เปลือก.. กับกระโถน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 29, 2009 เวลา 18:29 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 1573

ตั้งใจจะบันทึกเรื่องราวทำนองนี้ไว้นานแล้ว จะ จะ อยู่นั่นแหละ วันนี้ขอหยุดงานหลักมาเขียนบันทึกนี่ซะหน่อย

ก็คราวที่นานใหญ่ไปดูงานสนามเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี่แหละทำให้จำต้องบันทึกเรื่องนี้ไว้ เดี๋ยวจะผ่านไปอีก อิอิ

เรื่องของเรื่องก็คือ การรับนายใหญ่นั้นเราก็เชิญผู้นำชาวบ้านมาพบด้วยเผื่อท่านทั้งหลายอยากคุยกับชาวบ้านก็พร้อมที่จะให้พบกับชาวบ้าน มาประมาณ 10 คน ในระหว่างที่คุยกันเรื่องทรายถมทับหัวสูบ ก็มีหัวหน้างานคนหนึ่งเดินไปคุยกับชาวบ้านสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้แหละ แล้วก็เดินกลับไปวงคุยกันนั้น สักพักก็รายงานนายใหญ่ว่า ชาวบ้านให้น้ำพืชโดย flooding หรือปล่อยให้ไหลไปตามลาดเอียงของพื้นที่ให้ท่วมร่องน้ำ และบอกด้วยว่า ข้างปลายท่อไม่ได้น้ำ….

ผมเดาออกเลยว่าทั้งหมดนั้นชาวบ้านหมายถึงอะไร แต่คนที่มาฟังเดี๋ยวเดียวโดยไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดนั้นฟังแล้วเข้าใจว่าอย่างไร ผมทำงานระบบ On farm มาก่อนกับพื้นที่ชลประทานที่เขื่อนลำปาวกาฬสินธุ์ และอีก 6 เขื่อนขนาดกลางในอีสานในโครงการ NEWMASIP จึงทราบรายละเอียดพวกนี้ดี ผมทำงานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ออกไปประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเอง จึงรู้ว่าวิธีการจัดสรรน้ำนั้นทำอย่างไร ใครควรได้ก่อนหลังทั้งตามหลักชลประทาน และตามหลักการพัฒนาชุมชน

แต่ท่านหัวหน้าที่ไปสอบถามชาวบ้านมานั้นเป็นวิศวกรโยธา ไม่เข้าใจความหมาย และรายละเอียดของพื้นที่ และเดาใจชาวบ้านไม่ออกว่าที่เขาพูดถึงนั้นพุ่งเป้าไปที่ไหน สิ่งเหล่านี้หากไม่ได้คลุกคลีกับชาวบ้านแล้วจะตีความหมายคำพูดของชาวบ้านผิดเพี้ยนไปได้

หลักจากที่หัวหน้าท่านนั้นรายงาน ผมเห็นสีหน้าของนายใหญ่ไม่ค่อยดี ซึ่งพอเดาใจได้ว่าท่านคิดอะไร

หากเราดูระบบราชการที่ทำงานกับชนบทนั้นต่างจากระบบ NGO ที่ทำงาน คือ ราชการนั้นจะเน้นงานสำนักงานเป็นหลัก ใช้วิธีสั่งการลงไป เมื่อถึงคราวที่จะต้องลงไปในพื้นที่ก็ลง และเมื่อเสร็จก็กลับ จนกว่าจะมีกิจกรรมใหม่ก็ลงไปอีก….แบบเข้าชนบทเฉพาะกิจกรรมแล้วออก แต่ระบบงาน NGO นั้นการทำงานกับการคลุกคลีชาวบ้านเกือบแยกกันไม่ออก เพราะทุกอย่างเป็นงานและเป็นการชวนคุยธรรมดา ให้เวลากับชาวบ้านมากฯลฯ จึงมีความเข้าใจมากกว่า สนิทสนมกับชาวบ้านมากกว่า ลงลึกมากกว่า ชาวบ้านให้ความเปิดเผยมากกว่า (แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมดนะครับ ดีดีก็มีเยอะไป)

