ธรรมนูญชุมชน

อ่าน: 2343

เป็นต้นข่อยใหญ่ต้นหนึ่งที่เหมือนๆกับต้นข่อยทั่วไปที่มีประโยชน์สารพัดอย่างในวิถีดั้งเดิมของชนบท แต่ข่อยต้นนี้ที่บ้านพังแดงแตกต่างจากที่อื่นเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่อยู่ของเจ้าปู่ ผู้คุ้มครองกฎ ฮีตคองของบ้านแห่งนี้

ประเทศชาติปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่นักการเมืองต่างเสนอแก้ไขกันฉบับแล้วฉบับเล่า ต่างก็เพื่อประโยชน์ที่ใฝ่ปอง ชีวิตชนบทนั้นก็มีหลักการปกครองร่วมกันที่เรียกธรรมนูญชีวิต คือ ฮีตคอง ที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมาหลายชั่วคน คือกติกาสังคม มีไม่กี่มาตรา ไม่เคยมีใครเสนอให้แก้ไข ปรับปรุง ไม่เคยมีใครเสนอประชุมเปลี่ยนธรรมนูญชีวิตฉบับนี้

ผู้เฒ่า เจ้าโคตร คือประธานธรรมนูญนี้ในนามเจ้าปู่ มันผู้ใดที่ยึดฮีตคองเป็นแนวทางปฏิบัติตัวตน มันผู้นั้นจะมีเจ้าปู่คุ้มครอง มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู มันผู้ใดที่ลบล้าง ละเลย หมิ่น แคลน มันผู้นั้นต้องมีอันเป็นไป โดยที่ไม่ต้องพึ่งศาลปกครอง หรือศาลคดีผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ผู้ลงโทษคือ สังคม ฟ้าดิน


เมื่อไปก็ลา เมื่อมาก็ไหว้ เทียนน้อยสองเล่มถูกจุด ขันธ์ 5 วางเบื้องหน้า ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ผู้เป็นล่ามทรงม้าใช้ ทำหน้าที่สื่อสารบอกกล่าวเจ้าปู่ว่าข้าน้อยมากราบลาคราวสิ้นสุดวาระการทำงานในพื้นที่แห่งนี้ สิ่งใดที่ล่วงเกินทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ขอขมาลาโทษ สิ่งใดที่ทำดีแล้ว ขอเจ้าปู่ได้อนุโมทนาสาธุ


เสียงเอะอะ อึงอล ของผู้เฒ่าเจ้าโคตร บอกกล่าวต่อเจ้าปู่ ตามหลักฮีตคอง สื่อให้เราขนลุกขนพองถึงธรรมนูญชีวิตชนบทที่ห่อหุ้มสำนึกชนบทให้รู้ว่า สิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นธรรมนูญชีวิตนั้น คือการรวบรวมสิ่งดีงามให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข อำนาจวาสนา ทรัพย์ ศฤงคาร คือโลกธรรม ที่หากมีแต่โลภโมโทสัน ปลีกตัวออกห่างจากฮีตคอง เจ้าก็คือผู้ทำลาย แต่หากเจ้ามีสำนึกแห่งการอยู่ร่วมกัน โลกธรรมก็มิอาจมาทำลายได้ เพราะเจ้าเลือกแก่นมากกว่ากะพี้

การครอบครองรังแต่จะทำลาย การให้ต่างหากคือการสร้างสรรค์

19 ตุลาคม 2553


กินทุกอย่างที่ปลูก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 10, 2010 เวลา 20:14 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2969

การทำงานพัฒนาชุมชนหรืออื่นๆนั้นเรามักจะตั้งตัวชี้วัดที่สำคัญหนึ่งคือ ความต่อเนื่องยั่งยืน ซึ่งเป็นยาหม้อใหญ่สำหรับนักปฏิบัติ เพราะองค์ประกอบ ที่มาที่ไป การเริ่มต้น เงื่อนไขชุมชน การสนับสนุนจากภายนอก แม้แต่ระเบียบราชการต่างก็มีส่วนไม่มากก็น้อยต่อประเด็นชี้วัดดังกล่าว


