ศาลาวัดหลังเก่า: ประเด็นสำหรับ Dialogue for Consciousness
อ่าน: 4747
ตั้งใจจะเขียนเรื่องตลาดชุมชนที่ผมไปร่วมงานมาเมื่อวานนี้ แต่อดใจไม่ได้ที่จะหยิบเอาเรื่องศาลาวัดแห่งนี้มาก่อน
ผมมีความประทับใจลึกๆเกี่ยวกับศาลาวัดอย่างในรูปนี้ ซึ่งวัดอื่นๆสมัยโบราณโดยเฉพาะในชนบทจะมีกันเกือบทุกวัด มีขนาด ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่ศรัทธาและเงื่อนไขของชุมชนนั้นๆ
ศาลาวัดมีไว้ทำอะไร??
เอาไว้จัดงานบุญต่างๆ ฟังเทศน์ฟังธรรม เอาไว้จัดงานศพในบางแห่งบางพื้นที่ เอาไว้นั่งพักผ่อน เอาไว้จัดประชุมชาวบ้าน ….. ถูกหมดครับ แต่ในที่นี้ต้องการจะกล่าวการใช้ประโยชน์ศาลาวัดเพื่อคนสัญจรไปมาได้พักผ่อน น่าจะเรียกอะไรคล้ายๆความหมายว่าโรงทาน..ทำนองนั้น ผมไม่ได้ถามชาวบ้านว่าภาษาถิ่นเขาเรียกว่าอะไร…ท่านผู้ใดทราบกรุณาบอกด้วยครับ..
สมัยโบราณไม่มีถนนหนทางดีดี ไม่มียานพาหนะ ไปไหนมาไหนใช้วิธีเดินด้วยเท้า อย่างดีก็ม้าต่างวัวต่างเป็นต้น และสมัยโบราณก็มีผู้มีอาชีพค้าขายระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างถิ่นเช่นเดียวกัน เช่น ขายเกลือ ขายน้ำมันก๊าด ขายเสื้อผ้า ขายยาสมุนไพร หรือแลกเปลี่ยนสิ่งของและอื่นๆตามยุคสมัย
คนสมัยก่อนที่ยังเป็นยุคบุกเบิกกันนั้น คนเดินทางด้วยเท้าไปแสวงหาถิ่นที่อยู่ใหม่ๆ ไปหาญาติพี่น้องต่างถิ่น การเดินทางก็ใช้เวลาหลายวัน ระหว่างทางก็ต้องอาศัยศาลาวัดเช่นนี้แหละเป็นที่พักผ่อน นอนพัก หากไม่มีคนรู้จักในหมู่บ้านนี้ ได้อาศัยข้าวก้นบาตร ได้อาศัยน้ำเย็นๆจากวัด ร่มเงาศาสนาแผ่ครอบคลุมหัวจิตหัวใจคนไทยโบราณมานาน
ผมมาดงหลวงปีแรก (2544) ก็ยังเห็นพ่อค้ามาขายเสื้อผ้า ยาสูบ และของใช้ในครัวเรือนสารพัด เอารถปิคอัพเก่าๆมา และมาพักกันที่ศาลาแห่งนี้ ทั้งๆที่มีศาลาใหญ่สวยงาม แต่เขามาใช้ศาลาแห่งนี้เพื่อพักผ่อนนอนกินที่นี่
คนที่เห็นแล้วผ่านเลยไปไม่ได้คิดอะไรก็แค่นั้น แต่ผมคิด ว่านี่คือวัฒนธรรมสังคมไทยโบราณของเรา ที่เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่คนต่างหน้า แปลกถิ่นให้มีที่กินที่นอน เหมือนคนภาคเหนือมีตุ่มใส่น้ำดื่มหน้าบ้าน…ทุกบ้าน ใครผ่านมาหิวก็สามารถดื่มกินได้…ช่างสวยงามจริงๆ นี่มั๊งสาวเหนือจึงงามแต้ๆ…งามทั้งกายทั้งใจ…อิอิ..
