วิภาคย์ CSR บางองค์กรธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 7, 2012 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1615

สมัยก่อนเราวิจารณ์คุณหญิงคุฯนาย และข้าราชการตำแหน่งสูงๆในการออกไปช่วยเหลือชนบทผู้มีปัญหา เช่น แจกผ้าห่ม แจกถุงยังชีพ มอบสิ่งของ….ฯลฯ ว่าเป็นแค่การสงเคราะห์ มิใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แจกแล้วถ่ายรูปเอาไปลงหนังสือต่างๆ เป็นที่พออกพอใจว่าได้ช่วยเหลือแล้ว

ส่วนดี เป็นการแสดงดารเอื้ออาทรในระดับหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปัญหาแบบเร่งด่วนไปก่อน ส่วนนี้ผมก็ยินดี และเห็นด้วยว่าสมควรทำ แต่ที่เราวิจารณ์กันมากๆคือ มากไปกว่านี้นั้นมันไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานของการเกิดปัญหา แค่บรรเทา แล้วปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นอีก ก็ต้องมาแจกของกันอีก….

การพยายามพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาแท้จริงก็มีมากขึ้น จนเกิดโครงการพัฒนารากฐานจริงๆมากมายในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่การแจกของก็ยังมีคงเดิม ผมก้าวผ่านประเด็นนี้ไปแล้วตรงที่ว่า หากเขามีศักยภาพตรงนั้นก็ทำเถอะครับ ดีกว่าไม่ได้ทำ ส่วนการแก้ปัญหาที่แท้จริงนั้น ก็มีหลายหน่วยงานก้าวลึกลงไปมากขึ้น

จนมาถึงยุค CSR ที่บริษัทใหญ่ๆทั้งหลายต่างก็ตั้งแผนกงานนี้ขึ้นมาแล้วก็จัดตั้งงบประมาณลงมาตรงนี้จำนวนมากเพื่อทำงานพัฒนาชุมชน เป้าหมาย ของเขา เช่น รอบๆโรงงานของเขาเอง หรือพูดตรงๆก็คือ ตั้งงบประมารมาดูแล ช่วยเหลือ พัฒนาให้กลุ่มคนที่อาจจะได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการขององค์กรธุรกิจ พูดง่ายๆ ก็คือ มาเอาอกเอาใจกันเต็มที่ในหลากหลายรูปแบบ สาระ แล้วแต่นโยบายและวิสัยทัศน์ขององค์กรและผู้บริหารองค์กรนั้นๆ

ผมมีโอกาสสัมผัส โครงการ CSR ขององค์กรขนาดใหญ่ที่ทำงานกับประชาชน ผมมีความเห็นมากมาย ทั้งเชิงสนับสนุน และวิภาคย์ งานนี้ เชิงสนับสนุนนั้นคงไม่ต้องพูดมาก เพราะท้องถิ่นได้เม็ดเงินลงไปมากมายในหลายๆรูปแบบ บางแห่งต้องตกใจว่า งบประมาณที่ลงไปนั้นมากกว่างบพัฒนาของจังหวัดทั้งจังหวัดเสียอีก…. แต่ผมอยากวิภาคย์ตรงๆอย่างนี้ครับ

· องค์กรธุรกิจอ้างว่าสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือไปพัฒนาให้ชุมชนพัฒนาตัวเองได้ แต่บรรยากาศ และรูปธรรมนั้นมองไม่เห็นความยั่งยืน มีแต่ปัญหาที่สะสางกันไม่จบสิ้น น่าตั้งคำถามว่า งาน CSR ไปทำอย่างไรจึงไม่สามารถสะสางปัญหาได้ แถมรุนแรงมากขึ้น เพราะมันกลายเป็นการสะสมอารมณ์ ความรู้สึก และความผิดหวังไป แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดพื้นที่

· การทำงาน CSR กลายเป็นการแบ่งประชาชนออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนองค์กรธุรกิจ และฝ่ายที่ต่อต้าน ทั้งสองกลุ่มนี้หลายพื้นที่ก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ทำไมงานพัฒนาโดย CSR จึงก่อให้เกิดปรากฏการณ์นี้

