ฝ้ายคำดอกสุดท้าย..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 6, 2010 เวลา 21:10 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2795


ออกไปนอกชานห้องนอน เห็นฝ้ายคำดอกสุดท้ายบนต้น ยืนดูพักหนึ่ง แล้วก็คิดอะไรไปต่างๆนาๆ

เขามาพร้อมกับความสวยงาม ทำให้พื้นที่สวยงาม สบายตา นกบางตัวก็มาหาหนอน บางชนิดก็มาจิกกลีบอ่อนๆไปด้วย


ดอกใหญ่มีน้ำหนัก ก้านดอกอ่อน จึงคว่ำดอกลงดิน ทิ้งใบลงหมดสิ้นเหลือแต่กิ่งก้านกับดอก เข้าสู่ฤดูร้อนก็ลดการสังเคราะห์อาหารลง ชะลอการเจริญเติบโตลง


แต่ดอกยังเหลืองสดใส บ่อยครั้งที่เราเอามาลอยน้ำเก็บไว้ในห้องรับแขก ห้องครัวแม้ห้องนอน วันไหนเจ้าบานมาก ร่วงหล่นพื้นมาก ก็เอามาลอยในกระถางให้รอบบ้าน เหลืองทั้งบ้านเลย ไปมุมไหนก็เหลือง มุมนั่งเล่นก็เหลืองสวยชื่นใจ


มาวันนี้เจ้าเป็นดอกสุดท้าย ฉันขอบันทึกเจ้าไว้นะ


หากความอาลัยอาวรณ์เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ฉันก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ถึงกับฟูมฟายหรอก แค่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเท่านั้นแหละ


สายแก่ๆวันนี้เจ้าถึงที่สุดของกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับสูญไป


เจ้าละทิ้งขั้วดอกร่วงหล่นลงไปกับพื้นดินคืนสู่ธรรมอีกสถานะหนึ่ง


เจ้าเปลี่ยนคุณค่าในโลกของสีสันไปเป็นคุณค่าของธุลีที่สรรพสิ่งก็ต้องเดินมาสู่จุดนี้เช่นเดียวกัน

เวลาที่ต้นแม่เจ้าผลิตเจ้าออกมาเบ่งบานสร้างโลกสีเหลืองนี้เพียงสองเดือน ให้สรรพชีวิตได้อาศัยประโยชน์จากเจ้า แม้ตัวข้าฯเอง

ไปเถอะ..ฝ้ายคำ

เจ้ากลับคืนสู่สามัญแล้ว…


ใบปะหน้า..

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 13, 2010 เวลา 23:32 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 3419

วันนี้ไป Dialogue กับชาวบ้านเรื่องการเตรียมจัดวันไทบรูประจำปี 2553

เราแลกเปลี่ยนกันถึงสาระของงาน ในฐานะคนนอก ผมเองติดใจวิถีไทบรูเดิมๆที่ชาวบ้านบอกว่า เคยเล่าให้ลูกๆฟัง ลูกๆบอกว่า พ่อเอานิทานมาเล่า คือเด็กไม่เชื่อว่าสิ่งที่พ่อเล่านั้นคืออดีตวิถีไทโซ่


ผมเสนอให้รวบรวมสิ่งของที่เป็นเครื่องหาอยู่หากินเดิมๆของไทโซ่มาแสดง มีคนมาบรรยาย เชิญเด็กนักเรียนมาศึกษา เรียนรู้ ฯลฯ ทุกคนเห็นดีด้วย แล้วผมก็ลองสอบถามว่า ไหนลองบอกซิว่าเครื่องมือโบราณนั้นมีอะไรบ้าง…

เท่านั้นเอง แต่ละคนก็บอกว่า มีหน้าไม้ ยางน่องอาบพิษ มีเครื่องมือจับสัตว์สารพัดแบบที่ผมนึกไม่ถึงว่าไทโซ่โบราณนั้นจะมีภูมิปัญญาลึกซึ้งขนาดนี้ ง่ายๆ เป็นกลไกที่ง่าย ฉลาดและได้ผล บางคนขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้านไปเอาเครื่องมือมาให้ดู บางคนเดินออกไปนอกวงคุย เดี๋ยวเดียวได้ไม้มาท่อนหนึ่ง แล้วก็สร้างเครื่องมือดักสัตว์แบบจำลองแต่ทำงานได้จริงๆให้ดู ฯลฯ


