ประเด็นวิจัยเพื่อการพึ่งตนเอง

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2010 เวลา 0:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2076

เขียนบันทึกจากคนไม่มีกรอบถึงคนชายขอบแล้วก็ปิ๊งประเด็นวิจัยขึ้นมา..



สังคมเราน้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักของการทำงานพัฒนาสังคม ครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการและหน่วยงานพัฒนาชนบทต่างก็เอาไปเป็นสาระสำคัญของการทำงาน

หากจะมองลงไปในรายละเอียดนั้น หลักการนี้ หรือแนวคิดนี้ก็คือการพยายามสร้างระบบการพึ่งตัวเองขึ้นมาตามเงื่อนไขของแต่ละคน แต่ละครอบครัว ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามรายละเอียด


ประเด็นก็คือ ครอบครัวหนึ่งในชนบท มีที่นาทำกิน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆเพราะต้องแบ่งให้ลูกหลายคน ที่สวนก็พอมีและลดลงเรื่อยๆเพราะต้องแบ่งให้ลูก ความรู้ก็แค่ ป.4 ลูกสามคนก็กำลังเป็นวัยรุ่น เสื้อผ้าต้องซื้อ น้ำมันรถมอเตอร์ไซด์ต้องซื้อ ทำนาต้องจ้างรถไถ บางครั้งต้องจ้างแรงงานบ้าง หยูกยาบางครั้งต้องซื้อ เครื่องใช้ในครัวเรือน สารพัดต้องซื้อ หมดยุคผลิตเองใช้เอง..

วันดีคืนดี มีโครงการฯเข้ามาบอกว่า เพื่อการพึ่งตนเองนั้น ต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้ทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น บางเรื่องก็ดี ชอบ บางเรื่องก็แปลกๆ ฝืนๆยังไงไม่รู้ เมื่อทำตามคำแนะนำแล้ว แต่ทั้งหมดก็ยังต้องหารายได้จำนวนหนึ่งเพื่อซื้อหาสิ่งของที่ผลิตไม่ได้อยู่นั่นเอง..

เอ… “ในครอบครัวชนบทแบบนี้ ต้องมีรายได้ขั้นต่ำเท่าไหร่จึงจะพออยู่ได้” เป็นรายได้ขั้นต่ำที่ไปประกอบกับการพึ่งตัวเองในด้านต่างๆ แบบมีหลักประกันด้วย…

นี่คือประเด็นการวิจัย ตั้งไว้กว้างๆแบบนี้แหละ ใครสนใจก็ไปพัฒนาเอาเองเด้อครับ


จากคนไม่มีกรอบถึงคนชายขอบ

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2010 เวลา 0:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1787

….ผมแนะนำผู้บริหารทรูไปดูเรื่องโสเภณีชายขายตัวแถวๆสนามหลวง พาไปดูโสเภณีแถวคลองหลอด พาไปดูลุงแก่ๆที่แกอยู่ในสลัม ครูน้อยที่เขาช่วยเหลือเด็กยากจน ถ้าเศรษฐีไม่ช่วยกันทำตรงนี้นะ ประเทศไทยพังไหม วันใดก็ตามที่เศรษฐีในโลกนี้ไม่รู้จักคำว่าแบ่งปัน สงครามเกิดแน่นอน บิล เกตส์ มันคิดได้แล้วไง แล้วถามว่าแล้วเศรษฐีไทยล่ะ ยูๆๆ คิดจะคืนหรือยังล่ะ สังคมประชาธิปไตยมันทำร้ายคนเล็กกว่านะ เพราะเสรีภาพ คือ ใครทำอะไรก็ได้ จริงมันไม่ใช่นะ สังคมประชาธิปไตยมันสร้างความแตกแยกเยอะมาก คือมันโตแต่มันต้องกลับมาแบ่งปัน…

นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของคนไม่มีกรอบ อาจารย์ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ กับสกุลไทย (หน้า 47 ) คำกล่าวของคนไม่มีกรอบมันถีบหัวใจผมน่ะซี

ทุกวันนี้ไม่ว่าส่วนไหนของสังคม ทั้งกลางราชดำเนิน ราชประสงค์ ที่ลานคนเมือง ที่หนองประจักษ์ บนถนนท่าแพ บนถนนประชาสโมสร แม้ในตำบลซอกภูเขาต่างก็อ้างประชาธิปไตย เสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย แสดงความเป็นประชาธิปไตย อธิบายสิ่งที่เขาทำว่านี่คือการใช้สิทธิประชาธิปไตย แต่สิทธิที่เขาอ้างนั้นมันไปทำร้าย ทำลายอีกตั้งหลายสิ่งหลายอย่าง แล้วมันประชาธิปไตยแบบไหนวะ..

