“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.3

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2009 เวลา 23:20 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2520

มีอีกวลีหนึ่งที่คอนกล่าวในที่ประชุมนั้นและผมก็ชอบมากด้วย ที่ว่า ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย คำนี้บ่งบอกความหมายกว้างขวาง คอนได้ผ่านปัญหาอุปสรรคมามากทั้งหน้าที่การงาน การบริหารลูกน้อง และอื่นๆ แม้ว่าความรู้ในด้านต่างๆจะพัฒนามากมาย และมีวางขายในร้านหนังสือทั่วไป แต่เหล่านั้นเป็นเพียงหลักการ หลักคิด เงื่อนไขของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อหน้านั้นมันแตกต่างไปจากหลักการนั้นๆ ที่พูดเพียงกว้างๆ

ผมชอบที่ เฒ่าแก่ ส่งลูกของตัวเองที่อุตสาห์เรียนหนังสือจบเมืองนอกเมืองนา ให้ไปทำหน้าที่เสมียนระดับล่างก่อน เพราะต้องการให้รู้จักงาน รู้จักคน รู้จักรายละเอียดในงานที่เป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งของกิจการ แล้วค่อยยกระดับไปบริหารกิจการในท้ายที่สุดด้วยความรอบรู้แท้จริง เพราะสัมผัสมาด้วยตัวเองแล้ว

เฒ่าแก่ ก็จะมั่นใจว่า ลูกตัวเองเป็นผู้รู้จริงก็จะสามารถไว้ใจในการดำเนินกิจการต่อไปได้ แน่นอนระหว่างนั้นอาจจะผิดพลาด บกพร่องก็เป็นเรื่องมีประโยชน์ทั้งสิ้นเพราะลูกคนนั้นจะรู้ซึ้งถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเป็นต้น

ชีวิตไม่ใช่มีตัวเลือกให้หมดแล้ว หลายครั้งชีวิตต้องเผชิญอุปสรรค ปัญหาที่ไม่มีตัวเลือก แต่ต้องเดิน ผมยังชอบตัวแบบชีวิตที่ก้าวจากดินไปสู่ดาวของน้องรักคนหนึ่ง และผมชอบที่จะยกตัวอย่างเขาเสมอๆ เพราะชีวิตเขาเป็นอัตนัยทั้งหมด ไม่มีตัวเลือกเลย แต่การตั้งมั่นในความวิริยะอุตสาหะ และค่อยๆเดินไปนั้น เขาก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ ยากที่คนทำงานพัฒนาตัวเล็กๆคนหนึ่งจะก้าวไปถึงจุดยืนตรงนั้นได้ ขออนุญาตฉายซ้ำ

เพื่อนนักพัฒนารุ่นน้องที่ไปคว้าสาวชาวบ้านมาเป็นคู่ชีวิต เมื่อโครงการจบก็ตกงาน ไม่มีอะไรจะทำ จึงพากันลงไปกรุงเทพฯเอาลูกน้อยลงไปด้วยไปใช้ความรู้การทำน้ำเต้าหู้ขายตามริมถนน แต่ก็โดนตำรวจเทศกิจไล่จับเพราะไปกีดขวางทางเดินเท้า ต้องหิ้วหม้อน้ำเต้าหู้ร้อนๆ อุ้มลูกด้วย หนีตำรวจ เพราะหากถูกจับจะไม่มีค่าปรับ

แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะเทศกิจจ้องตลอด จึงขึ้นไปบ้านเชียงใหม่ ไปเช่าเครื่องทำสำเนารับจ้างตามริมถนน สามีไปทำงานโรงแรมเก่าๆ พอมีเวลาเหลือก็ไปรับจ้างทำสวนไม้ดอกตามหมู่บ้านจัดสรร และรีสอร์ทต่างๆที่กำลังก่อสร้างมากมายในเชียงใหม่สมัยนั้น

มีโชคเข้ามา เพราะคนญี่ปุ่นคู่หนึ่งเห็นเด็กหนุ่มสาวทำงานอย่างขยันขันแข็งเช่นนี้ จึงชวนไปทำงานส่งออกดอกไม้ประเภทหัวใต้ดิน เช่น ต้นแสงตะวัน โดยไปหาที่ดินและตระเวนเก็บสะสมหัวดอกทานตะวันจากที่ต่างๆทั่วประเทศ ตลอดจนต่างประเทศใกล้เคียง มาเพาะแล้วส่งออกไปญี่ปุ่น