เรามิใช่เทิดทูนทุกอย่างที่เป็นชุมชนว่าดีเลิศประเสริฐศรีไปหมด ที่ดีก็มีมาก ที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็มีไม่น้อย ยกตัวอย่างหากเปรียบเทียบครอบครัวกลุ่มผู้ไทกับกลุ่มไทบรู หรือโส้ กลุ่มโส้จะสกปรกกว่า บ้านช่องห้องหอ เกะกะ มองตรงไหนก็เป็นเรื่องต้องตำหนิติติงในมุมมองของคนเมืองอย่างเราไปหมด แต่เราจะไปชี้นิ้วให้เขาเปลี่ยนไปหมดทุกอย่างนั้น เขาคงหนีตะเลิดขึ้นป่าขึ้นดอยไปอีก ก็ค่อยเป็นค่อยไป แต่หลายอย่างของเขานั้น ชนเผ่าอื่นๆอาจจะทำอยากกว่า เช่นการปฏิบัติทำการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง โดยเน้นเกษตรผสมผสานตามเงื่อนไขตัวเองนั้น มันสอดคล้องกับวิถีเดิมๆของเขา โส้ทำได้ดีมาก

เมื่อวันก่อนมีประชุมกรรมการเครือข่ายไทบรู แล้วลืมสมุดบันทึก จึงกลับไปเอา พบผู้นำรุ่นสองกำลังปฏิบัติหน้าที่ “คุณมาดี” เจ้าหน้าที่สถิติแห่งชาติที่กำลังทำการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ใช้เวลาพอสมควร แต่ก็ให้กำลังใจเขาเพราะผลการสำรวจมีผลต่อการพัฒนาประเทศ


พอดีเข้าสู่เวลาอาหารกลางวัน ประสิทธิ์ ผู้นำรุ่นสองอีกคนก็เตรียมอาหาร แบบง่ายๆ ผมไม่ทราบว่าเรียกอะไร เห็นเขาบอกว่าเป็นเมี่ยง ก็แปลกๆ เขาเอาตะไคร้มาหั่น ใส่ครก เอาพริกใส่ ข่ากลางอ่อนกลางแก่ ส้มมะขาม ตำพอแหลก แล้วที่ขาดไม่ได้คือปลาร้า เป็นเสร็จ


แล้ว ภรรยาพ่อหวังก็ไปเอากล้วยอ่อนและปลีมาหั่นใส่กะละมังที่ใส่น้ำ เอาเกลือใส่ลงไปพอสมควรขยำๆแล้วเทน้ำออก ใส่น้ำใหม่เข้าไปเพื่อล้างความฝาด ประสิทธิ์บอกว่านี่คือเมี่ยงของชาวบ้าน เอาปลีกล้วยมาห่อกล้วยอ่อน แล้วไปจ้ำเมี่ยงที่ตำมาแล้วนั้นใส่ปาก หยิบข้าวเหนียวตามไป

สักพักประสิทธิ์ก็เดินไปสวนข้างบ้านคว้าเอาใบมะละกอมาใบหนึ่ง ผมงง งง เอามาทำไม เขาบอกว่าเอามากินกับเมี่ยงนี่แหละ เขาบอกว่า หากกล้วยอ่อนยังฝาดอยู่ก็เอาใบมะละกอมาเพื่อตัดฝาด ความอยากรู้ผมลองชิมดู ก็จืดๆ รสชาติจะอยู่ที่ตัวเมี่ยงที่เขาตำมามากกว่า

ภรรยาพ่อหวังบอกว่า หากมีมะเดื่อก็เอามากินได้ ยิ่งได้มะเข่งยิ่งอร่อย เพราะเขาจะออกเปรี้ยว มะเข่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ใบมีรสส้มใช้แทนมะขามได้ หน่วยสุกกินได้ หน่วยอ่อนจะมีรสฝาด ส่วนมะเดื่อนั้นมีสองชนิด ชนิดหนึ่งนั้นกินไม่ได้ แต่เอาไปให้วัวควายกินเวลาเขาคลอดลูก เพราะจะช่วยให้ “น้องวัว” ตกง่าย น้องวัวคืออะไร นี่ต้องถาม อาวเปลี่ยน ได้ข่าวว่าชอบนัก..