ยิ่งมาแบบฉาบฉวย ชาวบ้านจะพูดเพื่อเปิดโอกาสรอประโยชน์ที่อยากได้รับ… ซึ่งก็เป็นค่านิยม เป็นสิทธิ เป็นความหวังของเขา และหลายแห่งราชการ ให้เสียจนชินเหมือนกัน ดงหลวงก็เหมือนกัน หลังจากที่เขาออกจากป่า ราชการก็อยากดึงเขาเข้ามาเป็นคนไทยที่ไม่มีความต่างทางความเชื่อทางการเมือง จึงทุ่มเทการให้ต่างๆมากมาย แม้ปัจจุบันเขาก็เผลอขอเราเฉยๆก็บ่อย…เผื่อเราใจอ่อนให้… ซึ่งเราก็ให้ แต่ให้ของเรามีเงื่อนไข มีความเข้าใจลึกๆถึงคนนั้น ครอบครัวนั้นมากกว่า ให้แบบคนนอกที่ไม่เข้าใจรายละเอียด

อย่างเช่น เกษตรกรคนหนึ่งเป็นคนขยัน มีพื้นที่ทำกินอยู่นอกโครงการสูบน้ำ แต่ติดขอบพื้นที่รับน้ำ เขาอยากเพาะปลูกพืชนั่นพืชนี่ตามที่เราแนะนำเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการ แกก็ปลูก ก็ทำ โดยพยายามลงทุนต่อท่อจากหัวจ่ายข้ามถนนไปพื้นที่แกจนได้ และก็ประสบผลสำเร็จด้วย เราส่งเสริมอะไร เอาด้วยหมด ไปทุกครั้งก็บ่นว่า “พวกที่มีที่ดินในพื้นที่รับน้ำไม่ทำการเพาะปลูกกัน ผมไม่ได้รับน้ำแต่อยากปลูก” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เกษตรกรท่านนี้พูดมาก เรียกร้องตลอด และแอบทำการทดลองเอง ตามความคิดความเชื่อของตนเอง ทั้งได้ผลและล้มเหลว

ท่านที่มาจากกรุงเทพฯรับฟังชายคนนี้มาแบบคนนอก ที่ไม่เข้าใจก็รายงานนายใหญ่ หากเราจะแจ้งข้อเท็จจริงก็จะหน้าแตกกันยับเยิน เราถือคติให้อภัยเขาเถอะ…. จึงยอมเป็นกระโถน..

ผมหละฝืนๆความรู้สึกจริง ต่อผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางโครงการที่ผมทำอยู่ เพราะท่านเหล่านั้นมาใหม่ และออกพื้นที่เฉพาะเรื่อง เมื่อออกทำกิจกรรมเสร็จก็กลับ แต่คนที่จังหวัด เดินทางไปมาหาสู่ ไม่มีกิจกรรมก็เยี่ยมเยือน ไปเรื่องอื่น แต่ผ่านหน้าบ้านก็แวะทักทายกัน

เรื่องเหล่านี้เป็นวิถีงานชุมชนที่ต้องทำ แล้วความสนิทสนม ใกล้ชิดเกิดขึ้น เมื่อคนเราใกล้ชิดกัน อะไรอะไรก็ง่าย พูดจากันก็ง่าย เพราะเข้าใจกัน เห็นกันและกันทั้งหมด การทำอะไรก็เปิดเผยจริงใจเข้าหากัน ตรงข้ามการทำงานแบบ เช้าไปเย็นกลับ ไปเช้าวันนี้กลับเย็นพรุ่งนี้ แต่อีกครึ่งค่อนเดือนหรือมากกว่านั้นไปอีกที..มันขาดมิติความสนิทสนมกัน เมื่อขาดตรงนี้ ก็ขาดพื้นฐานการทำงานกับคนชนบท

หากมากไปกว่านี้ก็จะเป็นที่ฝรั่งกล่าวว่า Tourism Development ไป


Fuse

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 28, 2009 เวลา 22:26 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1854

เบอร์หนึ่งของหน่วยงานไปเยี่ยมพื้นที่ ก็มีการเตรียมงานกันพอสมควร สำหรับผมนั้นเฉยๆเพราะไม่ใช่ข้าราชการจึงพร้อมที่จะเผชิญของจริง และก็เผชิญจริงๆ…

