กล้วย..และสายสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 31, 2012 เวลา 15:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1156

วันนี้นุชกับสามีเขาแวะมาหาผมพร้อมกล้วย 2 เครือใหญ่ มะละกอถุงใหญ่ และมะนาว และ…

นุชและหน่อยน้องสาวเคยมาพักบ้านผมในฐานะมาดูแลคุณแม่ที่ป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องอยู่บนเตียงตลอด 7 ปี โดยนุชผู้พี่ดูแลคนป่วยในเวลากลางวัน หน่อยคนน้องดูแลกลางคืน และทั้งคู่เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง สองพี่น้องเป็นลูกชาวบ้านที่ พ่อแม่ทำการเกษตร ทั้งคู่คือเด็กบ้านนอกและหาเงินเรียนหนังสือเอง ขาดเหลืออะไรค่อยขอเงินพ่อแม่มาเพิ่มเติม เราก็เลี้ยงดูเด็กสาว 2 คนเหมือนลูกหลาน กิน ใช้เหมือนกันหมด เมื่อคุณแม่เสีย นุชผู้พี่ก็เรียนจบพอดี ส่วนหน่อยยังเรียนต่ออีก 1 ปี เราเลยส่งเสียเขาเรียนจนจบ

นุชแต่งงานกับหนุ่มบ้านนอกที่จบปริญญาตรีเหมือนกัน นุชไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนไปหางานทำกลับไปบ้านและทำการเกษตรโยการปลูกผักสวนครัวขาย สามีทำงานโรงงานใกล้บ้าน และช่วยภรรยาปลูกผักไปด้วย นี่เองที่ นุชและสามีเขาจึงเอาผลผลิตในสวนเขามาให้บ้านผมบ่อยๆ มากจนเรากินไม่หมดยังเผื่อแผ่ไปบ้านข้างเคียงซ้ายขวาด้วย

เราไม่ได้ สั่ง เรียกร้อง ถามหา หรือขอให้เขาเอามาให้ แต่เขาเอามาให้เอง บ่อยครั้งยังต่อว่าเขาว่ามากเกินไปนะ กินไม่หมด เขาก็ยิ้มๆซึ่งก็รู้ว่า เราก็เผื่อแผ่ไปข้างๆบ้านทุกที

เราคุยกัน ถามไถ่สุขทุกข์กัน เลยไปถึงพ่อแม่เขา การค้าขายพืชผัก การพัฒนาระบบการเพาะปลูก ซึ่งเท่าที่ติดตามมาก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ การปลูกผักขายนั้น มีรายได้ที่ดี มีรถปิคอัพ มีรถไถนาเล็กๆ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพทำสวนผักแบบสมัยใหม่มากขึ้น และเขามีความสุขที่ทำงานเช่นนี้

ผมนั้นมองเลยกล้วยหวีใหญ่ๆ มะละกอกองนั้น และอื่นๆ มองเลยไปถึงการที่เรานั่งคุยกันมันสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่เรามีต่อกัน สัมผัสจิตใจลึกๆของเขาที่มีต่อเรา ที่เรามีต่อเขา มันเป็นสายสัมพันธ์ที่สานต่อยืดยาวมาหลายปีแล้วนับตั้งแต่คุณแม่เสียไป จริงๆก่อนหน้าที่เด็กสาวสองพี่น้องจะเข้ามาดูแลคุณแม่นั้นก็มีชุดอื่นๆผ่านไปแล้ว สามสี่ชุด แต่ละชุดอยู่ได้ 6 เดือนถึงนานที่สุด 1 ปี แล้วก็ลาออกไปหางานอื่นใหม่ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆตามวิถีของแต่ละคน แต่เด็กสองคนนี้อยู่นานที่สุดจนคุณแม่เสีย วันที่คุณแม่เสีย หน่อยก็นอนในห้องเดียวกับคุณแม่ ดูแลจนวาระสุดท้ายทีเดียว

สังคมไทยเรานั้นผูกกันด้วยวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามเช่นนี้ การเอาสิ่งของติดไม้ติดมือไปมอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ญาติพี่น้อง แล้วให้เวลาคุยกันนั้นผมเห็นว่านี่คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มันพัฒนาไปสู่ความสนิทสนม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ซึ่งบางคนอาจจะกล่าวเลยไปถึงว่านี่คือ จุดเริ่มต้นของระบบอุปถัมภ์ ผมก็ไม่ปฏิเสธ ซึ่งผมเองไม่กล่าวให้ร้ายเพียงอย่างเดียว เพียงด้านเดียวต่อระบบนี้ ผมกลับเสริมสร้าง สนับสนุนระบบการเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่กัน เพราะมันเป็นแรงเกาะเกี่ยวกันของสังคมของเรา

รายละเอียดเรื่องนี้มีมาก เช่น การฝากเอาสิ่งของไปให้โดยตัวเองไม่ได้ไป กับการที่ตัวเรานำสิ่งของไปให้เอง ให้เวลาและมีเวลาพูดคุยกันนั้นมันมีความหมายมากกว่า

ที่เขียนมานี้ไม่ได้เรียกร้องให้ใครต่อใครทำสิ่งเหล่านี้กันนะครับ เพียงผมสัมผัสความรู้สึกนี้เมื่อนุชกับสามีเขามาเยี่ยมเยือนและเอาของมาฝาก เรามีเงินเพียงพอที่จะซื้อกล้วยกินเอง จะเอาหวีสวยหรือใหญ่แค่ไหนก็ได้ แต่การรับกล้วยจากเด็กหนุ่มสาวที่มาเยี่ยมเรานั้นมีความหมายมากกว่าการได้กล้วยมากิน เรารู้สึกเมตตาเขา รู้สึกดีดีกับเขา ผูกพันกันกับเขา ขอบคุณเขา บอกกล่าวในสิ่งที่เป็นมงคลและเสริมสร้างแก่กัน