ภรรยาพ่อหวังบอกว่า “นี่ไงปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เพราะทุกอย่างที่เป็นอาหารมื้อกลางวันนี้ไม่ได้ซื้อหามาเลย และทุกอย่างมีอยู่ในสวนเล็กๆนี่เอง ชาวบ้านถึงบอกว่า เข้าป่านั้นเอาแค่กระติ๊บข้าวไปเท่านั้น อาหารหรือกับข้าวไปหาเอาข้างหน้าในป่า

หากมองในมุมของนักโภชนาการนั้นสอบตกหมด เพราะความสะอาดนั้นไม่ผ่าน..

เรื่องนี้หากหยิบมาพัฒนากันละก็คงใช้เวลามากกว่าโครงการปัจจุบันที่กำลังจะปิดตัวลงน่ะครับ…


เส้นทางของเพ็ญ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 22, 2010 เวลา 1:07 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2780

การนำหลักการพึ่งตนเองไปประกาศให้ประชาชนเป้าหมายได้นำไปพิจารณาปฏิบัตินั้น แต่ละคำพูดก็ออกมาจากฐานความคิดบนสิ่งที่เรียกว่าเหตุและผล ประกอบกับการศึกษาดู สัมผัสของจริงในสถานที่ต่างๆ จนเรามั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ควรนำไปประกาศ

แต่เราไม่เคยปฏิบัติเอง..เพียงหัวใจเราเชื่อมั่น

เพ็ญ เป็นชื่อของชาวบ้านคนหนึ่ง ไม่ใช่อีเพ็ญ แต่เป็นนายเพ็ญ ชายหนุ่มทั้งแท่งด้วยอายุ 47 ปี เขาตระเวนไปขายแรงงานทั่วประเทศไทย ที่ไหนมีงานจ้างเขาไปที่นั่น

แต่แล้ววันหนึ่งเขาเบื่อที่จะเร่ร่อนไปใช้แรงงานรับจ้าง เพราะมองไม่เห็นทางที่จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้เลย เพียงสติที่กระตุกเขากลับมาให้คิดในสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ เมื่อไม่มีคำตอบเขาเดินทางกลับบ้านดงหลวงของเขา ทั้งที่ก็ยังคิดไม่ออกว่า แล้วจะทำอะไร

มือที่จับจอบเสียมนั้นต่างจากมือในวันเวลาที่ผ่านไป ผืนที่ดินที่ “แปนเอิดเติด” (โล่งเตียน) ตรงหน้าเขานั้นเขาถามตัวเองว่า จะทำอะไรกับที่ดินตรงนี้ อนาคตเขาจะทำอะไรที่แตกต่างไปจากเพื่อบ้าน พ่อแม่ ที่ต่างก็ย่ำรอย ความยากจนมาตลอด

เป็นช่วงเวลาที่พวกเราเข้าไปทำงานในพื้นที่ ตระเวนไปหาชาวบ้านผู้มีแววแห่งศักยภาพ หรือสนใจ เรานั่งคุยกัน เราชักชวนผ่านผู้นำในพื้นที่ไปดูงานการทำเกษตรผสมผสานเพื่อการพึ่งตนเอง เพ็ญเดินทางไปกับพ่อใบลิกา และพวกเรา ไปดูงานอินแปง ที่นั่นเพ็ญเห็น พ่อเสาร์ พ่อนั่น พ่อนี่ปลูกแต่ต้นไม้เต็มไปหมดบนที่ดินทั้งผืนเล็กผืนใหญ่ แทบจะไม่มีช่องว่างจะให้เดิน ดูพ่อเหล่านั้นอิ่มเอิบมีความสุข มีกินทุกอย่าง มีเสียงนกเสียงกา มีมดแดง มีเห็ดของโปรด มีหน่อไม้ ใบไม้ที่เป็นของเคียงลาบบ้านเรา

เพ็ญแอบคิดเงียบๆว่านี่แหละคือสิ่งที่เขาเดินหา พบแล้ว นี่คือวิถีที่เราต้องการ

อาว์เปลี่ยนเอาระบบน้ำไปให้สนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการและมีแวว วันนั้นเพ็ญหลุดปากออกมาว่า “ผมจะทำให้ส.ป.ก.ดังให้ได้” พวกเราพยักหน้าแล้วก็ลืมไปหมดแล้วว่าเพ็ญพูดอะไรวันนั้น..

