ทายาทเกษตรกร

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 18, 2010 เวลา 0:13 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2841

ผมไม่คิดว่าเธอจะเสแสร้ง ผมเชื่อว่าเธอเหล่านั้นพูดความจริง

ผมต้องชื่นชมงานของมูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน เพื่อนร่วมโครงการที่เป็น NGO รับงานด้านพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และงานที่สำคัญคือ สร้างทายาทเกษตรกรขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง


การสัมมนาของเรามีเกษตรกรในโครงการเข้าร่วมมากกว่า 200 คนมาจาก 4 จังหวัดในโครงการคือ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร มูลนิธินี้เป็น เพียงหนึ่ง NGO ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผ่านเครือข่ายอินแปงที่ลือลั่นในอีสานมานาน

ท่านอาจารย์อนันต์ กาญจนพันธ์ แห่งมช.รายงานมานานแล้วว่า โครงสร้างสังคมชาวนาเปลี่ยนไป และหลายปีก่อนเพื่อนรักที่กำลังจะบวชที่เชียงใหม่ก็โทรมาคุยว่า “เฮ้ย..บู๊ด ชาวนาเชียงใหม่เปลี่ยนไปแล้วว่ะ ไม่มีใครทำนาแล้ว เป็นผู้จัดการนาต่างหาก เพราะจ้างแรงงานต่างชาติ เช่นพม่ามาทำแล้ว…??”

ผมกึ่งไม่เชื่อ แต่ก็ต้องจำนนความจริง เหมือนใครต่อใครกล่าวว่า พ่อแม่สร้างสมประสบการณ์เกษตรมามากมาย ปราชญ์และไม่ปราชญ์ทั้งหลายนั้น ลูกหลานท่านจะสืบต่ออาชีพเกษตรกรสักกี่ราย ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่ตำหนิท่านเหล่านั้น แต่สังคมเราเคลื่อนไปทางนั้น ไม่ว่าใครก็หันหน้าไปทางนั้น หันหลังให้ภาคเกษตร ระบบสังคมไม่ได้ใส่ใจจริงจังมากกว่า

แต่วันนี้ NGO นี้ได้สร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาจากการโน้มนำลูกหลานผู้นำเกษตรกรที่ร่วมงานมาพูดคุย มาศึกษา อบรม ศึกษาดูงาน ทำกิจกรรม และลงมือรับผิดชอบงานร่วมกับพ่อแม่

หญิงสามชายหนึ่งบนเวทีในรูปนั่นคือตัวแทนกลุ่มลูกหลานชาวนาของจังหวัดสกลนคร ขอนแก่น มหาสารคามและมุกดาหารที่ล้วนจบปริญญาตรีจากสถาบันต่างๆไม่ไปทำงานที่อื่น กลับมาบ้านเอาศักยภาพมาปรับการเรียนรู้การเกษตรและหลักการการพึ่งตัวเองในท้องถิ่นที่เขาเหล่านั้นอาศัยอยู่


น้องแต๋ว เธอคือลูกสาวของพ่อหวัง วงษ์กระโซ่แห่งเครือข่ายไทบรูดงหลวงเธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า ….”หนูไม่ลืมกำพืดของเกษตรกร” หนูเรียนรู้การเพาะกล้าไม้ ทำเรือนเพาะชำ ทำของใช้ในครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ ทำเกษตรผสมผสาน แปรรูปน้ำผลไม้ และอื่นๆ…. แรกๆหนูก็ไม่สนุก แต่หนูได้คุยกับเพื่อนๆที่มาจากต่างจังหวัดต่างก็เป็นลูกชาวนาเหมือนหนู.. แล้วหนูก็สำนึกได้ว่า นี่คือกำพืดหนู..สิ่งที่หนูทำไปตามที่พี่พี่เขาแนะนำนั้น มันทำให้หนูตระหนักถึงชีวิตที่ควรดำรง…

เล่นเอาผู้ใหญ่ พ่อ พ่อ แม่ แม่ ทั้งหลายน้ำตาคลอไปเลยจากคำสารภาพหลังจากที่เธอกล่าวเสร็จแล้วพิธีกรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น พ่อท่านหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า ผมซาบซึ้งใจที่ลูกหลานเหล่านี้ได้สำนึกและก้าวเดินตามรอยพ่อแม่ ซึ่งเชื่อว่าเธอจะก้าวไปดีกว่า เพราะเธอเหล่านี้ผ่านระบบโรงเรียนมาสูงกว่าพ่อแม่ และหันกลับมาบ้านเรา ทุ่งนาของเรา วัวควายของเรา ต้นไม้ของเรา ในฐานะที่เป็นพ่อคน ตื้นตันใจที่ลูกๆหลานได้สำนึกในกำพืดของเรา.. เล่นเอาที่ประชุมซึมไปเลย…

น้องแต๋ว เธอเป็นลูกพ่อหวัง วงษ์กระโซ่(ที่เพิ่งออกรายการคุยกับแพะ) แม่ของเธอ สนิทสนมกับเรามาตลอดเราเห็นเธอเป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้ว่าจะเป็นวัยรุ่น ที่มีกลิ่นอายของวัยรุ่นติดอยู่ แต่สำนึกของเธอนั้น ก้าวข้ามสังคมทุนไปแล้ว

เหลือแต่หน่ออ่อนเหล่านี้ต้องคอยรดน้ำพรวนดินให้เติบโตเข้มแข็ง ต่อสู้กับปัญหาข้างหน้าอีกมากมาย หากผ่านไปได้เธอก็คือของจริงที่จะยืนอยู่เคียงข้างพ่อแม่ และสืบต่อสังคมในยุคสมัยของเธอ เราพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้เธอเหล่านั้นอยู่แล้ว…


ท่ามกลางความมืดมน ก็มีแสงสว่างส่องรอดช่องออกมาบ้างนะครับ

ความเหนื่อยล้าของพ่อครูบาฯไม่สูญเปล่าหรอกครับ..


เรื่องของมัน.. พัฒนาการ

อ่าน: 2402

ประมาณปีพ.ศ. 2525 ผมทำงานที่สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่าพระ ขอนแก่น สมัยนั้นในโครงการพัฒนาการเกษตรอาศัยน้ำฝน (NERAD=Northeastern Rainfed Agricultural Development) โดยมี USAID เป็นผู้ให้เงินทุน กับทีมผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัย Kentucky ผมเพิ่งก้าวข้ามมาจาก NGO มาร่วมงานเป็นผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ ครั้งแรก ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมประจำโครงการ ตื่นเต้นซะ..

ในที่ทำงานเดียวกันช่วงนั้นมีโครงการคู่ขนานกันและใช้สำนักงานเดียวกันคือโครงการของกลุ่มประชาคมยุโรปเรื่อง “การลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง”.. ลำดับเรื่องนี้คือ หลังจากที่มีการปฏิวัติเขียว Green Revolution ที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาเรื่องการปลูกปอกระเจา เพื่อทำกระสอบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จึงมีการนำเข้าปอมาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2503 ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เพียงไม่กี่ปีวาทกรรมทางการเกษตรระเบิดเถิดเทิงก็เกิดขึ้นคือ “ปอมาป่าแตก” ชาวบ้านถากถางป่าเพื่อใช้ปลูกปอกันมากมาย พื้นที่ป่าลดลงมหาศาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเก็บเกี่ยวปอต้องมีขั้นตอนมาก โดยเฉพาะอาศัยน้ำแช่ ซึ่งเกิดการเน่าส่งกลิ่นเหม็น ต้องเอามือมาลอกปอกเอาเปลือกออก มือไม้พังหมด และเพียงไม่กี่ปีราคาก็ตกต่ำ เพราะปอที่ใช้ทำกระสอบนั้นถูกพลาสติกที่เป็นผลผลิตของปิโตรเคมีตีแตก

