จากคนไม่มีกรอบถึงคนชายขอบ
….ผมแนะนำผู้บริหารทรูไปดูเรื่องโสเภณีชายขายตัวแถวๆสนามหลวง พาไปดูโสเภณีแถวคลองหลอด พาไปดูลุงแก่ๆที่แกอยู่ในสลัม ครูน้อยที่เขาช่วยเหลือเด็กยากจน ถ้าเศรษฐีไม่ช่วยกันทำตรงนี้นะ ประเทศไทยพังไหม วันใดก็ตามที่เศรษฐีในโลกนี้ไม่รู้จักคำว่าแบ่งปัน สงครามเกิดแน่นอน บิล เกตส์ มันคิดได้แล้วไง แล้วถามว่าแล้วเศรษฐีไทยล่ะ ยูๆๆ คิดจะคืนหรือยังล่ะ สังคมประชาธิปไตยมันทำร้ายคนเล็กกว่านะ เพราะเสรีภาพ คือ ใครทำอะไรก็ได้ จริงมันไม่ใช่นะ สังคมประชาธิปไตยมันสร้างความแตกแยกเยอะมาก คือมันโตแต่มันต้องกลับมาแบ่งปัน…
นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของคนไม่มีกรอบ อาจารย์ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ กับสกุลไทย (หน้า 47 ) คำกล่าวของคนไม่มีกรอบมันถีบหัวใจผมน่ะซี
ทุกวันนี้ไม่ว่าส่วนไหนของสังคม ทั้งกลางราชดำเนิน ราชประสงค์ ที่ลานคนเมือง ที่หนองประจักษ์ บนถนนท่าแพ บนถนนประชาสโมสร แม้ในตำบลซอกภูเขาต่างก็อ้างประชาธิปไตย เสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย แสดงความเป็นประชาธิปไตย อธิบายสิ่งที่เขาทำว่านี่คือการใช้สิทธิประชาธิปไตย แต่สิทธิที่เขาอ้างนั้นมันไปทำร้าย ทำลายอีกตั้งหลายสิ่งหลายอย่าง แล้วมันประชาธิปไตยแบบไหนวะ..
คำว่าประชาธิปไตยนั้น มันเป็นเสมือนพระเจ้า ใครที่อ้างพระเจ้าแล้วสิ่งที่กระทำนั้นถูกต้องเสมอ อะไรทำนองนั้น คนชั้นกลางพอแยกแยะได้ แต่คนชั้นล่างนี่ซิ มิได้ดูถูก แต่รายละเอียดของคำว่าประชาธิปไตยนั้น มีคำอธิบายมากมายกว่าที่หลายคนจะเข้าใจเพียงมองเห็นสิทธิในการกระทำต่างๆเท่านั้น
คุยกับนักปลุกระดมมวลชนของ ผกค. ดงหลวงมาหลายต่อหลายคน เราเข้าใจได้ว่าทำไมชาวบ้านชายขอบจึงลุกขึ้นมาเดินเข้าป่าไปร่วมกับเขา เพราะการเข้าไปชี้จุดอ่อนของสังคม ตอกย้ำความล้มเหลวของการบริหารแผ่นดิน เปิดแผลน้ำเน่าของการเอารัดเอาเปรียบ การแก่งแย่ง การเข้าพวกเข้าสังกัด การใช้ความได้เปรียบ ขณะที่เขาด้อย ขณะที่การเยียวยาของสังคมต่อเขานั้นก็แค่น้ำหยดสุดท้ายในขวดเท่านั้น
ยิ่งการประพฤติตัวตนของผู้มีอำนาจในเครื่องแบบกระทำต่อชุมชนให้ปรากฏ มันไปตอกย้ำการวิเคราะห์ การพูดคุยของผู้เห็นใจกับผู้ยากไร้ในชนบท เมื่อผู้เห็นใจยื่นมือมาให้จับ แล้วบอกว่า มาเถอะ เราไปด้วยกัน เราไปเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราควรจะได้ด้วยกัน ยิ่งการแสดงบทตีแตกถึงการเอาจริงเอาจัง นั้นคือเทวดาของเขา นั่นคือผู้ปลดปล่อย…..
