วิกฤตน้ำ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 31, 2009 เวลา 9:44 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1916

วันที่ 30 แว็บไปนั่งฟังการสัมมนาเรื่อง วิกฤติน้ำ วิกฤติชีวิต: การจัดการน้ำเพื่อชีวิต..คนอีสาน ที่โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น

มีสาระที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ที่เกริ่นนำให้เห็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่จัดการเรื่องน้ำและวิถีชีวิต ท่านเน้นว่า คนโบราณจัดการทำโดยเน้นเพื่อการอุปโภค บริโภคเป็นหลัก วิธีการจัดการน้ำนั้น เน้นความสัมพันธ์คนกับคน คนกับธรรมชาติและกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ท่านเน้นความรู้ที่ต้องเคารพมากๆคือความรู้ที่มาจาก “คนใน” มิใช่ เอาแต่ความคิดเห็นของ “คนนอก”

คุณมนตรี จันทวงศ์ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้ นำข้อมูลที่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ คือข้อมูลจากรัฐ นโยบายของรัฐ แม้ข้อมูลบางเรื่องเป็นที่ไม่เปิดเผยมาก่อน โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ข้อมูลงบประมาณมากมายมหาศาลที่รัฐได้เตรียมไว้สำหรับลงทุนทำงานเกี่ยวกับการจัดการน้ำทั่วประเทศ หลายแสนล้านบาท บางส่วนผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วด้วยทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลลาวในกรณีโครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำเทินมุดแม่น้ำโขงมายังภาคอีสานของประเทศไทย แต่รัฐบาลไทย หน่วยงานที่รับผิดชอบได้อนุมัติงบประมาณออกแบบโครงการนี้แล้ว

ข้อมูลของคุณมนตรีนำมาเสนอนั้นไปตอกย้ำการกล่าวของท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ที่ว่า เป็นความคิดของ “คนนอก” แม้จะพยายามทำประชาพิจารณ์ แต่ เป็นเพียงพิธีการแบบ ชงเองกินเองเสียมากกว่า…

คุณไพรินทร์ เสาะสาย จากโครงการทามมูล สุรินทร์ นั้นมาชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศอีสาน 6 แบบที่เกี่ยวข้องกับน้ำในอีสาน เป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามาก หากไม่เข้าใจเรื่องราวของระบบนิเวศแล้ว การออกแบบชลประทาน หรือการจัดการน้ำก็จะไปทำลายระบบเหล่านี้และการจัดการแบบคนนอกคิดนั้นก็จะไปสร้างปัญหาอีกแบบหนึ่งขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย

ประทับใจข้อมูลคุณมัสยา คำแหง จากมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต ที่นำเอางานวิจัยที่ชาวบ้านเป็นผู้ทำและประสบผลสำเร็จในการจัดการน้ำ เป็นข้อมูลที่ตอกย้ำว่าการที่ชาวบ้านมองหาทางออกเองนั้นมันเหมาะสม สอดคล้องกับเงื่อนไขและสภาพของชุมชน ที่สำคัญ ไม่ได้ใช้งบประมาณมากมายอย่างที่รัฐทำ เธอกล่าววลีที่ชอบมากคือ “ข้อมูลทำให้เกิดการตื่น ตระหนัก”..


ส่วนตัวมีข้อเสนอดังนี้

  • RDI หรือหน่วยงานใดก็ตามที่เข้าใจปัญหานี้ ควรจะเอาข้อมูลเหล่านี้ และมากกว่านี้ไปขยายให้ชาวบ้านทั่วไปได้รับทราบมากที่สุด ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่หน่วยงานนั้นเอื้ออำนวยให้
  • ทั้งข้อมูลที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและข้อมูลที่เป็นนโยบายของรัฐ ควรทำการสรุปสาระแล้วจัดทำเป็นสื่อต่างๆเพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางที่สุด
  • กระบวนการขยายข้อมูลควรดำเนินการไปเพื่อให้เกิดการตื่น ตระหนักของประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง


  • ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นรัฐบาลเป็นเจ้าของโครงการ และหน่วยงานราชการเป็นฝ่ายลากจูงการจัดการน้ำแต่โครงการเหล่านั้นจำนวนมากพิสูจน์แล้วว่า ล้วนแต่มีผลประโยชน์แอบแฝงของกลุ่มธุรกิจ และนักการเมือง บางส่วนที่มีอำนาจ ประการสำคัญ โครงการต่างๆเหล่านั้นไม่ได้ก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนตามที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น เหตุผลที่สำคัญคือ รัฐไม่ค่อยฟังคนในชุมชน เน้นความรู้ทางเทคนิคมากกว่าความเข้าใจทางภูมินิเวศวัฒนธรรมเกษตรของท้องถิ่นนั้นๆ
  • ความล้มเหลวที่ซ้ำซากนั้น เป็นความสูญเสียของงบประมาณของรัฐ ของประชาชน เป็นความล้มเหลวของโอกาสของประชาชน แต่กลับเป็นความอิ่มหนำสำราญของคนบางกลุ่ม
  • มีแต่ประชาชนสร้างเครือข่ายและลุกขึ้นมาเสนอและควบคุมโครงการนั้นๆเอง ตรวจสอบการดำเนินการโครงการ โดยร่วมมือกับนักวิชาการที่ยืนอยู่ข้างประชาชน แม้จะเป็นการยากยิ่งก็ตาม

ขอบคุณ RDI และกลุ่มหน่วยงานผู้จัดที่เปิดเวทีให้เกิดการเรียนรู้และกระตุ้นให้มีการต่อยอดความคิดในเรื่องนี้ต่อไป


ไปสวรรค์กันไหม…?

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 29, 2009 เวลา 23:55 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3043

ลมหนาวมาแล้ว มีสิ่งบ่งบอกหลายอย่างจากการสังเกต เช่น ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเอาว่าวมาขาย เพราะว่าวเล่นในช่วงฤดูหนาวที่มีลมแรง ชาวบ้านจักตอกเพื่อเอาไปมัดข้าวที่กำลังจะเกี่ยว หน้าเกี่ยวข้าวก็คือการเข้าสู่ฤดูหนาว


หากใครก็ตามไปนั่งริมแม่น้ำโขงช่วงเย็นๆ ค่ำๆ ลมก็จะพัดแรงมาก และมีความเย็น เราไปนั่งทานข้าวกันตามร้านริมโขง ก็จะพูดแซวกันเสมอว่า ฝั่งลาวเปิดพัดลมแรงจังเลย.. เพราะลมจะพัดมาจากทิศทางนั้น

ยามค่ำมืดลง มองฝั่งลาวจากฝั่งไทย เราก็จะเห็นแสงไฟในเมืองสะหวันนะเขตสว่างไสวมากกว่าแต่ก่อน อนาคตลาวคือ แบตเตอรี่แห่งเอเชีย เพราะจะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าขายให้กับประเทศต่างๆมากมาย รวมทั้งประเทศไทย


สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กำลังจะก้าวไปทางใดนั้น น่าสนใจยิ่งนักเพราะเป็นประเทศที่มีดินแดนติดกับประเทศไทยเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไร หรือลาวจะสร้างอะไรย่อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งประชาชนสองฝั่งคือพี่น้องกัน มีวัฒนธรรมอันเดียวกัน เพราะอดีตคือพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การปกครองอันเดียวกัน

เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป แม้ประเทศสังคมนิยมอย่าง ลาว เวียตนาม จีน ต่างก็หันหน้ามาสู่ระบบทุนนิยมหมดแล้ว แต่เป็นสังคมนิยม ทุนนิยมตามแบบฉบับของเขา


แต่สิ่งหนึ่งที่ขัดแย้งในความรู้สึกของผมมากคือ ในลาวมีการก่อสร้างบ่อนมากมาย เรียกได้ว่าตลอดแนวชายแดน ไทย-ลาวก็กล่าวได้ ไล่มาเลยตั้งแต่สุรินทร์ อุบลฯ นครพนม เชียงแสน และที่กำลังเกิดขึ้นอย่างใหญ่คือที่แขวงสะหวันนะเขต ตรงข้ามเมืองมุกดาหาร