ก็มาถึงยุคมัน ชาวบ้านเลิกปลูกปอ เริ่มมาปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพืชปลูกง่ายให้เทวดาดูแลก็ได้ผลผลิต การหักล้างถางพงก็ระเบิดอีกครั้ง ป่าไม้ถูกทำลายอีกขนานใหญ่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ่อค้าเปิดลานมันและส่งออกไปยุโรปเป็นอาหารสัตว์ ผลผลิตมากมายจากบ้านเราตีตลาดการเกษตรเพื่ออาหารสัตว์ของกลุ่มประเทศยุโรปกระเจิดกระเจิง จนในที่สุดกลุ่มประชาคมยุโรปเจรจากับประเทศไทยเพื่อขอให้ลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเอาพืชอื่นมาทดแทน โดยใช้เงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศมาต่อรอง…

โครงการนี้เองที่ทำคู่ขนานกับช่วงที่ผมมาทำโครงการเกษตรอาศัยน้ำฝนที่ท่าพระ อยู่คนละตึก และเพียงสองปีที่ทำก็เกิด “โครงการอีสานเขียว” ตามมาอีก.. อย่างไรก็ตามโครงการลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทำอยู่ประมาณ 5 ปีก็สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถลดพื้นที่ลงได้จริง เอาพืชอื่นมาทดแทนเช่น หม่อนไหม ไม้ผล ก็โดนไหมเวียตนามตีแตก โครงการไม้ผลก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มันสำปะหลังก็เป็นพืชควบคุมแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ชาวบ้านยังขยายพื้นที่ปลูกอย่างไร้ขอบเขต

ก่อนหน้านี้ในวงการพัฒนาชนบทมีการส่งเสริมแนวคิด “การพัฒนาเพื่อยืนอยู่บนขาตัวเอง” แนวคิดนี้องค์การสหประชาชาติประมวลแนวทางการพัฒนามาจากทั่วโลก จากการเติบโตมหาศาลของระบบทุน ผมจำได้ว่ามีตัวอย่างจากต่างประเทศมากมายที่เราเรียนรู้กัน ส่งข้าราชการไปดูงาน เช่น ซาโวดาย่าที่ประเทศศรีลังกา แซมาเอลอันดองที่เกาหลีใต้ คิบบุท และโมชาปที่อิสราเอล

ขณะที่ “ในหลวง” ของเราพัฒนา “โครงการหุบกระพง” มีนักวิชาการองค์การสหประชาชาติฝ่ายการพัฒนาเขียนหนังสือเล่มเล็กนิดเดียวชื่อ “การพัฒนาความด้อยพัฒนา” โดย อังเดร กุลเทอร์ แฟรงค์ โลกจึงแบ่งประเทศเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา อีเอฟ ชูเมกเกอร์เขียน “จิ๋วแต่แจ๋ว” ฟริจอบ คาปรา เขียนเต๋าออฟฟิสิกส์ เขียน “The Turning Point” หนังสือดีดีอีกมาก เช่น เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ฯลฯ

เป็นช่วงที่ NGO เติบโตในเมืองไทยมากที่สุดเพราะสงครามลาว เขมร เวียตนาม มีค่ายอพยพรอบชายแดนไทย International NGO เข้ามาทำงานมากมายและขยายมาทำงานพัฒนาชนบทไทยด้วย  วิพากย์งานพัฒนาของรัฐและชี้แนวทางการพัฒนาที่ควรจะเป็นไปที่สำคัญสุด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ท่านเอาแนวคิดของ ดร.เจมส์ ซี เยน จากประเทศฟิลิปปินส์มาใช้ในเมืองไทย ท่านไปตั้งโครงการบูรณชนบทขึ้นที่ชัยนาทที่ชื่อ Thailand Rural Reconstruction Movment โดยใช้หลัก Credo 10 ประการ แนวความคิดการการยืนอยู่บนขาตัวเองก็พัฒนามาเป็น “การพึ่งตัวเอง”เป็นครั้งแรกที่ใช้หลักการให้เคารพชาวบ้าน ไปหาชาวบ้าน ใกล้ชิดและเรียนรู้จากชาวบ้าน ร่วมคิดร่วมทำกับชาวบ้าน ไม่ใช่ไปสอนเขา ฯลฯ

ดร.ป๋วยอีกนั่นแหละที่จัดตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น ฝึกอบรมและส่งนักศึกษาลงชนบท กลับมาให้วุฒิบัตรติดตัวไป ส่งผลกระทบให้หลายมหาวิทยาลัยมีโครงการบัณฑิตอาสาสมัครมากมาย จนถึงทุกวันนี้ เกิดภาควิชาพัฒนาชุมชนขึ้นในหลายมหาวิทยาลัยจนปัจจุบัน…

แต่ละประเทศก็ทบทวนการพัฒนา และมองหาทางออก ขณะที่ทุนนิยมก็ฟุ้งกระจายสุดจะยับยั้งในวงการจึงเรียกว่า “การพัฒนากระแสหลัก”ชักจูงประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกสนับสนุนแนวคิดนี้ว่าอุตสาหกรรมจะโอมอุ้มคนยากจนได้ในที่สุดตลอดช่วงการพัฒนากระแสหลักนี้ก็คู่ขนานไปกับการเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมไปทั่วโลก เกิดสงครามไปทุกภาคของโลก

ในวงการพัฒนาก็โจมตีมันสำปะหลังว่าเป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่พึ่งพาตลาดที่มีนักธุรกิจเกษตรกุมอำนาจราคาอยู่ ทางราชการที่เน้นงานพัฒนาเพื่อการพึ่งตัวเองก็ต่อต้านไม่แนะนำให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง โดยชี้จุดอ่อนของมันสำปะหลังที่กินดิน กินปุ๋ยทำให้ดินหมดความอุดมสมบูรณ์…ราคาต่ำ..

(ต่อตอนสอง…ให้การเท็จ)


ข้าหลวงกับดงหลวง

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 11, 2010 เวลา 23:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2394

ข้าหลวงในวัง และนายทหารระดับสูงเดินทางเข้าไปดูงานปราชญ์ดงหลวงวันนี้

พ่อชาดี พ่อแสน และผู้นำหลักของเรา เช่น พ่อหวัง และผู้นำรุ่นสองคือ สีวร

วัง..มีพระราชดำริจะศึกษาความสำเร็จของเกษตรกรในพื้นที่ไปเป็นตัวอย่างแก่หมู่บ้านในชนบทอื่นๆ


ท่านข้าหลวง..ติดต่อมาแบบไม่เป็นทางการ เพราะไม่ต้องการให้ข้าราชการในจังหวัด พื้นที่ทราบ ต้องการมาแบบส่วนตัวเพราะต้องการพบประชาชนจริงๆ เรียนรู้จริงๆ….

บังเอิญเหลือเกินที่วันอาทิตย์ผมมีนัดกับผู้นำเครือข่ายไทบรู ซึ่งปกติอยู่กับครอบครัวที่ขอนแก่น ขณะที่ประชุมกับชาวบ้าน ดร.วีระชัยฯ ท่านรองเลขาฯ สปก.โทรเข้ามือถือว่า พี่บู๊ดอยู่ไหน ผมบอกว่ากำลังประชุมกับผู้นำไทบรู ท่านบอกว่าดีเลย รอรับคณะข้าหลวง..จะมาดูงาน เดี๋ยวจะมาถึง และมาแบบส่วนตัวจริงๆไม่แจ้งอำเภอ จังหวัด ตำรวจ ทหาร ไม่ต้องทั้งสิ้น….

คณะนี้ท่านผ่านการดูงานปราชญ์ดังๆมาทั่วประเทศแล้ว เมื่อมาพบ พ่อชาดี พ่อแสน พ่อหวังก็ทึ่ง..และทึ่งมากก็คือ การขยายการปฏิบัตินั้นเกิดขึ้นภายในชุมชนเอง แต่ที่อื่นๆนั้น เช่น ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมนั้น ท่านดังทะลุฟ้า คนทั่วประเทศไปดูงานท่าน และเอาแบบท่านไปปฏิบัติ แต่รอบๆบ้านท่านไม่มีใครทำตาม.. แต่ที่ดงหลวงนี่แปลก เดินไปไหนก็พบป่าหัวไร่ปลายนา ป่าครอบครัว เกษตรผสมผสาน ปลูกต้นไม้กันรกไปหมด….