หากผมเป็นนายจืด อยู่บ้านคำป่าหลาย ยากจน ด้อยการศึกษา ขาดปัจจัย …เมื่อมีผู้ปลดปล่อยมาเป็นเพื่อน ผมก็อุ่นใจว่าชีวิตนี้ดูมีหวัง มากกว่าสิ้นหวัง มากกว่านั่งๆนอนๆมองคนในเมืองเติบโต มองข้าราชการมีเงินเดือนกิน… ผมก็ขอจับมือผู้ปลดปล่อยไว้ก่อน ผมไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก…
แล้วสังคมทุกหย่อมหญ้าทุกวันนี้มันต้องใช้เงิน เพราะมันเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับชีวิตเสียแล้ว แน่นอนเราไม่ได้หวังก้มหน้าหาแต่เงินๆ แต่ควรมีจำนวนต่ำสุดที่ควรจะมีรายได้ประกอบการพึ่งตัวเองแบบชนบท เพราะลูกต้องใช้จ่าย และครอบครัวต้องใช้จ่าย…
สภาพสังคมในปัจจุบันที่เคลื่อนตัวไปนั้น ได้สร้างความอึดอัดให้แก่ครอบครัวชนบท การจะมาฟังใครต่อใครพร่ำบ่นว่า ต้องพึ่งตัวเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้นั้น นายจืดอย่างผมก็คิดออก แต่เงื่อนไขของผมนั้นดูจะตีบตัน อุกอั่ง
หากไม่มีกระบวนใดๆของแผ่นดินก้าวออกไป จริงจังกับการเป็นเพื่อนคู่คิดกับเขา ละก็ มีคนที่อยากเป็นเพื่อนเขาจ้องอยู่ และกำลังทำงานเงียบๆอยู่แล้ว
ดูเหมือนคำกล่าวของฯพณฯพลเอกเปรมจะถูกต้องที่ว่า ..นโยบาย 66/23 ที่ท่านทำมากับมือนั้นล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่เสียแล้ว…
« « Prev : ที่นี่มีแรงงานขาย..
Next : ประเด็นวิจัยเพื่อการพึ่งตนเอง » »
4 ความคิดเห็น
บันทึกนี้กระแทกใจค่ะ
เป็นเช่นนั้น เมื่อโอกาสมันตีบตัน แล้วมีใครมาบอกว่า ทำอย่างนั้นซิ อย่างนี้ ซิ ราวกับว่าสิ่งที่เขาเป้นสิ่งที่เขาทำมันล้มเหลว มันเป็นชีวิตที่ไม่มีกินไม่มีใช้ เพราะไม่หาทางออกแบบที่น่าจะทำ …หรือการให้ความเห็นแต่ไม่ให้ช่องทาง…คนที่ดิ้นรนเขายิ่งทำกลับยิ่งเจ็บหนัก เป็นหนี้หนักกว่าเดิม เมื่อมันสะสมเข้า จนล้นคอหอย…ใครที่หยิบยื่น “ประชาธิปไตยที่กินได้” …มันก็เหมือนเส้นทางที่เห็นผลชัดกว่า(อย่างเฉพาะหน้า ด่วนๆ) ทำไมเขาจะไม่ “ลองอีกทีซิ” ล่ะ
บทเพลงหนึ่งที่เคยประทับใจ ร้องว่า “ทุกวันหาเลี้ยงกายา เขาก็ยังบอกว่าเป็นคนเกียจคร้าน นาแล้ว นาล่มจมนานจะเอาหัวกะบาลที่ไหนทำกิน…แบบไหน แบบไหน” พี่จำชื่อเพลงได้ไหมคะ
อีกประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนคือ….คำว่าคนชายขอบ….แม้แต่ในระบบราชการ…คนที่เป็นลูกน้อง ถูกกดดัน KPI โดยผู้บริหารไม่ให้กำลังใจ ไม่ช่วยแบ่งเบาภาระงาน เอาแต่สั่ง….ผลสุดท้าย ก็เดินเข้าหา “ประชาธิปไตยที่กินได้” เพราะเกิดความหวังว่า จะเข้ามาช่วยล้มล้างระบบที่มันกดดันเขาซึ่งไม่มีทางเลือกอื่น …เพราะไม่ทำงานนี้ ครอบครัวจะเอาอะไรกิน จบมาทางนี้ อยากทำงานนี้ แต่เจอผู้บริหารแบบนี้…ก็มีแต่หาทางล้มกระดานเพื่อให้ยังทำงานนี้อยู่ได้โดยไม่กดดัน
เมื่อปัญหามันหมักหมม แล้วยังมองไม่เห็น..สุดท้ายก็แตกสลายกันหมด
