สวัสดีปีใหม่ลาน..อีก

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 30, 2009 เวลา 0:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1834

 

สวัสดีปีใหม่ลานปัญญา

ผมชอบรูปนี้..ก็มันชอบอ่ะ..

ให้ความรู้สึก ให้อารมณ์ ให้ความหมาย

ให้สำนึกดีดีครับ..

ภาพนี้อยู่ที่เส้นทางคำชะอี กับบัวขาวครับ


กาแฟ

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 29, 2009 เวลา 10:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2434


เพื่อนที่ทำงานคนหนึ่งติดกาแฟเย็นจากร้านขายกาแฟพวกนี้มาก ทุกวันหลังมื้อกลางวันแล้วเขาจะต้องหาเครื่องดื่มแบบนี้มาดูด

ผมรึครับ นานๆที ผมติดกาแฟสดที่บ้านมากกว่า อิอิ


ความงามของชนบท

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 29, 2009 เวลา 9:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2464

คนทำงานกับชนบทย่อมทราบดีว่า หลายเรื่องนั้นไม่ง่ายที่จะไปปรับแก้ให้ได้มาตรฐานแบบคนข้างนอกที่ปฏิบัติกัน เช่น ความสะอาด เวลาเราขึ้นบ้านชาวบ้าน เขาเอาแก้วน้ำมาให้เราดื่มน้ำ หรือเขาเทน้ำใส่แก้วให้เรา หลายคนต้องปฏิเสธพร้อมขอบอกขอบใจยกใหญ่ เบื้องหลังคือดื่มไม่ลง

รวมไปถึง จาน ชาม ช้อน เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ใช้แล้วก็แขวน ห้อยตามราวข้างบ้านเต็มไปหมด ดำปี๋ ยังไม่ได้ซัก ใครที่ไม่คุ้นเคยก็จะหลีกหนี ดีไม่ดีเลิกราไปเลยงานการแบบนี้ แบบรับไม่ได้..

โธ่..สิ่งแวดล้อมที่ต่างกันทั้งที่อยู่อาศัย งานการ อาชีพ ความเคยชิน โอกาส และการลำดับความสำคัญของงานที่จะทำ..ฯลฯ

ผมจึงคิดเสมอว่า ใน “บางเรื่อง” นั้น อย่าเอามาตรฐานคนนอกไปวัดชนบท แต่เอามาตรฐานชนบทวัดด้วยกันเอง แล้วค่อยๆยกระดับขึ้นมาเถอะ แต่เรื่องนี้ถกเถียงกันได้มากมาย….

อย่างไรก็ตามชนบทหลายแห่งสามารถพัฒนายกระดับให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงเมือง เช่น สังคมชุมชนที่เป็นคริสต์เตียน บาทหลวงท่านไปใช้ชีวิตที่นั่นเป็นสิบๆปีกว่าจะพัฒนาขึ้นมาได้ ท่านเอาชีวิตไปอยู่ด้วย เดินไปหาทุกวัน ปรับไปทีละนิดละหน่อย นานวันก็ได้ แต่พวกผม เข้าๆ ออกๆ ชนบทกับเมือง แค่ลมปากพูดสวยๆงามๆนั้น ชาวบ้านเขาฟังอยู่ แต่ลำดับงานของเขามีสิ่งอื่นสำคัญกว่า…

อย่างไรก็ตาม ทุกที่มีความสวยงามแฝงอยู่เสมอ

โดยเฉพาะน้ำใจ ความเอื้ออาทร การผ่อนผัน ยืดหยุ่น รักษาน้ำใจ ฯลฯที่เราเรียกทุนทางสังคมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเป็นแรงเกาะเกี่ยวให้ชุมชนเป็นชุมชน

ความจริงสังคมเมืองก็เคยมีเหล่านี้มาก่อน แต่มันหดหายไปพร้อมๆกับเทพเจ้าเงินตราเดินทางเข้ามาแทนที่การแลกเปลี่ยนกัน..

ดูค่อนข้างสกปรกข้างนอก แต่น้ำใจงามแบบชนบท อย่างรูปที่เห็นนั่น คือความสวยงามที่ได้จากพื้นที่ที่มีแต่กลิ่นเหงื่อไคล และฝุ่นละออง..ฯลฯ


ช่วงเวลาที่ดำมืดของดงหลวง….

