เปลือก.. กับกระโถน
อ่าน: 1585ตั้งใจจะบันทึกเรื่องราวทำนองนี้ไว้นานแล้ว จะ จะ อยู่นั่นแหละ วันนี้ขอหยุดงานหลักมาเขียนบันทึกนี่ซะหน่อย
ก็คราวที่นานใหญ่ไปดูงานสนามเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี่แหละทำให้จำต้องบันทึกเรื่องนี้ไว้ เดี๋ยวจะผ่านไปอีก อิอิ
เรื่องของเรื่องก็คือ การรับนายใหญ่นั้นเราก็เชิญผู้นำชาวบ้านมาพบด้วยเผื่อท่านทั้งหลายอยากคุยกับชาวบ้านก็พร้อมที่จะให้พบกับชาวบ้าน มาประมาณ 10 คน ในระหว่างที่คุยกันเรื่องทรายถมทับหัวสูบ ก็มีหัวหน้างานคนหนึ่งเดินไปคุยกับชาวบ้านสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้แหละ แล้วก็เดินกลับไปวงคุยกันนั้น สักพักก็รายงานนายใหญ่ว่า ชาวบ้านให้น้ำพืชโดย flooding หรือปล่อยให้ไหลไปตามลาดเอียงของพื้นที่ให้ท่วมร่องน้ำ และบอกด้วยว่า ข้างปลายท่อไม่ได้น้ำ….
ผมเดาออกเลยว่าทั้งหมดนั้นชาวบ้านหมายถึงอะไร แต่คนที่มาฟังเดี๋ยวเดียวโดยไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดนั้นฟังแล้วเข้าใจว่าอย่างไร ผมทำงานระบบ On farm มาก่อนกับพื้นที่ชลประทานที่เขื่อนลำปาวกาฬสินธุ์ และอีก 6 เขื่อนขนาดกลางในอีสานในโครงการ NEWMASIP จึงทราบรายละเอียดพวกนี้ดี ผมทำงานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ออกไปประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเอง จึงรู้ว่าวิธีการจัดสรรน้ำนั้นทำอย่างไร ใครควรได้ก่อนหลังทั้งตามหลักชลประทาน และตามหลักการพัฒนาชุมชน
แต่ท่านหัวหน้าที่ไปสอบถามชาวบ้านมานั้นเป็นวิศวกรโยธา ไม่เข้าใจความหมาย และรายละเอียดของพื้นที่ และเดาใจชาวบ้านไม่ออกว่าที่เขาพูดถึงนั้นพุ่งเป้าไปที่ไหน สิ่งเหล่านี้หากไม่ได้คลุกคลีกับชาวบ้านแล้วจะตีความหมายคำพูดของชาวบ้านผิดเพี้ยนไปได้
หลักจากที่หัวหน้าท่านนั้นรายงาน ผมเห็นสีหน้าของนายใหญ่ไม่ค่อยดี ซึ่งพอเดาใจได้ว่าท่านคิดอะไร
หากเราดูระบบราชการที่ทำงานกับชนบทนั้นต่างจากระบบ NGO ที่ทำงาน คือ ราชการนั้นจะเน้นงานสำนักงานเป็นหลัก ใช้วิธีสั่งการลงไป เมื่อถึงคราวที่จะต้องลงไปในพื้นที่ก็ลง และเมื่อเสร็จก็กลับ จนกว่าจะมีกิจกรรมใหม่ก็ลงไปอีก….แบบเข้าชนบทเฉพาะกิจกรรมแล้วออก แต่ระบบงาน NGO นั้นการทำงานกับการคลุกคลีชาวบ้านเกือบแยกกันไม่ออก เพราะทุกอย่างเป็นงานและเป็นการชวนคุยธรรมดา ให้เวลากับชาวบ้านมากฯลฯ จึงมีความเข้าใจมากกว่า สนิทสนมกับชาวบ้านมากกว่า ลงลึกมากกว่า ชาวบ้านให้ความเปิดเผยมากกว่า (แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมดนะครับ ดีดีก็มีเยอะไป)
