สะเมิง: เมื่อม้งเข้าห้องเรียน

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 5, 2009 เวลา 14:19 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3596

โครงการที่ผมทำที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคแรกๆของ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เรียกว่า อพช. หรือ NGO ก็ได้ ทีมงานไม่ถึง 10 คน รับผิดชอบกันคนละตำบล และมีทีมงานกลาง 2 คนที่รับผิดชอบทุกตำบลเฉพาะด้าน ผมเองรับผิดชอบงานด้านสังคม เน้นการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์นั่นเอง

โครงการนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิจากประเทศเยอรมันแห่งหนึ่ง โดยการชักชวนของ ส.ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษฝีปากกล้า พนักงานโครงการจึงถูกฝึกอบรมก่อนทำงานที่ โครงการบูรณชนบทแห่งประเทศไทย จังหวัดชัยนาท ที่มีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นประธาน ที่เรียกย่อๆว่า บชท. คือ Thailand Rural Reconstruction Movement (TRRM) ซึ่งจำลองหลักการมาจาก ดร. เจมส์ ซี เยน แห่งประเทศ ฟิลิปปินส์ ที่เรียกว่า PRRM หลักการของท่านเรียก Credo 10 ท่านที่สนใจเข้าไปที่กูเกิลครับ

สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้วหลักการพัฒนาชนบทของบ้านเรานั้นเรียกได้ว่านำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งนั้น ไม่ว่า คิบบุช โมชารป จากอิสราเอล เซมาเอิล อุลดอง จากเกาหลีใต้ ซาโวดายา จากศรีลังกา กรามินส์แบ้งค์ จากบังกาเทศ(ที่ได้รับรางวัลโนเบล) เครดิตยูเนี่ยน ที่ท่านคุณพ่อบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ แห่งสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยนำเข้ามาจากยุโรป ในปี 2509 ซึ่งมีต้นกำเนิดที่เยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เท่าที่ผมทบทวนดูสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า การมีส่วนร่วม การบูรณาการ ฯลฯ แต่มีคำว่า การยืนอยู่บนขาตนเอง การช่วยเหลือเขาให้เขาช่วยตัวเองได้ Top down-Bottom up และศัพท์แสงทางวิชาการก็เกิดมาภายหลังที่งานพัฒนาชนบท โดยองค์กรพัฒนาเอกชน กระจายไปทำงานทั่วประเทศ และพัฒนาประสบการณ์งานพัฒนาสังคมขึ้นมาเอง ผนวกกับกระแสงานพัฒนาสังคมทั่วโลกที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น เพราะ คนทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่ก้าวมาจากสถาบันการศึกษา ที่มีสำนึกทางการเมืองในยุคนั้น จึงนิยมสุมหัวคุยกัน เป็นประจำจนต่อมาก่อให้เกิด ศูนย์ประสานงานองค์กรพัฒนาสังคมเอกชนที่เรียก NGO-CORD หรือ พอช. ขึ้นทุกภูมิภาค

เดี๋ยวจะกลายเป็นเล่าพัฒนาการ NGO ในเมืองไทยไปซะ… วกเข้ามาที่ สะเมิง

เราไปจัดตั้งผู้นำชาวนาขึ้นทุกหมู่บ้าน สมัยนั้นสุ่มเสี่ยงมาก เพราะเป็นยุคที่รัฐต่อต้านแนวความคิดคอมมิวนิสต์ ชื่อผู้นำชาวนาจึงเป็นเป้ามองของสันติบาลว่า ทำอะไรกัน ทุกเดือนเราก็เอาผู้นำชาวนานี้มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ(บริเวณสำนักงานที่มีร้านอาหารชื่อกาแลตั้งอยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งมี ดร.ครุย บุญยสิงห์เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอยู่ คนสมัยนี้ไม่รู้จักท่านแล้ว ท่านก็คือสามีของอาจารย์เต็มศิริ บุญยสิงห์ นักอภิปรายทางทีวีตัวยงในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ดร.ครุยเอง ท่านจบมาจาก มหาวิทยาลัยคอแนล ที่มีชื่อเสียงของอเมริกา และท่านเป็นทีมงานศาสตราจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในช่วงนั้นด้วย ..