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2009 เวลา 23:03 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2496

ผมมีงานที่จะต้องทำอยู่ชิ้นหนึ่งกับพี่น้องเครือข่ายไทบรู ดงหลวง คือการพูดคุยกันถึงเรื่องระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมแบบดงหลวง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเราจึงเชิญสมาชิกเครือข่ายไทบรูประมาณ 35 คนมา โดยเอาเวลาชาวบ้านเป็นหลักและเน้นสบายๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไรให้บรรยากาศเกร็งเกินไป


ผมถามชาวบ้านว่าใครอายุมากกว่า 55 ปียกมือขึ้น มี 16 คน นอกนั้นต่ำกว่า จึงให้น้องที่ทำงานแยกกลุ่มชาวบ้านนั้นออกไปนั่งใต้ต้นไม้ ที่มีกองฟาง จึงใช้มารองนั่งได้ น้องจะพูดคุยกับชาวบ้านในหัวข้อ ระบบการปลูกพืชในปัจจุบัน และวัฒนธรรม ประเพณีที่ยังปฏิบัติกันอยู่ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร


ส่วนผมนั้นอยู่กับกลุ่ม สว. คุยกันเรื่องพัฒนาการไทบรูในอดีตจนถึงปัจจุบัน และลงรายละเอียดแต่ละเรื่องเท่าที่เวลาจะอำนวย ความจริงเรื่องเหล่านี้เรามีข้อมูลอยู่แล้ว แต่การมาจัดพูดคุยกัน เพื่อ ตรวจสอบข้อมูล และเติมเต็มในส่วนที่เราต้องการเจาะลึกลงไป


บุคลากรในรูปนั้น อดีต คือ ทปท. หรือทหารปลดแอกประชาชนไทย บางคนมีตำแหน่งเป็นนายพัน ที่คุมงานสำคัญมาแล้ว บางคนเป็นฝ่ายเสบียง บางคนเป็นฝ่ายสร้างมวลชน บางคนเป็นผู้ผลิต บางคนเป็นหมอ ฯลฯ ล้วนทำหน้าที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาแล้วทั้งสิ้น..

บางตอนที่เราพูดคุยกันนั้น ผมสะอึก เหมือนมีอะไรจุกอยู่ที่ลำคอ

บางทราย: พี่น้องครับ ผมอยากเรียนรู้ว่าสมัยที่ท่านเข้าป่าไปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง…


พ่อสำบุญ: พ่อสำบุญพูดออกมาก่อนคนอื่นเลยว่า..อาจารย์ครับ ผมไม่อยากพูด มันยังแค้นอยู่….

บางทราย: ผมสังเกตใบหน้าพ่อสมบุญ นัยน์ตาท่านแดงกล่ำขึ้นมา..ผมตกใจเล็กๆ พยายามอธิบายว่า ผมไม่ต้องการรื้อฟื้น หรือไปสะกิดแผลใดๆให้บรรยากาศชุมชนเราเสียไป แต่เพียงผมอยากเรียนรู้ความเป็นไปของชุมชนนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากพ่อๆไม่สบายใจก็ไม่ต้อเล่าให้ฟังก็ได้ครับ..

พ่อสำบุญ: ผมจะเล่าให้ก็ได้….เราถูกทหารตำรวจกระทำเกินไป ญาติ พี่น้องของพวกเราถูกกระทำเกินไป ใช้อำนาจบาดใหญ่ปฏิบัติกับเราอย่างไม่ใช่คน ชีวิตเราอยู่กับป่า เมื่อว่างจากงานประจำเราก็เข้าป่าไปหาของป่ามากิน มาแบ่งปันกัน ทหารมาตั้งฐานที่อำเภอ แล้วสั่งให้ชาวบ้านทุกคนรายงานตัว แล้วใครจะเข้าป่าต้องไปเอาบัตรที่อำเภอก่อน ซึ่งจะให้บัตรประมาณเวลา เก้าโมงเช้า และจะต้องกลับจากป่าก่อนสี่โมงเย็น มิเช่นนั้นจะถูกสอบสวนและลงโทษรุนแรง

