิจารณาการทำเชิงรุกด้วยนะครับ เช่น

· ผู้จัดตั้งประเด็นแล้วแลกเปลี่ยนไม่เป็นทางการ การตั้งประเด็น การตั้งคำถาม เป็นการกระตุ้นให้คิด ให้ควานหาความเป็นจริง แต่ทั้งนี้ควรพิจารณาความเหมาะสมรอบด้านด้วย

· การทบทวนสาระที่ใช้ในการ DfC ที่ผ่านมาโดยการขยายความในประเด็นต่างๆลงไป โดยไม่รอคำถาม แต่ประเด็นนั้นต้องผ่านการประเมินแล้วว่าเหมาะสม เกิดประโยชน์จริง…..

· นำตัวอย่างความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าของเพื่อนไปเล่าสู่กันฟัง…

· ฯลฯ..

สิ่งเหล่านี้คือ กระบวนการที่ทำต่อเนื่องภายหลังกระบวนการ DfC ครับ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด อิอิ..


รู้จักชุมชนต้องเข้าถึงแก่นวัฒนธรรม

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 30, 2009 เวลา 13:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4911

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ที่ผ่านมาเป็นวันสำคัญของอีสานโบราณ และปัจจุบันบางส่วน ในหลายแห่งเรียก วันเปิดประตูเล้าข้าว ที่ดงหลวงก็เรียกเช่นนั้น แต่ก็มีเรียกวันตรุษโซ่ หรือเรียกตรงๆว่า วัน 3 ค่ำเดือน 3 เพราะเป็นวันนั้นจริงๆ ถือว่าเป็นวันดีครับ ถือว่านี่คือ ฮีต คอง ของสังคมอีสาน แม้ว่าหลายที่หลายแห่งจะไม่มีพิธีนี้แล้วแต่ที่ดงหลวงยังให้ความสำคัญวันนี้ ทุกหมู่บ้านจะหยุดการทำงานแล้วมาร่วมกันประกอบพิธีนี้กัน ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้หลายปี และเคยบันทึกไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/73723 หรือที่คุณ NU 11 บันทึกไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/wangplub2550/164259

ผมจะไม่ลงรายละเอียดเรื่อง พิธีกรรม หรือวัฒนธรรมของวันนี้แต่จะใช้มุมมองอีกมุมหนึ่งของการอ่านชุมชนผ่านประเพณีนี้

ที่บ้านพังแดง อันเป็นหมู่บ้านไทโซ่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และ เป็นหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของ สำนักงาน อบต. และเป็นหมู่บ้านที่กำนันอยู่ที่นี่ เราเองก็คลุกคลีกับหมู่บ้านนี้มากที่สุดเพราะเราเคยเช่าบ้านชาวบ้านและให้เจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรเข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้าน

เนื่องจากเป็นที่ตั้งโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และเราต้องสนับสนุนชาวบ้านให้มาใช้ประโยชน์แหล่งน้ำให้มากที่สุดตามเจตนารมณ์ในการก่อสร้าง เราจึงศึกษาลงลึกในชุมชนเป็นรายกลุ่มย่อยของหมู่บ้าน รายสายเจ้าโคตร และรายครัวเรือน

เราทำ village profile ในรูปของแผนที่ที่ตั้งครัวเรือนทุกครัวเรือนในหมู่บ้านนี้ ใส่ชื่อลงไป ใส่สีที่แสดงบทบาทแต่ละคน ใส่สัญลักษณ์ต่างๆเพื่อแสดงข้อมูลต่างๆที่เราเก็บมาได้เพื่อศึกษาเข้าใจเขา…แน่นอนเราต้องใช้เวลาจำนวนมากในการค่อยๆคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชน เยาวชน สตรี ครู อสม. อบต. ฯลฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ ทั้งที่ขัดแย้งกันบ้าง สนับสนุนกันบ้าง แต่ในที่สุดก็มีข้อสรุปเมื่อเราทำ cross check

เมื่อวันที่ 28 ซึ่งเป็นวันพิธีกรรมดังกล่าว ผมให้น้องๆเข้าไปร่วมงานของชาวบ้านและให้ศึกษารายละเอียดแล้วมาคุยกันซิว่าได้อะไรมาบ้าง

หลังจากที่น้องเล่าให้ฟังมากมายแล้ว ก็มาถึงประเด็นที่ว่า พิธีกรรมของชาวบ้านในวันสำคัญนี้คือ จะทำ กันหลอน ขึ้น แล้วแห่ไปตามครัวเรือนต่างๆ เพื่อให้เจ้าของบ้านนั้น ร่วมทำบุญ และต่างก็กินเหล้าเมายากันอย่างสนุกสนาน รายได้ทั้งหมดเอาไปเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้านนั่นเอง