-เห็นด้วยกับทั้งคุณบางทรายและน้องสร้อยค่ะ…และก็จากเหตุผลข้างบนนี้แหละค่ะ จึงทำให้เกิดจุดอ่อนหรือช่องโหว่ แล้วคนที่เขาเห็นช่องโหว่ก็ใช้โอกาสขายความคิดประชาธิปไตยที่กินได้ ก็ทำไมจะไม่เอาในเมื่อมันหมดหนทางแล้วนี่ พอมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงบ้างก็รีบคว้า…ก็คิดอะไรเองไม่ออกแล้ว เพราะเกิดมาก็ไม่ค่อยได้ถูกสอนให้คิดอะไร…มีปัญหาอะไรก็รอความช่วยเหลือตะพึด…จนเป็นง่อยไปหมดแล้ว ง่อยมือง่อยขายังพอเยียวยาแต่สังคมไทยส่วนหนึ่งง่อยความคิด อันนี้น่ากลัวและคิดว่าป็นเรื่องใหญ่ค่ะ
-สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ก็ต้องยอมรับว่าองค์กรของรัฐก็ขาดความเข้มแข็งไปมากค่ะ…ยอมรับว่า”ขาดการใส่ใจหรือความรักเข้าไปในงานที่ทำค่ะ”เรียกว่างานตามหน้าที่เท่านั้นแล้วเขียนKPI หรูๆหน่อย…อิอิและยังมีอีกหลายๆอย่างที่น่าจะช่วยกันทำได้ทำไปพร้อมๆกันค่ะ เช่น โรงเรียน วัด ชุมชน และองค์กรของรัฐทุกองค์กรคือทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้ามาหากันแล้วค่ะ ลองชวยกันฟื้นฟูดูซิว่าสังคมบรรพบุรุษเรา เขาอยู่กันอย่างไร เขาจึงมีเวลาให้ความรักความอบอุ่นลูก ช่วยกันฟื้นเรียกสิ่งดีๆของเรากลับคืนมาค่ะ โรงเรียนก็เช่นกันความสัมพันธ์ทางโรงเรียนกับผู้ปกครอง(อันนี้ยังไม่สิ้นหวัง ยังเห็นหลายโรงเรียนที่เดียวทำได้ค่ะ แต่มีเป็นส่วนน้อยค่ะ)ถึงอย่างไรถ้าฟื้นมาก็คงทำได้ เมื่อทุกๆสังคมมีความรักความห่วงใยและความผูกพันธ์กัน อะไรๆๆก็พูกันรู้เรื่องค่ะ
-ดังนั้นต่อไปนี้มีอะไรก็คงต้องช่วยๆกัน …ต่อไปนี้ใครจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้แล้วกระมังค่ะ
น้องสร้อยครับ ข้าราชการชายขอบก็น่าสงสารนะครับ หากไม่มีอุดมการณ์จริงๆ อกแตกตาย เพราะมีแรงกดดันมากมายจริงๆ พี่ทำงานที่สะเมิงนั้น พวกครูหรือข้าราชการอื่นๆนั้น เหนือยมากๆ สมัยนั้น(พ.ศ. 2518) พี่มีมอเตอร์ไซด์ขี่ แต่เกษตรตำบล อสม และแม้ปลัดอำเภอก้ไม่มีรถ เดินขึ้นดอยไปประชุมชาวบ้าน เห็นแล้วต้องยกนิ้วให้กับความแกร่งของอุดมการณ์จริงๆ
แม้แต่ในเมืองก็มีข้าราชการชายขอบ เพราะตัวเล้กเกินไปที่นายจะมองเห็น ทำดีอย่างไรนายก็ไม่เห็น
ป้าจุ๋มครับ เดี๋ยวนี้ยังทำเหมือนเดิม แม้แต่โครงการต่างประเทศที่ผมทำงานอยู่ ก็ไม่ต่างไปจากสมัยที่ผมเริ่มเขจ้ามาทำงานใหม่ๆ ผมเสนอให้มีการสัมมนาเพื่อสรุปบทเรียนรูปแบบการทำงานพัฒนาทั้งวในรูปแบบโครงการและตามระบบราชการ น่าจะยกระดับกระบวนการทำงานใหม่ได้แล้ว อย่าทำซ้ำๆแบบเมื่อสามสิบปีที่แล้วเลย ยกเว้นบางเรื่องบางประการมที่ดีอยู่แล้วก็หาทางให้ดียิ่งขึ้นก็แล้วกัน
ผมเสนอเรื่องนี้เพื่อสรุปบทเรียนสัมมนากัน แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารระดับสูงเช่นกัน ครับ