เพราะระยะนั้นมี บุคคลสำคัญของ พคท.มาอาศัยในป่าแล้ว ทหารทราบ และพยายามกันมิให้ชาวบ้านติดต่อ หรือสนับสนุน หากทหารสงสารใครก็จะลากตัวไป ชาวบ้านนั้นตั้งตัวไม่ติด ไม่ชินกับมาตรการต่างๆ ทำตัวไม่ถูก และมีพี่น้องจำนวนมากถูกลากตัวไปลงโทษอย่างรุนแรง ป่าเถื่อน เช่น เตะ เอาท้ายปืนตี หากใครไม่ยอมรับ มีหลายคนถูกจับขึงพืดกางแข้งกางขา โดยไม่มีเสื้อผ้าทั้งชายหญิง เอาไฟลนอวัยวะเพศ….

ครั้งหนึ่งที่บ้านก้านเหลืองดงมีงานวัด ตามประเพณีท้องถิ่น ทหารสั่งว่าใครจะไปเที่ยวงานกลางคืนต้องเอาไฟที่ทำเป็นคบเพลิงไปด้วย ผมก็ไปกับเพื่อนบ้านกันหลายคน เดินกันเป็นแถว คนเดินนำหน้ามีไฟ แต่คนสุดท้ายไม่มี มันเตะเสียข้อมือหักเลย….

มันอยากกินไก่ กินเป็ดก็เอาไปเฉยๆ กลางคืนมีไฟบนยอดเสาสว่าง มันก็เอาปืนยิงซะแตกละเอียดเลย ส้มสูกลูกไม้ มะละกอ มันก็เอาปืนยิงเอา

ที่ร้าย มันขึ้นบ้านไหน ลูกเมียใครหน้าตาดีดีมันก็เอาไปนอนด้วย สุดที่จะมีใครขัดขืนได้ บางคนมีญาติพี่น้องขัดขืนมันก็ยิงตายไปบ่อยๆ แล้วก็ออกข่าวว่าเป็นสายคอมมิวนิสต์ เวลามันจัดงานมันก็เอาพวกสาวๆในหมู่บ้าน เอาครู มาเสริฟอาหาร เหล้ายาปลาปิ้ง แล้วมันก็เอาไปนอนด้วย….

ใครบางคน: อาจารย์..พวกผมน่ะไม่รู้จักเลยว่าคอมมิวนิสต์มันเป็นอย่างไร แต่ที่เข้าป่าก็เพราะทนไม่ได้ต่อเรื่องเหล่านี้ บุคคลดังๆที่เป็นนักการเมืองทั้งเหลืองทั้งแดงนั้น เคยอยู่กับพวกเรามาแล้ว

พ่อสำบุญ: อาจารย์…. ผมสุดทนอีกต่อไป วันหนึ่งมีงานที่อำเภอ ผมนัดสหายป่าสามคน อาวุธครบมือ ปนมากับชาวบ้านเพื่อมาสังหารนายพันท่านนั้น…แต่แล้วบุญเขายังมีอยู่ วันนั้นเขาไม่มาในงาน…..

……

ช่วงที่เราออกจากป่ามาแล้ว ทางราชการจัดงานใหญ่ แล้วเอานายทหารท่านนั้นมา…เขามาขึ้นเวทีใหญ่ มากล่าวขอโทษ มากล่าวสำนึกการกระทำที่ผิดพลาดไปแล้ว นายทหารท่านนั้นร้องให้กลางเวที…

……

ผมปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปจนไม่ได้ควบคุมตามกำหนดการ ปล่อยให้ความพลั่งพรูของพี่น้องปลดปล่อยสิ่งดำมืดในอดีตออกมา

ก่อนที่เราจะหยุดพักกินข้าวกลางวันที่เป็นอาหารพื้นเมืองง่ายๆ ลาบหมู กับต้มไก่บ้าน ส้มตำ ข้าวเหนียวเยอะๆ ชาวบ้านต่างอิ่มหนำสำราญ..

