แนะนำป่าห้วยขาแข้ง

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 21, 2012 เวลา 15:30 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2684

แนะนำห้วยขาแข้ง

เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศแถบร้อน (Tropical Climate) และกึ่งร้อน (Subtropical Climate) ได้มีการแบ่งฤดูกาลตามปริมาณฯฝนออกเป็น 2 ช่วง คือ ฤดูแล้งที่เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด โดยมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส และเดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนต่ำที่สุด ส่วนฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดถึง 370 มิลลิลิตร ปริมาณน้ำฝนที่ตกโดยเฉลี่ยในพื้นที่คือ 1,552 มิลลิลิตรต่อปี ช่วงอากาศหนาวเย็นจะปรากฏเพียงช่วงสั้นๆในเดือนธันวาคมและมกราคม โดยอุณหภูมิต่ำสุด 0 องศาเซลเซียส จะพบในบริเวณยอดเขา อุณหภูมิโดยเฉลี่ยต่อปีคือ 24.4 องศาเซลเซียส


สังคมพืชที่เด่นของพื้นที่ได้แก่ ป่าผสมผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ป่าเต็งรัง (Deciduous Forest) ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest) ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) และยังพบว่ามีสังคมพืชกลุ่มย่อยที่น่าสนใจปรากฏอยู่ เช่น สังคมพืชดอนทรายริมลำห้วยสังคมพืชผาหิน กลุ่มไม้สนเขา เป็นต้น


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นป่าผืนใหญ่มีเนื้อที่ 1,737,587 ไร่ หรือ 2,780.14 ตารางกิโลเมตร มีแนวเขตติดต่อกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ คือ ทิศเหนือติดต่อกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ทิศตะวันตกมีแนวเขตเชื่อมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร ส่วนทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งเขื่อนศรีนครินทร์ และอุทยานแห่งชาติพุเตย เมื่อพิจารณาตามการแบ่งเขตการปกครอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะมีพื้นที่อยู่ในพื้นที่ของอำเภอบ้านไร่และอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก


ภูมิประเทศภายในพื้นที่ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนโดยมี “ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง” ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่เป็นยอดเขาที่มีความสูงที่สุดคือ 1,678 เมตร มี “ลำห้วยขาแข้ง” ที่มีความยาวราว 100 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี ไหลพาดผ่านกลางพื้นที่ทำให้เกิดที่ราบทั้งสองฝั่งของลำห้วย โดยปลายทางจะไหลลงสู่ลำน้ำแม่กลอง ส่วนแหล่งน้ำที่มีประโยชน์ต่อการทำการเกษตรกรรมของเกษตรกรในจังหวัดอุทัยธานี เกิดจากแนวเทือกเขาสูงทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยทับเสลา ลำห้วยคอกควาย และลำห้วยน้ำวิ่งโดยลำห้วยเหล่านี้จะไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังก่อนที่จะไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

(ข้อมูลทั้งหมดมาจากหนังสือชื่อ เสือ Now or Forever โดย ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ อัจฉรา ซิ้มเจริญ สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ ถ่ายภาพโดย ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ)



Main: 0.014162063598633 sec
Sidebar: 0.030635833740234 sec