ดูป้ายนี่ซิครับ เรียกร้องเชิญชวนให้ไปเที่ยวสะหวันเวกัส ซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง


มีรถบริการรับส่งฝั่งมุกดาหาร-สะหวันนะเขตฟรี.. แต่น่าจะมีขั้นตอนบ้างก่อนที่จะไปนั่งรถฟรีตามประกาศ

นี่หรือคืองานพัฒนาสังคม เพื่อเงิน รายได้ เพื่อ GDP เพื่อความมั่งคั่ง เพื่อความสิวิไลซ์ เพื่อการมีงานทำ เพื่อให้เงินหมุนเวียน เพื่อ..เพื่อ…เพื่อ…

เงินที่ได้มาก็ไปขยายสาธารณูปโภคในเมืองให้หรูหราเพื่อสนับสนุนความสมบูรณ์ตามแบบฉบับตะวันตกที่เดินไปข้างหน้านานมาแล้ว

อุดมการณ์ก่อนล้มล้างระบอบทุนนิยมนั้นหายไปไหนหมด ทำไมกลับย้อนรอยในสิ่งที่ตัวเองวิภาควิจารณ์มาก่อนเล่า…

เวลาได้กลืนกินคน เวลาเปลี่ยนคน เปลี่ยนจิตใจ อุดมการณ์ไปหมดสิ้น

หรือผมเข้าใจผิด..?


หนาว ข้าว ตอก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 28, 2009 เวลา 20:50 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2376

เมื่อคืนนั่งทานอาหารที่ริมโขงกับเพื่อนนักศึกษาเก่า มช. เพื่อเตรียมงานต้อนรับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ พวกเราต้องปิดหน้าต่างร้านอาหารหมด เพราะลมพัดแรงมากและมีความเย็น…


เมื่อเช้าเดินทางไปทำงาน มีลมพัดแรงมาก ตลอดทั้งวันไม่ต้องใช้แอร์คอนดิชั่น ตอนค่ำเดินทางกลับที่พัก ดูอุณหภูมิที่มิเตอร์ในรถบอกว่า 28″C

ฤดูหนาวมาแล้ววววว

ย้อนกลับเข้าไปที่ดงหลวง ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปชาวบ้านมีงานในนายุ่งมาก ไม่ต้องมาจัดประชุมอะไรให้ยืดยาว เสียเวลาเกี่ยวข้าว และกระบวนการจัดเก็บ โน่นจนถึงกลางเดือนหรือสิ้นเดือนธันวาคมโน่นเลย

การเก็บเกี่ยวข้าวที่ดงหลวงและอีกหลายๆพื้นที่นั้นเริ่มมาตั้งแต่สองสัปดาห์ก่อน ชาวบ้านเรียก ข้าวดอ แล้วก็มาข้าวกลาง และข้าวหนัก ในท้ายที่สุด ตามลำดับลักษณะพันธุ์ข้าว..


เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หากเราเดินทางไปทั่วชนบทอีสาน และสังเกตก็จะเป็นชาวบ้านเอาไผ่ป่ามาจักตอก เพื่อใช้มัดข้าวที่กำลังมาถึงช่วงนี้ ตอกนี้มีการใช้ในภาคอีสานและภาคเหนือ ในประเทศลาว และกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินไม่น้อยในแต่ละฤดูการเกี่ยวข้าว เพราะไผ่ที่จะเอามาทำตอกนี้ ต้องเป็นไผ่ป่าเท่านั้นที่ดีที่สุด อายุของไผก็จะต้องไม่แก่หรืออ่อนเกินไปจะได้เนื้อตอกที่นิ่ม เหนียวไม่หักหรือขาดง่ายๆ เหมาะที่จะเอาไปมัดข้าว

ราคาซื้อขายกันคือ 1000 ละ 80 ถึง 100 บาท และชาวบ้านบอกว่า เวลาซื้อ 1000 ละนั้น นับจริงๆจะไม่ถึง 1000 เส้น…??

