โซ่..
งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทรายที่ผมแบกภาระอยู่นั้นเป็นน้ำหนักที่อยู่บนบ่ามาตลอด เพราะไม่สามารถสร้างการบรรลุผลให้เกษตรกรมาใช้ประโยชน์ได้มากเท่าที่คาดการณ์ เราพยายามมาหลายปี จนอาว์เปลี่ยน(ปาลียน)เปลืองเนื้อเปลืองตัวไปก็มาก
การก้าวออกจากหลักการเดิมจึงเกิดขึ้น จาก contract farming เป็นการทดลองพืชพื้นๆที่ชาวบ้านคุ้นเคยมาก่อนแล้วนั่นคือ มันสำปะหลัง การวางแผนงานจึงเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวบรู หรือไทโซ่ 3 คนหนุ่ม และอีก 1 คนสูงอายุ 16 การทดลอง ทั้งชนิดของมันสำปะหลังและ experiment (ไม่ขอลงรายละเอียด)
เมื่อการทดลองสิ้นสุด เราก็เชิญผู้ร่วมการทดลอง และชาวบ้านเป้าหมายมาพูดคุยกันเพื่อเรียนรู้ ซักถามถึงผลที่เกิดขึ้นของการทดลองเป็นอย่างไร เพื่อให้ชาวบ้านที่สนใจเอาไปขยายการผลิตที่ลดต้นทุนแต่เพิ่มผลผลิตมากขึ้น
เราทำงานกับพี่น้องบรูมานานพอสมควร ทราบดีว่า อุปนิสัยของไทโซ่นั้นแตกต่างจากเกษตรกรอื่นๆต่างกรรมต่างวาระแตกต่างกัน
นายต๊อก อายุเป็นเยาวชนตอนปลาย มีครอบครัวแล้ว จบการศึกษา ป 4 เข้าร่วมการทดลองด้วยความสมัครใจ วันที่เราจัดเวทีสรุปบทเรียนนั้นเราเชิญท่านนายอำเภอดงหลวง เจ้าพนักงานพัฒนาที่ดิน และเจ้าพนักงานการเกษตรอำเภอ เพื่อให้ท่านเหล่านั้นมารับทราบและให้คำแนะนำ และนำผลไปเผยแพร่ต่อไปด้วยเราวางแผนไว้ว่าจะเชิญเกษตรกรทั้ง 4 คนมาเป็นวิทยากร
“เวลาของเรากับชาวบ้านนั้นต่างกัน” เมื่อถึงเวลาต่างทยอยมาแต่ไม่มีทางที่จะตรงกับเวลาตามกำหนดการ พอดีข้าราชการที่เราเชิญมานั้นท่านเข้าใจก็ไม่ได้ตำหนิ แต่อย่างใด
เมื่อถึงเวลาอันสมควร ปรากฏว่า นายต๊อก เชื้อคำฮดเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดลองไม่มาปรากฏตัว ยุ่งละหว่า น้องเรารีบขับรถวิ่งหาตัวกันใหญ่ นายต๊อกไปไหนนนนนนน…..
สักพักน้องเอาตัวนายต๊อกมาจนได้ แกยิ้มแหยๆ….
ผม : ถามว่าหายไปไหน ทำไมไม่มาร่วมสรุปบทเรียน
ต๊อก: ผมกลัวขึ้นเวที ผมไม่อยากขึ้นเวที ผมพูดไม่เก่ง..
ผม: ……?!?!?!……
การจัดเวทีสนทนาจึงดัดแปลงให้เรียบง่ายที่สุด เป็นการนั่งล้อมวง มีผมเป็นผู้กระตุ้น ซักถามประเด็นต่างๆ….