ขอบคุณนุชกับสามี หนุ่มสาวชาวสวนผักคู่นี้ครับ


เลี้ยงกะรอกเนื่องในวันเกิดลูกสาว..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2012 เวลา 21:17 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1344

เอาสาเกจากอ่างทองมาปลูกเป็นสิบๆปี ต้นมันโตเอ้าๆ ใบก็ร่วงไปใส่เพื่อนบ้านที่เป็นคนที่สะอาดมากที่สุด ตื่นตี 5 มากวาดบ้าน และหากไม่ไปไหน ทั้งวันก็เดินวนเวียนรอบบ้าน หากใบไม้หล่นหนึ่งใบก็เก็บ เห็นใบไม้แห้งปลิวจากบ้านผมไปติดต้นไม้บ้านเขาก็จะเอาไม้มาเขี่ยให้หล่น แล้วเอาไปทิ้ง…….สะอาดไหมล่ะ

ที่ร้ายคือลูกสาเกบ้านเราหล่นไปโดนฝาตุ่มเขาพังไป เราละอายมาก จัดการตัดต้นสาเกเสียเกือบเหี้ยน ขนาดมีกิ่งเล็กๆที่เหลือโผล่ชี้ไปทางบ้านเขา ยังร้องขอให้จัดการให้หมด เอากะแม่ซิ..

ความเกรงใจเราก็จัดการให้
จนยาหยีกลับมาบ้านเห็นเข้าก็โกรธ ทำไมตัดเสียไม่เหลือ อิอิ

ตายละกู….ซ้ายก็โดน ขวาก็โดน

ที่เสียใจคือ กะรอกหมดอาหารโปรดของมันไปน่ะซี เราเลยเอาตะกร้าผูกโบว์เอาลูกสาเกที่เก็บไว้ใส่ลงไปเอาไปห้อยที่ต้นหมากเม่าข้างบ้านตั้งใจจะให้กะรอกมากิน มันมาดมๆแล้วก็กินสองสามคำแล้วไม่มาอีกเลย สาเกแบบนี้มันคงไม่อร่อยเท่าที่มันห้อยที่ต้นโดยธรรมชาติ



เอาใหม่ วันนี้วันเกิดลูกสาว ซื้อกล้วยมา 1 หวีสุกพอดี เอาใส่ตะกร้าแทน เป็นการเลี้ยงกะรอกเนื่องในวันเกิดลูกสาว ได้ผล เขามากินจนพุงกางไปเลย

เอ น้องหมาตายไปสี่เดือนแล้ว ท่าจะมาเลี้ยงกะรอกแทนซะแล้ว….อิอิ อิอิ


สลัด ไม่อร่อย

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 23, 2012 เวลา 22:00 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1444

วันก่อนบินจากขอนแก่นไปสุวรรณภูมิ แวะซื้อผักสลัดและน้ำสลัดที่ร้านโครงการหลวง ผักสลัด 3 มัดใหญ่ น้ำสลัด 1 ขวดทำจากฟักทอง สามวันที่อยู่ กทม. ไม่เมล็ดข้าวตกถึงท้องสักเม็ด กินแต่ผักสลัด ยังเหลือให้ลูกสาวกินอีก อร่อยมาก

 

ขึ้นขอนแก่น ติดใจ ตกเย็นไปเดินซื้อผักสลัดในตลาดบ้านหนองใหญ่ ที่ใครต่อใครที่ชอบอาหารแบบบ้านๆ ต้องมาเดินที่ตลาดนี้ ผมซื้อผักสลัดสวย สามต้นใหญ่ จ่ายตังค์แล้ว ถามว่าผักสลัดนี้ปลูกที่ไหน…พ่อค้าหนุ่ม ตอบว่ามาจากประเทศจีนครับ… ผมถามใหม่อีกครั้ง พ่อหนุ่มก็ตอบเหมือนเดิม ผมถามใหม่อีก มีหลักฐานไหมว่ามาจากจีน เขาชี้ไปที่กล่องโฟมที่มีภาษาจีนกำกับอยู่ข้างกล่อง….????

 

ยาหยีที่บ้านเตรียมทุกอย่างสำหรับมื้อเย็น แน่นอนมีสลัดผักที่ซื้อมาด้วย ระหว่างที่เริ่มลงมือกิน เธอบอกว่า ผักสวยจังซื้อมาจากไหน ผมบอกว่าที่ตลาดหนองใหญ่ เลยเล่าเรื่องที่พ่อค้าหนุ่มบอกว่ามาจากประเทศจีน

 

เท่านั้นเองอาหารไม่อร่อยเลย จืดชืดไปหมด เพราะเธอบอกว่า คราวหลังอย่าซื้อมาอีก นี่มากี่วันแล้วกว่าจะมาวางขาย มียาเคมีกี่ชนิดที่ใบสวยๆนี่ …..