คำว่าประชาธิปไตยนั้น มันเป็นเสมือนพระเจ้า ใครที่อ้างพระเจ้าแล้วสิ่งที่กระทำนั้นถูกต้องเสมอ อะไรทำนองนั้น คนชั้นกลางพอแยกแยะได้ แต่คนชั้นล่างนี่ซิ มิได้ดูถูก แต่รายละเอียดของคำว่าประชาธิปไตยนั้น มีคำอธิบายมากมายกว่าที่หลายคนจะเข้าใจเพียงมองเห็นสิทธิในการกระทำต่างๆเท่านั้น

คุยกับนักปลุกระดมมวลชนของ ผกค. ดงหลวงมาหลายต่อหลายคน เราเข้าใจได้ว่าทำไมชาวบ้านชายขอบจึงลุกขึ้นมาเดินเข้าป่าไปร่วมกับเขา เพราะการเข้าไปชี้จุดอ่อนของสังคม ตอกย้ำความล้มเหลวของการบริหารแผ่นดิน เปิดแผลน้ำเน่าของการเอารัดเอาเปรียบ การแก่งแย่ง การเข้าพวกเข้าสังกัด การใช้ความได้เปรียบ ขณะที่เขาด้อย ขณะที่การเยียวยาของสังคมต่อเขานั้นก็แค่น้ำหยดสุดท้ายในขวดเท่านั้น

ยิ่งการประพฤติตัวตนของผู้มีอำนาจในเครื่องแบบกระทำต่อชุมชนให้ปรากฏ มันไปตอกย้ำการวิเคราะห์ การพูดคุยของผู้เห็นใจกับผู้ยากไร้ในชนบท เมื่อผู้เห็นใจยื่นมือมาให้จับ แล้วบอกว่า มาเถอะ เราไปด้วยกัน เราไปเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราควรจะได้ด้วยกัน ยิ่งการแสดงบทตีแตกถึงการเอาจริงเอาจัง นั้นคือเทวดาของเขา นั่นคือผู้ปลดปล่อย…..

หากผมเป็นนายจืด อยู่บ้านคำป่าหลาย ยากจน ด้อยการศึกษา ขาดปัจจัย …เมื่อมีผู้ปลดปล่อยมาเป็นเพื่อน ผมก็อุ่นใจว่าชีวิตนี้ดูมีหวัง มากกว่าสิ้นหวัง มากกว่านั่งๆนอนๆมองคนในเมืองเติบโต มองข้าราชการมีเงินเดือนกิน… ผมก็ขอจับมือผู้ปลดปล่อยไว้ก่อน ผมไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก…

แล้วสังคมทุกหย่อมหญ้าทุกวันนี้มันต้องใช้เงิน เพราะมันเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับชีวิตเสียแล้ว แน่นอนเราไม่ได้หวังก้มหน้าหาแต่เงินๆ แต่ควรมีจำนวนต่ำสุดที่ควรจะมีรายได้ประกอบการพึ่งตัวเองแบบชนบท เพราะลูกต้องใช้จ่าย และครอบครัวต้องใช้จ่าย…

สภาพสังคมในปัจจุบันที่เคลื่อนตัวไปนั้น ได้สร้างความอึดอัดให้แก่ครอบครัวชนบท การจะมาฟังใครต่อใครพร่ำบ่นว่า ต้องพึ่งตัวเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้นั้น นายจืดอย่างผมก็คิดออก แต่เงื่อนไขของผมนั้นดูจะตีบตัน อุกอั่ง

หากไม่มีกระบวนใดๆของแผ่นดินก้าวออกไป จริงจังกับการเป็นเพื่อนคู่คิดกับเขา ละก็ มีคนที่อยากเป็นเพื่อนเขาจ้องอยู่ และกำลังทำงานเงียบๆอยู่แล้ว

ดูเหมือนคำกล่าวของฯพณฯพลเอกเปรมจะถูกต้องที่ว่า ..นโยบาย 66/23 ที่ท่านทำมากับมือนั้นล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่เสียแล้ว…


เวลาของการพัฒนา..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 16, 2010 เวลา 8:59 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1816

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเราก็เชิญเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาสรุปบทเรียนกัน ห้องประชุมของ อบต.ติดงานประชาสังคมแผนงานประจำปี เราก็ใช้ข้างบ้านผู้นำนั่นแหละเป็นสถานที่คุยกัน


แต่น้องๆเอาป้ายชื่อเกษตรกรมาติดหน้าอก เหมือนประชุมกันในโรงแรมใหญ่ในเมือง ขัดตาอย่างไรไม่รู้ แต่ก็ไม่เสียหายอะไร สถานที่ตรงนี้คือเกษตรกรชาวนาชาวสวนที่ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย ถึงสองคน ต้องปั่นเงินค่าเทอมให้ลูกจนจบจนได้ แต่ก็เห็นความยากลำบากของเขา เห็นการดิ้นรนของพ่อบ้านที่เอาทุกอย่างเพื่อลูก สภาพบ้านพักปกติชาวบ้านก็เดาได้ว่า ไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่สะอาด กรณีครอบครัวนี้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พ่อบ้านวิ่งวุ่นไปกับการหาเงินให้ลูกใช้ทุกเดือน แม่บ้านก็มีลูกน้อย ใครมีครอบครัวเดาสภาพออกนะครับว่ามันวุ่นแค่ไหน หากประคับประคองใจไม่ได้ดีละก็ ทะเลาะกันบ้านแตก