โรงทาน หรือศาลาวัดแห่งนี้เก่ามากแล้วทรุดโทรม คงถูกใช้ประโยชน์มาเท่าอายุคนทีเดียว ปัจจุบันไม่เห็นใช้ประโยชน์อะไรแล้ว เพราะมีศาลาวัดหลังใหม่ ใหญ่กว่า โอ่อ่ากว่า แต่วัดก็ไม่ได้รื้อศาลาหลังนี้ไปทิ้ง
อาคารหลังนี้ไม่มีคุณค่าทางศิลปะความงดงามล้ำค่าแต่อย่างใด แต่…
ผมนึกไปถึงว่าทำไมโรงเรียนไม่ใช้อาคารเก่าที่กำลังผุพังหลังนี้มาเป็นวัตถุโบราณเป็นครูสอน สะท้อนวัฒนธรรมดีงามของสังคมไทยรุ่นพ่อแม่เรา เอานักเรียนมานั่งที่นี่ มาสัมผัสจิตวิญญาณแห่งอดีตของเรา เอาผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ เจ้าอาวาส มาเล่าประวัติ เล่าถึงการใช้ประโยชน์ในอดีตที่ผ่านมา.. (อย่าไปซุกหัวแค่ในห้องสี่เหลี่ยม จนสมองทึบกันหมดแล้ว) ย้อนรอยถอยหลังไปในอดีตที่เราร่ำรวยน้ำใจ เราฟุ่มเฟือยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราล้นเหลือการทำทาน ให้ทานแก่ผู้ผ่านทาง….. มาซักไซร้ไล่เรียง สอบถาม เล่าความ บรรยาย สัมผัส แล้วเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในวิถีชีวิตของคนโบราณก็จะหลุดออกมาเป็นกะบิ แล้วมาลงท้ายด้วยการกราบงามๆแก่พ่อใหญ่แม่ใหญ่ผู้เป็นวิทยากรท่านนั้นๆ จะเลยไปถึงผูกข้อต่อแขน รดน้ำดำหัวก็ไม่ผิดอะไร…
พ่อแม่เรา พ่อใหญ่แม่ใหญ่เรามีชีวิตหล่อหลอมมาอย่างนี้ เราให้กันอย่างนี้ ลูกหลานเอาเป็นตัวอย่าง เรียนรู้ไว้ ก่อนที่จะเติบใหญ่เป็นคนในสังคมใหม่ที่ขาดแคลนทาน การให้ ยากจนน้ำใจ ตระหนี่ถี่เหนียวผิดมนุษย์มนาในเรื่องไม่เป็นเรื่อง สังคมจะอยู่ได้อย่างไรหากทุนสังคมเดิมดีดีของเราหดหายไปจนสิ้น สิ่งที่งอกเงยมามีแต่การเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่งกัน ไขว่คว้าปริมาณให้มากที่สุด ละเลยคุณค่าทางใจแก่กัน
ภาพเหล่านี้สะท้อนใจผมมากครับ….เพื่อนร่วมโลก..
ผมเรียกการกระทำพูดคุยของคนต่างวัย ต่างรุ่น แบบนี้ว่า Dialogue for consciousness or awareness เป็นสุนทรียสนทนาอีกแบบหนึ่ง ที่ทำเพื่อปลุกสำนึกคนรุ่นดิจิตอลให้เห็น รับรู้ สัมผัสและตระหนักคุณค่าทางวัฒนธรรมดีดีของเราครับ
Next : Children Damaged by Materialism (1) » »
14 ความคิดเห็น
อื้อหือประเด็นนี้คมมากค่ะพี่บู๊ท
นึกในใจถึงคำกล่าวว่าบุคคลใดไม่เลือกว่าจะเป็นหญิงหรือชายมีทรัพย์ 7 อย่างคือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ และทรัพย์คือปัญญา บัณฑิตเรียกบุคคลนั้นว่าไม่เข็ญใจ และชีวิตของเขาไม่เปล่า ..ปรมัตถทีปนี อรรถกถายุกกกนิกาย อุทาน
แปะไว้ก่อนค่ะ จะมาคุยต่อตอนเย็น อิอิอิ
ตอนเฮฮาศาสตร์ ออตถ่ายละเอียดมากแต่ลืมไปว่าไฟล์รูปอยู่ไหน ค้นเท่าไหร่ก็ไม่เจอเสียดายมาก
1.ศาลาหลังเก่านี้งดงามและสัดส่วนมีเอกลักษณ์มากจะว่าไปทางผู้ไทก็ไม่ทั้งหมด แต่ดูแล้วมีอัตตลักษณ์มาก หากถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่จะงามมากเป็นไหน ๆ