งานหนักเอา เบาสู้ และใช้ความคิดพัฒนากิจการไปเรื่อยโดยที่ไม่มีตำราที่ไหนสอน คลำไปกันเอง หาความรู้เอง เรียนรู้เอง ลงมือทำเอง ไปแม่โจ้ ไปคณะเกษตร มช. ไปโครงการพระราชดำริ ไปทุกที่ที่จะมีความรู้มาพัฒนากิจการนี้ ตลอดจนไปเรียนรู้การทำ Tissue culture เพื่อมาขยายพันธุ์พืชที่ตระเวนสะสมไว้ในแปลงนั้น

จากไม้หัวไปสู้ไม้ใบ จากไม้ใบไปสู่ไม้ดอก จากการส่งไปญี่ปุ่นประเทศเดียวขยายไปออสเตรเลีย ยุโรป เปิดโรงงานทำน้ำสะอาดขาย และท้ายที่สุดทำน้ำสมุนไพรคาวตองขาย จากเด็กบ้านนอกในป่าสะเมิง จบเพียง ป.4 จากเด็กที่ผมขุดขึ้นมาจากหลังบ้านมาเป็นครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน และเมื่อก้าวมาสังคมใหญ่ เธอก็สร้างตัวเธอเองจนเป็นแม่เลี้ยงที่จังหวัดลำพูนในปัจจุบันนี้

ชีวิตเธอไม่ใช่มีทางเลือกใดๆเลย ทุกก้าวคือการคลำไปกับความมุมานะ กับสมองที่มุ่งหาความรู้เติมเข้ามา มันเป็นชีวิตที่เด็กบ้านนอกประสบผลสำเร็จที่น้อยคนนักจะทำได้

นี่คือตัวอย่าง ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย ที่หลับตาจิ้มเอา แต่ต้องค้นคว้า เรียนรู้ อดทน มุมานะ พยายาม ก่ออิฐชีวิตไปทีละแผ่น….

จากเด็กกะโปโล บ้านนอก มาเป็นผู้บรรยายให้แก่นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์หลายสถาบันที่เข้ามาเรียนรู้..!!

จากเด็กครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนมาเป็นนักธุรกิจส่งออก….!!!!

จากเด็ก ป. 4 กลายมาเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ..!!!!!!????? ทั้ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรปบางประเทศ…!!!???

สักวันหนึ่งอยากจะพาเฮฮาศาสตร์ไปที่นั่นกัน เธอยินดีต้อนรับแม้จะไปกัน 100 คนเธอก็สู้ไหว

ผมหละแอบชื่นชมผลของการทำข้อสอบอัตนัยของเธอจริงๆ


“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.2

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2009 เวลา 13:30 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2601

น้องอึ่ง เรียกร้องให้เพิ่มเติม ผลึกของ Conductor ที่ มข. ซึ่ง Conductor ก็รับปากว่าเมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯแล้วจะขยับเรื่องนี้ต่อ ผมขอถือโอกาสเก็บตกมาเผยแพร่ก่อนแล้วกัน ส่วนที่เหลือให้คอนเขาเต็มที่เลย หรือในส่วนที่ผมกล่าวต่อไปนี้หรือช่วงที่ 1 ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็กรุณาเติมเต็มด้วยครับ

คอนพูดถึงโปรแกรม “OpenCARE” ผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่เดาว่าเกี่ยวข้องกับกรณี Tsunami ที่ฝั่งอันดามัน ซึ่งคอนมีส่วนร่วมในกระบวนการช่วยเหลือด้วย และมีผลกระทบทางความคิดเห็นมากมาย โดยเฉพาะการหาทางสร้างเครื่องเตือน หรือชุดสำเร็จในการแก้ปัญหาหากเกิดกรณี Disaster ใหญ่ๆเช่นนั้นขึ้นมาอีกในอนาคต หากเข้าใจผิดขออภัยด้วยนะครับ แต่เกี่ยวกับสิ่งที่ คอน กล่าวถึงระบบการเตือนภัย และการสร้างความพร้อมในการแก้ปัญหา นี่คือประเด็นที่น่าสนใจมาก ผมเองก็มีบทเรียนเรื่องนี้และเตือนตัวเองบ่อยครั้งเหมือนกัน

ผมจำได้ว่านานมาแล้วที่เครื่องบินการบินไทยตกที่ภูเก็ตมีผู้โดยสารเสียชีวิตมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นเพื่อนรักของคนข้างกายผมด้วย เมื่อเกิดกรณีร้ายแรงเช่นนั้น การบินไทยผู้รับผิดชอบโดยตรง ทำการแก้ปัญหานี้อย่างไร…..น่าสนใจมากครับ

หากถามผมผู้ไม่รู้เรื่องผมก็คงตอบไปตามประสา ว่า ผู้บริหารการบินไทยต้องประชุมด่วนและ สร้างมาตรการต่างๆออกมาเป็นระยะแล้วมอบหมายพนักงานไปรับผิดชอบตามลำดับขั้น……สั่งจ่ายงบประมาณไปใช้จ่ายในกรณีนี้ และ ฯลฯ…..