ผมแอบไปนั่งทบทวนสิ่งที่ได้รับมาทั้งหมด.. ใจผมหลุดลอยเหมือนย้อนไปเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา…เห็นใบหน้าพี่น้องที่ดำกร้าน นัยน์ตาแสดงความรู้สึกที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

แต่วันนี้ เขาสลัดสิ่งเหล่านั้นไว้ในหลุมดำหมดแล้ว เขารวมกลุ่มกันใหม่ แต่เป็นกลุ่มเพื่อการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง ท่ามกลางกระแสทุนที่ยั่วยวนจิตใจเราให้คล้อยตามไปทุกวินาที

ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมพี่น้องบรู หรือไทโซ่ดงหลวง ผมมองตาท่านเหล่านั้น ผมสัมผัสเรื่องราวย้อนหลังไปได้มากกว่า 50 ปี…. ค่อยๆก้าวไปกันเถอะ

เราไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะมาเนรมิตใดๆ มีแต่ร่วมคิดร่วมทำ เราตระหนักพระราชดำริของในหลวงที่พระราชทานไว้ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา…”


Tsunami..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2009 เวลา 1:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2518

วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของการสัมมนาเรื่องตลาดชุมชน ที่ RDI จัดขึ้นที่โรงแรมกิมเจ็กซิน มุกดาหาร เราจึงเชิญกรรมการตลาดชุมชนทุกคน และข้าราชการจาก 4 จังหวัด ข้ามไปเยี่ยมท่านกงสุลใหญ่ประเทศไทยประจำแขวงสะหวันนะเขต


หลังจากรับฟังท่านกงสุลใหญ่กล่าวถึงระบบการค้าของไทยในแขวงนี้แล้ว ก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน หลังจากที่รับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ก็พาทีมงานทั้งหมดไปชมตลาดสิงค์โปร์ แล้วก็นั่งเรือข้ามกลับมาฝั่งมุกดาหาร

บ่ายมากแล้วเราส่งทุกคนเดินทางกลับแต่ละจังหวัด แล้วเราก็เข้าสำนักงาน ทันใดนั้นข่าวทางวิทยุก็ประกาศว่า คลื่นยักษ์ถล่มพังงา ภูเก็ต มีคนเสียชีวิตมากมาย….

วันนั้นเป็นวันที่ 26 ธันวาคม 2547 …..

ระลึกถึง Tsunami ด้วยความอาลัยโศกนาถกรรมอันยิ่งใหญ่ครั้งนั้น….

ขอดวงวิญญาณทุกท่านผู้ล่วงลับสู่สุคติเถิด….


พกพา….

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 24, 2009 เวลา 20:23 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1575


สยามคือชื่อของเขา พ่อเขาตั้งชื่อให้คราวสมัยที่อยู่ในป่า มาบัดนี้สยามโตเต็มที่เป็นหนุ่มกลัดมันเต็มตัว เขาชอบมาใกล้ชิดกับพวกเรา ให้ช่วยทำอะไรก็เอาทุกอย่าง อาว์เปลี่ยนเอามาเป็นลูกมือก็หลายครั้ง สยามก็ก้าวเข้ามาอย่างสนุกสนาน

ชาวบ้านไปไหนมาไหนก็มักติดมีดไปด้วย เผื่อใช้ประโยชน์ต่างๆที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ บางทีเราก็นึกไม่ถึงว่ามีกี่วิธีที่เขาจะพกพาเอามีดไปด้วย แม้จะดูหวาดเสียว ประสบการณ์ก็ช่วยให้เขาคุ้นกับสิ่งเหล่านี้ ก็อยากจะมีสิ่งป้องกันแต่ยังไม่ได้ทำ ก็เอาเท่าที่มีไปก่อน

เรียบง่ายดี..


ธงไตรรงค์ที่ดงหลวง..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 24, 2009 เวลา 15:43 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2192

ที่กระต๊อบของนรินทร์ ชายหนุ่มชาวโซ่ ที่มีความคิดดีดีมากมายแม้เขาจบเพียง ป 4 อยู่แต่ในป่าเขาอย่างดงหลวง แต่สำนึกของเราต่อความเป็นชาตินั้น ผมเคารพเขายิ่งนัก เขาไปซื้อธงไตรงค์มาแล้วเอามาปักไว้บนหลังคากระต๊อบของเขา..ไม่มีเสียงตะโกนเรียกร้องความเป็นธรรมจากปากของเขา ไม่มีเสียงก่นด่าผู้ปกครอง ไม่มีเสียงโจมตีพี่น้องร่วมชาติ เขาก็แค่ยกธงชาติขึ้นอยู่เหนือหัวของเขา…..