2.หากนำมาปัดฝุ่นใหม่และมีการย้อนกลับการใช้ประโยชน์จากศาสนาคารแบบเดิมหรือเติมเต็มกิจกรรมใหม่ ๆ เข้าไป ดูจะเป็นสวนสวรรค์สำหรับพี่น้องและชุมชนมาก
3.ขอบคุณชาวดงหนาวที่เมื่อเข้าไปทำงานพัฒนา ไม่ลืมที่จะปัดฝุ่นอาคารไม้เก่ามาใช้อีกครั้ง แม้จะมีศาสนาคารหลังใหญ่กว่า……
น้องแก้มป่องน่ารักคนนี้
ที่วิเศษชัยชาญบ้านพี่นั้นอยู่ติดรั้ววัดเลย จึงเห็นกิจกรรมตลอดว่าที่วัดมีอะไรบ้าง หลวงตาที่วัดก็เคยเป็นที่พึ่งของครอบครัวเรามาก่อน
พี่เห็นคนต่างถิ่นต่างหน้าเดินทางมา ผ่านมาแล้วก็มาจบลงที่วัด ที่เห็นบ่อยๆๆในสัมยนั้นคือ คนจากอีสานมีห่อผ้าห่อใหญ่อยู่ข้างหลัง เดินไปตามหมู่บ้านแล้วก็ร้องขายผ้าไหม ผ้าฝ้ายทั้งผ้าถุงสำเร็จรูป และผ้าที่เป็นชิ้นๆ ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านก็จะออกมาดูผ้ากัน บ้างก็ซื้อ บ้างก็ติชมต่างๆ คนเหล่านี้จะเดินทางมากันเป็นกลุ่มแล้วแยกย้ายกันไปตามหมู่บ้านต่างๆแล้วก็มาจบลงที่วัด หุงหาอาหารกิน พักผ่อน พระที่วัดก็เอาข้าปลาอาหารที่เหลือ หรือส่วนเกินมาบริจาค
พี่ยังแอบไปดูเขาเลย … สมัยนั้นเราไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่อเรามาทำงานและเห็นวัฒนธรรมเหล่านี้แล้ว คิดถึงสังคมอดีตมากๆ นึกหวงแหนคุณค่าดีงามเหล่านั้น
อย่างน้อยอยากให้เด็กรุ่นหลังได้สัมผัสพัฒนาการของสังคมแบบนี้ ทำไมสังคมปัจจุบันจึงไม่เหลือหรอคุณค่า หรือลดน้อยถอยลงไป รูปแบบอาจเปลี่ยนไปได้ แต่คุณค่าควรจะคงอยู่ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น…
เราเรียกร้องคืนมาไม่ได้ แต่เราสามารถหยิบเอาคุณค่าเหล่านั้นมาสร้างสำนึกคนรุ่นใหม่ได้ อย่างน้อยเขาจะได้ผ่านพัฒนาการทางสังคมอย่างครบถ้วนทั้งรูปธรรมและนามธรรม มิใช่ วัตถุดีขึ้น เช่นถนน หนทาง การคมนาคม แต่นามธรรมคือคุณค่าทางจิตใจสลายหายไป
แนวคิดเหล่านี้ถูกแปรเป็นหลักสูตรการฝึกอบรม การพูดจากันในกลุ่มผู้นำ ปราชญชาวบ้าน และเพื่อนร่วมงานเพื่อเอาโบราณวัตถุมาเป็นครูสอนสำนึก…ครับ
ออตน้องรัก
ตอนเฮฮาศาสตร์ ออตถ่ายละเอียดมากแต่ลืมไปว่าไฟล์รูปอยู่ไหน ค้นเท่าไหร่ก็ไม่เจอเสียดายมาก
1.ศาลาหลังเก่านี้งดงามและสัดส่วนมีเอกลักษณ์มากจะว่าไปทางผู้ไทก็ไม่ทั้ง หมด แต่ดูแล้วมีอัตตลักษณ์มาก หากถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่จะงามมากเป็นไหน ๆ
2.หากนำมาปัดฝุ่นใหม่และมีการย้อนกลับการใช้ประโยชน์จากศาสนาคารแบบเดิมหรือ เติมเต็มกิจกรรมใหม่ ๆ เข้าไป ดูจะเป็นสวนสวรรค์สำหรับพี่น้องและชุมชนมาก
3.ขอบคุณชาวดงหนาวที่เมื่อเข้าไปทำงานพัฒนา ไม่ลืมที่จะปัดฝุ่นอาคารไม้เก่ามาใช้อีกครั้ง แม้จะมีศาสนาคารหลังใหญ่กว่า……
———————————————–