ยิ่งมาแบบฉาบฉวย ชาวบ้านจะพูดเพื่อเปิดโอกาสรอประโยชน์ที่อยากได้รับ… ซึ่งก็เป็นค่านิยม เป็นสิทธิ เป็นความหวังของเขา และหลายแห่งราชการ ให้เสียจนชินเหมือนกัน ดงหลวงก็เหมือนกัน หลังจากที่เขาออกจากป่า ราชการก็อยากดึงเขาเข้ามาเป็นคนไทยที่ไม่มีความต่างทางความเชื่อทางการเมือง จึงทุ่มเทการให้ต่างๆมากมาย แม้ปัจจุบันเขาก็เผลอขอเราเฉยๆก็บ่อย…เผื่อเราใจอ่อนให้… ซึ่งเราก็ให้ แต่ให้ของเรามีเงื่อนไข มีความเข้าใจลึกๆถึงคนนั้น ครอบครัวนั้นมากกว่า ให้แบบคนนอกที่ไม่เข้าใจรายละเอียด
อย่างเช่น เกษตรกรคนหนึ่งเป็นคนขยัน มีพื้นที่ทำกินอยู่นอกโครงการสูบน้ำ แต่ติดขอบพื้นที่รับน้ำ เขาอยากเพาะปลูกพืชนั่นพืชนี่ตามที่เราแนะนำเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการ แกก็ปลูก ก็ทำ โดยพยายามลงทุนต่อท่อจากหัวจ่ายข้ามถนนไปพื้นที่แกจนได้ และก็ประสบผลสำเร็จด้วย เราส่งเสริมอะไร เอาด้วยหมด ไปทุกครั้งก็บ่นว่า “พวกที่มีที่ดินในพื้นที่รับน้ำไม่ทำการเพาะปลูกกัน ผมไม่ได้รับน้ำแต่อยากปลูก” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เกษตรกรท่านนี้พูดมาก เรียกร้องตลอด และแอบทำการทดลองเอง ตามความคิดความเชื่อของตนเอง ทั้งได้ผลและล้มเหลว
ท่านที่มาจากกรุงเทพฯรับฟังชายคนนี้มาแบบคนนอก ที่ไม่เข้าใจก็รายงานนายใหญ่ หากเราจะแจ้งข้อเท็จจริงก็จะหน้าแตกกันยับเยิน เราถือคติให้อภัยเขาเถอะ…. จึงยอมเป็นกระโถน..
ผมหละฝืนๆความรู้สึกจริง ต่อผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางโครงการที่ผมทำอยู่ เพราะท่านเหล่านั้นมาใหม่ และออกพื้นที่เฉพาะเรื่อง เมื่อออกทำกิจกรรมเสร็จก็กลับ แต่คนที่จังหวัด เดินทางไปมาหาสู่ ไม่มีกิจกรรมก็เยี่ยมเยือน ไปเรื่องอื่น แต่ผ่านหน้าบ้านก็แวะทักทายกัน
เรื่องเหล่านี้เป็นวิถีงานชุมชนที่ต้องทำ แล้วความสนิทสนม ใกล้ชิดเกิดขึ้น เมื่อคนเราใกล้ชิดกัน อะไรอะไรก็ง่าย พูดจากันก็ง่าย เพราะเข้าใจกัน เห็นกันและกันทั้งหมด การทำอะไรก็เปิดเผยจริงใจเข้าหากัน ตรงข้ามการทำงานแบบ เช้าไปเย็นกลับ ไปเช้าวันนี้กลับเย็นพรุ่งนี้ แต่อีกครึ่งค่อนเดือนหรือมากกว่านั้นไปอีกที..มันขาดมิติความสนิทสนมกัน เมื่อขาดตรงนี้ ก็ขาดพื้นฐานการทำงานกับคนชนบท
หากมากไปกว่านี้ก็จะเป็นที่ฝรั่งกล่าวว่า Tourism Development ไป
« « Prev : Fuse
ความคิดเห็นสำหรับ "เปลือก.. กับกระโถน"