วันเวลาที่เปลี่ยนไป จากวันเป็นเดือนเป็นปี เป็นสองปี สามปี สี่ปี….กิจกรรมมากมายผ่านมือเรา สมองเรา ทีมงานและก้าวข้ามปัญหา อุปสรรค การทะเลาะเบาะแว้งกันตามปกติของคนทำงานและความคิด

วันนั้นเพ็ญจูงมือเราไปเยี่ยมแปลงของเขา ว่าอาจารย์ไปดูแปลงผมหน่อย

มันไม่ใช่.. เพ็ญทำอะไรลงไป …บนที่ดินที่เมื่อสามปีที่แล้วมีแต่ดินกับดินและดินไม่มีต้นไม้สักต้น… บัดนี้เต็มไปด้วยต้นไม้สารพัดชนิดเต็มพื้นที่ไปหมด เพียงสามปีบนที่ดินว่างเปล่า บัดนี้เป็นสวนไม้ผลไม้ยืนต้น พืชผัก ไม้ป่านับชนิดไม่ถ้วนที่เพ็ญใช้สองมือปลูกมันด้วยตัวเขาเอง กับศรีภรรยา

ผมจับมือเพ็ญแน่นๆ มองหน้าเขา พร้อมกับโอบไหล่เขา โดยไม่พูดอะไร เราสื่อกันด้วยความรู้สึก…

เมื่อเช้าผมตัดกล้วยไปขายริมถนนได้ 200 บาท วันก่อน ข่า ตะไคร้ คอนแคน ได้มา 300 บาทไม่ต้องไปตลาด แค่ตัดแล้ววางไว้ริมถนนแม่ค้าแย่งกันมาซื้อไปขายที่ อ.เขาวง วันไหนผมตัด เก็บพืชผัก ผมก็ได้เงินทุกวัน

ลูกหลานกลับจากโรงเรียนก็แวะมาสวนผม ผมก็เก็บหมากเม่าให้กิน ปากดำไปเลย เด็กๆก็วิ่งเล่นในสวน..มีความสุข

ผมหลับตาเห็นป่าครอบครัวกำลังโตขึ้นมาบนที่ดินผืนนี้ที่เมื่อสามปีที่แล้วไม่มีต้นไม้สักต้น.. เหมือนพ่อแสนบ้านเลื่อนเจริญ แล้วชีวิตวันวันก็วนไปวนมาอยู่ที่สวนนั่นแหละ เผลอไม่นานก็หมดวัน เพลินไปกับทำโน่นทำนี่กับต้นไม้ทุกต้นในสวน..

มันเป็นความสุขลึกๆของคนทำงานพัฒนา ที่ไม่มีใครมองเห็น

นี่คือฝีมือ ลุงเปลี่ยน.. เมืองหงสา.. เพ็ญเขาฝากความระลึกถึง


ทายาทเกษตรกร

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 18, 2010 เวลา 0:13 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2778

ผมไม่คิดว่าเธอจะเสแสร้ง ผมเชื่อว่าเธอเหล่านั้นพูดความจริง

ผมต้องชื่นชมงานของมูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน เพื่อนร่วมโครงการที่เป็น NGO รับงานด้านพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และงานที่สำคัญคือ สร้างทายาทเกษตรกรขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง


การสัมมนาของเรามีเกษตรกรในโครงการเข้าร่วมมากกว่า 200 คนมาจาก 4 จังหวัดในโครงการคือ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร มูลนิธินี้เป็น เพียงหนึ่ง NGO ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผ่านเครือข่ายอินแปงที่ลือลั่นในอีสานมานาน

ท่านอาจารย์อนันต์ กาญจนพันธ์ แห่งมช.รายงานมานานแล้วว่า โครงสร้างสังคมชาวนาเปลี่ยนไป และหลายปีก่อนเพื่อนรักที่กำลังจะบวชที่เชียงใหม่ก็โทรมาคุยว่า “เฮ้ย..บู๊ด ชาวนาเชียงใหม่เปลี่ยนไปแล้วว่ะ ไม่มีใครทำนาแล้ว เป็นผู้จัดการนาต่างหาก เพราะจ้างแรงงานต่างชาติ เช่นพม่ามาทำแล้ว…??”