เอ่อ…. พี่ก็เกิดปัญหาเช่นนั้นบ่อยๆ..อิอิ
คนมีศิลปอย่างออตจะบรรยายได้ดีกว่าพี่ และเห็นค่ามากกว่าในหลายมิติ
น่าเสียดายที่ชุมชนแห่งนี้จะเดินผ่านกาลเวลาไปโดยทิ้งคุณค่าของอาคารหลังนี้ไป
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอุดมการณ์สังคมใหม่เข้ามาเคลือบความคิดเขาให้ไหลไปตามกระแส
เหมือนครั้งหนึ่งพ่อแม่เราทำนาโดยใช้ขี้ควายใส่นา ต่อมาหลงไหลปุ๋ยเคมี แล้วมาสมัยนี้เริ่มหันหลังกลับไปใช้ขี้วัวขี้ควายกันอีก ช่วงเวลาที่เราหลงไหลปุ๋ยเคมีนั้น ก็คือช่วงปัจจุบันที่เราหลงไหลกับระบบค่านิยมของทุน โลกาภิวัฒน์ ไม่รู้ว่านานสักเท่าไหร่ที่จะหันกลับไปมองของเก่า อีก หรือไม่มีทาง ไหลไปเรื่อยๆ แบบกู่ไม่กลับ
นี่แหละภารกิจของคนทำงานพัฒนาเชิงสร้างสำนึกที่ต้องคิดมากกว่าการทำเพียงกิจกรรมเท่านั้น
พี่คงมีเรื่องไปคุยกับคณะกรรมการหมู่้บาน กำนัน สอบต. และผู้นำอื่นๆ ครูที่โรงเรียนบ้านแก่งนาง …..กลุ่มเยาวชน..เพื่อเนรมิตรอาคารหลังนี้ขึ้นมาในใจใหม่
ขอบคุณครับ
อ้อ ออต บอกราคาค่าเสื้อที่ไปไว้ที่ห้องอาจารย์สินีมาด้วยนะครับ… อยากไปเยี่ยมสำนักงานใหม่..ตอนนี้เปลี่ยนอยู่ขอนแก่น จะกลับไปลาววันศุกร์นี้ เขาอยากคุยกับออต เรื่องงาน ออตติดต่อเปลี่ยนหน่อยนะ ที่ ส.ป.ก. ขอนแก่นครับ
Dialogue for consciousness or awareness
ตรงใจดีจริงๆค่ะพี่ ตัวกวนนี้ดีนะค่ะ
มุมมองอีกมุมหนึ่งที่เห็น คือ ครูที่มาสอนเด็กส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นใหม่ซะมากมาย ซึ่งวิถีที่เขาเติบโตผ่านมา บางคนนะเขาไม่เคยสัมผัสเรื่องเหล่านี้ จนซึมซับมุมดีๆที่มี นี่แหละค่ะที่ทำให้ดูจะยาก ที่จะทำให้เมื่อมีวงสนทนา ครูจะสามารถโยนตัวกวนออกมาให้ ผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ เจ้าอาวาส มาเล่าประวัติ เล่าถึงการใช้ประโยชน์ในอดีตที่ผ่านมา..แล้วโยนตัวกวนไปทำให้เด็กที่เรียน สัมผัสจิตวิญญาณแห่งอดีตของเรา ได้ซึ้ง
การที่ครูจะเข้าใจว่า ตัวกวนอะไรที่จะทำให้ทองในตะกอนมันตีขึ้นมาให้ตักได้ ครูควรมีประสบการณ์ซึมซับมาก่อน ว่าตัวกวนแต่ละตัวโยนลงไปแล้ว มันกวนอะไรให้ตีขึ้นมา โยนไม่ดีตัวกวนที่ไม่ใช่ทองมันจะฟุ้งขึ้นมาได้ด้วยค่ะพี่ นี่แหละคือประเด็นที่ควรหา ทำยังไง สิ่งที่อยากได้จึงได้มา ภายใต้เงื่อนเวลาของคนที่มีประสบการณ์สะสมมาต่างยุคกัน
แบบนี้ใช่มั้ยคะที่เรียกว่าทุนทางสังคม ที่ธนาคารโลกก็ให้ความสำคัญในฐานะรูปแบบของทุนแบบหนึ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนา โดยมุ่งเน้นทุนทางสังคมในรูปของความยึดเหนี่ยวทางสังคม สถาบันทางสังคมและบรรทัดฐาน รวมถึงจารีต ที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ ทั้งที่เกิดจากคนภายในชุมชนและจากการพัฒนาขององค์กรภายนอก