เมื่อปีที่แล้วพบว่าตอกที่เอามาขายแถบ คำชะอี และทั่วไปในมุกดาหารนั้น มาจากลำปาง….? มาเป็นคันรถ 6 ล้อ มูลค่าหลายหมื่นบาท

ตลอดพื้นที่ริมโขงนั้นก็นำเข้าตอกมัดข้าวมาจากฝั่งลาว จุดหนึ่งที่มีการซื้อขายกันมากคือที่นครพนม มูลค่าการซื้อขายตลอดแนวแม่น้ำโขงนั้นกล่าวกันว่าน่าจะเป็นเงินล้านบาทเลยทีเดียว

บางทีผมก็คิดว่า งานพัฒนาเราคิดอะไรที่ไกลตัวเกินไป สิ่งใกล้ตัวแค่นี้ มองไม่เห็น คิดไม่เป็น และไม่มีการพูดถึง จึงไม่มีการสนับสนุน..

อ้าว. เริ่มที่อากาศหนาวมาลงที่ตอกซะแล้ว…


การประเมินการพึ่งตนเองของไทโซ่ดงหลวง

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 16, 2009 เวลา 0:01 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2926

 

การประเมินสถานการณ์การพึ่งตนเองของพี่น้องไทโซ่ ดงหลวง

 


ตอก..52 และพื้นที่ชาวบ้าน..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 10, 2009 เวลา 22:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2961

สายวันนั้นรีบเร่งจะไปประชุมกับ อบต.เรื่องข้อบัญญัติการบริหารงานสูบน้ำเพื่อการชลประทาน ผมขับรถผ่านบ้านนาหลัก ก็ต้องหยุดกึก สายตาไปเห็นผู้นำเราขี่มอเตอร์ไซด์ มีไม้ไผ่ท่อนอยู่ด้านหลัง


ลูกน้องผมสองคนนั่งในรถดูเธอเฉยๆ หรือใจจรดจ่ออยู่กับการประชุม แต่ผมต้องลงไปที่มอเตอร์ไซด์คันนั้น ก่อนที่ผมจะเอ่ยปากใดๆ ชาวบ้านท่านนั้นก็ยิ้มให้ผมอย่างยินดีและจริงใจ ผมทักทายตามปกติ

ไม่บอกก็รู้ว่าชาวบ้านท่านนี้ไปเอาไผ่ป่ามาเพื่อเอาไปแปรรูปเป็นตอกเตรียมมัดรวงข้าวที่กำลังจะสุกในไม่นานเท่าใดนัก

# ฤดูทำงานหนักมาถึงอีกแล้ว

# กิจกรรมการประชุมชาวบ้านต้องเบาบางลงอย่างมาก

# ข้าวใหม่กำลังจะออก ช่วงภาวะขาดข้าวกำลังจะหมดไป

# พายุกิสนา ผ่านพ้นไปแล้ว และฤดูหนาวกำลังจะเข้ามาแทนที่


มองไปรอบๆบริเวณหมู่บ้าน เห็นกองขี้ตอก ร่องรอยของการเตรียมตัวรับข้าวใหม่ เห็นชาวบ้านผึ่งตอกที่ “จัก” แล้ว บางคนก็กำลังลงมือทำ..

วิถีชาวบ้านวนเวียนเช่นนี้ เหมือนน้ำที่ไหลไป ไหลไป เหมือนสายพานเครื่องจักรที่หมุนวนเวียนรอบวิถีที่ธรรมชาติการดำรงกำหนดให้ไว้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ไม่ได้มีตารางแผนงานบนกระดาษ แต่มีตารางในสำนึก ในสัญชาติญาณ


ผ่านหมู่บ้านออกไป ก็หยุดรถอีก ดูข้าวในทุ่ง สีทองเริ่มทอแสงออกมา ใช้เวลาจนลืมตัวว่าต้องไปประชุมอีกไม่กี่นาทีนี้แล้ว…


นึกย้อนไปปีที่แล้วที่พบธุรกิจค้าตอกมัดข้าวที่มาจากลำปาง บุกถึงถิ่นมุกดาหารที่บ้านคำชะอี และที่ทราบตลอดริมโขงก็มีธุรกิจค้าตอกที่มาจากฝั่งลาว ขึ้นที่อุบล นครพนม และที่อื่นๆที่ยังไม่ทราบข่าวยืนยัน ธุรกิจนี้ทำเงินปีละนับล้านบาท แค่ไผ่ป่าที่เอามาจักเป็นตอกแบบง่ายๆ..