หนึ่ง: ก่อนมาก็มีคนส่วนกลางส่งข่าวมาสองสามครั้ง จะเอาข้อมูลเรื่องนั้นเรื่องนี้ แค่แผนที่เข้าพื้นที่ก็ทำให้ถึงสามแบบสามครั้ง ทั้งแบบ Google ที่เป็น satellite ทั้งแบบ map แบบวาดจำลอง ไม่เอาจะเอาตามตัวอย่างที่ส่งมา โธ่หนังสือแผนที่ก็มี เสียเวลากับแค่ทำแผนที่นี่มากมายไร้ประโยชน์ เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่ได้ใช้แผนที่ที่สั่งการมา เพราะมีคนเจ้าถิ่นนั่งรถไปด้วย รู้ทั้งรู้ว่าต้องมีคนนั่งไปด้วย ทุกอย่างต้องป้อนให้นาย โดยการสั่งการให้ลูกน้องทำแทบตาย…นี่คือระบบราชการ

สอง: เบอร์หนึ่งมาคนเดียว ผู้ติดตามสี่สิบห้าคน ล้วนใหญ่โตทั้งนั้น เป็นการเดินทางที่เทอะทะ ใหญ่โตเกินเหตุ สิ้นเปลือง …นี่คือระบบ..red tape

สาม: ลงเครื่องที่อุบล มาถึงมุกบ่าย 5 เข้าร้านอาหารเวียตนาม กินของเล่นก่อน แล้วประชุม 6 โมงกำหนดการต้องเลิก 2 ทุ่ม ทั้ง 4 จังหวัดต้องนำเสนองานแบบรีบเร่ง ตัดสาระออกให้ได้เวลาที่กำหนด แต่ละจังหวัดเตรียมนำเสนอกันไม่ต่ำกว่า 30 นาทีพร้อมเอกสาร ในที่สุดก็จบลงที่ สองทุ่ม ทานอาหารมื้อค่ำกัน แล้วแยกย้ายกันไปพักผ่อน ….นี่คือการมาดูงาน

สี่: ขบวนแวะที่สำนักงาน เดินชมสถานที่ ถ่ายรูป แล้วเดินทางต่อ ท่านผู้ใหญ่รองลงมาจากเบอร์หนึ่งบอกให้เรานั่งไปกับเบอร์หนึ่ง นั่งคู่กับเบอร์สองเพื่ออธิบายให้ท่านทราบถึงโครงการ ท่านเบอร์สองก็ทำหน้าที่ซักเราให้ท่านเบอร์หนึ่งได้ยิน เราก็เล่าให้ฟังทั้งหมด ท่านเบอร์สองก็ถามสารพัดพร้อมแสดงความเห็นต่องานที่ทำตามมุมของท่านที่มีประสบการณ์มา แต่ท่านเบอร์หนึ่งนั่งหลับอยู่ข้างหน้า..?

ห้า: พาท่านลงไปที่อาคารสูบน้ำของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า อธิบายสั้นๆแล้วก็ตรงเข้าประเด็นปัญหา แค่ประเด็นแรกเท่านั้นเอง เราเรียนท่านว่า ปัญหาที่พบตลอดมาทุกปีคือทรายมาถมทับหัวสูบน้ำ ต้องเกณฑ์ชาวบ้านมาขุดลอกซึ่งปริมาณมากต้องใช้เวลา 3 วันแรงงาน ประมาณ 25 คน

เท่านั้นเอง ท่านเรียกวิศวกรมาถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร วิศวกรเตรียมเรื่องนี้มาเสนอท่านอยู่แล้วก็กางแบบแปลนที่เตรียมมา…ใช้วิธีเอาน้ำในถังเก็บข้างบนมาพ่นใส่ทรายให้ฟุ้งแล้วดูดเอาออกไป…ด้วยปริมาณน้ำ…ลบม. เฮด เท่ากับ 30 บีบท่อให้เล็กลงมาเหลือ 4 นิ้ว แล้วบีบลงอีก…ติดหัวพ่น แล้วมีตัวดูดออก….

คุณมีตัวอย่างความสำเร็จวิธีการนี้ไหม….ไม่มีครับ..???!!! อ้าวแล้วคุณมั่นใจได้อย่างไรว่าวิธีนี้จะใช้ได้ที่นี่

มีวิธีอื่นไหม…ท่านผอ.กอง…..มีครับ คือผมเคยใช้ระบบปิด..ฯ…..