ผู้นำชาวนาที่มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมนั้นก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำมาหากิน การยกระดับผลผลิต การปรับปรุงพันธุ์พืช การพัฒนาการเกษตรโดยเอาพืชเศรษฐกิจใหม่ๆเข้าไป ตามยุคสมัยนั้น.. ปรากฏว่าเมื่อผู้นำชาวนากลับไปในหมู่บ้านเขา บางคนก็ไปเล่าความรู้ใหม่ๆให้ญาติพี่น้องฟัง ให้เพื่อนบ้านฟัง อันเนื่องมาจากสะเมิงเป็นเมืองค่อนข้างปิดดังกล่าว

ความรู้เหล่านี้เป็นที่สนใจของชาวบ้านที่ตื่นตัว อยากรู้มาก และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ผู้นำชาวเขาเผ่าม้งที่ตำบลยั้งเมิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไกลที่สุดของโครงการ ผู้นำม้งติดต่อโครงการขอมารับการฝึกอบรมด้วย เขาจึงได้มาเข้าร่วมเพิ่มพูนความรู้ทุกเดือน แต่เนื่องจากเขามีข้อจำกัด เพราะว่าม้งฟังภาษาไทยได้ แต่คำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการเขาจะไม่ค่อยรู้เรื่อง และที่สำคัญเขาไม่สามารถทำการบันทึกความรู้ได้ ใช้วิธีจำใส่หัวโตๆอย่างเดียว

ต่อมาผู้นำม้งขออนุญาตโครงการเอาลูกชายที่ผ่านระบบโรงเรียนของไทยมาแล้วเอามาด้วย เพื่อวัตถุประสงค์ทำการบันทึกความรู้โดยตรง….??? นี่คือความพยายามของเขาที่จะเรียนรู้ หรือพูดในภาษานักพัฒนาก็คือ มีความตื่นตัวในการรับเทคโนโลยี่ใหม่ๆ มีความตื่นตัวในการปรับตัวเองไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดีไม่ดี ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


การอบรมครั้งหนึ่ง ที่ประชุมพูดถึงว่าพื้นที่สะเมิงนั้นล่อแหลมต่อการเป็นแหล่งผลิตฝิ่น ที่นำไปทำเป็นเฮโรอิน ซึ่งผิดกฎหมายไทย และมีผลร้ายแรงต่อคนที่เสพติด ผู้นำม้งท่านนั้นก็บอกว่า เป็นความจริงที่ ชาวเขาหลายเผ่าทำการปลูกฝิ่น โดยเฉพาะเผ่าม้ง ปลูกกันเป็นไหล่เขาเลย

แต่ผู้นำม้งกล่าวว่า เฮาปลูกฝิ่น แต่เฮาบ่กินฝิ่น คนไทยน่ะง่าว กินฝิ่นกันมากมาย…. ??? แปรความได้ว่า เราปลูกฝิ่นแต่เราไม่เสพฝิ่น คนไทยน่ะโง่ที่ไปเสพฝิ่น…???

แสบไหมล่ะพี่น้องที่ได้ยินคำนี้….โส..น้า..น่า..โค กิ ฝิ่.. อิอิ


สะเมิง: นายหวื่อ แซ่ย่าง

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 5, 2009 เวลา 1:00 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3173

ช่วงปี 18-23 ที่ผมทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่นั้น เป็นคนสองโลก (ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น) คือ เวลาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สะเมิงซึ่งเป็นชนบท อาจเรียกว่าเป็นเมืองเกือบปิดก็ได้ เพราะไม่ค่อยมีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก มีรถประจำทางที่เป็นปิคอัพเก่าๆ วันละเที่ยว เท่านั้น ใครพลาดก็ต้องรอไปอีกวันหนึ่ง

การเป็นเมืองปิด หรือสังคมปิดนั้น มีความหมายมากในทางสังคมวิทยาการพัฒนาชนบท เพราะสังคมปิดนั้น ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของสังคมยังเป็นแบบเดิมๆมาก อิทธิพลสังคมเมืองยังเข้าไปไม่ถึงมากนัก นอกจากไปทางฟ้า คือคลื่นวิทยุ และ ทีวี ซึ่งก็มีไม่กี่หลังคาเรือนที่มีทีวีเพราะ ภูเขาสูงมีส่วนสำคัญทำให้การรับคลื่นไม่ดี

ชาวบ้านสะเมิงนั้นมีทั้งคนเมืองและชาวไทยลื้อ ซึ่งมีประวัติยาวนาน ที่ผมประทับใจชาวไทยลื้อคือ เป็นคนขยันทำงานเกษตรและรักความก้าวหน้า จะพยายามส่งลูกเรียนหนังสือกันมาก และจำนวนไม่น้อยก็ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตก็มี ผมเองไปกินไปนอนบ้านชาวไทยลื้อบ่อย เพราะทำอาหารอร่อย สาวก็งามด้วย อิอิ..