กำลังทำรายงานเรื่องนี้อยู่ครับ

ระหว่างนั้นผมพยายามกระตุ้นว่า การจัดงานต้องมีงบประมาณ ทางโครงการมีอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นไปได้ไหมที่กรรมการเครือข่ายไทบรูไปประสานงาน ขอรับการสนับสนุนจาก อบต.ท้องถิ่น


ทุกคนส่ายหน้า บอกว่า เคยไปขอหลายครั้งแล้วเขาไม่เคยให้อะไรเลย ตรงข้าม เขาจะจัดศึกษาดูงานหรูๆ สร้างถนน ซื้อเครื่องจักรที่ไม่มีประโยชน์แก่ชุมชน ฯลฯ แต่ที่เรื่องการลงทะเบียนกลุ่มสวัสดิการชุมชนที่เสนอต่อจังหวัดนั้นยังไม่ผ่าน ทิ้งเรื่องไว้ตั้งหลายเดือน

ชาวบ้านเล่าให้ฟังอีกว่า นายกอบต.บอกว่า ทางราชการรับเรื่องการลงทะเบียนแล้วแต่มีแต่เอกสาร และรายชื่อสมาชิก ไม่มีใบปะหน้าเอกสารเหล่านี้ เขารอให้ อบต.ทำใบปะหน้าไป

นายกบอกว่า ใบปะหน้ามันเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น และไม่รู้จะทำอย่างไร ทำไม่เป็น…?????

ขำไม่ออกจริงๆ เจ้า “ใบปะหน้า” และ “นายก อบต.” ตำบลหนึ่งของดงหลวง…???


ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2010 เวลา 11:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11906

สังคมชนเผ่าไทโซ่ หรือบรู ดงหลวงนั้นแบ่งคร่าวๆเป็นสามยุค คือยุคก่อน พ.ศ. 2500 ยุคระหว่าง พ.ศ. 2500-2527 และยุคหลัง 2527 จนถึงปัจจุบัน ที่แบ่งยุคแบบนี้ ก็เพราะว่า ช่วง 2500-2527 นั้น เป็นช่วงที่ดงหลวงร้อนเป็นไฟ เป็นที่ตั้งของฐานปลดปล่อยของพรรคคอมมิวนิสต์ พี่น้องไทยโซ่ นับร้อยนับพันขึ้นไปอยู่บนภูเขากับ พคท. และพากันเดินพาเหรดออกจากป่าเมื่อ พ.ศ. 2527

มีโอกาสศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของไทโซ่ดงหลวงก่อน พ.ศ. 2500 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง น่าสนใจครับ น่าจะเป็นตัวแทนสังคมไทยโบราณได้ กรณีหนึ่ง เพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้อีก และเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีทางนึกออกว่าบรรพบุรุษของเราเคยมีความเป็นอยู่อย่างไรกันมาบ้าง

เนื่องจากสัญชาติญาณแห่งการอยู่รอด และภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์พัฒนาการมีชีวิตอยู่รอดนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามระดับของความฉลาดของมนุษย์ แต่น่าจะมีสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน และสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งไทโซ่ ที่นับถือผีกับพุทธไปพร้อมๆกัน หลักการของพุทธย่อมมีส่วนไม่มากก็น้อยในการนำมาเป็นแนวทางการดำรงชีวิต

หลักการหนึ่งของการดำรงชีวิตของศาสนาพุทธคือการยังชีวิตด้วยปัจจัย 4 อย่างพอดี ไม่เบียดเบียนโลกและตัวเอง ตีความง่ายๆคือหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง


เมื่อศึกษาสังคมโบราณของไทโซ่ดงหลวง(และผมเชื่อว่าที่อื่นๆก็คงคล้ายคลึงกัน)แล้วมันสอดคล้องกับหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง แต่หลักปัจจัย 4 แบบพอเพียงนั้นจะให้สมบูรณ์ต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งเข้ามาเชื่อมด้วยคือ วัฒนธรรมชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยกัน เป็นทุนทางสังคม เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ และความจริงเป็นปัจจัยที่ 5 ของความพอเพียงด้วยซ้ำไป


หลักการนี้ยังสะท้อนไปถึง หลักความพอเพียงที่ในหลวงท่านพระราชทานลงมาด้วยว่า ทั้งหมดนั้นจะต้องอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ของสังคมด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นปัจเจกชน ซึ่งสังคมไม่ได้เป็นเช่นนั้น และในชีวิตจริงๆก็ไม่มีใครที่จะพึ่งตัวเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ย่อมพึ่งพาอาศัยกันด้วยเพราะเราไม่สามารถมีความสมบูรณ์ตลอดเวลาด้วยปัจจัย 4

ท่านที่นำหลักความพอเพียงไปใช้ได้โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญนี้ด้วย

ความจริงการพึ่งพาอาศัยกันนั้นรวมอยู่ในหลักความพอเพียง แต่มักไม่ได้พูดถึง หรือไม่ได้เน้นกัน หลายท่านไม่ได้พูดถึง เพราะเห็นเป็นประเด็นย่อย แต่จากการเฝ้าสังเกตสังคมชนบทนั้น วัฒนธรรมชุมชนเป็นโครงสร้างหลักด้วยซ้ำไป

ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆ เมื่อพ่อไปทอดแหได้ปลามามาก พ่อก็แบ่งให้เพื่อนบ้านโดยให้เด็กชายบางทรายเดินไปให้ คุณยายนั่น คุณตาคนนี้ เพราะแก่เฒ่าหากินไม่สะดวก

ที่ดงหลวง เมื่อชาวบ้านเดินผ่านแปลงผัก ก็ตะโกนขอผักไปกินกับลาบหน่อยนะ เจ้าของแปลงก็ตะโกนตอบอนุญาตให้เอาไปเถอะ สังคมภาคเหนือจะมีคนโท หรือหม้อดินใส่น้ำตั้งไว้หน้าบ้าน ใครที่เดินผ่านไปมาหิวน้ำก็ตักดื่มกินเอาได้เลย มันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา สวยงาม เอื้ออาทรกัน พึ่งพากัน เพราะไม่มีใครที่มีปัจจัยสมบูรณ์ไปตลอดเวลา ยามมีก็มี ยามขาดก็ขาด ก็ได้อาศัยญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในชุมชนนั่นแหละช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจ ไม่ได้คิดค่าเป็นเงินเป็นทองแต่อย่างใด

ชาวบ้านจะสร้างบ้าน ก็บอกกล่าวกัน ชายอกสามศอกสี่ศอกก็มาช่วยเหลือกัน ตามความถนัด ไม่ได้รับเหมาเอาเงินทองแต่อย่างใด ความมีน้ำใจ ความมีบุญคุณ ความกตัญญู ช่วยเหลือเอื้ออาทร ทั้งหมดนี้แสดงออกโดย “การให้” ให้วัตถุ ให้แรงงาน ให้อภัย ให้ปัจจัยต่างๆ และให้ใจ คือรากเหง้าของสังคม คือทุนทางสังคม คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม ที่ทำให้เราสงบ สันติ มานานแสนนาน และเป็นฐานของหลักความพอเพียง เป็นฐานของการสร้างความพอดีของปัจจัย 4 อันมีฐานรากสำคัญมาจากหลักการทางพุทธศาสนา…

ผมเห็นอย่างนี้น่ะครับพี่น้อง..

(ต่อตอน 2)


สวัสดีปีใหม่ลาน..อีก

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 30, 2009 เวลา 0:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1833

 

สวัสดีปีใหม่ลานปัญญา

ผมชอบรูปนี้..ก็มันชอบอ่ะ..

