น้ำคลอง สารส้ม คลอรีน
เมื่อเด็กๆสมัย 2500-2509 จำได้ว่าเราตักน้ำจากลำแม่น้ำน้อยมาใส่ตุ่มแดงซึ่งเป็นตุ่มโบราณที่ใช้ดินเผาไม่ได้เคลือบ ส่วนตุ่มลายมังกรจากราชบุรีนั้นเคลือบ น้ำดื่มเราใช้น้ำฝนที่รองจากหลังคาบ้าน หากน้ำฝนที่ใช้ดื่มหมด ก็ดื่มน้ำจากลำแม่น้ำน้อยนี่แหละ แต่จะฆ่าเชื้อโรคด้วยผงคลอรีน และแกว่งสารส้มทิ้งให้ตกตะกอนแล้วก็ใส่สายยางดูดเอาตะกอนทิ้งไป ก็จะเหลือน้ำใสๆ ทิ้งไว้นานๆกลิ่นคลอรีนก็หายไป ใช้ดื่มได้ เวลาเราจะซักเสื้อผ้าช่วงวันหยุดนั้นก็เอาถังใบใหญ่ๆไปตั้งริมตลิ่ง ตักน้ำแม่น้ำมาใส่ แกว่งสารส้ม เมื่อใสก็เอาน้ำในถังนั้นไปซักเสื้อผ้า
หากจะพูดถึงสิ่งแวดล้อมสกปรกนั้น มีตัวชี้วัดหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ความสกปรกของแม่น้ำลำคลอง ก็ตั้งแต่ความทันสมัยเข้ามา การปฏิบัติเขียวแพร่เข้ามาเมืองไทย นี่แหละ ชาวบ้านชาวช่องไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ภาครัฐนั่นแหละที่เป็นผู้ชักนำเข้ามา
คิดๆไปรัฐบาลโดยนักวิชาการเองก็ไม่ได้คิดว่าสักวันหนึ่งสิ่งที่เรียกว่าทันสมัยนั้นจะส่งผลร้ายต่อบ้านต่อเมืองเรา มันเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเขียว เอ…เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินคำนี้มานานแล้ว เด็กรุ่นใหม่คงไม่ทราบแล้วว่า การปฏิวัติเขียวคืออะไร พาลจะนึกไปถึงคนสีเขียวเอารถถังเอาปืนออกมาปฏิวัติรัฐประหารบ้านเมืองเอารึไง..ไม่ช่าย..
ใครไม่รู้จักการปฏิวัติเขียวก็ลองเข้าไปดู ที่นี่ ตำบลม่วงเตี้ย อ.วิเศษชัยชาญนั้นเป็นทุ่งนากว้างขวาง สุดลุกตา เมื่อเขื่อนเจ้าพระยาสร้างเสร็จเขาก็ทำคลองชลประทานเลาะสองฝั่งเจ้าพระยา ฝั่งขวาก็เป็นโครงการบรมธาตุ เลาะแม่น้ำน้อย ผ่าน อ.โพธิ์ทอง อ.วิเศษชัยชาญ ไป อ.ผักไห่ ครอบคลุมพื้นที่นากว้างขวางมาก
ที่บ้านผมนั้น พ่อแม้จะเป็นครูแต่ก็ทำนากับแม่ด้วย ได้รับคำแนะนำว่าให้ร่วมทำการทดลองการใช้ข้าวพันธุ์ใหม่มาจาก “สถาบันข้าว” จากฟิลิปปินส์ ที่เรียก IRRI (International Rice Research Institute)และพันธุ์ข้าวที่เอามาทดแทนสมัยนั้นเรียกพันธุ์ IR-8 เป็นนาดำ ทั้งๆที่ทุ่งนาทั้งหมดทำนาหว่านมาเป็นร้อยๆปี เมื่อมีระบบชลประทานก็ได้รับคำแนะนำให้ทำนาดำ ใช้ข้าวพันธุ์ใหม่
ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์
พ่อก็ลองทำตามนักวิชาการ เอาปุ๋ยวิทยาศาสตร์ใส่เข้าไป เราพบว่าวัชพืชขึ้นเต็มไปหมด เช่น “ต้นซิ่ง” ต้องซื้อยาปราบมาพ่นใบ ยาที่พ่นก็ต้องใส่ผงซักฟอกลงไปด้วยเพื่อวัตถุประสงค์ให้จับใบพืชชนิดนี้ ปรากฏว่า ปูปลา และสัตว์น้ำตายเกลื่อนไปหมด เนื่องจากเป็นยุคแรกๆของการใช้ปุ๋ยเคมี และยาปราบวัชพืช การระมัดระวังสารเคมียังทำกันอย่างหยาบๆ ต่างก็มีอาการปวดหัว มึนชากันมากบ้างน้อยบ้าง..
