ความจริงใจที่ทดแทนไม่ได้ด้วยเงิน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 2, 2012 เวลา 23:00 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1204

การทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ EHIA หรือการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ นั้นเป็นเรื่อง ที่ต้องกระทำหากกิจกรรมใดๆคาดว่าจะมีผลกระทบรุนแรง ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่ เป็นความก้าวหน้าของการจัดการของสังคมที่เป็นมาตรฐานโลก การศึกษาดังกล่าวต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สอบผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆมาแล้ว และการศึกษาดังกล่าวมีขั้นตอนที่กำกับ ควบคุมโดยสำนักนโยบายและแผน หรือที่เรียก สผ.

ขั้นตอนที่สำคัญหนึ่งของทั้งหมดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย หรือกลุ่มประชาชนที่อยู่ในบริเวณรัศมี 5 กม.ของที่ตั้งกิจการนั้นๆ ประชาชนที่อยู่ในรัศมีนี้ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ผู้รับจ้างทำการศึกษาจะต้องทำตามกระบวนการ เช่น สื่อสารให้ทราบแผนงานต่างๆที่จะทำ ข่าวสารข้อมูลต่างๆที่จะดำเนินการของผู้ลงทุน และฯลฯ และจะถูกสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามในเรื่องต่างๆตามระเบียบกฎหมายกำหนด

ที่สุดของขั้นตอนคือการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่มี 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เรียกการประชุมรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องกรอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ แล้วให้ประชาชนเป้าหมายแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ แสดงข้อกังวล ให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อให้คณะที่จะทำการศึกษารับรู้รับทราบแล้วนำข้อคิดเห็นทั้งหมดนั้นไปปรับปรุงพัฒนากระบวนการศึกษาให้รอบคอบครอบคลุมตามข้อเสนอนั้นๆ ผู้เข้าร่วมการประชุมจะรวมไปถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชนกลุ่มต่างๆ ฯลฯ… การประชุมครั้งที่ 1 นี้เรียกสั้นๆว่า ค1

การประชุมครั้งที่สองเรียกการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องผลการศึกษา EIA และ EHIA และมาตรการต่างๆ โดยจะลงไปประชุมย่อยในแต่ละพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ระดับตำบล เพื่อใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด รับฟังความเห็นถึงมาตรการต่างๆที่ถูกกำหนดตามหลักวิชาการที่นำมาจัดการกับข้อกังวลต่างๆที่ประชาชนตั้งประเด็นไว้ และที่นักวิชาการเฉพาะด้านคาดการว่าจะเกิดปัญหา อุปสรรคด้านนั้นๆ มาตรการเหล่านี้เป็นไปตามหลักตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกใช้ เป็นอย่างต่ำ อาจจะกำหนดมาตรการที่เข้มข้นมากกว่ามาตรฐานก็ย่อมได้ เรียกการประชุม ค2

การประชุมครั้งที่สามเรียกการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องรายงานผลการศึกษาศึกษาและวิเคราะห์ EIA และ EHIA และมาตรการต่างๆ ก่อนที่จะทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ที่จะส่งให้ สผ.พิจารณาต่อไป ก็เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เรียกการประชุม ค3

ทั้งหมดนี้ผมย่อๆสั้นๆ ซึ่งมีรายละเอียดมากมายตามกฎหมายกำหนด ที่อยากจะกล่าวถึงจากประสบการณ์ที่ผมทำหน้าที่ดำเนินการประชุมมาหลายโครงการ หลายพื้นที่มาแล้ว พบว่า