โดยทุนทางสังคมทำหน้าที่เชื่อมโยงให้เกิดความสัมพันธ์หรือความร่วมมือระหว่างกันขององค์กร อันจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน..จะว่าไปเรามีปัจจัยที่จะช่วยสร้างทุนด้านนี้ไม่น้อยเลยนะคะ แม้จะพร่องไปบ้างก็ตาม
ชอบที่น้องออตเห็นว่าศาลาหลังนี้มีสัดส่วนที่สวยมาก เพราะติดใจหลังคาเค้าค่ะพี่บู๊ท หลังคาซ้อนสองชั้นหรือเปล่าคะ ลักษณะหลังคาของแต่ละที่บอกถึงลมฟ้าอากาศได้อย่างดี แบบนี้อากาศทางนั้นคงจะร้อน พายุไม่น่าจะแรงเพราะหลังคาไม่คุ้มต่ำ
ลุงบางทรายโยนโจทย์ได้ดีมากครับ กระตุกให้เอีะ ๆ ๆ ๆ เลยครับ
คงต้องช่วยกันออกแรงรักษาสิ่งดีๆไว้ให้สังคมไทยครับ
จอมป่วนขอไปฟื้นประเพณีอู้สาวของทางเหนือดีกว่า (แต่ไม่กล้าผิดผี) ตอนวัยรุ่นชอบมากๆ ขอบอก อิอิ
สาวตาครับ..
พี่เคยใช้ Dialogue for consciousness or awareness บ้างเหมือนกัน ตอนนั้นทำงานพัฒนาใหม่ๆ เทคนิคนี้มาจากสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เป็นสมัยที่คุณวิศิษย์ วังวิญญูก็อยู่ คลุกคลีกับสิ่งนี้ จึงพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
ตอนที่พี่ทำนั้นยังเรียกว่า “มือใหม่ หัดขับ” เราใช้วัดเก่า และเจดีย์เก่าเป็น subject cแล้วเชิญผู้เฒ่าผู้แก่มาเล่าเรื่องเก่าความหลังความเป็นมาเป็นไปให้เยาวชนฟัง…. เราเป็นคนตั้งประเด็น Facilitator กระตุ้นให้เยาวชนซักถาม คิด สรุป ได้ผลครับ เพราะผู้เฒ่าเอาชีวิตจริงมาพูด ซึ่งอย่างว่าแหละ เล่าไปเล่ามามันก็เกี่ยวข้องกับครอบครัวทุกครอบครัว เกี่ยวข้องกับพ่อแม่ของเยาวชนทุกคน มากน้อย หนักเบาต่างกัน แต่ร่วมสมัยเดียวกัน ร่วมความเชื่อ ศรัทธาเดียวกัน “กินข้าวร่วมชามกินน้ำร่วมขันกันมา” สำนึกกความเป็นพี่น้องมันสูงมากๆ ความรู้สึกนึกคิดนี้ถูกปลุกขึ้นมาและถ่ายทอดสู่สำนึกของเยาวชน คนรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการ dialogue ง่ายๆ รับได้ตรงๆ และ รับรู้ได้ทันที
ต่อมาเยาวชนเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสืบต่อวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชนต่อไป ถึงแม้ว่าเขาหลายคนต้องจากหมู่บ้านไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือที่อื่นๆ แต่ในชีวิตนี้เขาไม่ลืมสิ่งเหล่านี้ และติดในสำนึกเขา แม้จะมากน้อยต่างกัน แต่เขาได้ผ่านมันมาแล้ว ซึ่งหากมีกระบวนการใดๆเข้ามากระทำเขาก็สามารถ recall สำนึกเหล่านั้นขึ้นมาได้อีก
เห็นด้วยครับว่า Facilitator จะต้องมีประสบการณ์และรอบรู้จังหวะจะโคนที่จะเล่นบทนี้เพื่อ stimulate consciousness จะให้สมบูรณ์ต้องมีกระบวนการต่อเนื่อง หรือกิจกรรมต่อเนื่องไปอีก เพื่อให้ awareness นั้นแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่สร้างสรรค์ต่างๆออกมาแก่หมู่บ้าน สังคมที่เขาอยู่อาศัย ….
