ศาลาวัดหลังเก่า: ประเด็นสำหรับ Dialogue for Consciousness
ตั้งใจจะเขียนเรื่องตลาดชุมชนที่ผมไปร่วมงานมาเมื่อวานนี้ แต่อดใจไม่ได้ที่จะหยิบเอาเรื่องศาลาวัดแห่งนี้มาก่อน
ผมมีความประทับใจลึกๆเกี่ยวกับศาลาวัดอย่างในรูปนี้ ซึ่งวัดอื่นๆสมัยโบราณโดยเฉพาะในชนบทจะมีกันเกือบทุกวัด มีขนาด ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่ศรัทธาและเงื่อนไขของชุมชนนั้นๆ
ศาลาวัดมีไว้ทำอะไร??
เอาไว้จัดงานบุญต่างๆ ฟังเทศน์ฟังธรรม เอาไว้จัดงานศพในบางแห่งบางพื้นที่ เอาไว้นั่งพักผ่อน เอาไว้จัดประชุมชาวบ้าน ….. ถูกหมดครับ แต่ในที่นี้ต้องการจะกล่าวการใช้ประโยชน์ศาลาวัดเพื่อคนสัญจรไปมาได้พักผ่อน น่าจะเรียกอะไรคล้ายๆความหมายว่าโรงทาน..ทำนองนั้น ผมไม่ได้ถามชาวบ้านว่าภาษาถิ่นเขาเรียกว่าอะไร…ท่านผู้ใดทราบกรุณาบอกด้วยครับ..
สมัยโบราณไม่มีถนนหนทางดีดี ไม่มียานพาหนะ ไปไหนมาไหนใช้วิธีเดินด้วยเท้า อย่างดีก็ม้าต่างวัวต่างเป็นต้น และสมัยโบราณก็มีผู้มีอาชีพค้าขายระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างถิ่นเช่นเดียวกัน เช่น ขายเกลือ ขายน้ำมันก๊าด ขายเสื้อผ้า ขายยาสมุนไพร หรือแลกเปลี่ยนสิ่งของและอื่นๆตามยุคสมัย
คนสมัยก่อนที่ยังเป็นยุคบุกเบิกกันนั้น คนเดินทางด้วยเท้าไปแสวงหาถิ่นที่อยู่ใหม่ๆ ไปหาญาติพี่น้องต่างถิ่น การเดินทางก็ใช้เวลาหลายวัน ระหว่างทางก็ต้องอาศัยศาลาวัดเช่นนี้แหละเป็นที่พักผ่อน นอนพัก หากไม่มีคนรู้จักในหมู่บ้านนี้ ได้อาศัยข้าวก้นบาตร ได้อาศัยน้ำเย็นๆจากวัด ร่มเงาศาสนาแผ่ครอบคลุมหัวจิตหัวใจคนไทยโบราณมานาน
ผมมาดงหลวงปีแรก (2544) ก็ยังเห็นพ่อค้ามาขายเสื้อผ้า ยาสูบ และของใช้ในครัวเรือนสารพัด เอารถปิคอัพเก่าๆมา และมาพักกันที่ศาลาแห่งนี้ ทั้งๆที่มีศาลาใหญ่สวยงาม แต่เขามาใช้ศาลาแห่งนี้เพื่อพักผ่อนนอนกินที่นี่
คนที่เห็นแล้วผ่านเลยไปไม่ได้คิดอะไรก็แค่นั้น แต่ผมคิด ว่านี่คือวัฒนธรรมสังคมไทยโบราณของเรา ที่เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่คนต่างหน้า แปลกถิ่นให้มีที่กินที่นอน เหมือนคนภาคเหนือมีตุ่มใส่น้ำดื่มหน้าบ้าน…ทุกบ้าน ใครผ่านมาหิวก็สามารถดื่มกินได้…ช่างสวยงามจริงๆ นี่มั๊งสาวเหนือจึงงามแต้ๆ…งามทั้งกายทั้งใจ…อิอิ..
โรงทาน หรือศาลาวัดแห่งนี้เก่ามากแล้วทรุดโทรม คงถูกใช้ประโยชน์มาเท่าอายุคนทีเดียว ปัจจุบันไม่เห็นใช้ประโยชน์อะไรแล้ว เพราะมีศาลาวัดหลังใหม่ ใหญ่กว่า โอ่อ่ากว่า แต่วัดก็ไม่ได้รื้อศาลาหลังนี้ไปทิ้ง
อาคารหลังนี้ไม่มีคุณค่าทางศิลปะความงดงามล้ำค่าแต่อย่างใด แต่…
ผมนึกไปถึงว่าทำไมโรงเรียนไม่ใช้อาคารเก่าที่กำลังผุพังหลังนี้มาเป็นวัตถุโบราณเป็นครูสอน สะท้อนวัฒนธรรมดีงามของสังคมไทยรุ่นพ่อแม่เรา เอานักเรียนมานั่งที่นี่ มาสัมผัสจิตวิญญาณแห่งอดีตของเรา เอาผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ เจ้าอาวาส มาเล่าประวัติ เล่าถึงการใช้ประโยชน์ในอดีตที่ผ่านมา.. (อย่าไปซุกหัวแค่ในห้องสี่เหลี่ยม จนสมองทึบกันหมดแล้ว) ย้อนรอยถอยหลังไปในอดีตที่เราร่ำรวยน้ำใจ เราฟุ่มเฟือยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราล้นเหลือการทำทาน ให้ทานแก่ผู้ผ่านทาง….. มาซักไซร้ไล่เรียง สอบถาม เล่าความ บรรยาย สัมผัส แล้วเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในวิถีชีวิตของคนโบราณก็จะหลุดออกมาเป็นกะบิ แล้วมาลงท้ายด้วยการกราบงามๆแก่พ่อใหญ่แม่ใหญ่ผู้เป็นวิทยากรท่านนั้นๆ จะเลยไปถึงผูกข้อต่อแขน รดน้ำดำหัวก็ไม่ผิดอะไร…
พ่อแม่เรา พ่อใหญ่แม่ใหญ่เรามีชีวิตหล่อหลอมมาอย่างนี้ เราให้กันอย่างนี้ ลูกหลานเอาเป็นตัวอย่าง เรียนรู้ไว้ ก่อนที่จะเติบใหญ่เป็นคนในสังคมใหม่ที่ขาดแคลนทาน การให้ ยากจนน้ำใจ ตระหนี่ถี่เหนียวผิดมนุษย์มนาในเรื่องไม่เป็นเรื่อง สังคมจะอยู่ได้อย่างไรหากทุนสังคมเดิมดีดีของเราหดหายไปจนสิ้น สิ่งที่งอกเงยมามีแต่การเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่งกัน ไขว่คว้าปริมาณให้มากที่สุด ละเลยคุณค่าทางใจแก่กัน
ภาพเหล่านี้สะท้อนใจผมมากครับ….เพื่อนร่วมโลก..
ผมเรียกการกระทำพูดคุยของคนต่างวัย ต่างรุ่น แบบนี้ว่า Dialogue for consciousness or awareness เป็นสุนทรียสนทนาอีกแบบหนึ่ง ที่ทำเพื่อปลุกสำนึกคนรุ่นดิจิตอลให้เห็น รับรู้ สัมผัสและตระหนักคุณค่าทางวัฒนธรรมดีดีของเราครับ