น้องบอกว่า ที่บ้านพังแดงมีกันหลอน 3 กันหลอน เมื่อผมได้ยินก็บอกดักคอน้องๆว่า พี่จะบอกว่า กันหลอนหนึ่งอยู่กลุ่มบ้านทางทิศตะวันออกใช่ไหม อีกกันหลอนหนึ่งอยู่ทางด้านใต้ถนนใช่ไหม และอีกกันหลอนอยู่กลุ่มบ้านเหนือถนนใช่ไหม

น้องบอกว่าใช่เลย แล้วถามกลับว่า อ้าว พี่ไม่ได้ไปทำไมรู้ล่ะ…. ผมตอบว่า สามารถเดาได้เพราะมีข้อมูลชุดอื่นๆอยู่ในคลัง และการมีกันหลอนออกมา เป็น 3 แห่งเช่นนี้ เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงสมมติฐานที่มีอยู่ก่อนแล้ว

การที่เราเข้ามาร่วมประเพณีเช่นนี้และประเพณีอื่นๆของชุมชนนั้น เราสามารถสังเกตพฤติกรรมและรายละเอียดของประเพณีเหล่านี้ แล้วเราก็จะเรียนรู้และเข้าใจคน และชุมชนมากขึ้น

ผมขอไม่อธิบายโดยละเอียด แต่ขอสรุปเอาว่า แม้ว่าบ้านนี้จะนามสกุลเดียวกันทั้งหมดคือ เชื้อคำฮด แต่มีลักษณะสำคัญหลายประการในการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดมีการแบ่งกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้ขัดแย้งกันจนไม่สามารถอยู่ด้วยกันไม่ได้ อยู่ร่วมกันได้ เพราะยังใช้ศาลเจ้าปู่ตาเดียวกัน กินน้ำบ่อเดียวกัน

แต่ลักษณะรายละเอียดบางเรื่องบางประการ แบ่งกันอยู่

หากเป็นคนสนใจด้านลึกของชุมชนนี้ก็จะเห็นลักษณะการแบ่งอีกอย่างคือ บ้านนี้มี 2 วัด คนทำงานพัฒนาเมื่อรู้ว่าบ้านไหนมีสองวัดก็ต้องตั้งคำถามในใจแล้วว่า ทำไม แล้วรีบหาคำตอบ แล้วรีบหากลุ่มคนทันทีว่า คนกลุ่มไหนขึ้นกับวัดไหน

การแบ่งแยกในทางลึกเช่นนี้ย่อมมีที่มาที่ไป และจะมีผลสะท้อนต่อการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของส่วนร่วมบ้าง มากน้อยแตกต่างกันไป ในฐานะคนทำงานผมคิดว่าหากเราหวังผลสำเร็จในงานมิใช่แค่ฉาบฉวยเข้าไปกำกิจกรรมแล้วก็ออกมา เราก็ได้แค่รายงานว่าทำกิจกรรมนั้นๆเสร็จสิ้นแล้ว แต่เราไม่ได้คน ไม่ได้ใจ ไม่ได้การสร้างสรรค์ด้านลึก

ภาพด้านลึกของชุมชนเช่นตัวอย่างนี้มีผลโดยตรงกับกิจกรรมที่มีผลประโยชน์ เราอาจจะใช้ความรู้ทางวิชาการเข้ามาเสริมได้อีกมากมายเช่น ทำ Sociogram เราก็จะทราบความสัมพันธ์ภายในชุมชนเพิ่มเติม แล้วเอาทั้งหมดมาประมวล วิเคราะห์ เราก็จะเข้าใจภาพรวมและภาพย่อยทั้งหมดของชุมชนมากขึ้น การทำงานของเราต่อบุคคลในชุมชนก็จะทำแบบเข้าใจมากขึ้น….

ทั้งหมดหยาบๆนี้คือการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณีชุมชน จะทำให้เราสังเกตเห็นความจริงในชุมชนนั้นมากขึ้นกว่าการไปทำความรู้จักอย่างเป็นทางการ หรือเพียงการอ่านเอกสาร ซึ่งไม่เพียงพอ..

โห…ทำอะไรกันเยอะแยะมากมาย

ที่ทำก็เพราะว่าเราเป็นคนนอก  ไม่ใช่คนในน่ะซีครับ

ผมเริ่มทำลานบินให้พ่อใหญ่บำรุง บุญปัญญา ขึ้นธรรมาสน์ที่สวนป่า ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ครับ อิอิ


วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (1)

อ่าน: 2794

เรื่องกินเรื่องอยู่นั้นไม่น่าจะเป็นเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่อง โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการกินการอยู่ และการดำรงชีวิต