 

เป็นอาหารเย็นมื้อที่ไม่อร่อยเลยครับ…. อิอิ อิอิ…


บันทึกวันโลกแตก..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 22, 2012 เวลา 9:00 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1313

ไม่กี่วันที่ผ่านมา อดีตเลขานุการสำนักงานของผมมาเยี่ยม เธอคุยเก่งเหมือนเดิม เธอตัดสินใจลาออกจากงานสมัยนั้นเพราะต้องการให้เวลากับบุตรคนที่สองที่ไม่ค่อยแข็งแรง จะได้ให้เวลามากๆกับเขา สามีเธอเป็นวิศวกรประจำเทศบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งก็เคยร่วมงานกับผมสมัยทำงานกับกรมชลประทานเมื่อสิบปีก่อน

ชีวิตสมัยนี้ต้องมีเงิน ยิ่งเป็นคนสมัยใหม่ไม่ได้ปลูกผักหรือทำสวนครัว ก็ต้องดิ้นรนไป เธอให้สามีทำงานที่ขอนแก่นต่อแต่เธอกลับบ้านที่จังหวัดรอยต่อภาคเหนือกับภาคอีสาน ในที่ดินเล็กๆที่ได้รับมรดกจากบุพการีนั้น เธอตัดสินใจทำห้องพักเล็กๆ 5 ห้อง อาศัยสามีมีความรู้เรื่องการก่อสร้าง เอาพี่สาวมาช่วยงานครัว จ้างแรงงานเพิ่มเติมมาทำอิฐเผาขายด้วย พร้อมกับ เอาบุตรชายให้หมอดูแลใกล้ชิด ทั้งหมดต้องกู้เงินเขามา กิจการก็พอไปได้ แม้จะเหนื่อยก็ยอม

แล้วโชคชะตาเอื้อให้ เมื่อทราบข่าวว่ามีตำแหน่งวิศวกรโยธาว่างที่เทศบาลเมืองนั้น สามีจึงรีบส่งใบสมัครและปรึกษากับเจ้านายเพื่อขอย้ายไปลงที่ตัวจังหวัดนั้นทันที ครอบครัวดีใจที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกัน จะได้สร้างครอบครัวให้ก้าวหน้า มั่นคง จะได้ช่วยดูแลบุตรชายที่ไม่ค่อยสบายบ่อย

ทุกอย่างราบรื่น ที่ทำงานใหม่ยินดีรับ …. แต่ความมืดก็เข้ามาปกคลุมชีวิตทันที รอยยิ้มกลับกลายเป็นความเครียดและหมกมุ่น ความยินดีปรีดากลับกลายเป็นความกังวลหมองหม่น เธอเล่าให้ผมฟังว่า …..พี่..ท่านนายกที่ทำงานเดิม……เรียกสามีไปพบว่า หากจะย้ายออกไปก็ทำได้แต่ต้องเอาเงินมาวาง 4 แสนบาท…

ความหวังดับวูบลง จะเอาเงินที่ไหนไปให้เขาล่ะคะ แค่วันวันก็หมุนเงินแทบขาดใจแล้ว เธอน้ำตาไหลริน เธอเล่าต่อว่า หนูก็พยายามหาลู่ทาง พบว่า ท่านนายกคนนี้สนิทและเกรงใจนายตำรวจใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยเป็นใหญ่ที่ขอนแก่น เผื่อพี่จะรู้จักท่านจึงอยากให้พี่ช่วยหน่อย……

โธ่ ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ หน้าผมมืด บอกไม่ถูกคิดไม่ออก

เข้าใจ เห็นใจ เจ็บแทนและชิงชังสังคมเช่นนี้ ตลอดชีวิตผมที่เดินทางทางนี้ก็เพราะเรื่องเหล่านี้แหละ ผมไม่รับราชการก็เพราะเรื่องทำนองนี้ ผมเป็น Freelance ก็เพราะเรื่องเหล่านี้ เป็นอิสระชน ก็เรื่องชิงชังสังคมทรามเช่นนี้ พรรคพวกผมมีครับ มีมากด้วย แต่เป็นชาวบ้าน ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีตำแหน่ง แต่มีข้าวปลาอาหาร มีน้ำใจมีความเคารพนับถือด้วยใจกัน…..

น้องลากลับไปด้วยความผิดหวัง และทิ้งความเจ็บไว้ที่ผมอีกคน

ก่อนลาโดยไม่ได้อะไรไปจากผมนอกจากกำลังใจ…เธอกล่าวว่า พี่…หนูกลัวค่ะ หนูกลัวสามีหนูเขาจะบ้า ระเบิด.ขึ้นมาเอาปืนไปยิงนายก…คนนั้นตาย หนูเฝ้าปลอบใจว่าสู้ๆนะพ่อ เราคงมีทางหรอก….ค่อยๆหาทางกันไป

คนธรรมดา ครอบครัวใหม่ที่มีบุตรสองคน เจ็บป่วย ดิ้นรนด้วยสุจริต ทำมาหากินไปตามลู่ทางที่เปิดโอกาสให้ แล้วต้องเผชิญเงื่อนไขสังคมเช่นนี้ มันเจ็บ มันแค้น..เหมือนแรงกดดันที่ไม่มีทางออก….

ผมทบทวนเรื่องนี้หลายวันว่าจะช่วยน้องอย่างไรดี…. ทบทวนเท่าไหร่ก็คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ได้แต่ภาวนาว่า เข้มแข็งไว้นะเธอ ปลอบปละโลมเธอด้วยวาจา กำลังใจที่พี่มอบให้กับน้อง…สาปแช่ง..มันผู้นั้น..

จึงบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางสังคมของยุคสมัย..วันโลกแตก

แต่มันจะแตกด้วยเรื่องเหล่านี้นี่แหละครับ


แนะนำป่าห้วยขาแข้ง

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 21, 2012 เวลา 15:30 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2605

แนะนำห้วยขาแข้ง

เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศแถบร้อน (Tropical Climate) และกึ่งร้อน (Subtropical Climate) ได้มีการแบ่งฤดูกาลตามปริมาณฯฝนออกเป็น 2 ช่วง คือ ฤดูแล้งที่เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด โดยมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส และเดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนต่ำที่สุด ส่วนฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดถึง 370 มิลลิลิตร ปริมาณน้ำฝนที่ตกโดยเฉลี่ยในพื้นที่คือ 1,552 มิลลิลิตรต่อปี ช่วงอากาศหนาวเย็นจะปรากฏเพียงช่วงสั้นๆในเดือนธันวาคมและมกราคม โดยอุณหภูมิต่ำสุด 0 องศาเซลเซียส จะพบในบริเวณยอดเขา อุณหภูมิโดยเฉลี่ยต่อปีคือ 24.4 องศาเซลเซียส


สังคมพืชที่เด่นของพื้นที่ได้แก่ ป่าผสมผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ป่าเต็งรัง (Deciduous Forest) ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest) ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) และยังพบว่ามีสังคมพืชกลุ่มย่อยที่น่าสนใจปรากฏอยู่ เช่น สังคมพืชดอนทรายริมลำห้วยสังคมพืชผาหิน กลุ่มไม้สนเขา เป็นต้น


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นป่าผืนใหญ่มีเนื้อที่ 1,737,587 ไร่ หรือ 2,780.14 ตารางกิโลเมตร มีแนวเขตติดต่อกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ คือ ทิศเหนือติดต่อกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ทิศตะวันตกมีแนวเขตเชื่อมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร ส่วนทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งเขื่อนศรีนครินทร์ และอุทยานแห่งชาติพุเตย เมื่อพิจารณาตามการแบ่งเขตการปกครอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะมีพื้นที่อยู่ในพื้นที่ของอำเภอบ้านไร่และอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก


ภูมิประเทศภายในพื้นที่ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนโดยมี “ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง” ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่เป็นยอดเขาที่มีความสูงที่สุดคือ 1,678 เมตร มี “ลำห้วยขาแข้ง” ที่มีความยาวราว 100 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี ไหลพาดผ่านกลางพื้นที่ทำให้เกิดที่ราบทั้งสองฝั่งของลำห้วย โดยปลายทางจะไหลลงสู่ลำน้ำแม่กลอง ส่วนแหล่งน้ำที่มีประโยชน์ต่อการทำการเกษตรกรรมของเกษตรกรในจังหวัดอุทัยธานี เกิดจากแนวเทือกเขาสูงทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยทับเสลา ลำห้วยคอกควาย และลำห้วยน้ำวิ่งโดยลำห้วยเหล่านี้จะไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังก่อนที่จะไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

(ข้อมูลทั้งหมดมาจากหนังสือชื่อ เสือ Now or Forever โดย ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ อัจฉรา ซิ้มเจริญ สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ ถ่ายภาพโดย ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ)


แมงน้ำฝน..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 20, 2012 เวลา 19:57 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3418

 

ให้ชาวบ้านมาตัดต้นไม้ พบตั๊กแตนใหญ่มาก ไม่เคยเห็นมาก่อน ถ่ายรูปไว้ แล้วมาหาข้อมูลในเนท ได้ข้อมูลดังนี้…..

ด้านนายเผด็จ กระจ่างยุทธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ให้รายละเอียดว่า น่าจะเป็น แมงน้ำฝน แมงง่วง หรือตั๊กแตนใบโศก  ตั๊กแตนหมู  ตั๊กแตนใบไม้เทียมยักษ์ เป็นตั๊กแตนหนวดยาว มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในตั๊กแตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย เพศผู้สามารถทำเสียงได้ดังโหยหวนมากในเวลากลางคืน หรือพลบค่ำโดยมีอวัยวะในการสร้างเสียง ที่โคนปีกคู่หน้าซึ่งใช้ในการเสียดสีกันจนเกิดเป็น เสียงดัง รูปร่างของปีกคล้ายใบไม้เขียว เพื่อการพรางตัวจากศัตรูตามธรรมชาติ  ขาหลังมีขนาดยาว อาหารของมันคือ ใบอ่อน และเปลือกอ่อนของพืช ในตระกูล ต้นไทร ตั๊กแตนชนิดนี้ ถือเป็นแมลงที่หายาก เพราะในปัจจุบันป่าไม้เหลือน้อย

(ข้อมูลจาก ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2555  ) 


จากแม่กำปองถึงรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 20, 2012 เวลา 14:49 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1965

หลายท่านไม่รู้จักบ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ เพราะเป็นหมู่บ้านที่โด่งดังเรื่องหมู่บ้านในป่าที่ทำโฮมสเตย์อย่างมีชื่อเสียง และมีกิจกรรมอื่นๆที่เป็นเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทนำเที่ยวระดับโลกไปเลยทีเดียว


บางท่านอาจจะไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป แนะนำนิดเดียวว่า บ้านแม่กำปองอยู่บนเทือกเขาด้านตะวันออกของตัวจังหวัดเชียงใหม่ รอยต่อกับ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง อยู่ที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน ซึ่งแยกตัวมาจาก อำเภอดอยสะเก็ด เมื่อหลายปีก่อน