อาชีพหลักก็คือปลูกข้าวนาปีและข้าวไร่ เนื่องจากพื้นที่อยู่ในหุบเขา การถือครองต่อครัวเรือนจึงมีไม่มาก ข้าวจึงเป็นพืชที่สำคัญที่สุด ต้องพยายามทำให้พอกิน การดูแลเอาใจใส่นาจึงเต็มที่ มีการทำเหมืองฝาย ทั้งใหญ่เล็กมากมาย ทั้งฝายแม้ว ฝายม้ง เต็มไปหมด เนื่องจากน้ำท่าบริบูรณ์เพราะอยู่ในเขตภูเขา นอกจากนั้นหลังนาก็จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ กระเทียม ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย ถั่วเหลือง หอมแดง ฯลฯ กระเทียมนั้นขึ้นชื่อมาก เพราะน้ำดี ดินดี ผลผลิตจึงสมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ก็งามแล้ว

นอกจากนี้ในพื้นที่สะเมิงไกลออกไปเป็นตำบลบ่อแก้วติดเขตอำเภอปาย แม่ฮ่องสอน เป็นดอยสูง ก็จะเป็นพื้นที่ชาวไทยภูเขา ส่วนมากเป็นม้ง กะเหรี่ยง มูเซอร์ ม้งจะมีมากที่สุด และเป็นราชาคนภูเขาเลย เพราะขยันทำมาหากินมากที่สุดและปลูกฝิ่นเป็นดงใหญ่ทีเดียว ช่วงที่ผมไปอยู่สะเมิงใหม่ๆนั้นนโยบายปรายฝิ่นยังไม่แรงมากเท่าไหร่ ไร่ฝิ่นจึงมีให้เห็นเหมือนอย่างข้าวไร่เลยทีเดียว พวกเราชอบที่จะขับมอเตอร์ไซด์ขึ้นไปดูไร่ฝิ่นกัน…

เสาร์อาทิตย์พวกเราก็ออกจากชนบทมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ มาเช่าบ้านแถวสันติธรรม สมัยนั้นยังเป็นหมู่บ้าน ไม่มีตึกรามใหญ่โตเหมือนปัจจุบัน เจ้าของบ้านก็เป็นตำรวจกองเมืองเชียงใหม่ เราจึงสบายใจที่เช้าบ้านหลังนั้น อยู่กัน 5-6 คน ไปซื้ออาหารมาทำกินบ้าง ไปกินตามร้านรวงตามซอกมุมต่างๆที่ชอบบ้าง แล้วก็กลับมาซุกหัวนอนกัน เช้ามืดวันจันทร์ก็รีบบึ่งมอเตอร์ไซด์เข้าพื้นที่…

วันหนึ่งที่บ้านเช่าหลังนี้ในเมืองเชียงใหม่ มีชาวเขาเผ่าม้งคนหนึ่งเดินเข้ามาในบ้าน พร้อมกับถามหานายตำรวจคนหนึ่ง.. เราก็งง เราบอกว่าที่นี่ไม่มีใครเป็นตำรวจ เราเป็นนักพัฒนาที่สะเมิงมาเช่าบ้านหลังนี้ ชาวเขาคนนี้ก็ดีใจ บอกว่า เขาก็อยู่สะเมิง ที่บ่อแก้ว ชื่อนายหวื่อ แซ่ย่าง..