เจ้าหน้าที่โครงการออกไปนำการพูดคุย เอากระบวนการทำการเกษตร เทคนิค รายจ่ายที่เกิดขึ้น ผลที่ได้มา ฯลฯ แลกเปลี่ยนผลกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมนี้พึงพอใจและเห็นว่าการปลูกมันสำปะหลังคราวต่อต่อไปนั้นจะเพิ่มผลผลิตทำได้อย่างไร

เกษตรกรผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างมองเห็นจุดบกพร่องของการทดลองครั้งแรก และเห็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นแต่แสดงความมั่นใจ ว่าหากใส่ใจและเอาวิชาการเข้าไปอีกเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้

ถามว่าอนาคตเป็นเช่นไรต่อมันสำปะหลัง และทำไมเราจึงเลือกมันสำปะหลังทั้งที่เรารู้ดีว่าพืชตัวนี้ครั้งหนึ่งในอดีตรัฐบาลทำแผนระดับชาติเพื่อลดพื้นที่การปลูก และเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่เราเองรังเกียจมาในระยะเวลาหนึ่ง

เรามีเหตุผลสองสามข้อที่สนับสนุนการทดลองครั้งนี้คือ

หนึ่ง เป็นพืชที่เกษตรกรปลูกอยู่แล้ว มีความคุ้นชิน ง่ายและปลูกได้ในพื้นที่ที่พืชอื่นๆปลูกไม่ได้

สอง จากการศึกษาเราพบว่ามันสำปะหลังเป็นพืชเกษตรกรปลูกคู่ไปกับข้าว เพราะเป็นหลักประกันการมีข้าวกิน เพราะหากปีใดข้าวไม่ได้ผลผลิตเพียงพอ เขาสามารถขุดมันขายแล้วเอาเงินมาซื้อข้าวกิน เป็นการดิ้นรนสร้างหลักประกันการมีข้าวกินของเขาเอง


สาม มันสำปะหลังกลายเป็นพืชพลังงานไปแล้ว ในอนาคตอาจจะพัฒนามันสำปะหลังในพื้นที่แปลงเป็นพลังงานได้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า เอามันสำปะหลังไปหมักเมื่อได้แก๊ส ก็เอาแก๊สไปผ่านกระบวนการเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าได้และการทดลองของมหาวิทยาลัยประสพผลสำเร็จกำลังขยายจากห้องทดลองไปสู่ระดับชุมชน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อาจจะมีส่วนที่ดีในอนาคตต่อเรื่องนี้ด้วย


เราพบว่าส่วนบุคคลนั้นประสพผลสำเร็จ แต่เมื่อเราถามเกษตรกรว่าความรู้ หรือประสบการณ์ครั้งนี้เอาไปเผยแพร่ให้เกษตรกรในหมู่บ้านได้ไหม..? ต่างร้องโอย..กล่าวว่า

อาจารย์ เขาไม่ฟังผมหรอก… ต่างก็บอกว่า ต้องจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ทุกช่วงการผลิตจริง ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ช่วงเวลานี้การปลูกมันสำปะหลังก็ทำไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าไม่มีเกษตรกรคนไหนทำตามเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทดลองเลย ยังใช้วิธีการเดิมๆ ใช้ต้นพันธุ์ตัดสั้น ปลูกถี่เกินไป ไม่ปรับปรุงบำรุงดิน ฯลฯ ล้วนมีเหตุผลอธิบายเมื่อเราสอบถาม… การขยายผลนั้นไม่ง่ายเลยนะ

ผมนึกย้อนไปที่ “พิลา” พนักงานขับรถของเราที่เขาแอบเอาความรู้ที่เราแนะนำชาวบ้านในโครงการเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยใช้วิธีอินทรีย์ไปทดลองทำเองโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ฉี่วัว และอื่นๆ และพบว่าประสพผลสำเร็จ ก็ไม่มีเพื่อนบ้านเอาอย่าง แม้พี่ชายของเขาเองที่ใกล้ชิดสนิทสนม แม้จะบอกว่าการปลูกข้าวแบบอินทรีย์นั้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และประหยัดมากกว่าแบบใช้ปุ๋ยเคมีก็ตาม

แต่…แต่ มาปีที่สาม พี่ชายหันมาทำตามแล้ว…

เรานึกย้อนเข้าไปในพื้นที่..คิดไปว่า เออ อีกปี สองปี เกษตรกรในพื้นที่อาจจะหันมาทำตามเกษตรกรที่เข้าร่วมทดลองการเพิ่มผลผลิตของเรานะ

อือ.. การเปลี่ยนแปลงนั้นใช้เวลา ไม่ใช่ข้ามคืนนะ


แดงเดือด..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 10, 2010 เวลา 16:29 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1912

นั่งลุ้นข่าวบนหน้าจอทีวี ยังกะ Reality Show : RSM vs Troop


นักจัดรายการวิทยุชื่อดังของจังหวัดมหาสารคาม ถูกเรียกตัวมาจัดรายการที่ TPBS ด้วยภาษาอีสาน คักอีหลี อีหลอ น่าจะเอามาจัดรายการตั้งนานแล้ว..