ยาหยีผมมีโครงการศึกษาและพัฒนาเรื่องพลังงานทดแทนที่นั่นจึงทำให้ผมมีโอกาสไปเที่ยวมาครั้งหนึ่ง แต่ยาหยีผมไปหลายครั้ง นี่ก็เพิ่งกลับมา มาเล่าเรื่องราวเปลี่ยนแปลงให้ฟังจนผมต้องหยิบมาเขียน


เธอไปพักโฮมสเตย์ร่วมกับคณะอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. แล้วให้ชุมชนดำเนินรายการไปเสมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ก่อนที่จะไปทำงานตามเป้าหมาย เธอชมว่าผุ้ใหญ่บ้านเก่งมาก เพราะได้รับการพัฒนามานานหลายปีให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมที่โดดเด่นที่เป็นเป้าหมายของคณะอาจารย์ มข.คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าเองโดยอาศัยพลังน้ำตก

ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า แนวคิดนี้ไม่ได้เกิดมาจากชุมชน แต่เกิดจากในหลวง ที่ท่านเคยเสด็จมาที่นี่เมื่อหลายสิบปีมาแล้วเมื่อมาเห็นน้ำตกก็บอกกับผู้นำชาวบ้านว่า ไม่ต้องไปนำกระแสไฟฟ้าจากข้างนอกเข้ามา ผลิตเองได้จากพลังน้ำตกนี่แหละ ผู้นำสมัยนั้นไม่มีความรู้เลยแต่น้อมนำพระราชดำรินั้นมาใส่ใจและแสวงหาความรู้มาตลอด และมีโอกาสไปดูงานโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำของโครงการหลวง แล้วก็นำมาปรึกษากับเพื่อนบ้าน แล้วตัดสินใจจะดำเนินการตามพระราชดำริ

การก่อสร้างสมัยโน้น ซึ่งไม่มีเครื่องมือสมัยใหม่ ทีมงานอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.ยังกล่าวว่า นี่คือพลังใจมหาศาลและความร่วมมือของชาวบ้านโดยแท้ที่สามารถสร้างขึ้นมาได้โดยใช้ความรู้พื้นๆบ้าน แม้อาจารย์ยังส่ายหน้าว่า ทำมาได้อย่างไร เก่งมากๆ เพราะแค่การเจาะหินเพื่อติดตั้งเครื่องมือผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ใช้เวลาเจาะ 1 ปี หากไม่มีใจจริงๆแล้ว ไม่มีทางที่จะทำสำเร็จ เพราะไม่มีการใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ ใช้มือและเครื่องมือพื้นบ้านเท่านั้น…สุดยอดจริงๆ

ทีมอาจารย์ได้ใช้ความรู้สมัยใหม่มาเสริมเติมเต็มการดูแลรักษา ปรับปรุงพัฒนา ต่อยอดการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ยั่งยืนต่อไป ซึ่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันกล่าวว่า แม้ไฟฟ้าสมัยใหม่จะเข้ามาแล้ว แต่ชาวบ้านจะเอากระแสไฟฟ้าสมัยใหม่เป็นไฟสำรองเท่านั้น ยังใช้ไฟฟ้าที่ชุมชนผลิตเองเป็นหลัก… และจะใช้แบบนี้ตลอดไป

มีรายละเอียดมากมายที่ไม่ขอกล่าวถึง


เนื่องจากที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ในป่า บนภูเขาสูงขึ้นไป วัฒนธรรมทุนนิยมภายนอกยังเข้าไปน้อย จึงมีสภาพเดิมๆที่การท่องเที่ยวใช้เป็นจุดขาย และมีบริษัทท่องเที่ยวเข้ามาส่งเสริมร่วมกับทางราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาโฮมสเตย์ และส่งเสริมหัตถกรรมพื้นบ้าน และพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆให้ดึงดูดกลุ่มที่ชอบป่าไม้


แม่กำปองดังเป็นพลุแตก เมื่อฝรั่งมังค่าเล่าปากต่อปาก ต่างซื้อทัวร์มากับตลอดปี โฮมสเตย์จึงเติบโต กิจกรรมต่างๆในชุมชนเพื่อตอบสนองธุรกิจท่องเที่ยวก็ตามมา เช่นร้านอาหาร ร้านกาแฟ มัคคุเทศก์ น้ำตก เดินป่า Gibbon และ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การกำกับของผู้ใหญ่บ้านที่ถูกพัฒนาความรู้เรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จากหน่วยงานราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนดังกล่าว

เมื่อสังคมเปลี่ยน ปัญหาก็ตามมา ชุมชนปรับตัวมาตลอด แต่ก็อยู่ภายใต้การถกเถียงกันภายในชุมชนเองว่าความเหมาะสมคืออะไร… ปัญหาที่ตามมาและปรากฏชัดเจนมากขึ้นคือนโยบาย ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศในช่วงปีใหม่นี้เป็นต้นไปนี่แหละ….