· ผู้บริหารองค์กรมีเจตนาที่ดี แต่ยังไม่เข้าใจชุมชน ไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาชุมชน กระบวนการพัฒนาคน แต่ใช้นโยบาย “ต้องได้ผลลัพธ์ที่ดีตามที่ผู้บริหารต้องการเท่านั้น” ก็คือคำสั่ง คือโจทย์ที่ผู้รับผิดชอบรองลงไปตามลำดับขั้นก็ก้มหน้าหาทางตอบสนองผู้บริหารมากกว่าที่จะให้ “เมล็ดพืชค่อยๆงอกงามไปตามธรรมชาติ” แต่ไปบังคับว่า ต้องเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ หากเป็นเกษตรก็ยังใช้ปุ๋ยเคมี ไปเร่งการเติบโตของพืช มากกว่าใช้ปุ๋ยชีวภาพ ที่ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป และไม่มีผลตกค้าง ตรงข้าม ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปนั้น พืชเติบโตจริง แต่ รอบๆ มีการสะสมสารพิษ

· ทุกคนทำเพื่อเอาใจ นาย ตอบสนองนายมากกว่า นอบน้อมให้ชุมชนค่อยๆเติบโต แคร์นายมากกว่าแคร์ความรู้สึกด้านลึกของชุมชน

· ในมือองค์กรธุรกิจมีทุนมากมาย และแสดงตัวออกมาในภาพเช่นนั้น และผู้บริหารจำนนไม่น้อยเผยออกมาบ่อยๆว่า เขาต้องการเงินไปพัฒนา ไปแก้ปัญหา ก็จัดสรรเงินให้เขาไปซิ ตั้งกรรมการ ระเบียบ ระบบการใช้เงินขึ้นมาก็จบ นี่ไง เราพยายามช่วยเหลือท้องถิ่นแล้ว

· การมีเงินมากมาย กลายเป็นเป้าของนักการเมืองท้องถิ่น ที่ผสมผสานความเดือดร้อนปัญหาของท้องถิ่นที่มีจริงๆ เอามาเป็นนกต่อในการเรียกร้องเอางบประมาณลงสู่ท้องถิ่นที่ตนนั่งบริหารงบประมาณนั้น แล้วก็บริหารงบประมาณนั้นเพื่อสนับสนุนแผนงานตนเอง อวดอ้างแบบเนียนๆว่านี่คือฝีมือเขาในการดึงงบประมาณลงมาพัฒนาท้องถิ่น ช่วยเหลือพี่น้อง ลึกๆก็สร้างชื่อ สร้างภาพ สร้างคะแนน ที่นักการเมืองต่างก็หวังไต่เต้าขึ้นที่สูงไปเรื่อยๆ

· ผมมองว่าในพื้นที่รอบๆองค์กรธุรกิจนั้นเป็นพื้นที่พิเศษ ที่แตกต่างจากท้องถิ่น ชุมชนทั่วไป กระบวนการทำงานจึงต้องแตกต่างจากงานพัฒนาท้องถิ่นทั่วๆไป ผมเห็นคุณนายในคราบ CSR ผมเห็นผู้ให้ในคราบ CSR ผมเห็นผู้หวังดีในคราบ CSR แต่ไม่เห็นนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปวิเคราะห์เจาะลึก แก่นแท้ของสภาพจิตใจ ระบบคิด และความคาดหวังลึกๆของคนในชุมชนที่มีความแตกต่างกัน กลุ่ม CSR เป็นเพียงคนนอก และผู้หวังดี เท่านั้น “ต่างก็อ่านกินกัน” แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในมุมลึกๆของจิตใจ หากเอารูปธรรมของจำนวนความช่วยเหลือ หรือการแก้ปัญหา จะพบ “จำนวนที่ระบุปริมาณ” มากมาย แต่ไม่สามารถกะเทาะเปลือกเข้าไปสู่เนื้อใน จิตใจ ของชุมชนได้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้เวลาสั้นๆทบทวนและวิภาคย์ออกมา ผมคิดว่า หากธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดและแก้ปัญหาที่เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งจริงๆแล้ว จำนวน และปริมาณของงาน งบประมาณ ที่ลงไปนั้น เป็นเพียงน้ำเย็นที่ไปลูบเท่านั้น ปัญหาเชิงลึกที่ดำรงอยู่ในจิตใจของชุมชนนั้นพร้อมที่จะระอุออกมาได้ทุกเมื่อ



Main: 0.79202198982239 sec
Sidebar: 0.07906699180603 sec