เราพบใครแบบปัจจุบันนั้น บางทีเราก็ต้องชะตาเลย แต่บางคนก็ หมั่นไส้เสียจริงๆ แต่แล้วอีตาคนที่เราหมั่นไส้นั้น เมื่อเรามีเวลาไปเรียนรู้พัฒนาการชีวิตของเขามาจนถึงปัจจุบัน ก็ อ๋อ…. และยอมรับเขามากขึ้น จนมากที่สุด และให้อภัยต่อพฤติกรรมที่เขาเป็นเช่นปัจจุบัน หรือ เข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไปของเขามากขึ้น เกิดการยอมรับ อาจเลยไปถึงศรัทธา ทึ่ง

เหมือนพ่อแม่เรา หากเรานั่งลงฟังท่านเล่าพัฒนาการชีวิตให้เราฟังอย่างละเอียด เราก็น้ำตาตกเหมือนกันว่า ท่านฝ่าฟันอุปสรรคมาได้อย่างไร ผ่านขวากหนามมาไม่รู้กว่ากี่ครั้ง รอดภัยพิบัติมาได้อย่างไร ใครบ้างที่พร้อมอุ้มชูพ่อแม่มา ใครที่เอื้ออาทร ผ่อนสั้นยาวให้กับวิกฤติต่างมา …..

การศึกษาพัฒนาการของสิ่งใดๆจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ในงานพัฒนาชนบทก็เช่นกัน การทำ PRA เราก็มี Session นี้ ศึกษาเขาให้เข้าใจที่มาที่ไปแล้วเราก็จะเข้าใจความเป็นชุมชนแห่งนั้นๆ ไม่เฉพาะชุมชนนั้นๆ ยังมีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ในมุมต่างๆกับชุมชนอื่นๆ ตัวบุคคล สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ สารพัดสิ่งที่ได้เข้าใจ ก็จากการศึกษาพัฒนาการสังคมชุมชนที่เราเรียกว่า Historical profile ส่วนมากก็เอาช่วงเวลา เช่น ปี พ.ศ. เป็นแกนกลาง บันทึกสิ่งสำคัญๆที่เกิดขึ้นมาให้เราเข้าใจ เมื่อเข้าใจก็วิเคราะห์อะไรต่อมิอะไรได้ มากมาย ในฐานะคนนอกก็ย่อมใช้กระบวนการเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการเข้าใจชุมชน

สังคมประเทศก็เช่นกัน หากเราไม่ศึกษาพัฒนาการของประเทศ มองแต่ปัจจุบัน เห็นแต่วัตถุ และสิ่งที่สังคมวิ่งตามหา เราก็พลาดพลั้งต่อสำนึกที่มีต่อสังคมประเทศ

กว่าจะมาเป็นชาติได้นั้น บรรพบุรุษของเราสละชีวิตไปมากมาย มหาศาล จนเราสามารถเดินบนแผ่นดินนี้ด้วยความสุข เดินบนความเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษ หลายต่อหลายครั้ง บทเรียนเหล่านั้นเราจดจำแค่เอาไปตอบข้อสอบครูเท่านั้นหรือ

คำถามใหญ่วันนี้คือ ทำไมเราจึงหันมาทำร้ายกันเอง


โซ่..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 23, 2009 เวลา 21:11 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1828

งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทรายที่ผมแบกภาระอยู่นั้นเป็นน้ำหนักที่อยู่บนบ่ามาตลอด เพราะไม่สามารถสร้างการบรรลุผลให้เกษตรกรมาใช้ประโยชน์ได้มากเท่าที่คาดการณ์ เราพยายามมาหลายปี จนอาว์เปลี่ยน(ปาลียน)เปลืองเนื้อเปลืองตัวไปก็มาก

การก้าวออกจากหลักการเดิมจึงเกิดขึ้น จาก contract farming เป็นการทดลองพืชพื้นๆที่ชาวบ้านคุ้นเคยมาก่อนแล้วนั่นคือ มันสำปะหลัง การวางแผนงานจึงเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวบรู หรือไทโซ่ 3 คนหนุ่ม และอีก 1 คนสูงอายุ 16 การทดลอง ทั้งชนิดของมันสำปะหลังและ experiment (ไม่ขอลงรายละเอียด)