บ้านแม่กำปองแม้จะอยู่ในป่าห่างไกลจากเมือง แต่ก็หนีไม่พ้นที่เด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่ออกจากหมู่บ้านไป เหลือแต่คนวัยกลางคนขึ้นไปถึงผู้เฒ่า ซึ่งคนวัยนี้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอดอายุ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน หลายอย่างก็ค่อยๆเปลี่ยนไป โฮมสเตย์จำนวน 20 กว่าหลังนั้นต้องใช้แรงงานตระเตรียมที่พักอาศัย การบริการต่างๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นเจ้าของโฮมสเตย์ก็ต้องว่าจ้างแรงงานในชุมชนด้วยกันเอง และจากชุมชนใกล้เคียง

เมื่อรัฐบาลประกาศ 300 บาทค่าแรงทั่วประเทศเท่านั้น ผู้เฒ่าต่างคิดไม่ตกว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรเพราะแรงงานเรียกค่าแรงเท่าที่รัฐบาลประกาศ แม้จะยังไม่ถึงเวลาก็ตาม

ผู้เฒ่า เจ้าของโฮมสเตย์แห่งหนึ่งกล่าวว่า รัฐไม่ได้แยกแยะประเภทแรงงานเลย งานบางชนิดใช้เวลาไม่เต็มวัน และเคยพึ่งพาอาศัยกัน ค่าตอบแทนก็ใช้ความพึงพอใจแบบพื้นบ้าน เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว ค่าเช่าก็ไม่ได้แพงเหมือนในเมือง อาหารก็ทำให้กิน ฯ ราคาที่เก็บนั้นยังถูกเทศบาลเรียกเก็บไปบำรุงอีก ชุมชนก็เรียกเก็บบำรุง เรายินดีให้ แต่หากค่าแรงมาขึ้นแบบนี้ เราผู้เฒ่าจะอยู่อย่างไร การจะไปขึ้นราคาที่พักเราไม่อยากทำ

เงินที่ชุมชนเก็บไปนั้นไปตั้งเป็นกองทุนดูแลชุมชนทั่วไปหมด ครัวเรือนใดที่ไม่สามารถทำโฮมสเตย์ได้ ก็ได้รับสวัสดิการต่างๆจากกองทุนนี้ด้วยในหลายๆรูปแบบ เราพึงพอใจที่โฮมสเตย์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชน แต่แรงงานที่ประกาศขึ้นราคาแบบนี้ รัฐบาลไม่ได้พิจารณารายละเอียดของธุรกิจและพื้นที่ บางครอบครัวบอกว่าเมื่อไม่สามารถแบกรับค่าจ้างได้อาจจะต้องปิดโฮมสเตย์ลงไป

นี่คือเสียงสะท้อนจากชุมชนในป่า…ถึงรัฐบาล


น่ารัก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 20, 2012 เวลา 0:25 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1065

ทดสอบ


วิภาคย์ CSR บางองค์กรธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 7, 2012 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1614

สมัยก่อนเราวิจารณ์คุณหญิงคุฯนาย และข้าราชการตำแหน่งสูงๆในการออกไปช่วยเหลือชนบทผู้มีปัญหา เช่น แจกผ้าห่ม แจกถุงยังชีพ มอบสิ่งของ….ฯลฯ ว่าเป็นแค่การสงเคราะห์ มิใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แจกแล้วถ่ายรูปเอาไปลงหนังสือต่างๆ เป็นที่พออกพอใจว่าได้ช่วยเหลือแล้ว

ส่วนดี เป็นการแสดงดารเอื้ออาทรในระดับหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปัญหาแบบเร่งด่วนไปก่อน ส่วนนี้ผมก็ยินดี และเห็นด้วยว่าสมควรทำ แต่ที่เราวิจารณ์กันมากๆคือ มากไปกว่านี้นั้นมันไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานของการเกิดปัญหา แค่บรรเทา แล้วปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นอีก ก็ต้องมาแจกของกันอีก….

การพยายามพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาแท้จริงก็มีมากขึ้น จนเกิดโครงการพัฒนารากฐานจริงๆมากมายในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่การแจกของก็ยังมีคงเดิม ผมก้าวผ่านประเด็นนี้ไปแล้วตรงที่ว่า หากเขามีศักยภาพตรงนั้นก็ทำเถอะครับ ดีกว่าไม่ได้ทำ ส่วนการแก้ปัญหาที่แท้จริงนั้น ก็มีหลายหน่วยงานก้าวลึกลงไปมากขึ้น

จนมาถึงยุค CSR ที่บริษัทใหญ่ๆทั้งหลายต่างก็ตั้งแผนกงานนี้ขึ้นมาแล้วก็จัดตั้งงบประมาณลงมาตรงนี้จำนวนมากเพื่อทำงานพัฒนาชุมชน เป้าหมาย ของเขา เช่น รอบๆโรงงานของเขาเอง หรือพูดตรงๆก็คือ ตั้งงบประมารมาดูแล ช่วยเหลือ พัฒนาให้กลุ่มคนที่อาจจะได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการขององค์กรธุรกิจ พูดง่ายๆ ก็คือ มาเอาอกเอาใจกันเต็มที่ในหลากหลายรูปแบบ สาระ แล้วแต่นโยบายและวิสัยทัศน์ขององค์กรและผู้บริหารองค์กรนั้นๆ

ผมมีโอกาสสัมผัส โครงการ CSR ขององค์กรขนาดใหญ่ที่ทำงานกับประชาชน ผมมีความเห็นมากมาย ทั้งเชิงสนับสนุน และวิภาคย์ งานนี้ เชิงสนับสนุนนั้นคงไม่ต้องพูดมาก เพราะท้องถิ่นได้เม็ดเงินลงไปมากมายในหลายๆรูปแบบ บางแห่งต้องตกใจว่า งบประมาณที่ลงไปนั้นมากกว่างบพัฒนาของจังหวัดทั้งจังหวัดเสียอีก…. แต่ผมอยากวิภาคย์ตรงๆอย่างนี้ครับ