คณะของท่านข้าหลวงถ่ายทำวีดีโอเอาไปถวายวัง..  ตลอดเวลาเลยครับ

ท่านสั่งให้ผมส่งข้อมูลเชิงละเอียดอีกหลายรายการด่วน…..

เป็นปลื้มที่ท่านชมเชย..

แต่ทั้งหมดเพราะพี่น้องไทบรูเท่านั้น เราเป็นเพียงผู้อยู่เบื้องหลัง…


ปายกะสอบ..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 29, 2010 เวลา 20:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2520

กระต๊อบสองหลังนี้ต่อเนื่องกัน อยู่ตรงสามแยกบ้านพังแดง บนถนนเปรมพัฒนากับถนน รพช.(เดิม) สร้างมาสองปีแล้ว เจ้าของคือ คุณ “ทราย” อยู่ที่บ้านเปี๊ยด ใกล้อำเภอดงหลวง ห่างจากบ้านพังแดงประมาณ 10 กม.


หนูเห็นว่าที่บ้านพังแดงมีร้านก๊วยเตี๋ยวร้านเดียวในตัวหมู่บ้าน น่าที่จะตั้งได้อีก จึงปรึกษากับสามีอยากมาทำร้านขายก๊วยเตี๋ยว มีเงินในมือแค่หนึ่งพันห้าร้อยบาท ไปกู้เพื่อนบ้านมาสองหมื่นบาท เสียดอกร้อยละสิบ..มาเปิดที่นี่ บางวันก็ขายดี บางวันก็ไม่ได้ ดูร้านในหมู่บ้านซิปิดไปแล้ว..

สามีเธอเป็นช่างไม้ รับจ้างไปเรื่อยๆ หนูมีลูกสองคน คนโตเรียน ม 2 อยู่กรุงเทพฯ กับน้าสาว หนูต้องส่งเงินเขาเดือนละสองพันบาท เหลือยอดอีกครึ่งหนึ่ง ที่ดินตรงนี้เช่าตา..ตอนแรกเขาคิดปีละสองพันบาท หนูต่อรองเขาได้หนึ่งพันบาทต่อปี

พออยู่ได้ เฉลี่ยแล้วหนูมีรายได้วันละ สองถึงสามร้อยบาท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นขาจร คนผ่านไปมา ขาประจำก็เป็นเจ้าหน้าที่ อบต.สาวๆ สาม สี่ คนเท่านั้น มีคนมาขอเช่าที่เพิ่มเติมจะเปิดปั้มน้ำมัน แต่ตา..เขาไม่ยอมให้เช่า


ผมยกชามก๊วยเตี๋ยวไปนั่งใกล้ๆ แล้วคุยเรื่องที่ผมสนใจ

ทรายมาอยู่นี่เจอะอะไรดีดีไหม หมายถึงปอบน่ะ..

หนูเข้าใจดี..หนูรู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรในหมู่บ้านนี้ เพราะหนูเป็นคนที่อื่นมาอาศัย “หนูก็ทำตัวนอบน้อม ไม่แสดงอาการแข็งกร้าว ใหญ่โตอะไร หนูไม่จำเป็นต้องพกพาวัตถุมงคลป้องกันอะไร แค่ปฏิบัติตัวนอบน้อม ไม่ต่อปากต่อคำอะไรกับใครก็อยู่ได้…

ตอนหนูมาใหม่ๆก็ไปใหว้เจ้าปู่ หัวหมูกับเหล้าและเงินสองร้อยบาท ที่เรียกครอบ

ผมถามเคยพบอะไรพิเศษไหม..ทรายบอกว่า เคย..คืนหนึ่งสามีหนูเมา หนูก็ลุกขึ้นจะไปจ่ายตลาดประมาณตี 4 เอามอเตอร์ไซด์ไปคนเดียว ตรงทางโค้งโน้น หนูพบลูกไฟใหญ่ข้างทาง หนูกลัวมาก เลยไม่ไปจ่ายตลาดเวลาเช้ามืดอีกเลย สว่างแล้วค่อยไป..


อย่างอื่นล่ะ…ผมเซ้าซี้ อยากเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ

อาจารย์..ปีแรกที่หนูมาเปิดร้านน่ะ หนูขายเหล้าด้วย สักพักใหญ่ๆหนูเลิกขายเหล้าเลย เพราะมีคนกินเหล้าแล้วไม่จ่ายเงิน รวมๆสัก ห้า หกพันบาทได้ หนูไม่กล้าทวงเขา กลัวเขาเป็นปอบจะทำใส่หนู…หนูไม่พูด แล้วแต่เขาจะคืนหรือไม่คืน หนูเลยเลิกขายเหล้า ขายแต่ก๊วยเตี๋ยวอย่างเดียว… พออยู่ได้..

สรุป

  • เป็นที่รู้กันว่าบ้านพังแดงมีปอบใหญ่ จำนวนหนึ่ง
  • คนต่างถิ่น หรือคนในหมู่บ้านก็ตาม ควรมีพฤติกรรมทำตัวไม่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ แต่อย่างใด หากทำตัวแตกต่าง ปอบจะแผลงฤทธิ ทำให้เจ็บป่วย ถึงตายได้ มีกรณีตัวอย่างหลายกรณี
  • โดยเฉพาะคนต่างถิ่นต้องทำพิธีครอบเข้าหมู่บ้านเมื่อเข้ามาอยู่ มาทำงาน มาทำมาหากิน และครอบออกหมู่บ้าน เมื่อต้องออกไปจากหมู่บ้าน
  • หากเกิดกรณีที่เป็นผลประโยชน์ขัด เช่น มีคนในหมู่บ้านไม่ให้เงิน กรณีซื้อของ หรือกรณีใช้น้ำแล้วไม่จ่ายค่าน้ำ ค่าสิ่งของ โดยทั่วไปไม่กล้าที่จะไปทวงถาม ปล่อยให้เกิดสถานการณ์คาราคาซังเช่นนั้น…
  • สภาวการณ์นี้ครอบงำหมู่บ้านนี้จนเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป
  • ทราย ยืนยันว่า บ้านพังแดงนั้นบางครอบครัวเขามีเงินนะ แต่เขาทำตัวเหมือนไม่มี เพราะเกรงกลัว อิทธิพลปอบ
  • ใครที่พูดจารุนแรงหรือ เด่นเกินไป จะอันตราย

ประเด็น

  • ยอมรับว่าละเลยเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติส่วนนี้ไป โดยไม่ได้นำมาพิจารณาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของพื้นที่ดงหลวงโดยเฉพาะพังแดง
  • เพราะเขาไม่พูดหากไม่ถาม และทุกคนพยายามเก็บปากเก็บคำต่อเรื่องนี้ แม้จะถามก็ตาม จึงมีส่วนทำให้เราไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร เพราะเราไม่คิดว่าจะมีผลต่องาน
  • เรายังขาดข้อมูลลึกๆอีก เช่น กรณีทราย คนที่มากินเหล้าแล้วไม่จ่าย ก็ไม่กล้าไปทวงถาม คำถามคือ คนที่ไม่จ่ายเงินค่าเหล้านั้นไม่ใช่คนเดียว แล้วทุกคนเป็นปอบตัวจริงหรือเปล่าที่มีอิทธิฤทธิ์ดังกล่าวมา หรือมีบางคนลักไก่ ไม่ใช่ปอบ แต่อาศัยอิทธิพลปอบหลอกกินเหล้าฟรี
  • การที่ชาวบ้านเก็บปากเก็บคำ เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะล้วงลึก เพราะใครต่อใครไม่อยากกล่าวถึง หากจะกล่าวก็ไม่หมด เพียงผิวเผิน เหมือนเกรงกลัวอิทธิพล
  • หลายท่านเรียนรู้เรื่อง ปอบ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ คือระบบควบคุมสังคม ในทางทฤษฎี และกรณีตัวอย่างในหลายแห่ง แต่ที่นี่ บ้านพังแดงอาจจะไม่ใช่