เสียดายที่ความต่อเนื่องมักมีข้อจำกัดด้วยระบบโครงสร้างโครงการที่ไม่เอื้อ ยิ่งภาบยใต้ระบบปกติของราชการยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ยกเว้นว่าผู้ใหญ่จะลงมาเล่นด้วย
สาวตาลองพัฒนากระบวนการนี้เอาไปใช้ดูซิครับ..
น้องแก้มป่องน่าหยิก..
แบบนี้ใช่มั้ยคะที่เรียกว่าทุนทางสังคม ที่ธนาคารโลกก็ให้ความสำคัญในฐานะรูปแบบของทุนแบบหนึ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนา โดยมุ่งเน้นทุนทางสังคมในรูปของความยึดเหนี่ยวทางสังคม สถาบันทางสังคมและบรรทัดฐาน รวมถึงจารีต ที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ ทั้งที่เกิดจากคนภายในชุมชนและจากการพัฒนาขององค์กรภายนอก
โดยทุนทางสังคมทำหน้าที่เชื่อมโยงให้เกิดความสัมพันธ์หรือความร่วมมือ ระหว่างกันขององค์กร อันจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน..จะว่าไปเรามีปัจจัยที่ จะช่วยสร้างทุนด้านนี้ไม่น้อยเลยนะคะ แม้จะพร่องไปบ้างก็ตาม
ชอบที่น้องออตเห็นว่าศาลาหลังนี้มีสัดส่วนที่สวยมาก เพราะติดใจหลังคาเค้าค่ะพี่บู๊ท หลังคาซ้อนสองชั้นหรือเปล่าคะ ลักษณะหลังคาของแต่ละที่บอกถึงลมฟ้าอากาศได้อย่างดี แบบนี้อากาศทางนั้นคงจะร้อน พายุไม่น่าจะแรงเพราะหลังคาไม่คุ้มต่ำ
———————————————–
ใช่แล้วครับนี่แหละ นี่แหละชัดเจนที่สุดเลย ทุนทางสังคมของเรา ซึ่งมีมากมาย ที่ยังคงอยู่และที่ค่อยๆเสื่อมสลายไปหายไปกับเวลาที่กระแสใหม่ทวนเข้ามาในชุมชน โดยเฉพาะแรงโหมของสื่อที่ประชาสัมพันธ์ลัทธิบริโภคเข้ามา… พี่เองมีส่วนทำการประเมินผลให้กับธนาคารโลกด้วย วันหลังจะเอารายงานนี้มาตีแผ่หน่อย…
พี่ยังคิดว่าโครงการพัฒนาทั้งที่พี่ทำอยู่นี้และที่ใครๆจะเสนอโครงการทำต่อไปนั้นน่ารที่จะใช้ตรงๆไปว่า การฟื้นฟูทุนทางสังคม…..เอาให้ชัดไปเลย วันหลังจะวิเคราะห์โครงการพัฒนาในประเทศไทยให้ฟังว่ามาถึงพ.ศ.นี้มันล้าหลังไปหมดแล้ว ทำเหมือนยี่สิบปีที่แล้วมา…
เห็นด้วยว่าเรามีทุนทางสังคมกระจัดกระจายอยู่ในสังคมมากมาย โดยเฉพาะในชนบท และที่แฝงอยู่ในเมืองก็มากมายเช่นเดียวกัน ยิ่งได้อ่านหนังสือที่ท่านอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินด้วยเท้าไม่มีเงินสักบาทจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุย ตลอดเส้นทางพบอะไรมากมาย ท่านมีชีวิตรอดปลอดภัยได้อย่างไรจนถึงสมุย อยู่ได้เพราะทุนทางสังคมเรามีอยู่ทั่วไป เรามองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่แฝงอยู่ทุกที่ทุกแห่ง มันจะปรากฏออกมาเมื่อมีปรากฏการณ์เกิดขึ้น หรือมีกิจกรรมทางสังคมเกิดขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา ประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธา…โดยเฉพาะตัวหลังนี้ เข้มแข็งมากๆ เราเคยได้ยินคนขับแท็กซี่เก็บเงินล้านได้แล้วเอาไปคืนผู้โดยสาร…. จิตใจเขาทำด้วยอะไรท่ามกลางสังคมใจกลางเมืองหลวงที่เป็นนักบริโภคสูงสุด….. เขาคือคนที่มาจากสังคมชนบท..หรือเปล่า… นักธุรกิจท่านหนึ่งที่สร้างโรงพยาบาลเพื่อรับผู้ป่วยไตมาฟอกไตฟรี….. จิตใจเขาทำด้วยอะไรหรือจึงทำกิจกรรมที่มีมูลค่าสูงนี้ให้แก่ผู้ป่วยฟรี….
หากจะมีคณะใดๆนั่งล้อมวงแล้วตั้งคำถามว่า เราเห็นคุณค่าแบบนี้ในพื้นที่ใกล้ตัวเราอะไรบ้าง มีคุณค่าอย่างไร ท่านรู้สึกอย่างไร และคิดว่าน่าจะทำอะไรเพื่อสืบสานคุณค่านั้นต่อไป แค่นี้ก็ได้เอกสารเล่มใหญ่เบ่อเริ่มทีเดียว…..แล้วหากมีการสานต่อให้เป็นรูปธรรม ก็จะสมบูรณ์ทีเดียว….น้องแก้มป่องครับ
เห็นด้วยว่าหลังคาสองชั้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการระบายอากาศ พายุไม่แรงครับ แม้จะแรงก็ไม่กระทบต่อหลังคานี้มากนักเพราะเป็นชุมชนที่อยู่ในหุบเขา มีต้นไม้ใหญ่หลายต้นเป็น wind brake ครับ
ขอบคุณครับจอมป่วน พอดีเราเห็นก็นึกได้ว่า มันมีของดีดีแฝงอยู่มากทีเดียว
ครับก็พยายาม ที่จะหยิบเอาประเด็นที่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ
ช่วยเติมกันไป มันก็จะสมบูรณ์มากขึ้น
ไปด้วยคนดิ.. อู้สาวน่ะ..
พี่บูธค่ะ ประเด็นทุนทางสังคมนี่น่ะ ยังควรที่จะมีคนขยายความ ให้เกิดความเข้าใจที่แจ่มชัด กับคนหลายๆอาชีพเหมือนกันนะพี่ โดยเฉพาะคนที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์นะตัวดี จับต้องเข้าใจแต่เปลือกจริงๆ คนสาธารณสุขส่วนใหญ่ก็ยังไม่ใคร่เข้าใจถ่องแท้ในเรื่องความลึกของมันที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะมองแค่ผิวเผิน มองเข้าไปไม่ถึงความรู้ในตัวคน ว่าเมื่อดึงออกมาแล้วมันส่งผลเด้งต่อได้อีกมหาศาลอย่างไร
น้องยังแค่เล็งๆอยู่ค่ะ เพราะว่าโอกาสที่จะลงถึงหมู่บ้านมีไม่มาก ตอนนี้พยายามที่จะฝึกปรือฝีมือกับคนในร.พ.ไปพลาง ที่มีโอกาสได้ไปคลุกคลีอยู่บ้าง ก็กระท่อนกระแท่นอยู่สักหน่อยค่ะพี่ หวังอยู่ว่าปีนี้ จะมีเวลาว่างพอที่จะลงมือเอาจริงได้ ปีนี้จึงวางทิศตัวเองไว้ว่าจะลงคลุกกับการขับเคลื่อนองค์กรท้องถิ่นดูสักหน่อย เพื่อทำความรู้จักกลไกที่เป็นโครงสร้างราชการที่พี่เอ่ยบอกเรื่องของการมีโอกาสขัดขวางให้เดินหน้าลำบากค่ะพี่