  • ประชาชนไม่มีความเข้าใจต่อกรับวนการตามกฎหมายเหล่านี้ แม้ว่าจะพยายามอธิบาย หรือใช้สื่อสารต่างๆก็ตาม
  • ประชาชนที่มาร่วมจะพูด หรือแสดงความเห็นในเรื่องที่ตนเองเดือดร้อนเท่านั้น หลายเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการประชุม หรือไม่อยู่ในกรอบเนื้อหาการประชุม เช่น หัวข้อเรื่องเหมืองแร่ลิกไนต์ ก็เอาเรื่องโรงไฟฟ้ามาพูด
  • ประชาชนจะพูดตามแบบฉบับของเขา ที่เป็นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีภาษา สำเนียง สำนวนเฉพาะถิ่น หากผู้รับฟังไม่มีพื้นฐานก็อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้
  • ประชาชนเอาปรากฏการณ์ ประสบการณ์ ความรู้สึก การคาดการณ์มาพูดมากกว่า สถิติ ตัวเลข ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ ซึ่ง เป็นเรื่องปกติ
  • ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามหลักวิชาการนั้นต้องพิสูจน์ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนว่าเกิดมาจากเหตุใด จึงจะสรุปชี้ชัดลงไป ซึ่งปัจจัยการเกิดมีมากมาย แต่ชาวบ้านมีจำเลยในสายตาอยู่แล้วจึงมักชี้นิ้วมาที่ผู้ประกอบการที่สร้างกิจการนั้นๆขึ้นมา
  • ฯลฯ

แต่ทั้งนี้จุดบกพร่องของฝ่ายเจ้าของกิจการก็มีมากมาย แต่มักเป็นผู้ “ถือไผ่เหนือกว่า” อยู่เสมอ และชาวบ้านเองก็ไม่รู้จักช่องทางในการต่อสู้ให้เข้าถึงความจริงที่สุด ผมพบว่า คำกล่าวของประชาชนที่ซ้ำกันมากที่สุดคือ เจ้าของกิจการไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แม้จะตั้งฝ่ายCSR ที่ใช้งบประมาณเพื่อกิจกรรมของฝ่ายนี้ไปมากมาย แต่หากไม่มีความจริงใจ ปัญหาพื้นฐานนี้ก็ไม่ได้แก้ไข ความจริงใจนั้นมีความหมายลึกซึ้งมากกว่า การตั้งงบประมาณหลายล้านเข้าไปแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่เอาไปกองในชุมชนให้ชุมชนมีอิสระในการใช้จ่ายก็ตาม

ชาวบ้านระยองท่านหนึ่งกล่าวว่า คุณคะ…เงินล้านนั้นซื้อใจฉันไม่ได้ แม้ฉันจะต้องการเงินก็ตาม หากไม่มีความจริงใจเสียแล้ว ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข….

น่าเสียดายที่ฝ่าย CSR ของหน่วยงานที่มีมูลค่านับแสนล้านนั้น เข้าไม่ถึงจิตใจชุมชน..


Public Review

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 2, 2012 เวลา 13:21 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1528

ด้วยวัยวุฒิ และประสบการณ์ จึงถูกกำหนดให้เป็นผู้ดำเนินรายการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 67 (วรรค 2) และกฎหมายอื่นๆ ที่สอดคล้องกัน จริงๆในกลุ่มเพื่อนร่วมงานก็สามารถทำหน้าที่ บทบาทนี้ได้ แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นเขาเหล่านั้นอาจจะผ่านมาน้อยกว่า ระหว่างการดำเนินการอาจเกิดการเคลื่อนไหวที่รุนแรง เขาอาจจะไม่เชื่อใจตนเองว่าจะควบคุมได้อย่างไร เขาเลยมอบความไว้วางใจให้เรามาทำหน้าที่นี้

เราเรียก “การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเรื่อง….” กฎหมายปัจจุบันให้สิทธิประชาชนมาก ที่หน่วยงานที่มีกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงจะต้องทำการประชุมรับฟังความคิดเห็น… หากไม่ทำกิจกรรมนั้นๆก็ไม่ผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ.. ก็ไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการนั้นๆได้

จึงเป็นเวทีที่บังคับจะต้องทำซึ่งมีรายละเอียดมากที่จะต้องปฏิบัติตามมิให้บกพร่อง หากไม่เป็นไปตามข้อกำหนดนั้น แม้จะมีการประชุม.. และการประชุมเสร็จสิ้น แต่ไม่ครบเงื่อนไข ก็ไม่ผ่าน จะต้องจัดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งการจัดแต่ละครั้งนั้นใช้งบประมาณจำนวนมาก ใช้กำลังคนมาก เพราะต้องใช้แสงสีเสียง และกำลังคนรับผิดชอบทุกส่วนมิให้ขาดตกบกพร่อง