ในที่สุดหลายปีต่อมา ราชการก็เอาพันธุ์ข้าว IR-8 ที่พัฒนาขึ้นไปอีกที่เรียก ข้าว กข. เบอร์ต่างๆมาแลกพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจนหมดเกลี้ยง
จนลืมไปหมดแล้วว่า พันธุ์ข้าวท้องถิ่น พื้นบ้านนั้นมีชื่ออะไรบ้าง ต้องกลับไปถามแม่… หลายปีต่อมาก็มีข่าวคนบ้านโน้นตาย คนบ้านนี้ป่วยอันเนื่องมาจากสารเคมีจากยาปราบศัตรูพืช สัตว์ต่างๆนั่นแหละ
สมัยนี้ไม่มีใครเอาน้ำแม่น้ำน้อยมาใช้ดื่มเหมือนอย่างที่เคยทำต่อไปแล้ว ใช้น้ำกรอง ใช้น้ำบาดาล หรือบางคนก็ซื้อจากโรงผลิตน้ำขายแล้ว
ตอนที่ทำงานที่สำนักงานเกษตรภาคอีสาน มีการศึกษาว่า “บ่อน้ำส้าง” หรือบ่อน้ำตื้นที่ชาวอีสานนิยมขุดแล้วเอาน้ำจากบ่อนี้ไปดื่มไปใช้กันนั้น ปนเปื้อนสารเคมีเกินกว่ามาตรฐาน ทางราชการต้องสั่งปิดบ่อ แต่กว่าจะสั่งปิดก็ดื่มกันมาหลายปีแล้ว และราชการก็มิได้สำรวจแหล่งน้ำดื่มประเภทนี้ทุกบ่อในอีสาน…??
นับวันมลภาวะจะมีมากขึ้น รอบตัวทั้งที่รู้จักและป้องกันได้ และที่ไม่รู้จักและไม่ได้ป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บแปลกๆใหม่ๆก็เกิดขึ้นมากมาย หมอตามไม่ทันแล้ว
อย่างน้อยงานที่ทำที่ดงหลวงก็พยายามสร้างสำนึกชาวบ้านให้ลดละเลิกสารเคมีได้มากขึ้นทุกปี คนที่ทำอย่างได้ผลที่สุดคือ พนักงานขับรถของผมชื่อ พิลา ครับ ปีนี้เป็นปีที่สองที่เขาผลิตข้าวอินทรีย์ และญาติพี่น้องเริ่มทำตาม เพื่อนบ้านต่างมาชื่นชม มาขอหยิบจับข้าวอินทรีย์ ต่างกล่าวว่า “เมล็ดสวยและน้ำหนักดี” พิลาใช้สูตรน้ำหมักหลายสูตร เพราะเขาเองก็ทดลองไปเรื่อยๆ ส่วนมากเป็นหอยเชอร์รี่หมัก และฉี่วัวหมัก พ่นฉีดใบต้นข้าว
ปีนี้ การทดลองมันสำปะหลังอินทรีย์ที่บ้านพังแดงได้ผล จาก 2-3 ตันต่อไร่เป็น 9-10 ตันต่อไร่ พิลาบอกพ่อตาว่าจะทดลองแปลงมันสำปะหลังเพิ่มอีกสักสองไร่..
งานพัฒนาฅน ใช้เวลานาน แต่ลึกๆเราก็หวังว่าสักวันหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีนั้นจะเกิด Critical Mass ขึ้น และวันนั้นจะไม่มีสารเคมีในท้องทุ่งอีกต่อไป มีแต่สารชีวภาพ…