· องค์กรธุรกิจอ้างว่าสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือไปพัฒนาให้ชุมชนพัฒนาตัวเองได้ แต่บรรยากาศ และรูปธรรมนั้นมองไม่เห็นความยั่งยืน มีแต่ปัญหาที่สะสางกันไม่จบสิ้น น่าตั้งคำถามว่า งาน CSR ไปทำอย่างไรจึงไม่สามารถสะสางปัญหาได้ แถมรุนแรงมากขึ้น เพราะมันกลายเป็นการสะสมอารมณ์ ความรู้สึก และความผิดหวังไป แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดพื้นที่

· การทำงาน CSR กลายเป็นการแบ่งประชาชนออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนองค์กรธุรกิจ และฝ่ายที่ต่อต้าน ทั้งสองกลุ่มนี้หลายพื้นที่ก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ทำไมงานพัฒนาโดย CSR จึงก่อให้เกิดปรากฏการณ์นี้

· ผู้บริหารองค์กรมีเจตนาที่ดี แต่ยังไม่เข้าใจชุมชน ไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาชุมชน กระบวนการพัฒนาคน แต่ใช้นโยบาย “ต้องได้ผลลัพธ์ที่ดีตามที่ผู้บริหารต้องการเท่านั้น” ก็คือคำสั่ง คือโจทย์ที่ผู้รับผิดชอบรองลงไปตามลำดับขั้นก็ก้มหน้าหาทางตอบสนองผู้บริหารมากกว่าที่จะให้ “เมล็ดพืชค่อยๆงอกงามไปตามธรรมชาติ” แต่ไปบังคับว่า ต้องเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ หากเป็นเกษตรก็ยังใช้ปุ๋ยเคมี ไปเร่งการเติบโตของพืช มากกว่าใช้ปุ๋ยชีวภาพ ที่ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป และไม่มีผลตกค้าง ตรงข้าม ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปนั้น พืชเติบโตจริง แต่ รอบๆ มีการสะสมสารพิษ

· ทุกคนทำเพื่อเอาใจ นาย ตอบสนองนายมากกว่า นอบน้อมให้ชุมชนค่อยๆเติบโต แคร์นายมากกว่าแคร์ความรู้สึกด้านลึกของชุมชน

· ในมือองค์กรธุรกิจมีทุนมากมาย และแสดงตัวออกมาในภาพเช่นนั้น และผู้บริหารจำนนไม่น้อยเผยออกมาบ่อยๆว่า เขาต้องการเงินไปพัฒนา ไปแก้ปัญหา ก็จัดสรรเงินให้เขาไปซิ ตั้งกรรมการ ระเบียบ ระบบการใช้เงินขึ้นมาก็จบ นี่ไง เราพยายามช่วยเหลือท้องถิ่นแล้ว

· การมีเงินมากมาย กลายเป็นเป้าของนักการเมืองท้องถิ่น ที่ผสมผสานความเดือดร้อนปัญหาของท้องถิ่นที่มีจริงๆ เอามาเป็นนกต่อในการเรียกร้องเอางบประมาณลงสู่ท้องถิ่นที่ตนนั่งบริหารงบประมาณนั้น แล้วก็บริหารงบประมาณนั้นเพื่อสนับสนุนแผนงานตนเอง อวดอ้างแบบเนียนๆว่านี่คือฝีมือเขาในการดึงงบประมาณลงมาพัฒนาท้องถิ่น ช่วยเหลือพี่น้อง ลึกๆก็สร้างชื่อ สร้างภาพ สร้างคะแนน ที่นักการเมืองต่างก็หวังไต่เต้าขึ้นที่สูงไปเรื่อยๆ

· ผมมองว่าในพื้นที่รอบๆองค์กรธุรกิจนั้นเป็นพื้นที่พิเศษ ที่แตกต่างจากท้องถิ่น ชุมชนทั่วไป กระบวนการทำงานจึงต้องแตกต่างจากงานพัฒนาท้องถิ่นทั่วๆไป ผมเห็นคุณนายในคราบ CSR ผมเห็นผู้ให้ในคราบ CSR ผมเห็นผู้หวังดีในคราบ CSR แต่ไม่เห็นนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปวิเคราะห์เจาะลึก แก่นแท้ของสภาพจิตใจ ระบบคิด และความคาดหวังลึกๆของคนในชุมชนที่มีความแตกต่างกัน กลุ่ม CSR เป็นเพียงคนนอก และผู้หวังดี เท่านั้น “ต่างก็อ่านกินกัน” แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในมุมลึกๆของจิตใจ หากเอารูปธรรมของจำนวนความช่วยเหลือ หรือการแก้ปัญหา จะพบ “จำนวนที่ระบุปริมาณ” มากมาย แต่ไม่สามารถกะเทาะเปลือกเข้าไปสู่เนื้อใน จิตใจ ของชุมชนได้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้เวลาสั้นๆทบทวนและวิภาคย์ออกมา ผมคิดว่า หากธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดและแก้ปัญหาที่เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งจริงๆแล้ว จำนวน และปริมาณของงาน งบประมาณ ที่ลงไปนั้น เป็นเพียงน้ำเย็นที่ไปลูบเท่านั้น ปัญหาเชิงลึกที่ดำรงอยู่ในจิตใจของชุมชนนั้นพร้อมที่จะระอุออกมาได้ทุกเมื่อ


ได้ยินแต่ไม่สำเหนียก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 3, 2012 เวลา 8:44 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1199