อ้อที่ตั้งชื่อ “ปายกะสอบ” จริงๆก็คือ “ปอบ กะ ทราย” อิอิ


วิถีปอบดงหลวง

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 25, 2010 เวลา 1:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2351

“สมัย” เป็นเด็กหนุ่มบ้านพังแดงเรียนจบ ปวช ไฟฟ้า จากวิทยาลัยเทคนิคดงหลวงที่ไม่มีชื่อเสียงอะไร เพียงเป็นสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ค่าใช้จ่ายไม่สูงนักและอยู่ใกล้บ้าน และเป็นวิชาชีพที่เรียนจบแล้วพอหางานทำได้ พ่อแม่ทั้งหลายที่ไม่มีโอกาสเลือกมากนักก็เอาลูกมาเรียนที่นี่

โครงการเราต้องการเด็กท้องถิ่นที่จบทางไฟฟ้า หรือช่างกล มารับผิดชอบดูแลโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สมัยเป็นลูกผู้นำชุมชนและมีความรู้เข้าเกณฑ์ เราจึงไม่ลังเลที่จะเลือกเขาเข้ามาทำงาน โดยเป็นลูกจ้างราชการรายเดือน…

วันนี้เขาเดินทางมาสำนักงานในเมือง เราจึงถือโอกาสเชิญมานั่งกินกาแฟคุยกัน ผมเองยังสนใจเรื่องวิถีปอบ เพราะมีสมมุติฐานในตัวเองว่า มันเป็นสภาวการณ์ที่ครอบงำชุมชนมากน้อยแค่ไหน ชาวบ้านเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน คนเป็นปอบมีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะสภาวะที่ความเชื่อเรื่องปอบครอบงำชุมชนอยู่นี้มีผลต่อการทำงานของโครงการอย่างไรบ้าง..ฯลฯ…

แม้ว่าผมจะทราบผลมาบ้างแล้วแต่ต้องการสอบถามชาวบ้านในทุกกลุ่มวัย และในจำนวนที่มากตามโอกาสที่มี เพื่อยืนยันวิถีปอบว่า..แค่ไหน….

เชื่อครับ…ผมเชื่อและไม่กล้าลองดี และไม่มีใครจะทำเช่นนั้น สมัยเอ่ยกับผม

ถามต่อว่า มีอะไรยืนยันว่าปอบมีอิทธิพลที่ทำให้ชาวบ้านทั่วทั้งหมู่บ้านกลัวเกรง..

อาจารย์.. เมื่อเร็วๆนี้อาจารย์ก็รู้ว่ามีเด็กหนุ่มคนหนึ่งตายลงไป หมอลงบันทึกว่าเพราะกินเหล้ามากไป…แต่ชาวบ้านคุยกันและเชื่อกันว่าเพราะปอบทำให้ตาย… กินเหล้าแค่นั้นมันไม่ตายหรอก แต่เพราะคนนี้ซื้อรถแทรกเตอร์มาใหม่…..ซึ่งไม่ใช่เรื่องทั่วไปที่ใครๆจะซื้อได้..

อ้าวแล้วมันเกี่ยวอะไรกับปอบ…

อาจารย์…ปอบเขาอิจฉาอะไรทำนองนั้น ใครๆก็รู้ว่าบ้านนี้อย่ามีอะไรเกินหน้า ไม่ได้… ??!! ก่อนเด็กหนุ่มคนนี้ตายมีหลายคนเห็นลูกไฟที่ใต้ถุนบ้านของเขา ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่านั่นคือปอบ…

อีกตัวอย่างหนึ่ง… หลายปีผ่านมา มีเด็กหนุ่ม เปิดร้านขายของในหมู่บ้าน แต่แล้วปอบมาเข้าแล้ว “ออกปาก” ว่า อย่าเปิดร้านค้า ให้หยุด แล้วเลิกซะ เด็กหนุ่มคนนั้นไม่ฟังเสียงห้ามนั้น หรือเสียงข่มขู่ของปอบนั้น ต่อมาไม่นานเด็กคนนั้นก็ผ่ายผอมลงและตายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ..

ผมถามต่อว่า ..บอกได้ไหมว่ามีปอบกี่ตัว สมัยบอกว่า มีประมาณ 4-5 ตัว ในอดีตมีมากกว่านี้เยอะ และในจำนวนนี้ ตายไปแล้วสาม เหลือสอง แต่จริงน่าจะมากกว่านี้ เพราะเราไม่รู้ทั้งหมด เพราะไม่มีใครพูดกัน แต่รับรู้

ปอบกินอะไร สมัยบอกว่า กินกบกินเขียด กินสัตว์พวกนี้.. อดีตเล่าลือกันว่ามีคนเห็นปอบออกหากินเขียด พวกนี้หากินรอบๆบ้าน ถูกแล้วที่พวกไปหาของป่ากลางคืนจะไม่เข้าบ้านในช่วงเวลา 5 ทุ่มถึงตี 5 ….

ผมถามแบบฟันธงไปเลยว่า สมัยคิดว่า ความเชื่อเรื่องปอบนั้นมีผลกระทบต่องานของโครงการไหม อย่างไร.. สมัยตอบว่า มีผลแน่นอนครับ แบบว่าไม่มีใครต้องการทำอะไรให้เด่น โด่ง หรือในความหมายก็คือ พยายามทำให้สำเร็จสูงสุด เพราะกลัวว่าจะโดนปอบไม่ชอบใจที่แตกต่างจากคนอื่นๆมากเกินไป อะไรทำนองนี้..???!!!

อาจารย์เชื่อไหมว่า บ้านพังแดงนี้ไม่มีใครกล้า “ออกรถปิคอัพ” เพราะกลัว….เกรง…ไม่กล้าลอง.

อาจารย์..เดี๋ยวนี้ทราบมาว่ามีเด็กหนุ่มบางคนแอบไปเรียนวิชาปอมกันบ้างแล้ว..

เราแลกเปลี่ยนกันนานพอสมควร ผมถือโอกาสเล่าประสบการเกี่ยวกับทำนองนี้สมัยทำงานที่สะเมิง ที่สุรินทร์กับพวกราษฎรไทยเชื้อสายเขมร พักใหญ่ๆสมัยก็ลากลับดงหลวง

ปล่อยให้ผมคิดอะไรต่ออะไรไปอีกนาน ผมนึกในใจว่า ผมไม่ได้พยายามเอาเรื่องปอบมาสร้างประเด็นเลย แต่ช่วงที่ผ่านมาในระยะเวลาเพียงเดือนเศษๆ การรับรู้ของเราบอกว่า ความเชื่อเรื่องปอบส่งผลต่อการทำงานจริงๆ…

แล้วคนที่บริหารงานอยู่ข้างบนจะหัวเราะ เยาะใส่ผมไหมนี่….