ข้าราชการที่มาร่วมงานต่างชื่นชมว่าเป็นการสรุปบทเรียนที่น่าสนใจ แม้เขาเองก็ได้เรียนรู้อีกหลายอย่างครับ…
หลังสิ้นสุดงานผมถามน้องว่า ไปหานายต๊อกได้ที่ไหน เขาตอบว่า โน้น…ชี้ไปที่ตีนภูเขา นายต๊อกแอบไปขุดมันสำปะหลังที่ตีนเขานั้น…
การทำงานกับชาวบ้านนั้น จะเอามาตรฐานข้างนอกไปใช้..ในบางพื้นที่นั้นจงใตร่ตรองให้หนัก
Next : ธงไตรรงค์ที่ดงหลวง.. » »
7 ความคิดเห็น
อ้าว รูปไม่ขึ้น…
ใน HTML ไม่มีคำสั่งเรียกใช้รูปนะครับ แต่มีรูป 3 รูปอยู่ใน media library แล้ว ไม่ได้ insert ลงมาในบันทึก
อาจเป็นเพราะ ระบบ internet ที่ที่พักตอนนี้ครับ วูบวาบ ไม่ค่อยคงที่เลย ต้องเอามือถือเข้ามาช่วยเสมอครับ ขอบคุณครับ
ชอบบันทึกนี้ ชอบนายต๊อก ชอบธรรมชาติ ชอบความจริง ขอบคุณความเข้าใจ ขอบพระคุณและเคารพพี่บางทรายค่ะ
ขอบคุณครับป้าหวาน
พี่โชคดีที่นายอำเภอเข้าใจลักษณะการทำงานกับชุมชนดี นายอำเภอบางท่านประเภททุกอย่างต้องเนี๊ยบ ไม่งั้นก็ต่อว่าต่อขานว่าเตรียมชาวบ้านอย่างไรกัน ทำงานกันอย่างไร …ฯ…. ท่านนี้เข้าใจ ก็ดีไปหลายอย่าง ขณะประชุมอยู่ มีนายอำเภอนั่งร่วมด้วยนั้น หากเป็นในเมือง ใครต่อใครจะลุกไปไหนๆก็พยายามจะไม่ไป เพราะมารยาทสังคมเมือง แต่ชาวบ้านไม่ อยากจะลุกก็ลุกไปเลย บางทีลุกออกมากัน สองสามคน เราก็ตามมาถามว่า ออกมาทำไมกัน ชาวบ้านบอกว่า หิวยาสูบ ขอมาสูบยาสูบก่อน ค่อยเข้าห้องไปใหม่ หากเป็นพวกคนในเมืองคนชั้นกลางละก็โดนตำหนิตายเลย….
สำหรับผมนั้นคุ้นเคยเรื่องเหล่านี้ แต่ก็เกรงใจข้าราชการผู้หลักผู้ใหญ่ หากท่านไม่เข้าใจก็จะว่ากล่าวเราได้
บางตัวอย่าง ที่ตลกคือ เราพาชาวบ้านไปดูงาน เขาก็ตื่นเต้นจะได้ไปโน่นนี่ พอเราเอารถตู้ไปรับ นั่งมาได้ครึ่งทางเท่านั้น อาเจียรกันใหญ่เลย เขาขอเปิดกระจกไม่เอาแอร์ทั้งๆที่เป็นฤดูร้อน เขาบอกไม่เคย เลยครั้งต่อไปหากจะพาชาวบ้านไปดูงานก็เช่ารถ 6 ล้อแบบเปิดกว้างหมดแบบที่วิ่งในชนบท บางทีเรียกรถขนหมูน่ะ ไม่เอารถตู้ เขาจะได้นั่งโล่งๆ สูบบุหรี่ได้ ทำนองนั้น ไม่อาเจียรสักคน
เรื่องราวของชาวบ้านมีมากมายครับป้าหวาน…
เมื่อคืนนี้ก็ไปนั่งคุยกับชาวบ้าน ทีแรกที่เขาเข้ามานั่งเราก็รู้ว่าเขาเกรงใจ ได้บอกกับเขาไปว่านั่งคุยนานเท่าไรก็ได้ตามสมัครใจ เขาก็นั่งคุยอยู่นานเชียวค่ะ จนเมื่อมีบางคนขอลุกก่อนเพราะถึงเวลานัดหมายเรื่องอื่น ก็บอกกับเขาไปว่าใครไม่นั่งคุยต่อก็ไม่ว่ากัน ใครจะคุยต่อก็อยู่ละกัน ก็มีคนลุกออกไปตามไปบ้าง เหลือคนนั่งคุยต่อบ้าง