ผมไม่ใช่ “แม่งาน” แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานเป็นคนควบคุมเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด หากเกิดความรุนแรงขึ้นมาก็มีมาตรการจัดการที่เหมาะสม และใช้วิจารญาณจากประสบการณ์ตัดสินใจควบคุมให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย จึงเป็นบทบาทที่สำคัญที่เขามอบให้ผม เพราะมีหลายงานที่ฝ่ายข่าววิเคราะห์ว่าจะมีการประท้วง จะมีการต่อต้าน อาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการ ซึ่งก็มีจริงจากประสบการณ์ของกลุ่มงาน…

งานที่เพิ่งผ่านมาหยกๆนี้ เป็นหน่วยงานใหญ่มากๆ มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก และเป็นเป้าหมายของฝ่ายคัดค้าน เพราะประชาชนเคยได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ชีวิตและสิ่งแวดล้อมมาแล้ว และคาราคาซังกันมานาน เป็นคดีในศาลก็มี การจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย..จึงเป็นโอกาสตามกฎหมายที่ประชาชนเหล่านั้นจะเข้ามาพูด และแสดงออกซึ่งความเห็นของเขา จากบทเรียนของเขา จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของเขา

การประชุมเตรียมการเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้รัดกุมที่สุด เพื่อให้ดีที่สุดกับทุกฝ่ายโดยคาดการณ์ว่าจะมีชาวบ้านมาร่วม ประมาณ 2000 คน เพราะครั้งก่อนคาดการณ์ว่าจะมา 1000 แต่มาจริง 1800 กว่าคน เกิดปัญหากระทบมากมายต่อการเตรียมการที่ไม่พร้อม เช่นเอกสารแจกไม่พอ อาหารว่าง เครื่องดื่มไม่พอ อาหารกลางวันไม่พอ ขลุกขลัก ที่นั่งไม่พอ ซึ่งหน่วยงานที่ว่าจ้างไม่ชอบที่จะให้เกิดความไม่เพียงพอเช่นนั้น แบบ “เหลือได้แต่ห้ามขาด” การเตรียมการครั้งนี้จึงมโหฬารบานตะไท จ่ายไม่อั้น

โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือกับความรุนแรง ใช้กำลังมากมายทั้งตำรวจ และ รปภ. อปภร. และฝ่ายต่างๆระดมกันมาในรูปแบบต่างๆพร้อมที่จะปกป้องให้การดำเนินงานลุล่วงไปด้วยดี การตรวจสอบ การเชค การทดสอบ ล้วนใช้งบประมาณ ใช้เวลา ใช้กำลังคนมากมาย

เราก็พลอยตื่นเต้นตูมตามไปด้วย เพราะ ….ตรู..กำลังเผชิญหน้ากับอะไรหนอ…. และเราเป็นคนนอกที่ไม่รู้รายละเอียดเชิงลึกของพื้นที่ ของคน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของผู้ดำเนินการที่จะต้องทำหน้าที่ควบคุมด้วย เราจึงต้องหาข้อมูลให้มากที่สุดทั้งเอกสาร ตัวบุคคลเท่าที่จะหาได้

หกโมงเช้าทุกคนมาพร้อมที่สถานที่ดำเนินงาน พระออกบิณฑบาต หมอกจางๆกระจายไปทั่ว นกออกหากิน น้ำค้างบางๆรวมตัวกันเป็นหยดบนผิวใบไม้ริมถนน แม้ถนนก็ถูกจัดการทุกอย่างตามแผนงาน ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายตรวจสอบสิ่งที่เขารับผิดชอบ เครื่องมือ อุปกรณ์ทำงานไหม สิ่งของต่างๆวางในสถานที่ถูกต้องไหม work ไหม ระบบสื่อสารถูกเชค ฯลฯ