 

ผมนั้นเกิดอาการเครียดหลายครั้งที่น้องๆมาเชิญให้เป็นพิธีกร หรือผู้ดำเนินการ “การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย…” เพราะงานนี้จะเผชิญกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่มาคัดค้านกิจกรรมนั้นๆหรือไม่ หนอ ผมเคยร้องขอหน่วยวานไปครั้งหนึ่งว่าขออนุญาตไม่รับทำหน้าที่นี้ เพราะผมรู้จักกลุ่มต่อต้าน คัดค้านนั้นเป็นอย่างดี เขาเหล่านั้นก็รู้จัก “พี่บู๊ด” ดีถึงดีมาก ซึ่งผมเคยถูกกระซิบว่า ห้ามมาทำหน้าที่นี้ในเรื่องนี้…. แต่ส่วนใหญ่รับหมด ด้วยความจริงใจที่มาทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น…

ฝ่ายคัดค้านจะเหมารวมว่า ผู้มาดำเนินการนี้เป็นเพียงเครื่องมือของเจ้าของกิจการที่ว่าจ้างมาเท่านั้น เนื้อในก็เป็นพวกเดียวกัน…. ยากครับที่จะอธิบายให้เข้าใจว่า เราเป็นคนกลางที่มารับฟังปัญหา อุปสรรค ความคิดเห็น ข้อคิด ข้อเสนอแนะ ข้อกังวลต่างๆของประชาชนต่อกิจการนั้นๆ บางครั้งวิทยากรต้องหลบสิ่งของที่ถูกขว้างปามาจากฝ่ายต่อต้าน คัดค้านอย่างไม่สมควร …. ประสบการณ์เหล่านี้เองที่ผู้ดำเนินการประชุมเรื่องสำคัญ เรื่องร้อนๆจึงยากที่ใครจะรับมาดำเนินการ ผมต้องมารับหน้าที่นี้ ด้วยหัวใจตุ้มๆต่อมๆ อิอิ

ผมบอกตัวเองว่ามีเจตนาดี และ มีคำที่พยายามจะอธิบายว่าผมมาทำหน้าที่อะไร เราใช้ลู่ทางที่ให้ผู้เข้าร่วมการประชุมพึงพอใจที่สุดว่า ทุกคำพูดของเขานั้นเรารับฟังและถูกบันทึกไว้ทั้งหมด โดยการ บันทึกเทป มีคนทำหน้าที่จดบันทึก และมีพนักงานพิมพ์ทันทีขึ้นจอ Power point ให้เห็นกันจะๆว่าทุกคนพูดอะไร พร้อมทั้งพิธีกรและพิธีกรร่วมยังกล่าวสรุปให้อีกครั้ง ที่ผ่านมาทุกครั้งเป็นที่พึงพอใจต่อที่ประชุม..

กรณีต่อเนื่องจากครั้งหลังสุดที่ทำหน้าที่นี้มา เราพัฒนากระบวนการแสดงความเห็นของชาวบ้านโดยมีเจ้าหน้าที่เราไปจัดคิวให้ ตามลำดับการเสนอตัวมาแสดงความเห็น พบว่า แย่งกันเลยครับ ทั้งหมดเป็น “หน้าเดิมๆ” และ ร้อยละเก้าสิบผมเคยไปสัมภาษณ์ส่วนตัวมาแล้วจึงพอเข้าใจพื้นฐานเขา ซึ่งมีตั้งแต่ชาวบ้านจบเพียง ป. 4 จนถึงผู้นำชุมชน และผู้ที่จบปริญญาโทและเป็นผู้นำในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ละคนมีลีลา ดุดัน เข้มแข็ง ชัดเจน หลายคนมองว่าเป็นการหาเสียงเพื่อการครองใจประชาชน แต่ผมให้น้ำหนังเรื่องนี้น้อยกว่าการที่เขาพยายามแสดงถึงความคิดเห็นของชุมชน ชาวบ้าน ผ่านตัวเขาซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ในชุมชนนั้น

คนหนึ่งที่จบเพียง ป.4 และไม่มีตำแหน่งในชุมชุม ดุดันครับ เขาอธิบายว่าชุมชนเขานั้นเดือดร้อนอะไรบ้าง ลำดับให้ฟัง แล้ววกมาที่หน่วยงาน ที่เพิ่งลงทุนสร้างภาพท้องเที่ยวแม่….จ้างดารามาโชว์ตัวและแสดงต่างๆมากมาย หมดเงินไปเท่าไหร่ทั่วประเทศมาเที่ยวและชื่นชมการจัดงาน ความสวยงามและความประทับใจ ทั้งที่คนในพื้นที่ต้องการเยียวยาปัญหาที่คาราคาซังมาเนิ่นนานแล้ว จะให้ชาวบ้านเข้าใจว่าอย่างไร จะให้คนท้องถิ่นรู้สึกอย่างไร สนุกไปกับงานสร้างภาพนี้หรือ ชื่นชม ไปกับภาพเช่นนี้หรือ…อีกมากมาย….

ชาวบ้านที่จบ ป 4 ท่านนั้น น้ำตาตกมานานแล้ว เขาเรียกร้องมานานแล้ว ครับ ท่านผู้รับผิดชอบได้ยินทั้งสองหูแต่สำเหนียกหรือไม่เท่านั้น การกระทำ การปฏิบัติ เป็นคำตอบ



Main: 1.62739610672 sec
Sidebar: 0.32747983932495 sec