หลายปีก่อนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทย์ศาสตร์ร่วมกับคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา ทำการศึกษาสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับของคนอีสาน ค้นพบว่าเพราะวัฒนธรรมการบริโภคของคนอีสานนั้น กินดิบจึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมาก อาหารที่ชาวอีสานกินดิบนั้นสารพัดอย่าง รวมไปถึง หอยน้ำจืด ซึ่งทางชีววิทยาพบว่า หอยนั้นเป็น Host ของพยาธิชนิดหนึ่งในวงจรชีวิตเขา เมื่อคนอีสานกินดิบ โอกาสที่พยาธิจะเข้าไปในร่างกายก็เกิดขึ้นได้ และพยาธิชนิดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับ

แม้แต่ท่านอาจารย์ที่รักเคารพของผมท่านหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าภาพวิชาโภชนาการ มข. ก็เสียชีวิตเพราะมะเร็งตับ ซึ่งท่านก็บอกว่า ก็กินมาตั้งแต่เด็กๆ มาเข้าใจเอาตอนโต เรียนหนังสือแล้ว แต่พยาธิมันเข้าไปอาศัยในร่างกายนานแล้ว และมาแสดงผลเอาตอนอายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว…. นี่คือเรื่องวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่ง…

คนใต้ ไปอยู่ไหนๆก็ต้องมองหาร้านอาหารปักษ์ใต้ ก็แกงเหลือง แกงไตปลา ขนมจีนแบบปักษ์ใต้ คั่วกลิ้ง ฯลฯ…..มันหร้อยจังฮู้.. ที่บ้านก็ต้องหามากินบ่อยๆหากคุณเธอไม่มีเวลาทำเอง…

ผมเองก็ติดน้ำพริก ผักสดหรือผักลวกก็ตาม สารพัดชนิดชอบมั๊กมั๊ก…. สมัยก่อนหากกลับบ้านก็ต้องให้แม่หรือน้องสาวทำปลาร้าทรงเครื่อง ที่มีผักพื้นบ้านเต็มถาด จะเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในโลกนี่เป็นวัฒนธรรมบริโภคของคนประจำภาค ประจำถิ่น …เพราะติดในรส ที่ถูกฝึกมาทั้งชีวิตตั้งแต่เด็กๆ

ผมมาอยู่ดงหลวงถิ่นชนเผ่า ไทโซ่ มีที่ตั้งชุมชนติดภูเขา ที่เรียกว่ามีระบบภูมินิเวศแบบเชิงเขา ชาวบ้านก็จะมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงป่าสูงมาก กล่าวกันว่า ทุกคนทั้งหญิงและชายจะต้องขึ้นป่า ด้วยจิตวิญญาณ..

ดังนั้น ผมเคยขึ้นป่ากับชาวบ้าน พบว่าชาวบ้านเตรียมแต่ข้าวเหนียวไปเอามีดไปและเครื่องครัว อาหารการกินไปหาเอาข้างหน้า เช่นลงไปในลำห้วยก็ได้เขียด ได้หอยป่า ได้ปูภูเขา อาจจะได้ปลามา หากโชคดีก็ได้สัตว์ป่า ซึ่งเหลือน้อยเต็มทีแล้ว แล้วก็มาทำกินกันแบบลูกทุ่ง เอาใบไม้มารองอาหาร การหุงข้าวหากไม่ได้เอาหม้อไป หรือเอาหม้อที่ซ่อนไว้ในป่า ก็ไปตัดไม้ไผ่ปล้องใหญ่ๆมาผ่าครึ่งแล้วก็หุงข้าวในนั้น

นรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงคนหนึ่งบอกว่า อาจารย์…เวลาเข้าป่าเขาหุงข้าวด้วยปล้องไม้ไผ่ ข้าวหอมมากๆ น่ากิน ช้อนก็ไม่จำเป็นต้องเอาติดตัวไปก็ได้ ใช้มือเรานี่แหละ หากวันนั้นมีต้มมีแกงก็ไปหาใบไม้สารพัดชนิดที่ใกล้ตัว เด็ดมาห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงซดกิน ใบไม้บางชนิดเมื่อโดนความร้อนมันก็หอม อร่อย… และที่สำคัญ เราก็ติดใจในรสอาหาร และธรรมชาติของป่านั้น…

ไม่ว่าวัยรุ่นวัยเฒ่าแค่ไหนวิถีชีวิตก็ขึ้นป่า…หากินกันแบบนั้น.. ผมเคยตั้งคำถามนรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงว่า

..บ่อยครั้งแค่ไหนที่เข้าป่า นรินทร์ตอบว่า “อย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละหนึ่งครั้งโดยเฉลี่ย เพราะไปหาอาหารป่า หรือก็ขอให้ได้เข้าป่า แม้จะไม่ได้อะไรติดมือมาเลยก็ตาม….

ไปคนเดียวผมก็ยังไปเลย แรกๆก็กลัวๆกล้าๆ นานไปกลับสนุก กลางคืนก็ไปคนเดียว นอนกลางป่าเลย… (ต่อตอน 2)



Main: 0.061131000518799 sec
Sidebar: 0.044288158416748 sec