รู้จักชุมชนต้องเข้าถึงแก่นวัฒนธรรม

โดย bangsai เมื่อ มกราคม 30, 2009 เวลา 13:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4819

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ที่ผ่านมาเป็นวันสำคัญของอีสานโบราณ และปัจจุบันบางส่วน ในหลายแห่งเรียก วันเปิดประตูเล้าข้าว ที่ดงหลวงก็เรียกเช่นนั้น แต่ก็มีเรียกวันตรุษโซ่ หรือเรียกตรงๆว่า วัน 3 ค่ำเดือน 3 เพราะเป็นวันนั้นจริงๆ ถือว่าเป็นวันดีครับ ถือว่านี่คือ ฮีต คอง ของสังคมอีสาน แม้ว่าหลายที่หลายแห่งจะไม่มีพิธีนี้แล้วแต่ที่ดงหลวงยังให้ความสำคัญวันนี้ ทุกหมู่บ้านจะหยุดการทำงานแล้วมาร่วมกันประกอบพิธีนี้กัน ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้หลายปี และเคยบันทึกไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/73723 หรือที่คุณ NU 11 บันทึกไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/wangplub2550/164259

ผมจะไม่ลงรายละเอียดเรื่อง พิธีกรรม หรือวัฒนธรรมของวันนี้แต่จะใช้มุมมองอีกมุมหนึ่งของการอ่านชุมชนผ่านประเพณีนี้

ที่บ้านพังแดง อันเป็นหมู่บ้านไทโซ่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และ เป็นหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของ สำนักงาน อบต. และเป็นหมู่บ้านที่กำนันอยู่ที่นี่ เราเองก็คลุกคลีกับหมู่บ้านนี้มากที่สุดเพราะเราเคยเช่าบ้านชาวบ้านและให้เจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรเข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้าน

เนื่องจากเป็นที่ตั้งโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และเราต้องสนับสนุนชาวบ้านให้มาใช้ประโยชน์แหล่งน้ำให้มากที่สุดตามเจตนารมณ์ในการก่อสร้าง เราจึงศึกษาลงลึกในชุมชนเป็นรายกลุ่มย่อยของหมู่บ้าน รายสายเจ้าโคตร และรายครัวเรือน

เราทำ village profile ในรูปของแผนที่ที่ตั้งครัวเรือนทุกครัวเรือนในหมู่บ้านนี้ ใส่ชื่อลงไป ใส่สีที่แสดงบทบาทแต่ละคน ใส่สัญลักษณ์ต่างๆเพื่อแสดงข้อมูลต่างๆที่เราเก็บมาได้เพื่อศึกษาเข้าใจเขา…แน่นอนเราต้องใช้เวลาจำนวนมากในการค่อยๆคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชน เยาวชน สตรี ครู อสม. อบต. ฯลฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ ทั้งที่ขัดแย้งกันบ้าง สนับสนุนกันบ้าง แต่ในที่สุดก็มีข้อสรุปเมื่อเราทำ cross check

เมื่อวันที่ 28 ซึ่งเป็นวันพิธีกรรมดังกล่าว ผมให้น้องๆเข้าไปร่วมงานของชาวบ้านและให้ศึกษารายละเอียดแล้วมาคุยกันซิว่าได้อะไรมาบ้าง

หลังจากที่น้องเล่าให้ฟังมากมายแล้ว ก็มาถึงประเด็นที่ว่า พิธีกรรมของชาวบ้านในวันสำคัญนี้คือ จะทำ กันหลอน ขึ้น แล้วแห่ไปตามครัวเรือนต่างๆ เพื่อให้เจ้าของบ้านนั้น ร่วมทำบุญ และต่างก็กินเหล้าเมายากันอย่างสนุกสนาน รายได้ทั้งหมดเอาไปเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้านนั่นเอง

น้องบอกว่า ที่บ้านพังแดงมีกันหลอน 3 กันหลอน เมื่อผมได้ยินก็บอกดักคอน้องๆว่า พี่จะบอกว่า กันหลอนหนึ่งอยู่กลุ่มบ้านทางทิศตะวันออกใช่ไหม อีกกันหลอนหนึ่งอยู่ทางด้านใต้ถนนใช่ไหม และอีกกันหลอนอยู่กลุ่มบ้านเหนือถนนใช่ไหม

น้องบอกว่าใช่เลย แล้วถามกลับว่า อ้าว พี่ไม่ได้ไปทำไมรู้ล่ะ…. ผมตอบว่า สามารถเดาได้เพราะมีข้อมูลชุดอื่นๆอยู่ในคลัง และการมีกันหลอนออกมา เป็น 3 แห่งเช่นนี้ เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงสมมติฐานที่มีอยู่ก่อนแล้ว

การที่เราเข้ามาร่วมประเพณีเช่นนี้และประเพณีอื่นๆของชุมชนนั้น เราสามารถสังเกตพฤติกรรมและรายละเอียดของประเพณีเหล่านี้ แล้วเราก็จะเรียนรู้และเข้าใจคน และชุมชนมากขึ้น

