วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (1)
เรื่องกินเรื่องอยู่นั้นไม่น่าจะเป็นเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่อง โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการกินการอยู่ และการดำรงชีวิต
หลายปีก่อนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทย์ศาสตร์ร่วมกับคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา ทำการศึกษาสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับของคนอีสาน ค้นพบว่าเพราะวัฒนธรรมการบริโภคของคนอีสานนั้น “กินดิบ” จึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมาก อาหารที่ชาวอีสานกินดิบนั้นสารพัดอย่าง รวมไปถึง หอยน้ำจืด ซึ่งทางชีววิทยาพบว่า หอยนั้นเป็น Host ของพยาธิชนิดหนึ่งในวงจรชีวิตเขา เมื่อคนอีสานกินดิบ โอกาสที่พยาธิจะเข้าไปในร่างกายก็เกิดขึ้นได้ และพยาธิชนิดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับ
แม้แต่ท่านอาจารย์ที่รักเคารพของผมท่านหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าภาพวิชาโภชนาการ มข. ก็เสียชีวิตเพราะมะเร็งตับ ซึ่งท่านก็บอกว่า ก็กินมาตั้งแต่เด็กๆ มาเข้าใจเอาตอนโต เรียนหนังสือแล้ว แต่พยาธิมันเข้าไปอาศัยในร่างกายนานแล้ว และมาแสดงผลเอาตอนอายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว…. นี่คือเรื่องวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่ง…
คนใต้ ไปอยู่ไหนๆก็ต้องมองหาร้านอาหารปักษ์ใต้ ก็แกงเหลือง แกงไตปลา ขนมจีนแบบปักษ์ใต้ คั่วกลิ้ง ฯลฯ…..มันหร้อยจังฮู้.. ที่บ้านก็ต้องหามากินบ่อยๆหากคุณเธอไม่มีเวลาทำเอง…
ผมเองก็ติดน้ำพริก ผักสดหรือผักลวกก็ตาม สารพัดชนิดชอบมั๊กมั๊ก…. สมัยก่อนหากกลับบ้านก็ต้องให้แม่หรือน้องสาวทำปลาร้าทรงเครื่อง ที่มีผักพื้นบ้านเต็มถาด จะเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในโลกนี่เป็นวัฒนธรรมบริโภคของคนประจำภาค ประจำถิ่น …เพราะติดในรส ที่ถูกฝึกมาทั้งชีวิตตั้งแต่เด็กๆ
ผมมาอยู่ดงหลวงถิ่นชนเผ่า ไทโซ่ มีที่ตั้งชุมชนติดภูเขา ที่เรียกว่ามีระบบภูมินิเวศแบบเชิงเขา ชาวบ้านก็จะมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงป่าสูงมาก กล่าวกันว่า ทุกคนทั้งหญิงและชายจะต้องขึ้นป่า ด้วยจิตวิญญาณ..
ดังนั้น ผมเคยขึ้นป่ากับชาวบ้าน พบว่าชาวบ้านเตรียมแต่ข้าวเหนียวไปเอามีดไปและเครื่องครัว อาหารการกินไปหาเอาข้างหน้า เช่นลงไปในลำห้วยก็ได้เขียด ได้หอยป่า ได้ปูภูเขา อาจจะได้ปลามา หากโชคดีก็ได้สัตว์ป่า ซึ่งเหลือน้อยเต็มทีแล้ว แล้วก็มาทำกินกันแบบลูกทุ่ง เอาใบไม้มารองอาหาร การหุงข้าวหากไม่ได้เอาหม้อไป หรือเอาหม้อที่ซ่อนไว้ในป่า ก็ไปตัดไม้ไผ่ปล้องใหญ่ๆมาผ่าครึ่งแล้วก็หุงข้าวในนั้น
นรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงคนหนึ่งบอกว่า อาจารย์…เวลาเข้าป่าเขาหุงข้าวด้วยปล้องไม้ไผ่ ข้าวหอมมากๆ น่ากิน ช้อนก็ไม่จำเป็นต้องเอาติดตัวไปก็ได้ ใช้มือเรานี่แหละ หากวันนั้นมีต้มมีแกงก็ไปหาใบไม้สารพัดชนิดที่ใกล้ตัว เด็ดมาห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงซดกิน ใบไม้บางชนิดเมื่อโดนความร้อนมันก็หอม อร่อย… และที่สำคัญ “เราก็ติดใจในรสอาหาร และธรรมชาติของป่านั้น…”
ไม่ว่าวัยรุ่นวัยเฒ่าแค่ไหนวิถีชีวิตก็ขึ้นป่า…หากินกันแบบนั้น.. ผมเคยตั้งคำถามนรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงว่า
..บ่อยครั้งแค่ไหนที่เข้าป่า นรินทร์ตอบว่า “อย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละหนึ่งครั้งโดยเฉลี่ย เพราะไปหาอาหารป่า หรือก็ขอให้ได้เข้าป่า แม้จะไม่ได้อะไรติดมือมาเลยก็ตาม….”
“ไปคนเดียวผมก็ยังไปเลย แรกๆก็กลัวๆกล้าๆ นานไปกลับสนุก กลางคืนก็ไปคนเดียว นอนกลางป่าเลย…” (ต่อตอน 2)
« « Prev : ผีพาย
Next : รู้จักชุมชนต้องเข้าถึงแก่นวัฒนธรรม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (1)"