ให้ความรู้สึก ให้อารมณ์ ให้ความหมาย

ให้สำนึกดีดีครับ..

ภาพนี้อยู่ที่เส้นทางคำชะอี กับบัวขาวครับ


กาแฟ

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 29, 2009 เวลา 10:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2433


เพื่อนที่ทำงานคนหนึ่งติดกาแฟเย็นจากร้านขายกาแฟพวกนี้มาก ทุกวันหลังมื้อกลางวันแล้วเขาจะต้องหาเครื่องดื่มแบบนี้มาดูด

ผมรึครับ นานๆที ผมติดกาแฟสดที่บ้านมากกว่า อิอิ


ความงามของชนบท

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 29, 2009 เวลา 9:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2464

คนทำงานกับชนบทย่อมทราบดีว่า หลายเรื่องนั้นไม่ง่ายที่จะไปปรับแก้ให้ได้มาตรฐานแบบคนข้างนอกที่ปฏิบัติกัน เช่น ความสะอาด เวลาเราขึ้นบ้านชาวบ้าน เขาเอาแก้วน้ำมาให้เราดื่มน้ำ หรือเขาเทน้ำใส่แก้วให้เรา หลายคนต้องปฏิเสธพร้อมขอบอกขอบใจยกใหญ่ เบื้องหลังคือดื่มไม่ลง

รวมไปถึง จาน ชาม ช้อน เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ใช้แล้วก็แขวน ห้อยตามราวข้างบ้านเต็มไปหมด ดำปี๋ ยังไม่ได้ซัก ใครที่ไม่คุ้นเคยก็จะหลีกหนี ดีไม่ดีเลิกราไปเลยงานการแบบนี้ แบบรับไม่ได้..

โธ่..สิ่งแวดล้อมที่ต่างกันทั้งที่อยู่อาศัย งานการ อาชีพ ความเคยชิน โอกาส และการลำดับความสำคัญของงานที่จะทำ..ฯลฯ

ผมจึงคิดเสมอว่า ใน “บางเรื่อง” นั้น อย่าเอามาตรฐานคนนอกไปวัดชนบท แต่เอามาตรฐานชนบทวัดด้วยกันเอง แล้วค่อยๆยกระดับขึ้นมาเถอะ แต่เรื่องนี้ถกเถียงกันได้มากมาย….

อย่างไรก็ตามชนบทหลายแห่งสามารถพัฒนายกระดับให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงเมือง เช่น สังคมชุมชนที่เป็นคริสต์เตียน บาทหลวงท่านไปใช้ชีวิตที่นั่นเป็นสิบๆปีกว่าจะพัฒนาขึ้นมาได้ ท่านเอาชีวิตไปอยู่ด้วย เดินไปหาทุกวัน ปรับไปทีละนิดละหน่อย นานวันก็ได้ แต่พวกผม เข้าๆ ออกๆ ชนบทกับเมือง แค่ลมปากพูดสวยๆงามๆนั้น ชาวบ้านเขาฟังอยู่ แต่ลำดับงานของเขามีสิ่งอื่นสำคัญกว่า…

อย่างไรก็ตาม ทุกที่มีความสวยงามแฝงอยู่เสมอ

โดยเฉพาะน้ำใจ ความเอื้ออาทร การผ่อนผัน ยืดหยุ่น รักษาน้ำใจ ฯลฯที่เราเรียกทุนทางสังคมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเป็นแรงเกาะเกี่ยวให้ชุมชนเป็นชุมชน

ความจริงสังคมเมืองก็เคยมีเหล่านี้มาก่อน แต่มันหดหายไปพร้อมๆกับเทพเจ้าเงินตราเดินทางเข้ามาแทนที่การแลกเปลี่ยนกัน..

ดูค่อนข้างสกปรกข้างนอก แต่น้ำใจงามแบบชนบท อย่างรูปที่เห็นนั่น คือความสวยงามที่ได้จากพื้นที่ที่มีแต่กลิ่นเหงื่อไคล และฝุ่นละออง..ฯลฯ


ช่วงเวลาที่ดำมืดของดงหลวง….