ลองเปิดเวทีคลุกห่างๆไปแล้วสองครั้ง พอจะมองเห็นทางเดินต่อได้ แล้วแปลกใจที่มีคนบอกว่า วางตัวหมอมาเป็นหลักอย่างนี้ work ซึ่งน้องคิดว่าไม่น่าจะใช่เหตุผลค่ะ
อุปสรรคสำคัญที่ค้นพบ คือ ข้าราชการติดกรอบเพราะความกลัวและมีช่องว่างระวังตัวเรื่องนักการเมือง มันเลยมีช่องถ่างให้ห่างออก จนลืมนึกถึงประโยชน์ของชาวบ้าน ว่าแท้จริงเขามีข้าราชการขึ้นมาเพื่อช่วยพ่อหลวงทำงานให้สำเร็จ หากว่านักการเมืองที่เขาทำงานอยู่ เขามีเจตนาทำเพื่อให้ชาวบ้านอยู่เป็นสุข ข้าราชการสามารถใช้ความสามารถที่มีอยู่มาปรับให้อยู่ภายใต้ความพอเหมาะพอดีได้นี่ค่ะ
สาวตาครับ
เห็นด้วยครับว่าสังคมเราฮือฮาอยู่พักหนึ่งแล้วตอนนี้ก็เงียบหายไป แม้ว่าในแผนชาติจะกล่าวถึงเรื่องนี้ก็ไม่มีใครหยิบมาเล่นจริงจังเท่าไหร่ เป็นความจริงครับที่คนที่เรียนทางสายวิทย์ข้ามเลยประเด็นทางสังคมนี้ไป พี่มองว่านี่คือจุดอ่อนของระบบหลักสูตรการเรียนการสอนของเราที่ผิดพลาด ไปสร้างเบ้าหลอมคน(หลักสูตร)ที่ไม่มีวิชาการด้านนี้ ดังนั้นความสมบูรณ์ของคนจึงขาดสาระด้านนี้ไปมาก ยกเว้นบางท่านที่มีความสนใจเป็นการส่วนตัว….เช่นคุณหมอประเวศ เป็นต้น….
ความจริงเห็นใจข้าราชการมากครับที่ติดแหง็กอยู่กับระเบียบ ข้อบังคับที่ล้าหลังแล้ว บ้านเมืองพัฒนามาไกลแล้ว เวลาผ่านมานานมากแล้วสังคมเคลื่อนตัวไปไกลแล้ว แต่ระบบปรับตัวไม่ทัน ระบบออกแบบมาเมื่อร้อยปีมาแล้ว เงื่อนไข สังคมเปลี่ยนไปแล้ว วิชาการความรู้ด้านการพัฒนาคนเปลี่ยนไปแล้ว ระบบก็ไม่ได้ปรับตัวให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เห็นใจ ครับ สักวันหนึ่งจะต้องปรับตัวใหญ่อีกมิเช่นนั้น ไม่ได้ เช่นทางการเมืองมีการลงชื่อ 50000 รายชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมืองได้ อนาคตระบบราชการก็สามารถจะทำในทำนองเดียวกันได้ หากข้าราชการคนใดทำงานผิดพลาดหรือบกพร่องมาก โดยเฉพาะคนเป็นนายที่ มีผลต่อองค์กรทั้งองค์กรแต่คุณสมบัติไม่เหมาะสม อย่างวที่พี่เจอะในปัจจุบันนี้
อ่านบันทึกแล้วมาอ่านถ้อยความที่แสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันไประหว่างเจ้าของบันทึกกับญาติบันทึก
เห็นว่างามครับและมีถ้อยความที่เห็นว่านี่เป็น”บุญของการ ให้ความรู้”และแลกเปลี่ยน”บุญรู้” กันจริง ๆ
ขอบคุณหลายออตครับ