สิ่งเหนือธรรมชาติกับการทำงานพัฒนาชนบท

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 14, 2010 เวลา 17:03 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2918

เรารู้เรื่องปอบที่บ้านพังแดง และบ้านอื่นๆของดงหลวงมานานแล้ว แต่ไม่ได้ติดใจมาก เพราะเรายอมรับการมีอยู่ ยอมรับการเชื่อ ยอมรับการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เกี่ยวกับปอบในดงหลวง แล้วก็ผ่านไปแค่นั้น

มาวันนี้ตะลึงกับเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติเรื่องนี้ และกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา เมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมาเรามีนัดประชุมใหญ่สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ เราทบทวนกติกากลุ่มออมทรัพย์ภายใต้กองทุนเพื่อการส่งเสริมการเกษตรในโครงการสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทราย ว่าหากมีการกู้ยืมกันแล้ว ผู้กู้ไม่ส่งคืนจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงความเห็นกัน มักจะบอกว่า “ก็แล้วแต่..” ซึ่งพยายามไล่เลียง และกระตุ้นให้แสดงความเห็นในที่ประชุม ก็ไม่ค่อยมีการแสดงความเห็น มีน้อยมาก แต่แล้วก็มีคนเสนอว่า หากกู้เงินไปแล้วไม่คืนก็เตือน เมื่อเตือนแล้วไม่คืนก็ให้ยึดทรัพย์สิน เช่นวัว ควาย มาเป็นของกลุ่ม แล้วจัดการต่อ ……………

ในที่สุดสรุปว่าหากเตือนสองครั้งแล้วไม่ส่งคืนให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าว (ซึ่งลึกๆผมก็ไม่เห็นด้วย) เมื่อประชุมสิ้นสุด ผมจึงนั่งคุยต่อกับกรรมการกลุ่ม พบว่า ประธานไม่เห็นด้วยต่อข้อสรุปดังกล่าว และในทางปฏิบัติทำไม่ได้ ทำนองว่าเป็นเพื่อนบ้านกันจะไม่ทำอย่างนั้น แต่สีหน้ากรรมการ โดยเฉพาะประธาน ดูหนักใจมากๆ และกระสับกระส่าย เหมือนมีอะไรในใจแต่ไม่ได้พูด หรือพูดไม่ได้

ผมพยายามทุกวิถีทางเพื่อขุดเอาความในใจของทุกคนออกมาให้ได้ และทราบว่า เงื่อนไขดังกล่าวนั้น ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ เพราะหากคนที่ไม่ส่งเงินกู้นั้นเป็นคนที่มี “มิติของปอบ” แฝงในตัวคนนั้นอยู่ ทุกคนในหมู่บ้านนี้รู้ดีว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรกับคนคนนั้นที่เป็นปอบ เช่น ไม่สร้างอะไรที่ไปขัดแย้งเขา ไม่ว่าเป็นเพราะกฎ กติกาของกลุ่ม หรือ จะกล้าหาญชาญชัยแค่ไหน ก็หายากที่จะมีคนกล้าไปขัดใจ หรือไปสร้างเงื่อนไขที่ทำให้คนนั้นโกรธ .. ปอบในหมู่บ้าน ไม่ใช่มีคนเดียว..

เรื่องนี้ติดค้างในใจผมไปตลอดวัน คืน เช้าวันรุ่งขึ้น เราทราบว่าสตรีนางหนึ่งมีปอบบ้านพังแดงเข้าเมื่อหลายวันก่อน จึงอยากคุยเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆไว้ รวมทั้งหากเป็นไปได้ก็ขอทราบชื่อคนที่เป็นปอบของบ้านพังแดง บังเอิญมีผู้นำชุมชนคนหนึ่ง มาบ้านหลังนี้จึงถือโอกาสไปคุยด้วย และดูบรรยากาศจะคุยกับสตรีในเรื่องที่ตั้งใจไว้คงไม่เหมาะสม การคุยกับผู้นำคนนี้ถึงเรื่องราวของปอบบ้านพังแดง ผู้นำกล่าวว่า

  • บ้านพังแดงมีปอบหลายคน ตั้งแต่เขาย้ายบ้านมาจากบ้านติ้วใหม่ๆนั้น ภรรยาเขาก็โดยปอบเข้า ต้องรักษากันมาจนหายและพยายามทำตัวให้เข้ากับสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อความเชื่อเรื่องนี้
  • เขากล่าวว่า อาจารย์เห็นไหมว่าผมไม่พูดอะไรเลยในที่ประชุมทั้งที่อยากจะพูดหลายเรื่อง ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า หากใครพูดมากไปก็จะอันตรายเพราะปอบจะทำร้าย
  • อย่างที่สรุปไว้ว่า อย่าทำตัวเด่นในหมู่บ้าน อย่าทำตัวร่ำรวยแปลกแตกต่างไปจากเพื่อนบ้านอื่นๆ
  • อย่าทำอะไรให้คนเป็นปอบไม่ชอบ หรือ โกรธ
  • แต่ก่อนนี้บ้านพังแดงไม่ใช่สภาพนี้ ทุกหลังคาเรือนเป็นแบบชั่วคราว และไม่มีใครอยากปลูกบ้านแตกต่างออกไป ต่อมาค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นแบบปัจจุบัน
  • สิ่งที่เขาเน้นคือ อย่าทำเด่น อย่าทำอวดร่ำรวย ทำตัวให้เหมือนๆกับเพื่อนบ้าน บังเอิญไปตรงกับสิ่งที่ผมทราบมาว่า พวกไทโส้นั้นยึดถือ “ลัทธิเฉลี่ยสมบูรณ์” กล่าวคือ แบ่งเท่าๆกัน อะไรก็ได้ต้องแบ่งให้เท่าๆกัน อย่าให้ใครเหนือใคร

ลองสรุปสาระเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นแผนผังดังนี้


เรื่องนี้ไม่จบ คงต้องศึกษาข้อมูล และผลกระทบต่อการทำงาน และอื่นๆต่อไป แต่ที่คิดไว้ก็คือ ปัจจุบันที่บ้านพังแดงเราได้รับผลโดยตรงจากเรื่องนี้แล้วในกรณีกลุ่มผู้ใช้น้ำ


จากหลักการสู่ปฏิบัติ…ไม่ง่ายเหมือนพูด..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 9, 2010 เวลา 1:43 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2363

“หลักการสนับสนุนให้มีการพึ่งตนเอง” นั้น มีพัฒนาการมานานแล้ว สมัยที่ทำงานพัฒนาชนบทที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปี 2518 นั้น เราใช้คำว่า “ยืนอยู่บนขาของตัวเอง” เมื่อเวลาผ่านไปก็พัฒนาแนวคิดและรายละเอียดเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งหลักการดังกล่าวมีที่มาที่ไปอันเดียวกัน


ความสำคัญอยู่ที่การนำแนวคิดลงสู่การปฏิบัติให้เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่งานปอกกล้วยเข้าปาก เพราะเงื่อนไขของความสำเร็จนั้นมีมากมาย เราลองผิดลองถูกกันมานานแม้จะมีการสรุปบทเรียน แต่ประเด็นใหม่ๆที่น่าคิดก็เกิดขึ้นมาเสมอ อาจเรียกได้ว่า โจทย์เปลี่ยนไปเรื่อย ตามความแตกต่างของท้องถิ่น ชนเผ่า ภูมิภาค ฯลฯ แต่เราสรุปร่วมกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การยืนอยู่บนขาของตัวเองไม่สำเร็จ หรือล้มเหลวนั่นเองนั้นมาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกคืออิทธิพลของกระแสหลัก ปัจจัยภายในคือทุนทางสังคมและความล่มสลายของสำนึกแห่งสติ

กระแสหลัก คือ กระแสทุนนิยมเสรี ซึ่งปัจจุบันนักวิชาการส่วนหนึ่งเรียก ทุนนิยมสามานย์

ทุกครั้งที่เราลงไปชนบท ชาวบ้านก็มีคำถาม มีข้อแลกเปลี่ยน มีประเด็นปลีกย่อยที่ไม่เกิดขึ้นในช่วงการจัดการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน หากไม่มี Follow up ก็จะไม่เกิดการแลกเปลี่ยนหลังการฝึกอบรม ก็ไม่มีการเติมเต็ม ก็ไม่มีโอกาสติดตามการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ แต่ไม่ง่ายนะครับ เพราะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้งบประมาณ หรือมีต้นทุนการทำงาน ซึ่งระบบราชการทำยาก แต่โครงการพิเศษมีโอกาสทำได้มากกว่า