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2009 เวลา 23:03 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2493

ผมมีงานที่จะต้องทำอยู่ชิ้นหนึ่งกับพี่น้องเครือข่ายไทบรู ดงหลวง คือการพูดคุยกันถึงเรื่องระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมแบบดงหลวง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเราจึงเชิญสมาชิกเครือข่ายไทบรูประมาณ 35 คนมา โดยเอาเวลาชาวบ้านเป็นหลักและเน้นสบายๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไรให้บรรยากาศเกร็งเกินไป


ผมถามชาวบ้านว่าใครอายุมากกว่า 55 ปียกมือขึ้น มี 16 คน นอกนั้นต่ำกว่า จึงให้น้องที่ทำงานแยกกลุ่มชาวบ้านนั้นออกไปนั่งใต้ต้นไม้ ที่มีกองฟาง จึงใช้มารองนั่งได้ น้องจะพูดคุยกับชาวบ้านในหัวข้อ ระบบการปลูกพืชในปัจจุบัน และวัฒนธรรม ประเพณีที่ยังปฏิบัติกันอยู่ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร


ส่วนผมนั้นอยู่กับกลุ่ม สว. คุยกันเรื่องพัฒนาการไทบรูในอดีตจนถึงปัจจุบัน และลงรายละเอียดแต่ละเรื่องเท่าที่เวลาจะอำนวย ความจริงเรื่องเหล่านี้เรามีข้อมูลอยู่แล้ว แต่การมาจัดพูดคุยกัน เพื่อ ตรวจสอบข้อมูล และเติมเต็มในส่วนที่เราต้องการเจาะลึกลงไป


บุคลากรในรูปนั้น อดีต คือ ทปท. หรือทหารปลดแอกประชาชนไทย บางคนมีตำแหน่งเป็นนายพัน ที่คุมงานสำคัญมาแล้ว บางคนเป็นฝ่ายเสบียง บางคนเป็นฝ่ายสร้างมวลชน บางคนเป็นผู้ผลิต บางคนเป็นหมอ ฯลฯ ล้วนทำหน้าที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาแล้วทั้งสิ้น..

บางตอนที่เราพูดคุยกันนั้น ผมสะอึก เหมือนมีอะไรจุกอยู่ที่ลำคอ

บางทราย: พี่น้องครับ ผมอยากเรียนรู้ว่าสมัยที่ท่านเข้าป่าไปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง…


พ่อสำบุญ: พ่อสำบุญพูดออกมาก่อนคนอื่นเลยว่า..อาจารย์ครับ ผมไม่อยากพูด มันยังแค้นอยู่….

บางทราย: ผมสังเกตใบหน้าพ่อสมบุญ นัยน์ตาท่านแดงกล่ำขึ้นมา..ผมตกใจเล็กๆ พยายามอธิบายว่า ผมไม่ต้องการรื้อฟื้น หรือไปสะกิดแผลใดๆให้บรรยากาศชุมชนเราเสียไป แต่เพียงผมอยากเรียนรู้ความเป็นไปของชุมชนนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากพ่อๆไม่สบายใจก็ไม่ต้อเล่าให้ฟังก็ได้ครับ..

พ่อสำบุญ: ผมจะเล่าให้ก็ได้….เราถูกทหารตำรวจกระทำเกินไป ญาติ พี่น้องของพวกเราถูกกระทำเกินไป ใช้อำนาจบาดใหญ่ปฏิบัติกับเราอย่างไม่ใช่คน ชีวิตเราอยู่กับป่า เมื่อว่างจากงานประจำเราก็เข้าป่าไปหาของป่ามากิน มาแบ่งปันกัน ทหารมาตั้งฐานที่อำเภอ แล้วสั่งให้ชาวบ้านทุกคนรายงานตัว แล้วใครจะเข้าป่าต้องไปเอาบัตรที่อำเภอก่อน ซึ่งจะให้บัตรประมาณเวลา เก้าโมงเช้า และจะต้องกลับจากป่าก่อนสี่โมงเย็น มิเช่นนั้นจะถูกสอบสวนและลงโทษรุนแรง