เมื่อการทดลองสิ้นสุด เราก็เชิญผู้ร่วมการทดลอง และชาวบ้านเป้าหมายมาพูดคุยกันเพื่อเรียนรู้ ซักถามถึงผลที่เกิดขึ้นของการทดลองเป็นอย่างไร เพื่อให้ชาวบ้านที่สนใจเอาไปขยายการผลิตที่ลดต้นทุนแต่เพิ่มผลผลิตมากขึ้น

เราทำงานกับพี่น้องบรูมานานพอสมควร ทราบดีว่า อุปนิสัยของไทโซ่นั้นแตกต่างจากเกษตรกรอื่นๆต่างกรรมต่างวาระแตกต่างกัน

นายต๊อก อายุเป็นเยาวชนตอนปลาย มีครอบครัวแล้ว จบการศึกษา ป 4 เข้าร่วมการทดลองด้วยความสมัครใจ วันที่เราจัดเวทีสรุปบทเรียนนั้นเราเชิญท่านนายอำเภอดงหลวง เจ้าพนักงานพัฒนาที่ดิน และเจ้าพนักงานการเกษตรอำเภอ เพื่อให้ท่านเหล่านั้นมารับทราบและให้คำแนะนำ และนำผลไปเผยแพร่ต่อไปด้วยเราวางแผนไว้ว่าจะเชิญเกษตรกรทั้ง 4 คนมาเป็นวิทยากร

“เวลาของเรากับชาวบ้านนั้นต่างกัน” เมื่อถึงเวลาต่างทยอยมาแต่ไม่มีทางที่จะตรงกับเวลาตามกำหนดการ พอดีข้าราชการที่เราเชิญมานั้นท่านเข้าใจก็ไม่ได้ตำหนิ แต่อย่างใด

เมื่อถึงเวลาอันสมควร ปรากฏว่า นายต๊อก เชื้อคำฮดเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดลองไม่มาปรากฏตัว ยุ่งละหว่า น้องเรารีบขับรถวิ่งหาตัวกันใหญ่ นายต๊อกไปไหนนนนนนน…..

สักพักน้องเอาตัวนายต๊อกมาจนได้ แกยิ้มแหยๆ….

ผม : ถามว่าหายไปไหน ทำไมไม่มาร่วมสรุปบทเรียน

ต๊อก: ผมกลัวขึ้นเวที ผมไม่อยากขึ้นเวที ผมพูดไม่เก่ง..

ผม: ……?!?!?!……

การจัดเวทีสนทนาจึงดัดแปลงให้เรียบง่ายที่สุด เป็นการนั่งล้อมวง มีผมเป็นผู้กระตุ้น ซักถามประเด็นต่างๆ….

ข้าราชการที่มาร่วมงานต่างชื่นชมว่าเป็นการสรุปบทเรียนที่น่าสนใจ แม้เขาเองก็ได้เรียนรู้อีกหลายอย่างครับ…

หลังสิ้นสุดงานผมถามน้องว่า ไปหานายต๊อกได้ที่ไหน เขาตอบว่า โน้น…ชี้ไปที่ตีนภูเขา นายต๊อกแอบไปขุดมันสำปะหลังที่ตีนเขานั้น…

การทำงานกับชาวบ้านนั้น จะเอามาตรฐานข้างนอกไปใช้..ในบางพื้นที่นั้นจงใตร่ตรองให้หนัก


เมืองไทยใน AM

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 23, 2009 เวลา 13:55 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1713

เมื่อวานไปประสานงานกับ รพ.ดงหลวง เรื่องการขอคำแนะนำเอาผักปลอดสารพิษที่ชาวบ้านปลูกมาส่งที่ รพ. (รายละเอียดจะเขียนบันทึก)

ระหว่างทางกลับมุกดาหาร เปิดวิทยุ am พบคลื่นจากประเทศจีน พูดด้วยภาษาลาว กล่าวถึงเรื่องราวในเมืองไทยกรณีอดีตนายกกับท่านนายกปัจจุบัน สรุปว่า หากจะมีการเจรจาก็ต่อเมื่ออดีตนายกต้องยอมรับกติกาที่ศาลได้พิพากษาไปแล้ว คือมาติดคุกก่อนแล้วค่อยเจรจากัน..


