วิกฤตน้ำ..

โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 31, 2009 เวลา 9:44 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1902

วันที่ 30 แว็บไปนั่งฟังการสัมมนาเรื่อง วิกฤติน้ำ วิกฤติชีวิต: การจัดการน้ำเพื่อชีวิต..คนอีสาน ที่โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น

มีสาระที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ที่เกริ่นนำให้เห็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่จัดการเรื่องน้ำและวิถีชีวิต ท่านเน้นว่า คนโบราณจัดการทำโดยเน้นเพื่อการอุปโภค บริโภคเป็นหลัก วิธีการจัดการน้ำนั้น เน้นความสัมพันธ์คนกับคน คนกับธรรมชาติและกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ท่านเน้นความรู้ที่ต้องเคารพมากๆคือความรู้ที่มาจาก “คนใน” มิใช่ เอาแต่ความคิดเห็นของ “คนนอก”

คุณมนตรี จันทวงศ์ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้ นำข้อมูลที่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ คือข้อมูลจากรัฐ นโยบายของรัฐ แม้ข้อมูลบางเรื่องเป็นที่ไม่เปิดเผยมาก่อน โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ข้อมูลงบประมาณมากมายมหาศาลที่รัฐได้เตรียมไว้สำหรับลงทุนทำงานเกี่ยวกับการจัดการน้ำทั่วประเทศ หลายแสนล้านบาท บางส่วนผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วด้วยทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลลาวในกรณีโครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำเทินมุดแม่น้ำโขงมายังภาคอีสานของประเทศไทย แต่รัฐบาลไทย หน่วยงานที่รับผิดชอบได้อนุมัติงบประมาณออกแบบโครงการนี้แล้ว

ข้อมูลของคุณมนตรีนำมาเสนอนั้นไปตอกย้ำการกล่าวของท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ที่ว่า เป็นความคิดของ “คนนอก” แม้จะพยายามทำประชาพิจารณ์ แต่ เป็นเพียงพิธีการแบบ ชงเองกินเองเสียมากกว่า…

คุณไพรินทร์ เสาะสาย จากโครงการทามมูล สุรินทร์ นั้นมาชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศอีสาน 6 แบบที่เกี่ยวข้องกับน้ำในอีสาน เป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามาก หากไม่เข้าใจเรื่องราวของระบบนิเวศแล้ว การออกแบบชลประทาน หรือการจัดการน้ำก็จะไปทำลายระบบเหล่านี้และการจัดการแบบคนนอกคิดนั้นก็จะไปสร้างปัญหาอีกแบบหนึ่งขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย

ประทับใจข้อมูลคุณมัสยา คำแหง จากมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต ที่นำเอางานวิจัยที่ชาวบ้านเป็นผู้ทำและประสบผลสำเร็จในการจัดการน้ำ เป็นข้อมูลที่ตอกย้ำว่าการที่ชาวบ้านมองหาทางออกเองนั้นมันเหมาะสม สอดคล้องกับเงื่อนไขและสภาพของชุมชน ที่สำคัญ ไม่ได้ใช้งบประมาณมากมายอย่างที่รัฐทำ เธอกล่าววลีที่ชอบมากคือ “ข้อมูลทำให้เกิดการตื่น ตระหนัก”..


ส่วนตัวมีข้อเสนอดังนี้

  • RDI หรือหน่วยงานใดก็ตามที่เข้าใจปัญหานี้ ควรจะเอาข้อมูลเหล่านี้ และมากกว่านี้ไปขยายให้ชาวบ้านทั่วไปได้รับทราบมากที่สุด ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่หน่วยงานนั้นเอื้ออำนวยให้
  • ทั้งข้อมูลที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและข้อมูลที่เป็นนโยบายของรัฐ ควรทำการสรุปสาระแล้วจัดทำเป็นสื่อต่างๆเพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางที่สุด
  • กระบวนการขยายข้อมูลควรดำเนินการไปเพื่อให้เกิดการตื่น ตระหนักของประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง


  • ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นรัฐบาลเป็นเจ้าของโครงการ และหน่วยงานราชการเป็นฝ่ายลากจูงการจัดการน้ำแต่โครงการเหล่านั้นจำนวนมากพิสูจน์แล้วว่า ล้วนแต่มีผลประโยชน์แอบแฝงของกลุ่มธุรกิจ และนักการเมือง บางส่วนที่มีอำนาจ ประการสำคัญ โครงการต่างๆเหล่านั้นไม่ได้ก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนตามที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น เหตุผลที่สำคัญคือ รัฐไม่ค่อยฟังคนในชุมชน เน้นความรู้ทางเทคนิคมากกว่าความเข้าใจทางภูมินิเวศวัฒนธรรมเกษตรของท้องถิ่นนั้นๆ
  • ความล้มเหลวที่ซ้ำซากนั้น เป็นความสูญเสียของงบประมาณของรัฐ ของประชาชน เป็นความล้มเหลวของโอกาสของประชาชน แต่กลับเป็นความอิ่มหนำสำราญของคนบางกลุ่ม
  • มีแต่ประชาชนสร้างเครือข่ายและลุกขึ้นมาเสนอและควบคุมโครงการนั้นๆเอง ตรวจสอบการดำเนินการโครงการ โดยร่วมมือกับนักวิชาการที่ยืนอยู่ข้างประชาชน แม้จะเป็นการยากยิ่งก็ตาม

ขอบคุณ RDI และกลุ่มหน่วยงานผู้จัดที่เปิดเวทีให้เกิดการเรียนรู้และกระตุ้นให้มีการต่อยอดความคิดในเรื่องนี้ต่อไป

« « Prev : ไปสวรรค์กันไหม…?

Next : Fuse » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.076667070388794 sec
Sidebar: 0.056768894195557 sec