ทุกครั้งที่เราไปพูดคุยกับชาวบ้าน เราก็จะได้เรียนรู้อีกมากมาย

แนวคิดที่สำคัญหนึ่งในปัจจุบันของการพึ่งตัวเองคือ “การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” คือพยายามทำของใช้เองในครัวเรือน คือ ทำสบู่ ทำยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ และเชิงวัฒนธรรมก็มีเช่นฟื้นฟูการใช้แรงงานร่วมกัน เช่น “การเอามื้อเอาแรงกัน” หรือ “วัฒนธรรมการลงแขกทำงาน” ก็ใครสร้างบ้านก็ไม่ต้องจ้างกัน ไหว้วานแรงงานมาช่วยกัน ใครเก่งช่างไม้ ช่างเหล็ก ต่างก็มาใช้ความถนัดของตัวเองช่วยเพื่อนบ้าน หรือลงมือเกี่ยวข้าว แทนที่จะจ้างก็นัดกันไปเกี่ยวนายทักษิณ ก่อน แล้วนายทักษิณก็มาเกี่ยวข้าวแปลงของนายสุเทพบ้าง

วันหนึ่งผมไปคุยกับชาวบ้านยากจน ประเภทไม่มีที่ดินทำกิน และถือว่าเป็นคนชายขอบในชุมชน ต้องอาศัยญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน แต่เขาเป็นคนดี เขาคุยกับเราว่า….อาจารย์จะให้ผมไปเอามื้อเอาแรงกัน ผมก็เห็นด้วย แต่ผมก็จะไม่มีรายได้น่ะซีครับ เพราะผมมีชีวิตที่มีรายได้มาจากการรับจ้างเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านก็เข้าใจ มักเรียกผมไปให้ทำโน่นทำนี่แล้วก็ให้ค่าแรงผม ก็เอามาใช้จ่ายในครัวเรือน ผมมีเมีย มีลูกต้องกินต้องใช้เหมือนทุกคนที่มีที่ดินทำกิน….


ผมสะอึก…. บางทีหลักการดีดีของเรามันไม่ดีกับบางคนในชุมชน.. ถามว่ามีคนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ โดยประมาณการจะมีประมาณร้อยละ 2-5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งชุมชน

อีกกรณี เราเห็นว่าในแต่ละชุมชนมีตลาดนัดทุกสัปดาห์ และทั้งหมดเป็นพ่อค้าเร่ที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่หมุนเวียนกันเอาสินค้ามาวางขาย ซึ่งชาวบ้านก็มักไปอุดหนุนดีมาก จึงเกิดตลาดนัดแบบนี้หลายแห่ง หลายเจ้า หลายกลุ่ม มาจากหลายจังหวัด เมื่อพิจารณาก็เห็นว่าสินค้าหลายชนิดก็จำเป็น แต่จำนวนมากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และประการสำคัญเป็นการจับจ่ายที่เงินไหลออกจากชุมชนแต่ละสัปดาห์เป็นเงินจำนวนมาก นับหมื่นนับแสนบาท

เราจึงสนับสนุนตลาดของชาวบ้านเอง เอาของมาขายเอง ผลิตเอง เงินหมุนเวียนภายในหมู่บ้านไม่ไหลออกไป และเรายังสามารถบริหารจัดการตลาดให้เน้นอาหารปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ โดยประสานงานกับอนามัยตำบล สาธารณสุขอำเภอให้มาช่วยแนะนำ เชิญเกษตรตำบลมาแนะนำการปลุกพืชแบบปลอดสารพิษ เชิญกรมวิชาการมา เชิญพัฒนาชุมชนมา เชิญ…..แบบบูรณาการกัน พบว่าตลาดชุมชนที่ดงหลวงก้าวหน้าไปมาก แนวคิดนี้จะสนับสนุนจุดเริ่มต้นหนึ่งของการพึ่งตนเองระดับชุมชน

ในโครงการมีตลาดชุมชนเกิดขึ้นในทุกจังหวัด มีกรณีหนึ่งที่ขอนแก่นเจ้าหน้าที่ที่นั่นเล่าให้ฟังว่ามีชาวบ้านที่เป็นแม่ค้ามาบอกว่า “…อาจารย์ ฉันน่ะไม่เคยเป็นแม่ค้าเลยพอมีตลาดฉันก็มาเป็นแม่ค้า ก็ดี ชอบเพราะได้เงินทองใช้ ได้ให้ลูกหลานไปโรงเรียน ผักบางชนิดขายดี ฉันก็ผลิตมากขึ้น วันหนึ่งญาติมาขอผักไปกิน ฉันก็บอกว่า “มาเอาไปเถอะ แต่วันหลังฉันวางขายที่ตลาดชุมชนของบ้านเรานั้นนะ” ความหมายก็คือ วันนี้ให้กิน แต่วันหน้าต้องไปซื้อเอานะ… “ฉันมาคิดทีหลังก็ละอาย แต่ก่อนบ้านเราไม่มีใครซื้อขายพืชผัก อยากกินก็มาขอกัน ฉันขอเธอ เธอขอฉัน แต่มาวันนี้ต้องเป็นเงินทองไปหมดแล้ว เอ..มันยังไงอยู่นา….”

ประเด็น:

  • การพึ่งตัวเองนั้นทุกคนต้องปลูกเองกินเองทุกอย่างเลยหรือ(แนวคิดนี้กลายไปเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ)
  • แต่ก่อนขอกันกินมาวันนี้สิ่งที่เคยขอกันต้องมาซื้อกินซะแล้ว มันพึ่งตัวเองบนวัฒนธรรมชุมชนอย่างไรกันหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้
  • เกษตรกรคนหนึ่งกล่าวว่า…ผมนั้นทำเกษตรทุกอย่างเกือบไม่ต้องซื้อกินเลย แถมได้ขายด้วย แต่รายได้นั้นก็พอได้ใช้จ่าย แต่หากต้องใช้จ่ายจำนวนมาก เช่นค่าเทอมลูกที่เรียนมหาวิทยาลัย เราไม่มีปัญญาหาเงินจำนวนมากมาได้ ก็จำเป็นต้อง วิ่งหาเงินตามช่องทางที่คนชนบทเขาทำกัน ในที่สุดก็เลยจูงให้เราหลุดจากการพึ่งตัวเองไปอีก เงื่อนไขเช่นนี้จะมีโครงสร้างการพึ่งตัวเองอย่างไร ? ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็เจ้ง..
  • เกษตรกรอีกรายที่กล่าวว่า… หากเอามื้อเอาแรงกันตามหลักการทางวัฒนธรรมชุมชน แล้วผมก็จะขาดรายได้ที่เคยได้จากการรับจ้างเพื่อนบ้าน เงื่อนไขเช่นนี้ โครงสร้างการพึ่งตัวเองคืออย่างไร..?
  • หลักการพัฒนาชุมชนนั้นเราพยายามฟื้นฟูทุนทางสังคมเดิม ตามจังหวะโอกาส และชนิดของกิจกรรม แต่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่ากิจกรรมตลาดชุมชนจะพาเรามาเผชิญมุมคิดเช่นนี้….

การแปลงหลักการไปสู่การปฏิบัตินั้น เราเผชิญรายละเอียดที่ใครไม่ลงไปสัมผัสก็จะไม่ทราบ.. คนทำนั้นเมื่อลงไปก็รู้ร้อนรู้หนาว แต่คนที่นั่งบริหารข้างบน อยากได้ตัวเลข อยากเห็นความสำเร็จ สั่งเอาสั่งเอา อิอิ อย่างนั้นต้องเสร็จ อย่างนี้ต้องได้เท่านั้นเท่านี้..ใช้เวลากันไม่น้อยกว่าจะพูดจากันรู้เรื่อง

นี่ดีนะที่พอรู้เรื่อง หากไม่รู้เรื่อง ต้องใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก… อย่าง “เสธ.ไก่อู” ประกาศ ห้า ห้า ห้า..