ผมกึ่งไม่เชื่อ แต่ก็ต้องจำนนความจริง เหมือนใครต่อใครกล่าวว่า พ่อแม่สร้างสมประสบการณ์เกษตรมามากมาย ปราชญ์และไม่ปราชญ์ทั้งหลายนั้น ลูกหลานท่านจะสืบต่ออาชีพเกษตรกรสักกี่ราย ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่ตำหนิท่านเหล่านั้น แต่สังคมเราเคลื่อนไปทางนั้น ไม่ว่าใครก็หันหน้าไปทางนั้น หันหลังให้ภาคเกษตร ระบบสังคมไม่ได้ใส่ใจจริงจังมากกว่า

แต่วันนี้ NGO นี้ได้สร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาจากการโน้มนำลูกหลานผู้นำเกษตรกรที่ร่วมงานมาพูดคุย มาศึกษา อบรม ศึกษาดูงาน ทำกิจกรรม และลงมือรับผิดชอบงานร่วมกับพ่อแม่

หญิงสามชายหนึ่งบนเวทีในรูปนั่นคือตัวแทนกลุ่มลูกหลานชาวนาของจังหวัดสกลนคร ขอนแก่น มหาสารคามและมุกดาหารที่ล้วนจบปริญญาตรีจากสถาบันต่างๆไม่ไปทำงานที่อื่น กลับมาบ้านเอาศักยภาพมาปรับการเรียนรู้การเกษตรและหลักการการพึ่งตัวเองในท้องถิ่นที่เขาเหล่านั้นอาศัยอยู่


น้องแต๋ว เธอคือลูกสาวของพ่อหวัง วงษ์กระโซ่แห่งเครือข่ายไทบรูดงหลวงเธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า ….”หนูไม่ลืมกำพืดของเกษตรกร” หนูเรียนรู้การเพาะกล้าไม้ ทำเรือนเพาะชำ ทำของใช้ในครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ ทำเกษตรผสมผสาน แปรรูปน้ำผลไม้ และอื่นๆ…. แรกๆหนูก็ไม่สนุก แต่หนูได้คุยกับเพื่อนๆที่มาจากต่างจังหวัดต่างก็เป็นลูกชาวนาเหมือนหนู.. แล้วหนูก็สำนึกได้ว่า นี่คือกำพืดหนู..สิ่งที่หนูทำไปตามที่พี่พี่เขาแนะนำนั้น มันทำให้หนูตระหนักถึงชีวิตที่ควรดำรง…

เล่นเอาผู้ใหญ่ พ่อ พ่อ แม่ แม่ ทั้งหลายน้ำตาคลอไปเลยจากคำสารภาพหลังจากที่เธอกล่าวเสร็จแล้วพิธีกรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น พ่อท่านหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า ผมซาบซึ้งใจที่ลูกหลานเหล่านี้ได้สำนึกและก้าวเดินตามรอยพ่อแม่ ซึ่งเชื่อว่าเธอจะก้าวไปดีกว่า เพราะเธอเหล่านี้ผ่านระบบโรงเรียนมาสูงกว่าพ่อแม่ และหันกลับมาบ้านเรา ทุ่งนาของเรา วัวควายของเรา ต้นไม้ของเรา ในฐานะที่เป็นพ่อคน ตื้นตันใจที่ลูกๆหลานได้สำนึกในกำพืดของเรา.. เล่นเอาที่ประชุมซึมไปเลย…

น้องแต๋ว เธอเป็นลูกพ่อหวัง วงษ์กระโซ่(ที่เพิ่งออกรายการคุยกับแพะ) แม่ของเธอ สนิทสนมกับเรามาตลอดเราเห็นเธอเป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้ว่าจะเป็นวัยรุ่น ที่มีกลิ่นอายของวัยรุ่นติดอยู่ แต่สำนึกของเธอนั้น ก้าวข้ามสังคมทุนไปแล้ว

เหลือแต่หน่ออ่อนเหล่านี้ต้องคอยรดน้ำพรวนดินให้เติบโตเข้มแข็ง ต่อสู้กับปัญหาข้างหน้าอีกมากมาย หากผ่านไปได้เธอก็คือของจริงที่จะยืนอยู่เคียงข้างพ่อแม่ และสืบต่อสังคมในยุคสมัยของเธอ เราพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้เธอเหล่านั้นอยู่แล้ว…


ท่ามกลางความมืดมน ก็มีแสงสว่างส่องรอดช่องออกมาบ้างนะครับ

ความเหนื่อยล้าของพ่อครูบาฯไม่สูญเปล่าหรอกครับ..