พระคุณเจ้า ขอนิมนต์กลับวัดก่อนเถอะครับ นี่ไม่ใช่กิจของสงฆ์พึงกระทำ หากสงฆ์ปรารถนาจะสนับสนุนอุดมการณ์ทางโลก นิมนต์พระคุณเจ้าลาสิกขาออกมาก่อนครับ


เมื่อการยื่นเงื่อนไขการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ การยึดพื้นที่คืนสู่สาธารณะก็จำเป็นที่ต้องทำ


นักรบตัวจริง..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 9, 2010 เวลา 8:58 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2758

ท่านนี่แหละคือนักเดินขบวนตัวจริง:

ท่านเดินธุดงค์ฝ่าเปลวแดดที่แผดเผาด้วยเท้าเปล่า ท่ามกลางความจริงตรงหน้า เพื่อตามหาตัวตนภายใน

ท่านนี่แหละคือนักรบตัวจริง:

ท่านมุ่งมั่น ฝึกปรือกระบวนท่าในการรบ เพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา ราคะ และสิ่งไม่พึงปรารถนาทั้งหลายที่สะสมอยู่ภายใน ละวางสิ่งภายนอก เพื่อเข้าถึงความเย็น สงบ นิ่ง ที่แท้จริง

ข้าน้อย ขอก้มกราบ ท่านผู้มีจิตวิริยะอันเป็นนักรบตัวจริง


แม่จ๋า.. พ่อจ๋า..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 6, 2010 เวลา 1:16 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1684

บ่ายวันที่ 4 มีนาคม ที่ดงหลวง…

แม่….. แม่….. แม่……. พ่อ…… พ่อ…. พ่อ….

แม่จ๋า…. พ่อจ๋า…แม่อยู่ไหน พ่ออยู่ไหน หนูหาไม่เจอ…. แม่จ๋า แม่อยู่หน๋ายยยยยย

หนูไม่เกเรแล้ว หนูจะอยู่ใกล้ๆแม่ตลอดเวลาเลย หนูคิดถึงแม่ แม่อยู่หน๋าย… หนูรักพ่อ… หนูรักแม่….แม่จ๋า….

(เขาคงหลงแม่ครับ วิ่งออกมาจากป่าข้างทางแล้ววิ่งเยาะๆไปตามถนนที่ไปทางหมู่บ้าน เขาคงจะวิ่งไปบ้านเพื่อหาแม่หาพ่อเขา น่ารักนะครับ ผมขับรถค่อยๆตามเขาไปเป็นกิโลเลย..)


กรรมชิน 2

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2010 เวลา 14:53 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2756

พวกเราสรุปกลุ่มผู้ไทและไทโซ่มาก่อนแล้วว่า ผู้ไทนั้นปรับตัวได้ดีต่อการไหลบ่าเข้ามาของสังคมใหม่ เทคโนโลยี่ใหม่ แนวความคิดใหม่ๆ แต่ ไทโซ่นั้น ปรับตัวได้ช้ากว่า มีลักษณะเฉพาะสูง มีลักษณะความพอเพียง แต่คำนี้สำหรับกลุ่มคนไทโซ่ต้องวิเคราะห์ลึกๆ คำเดียวกันแต่ต่างความหมายกันนะครับ


ย้อนกลับไปพิจารณาข้อสรุปของพระอาจารย์นรินทร์ ที่ว่า ..ไทยดำนั้น ชอบอยู่ป่า ติดการเข้าป่า พอเพียง ยึดติดประเพณี นิยมให้ทานมากกว่ารักษาศีล นับถือผี และ “กรรมชินหรือความเคยชิน”…


ไทโซ่นั้น อะไรอะไรก็ป่า ทั้งอาหารที่ถูกปาก เหมือนคนอีสานชอบหอยจูบ ได้สัตว์ป่ามานั้น เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ก็มันชอบอ่ะ ที่เราเรียกทางวิชาการว่าวัฒนธรรมการบริโภค เมื่อมีเวลาก็เข้าป่าไปหาอาหารที่ชอบ

ไปหาของป่ามาขายตามฤดูกาล ฤดูนี้สิ่งที่มีราคาคือ ผักหวานป่า วันนี้ราคาที่หมู่บ้าน ขีดละ 25 บาทครับ หากเป็นดอกผักหวานจะสูงถึง 40 บาทต่อขีด หอยหอม ปูภูเขา ตัวแลน ตัวอ้น ตัวบ่าง ล้วนเป็นอาหารเลิศรสและมีราคา


ได้กินแล้ว ได้ขายแล้วได้เงินมาแล้ว ก็สบายใจ เว้นวันสองวันขึ้นป่าอีก นี่คือความหมายพอเพียงที่พระอาจารย์พูดถึง หรือใครต่อใครพูดถึง ความพอเพียงนี้จึงมีความหมายเฉพาะ ไม่เหมือน หรือแตกต่างจากความพอเพียงที่ในหลวงท่านทรงพระราชทานมา