เพราะระยะนั้นมี บุคคลสำคัญของ พคท.มาอาศัยในป่าแล้ว ทหารทราบ และพยายามกันมิให้ชาวบ้านติดต่อ หรือสนับสนุน หากทหารสงสารใครก็จะลากตัวไป ชาวบ้านนั้นตั้งตัวไม่ติด ไม่ชินกับมาตรการต่างๆ ทำตัวไม่ถูก และมีพี่น้องจำนวนมากถูกลากตัวไปลงโทษอย่างรุนแรง ป่าเถื่อน เช่น เตะ เอาท้ายปืนตี หากใครไม่ยอมรับ มีหลายคนถูกจับขึงพืดกางแข้งกางขา โดยไม่มีเสื้อผ้าทั้งชายหญิง เอาไฟลนอวัยวะเพศ….

ครั้งหนึ่งที่บ้านก้านเหลืองดงมีงานวัด ตามประเพณีท้องถิ่น ทหารสั่งว่าใครจะไปเที่ยวงานกลางคืนต้องเอาไฟที่ทำเป็นคบเพลิงไปด้วย ผมก็ไปกับเพื่อนบ้านกันหลายคน เดินกันเป็นแถว คนเดินนำหน้ามีไฟ แต่คนสุดท้ายไม่มี มันเตะเสียข้อมือหักเลย….

มันอยากกินไก่ กินเป็ดก็เอาไปเฉยๆ กลางคืนมีไฟบนยอดเสาสว่าง มันก็เอาปืนยิงซะแตกละเอียดเลย ส้มสูกลูกไม้ มะละกอ มันก็เอาปืนยิงเอา

ที่ร้าย มันขึ้นบ้านไหน ลูกเมียใครหน้าตาดีดีมันก็เอาไปนอนด้วย สุดที่จะมีใครขัดขืนได้ บางคนมีญาติพี่น้องขัดขืนมันก็ยิงตายไปบ่อยๆ แล้วก็ออกข่าวว่าเป็นสายคอมมิวนิสต์ เวลามันจัดงานมันก็เอาพวกสาวๆในหมู่บ้าน เอาครู มาเสริฟอาหาร เหล้ายาปลาปิ้ง แล้วมันก็เอาไปนอนด้วย….

ใครบางคน: อาจารย์..พวกผมน่ะไม่รู้จักเลยว่าคอมมิวนิสต์มันเป็นอย่างไร แต่ที่เข้าป่าก็เพราะทนไม่ได้ต่อเรื่องเหล่านี้ บุคคลดังๆที่เป็นนักการเมืองทั้งเหลืองทั้งแดงนั้น เคยอยู่กับพวกเรามาแล้ว

พ่อสำบุญ: อาจารย์…. ผมสุดทนอีกต่อไป วันหนึ่งมีงานที่อำเภอ ผมนัดสหายป่าสามคน อาวุธครบมือ ปนมากับชาวบ้านเพื่อมาสังหารนายพันท่านนั้น…แต่แล้วบุญเขายังมีอยู่ วันนั้นเขาไม่มาในงาน…..

……

ช่วงที่เราออกจากป่ามาแล้ว ทางราชการจัดงานใหญ่ แล้วเอานายทหารท่านนั้นมา…เขามาขึ้นเวทีใหญ่ มากล่าวขอโทษ มากล่าวสำนึกการกระทำที่ผิดพลาดไปแล้ว นายทหารท่านนั้นร้องให้กลางเวที…

……

ผมปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปจนไม่ได้ควบคุมตามกำหนดการ ปล่อยให้ความพลั่งพรูของพี่น้องปลดปล่อยสิ่งดำมืดในอดีตออกมา

ก่อนที่เราจะหยุดพักกินข้าวกลางวันที่เป็นอาหารพื้นเมืองง่ายๆ ลาบหมู กับต้มไก่บ้าน ส้มตำ ข้าวเหนียวเยอะๆ ชาวบ้านต่างอิ่มหนำสำราญ..