น้ำคลอง สารส้ม คลอรีน

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 21, 2009 เวลา 0:20 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3254

เมื่อเด็กๆสมัย 2500-2509 จำได้ว่าเราตักน้ำจากลำแม่น้ำน้อยมาใส่ตุ่มแดงซึ่งเป็นตุ่มโบราณที่ใช้ดินเผาไม่ได้เคลือบ ส่วนตุ่มลายมังกรจากราชบุรีนั้นเคลือบ น้ำดื่มเราใช้น้ำฝนที่รองจากหลังคาบ้าน หากน้ำฝนที่ใช้ดื่มหมด ก็ดื่มน้ำจากลำแม่น้ำน้อยนี่แหละ แต่จะฆ่าเชื้อโรคด้วยผงคลอรีน และแกว่งสารส้มทิ้งให้ตกตะกอนแล้วก็ใส่สายยางดูดเอาตะกอนทิ้งไป ก็จะเหลือน้ำใสๆ ทิ้งไว้นานๆกลิ่นคลอรีนก็หายไป ใช้ดื่มได้ เวลาเราจะซักเสื้อผ้าช่วงวันหยุดนั้นก็เอาถังใบใหญ่ๆไปตั้งริมตลิ่ง ตักน้ำแม่น้ำมาใส่ แกว่งสารส้ม เมื่อใสก็เอาน้ำในถังนั้นไปซักเสื้อผ้า

หากจะพูดถึงสิ่งแวดล้อมสกปรกนั้น มีตัวชี้วัดหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ความสกปรกของแม่น้ำลำคลอง ก็ตั้งแต่ความทันสมัยเข้ามา การปฏิบัติเขียวแพร่เข้ามาเมืองไทย นี่แหละ ชาวบ้านชาวช่องไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ภาครัฐนั่นแหละที่เป็นผู้ชักนำเข้ามา

คิดๆไปรัฐบาลโดยนักวิชาการเองก็ไม่ได้คิดว่าสักวันหนึ่งสิ่งที่เรียกว่าทันสมัยนั้นจะส่งผลร้ายต่อบ้านต่อเมืองเรา มันเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเขียว เอ…เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินคำนี้มานานแล้ว เด็กรุ่นใหม่คงไม่ทราบแล้วว่า การปฏิวัติเขียวคืออะไร พาลจะนึกไปถึงคนสีเขียวเอารถถังเอาปืนออกมาปฏิวัติรัฐประหารบ้านเมืองเอารึไง..ไม่ช่าย..

ใครไม่รู้จักการปฏิวัติเขียวก็ลองเข้าไปดู ที่นี่ ตำบลม่วงเตี้ย อ.วิเศษชัยชาญนั้นเป็นทุ่งนากว้างขวาง สุดลุกตา เมื่อเขื่อนเจ้าพระยาสร้างเสร็จเขาก็ทำคลองชลประทานเลาะสองฝั่งเจ้าพระยา ฝั่งขวาก็เป็นโครงการบรมธาตุ เลาะแม่น้ำน้อย ผ่าน อ.โพธิ์ทอง อ.วิเศษชัยชาญ ไป อ.ผักไห่ ครอบคลุมพื้นที่นากว้างขวางมาก


ที่บ้านผมนั้น พ่อแม้จะเป็นครูแต่ก็ทำนากับแม่ด้วย ได้รับคำแนะนำว่าให้ร่วมทำการทดลองการใช้ข้าวพันธุ์ใหม่มาจาก “สถาบันข้าว” จากฟิลิปปินส์ ที่เรียก IRRI (International Rice Research Institute)และพันธุ์ข้าวที่เอามาทดแทนสมัยนั้นเรียกพันธุ์ IR-8 เป็นนาดำ ทั้งๆที่ทุ่งนาทั้งหมดทำนาหว่านมาเป็นร้อยๆปี เมื่อมีระบบชลประทานก็ได้รับคำแนะนำให้ทำนาดำ ใช้ข้าวพันธุ์ใหม่
ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์

พ่อก็ลองทำตามนักวิชาการ เอาปุ๋ยวิทยาศาสตร์ใส่เข้าไป เราพบว่าวัชพืชขึ้นเต็มไปหมด เช่น “ต้นซิ่ง” ต้องซื้อยาปราบมาพ่นใบ ยาที่พ่นก็ต้องใส่ผงซักฟอกลงไปด้วยเพื่อวัตถุประสงค์ให้จับใบพืชชนิดนี้ ปรากฏว่า ปูปลา และสัตว์น้ำตายเกลื่อนไปหมด เนื่องจากเป็นยุคแรกๆของการใช้ปุ๋ยเคมี และยาปราบวัชพืช การระมัดระวังสารเคมียังทำกันอย่างหยาบๆ ต่างก็มีอาการปวดหัว มึนชากันมากบ้างน้อยบ้าง..