ในโอกาสเดียวกันที่ผมต้องบันทึกภาพนี้ไว้ คือการปลูกข้าวในที่ว่างเพียงนิดหน่อยข้างทาง ข้างถนน นี่คือการใช้พื้นที่ทุกกระเบียดเพื่อการปลูกข้าวเอาไว้กิน ของไทโซ่ ดงหลวง เพราะพื้นที่ทำกินมีน้อย เพราะข้าวไม่พอกิน พื้นที่ใดจะปลูกข้าวได้เป็นใช้ประโยชน์ทั้งหมด…


เหตุการณ์บ้านเมืองมากมายที่ครอบครองพื้นที่สื่อสาธารณะไปหมดสิ้น หากจะมีชาวบ้านบ้างก็ต้องเกี่ยวข้องกับข้าราชการ หรือนักการเมือง เช่น กรณียายไฮ เหอะ แล้วยายไฮก็จะหายไปจากพื้นที่นั้นๆ

แล้วพ่อสาย นายหล่อง ป้าลำไย พ่อใบ นายสมจิต..ไปอยู่ที่ไหนในพื้นที่สาธารณะ เพราะเขาไม่มีอะไรน่าสนใจจะเป็นข่าวหรือ…

เกษตรกรชายป่า ที่เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างซื่อสัตย์ เก็บกวาดเอาไปบำรุงชาติ แต่งบประมาณที่ย้อนกลับมานั้นมันน้อยนิดเสียจนชาวบ้านต้องดิ้นรนกันเองในเรื่องทำมาหากิน

เถอะ..ชาวบ้านอย่างเราก็ยินดีเราซื่อสัตย์ จริงใจ และเทิดทูนองค์เหนือหัวที่ทรงพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียง

ขอพื้นที่สาธารณะให้เรามีตัวมีตนบ้างเถอะนะ.. แม้คุณจะเพียงผ่านมาแล้วผ่านไปก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรหรอก..

ขอบคุณที่บ้านแห่งนี้แบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้าน..


คราม..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2009 เวลา 21:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 4633

คนที่บ้านผมคลั่งผ้าครามยิ่งนัก ท่องไปที่ไหนพบผ้าครามเป็นคว้ามาเต็มตู้ไปหมด โดยเฉพาะฝ้ายครามสวยๆที่ย้อมด้วยกรรมวิธีโบราณนั้น ผมเองก็ชอบครับ


ก็สีสวย ตัดเสื้อผ้าใส่ก็งดงาม ภูมิฐาน และสามารถตัดเสื้อได้ตั้งแต่ ฮ่อมไปจนเชิ้ต และสูทงามหรู

เท่าที่ทำงานพัฒนาชนบทมานั้นเราพบหมู่บ้านที่ทอผ้าฝ้ายและย้อมครามหลายแห่ง แต่ละแห่งก็สวย แต่ที่ติดตาติดใจก็ต้องที่สกลนคร กลุ่ม ผู้ไท กะเลิง ญ้อ แถบ อ.กุดบากและ ผ่านทีไรเสียเงินทุกที..


ผู้ไทที่เรณูนคร หรือคำชะอีก็ไม่แพ้ใครครับ กลุ่มแม่บ้านใช้เวลาว่างทอส่งขายทั้งแปรรูปมากมาย เป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพรองไปเลย โดยเฉพาะกลุ่มศิลปาชีพ ทุกปีผู้แทนสมเด็จท่านจะมาตระเวนรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านไป ท่านคงทราบดี


ที่ทำเงินทำทองเป็นกอบเป็นกำคงมีหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็ที่บ้านภู อ.กุดบาก กลุ่มแม่บ้านโดยการสนับสนุนของ NGO มาส่งเสริมการผลิตและพัฒนาฝีมือจนส่งออกไปญี่ปุ่นนานหลายปีมาแล้ว และอีกหลายอำเภอของสกลนครนั้นมีกลุ่มทอและ “ผลิตคราม” ส่งขายมาภาคเหนือด้วยซ้ำไป คนข้างกายบอกว่าทำเงินปีละนับสิบล้าน????