รายได้ที่มาจากของป่าจึงไม่มีความมั่นคงแน่นอน ทำไมไม่รู้จักเลี้ยง ปลูก ขยายในพื้นที่ดินของตัวเอง.. เป็นคำถามีที่เราถามตัวเอง และตั้งคำถามชาวไทโซ่มานาน ก็มีบางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยที่ทำเช่นนั้น เช่นพ่อแสน หรือกลุ่มผู้นำในเครือข่ายไทบรูเป็นหลัก แต่ภาพรวมนั้นยังน้อยอยู่


เทคโนโลยี่ใหม่ๆที่เราเอาเข้ามาแนะนำเราก็พบว่า เราต้องทำหน้าที่เหมือนเลี้ยงเด็กเล็ก ดูแลอย่างใกล้ชิด อะไรที่ซับซ้อนก็ผิดพลาด และเรียนรู้ช้า หรือปฏิเสธไปเลย แล้วกลับไปทำแบบเดิมๆ ตรงนี้เองแตกต่างจากกลุ่มผู้ไทที่ปรับตัวได้ดีกว่า พยายามเรียนรู้และยกระดับตัวเองเสมอ สำหรับพ่อแสนนั้นเป็นกรณีพิเศษจริงๆของไทโซ่


เหล่านี้คือ กรรมชิน หรือความเคยชินของไทโซ่ที่พระอาจารย์นรินทร์ท่านสรุปเองซึ่งมาตรงกับข้อสรุปของพวกเรา

พระอาจารย์นรินทร์ ท่านสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า “มันเป็นจริตของเขานะ มันเป็นอุปนิสัยของเขานะ…..”

ในแง่ของงานพัฒนานั้น เราไม่ได้ท้อถอย หรือหยุดเพียงแค่นี้ ตรงข้าม เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องหาสิ่งที่คลิกกับกลุ่มไทโซ่ให้ได้ มันท้าทายคนทำงานพัฒนายิ่งนัก แต่ที่รำคาญหัวใจก็คือ เรามักจะขัดคอกับกลุ่มผู้บริหาร หรือคนที่นั่งอยู่ข้างบนเสมอ เพราะเขาไม่เข้าใจ และพยายามไม่เข้าใจ มองอย่างเดียวคือ output ทำไมไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้

อธิบายอย่างไรก็ “บ่หัวซา” อิอิ


กรรมชิน 1

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2010 เวลา 13:43 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3160

หลายท่านอาจจะจำภาพนี้ได้ เมื่อเฮ 3 เราไปจัดกันที่อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เมื่อเดือน พ.ย. 2550 ครั้งนั้นมีโปรแกรมหนึ่งคือขึ้นไปบนภูเขาสูงเพื่อทานอาหารกลางวันและกราบพระอาจารย์นรินทร์ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำริน



เมื่อต้นสัปดาห์นี้ผมขึ้นไปกราบท่านอีกครั้ง เพราะท่านขอความร่วมมือในการติดตามเรื่องของกรมป่าไม้ที่มาออกเอกสารวัดในป่าให้ท่าน แต่รายละเอียดผิดพลาดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผมติดตามเรื่องให้ท่าน จึงขึ้นไปส่งเอกสารคืนและเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านทราบ

ถือโอกาสคุยกันไปหลายเรื่อง ท่านยังพูดถึงเฮ 3 ว่าญาติโยมมากันเยอะนะ ซึ่งท่านก็ยินดี ท่านพระอาจารย์ยังหนุ่มแน่นเป็นชาวสมุทรปราการ กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของพระอาจารย์สมชาย แห่งเขาสุกิม จันทรบุรีที่โด่งดัง เพราะพระอาจารย์สมชายท่านเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ใครๆที่สนใจพระเกจิอาจารย์ย่อมรู้จักท่านดี…


ผมขึ้นไปกราบท่านคนเดียว วันนั้นท่านก็อยู่รูปเดียว เลยสนทนากันนานกว่าสามชั่วโมง และผมใช้เวลาอีกกว่าสามชั่วโมงระหว่างทางไปถ้ำและลงจากถ้ำ เพราะผมแวะชื่นชมต้นไม้ ธรรมชาติกลางป่าคนเดียว มันเป็นความสุขแบบอธิบายไม่ได้ว่าการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติคนเดียวนั้นเป็นเช่นใด เสียงธรรมชาตินั้นไพเราะกว่าเพลงที่เพราะที่สุดในโลก สีสันธรรมชาตินั้นสวยกว่าภาพที่งามที่สุดในโลก ผมรักธรรมชาติ.