ผมแอบไปนั่งทบทวนสิ่งที่ได้รับมาทั้งหมด.. ใจผมหลุดลอยเหมือนย้อนไปเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา…เห็นใบหน้าพี่น้องที่ดำกร้าน นัยน์ตาแสดงความรู้สึกที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

แต่วันนี้ เขาสลัดสิ่งเหล่านั้นไว้ในหลุมดำหมดแล้ว เขารวมกลุ่มกันใหม่ แต่เป็นกลุ่มเพื่อการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง ท่ามกลางกระแสทุนที่ยั่วยวนจิตใจเราให้คล้อยตามไปทุกวินาที

ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมพี่น้องบรู หรือไทโซ่ดงหลวง ผมมองตาท่านเหล่านั้น ผมสัมผัสเรื่องราวย้อนหลังไปได้มากกว่า 50 ปี…. ค่อยๆก้าวไปกันเถอะ

เราไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะมาเนรมิตใดๆ มีแต่ร่วมคิดร่วมทำ เราตระหนักพระราชดำริของในหลวงที่พระราชทานไว้ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา…”


Tsunami..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2009 เวลา 1:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2518

วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของการสัมมนาเรื่องตลาดชุมชน ที่ RDI จัดขึ้นที่โรงแรมกิมเจ็กซิน มุกดาหาร เราจึงเชิญกรรมการตลาดชุมชนทุกคน และข้าราชการจาก 4 จังหวัด ข้ามไปเยี่ยมท่านกงสุลใหญ่ประเทศไทยประจำแขวงสะหวันนะเขต


หลังจากรับฟังท่านกงสุลใหญ่กล่าวถึงระบบการค้าของไทยในแขวงนี้แล้ว ก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน หลังจากที่รับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ก็พาทีมงานทั้งหมดไปชมตลาดสิงค์โปร์ แล้วก็นั่งเรือข้ามกลับมาฝั่งมุกดาหาร

บ่ายมากแล้วเราส่งทุกคนเดินทางกลับแต่ละจังหวัด แล้วเราก็เข้าสำนักงาน ทันใดนั้นข่าวทางวิทยุก็ประกาศว่า คลื่นยักษ์ถล่มพังงา ภูเก็ต มีคนเสียชีวิตมากมาย….

วันนั้นเป็นวันที่ 26 ธันวาคม 2547 …..

ระลึกถึง Tsunami ด้วยความอาลัยโศกนาถกรรมอันยิ่งใหญ่ครั้งนั้น….

ขอดวงวิญญาณทุกท่านผู้ล่วงลับสู่สุคติเถิด….


พกพา….

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 24, 2009 เวลา 20:23 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1574


สยามคือชื่อของเขา พ่อเขาตั้งชื่อให้คราวสมัยที่อยู่ในป่า มาบัดนี้สยามโตเต็มที่เป็นหนุ่มกลัดมันเต็มตัว เขาชอบมาใกล้ชิดกับพวกเรา ให้ช่วยทำอะไรก็เอาทุกอย่าง อาว์เปลี่ยนเอามาเป็นลูกมือก็หลายครั้ง สยามก็ก้าวเข้ามาอย่างสนุกสนาน

ชาวบ้านไปไหนมาไหนก็มักติดมีดไปด้วย เผื่อใช้ประโยชน์ต่างๆที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ บางทีเราก็นึกไม่ถึงว่ามีกี่วิธีที่เขาจะพกพาเอามีดไปด้วย แม้จะดูหวาดเสียว ประสบการณ์ก็ช่วยให้เขาคุ้นกับสิ่งเหล่านี้ ก็อยากจะมีสิ่งป้องกันแต่ยังไม่ได้ทำ ก็เอาเท่าที่มีไปก่อน

เรียบง่ายดี..