จากคนไม่มีกรอบถึงคนชายขอบ

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2010 เวลา 0:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1869

….ผมแนะนำผู้บริหารทรูไปดูเรื่องโสเภณีชายขายตัวแถวๆสนามหลวง พาไปดูโสเภณีแถวคลองหลอด พาไปดูลุงแก่ๆที่แกอยู่ในสลัม ครูน้อยที่เขาช่วยเหลือเด็กยากจน ถ้าเศรษฐีไม่ช่วยกันทำตรงนี้นะ ประเทศไทยพังไหม วันใดก็ตามที่เศรษฐีในโลกนี้ไม่รู้จักคำว่าแบ่งปัน สงครามเกิดแน่นอน บิล เกตส์ มันคิดได้แล้วไง แล้วถามว่าแล้วเศรษฐีไทยล่ะ ยูๆๆ คิดจะคืนหรือยังล่ะ สังคมประชาธิปไตยมันทำร้ายคนเล็กกว่านะ เพราะเสรีภาพ คือ ใครทำอะไรก็ได้ จริงมันไม่ใช่นะ สังคมประชาธิปไตยมันสร้างความแตกแยกเยอะมาก คือมันโตแต่มันต้องกลับมาแบ่งปัน…

นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของคนไม่มีกรอบ อาจารย์ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ กับสกุลไทย (หน้า 47 ) คำกล่าวของคนไม่มีกรอบมันถีบหัวใจผมน่ะซี

ทุกวันนี้ไม่ว่าส่วนไหนของสังคม ทั้งกลางราชดำเนิน ราชประสงค์ ที่ลานคนเมือง ที่หนองประจักษ์ บนถนนท่าแพ บนถนนประชาสโมสร แม้ในตำบลซอกภูเขาต่างก็อ้างประชาธิปไตย เสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย แสดงความเป็นประชาธิปไตย อธิบายสิ่งที่เขาทำว่านี่คือการใช้สิทธิประชาธิปไตย แต่สิทธิที่เขาอ้างนั้นมันไปทำร้าย ทำลายอีกตั้งหลายสิ่งหลายอย่าง แล้วมันประชาธิปไตยแบบไหนวะ..

คำว่าประชาธิปไตยนั้น มันเป็นเสมือนพระเจ้า ใครที่อ้างพระเจ้าแล้วสิ่งที่กระทำนั้นถูกต้องเสมอ อะไรทำนองนั้น คนชั้นกลางพอแยกแยะได้ แต่คนชั้นล่างนี่ซิ มิได้ดูถูก แต่รายละเอียดของคำว่าประชาธิปไตยนั้น มีคำอธิบายมากมายกว่าที่หลายคนจะเข้าใจเพียงมองเห็นสิทธิในการกระทำต่างๆเท่านั้น

คุยกับนักปลุกระดมมวลชนของ ผกค. ดงหลวงมาหลายต่อหลายคน เราเข้าใจได้ว่าทำไมชาวบ้านชายขอบจึงลุกขึ้นมาเดินเข้าป่าไปร่วมกับเขา เพราะการเข้าไปชี้จุดอ่อนของสังคม ตอกย้ำความล้มเหลวของการบริหารแผ่นดิน เปิดแผลน้ำเน่าของการเอารัดเอาเปรียบ การแก่งแย่ง การเข้าพวกเข้าสังกัด การใช้ความได้เปรียบ ขณะที่เขาด้อย ขณะที่การเยียวยาของสังคมต่อเขานั้นก็แค่น้ำหยดสุดท้ายในขวดเท่านั้น

ยิ่งการประพฤติตัวตนของผู้มีอำนาจในเครื่องแบบกระทำต่อชุมชนให้ปรากฏ มันไปตอกย้ำการวิเคราะห์ การพูดคุยของผู้เห็นใจกับผู้ยากไร้ในชนบท เมื่อผู้เห็นใจยื่นมือมาให้จับ แล้วบอกว่า มาเถอะ เราไปด้วยกัน เราไปเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราควรจะได้ด้วยกัน ยิ่งการแสดงบทตีแตกถึงการเอาจริงเอาจัง นั้นคือเทวดาของเขา นั่นคือผู้ปลดปล่อย…..

หากผมเป็นนายจืด อยู่บ้านคำป่าหลาย ยากจน ด้อยการศึกษา ขาดปัจจัย …เมื่อมีผู้ปลดปล่อยมาเป็นเพื่อน ผมก็อุ่นใจว่าชีวิตนี้ดูมีหวัง มากกว่าสิ้นหวัง มากกว่านั่งๆนอนๆมองคนในเมืองเติบโต มองข้าราชการมีเงินเดือนกิน… ผมก็ขอจับมือผู้ปลดปล่อยไว้ก่อน ผมไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก…

แล้วสังคมทุกหย่อมหญ้าทุกวันนี้มันต้องใช้เงิน เพราะมันเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับชีวิตเสียแล้ว แน่นอนเราไม่ได้หวังก้มหน้าหาแต่เงินๆ แต่ควรมีจำนวนต่ำสุดที่ควรจะมีรายได้ประกอบการพึ่งตัวเองแบบชนบท เพราะลูกต้องใช้จ่าย และครอบครัวต้องใช้จ่าย…

สภาพสังคมในปัจจุบันที่เคลื่อนตัวไปนั้น ได้สร้างความอึดอัดให้แก่ครอบครัวชนบท การจะมาฟังใครต่อใครพร่ำบ่นว่า ต้องพึ่งตัวเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้นั้น นายจืดอย่างผมก็คิดออก แต่เงื่อนไขของผมนั้นดูจะตีบตัน อุกอั่ง

หากไม่มีกระบวนใดๆของแผ่นดินก้าวออกไป จริงจังกับการเป็นเพื่อนคู่คิดกับเขา ละก็ มีคนที่อยากเป็นเพื่อนเขาจ้องอยู่ และกำลังทำงานเงียบๆอยู่แล้ว

ดูเหมือนคำกล่าวของฯพณฯพลเอกเปรมจะถูกต้องที่ว่า ..นโยบาย 66/23 ที่ท่านทำมากับมือนั้นล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่เสียแล้ว…


ที่นี่มีแรงงานขาย..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 19, 2010 เวลา 13:41 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1877

เช้านี้นายหล้อง เชื้อคำฮด เกษตรกรรุ่นใหม่ของเราที่ประสบผลสำเร็จในการทำการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาพบที่สำนักงานในเมือง

ผมเอาเงินมาคืน ส.ป.ก.ครับ ผมจ่ายคืนปีละ 7,000 บาท ปีหน้าก็หมดแล้วครับ นายหล้องบอกพวกเรา


ทางเราแอบดีใจที่หล้อง มีทัศนคติที่ดีต่อการทำการเกษตรแบบผสมผสานและการร่วมทดลองกับโครงการของเรา แม้ว่าจะใส่เสื้อแดง แต่หล้องไม่มีความคิดทางการเมืองแต่อย่างใด เขามุ่งหน้าสร้างครอบครัวใหม่ของเขาอย่างเข้มแข็งและมั่นใจ

อาจารย์ จะเอารถเข้าไปขุดสระน้ำประจำไร่นาให้ผมเมื่อไหร่ ผมอยากทราบ หล้องเอ่ยปากปรึกษากับผม ผมเลยเชคข้อมูลกับวิศวกรโครงการเรื่องนี้ ก็พบว่ารถจะเข้าไปขุดสระน้ำให้ประมาณปลายเดือนหน้า ผมถามว่า ที่ถามเรื่องนี้เป็นห่วงเรื่องการทำไร่ทำนาหรือ..เพราะฝนตกลงมาแล้ว ใครๆก็เริ่มขยับเรื่องนี้กัน

หล้องตอบว่า เปล่า..ผมจะไปจันทร์บุรี… จะไปรับจ้างเก็บเงาะ ผมเคยไปมาแล้ว ค่าจ้างแรงงานคิดกิโลกรัมละ 3 บาท ทำเพียงเดือนครึ่งเดือนก็ได้เงินก้อนเล็กๆกลับบ้าน… มีนายหน้าติดต่อแรงงานอยู่ที่บ้านเปียด ใกล้ๆอำเภอดงหลวงนั่นแหละ นายหน้าคิดค่ารถ 500 บาทต่อเที่ยว บางทีเจ้าของสวนก็ออกค่ารถให้ บางสวนก็ไม่จ่ายให้เราออกเอง