กลุ่มไทโซ่ ดงหลวง ของอาว์เปลี่ยน ก็มีผลิตบ้างแต่ในมุมมองของผมเห็นว่าไม่เด่นโดดอย่างของสกลนคร

วันนี้ไม่ได้มาขายเสื้อผ้าครามนะครับ แต่ระหว่างนั่งรถกลับบ้านขอนแก่น มีน้องที่ทำงานที่เป็นผู้ไท อ.นาคูนั่งรถมาด้วยก็คุยกันถึงเรื่องนี้ แล้วเธอก็บอกว่า

พี่..คนโบราณนั้นเขาใส่แต่เสื้อย้อมครามผ้าฝ้ายทั้งนั้น ไม่ว่างานไหนๆ หน้าร้อนก็ไม่ร้อน หน้าหนาวก็อุ่น ผมเองก็ตอบว่าเห็นด้วยเพราะเคยใช้มาพอสมควร

เธอคุยต่อไปอีกว่า พี่.. แม่หนูบอกมาตั้งแต่หนูยังเด็กๆว่า หากโดนสัตว์กัด ต่อย เช่น มด แมลงละก็ หายาหม่อง ยาแก้อื่นๆไม่ได้ ก็ให้เอาผ้าฝ้ายที่ย้อมครามนี้ไปชุบน้ำหมาดๆ อิงของร้อนๆแล้วเอามานาบลงตรงที่สัตว์มากัด ต่อย รับรองได้ผลชะงัด..


อีกอย่างที่คนโบราณใช้กันมานานคือ หากเข้าป่าขึ้นดอย เกิดไปกินผิด เช่น กินเห็ดมีพิษเข้าละก็ ให้เอาผ้าฝ้ายย้อมครามนี้มาแช่น้ำในขัน สักพักหนึ่ง แล้วให้เอาน้ำในขันนั้นมาดื่มกิน ได้ผลมามากต่อมากแล้ว

หนูเองก็ไม่เคย..แต่มีครั้งหนึ่งหนูใส่เสื้อผ้าครามเข้าไปชนบทที่กาฬสินธุ์ มีพ่อเฒ่าคนหนึ่งเดินมาจับเสื้อหนูแล้วก็ออกปากขอดื้อๆ ว่าอยากได้ผ้าฝ้ายย้อมครามโบราณแบบนี้มานานแล้ว จะเก็บเอาไว้ และเพื่อใช้แก้กินผิดกินเบื่อดังกล่าวด้วย… ผู้เฒ่าอ้อนวอนจนเธอต้องยกให้ทั้งๆที่บอกว่าหนูใช้ใส่แล้วมันสกปรก แกก็ไม่ถือ….

ผมขับรถไป ใจหนึ่งก็น้อมรับความรู้นี้

แต่อีกหลายคนคงส่งเสียง หึ.. หึ.. อยู่ในลำคอ


รับผู้ว่าแล้วมารับทูต

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 2, 2009 เวลา 1:56 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1829


เดินทางไปมุกดาหาร สายๆ เพื่องานในหน้าที่และงานสังคม

หนึ่ง ไปต้อนรับผู้ว่าคนใหม่ ทำไมต้องไปต้อนรับ..

สอง ไปต้อนรับท่านทูตไทยประจำเวียตนาม รูปหล่อ คนเก่ง โตเร็ว

ท่านทูตมาราชการที่อุดร แล้วขอเลยมาพบเพื่อนเก่าที่มุกดาหาร เดี๋ยวค่อยลงละเอียดกันน่าสนใจครับคุยกับทูต

ทั้งสองท่าน ผู้ว่ากับทูต เป็นลูกช้างรหัส 17 ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน ตอนทั้งคู่เข้า มช ผมจบไปทำงานพัฒนาชาวบ้านที่สะเมิงแล้ว อิอิ



Main: 0.042728900909424 sec
Sidebar: 4.1674780845642 sec