ผมกับพระอาจารย์คุยกันหลายเรื่อง ในที่สุดก็มาลงที่กลุ่มไทโซ่ ที่ท่านเดินลงเขาไปบิณฑบาตทุกวัน และได้อาศัยแรงงานมาช่วยก่อร่างสร้างสำนักสงฆ์ถ้ำน้ำรินแห่งนี้ด้วย ข้อสรุปของท่านคล้ายกับของผมมาก แต่ท่านใช้คำทางธรรมว่า ไทโซ่นั้นมีลักษณะ “กรรมชิน” ตอนแรกผมงง เอ๊ะ ท่านพูดภาษาเกาหลีหรือญี่ปุ่น ฟังไปๆ อ๋อ…เป็นคำที่ได้ยินเป็นครั้งแรกสำหรับศัพท์ตัวนี้


อาว์เปลี่ยน กับผมคลุกคลีกับพี่น้องไทโซ่มานาน และมีสำนึกน้อมนำความเป็นไทโซ่เข้ามาในตัวเราเอง ตามหลักของในหลวงที่กล่าวว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยเรามีความเชื่อพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วว่า คนเราพัฒนาได้ แม้ว่าเขาจะเป็นคนป่าคนดง คนชายขอบ หรือจะอยู่ที่ไหนๆก็ตาม เพียงแต่การใช้เทคนิค การใช้เวลา การใช้กระบวนการ วิธีการ แนวทาง อุบาย ฯลฯ อาจจะแตกต่างจากกลุ่มคนอื่นๆบ้าง ก็ขึ้นกับ “การออกแบบ” ของเราผู้เข้าไปเรียนรู้เขานั่นเอง อาจะเรียกมุมนี้ของนักพัฒนาว่า เป็นวิศวกรสังคม หรือ สถาปนิคสังคมก็แล้วแต่

พระอาจารย์นรินทร์: โยม ครูบาอาจารย์ท่านผ่านกลุ่มคนเหล่านี้มาก่อนท่านเรียกว่า ไทยขาว ไทยดำ.. “ไทยขาวหมายถึงกลุ่มผู้ไท ไทยดำหมายถึงไทโซ่” พระอาจารย์ท่านสรุปลักษณะของสองกลุ่มนี้ว่า

ไทยขาวนั้น ขยัน เรียนหนังสือ อดทน รักความก้าวหน้า มีศรัทธาในศาสนา นิยมรักษาศีล เข้าวัดเข้าวามาก น้อมนำคำสอนของพระมากกว่า ผิวพรรณดี ปลูกยางพาราก่อน[(อาจารย์นรินทร์ยกกรณีนายวันชัย พ่ออามาตย์) วันหลังจะเขียนเรื่องนี้]

ส่วนไทยดำนั้น ชอบอยู่ป่า ติดการเข้าป่า พอเพียง ยึดติดประเพณี นิยมให้ทานมากกว่ารักษาศีล นับถือผี และ “กรรมชินหรือความเคยชิน” (ต่อตอนสองนะครับ)


เรียนรู้จากการปฏิบัติ

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 16, 2010 เวลา 21:02 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2849

ยังอยู่ที่พ่อแสนครับ คราวนี้พ่อแสนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ จากการทดลอง แต่ละบทเรียนนั้นมาจากการปฏิบัติเอง ผ่านกาลเวลา แล้วก็ได้ข้อสรุป เก็บเอาไปสอนลูกหลานและผู้ผ่านเข้ามา


หลายปีก่อนผมบันทึกใน G2K ว่า พ่อแสนไล่ตีค้างคาว ภาษาถิ่นเรียก “เจี่ย” บนขื่อบ้านเพราะมันถ่ายและฉี่รดหลังคามุ้ง ที่พ่อแสนนอนในตูบน้อยๆในสวนป่า แต่ตีเท่าไหร่ก็ไม่ถูก อิอิ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันดี เลยอยู่กับมันซะเลย แต่ป้องกันโดยเอาพลาสติกมาคลุมหลังคามุ้งซะ….

แต่แล้ว..หลายวันต่อมาพ่อแสนมาดูพลาสติกนั้นพบสิ่งที่จุดประกายบางอย่างเกิดขึ้นกับพ่อแสน คือ เห็นมูลค้างคาวจำนวนไม่น้อย อ้าว…มูลค้างคาวมันคือปุ๋ยชั้นดีไม่ใช่หรือ…. และอะไรนั่น สิ่งที่ผสมอยู่ที่มูลค้างคาวคือ ปีกผีเสื้อกลางคืนหลายตัว….

เท่านั้นเองพ่อแสนเปลี่ยนใจที่จะไล่เจี่ย เป็นมีใจรักมัน เชื้อเชิญมัน เพราะปีกผีเสื้อนั้นคือผีเสื้อกลางคืนที่เป็นศัตรูพืชของพ่อแสน และมูลเขาก็คือปุ๋ยชั้นเลิศ พ่อแสน แวบความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้นเราอยากให้มันมาอยู่อาศัยมากๆ เราก็จะได้ผู้ที่มาช่วยจัดการผีเสื้อกลางคืน และได้ปุ๋ยสุดเลิศ เราจะทำอย่างไรดีล่ะ