เคยพบว่าการลุกออกไปของเขาแปลได้ 2-3 อย่างเนอะพี่เนอะ อย่างหนึ่งก็คือ วันนี้เรื่องที่อยากรู้ รู้พอแล้ว อย่างที่ 2 ก็คือ มีเรื่องให้ต้องไปทำต่อ อย่างที่ 3 ก็คือ ไม่อยากอยู่ต่อแล้ว มีเรื่องที่กำลังกลัวจะต้องพูดอยู่ในใจ
ตั้งแต่เข้าใจพฤติกรรมของเขา เวลาทำกิจกรรมอะไรเป็นกลุ่ม ก็จะเปิดกติกาฟรีไว้ ใครอยากรู้ก็มา ใครยังไม่รู้อยากมาก็มา มาแล้วไม่อยากอยู่นานก็กลับได้ไม่ว่ากัน เงื่อนไขที่ตกลงกันภายในกลุ่มคนทำงานก็เพียงแค่ ทำความเข้าใจยอมรับความต่างของเขา แล้วสนใจกับตัวเราในการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ให้เขาให้ได้ในระหว่างที่เขาอยู่
พี่บู๊ดค่ะ แค่ปรับวิธีคิดเป็นอย่างนี้ ทีมงานทำงานมีความสุขขึ้นมากมาย แล้วก็ยังได้ใจผู้่มาเข้าร่วมมากมายกว่าที่เคยทำงานแบบเดิมๆค่ะ
เห็นด้วยครับ น้องหมอเจ๊ ครับ เราควรจะปล่อยให้บรรยากาศการพูดคุยนั้นสบายๆ ให้เป็นบรรยากาศของผู้สนใจ ตั้งใจจริง หากไม่ตั้งใจ ไม่สนใจก็ไม่จำเป็นต้องขืนใจด้วยวิธีการรักษามารยาทเพื่อผู้ใหญ่ หรือใครๆ ปกติชาวบ้านก็ไม่ใช่ไม่มีมารยาท เขามี และรู้กาละเทศะ เพียงผมกับชาวบ้านนั้นกันเองมาก เขาก็กล้าที่จะลุกออกไป แล้วเขาก็เข้ามาจริงๆหลังไปสูบบุหรี่แล้ว
เห็นด้วยว่าปรับเปลี่ยนวิธีคิดก็จะมีความสุขครับ
กรณีการเปิดเวทีสรุปบทเรียนนั้นที่ พี่รู้สึกดีอีกอย่างคือ ผู้เข้าร่วมการทดลองคือคนหนุ่มชื่อนายหล้อง (ชื่อแปลกๆหน่อยนะ) ที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ชุมชน เดิมเราก็เห็นเขาคือชาวบ้านคนหนึ่ง ที่วนเวียนกับการไหลบ่าของทุนเข้ามา แต่เมื่อได้ร่วมงานกันคราวนี้เขาเห็นได้ชัดเจนว่าผลผลิตของเขาเพิ่มขึ้นจริงๆ ขณะที่ต้นทุนไม่สูงขึ้นไม่ได้ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เด็กเยาวชนที่เราดู เกะ กะ ในชุมชนกลับเดินเข้ามาพูดว่า อาจารย์ ผมพอใจมาก ผมจะทำแบบนี้ต่อไป ผมถามว่า เราจะต้องเดินทางไปตำบลอื่นด้วย จะไปพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ไหม ไปครับนายหล้องตอบ…
นี่ตรงข้ามกับนายต๊อก กล้าพูด กล้าเดินทางไปบ้านอื่น หากไปเชิญนายต๊อก ผมว่าคราวนี้ไม่อยู่ชายภูเขาแล้ว คงหนีขึ้นภูเขาไปเลยละมั๊ง..อิอิ
ชาวบ้านมีหลายแบบจริงๆนะครับ