ตะวันแดงเริ่มโผล่ขอบฟ้าโน้น หมอกเมฆบดบังแล้วเคลื่อนตัวจางหายไป เสียงเรียกให้มากินข้าวห่อที่ตระเตรียมมาพร้อม เอาน้ำมาเสริฟแล้ว ต่างเชค ตรวจสอบในเรื่องที่ตัวเองรับผิดชอบกัน ผู้ว่าจ้างทยอยมาในรูปแบบต่างๆ กับต่างมองหน้ากันว่า เวลามาถึงแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหนอ…วิตกจริตจริงๆ

แปดโมงเศษ การลงทะเบียนเริ่มขึ้นแล้ว มีพนักงานของหน่วยงานผู้ว่าจ้าวทยอยมาลงทะเบียนแล้วกระจายไปนั่งในสถานที่ต่างๆในห้องเปิดที่มีเก้าอี้สองพันกว่าตัววางจัดระเบียบอย่างดี มีชาวบ้านสองสามคนมา เราเองเดินไปพิจารณามุมโน้นมุมนี้ของห้องเพื่อประเมินข้อบกพร่องที่อาจมี หรือมองแล้วเห็นแง่มุมอะไรบ้าง ก็ปรึกษาหารือกัน

แปดโมงครึ่ง ชาวบ้านมากันหนาตามากขึ้น ลงทะเบียน รับเอกสาร รับของว่าง น้ำดื่มติดมือมานั่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่พาไปนั่งตามบทบาทหน้าที่ที่เตรียมกันไว้

ผ่านเวลาทำพิธีเปิดไปแล้ว ประธานมาแล้ว แต่ชาวบ้านยังมาน้อยกว่าที่ควรเป็น เพราะมีผลบังคับเรื่องเวลา จึงต้องทำการเปิดการประชุม มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อจำนวนเวลาประชุมตามกฎหมายกำหนด ประธานพูดมากตามที่พวกเราเป็นห่วง เพราะคราวที่แล้วประธานพูดยาวเกินไป เกินเหตุ ชาวบ้านจึงลุกมาต่อต้านชี้หน้ากันกลางห้องประชุม ประธานแบบนี้แม้ว่าจะร้องขอท่าน ท่านก็ไม่สนใจ

เมื่อถึงเวลาบรรยายข้อมูลให้ที่ประชุมเพื่อประกอบความเห็นที่เขาอาจจะมีเกิดขึ้นก่อนเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นเห็นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมาแบบนัดหมายกันมา ถือป้ายต่อต้านมาด้วย แต่ตำรวจร้องขอให้เอาป้ายไว้ด้านนอก ไม่อนุญาตเอาเข้ามาในห้องประชุม

แล้วช่วงเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็มาถึง เราจัดระเบียบการพูดไว้โดยให้คิวตามลำดับ เราเป็นคนเชิญให้พูด โดยไม่จำกัดเวลาแต่ร้องขอให้กระชับ แล้วการแสดงความคิดเห็นก็พัฒนาความร้อนแรงขึ้นตามประเด็นที่ชาวบ้านมาพูด ตามน้ำเสียงและวิธีการพูด….มีเสียบปรบมือตอบรับบ้างเป็นครั้งคราว

แต่ชาวบ้านไม่ได้มามากตามที่คาดการณ์……….

คิวการพูดผ่านไปเรื่อยๆ เราเดินไปสังเกตมุมโน้นมุมนี้ แล้วก็ไปถามคุณยายคู่หนึ่งที่ท่านมาร่วมการประชุมนี้ด้วย

ไพศาล คุณยายครับพี่น้องชาวบ้านมากันน้อยจัง…

คุณยาย เออ..คุณ.. เมื่อสองวันก่อนฝนมันตก(เรานึกว่าแล้วเกี่ยวอย่างไร) วันนี้แดดออกดีเชียว ชาวบ้านก็รีบลงนาเกี่ยวข้าวน่ะซีคุณ…..

เท่านั้นเอง อ๋อ………..


 



Main: 0.033756017684937 sec
Sidebar: 0.03528618812561 sec