ใช้เวลาถกเรื่องนี้มากกว่า 45 นาทีเลยไม่ได้ไปดูพื้นที่ตรงอื่นเลย ในที่สุด ข้าราชการคนหนึ่งบอกว่า ไหนลองติดเครื่องสูบน้ำดูซิ

ผมรายงานฉะฉานว่าติดเครื่องไม่ได้ครับ เพราะมีปัญหาระบบไฟฟ้า…???!!! เป็นมากี่วันแล้ว ผมตอบสามวันมาแล้วครับ แล้วแก้ไขอย่างไร… ก็ต้องติดต่อตัวแทนบริษัทที่กรุงเทพฯให้ส่งช่างชำนาญการเรื่องนี้มาทำ แล้วจะมาเมื่อไหร่…

วุ้ย…..ตูจะบ้าตายมาบีบคั้นเอาคำตอบเบ็ดเสร็จกันตรงนี้เลยหรือ ก็เขายังไม่ตอบมาว่าจะมาเมื่อไหร่..เพราะเรื่องมันเพิ่งเกิดเราก็พยายามเต็มที่ เราทำงานมาเรารู้ดีว่าปัญหานี้เดือดร้อนถึงชาวบ้าน หากระบบเสียหาย ก็กระทบถึงชาวบ้านแน่นอน เราก็ถึงกับคิดระงับการผลิตพืชฤดูแล้งปีนี้ด้วยซ้ำไป..เพราะปัญหาระบบสูบน้ำไม่ร้อยเปอร์เซนต์

แต่ก็รับปากว่าจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ภายในสัปดาห์หน้า… ท่านบอกว่า “ผมจะมาดูสัปดาห์หน้า”...โอ้โฮ ดีจริงๆ นายใหญ่จะเข้ามาดูอีก..

ในที่สุดคณะที่นั่งรถยาวเหยียดก็ออกจากพื้นที่โครงการไปสกลนครต่อไป..

หก: เรารีบกลับลงไปที่อาคารสูบน้ำ เรียกเจ้าหน้าที่ทุกคนมาแล้วตรวจสอบซิว่าที่บอกว่าจะลองเปลี่ยน Fuse ระบบดูนั้นทำไมไม่ทำ…คำตอบคือ หากล่อง Fuse สำรองไม่พบ เ..ว…ร..เอ้ย…

หาจนพบ ลองเปลี่ยนแล้วลองทดสอบติดเครื่องดู พบว่า เครื่องก็ไม่ทำงาน เอางี้ เข้าเมืองมุกดาหาร ไปซื้อ fuse มาใหม่ทั้งหมด ใช้ 17 ตัว เอา fuse นี้ไปด้วย ระยะทาง 60 กม. มาถึงตัวเมืองมุกดาหาร ไปหาร้านไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดสามร้าน ไม่มี fuse ขนาด 4 A ….เวรเอ้ย… เอ้างั้นตรวจสอบซิว่า fuse ที่เอามาด้วยนี้อันไหนเสียบ้าง พบว่าไม่เสียซักอัน งั้นหันหัวรถกลับไปดงหลวงใหม่อีก 60 กม.เอาไปเปลี่ยนใหม่ให้หมด

ผมลงที่สำนักงานเพราะต้องเร่งทำการสรุปเรื่องราวเพื่อทำรายงานต่อไป ปล่อยให้ลูกน้องบึ่งรถไปทำหน้าที่ อีกหนึ่งชั่วโมงถัดมาเสียโทรศัพท์ดัง เสียงลูกน้องดังลั่นสายว่า เครื่องทำงานแล้ว……

โธ่เอ้ย.คน(ลูกน้อง).โธ่เอ้ย..Fuse

เจ็ด: มาทบทวนพบว่าลูกน้องเปลี่ยน Fuse ใหม่ไม่หมดทุกตัว ซึ่งทั้งหมดมี 17 ตัว ไอ้ตัวที่ไม่ได้เปลี่ยนนั่นแหละมันเสีย….โธ่ ….ตู….

สรุป… ลองมาบีบแขนขาตัวเอง เอ ทำไมมันน่วมๆก็ไม่รู้..ห้า ห้า ห้า



Main: 0.042485952377319 sec
Sidebar: 0.048584938049316 sec