พ่อแสนจึงตัดไม้ไผ่กระบอกใหญ่ๆ เอาข้อปล้องไว้ แล้วเอาไปแขวนคว่ำลง วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นบ้านของเจี่ย และทดลองเอากระป๋องพลาสติกสีดำแขวนแบบคว่ำไว้ด้วย เวลาผ่านไปเป็นปี..ไม่มีเจี่ยเข้าไปพักอาศัยในบ้านจัดสรรที่พ่อแสนสร้างไว้ให้เลย อิอิ.. แต่แปลก มันบินไปนอนหลังคาบ้านลูกสาวในตัวอำเภอ แต่บ้านจัดสรรในสวนป่านี้เจี่ยไม่เลือกที่จะเข้าไปอาศัย…


อาว์เปลี่ยนเคยเล่าไว้บ้างว่า พ่อแสนมีความคิดพิสดารเรื่องคอกหมู ใครๆเขาเลี้ยงหมูหลุม ใครๆเขาเอาขี้หมูไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เอาไปหมักแก๊ส แต่พ่อแสนเลี้ยงหมูในคอกเคลื่อนที่ได้ ความคิดพ่อแสนมาจากการสังเกตว่าหมูหากปล่อยมันไปอิสระ มันก็เข้าไปตามดงหญ้าเพื่อหาอาหารแล้วมันก็เหยียบย่ำหญ้าราบเรียบไปหมด สวนป่าพ่อแสนก็พบว่ามีหญ้าธรรมชาติรกเต็มไปหมด จะไปดายหญ้าก็ไม่ไหว เลยเอาหมูใส่ในคอกที่เคลื่อนที่ได้ ใช้ให้ธรรมชาติของหมูจัดการหญ้าซะราบเรียบ แล้วก็ขยับคอกไปเรื่อยๆ ตามที่ที่มีหญ้ามากๆ…สุดยอดพ่อแสน คิดได้ไง ไม่เคยมีความคิดแบบนี้ออกมาจากนักวิชาการเลย

ปีต่อมาพ่อแสนสั่นหัวแล้วพูดว่า .. ไม่เอาแล้ว ไม่เลี้ยงหมูแล้ว อ้าว…. พ่อแสนอธิบายว่า สวนป่านี้ผมเลี้ยงสัตว์หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ “หอยหอม” หรือ “หอยแก๊ด” มันอาศัยหญ้าที่รกนั่นแหละเป็นที่อยู่อาศัยและหากิน หมูของผมไปกินหอยซะหมดเลย…อิอิ นี่เองพ่อแสนเลือกหอย ไม่เลือกหมู..อิอิ


ตูบน้อยของพ่อแสนนั้นที่เสาทุกต้นจะมีสังกะสีพันรอบ เด็กหนุ่มจบวิศวะมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังถามว่า พ่อแสนเอาสังกะสีมาพันทำไม.. กันหนูขึ้นไปข้างบน กันได้ดีมาก แต่กันจิ้งจกตุ๊กแกไม่ได้…


บทเรียนจาก เจี่ย บทเรียนจากหมูในคอกเคลื่อนที่ บทเรียนจากสังกะสีพันเสา…และ..ฯ มาจากการกระทำกับมือของพ่อแสนทั้งนั้น

หากเอาเด็กน้อย เยาวชนรุ่นใหม่มาเดินให้พ่อแสนเล่านวัตกรรมเหล่านี้ ก็เป็นการต่อยอดความรู้กันเป็นอย่างดี ซึ่งเราทำมาบ้างแล้ว และจะทำต่อไปอีก


บทเรียนจากการปฏิบัติของช่วงชีวิตของพ่อแสนนี้ เด็กรุ่นลูกหลานควรมาซึมซับเอาไปด้วย

อิอิ งานน่ะมีเหลือล้นครับท่าน..แต่หลายคนมองไม่เห็น…


บันทึกของพ่อแสน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 15, 2010 เวลา 20:20 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 7576

คนไทยเรามักจะมีจุดอ่อนในเรื่องการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ยิ่งเป็นชาวบ้านด้วยแล้วเป็นที่ถอนหายใจของคนแนะนำทั่วไป ยกตัวอย่างการที่หน่วยราชการแนะนำให้ชาวบ้านจดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวัน ที่เรียกว่าบัญชีครัวเรือน พบว่าล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะว่าชาวบ้านไม่ใช่คนที่มีความถนัดในเรื่องบันทึก แม้พวกเรียนหนังสือก็มีน้อยรายที่เป็นคนที่ทำบันทึกอย่างสม่ำเสมอ


เรื่องการบันทึกอุณหภูมิของพ่อแสนนั้น จริงๆผมเป็นคนแนะนำให้พ่อแสนทำการบันทึก เพราะผมเองก็ไม่ได้คิดมาก่อน แต่ที่หมู่บ้านตีนเขาใหญ่ ริมน้ำลำตะคอง ตอนที่ผมและคนข้างกายสำรวจลำตะคองจากต้นสายไปปลายสายหลายปีก่อน พบคุณลุงท่านหนึ่ง จดบันทึกละเอียดยิบถึงอุณหภูมิเอง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ ตลอดปี ตลอดหลายปี และยังเก็บบันทึกปริมาณน้ำฝนแบบง่ายๆอีกด้วย โดยเอากระป๋องนมมาติดบนยอดเสา หากฝนตกก็เอาไปตวงเอาว่าปริมาณเท่าไหร่ ทำแบบง่ายๆ พบว่าหลายปีต่อมาลุงสามารถคาดการณ์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หากอุณหภูมิเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น….สุดยอดจริงๆ