ธงไตรรงค์ที่ดงหลวง..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 24, 2009 เวลา 15:43 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2191

ที่กระต๊อบของนรินทร์ ชายหนุ่มชาวโซ่ ที่มีความคิดดีดีมากมายแม้เขาจบเพียง ป 4 อยู่แต่ในป่าเขาอย่างดงหลวง แต่สำนึกของเราต่อความเป็นชาตินั้น ผมเคารพเขายิ่งนัก เขาไปซื้อธงไตรงค์มาแล้วเอามาปักไว้บนหลังคากระต๊อบของเขา..ไม่มีเสียงตะโกนเรียกร้องความเป็นธรรมจากปากของเขา ไม่มีเสียงก่นด่าผู้ปกครอง ไม่มีเสียงโจมตีพี่น้องร่วมชาติ เขาก็แค่ยกธงชาติขึ้นอยู่เหนือหัวของเขา…..


เราพบใครแบบปัจจุบันนั้น บางทีเราก็ต้องชะตาเลย แต่บางคนก็ หมั่นไส้เสียจริงๆ แต่แล้วอีตาคนที่เราหมั่นไส้นั้น เมื่อเรามีเวลาไปเรียนรู้พัฒนาการชีวิตของเขามาจนถึงปัจจุบัน ก็ อ๋อ…. และยอมรับเขามากขึ้น จนมากที่สุด และให้อภัยต่อพฤติกรรมที่เขาเป็นเช่นปัจจุบัน หรือ เข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไปของเขามากขึ้น เกิดการยอมรับ อาจเลยไปถึงศรัทธา ทึ่ง

เหมือนพ่อแม่เรา หากเรานั่งลงฟังท่านเล่าพัฒนาการชีวิตให้เราฟังอย่างละเอียด เราก็น้ำตาตกเหมือนกันว่า ท่านฝ่าฟันอุปสรรคมาได้อย่างไร ผ่านขวากหนามมาไม่รู้กว่ากี่ครั้ง รอดภัยพิบัติมาได้อย่างไร ใครบ้างที่พร้อมอุ้มชูพ่อแม่มา ใครที่เอื้ออาทร ผ่อนสั้นยาวให้กับวิกฤติต่างมา …..

การศึกษาพัฒนาการของสิ่งใดๆจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ในงานพัฒนาชนบทก็เช่นกัน การทำ PRA เราก็มี Session นี้ ศึกษาเขาให้เข้าใจที่มาที่ไปแล้วเราก็จะเข้าใจความเป็นชุมชนแห่งนั้นๆ ไม่เฉพาะชุมชนนั้นๆ ยังมีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ในมุมต่างๆกับชุมชนอื่นๆ ตัวบุคคล สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ สารพัดสิ่งที่ได้เข้าใจ ก็จากการศึกษาพัฒนาการสังคมชุมชนที่เราเรียกว่า Historical profile ส่วนมากก็เอาช่วงเวลา เช่น ปี พ.ศ. เป็นแกนกลาง บันทึกสิ่งสำคัญๆที่เกิดขึ้นมาให้เราเข้าใจ เมื่อเข้าใจก็วิเคราะห์อะไรต่อมิอะไรได้ มากมาย ในฐานะคนนอกก็ย่อมใช้กระบวนการเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการเข้าใจชุมชน

สังคมประเทศก็เช่นกัน หากเราไม่ศึกษาพัฒนาการของประเทศ มองแต่ปัจจุบัน เห็นแต่วัตถุ และสิ่งที่สังคมวิ่งตามหา เราก็พลาดพลั้งต่อสำนึกที่มีต่อสังคมประเทศ

กว่าจะมาเป็นชาติได้นั้น บรรพบุรุษของเราสละชีวิตไปมากมาย มหาศาล จนเราสามารถเดินบนแผ่นดินนี้ด้วยความสุข เดินบนความเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษ หลายต่อหลายครั้ง บทเรียนเหล่านั้นเราจดจำแค่เอาไปตอบข้อสอบครูเท่านั้นหรือ

คำถามใหญ่วันนี้คือ ทำไมเราจึงหันมาทำร้ายกันเอง



Main: 0.079594850540161 sec
Sidebar: 0.046360969543457 sec