ผมขอไม่อธิบายโดยละเอียด แต่ขอสรุปเอาว่า แม้ว่าบ้านนี้จะนามสกุลเดียวกันทั้งหมดคือ เชื้อคำฮด แต่มีลักษณะสำคัญหลายประการในการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดมีการแบ่งกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้ขัดแย้งกันจนไม่สามารถอยู่ด้วยกันไม่ได้ อยู่ร่วมกันได้ เพราะยังใช้ศาลเจ้าปู่ตาเดียวกัน กินน้ำบ่อเดียวกัน

แต่ลักษณะรายละเอียดบางเรื่องบางประการ แบ่งกันอยู่

หากเป็นคนสนใจด้านลึกของชุมชนนี้ก็จะเห็นลักษณะการแบ่งอีกอย่างคือ บ้านนี้มี 2 วัด คนทำงานพัฒนาเมื่อรู้ว่าบ้านไหนมีสองวัดก็ต้องตั้งคำถามในใจแล้วว่า ทำไม แล้วรีบหาคำตอบ แล้วรีบหากลุ่มคนทันทีว่า คนกลุ่มไหนขึ้นกับวัดไหน

การแบ่งแยกในทางลึกเช่นนี้ย่อมมีที่มาที่ไป และจะมีผลสะท้อนต่อการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของส่วนร่วมบ้าง มากน้อยแตกต่างกันไป ในฐานะคนทำงานผมคิดว่าหากเราหวังผลสำเร็จในงานมิใช่แค่ฉาบฉวยเข้าไปกำกิจกรรมแล้วก็ออกมา เราก็ได้แค่รายงานว่าทำกิจกรรมนั้นๆเสร็จสิ้นแล้ว แต่เราไม่ได้คน ไม่ได้ใจ ไม่ได้การสร้างสรรค์ด้านลึก

ภาพด้านลึกของชุมชนเช่นตัวอย่างนี้มีผลโดยตรงกับกิจกรรมที่มีผลประโยชน์ เราอาจจะใช้ความรู้ทางวิชาการเข้ามาเสริมได้อีกมากมายเช่น ทำ Sociogram เราก็จะทราบความสัมพันธ์ภายในชุมชนเพิ่มเติม แล้วเอาทั้งหมดมาประมวล วิเคราะห์ เราก็จะเข้าใจภาพรวมและภาพย่อยทั้งหมดของชุมชนมากขึ้น การทำงานของเราต่อบุคคลในชุมชนก็จะทำแบบเข้าใจมากขึ้น….

ทั้งหมดหยาบๆนี้คือการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณีชุมชน จะทำให้เราสังเกตเห็นความจริงในชุมชนนั้นมากขึ้นกว่าการไปทำความรู้จักอย่างเป็นทางการ หรือเพียงการอ่านเอกสาร ซึ่งไม่เพียงพอ..

โห…ทำอะไรกันเยอะแยะมากมาย

ที่ทำก็เพราะว่าเราเป็นคนนอก  ไม่ใช่คนในน่ะซีครับ

ผมเริ่มทำลานบินให้พ่อใหญ่บำรุง บุญปัญญา ขึ้นธรรมาสน์ที่สวนป่า ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ครับ อิอิ

« « Prev : วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (1)

Next : ข้อเสนอต่อ DfC » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มกราคม 2009 เวลา 16:41

    ที่หงสาสมัยระบอบเก่าก็มีประเพณีสามค่ำเดือน ๓ เหมือนกันครับ
    แต่เดี๋ยวนี้เลิกไปแล้ว
    แต่สำหรับชาวโส้ที่ผมไปพบที่เมืองนากายแขวงคำม่วน กลับสืบค้นไม่พบว่ามีบุญเปิดประตูเหล้าข้าวนี้
    ช่วงนี้ที่หงสากำลังมีบุญพระเวท(เทสน์มหาชาติ)กันครับ หมู่บ้านชาวลื้อนาทรายคำ เวียงแก้ว และโพนจัน จัดใหญ่โตและมีการผลัดเปลี่ยนกันไปร่วมทำบุญด้วยครับ แสดงให้เห็นถึงความเหนียวแน่นเป็นพิเศษในกลุ่มชาติพันธุ์

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มกราคม 2009 เวลา 22:07

    การมีอยู่และหายไป หรือไม่มีอยู่ตั้งแต่แรกก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจนะเปลี่ยน หากมีเวลาก็ลองสืบค้นดู เขียนหนังสือได้เล่มหนึ่งเชียว
    วัฒนธรรมคือองค์ประกอบของจิตสำนึก
    คนในเมืองมีวัฒนธณณมแบบโลกาภิวัฒน์ จิตสำนึกเขาก็เป็นแบบนั้น ไอ้เราลูกครึ่ง อิอิ ที่เราเรียกกันว่ามนุษย์สองโลกบ้าง สามโลกบ้าง

    ออตถามถึงเปลี่ยนอยู่


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.73882412910461 sec
Sidebar: 0.33537983894348 sec