หนาว ข้าว ตอก
เมื่อคืนนั่งทานอาหารที่ริมโขงกับเพื่อนนักศึกษาเก่า มช. เพื่อเตรียมงานต้อนรับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ พวกเราต้องปิดหน้าต่างร้านอาหารหมด เพราะลมพัดแรงมากและมีความเย็น…
เมื่อเช้าเดินทางไปทำงาน มีลมพัดแรงมาก ตลอดทั้งวันไม่ต้องใช้แอร์คอนดิชั่น ตอนค่ำเดินทางกลับที่พัก ดูอุณหภูมิที่มิเตอร์ในรถบอกว่า 28″C
ฤดูหนาวมาแล้ววววว
ย้อนกลับเข้าไปที่ดงหลวง ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปชาวบ้านมีงานในนายุ่งมาก ไม่ต้องมาจัดประชุมอะไรให้ยืดยาว เสียเวลาเกี่ยวข้าว และกระบวนการจัดเก็บ โน่นจนถึงกลางเดือนหรือสิ้นเดือนธันวาคมโน่นเลย
การเก็บเกี่ยวข้าวที่ดงหลวงและอีกหลายๆพื้นที่นั้นเริ่มมาตั้งแต่สองสัปดาห์ก่อน ชาวบ้านเรียก ข้าวดอ แล้วก็มาข้าวกลาง และข้าวหนัก ในท้ายที่สุด ตามลำดับลักษณะพันธุ์ข้าว..
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หากเราเดินทางไปทั่วชนบทอีสาน และสังเกตก็จะเป็นชาวบ้านเอาไผ่ป่ามาจักตอก เพื่อใช้มัดข้าวที่กำลังมาถึงช่วงนี้ ตอกนี้มีการใช้ในภาคอีสานและภาคเหนือ ในประเทศลาว และกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินไม่น้อยในแต่ละฤดูการเกี่ยวข้าว เพราะไผ่ที่จะเอามาทำตอกนี้ ต้องเป็นไผ่ป่าเท่านั้นที่ดีที่สุด อายุของไผก็จะต้องไม่แก่หรืออ่อนเกินไปจะได้เนื้อตอกที่นิ่ม เหนียวไม่หักหรือขาดง่ายๆ เหมาะที่จะเอาไปมัดข้าว
ราคาซื้อขายกันคือ 1000 ละ 80 ถึง 100 บาท และชาวบ้านบอกว่า เวลาซื้อ 1000 ละนั้น นับจริงๆจะไม่ถึง 1000 เส้น…??
เมื่อปีที่แล้วพบว่าตอกที่เอามาขายแถบ คำชะอี และทั่วไปในมุกดาหารนั้น มาจากลำปาง….? มาเป็นคันรถ 6 ล้อ มูลค่าหลายหมื่นบาท
ตลอดพื้นที่ริมโขงนั้นก็นำเข้าตอกมัดข้าวมาจากฝั่งลาว จุดหนึ่งที่มีการซื้อขายกันมากคือที่นครพนม มูลค่าการซื้อขายตลอดแนวแม่น้ำโขงนั้นกล่าวกันว่าน่าจะเป็นเงินล้านบาทเลยทีเดียว
บางทีผมก็คิดว่า งานพัฒนาเราคิดอะไรที่ไกลตัวเกินไป สิ่งใกล้ตัวแค่นี้ มองไม่เห็น คิดไม่เป็น และไม่มีการพูดถึง จึงไม่มีการสนับสนุน..
อ้าว. เริ่มที่อากาศหนาวมาลงที่ตอกซะแล้ว…
« « Prev : การประเมินการพึ่งตนเองของไทโซ่ดงหลวง
ความคิดเห็นสำหรับ "หนาว ข้าว ตอก"