ต่อมาผมทราบว่า ข้าว กข. 6 ที่คำชะอีเกิดโรคระบาด ขณะที่อีกหมู่บ้านในอำเภอเดียวกันไม่มีโรคระบาดเลย นักเกษตรเข้าไปศึกษาพบว่า บ้านที่โรคระบาดนั้นเป็นเพราะความชื้นสัมพัทธ์แตกต่างจากบ้านอื่นเพราะหมู่บ้านนั้นตั้งในหุบเขา…?? นักเกษตรจึงแนะนำให้เปลี่ยนพันธุ์ข้าว ก็ได้ผลไม่มีโรคนั้นระบาดอีก เพราะพันธุ์พืช สถานที่ และความชื้นสัมพัทธ์ แน่นอนหมายถึงอย่างอื่นด้วย เช่นความแปรปรวนของอุณหภูมิ ช่วงเวลาที่ปลูกพืช ฯลฯ


พ่อแสนก็เล่าให้ฟังว่า คนอีสานรู้กันโดยทั่วไปว่า เมื่อฤดูร้อนมาเต็มที่ และเกิดฝนตกแต่อากาศร้อนระอุ นั่นเห็ดป่าจะออก ชาวบ้านต่างมุ่งหน้าขึ้นป่าไปหาเห็ด โดยที่ไม่รู้ว่าความชื้นสัมพัทธ์เท่าไหร่ แต่สัญชาติญาณ และประสบการณ์เป็นผู้บอก

ผมจึงซื้อเทอร์โมมิเตอร์แบบง่ายๆที่มีตุ้มแห้งและตุ้มเปียกให้พ่อแสนไปติดตั้งที่สวนและจดบันทึกทุกวัน เช้า เที่ยง เย็น พร้อมทั้งปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆหากมี

พ่อแสนทำได้ดีมาก ไม่คิดว่าเกษตรกรจะมีความพยายามทำได้ขนาดนี้ เราทำแบบฟอร์มไปให้ พ่อแสนจดลงแบบฟอร์มพักใหญ่ก็ทำแบบฟอร์มตัวเองดีกว่า แล้วก็มีเล่มสรุปเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นแยกต่างหากอีกด้วย โดยให้ลูกๆช่วยกันเขียน ลอกจากเล่มต้นฉบับ

อะไรจะขนาดนั้นพ่อแสน..สุดยอดชาวบ้าน



ถังสี่ใบในรูปนั้น คือตู้เก็บเอกสารของพ่อแสน ชาวบ้านที่เอาเถียงนาเป็น Office จะมีที่ไหนเก็บเอกสารได้ วางที่โน่นที่นี่เดี๋ยวปลวกก็กินเอา เดี๋ยวลมฝนมาก็ปลิวหาย ว่าแล้วก็ลงทุนซื้อถังใบใหญ่น้อยมาใส่เอกสารเก็บมิดชิดกันฝนกันปลวก เป็นสัดส่วน แยกประเภท แยกลุ่ม แยกเรื่อง แยกโครงการ คิดได้ไงพ่อแสน…



รูปซ้ายมือข้างล่าง นึกถึงสวนป่าพ่อครูบาฯ ที่เราไปอาศัยร่มไม้นั่งคุยกันแบบง่ายๆ กันเอง ไม่มีพิธีรีตองอะไร ใกล้ชิดธรรมชาติ กาต้มน้ำนั้นคือสมุนไพร จิบไปคุยกันไป จะนั่งท่าไหนก็ตามสะดวก เป็น Small Group Dialogue ที่วิเศษ ถึงแก่น ถึงใจ สาระหลุดออกมาเต็มๆ ไม่มีกำแพงใดๆขวางกั้น



รูปขวามือนั่น พ่อแสนนำชมกล้า “เร่ว” หรือ “หมากเหน่ง” ที่เอามาจากป่ามาเพาะกล้าไว้ ใครซื้อก็ขาย ไม่ซื้อก็เอาไปปลูกในสวน เร่ว นี่ผมเขียนมาหลายครั้งแล้วว่าเป็นพืชป่าตระกูลข่า ผลเร่วมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็น “ส่วย” หรือ “เครื่องบรรณาการ” ที่โบราณหัวเมืองต้องเอาส่งรัฐบาลกรุงเทพฯ 80 หาบต่อปี ดงหลวงคือดงของ เร่วป่า

นอกจากนี้ยังมีเร่วหอม หอมทั้งใบ ต้น ราก หอมจริงๆ เคยเอาให้ป้าจุ๋มไปปลูก ขยายโดย “ไหล” หรือเหง้าของเขา ดูเหมือน สปาในกรุงเทพฯจะซื้อไปใช้เป็นเครื่องหอมอบห้องด้วย ใครอยากได้ ไปดงหลวงครับ…



Main: 1.1063470840454 sec
Sidebar: 0.24748682975769 sec