ความจริงใจที่ทดแทนไม่ได้ด้วยเงิน
อ่าน: 1205การทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ EHIA หรือการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ นั้นเป็นเรื่อง ที่ต้องกระทำหากกิจกรรมใดๆคาดว่าจะมีผลกระทบรุนแรง ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่ เป็นความก้าวหน้าของการจัดการของสังคมที่เป็นมาตรฐานโลก การศึกษาดังกล่าวต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สอบผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆมาแล้ว และการศึกษาดังกล่าวมีขั้นตอนที่กำกับ ควบคุมโดยสำนักนโยบายและแผน หรือที่เรียก สผ.
ขั้นตอนที่สำคัญหนึ่งของทั้งหมดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย หรือกลุ่มประชาชนที่อยู่ในบริเวณรัศมี 5 กม.ของที่ตั้งกิจการนั้นๆ ประชาชนที่อยู่ในรัศมีนี้ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ผู้รับจ้างทำการศึกษาจะต้องทำตามกระบวนการ เช่น สื่อสารให้ทราบแผนงานต่างๆที่จะทำ ข่าวสารข้อมูลต่างๆที่จะดำเนินการของผู้ลงทุน และฯลฯ และจะถูกสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามในเรื่องต่างๆตามระเบียบกฎหมายกำหนด
ที่สุดของขั้นตอนคือการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่มี 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เรียกการประชุมรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องกรอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ แล้วให้ประชาชนเป้าหมายแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ แสดงข้อกังวล ให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อให้คณะที่จะทำการศึกษารับรู้รับทราบแล้วนำข้อคิดเห็นทั้งหมดนั้นไปปรับปรุงพัฒนากระบวนการศึกษาให้รอบคอบครอบคลุมตามข้อเสนอนั้นๆ ผู้เข้าร่วมการประชุมจะรวมไปถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชนกลุ่มต่างๆ ฯลฯ… การประชุมครั้งที่ 1 นี้เรียกสั้นๆว่า ค1
การประชุมครั้งที่สองเรียกการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องผลการศึกษา EIA และ EHIA และมาตรการต่างๆ โดยจะลงไปประชุมย่อยในแต่ละพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ระดับตำบล เพื่อใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด รับฟังความเห็นถึงมาตรการต่างๆที่ถูกกำหนดตามหลักวิชาการที่นำมาจัดการกับข้อกังวลต่างๆที่ประชาชนตั้งประเด็นไว้ และที่นักวิชาการเฉพาะด้านคาดการว่าจะเกิดปัญหา อุปสรรคด้านนั้นๆ มาตรการเหล่านี้เป็นไปตามหลักตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกใช้ เป็นอย่างต่ำ อาจจะกำหนดมาตรการที่เข้มข้นมากกว่ามาตรฐานก็ย่อมได้ เรียกการประชุม ค2
การประชุมครั้งที่สามเรียกการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องรายงานผลการศึกษาศึกษาและวิเคราะห์ EIA และ EHIA และมาตรการต่างๆ ก่อนที่จะทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ที่จะส่งให้ สผ.พิจารณาต่อไป ก็เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เรียกการประชุม ค3
ทั้งหมดนี้ผมย่อๆสั้นๆ ซึ่งมีรายละเอียดมากมายตามกฎหมายกำหนด ที่อยากจะกล่าวถึงจากประสบการณ์ที่ผมทำหน้าที่ดำเนินการประชุมมาหลายโครงการ หลายพื้นที่มาแล้ว พบว่า
- ประชาชนไม่มีความเข้าใจต่อกรับวนการตามกฎหมายเหล่านี้ แม้ว่าจะพยายามอธิบาย หรือใช้สื่อสารต่างๆก็ตาม
- ประชาชนที่มาร่วมจะพูด หรือแสดงความเห็นในเรื่องที่ตนเองเดือดร้อนเท่านั้น หลายเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการประชุม หรือไม่อยู่ในกรอบเนื้อหาการประชุม เช่น หัวข้อเรื่องเหมืองแร่ลิกไนต์ ก็เอาเรื่องโรงไฟฟ้ามาพูด
- ประชาชนจะพูดตามแบบฉบับของเขา ที่เป็นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีภาษา สำเนียง สำนวนเฉพาะถิ่น หากผู้รับฟังไม่มีพื้นฐานก็อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้
- ประชาชนเอาปรากฏการณ์ ประสบการณ์ ความรู้สึก การคาดการณ์มาพูดมากกว่า สถิติ ตัวเลข ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ ซึ่ง เป็นเรื่องปกติ
- ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามหลักวิชาการนั้นต้องพิสูจน์ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนว่าเกิดมาจากเหตุใด จึงจะสรุปชี้ชัดลงไป ซึ่งปัจจัยการเกิดมีมากมาย แต่ชาวบ้านมีจำเลยในสายตาอยู่แล้วจึงมักชี้นิ้วมาที่ผู้ประกอบการที่สร้างกิจการนั้นๆขึ้นมา
- ฯลฯ
แต่ทั้งนี้จุดบกพร่องของฝ่ายเจ้าของกิจการก็มีมากมาย แต่มักเป็นผู้ “ถือไผ่เหนือกว่า” อยู่เสมอ และชาวบ้านเองก็ไม่รู้จักช่องทางในการต่อสู้ให้เข้าถึงความจริงที่สุด ผมพบว่า คำกล่าวของประชาชนที่ซ้ำกันมากที่สุดคือ เจ้าของกิจการไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แม้จะตั้งฝ่ายCSR ที่ใช้งบประมาณเพื่อกิจกรรมของฝ่ายนี้ไปมากมาย แต่หากไม่มีความจริงใจ ปัญหาพื้นฐานนี้ก็ไม่ได้แก้ไข ความจริงใจนั้นมีความหมายลึกซึ้งมากกว่า การตั้งงบประมาณหลายล้านเข้าไปแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่เอาไปกองในชุมชนให้ชุมชนมีอิสระในการใช้จ่ายก็ตาม
ชาวบ้านระยองท่านหนึ่งกล่าวว่า คุณคะ…เงินล้านนั้นซื้อใจฉันไม่ได้ แม้ฉันจะต้องการเงินก็ตาม หากไม่มีความจริงใจเสียแล้ว ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข….
น่าเสียดายที่ฝ่าย CSR ของหน่วยงานที่มีมูลค่านับแสนล้านนั้น เข้าไม่ถึงจิตใจชุมชน..