เมื่อเดือนก่อนผมก็ไปรับจ้างแบกเสาปูนที่หว้านใหญ่ ทำงานแค่ครึ่งเดือนครับ…

พิเคราะห์

  • ปกติโครงการหรือใครๆก็พยายามดึงแรงงานให้อยู่กับไร่นา โดยการสนับสนุนให้ทำการเกษตร ทำอาชีพเสริมต่างๆ และอื่นๆ
  • แต่กรณีนี้ หล้องไม่ได้เป็นแรงงานอพยพถาวร แต่เป็นแบบชั่วคราวที่ไปแล้วกลับในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน เมื่อภารกิจเสร็จก็กลับบ้าน ไม่ได้หางานอื่นต่อ
  • หล้องยังยึดการเกษตรเป็นอาชีพหลัก การขายแรงงานเป็นแบบชั่วคราว ครั้งคราว
  • หล้องใช้เวลาเพื่อขายแรงงาน ต่างจากหนุ่มรุ่นเดียวกันที่มักเลือกการขึ้นป่า ไปหาของป่าเพื่อกินเองและขาย
  • แม้หล้องจะเหล่ รถมอเตอร์ไซด์คันในฝันไว้ แต่ยังไม่มีเงินก้อนจะไปซื้อมา แต่ก็รับผิดชอบเงินกู้ ส.ป.ก. ที่ต้องเอามาคืนตามกำหนด
  • หล้องมุ่งหวังจะได้สระน้ำจากโครงการและใช้เลี้ยงปลา ขอบบ่อจะปลูกพืชสารพัดชนิด และแปลงมันสำปะหลังก็จะเอาความรู้ที่ร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตไปทำต่อ นาไร่ก็ทำตามปกติ แต่จะหันมาใช้ปุ๋ยน้ำหมักมากขึ้น
  • ผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านหล้องที่จะไปจันทร์บุรีเพื่อขายแรงงานกับสวนเงาะ ผมแอบสนับสนุนในใจเพราะรู้ว่าเป็นแรงงานชั่วคราว ดีกว่าอยู่บ้านในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
  • การเขามาถามช่วงเวลาที่ ส.ป.ก.จะไปขุดสระน้ำประจำไร่นา นั้น เป็นการมาหาข้อมูลเพื่อวางแผนงานตารางชีวิตของเขาว่าจะไปจันทร์บุรีไหม ไปเมื่อไหร่ เพื่อไม่สับสนกับช่วงที่มีการขุดสระ ใจจริงเขาให้น้ำหนักการได้สระน้ำมากกว่าไปจันทร์บุรี
  • หล้องเติบโตขึ้น พัฒนามากขึ้น รู้จักคิด พิจารณาอะไรก่อนหลัง อะไรควรไม่ควร


ผมป่าวนา..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 17, 2010 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3092

เส้นทางเข้า อ.ดงหลวง วันนี้กับเมื่อยี่สิบปีก่อนต่างกันลิบลับ


ลึกเข้าไปในพื้นที่ดงหลวงเพียงเลยที่ว่าการอำเภอไม่ถึงกิโลเมตร ถนนหนทางก็เป็นสีแดงที่โครงการผมรับผิดชอบไปพัฒนาขึ้นมาให้ใช้ได้ตลอดทั้งปี


เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระต๊อบหลังเล็กด้านในนั้น ยกธงแดง “โค่นอำมาตย์” ผมเห็นแล้วก็เจ็บปวดลึกๆด้านใน ที่พื้นที่ทำงานของผมปรากฏสิ่งเหล่านี้ เขาประกาศตรงไปตรงมาว่าเขาคือใคร คิดอะไร ต้องการอะไร ฯลฯ ผมซะอีกที่ไม่เคยเปิดเผยด้านลึกข้างใน อันเนื่องมาจากหน้าที่การงาน

วันนี้ผมมีความจำเป็นต้องเดินไปหาเขา ที่กระต๊อบหลังเล็กที่มีธงแดงปักอยู่นั้น


มีชายต่างวัยสามคน “นอนฟังวิทยุแดง” รายงานสถานการณ์ราชประสงค์จากรุงเทพฯอยู่พอดี ผมแนะนำตัวแล้วก็ขอนั่งลงคุยกัน

ความจริงวันนี้ผมไปเรื่อง “ผีปอบ” ที่ชายหนุ่มคนที่ไม่ได้ใส่เสื้อคนนั้นมีน้องชายถูกยิงตายเมื่อสองปีที่แล้วในเหตุที่เป็น ผีปอบ แล้วจะลงรายละเอียดเรื่องนี้อีกครั้ง..


คนที่ 1 คือ เจ้าของกระต๊อบหลังนี้ และเป็นเจ้าของธงแดง ลงมาร่วมกับเสื้อแดง 2 ครั้งแล้ว และติดตามสถานการณ์ตลอด อดีตคือทหารป่า คนที่ 2 คือ อดีตทหารป่าฝ่ายลำเลียงอาวุธ และเงินเดือน ปัจจุบันอายุ 87 ปี คนที่ 3 คือ อดีตนักปลุกระดมมวลชนที่เดินทางไปฝึกฝนมาจากเวียตนาม อายุ 76 ปีแล้ว

คนที่ 1 นั้นมาขออาศัยที่ดินลุงคนที่ 2 โดยปลูกกระต๊อบในที่ดินของลุง วันไหนไม่ได้ไปไหนๆก็จะมาร่วมกันฟังวิทยุเสื้อแดง และคุยกัน…

ผมสอบถามเรื่องราวตามวัตถุประสงค์จบแล้วก็วกเข้ามาเรื่องราชประสงค์


ชายคนนี้ กับเพื่อนอีกสามสี่คน เดินทางเข้าร่วมเสื้อแดงมาตลอด และเข้าร่วมค่ายการเมืองของเสื้อแดงที่นิคมคำสร้อย ด้านใต้ของจังหวัดมุกดาหาร

ผมถามว่าเขาอบรมกี่วัน เขาตอบว่าวันเดียว แล้วทำบัตรแดงหรือเปล่า เขาบอกว่าไม่ได้ทำ ไม่ทันได้ทำ ตั้งใจจะทำอยู่ แล้วได้เอกสารการเมืองมาเล่มหนึ่ง ผมเปิดดูคร่าวๆ มีแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่หมอเหวงและคุณธิดา ภรรยาหมอเป็นวิทยากรหลัก… ผมยังคิดว่า โห..ชาวบ้านจะอ่านรู้เรื่องรึ.. ผมขอยืมมาศึกษาดู แล้วชายคนนั้นก็หยิบแผ่น CD มาให้ผม อ้าวนั่นมัน อ๋อยนี่


ผมมาถึงบางอ้อ เขารู้ว่ากลุ่มคนเป้าหมายรากหญ้าในชนบทนั้นมีปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือ เขาก็ทำ CD ให้มาเปิดฟัง เพียงฟังเท่านั้น ฟังอ๋อย คุยเรื่องการเมือง…


แต่เสียใจนะอ๋อย ก็ชาวบ้านรากหญ้านั้นแค่ถือ CD มาดูรูปนายหล่อๆเท่านั้น ไม่มีเครื่องเปิดน่ะซี เขาก็ให้ผมมาเปิดฟัง

อ๋อย นายน่าจะไปเป็นพระเอกหนังฮอลลิวู้ด ประเภทเจมส์บอนด์ ได้เลยนะ รูปนายหล่อมากว่ะ..

แต่เอ..ผมหันไปพิจารณาวิทยุที่ชาวบ้านรากหญ้าเอาหูแนบฟังนั้น มีชื่อผมไปปรากฏที่นั่นด้วย..


เฮ้ย…..ผมเปล่านา…จริง จริง.. ผมถามเขาก็บอกว่า ไม่เคยสนใจ มันเป็นยี่ห้อวิทยุน่ะ.. เออ เอาซิ กลายเป็นกระบอกเสียงแดงไปแล้วววววววว

ผมป่าวนาาาาาา



Main: 0.096174001693726 sec
Sidebar: 0.035567998886108 sec