ผิดถนัดเลยครับ…..

วิสาหกิจที่มีงบประมาณหมุนเวียนนับหมื่นล้าน แสนล้าน มีพนักงานมากมาย มีการแข่งขันในสากล มีผู้เกี่ยวข้องมากมายโดยเฉพาะผู้เสียหาย …ฯลฯ.. จะมานั่งประชุมทำเช่นนั้นไม่ทันกิน..

แล้วการบินไทยทำอย่างไร…

เท่าที่ผมทราบนะครับ(ข้อมูลนี้เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ปัจจุบันคงพัฒนาไปไกลมากแล้ว) การบินไทย หรือการบินไหนๆก็ตามจะมาคอยให้เครื่องบินตกแล้วมาประชุมแก้ปัญหาแบบที่ผมกล่าวนั้นไม่ได้ ต้องทำล่วงหน้าครับ….

ต้องมีการสร้างสมมติฐานว่าเครื่องบินตก แล้วบริษัทการบินไทยจะทำอย่างไร

  • มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาวถูกกำหนดออกมาก่อนแล้ว

  • บุคลากรที่จะต้องรับผิดชอบถูกกำหนดแล้ว

  • เครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องใช้เตรียมพร้อมแล้ว

  • มีการฝึกอบรมทุกฝ่ายทุกคนให้พร้อมใช้มาตรการนั้นแล้ว

  • งบประมาณที่ต้องใช้เตรียมพร้อมแล้ว

  • หากมีคนเสียชีวิต ที่เป็นทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม จะต้องมีขั้นตอนทำกับร่างผู้เสียชีวิตอย่างไรนั้นถูกเตรียมพร้อมหมดแล้ว…

  • ทุกอย่างพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ทันทีที่ทราบว่าเครื่องบินตกที่ไหน ผู้รับผิดชอบตามแผนงานถูกปฏิบัติทันทีในวินาทีนั้นโดยไม่ต้องมาประชุมรับฟังคำสั่งก่อน ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตผู้โดยสารให้ทันท่วงทีและดีที่สุด

  • …..ฯลฯ…..

มี Package การปฏิบัติกรณีเครื่องบินตกออกมา นี่คือการเตรียมการเชิงรุก…จัดทำล่วงหน้า ผมหลับตาฟัง คอนบรรยายเรื่อง OpenCARE แล้วผมนึกถึงกรณีการบินไทยนี้ และโปรแกรมนี้เห็นว่ากำลังดำเนินการต่อ…

จากกรณีนี้ผมคิดเลยเถิดไปถึงเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน วิถีชีวิตประจำวันทั้งผมและท่านทั้งหลาย มีกี่เรื่องที่เราคิดเตรียมการไว้ล่วงหน้าบ้าง เช่น

  • หากรถที่ขับอยู่เกิดยางแบน จะต้องทำอย่างไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.

  • หากเรามีปัญหาสุขภาพและเกิดเป็นอะไรปัจจุบันทันด่วน จะต้องทำอะไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.

  • หากลูกสาวเราโดนถูกรังแก ลูกสาวจะมีขั้นตอนป้องกันตัวหรือเรียกร้องความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.

  • หากเกิดไฟไหม้บ้านเรา….

  • หากคุณพ่อคุณแม่เกิดป่วยปัจจุบันทันด่วน…

  • หากขโมยเข้าบ้าน…

  • หาก…..หาก…หาก…

เท่าที่สังเกตทางการแพทย์จะมีชุดการเตรียมความพร้อมต่างๆที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพไว้ค่อนข้างสมบูรณ์มากว่าสาขาอื่นๆ กล่าวอีกทีทำงานเชิงรุกมากกว่าสาขาอื่นๆ

นี่เป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน

นี่คือหลักการลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต

นี่คือหลักความไม่ประมาทในการดำรงชีวิต ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสมานานกว่า สองพันปีแล้ว

มนุษย์ที่อ้างว่าอยู่ในยุคที่เจริญแล้วยังไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้เลย ปล่อยให้ชีวิตล่องลอยอยู่บนความเสี่ยง..อยู่ได้..โส น้า น่า ..อิอิ..



Main: 0.027902126312256 sec
Sidebar: 0.047493934631348 sec