ท่านที่เคยคุ้นเคยชาวไทยภูเขาพูดภาษาไทยคงพอเดาสำนวนออกนะครับว่า คำที่พูดนั้นจะไม่มีตัวสะกด เราคุ้นเคยสำนวนเหล่านี้ดีจึงรู้เรื่องที่นายหวื่อสื่อสารกับเรา สรุปความว่า เขามาหานายตำรวจ ตชด.ท่านหนึ่งที่เขารู้จักดี และเคยเช่าบ้านหลังนี้ ทั้งนี้เขามาหาเพราะเดือดร้อน ว่า เมียเขาตาย และไม่มีเงินจะทำศพ ไม่มีเงินจะซื้อข้าวไปเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน จึงอยากมาขอเงิน ตชด.ท่านนั้นไปซื้อข้าวจัดงานศพเมีย….

ผมและเพื่อนๆที่เช่าบ้านหลังนี้ได้ฟังก็รู้เรื่อง เข้าใจความต้องการ หลังจากซักไซ้ว่าบ้านอยู่ตรงไหนของตำบลบ่อแก้ว เพราะเราก็ขึ้นไปเที่ยวแห่งนั้นหลายครั้ง แต่ไม่เคยพบนายหวื่อ แซ่ย่างคนนี้ แต่เขาก็ตอบถูกหมดว่า ผู้ใหญ่บ้านชื่ออะไร มีเจ้าหน้าที่ราชการใครบ้าง ครูชื่ออะไร ตอบถูกหมด พวกเราก็เชื่อใจ และความเป็นนักพัฒนาก็สงสารเรื่องที่เขาเดือดร้อน…


นายหวื่อตกลงขอความช่วยเหลือจากเราเป็นข้าวสารหนึ่งกระสอบ แถมยังเชิญไปงานศพเมียเขา หากขึ้นไปบ่อแก้วก็ไปหาเขาจะให้ลูกหมาน้อย ที่เราเรียกกันว่า หมาแม้วหนึ่งตัว เราตกลงกันว่าจะไปเบิกเงินที่อำเภอแม่ริมให้นายหวื่อไปซื้อข้าวหนึ่งกระสอบ เมื่อจัดการเสร็จ นายหวื่อได้เงินสดไปซื้อข้าวแล้ว เราก็ไปทำงานตามปกติ…

หนึ่งสัปดาห์ผ่านมา พวกเรานัดกันขับมอเตอร์ไซด์ไป บ่อแก้ว เที่ยวดูไร่ฝิ่น และเยี่ยมนายหวื่อ แซ่ย่างหน่อย หากโอกาสดีก็จะขอลูกหมาน้อยที่นายหวื่อออกปากให้ไว้เอาลงมาที่สะเมิงด้วย พวกเราสนุกสนานกันเมื่อได้ขับมอเตอร์ไวด์เที่ยวตามยอดดอยเช่นนั้น วิว ทิวทัศน์สวย อากาศดี หากพบไร่ฝิ่นดี เพราะดอกฝิ่นสวยมาก(แต่พิษร้ายเหลือเกิน) ส่วนมากก็แดง และขาว หรือสลับแดงขาวกัน เราถ่ายรูปกันจนหนำใจก็ไปหานายหวื่อตามที่เขาเคยบอกไว้ว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้..

หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ ถามตามร้านขายของเล็กๆก็ไม่รู้จัก เราชักเอะใจ จึงตรงไปหาผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นม้งเช่นกัน ถามหานายหวื่อ แซ่ย่าง ผู้ใหญ่บ้านก็คิ้วขมวดนึกเป็นนานก็ตอบว่าในหมู่บ้านนี้ไม่มีคนม้งชื่อนายหวื่อ แซ่ย่างเลย แซ่ย่างนั้นมี แต่ชื่อหวื่อนี้ไม่มี เอ้าไปถามม้งแซ่ย่างหลายต่อหลายคนก็บอกว่า ไม่มีญาติชื่อหวื่อ…….ไม่มีคนตาย ไม่มีผู้หญิงตาย ไม่มีเมียใครตายซักคน…

พวกเรามองหน้ากันแล้วก็ร้องอือ..เสร็จแล้วพวกเรา…เสร็จชาวไทยภูเขาซะแล้ว..

นักพัฒนาชนบทโดนชาวไทยภูเขาหลอกเข้าแล้ว…อิอิ…เอิ๊กกก…โส..น้า..น่า…

(ภาพเหล่านี้มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้วครับ)



Main: 0.030270099639893 sec
Sidebar: 0.029736995697021 sec