ในที่สุดหลายปีต่อมา ราชการก็เอาพันธุ์ข้าว IR-8 ที่พัฒนาขึ้นไปอีกที่เรียก ข้าว กข. เบอร์ต่างๆมาแลกพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจนหมดเกลี้ยง
จนลืมไปหมดแล้วว่า พันธุ์ข้าวท้องถิ่น พื้นบ้านนั้นมีชื่ออะไรบ้าง ต้องกลับไปถามแม่… หลายปีต่อมาก็มีข่าวคนบ้านโน้นตาย คนบ้านนี้ป่วยอันเนื่องมาจากสารเคมีจากยาปราบศัตรูพืช สัตว์ต่างๆนั่นแหละ

สมัยนี้ไม่มีใครเอาน้ำแม่น้ำน้อยมาใช้ดื่มเหมือนอย่างที่เคยทำต่อไปแล้ว ใช้น้ำกรอง ใช้น้ำบาดาล หรือบางคนก็ซื้อจากโรงผลิตน้ำขายแล้ว

ตอนที่ทำงานที่สำนักงานเกษตรภาคอีสาน มีการศึกษาว่า “บ่อน้ำส้าง” หรือบ่อน้ำตื้นที่ชาวอีสานนิยมขุดแล้วเอาน้ำจากบ่อนี้ไปดื่มไปใช้กันนั้น ปนเปื้อนสารเคมีเกินกว่ามาตรฐาน ทางราชการต้องสั่งปิดบ่อ แต่กว่าจะสั่งปิดก็ดื่มกันมาหลายปีแล้ว และราชการก็มิได้สำรวจแหล่งน้ำดื่มประเภทนี้ทุกบ่อในอีสาน…??

นับวันมลภาวะจะมีมากขึ้น รอบตัวทั้งที่รู้จักและป้องกันได้ และที่ไม่รู้จักและไม่ได้ป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บแปลกๆใหม่ๆก็เกิดขึ้นมากมาย หมอตามไม่ทันแล้ว

อย่างน้อยงานที่ทำที่ดงหลวงก็พยายามสร้างสำนึกชาวบ้านให้ลดละเลิกสารเคมีได้มากขึ้นทุกปี คนที่ทำอย่างได้ผลที่สุดคือ พนักงานขับรถของผมชื่อ พิลา ครับ ปีนี้เป็นปีที่สองที่เขาผลิตข้าวอินทรีย์ และญาติพี่น้องเริ่มทำตาม เพื่อนบ้านต่างมาชื่นชม มาขอหยิบจับข้าวอินทรีย์ ต่างกล่าวว่า “เมล็ดสวยและน้ำหนักดี” พิลาใช้สูตรน้ำหมักหลายสูตร เพราะเขาเองก็ทดลองไปเรื่อยๆ ส่วนมากเป็นหอยเชอร์รี่หมัก และฉี่วัวหมัก พ่นฉีดใบต้นข้าว

ปีนี้ การทดลองมันสำปะหลังอินทรีย์ที่บ้านพังแดงได้ผล จาก 2-3 ตันต่อไร่เป็น 9-10 ตันต่อไร่ พิลาบอกพ่อตาว่าจะทดลองแปลงมันสำปะหลังเพิ่มอีกสักสองไร่..

งานพัฒนาฅน ใช้เวลานาน แต่ลึกๆเราก็หวังว่าสักวันหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีนั้นจะเกิด Critical Mass ขึ้น และวันนั้นจะไม่มีสารเคมีในท้องทุ่งอีกต่อไป มีแต่สารชีวภาพ…




Main: 0.14041090011597 sec
Sidebar: 0.072824001312256 sec