ผู้ใหญ่วองไม่อยู่บ้าน ไปภูไก่เขี่ย เห็นว่าวัวหายไปจึงชวนเพื่อนบ้านออกไปตามดู เย็นนี้จะกลับมา แม่บ้านบอกผมเช่นนั้น เมื่อวันที่ไปแวะหาผู้ใหญ่วอง จริงๆเป็นอดีตผู้ใหญ่ แต่เรียกกันติดปาก ก็เลยตามเลย
ผู้ใหญ่วองเป็นไทโซ่น้อยคนที่ช่างพูดจริงๆ พูดน้ำไหลไฟดับ ตรงข้ามกับคนอื่นๆที่รู้จัก อดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยท่านนี้มีบทบาทในสังคมมากพอสมควร เพราะ เป็นผู้ประสานงาน พอช. เป็นหมอดิน เป็นผู้นำไทบรู เป็นนั่นเป็นนี่ แม้จะช่างคุยก็ทำจริงเหมือนกัน แม่บ้านเป็นช่างทอผ้ามีฝีมือผู้หนึ่ง
เมื่อมาหาผู้ใหญ่วองไม่พบก็ไม่เป็นไรฝากความไว้กับแม่บ้านแล้วจะมาเยี่ยมใหม่ เพื่อเตรียมการมาดูงานของ JBIC วันรุ่งขึ้นเราเข้าไปพบ เห็นหน้ากันก็ส่งเสียงมาแต่ไกล
เมื่อวานไปกับพี่น้องเพื่อนบ้าน ขึ้นไปบนภูไก่เขี่ย เพราะตามหาวัว ตามกันมาสามสี่วันแล้วไม่พบวัว ที่ปล่อยขึ้นป่าไปเมื่อเดือนที่แล้ว…
ท่านที่คลุกคลีกับชาวบ้านย่อมรู้ดีว่า ชาวบ้านนั้นหลังเสร็จฤดูดำนาแล้ว ไม่ได้ใช้แรงงานวัวควายแล้ว ก็จะเอาวัวควายไปปล่อยบนภูเขาในท้องถิ่นของตัวเอง ให้เขาหากินเองตามธรรมชาติ สามสี่วัน หรือ สัปดาห์หนึ่ง หรือนานกว่านั้นตามโอกาส ก็ขึ้นไปดูทีหนึ่งว่า วัว ควายไปอยู่ตรงไหน เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรบ้าง หากเรียบร้อยดีก็กลับลงมา แล้วอีกสัปดาห์ก็ค่อยขึ้นไปใหม่
นี่คือวิถีชุมชนที่มีพื้นที่ติดภูเขา ทางภาคเหนือก็เหมือนกัน
บางครั้งที่วัวควายเกิดไม่สบายในป่าในเขา เจ้าของก็จะเอาหยูกยาซึ่งส่วนมากเป็นสมุนไพรไปดูแลรักษา บางทีถูกทำร้ายด้วยสัตว์ป่าก็มี หรือ ถูกลักขโมยไปก็เกิดขึ้น หรือถูกชำแหละทิ้งซากเอาไว้ก็พบเหมือนกัน แต่การปล่อยวัวควายขึ้นไปหากินเองบนภูเขานั้นมิใช่เพียงครอบครัวเดียว ใครๆก็ทำเช่นนั้น ดังนั้นในป่า จึงมี วัวควายเต็มไปหมด นี่แหละเจ้าของต่างก็ขึ้นไปดูของใครของมัน ซึ่งอาจจะไปดูไม่ตรงเวลากัน ต่างก็ช่วยกันดูแล ช่วยกันส่งข่าว เพราะส่วนใหญ่ก็รู้ว่า วัวควายเป็นของใครบ้าง เพราะเขาคลุกคลีกับมัน ย่อมรู้จักมันดี แม้เพื่อนบ้าน
นี่เอง การเอากระดึง หรือกระดิ่งผูกคอวัวคอควายจึงมีความหมายยิ่งนัก เพราะมันเดินไปไหนก็ได้ยินเสียง เจ้าของไม่อยู่ใกล้ๆก็ย่อมรู้ว่า นั่นคือเสียงกระดึงของวัวของใคร เพราะเสียงไม่เหมือนกัน อดีตผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะใช้เวลาบรรจงสร้างกระดึงวัวควายพวกนี้ให้มีเสียงก้องไกล จะได้ง่ายต่อการฟังเสียง นั่นเป็นศิลปะพื้นที่บ้านที่กำลังห่างหายไปแล้ว
การเข้าป่า ย่อมมีพิธีกรรมพื้นบ้าน แล้วแต่ชนเผ่า แล้วแต่ท้องถิ่น แล้วแต่ความเชื่อความศรัทธา ส่วนใหญ่ก็จะยกมือบอกกว่าเจ้าป่าเจ้าเขา ผีเจ้าที่เจ้าทางให้ปกปักรักษา วัวควายให้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นเมื่อเอาห่อข้าวไปกินกลางป่าก็ต้องเซ่นไหว้เจ้าที่ด้วย
วัวควายก็แปลก เมื่อสิ้นฤดู การเก็บเกี่ยว บางตัวบางฝูงก็เดินกลับบ้านเอง กลับถูกซะด้วย ตื่นเช้าขึ้นมาเจ้าของบ้านเห็นว่า วัวควายที่ไปปล่อยในป่านั้นกลับมาบ้านแล้ว…
ยามนี้ที่ดงหลวงสิ้นสุดการดำนาไปแล้ว คอยลุ้นให้มีฝนตกตามฤดูกาล อย่ามากอย่าน้อย เพื่อความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และที่ยิ่งใหญ่คือต้องการให้ได้ข้าวเต็มที่จะได้เพียงพอกินไปตลอดปี ยามฝนมากไปก็เฝ้าออกไปดูนา เอาจอบเอาเสียมไปเปิดคันนาให้ระบายน้ำออกไป ยามฝนทิ้งช่วงต่างก็จับกลุ่มกันพูดจาพาทีกันว่าจะเอาอย่างไรกันดี…. นี่คือความเสี่ยงที่ชาวนาอยู่กับสภาวะเช่นนี้มาตลอดชั่วนาตาปี…
ผมถามผู้ใหญ่วองว่า ปีนี้ฝนฟ้าบ้านเราเป็นไงบ้าง มากไปน้อยไปอย่างไร.. ผู้ใหญ่วองว่า ใช้ได้ ที่ดงหลวงช่วงนี้น้ำท่าปกติดี แต่ไม่รู้วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรบ้าง… เลยถือโอกาสถามเรื่องชวนเพื่อนบ้านไปขึ้นป่าตามหาวัวว่าพบไหม..
อาจารย์ ผมกับเพื่อนบ้านไปตามกันสามวันจึงพบ แต่มันตายซะแล้ว….
อ้าวทำไมล่ะ.. ผมถาม
ผู้ใหญ่วองตอบด้วยสีหน้าเศร้าว่า มันตกหน้าผาตายครับ.. แหมตัวใหญ่ซะด้วย…เลยทำพิธีเผาซากและส่งวิญญาณมันซะ…