ปายกะสอบ..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 29, 2010 เวลา 20:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2449

กระต๊อบสองหลังนี้ต่อเนื่องกัน อยู่ตรงสามแยกบ้านพังแดง บนถนนเปรมพัฒนากับถนน รพช.(เดิม) สร้างมาสองปีแล้ว เจ้าของคือ คุณ “ทราย” อยู่ที่บ้านเปี๊ยด ใกล้อำเภอดงหลวง ห่างจากบ้านพังแดงประมาณ 10 กม.


หนูเห็นว่าที่บ้านพังแดงมีร้านก๊วยเตี๋ยวร้านเดียวในตัวหมู่บ้าน น่าที่จะตั้งได้อีก จึงปรึกษากับสามีอยากมาทำร้านขายก๊วยเตี๋ยว มีเงินในมือแค่หนึ่งพันห้าร้อยบาท ไปกู้เพื่อนบ้านมาสองหมื่นบาท เสียดอกร้อยละสิบ..มาเปิดที่นี่ บางวันก็ขายดี บางวันก็ไม่ได้ ดูร้านในหมู่บ้านซิปิดไปแล้ว..

สามีเธอเป็นช่างไม้ รับจ้างไปเรื่อยๆ หนูมีลูกสองคน คนโตเรียน ม 2 อยู่กรุงเทพฯ กับน้าสาว หนูต้องส่งเงินเขาเดือนละสองพันบาท เหลือยอดอีกครึ่งหนึ่ง ที่ดินตรงนี้เช่าตา..ตอนแรกเขาคิดปีละสองพันบาท หนูต่อรองเขาได้หนึ่งพันบาทต่อปี

พออยู่ได้ เฉลี่ยแล้วหนูมีรายได้วันละ สองถึงสามร้อยบาท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นขาจร คนผ่านไปมา ขาประจำก็เป็นเจ้าหน้าที่ อบต.สาวๆ สาม สี่ คนเท่านั้น มีคนมาขอเช่าที่เพิ่มเติมจะเปิดปั้มน้ำมัน แต่ตา..เขาไม่ยอมให้เช่า


ผมยกชามก๊วยเตี๋ยวไปนั่งใกล้ๆ แล้วคุยเรื่องที่ผมสนใจ

ทรายมาอยู่นี่เจอะอะไรดีดีไหม หมายถึงปอบน่ะ..

หนูเข้าใจดี..หนูรู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรในหมู่บ้านนี้ เพราะหนูเป็นคนที่อื่นมาอาศัย “หนูก็ทำตัวนอบน้อม ไม่แสดงอาการแข็งกร้าว ใหญ่โตอะไร หนูไม่จำเป็นต้องพกพาวัตถุมงคลป้องกันอะไร แค่ปฏิบัติตัวนอบน้อม ไม่ต่อปากต่อคำอะไรกับใครก็อยู่ได้…

ตอนหนูมาใหม่ๆก็ไปใหว้เจ้าปู่ หัวหมูกับเหล้าและเงินสองร้อยบาท ที่เรียกครอบ

ผมถามเคยพบอะไรพิเศษไหม..ทรายบอกว่า เคย..คืนหนึ่งสามีหนูเมา หนูก็ลุกขึ้นจะไปจ่ายตลาดประมาณตี 4 เอามอเตอร์ไซด์ไปคนเดียว ตรงทางโค้งโน้น หนูพบลูกไฟใหญ่ข้างทาง หนูกลัวมาก เลยไม่ไปจ่ายตลาดเวลาเช้ามืดอีกเลย สว่างแล้วค่อยไป..


อย่างอื่นล่ะ…ผมเซ้าซี้ อยากเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ

อาจารย์..ปีแรกที่หนูมาเปิดร้านน่ะ หนูขายเหล้าด้วย สักพักใหญ่ๆหนูเลิกขายเหล้าเลย เพราะมีคนกินเหล้าแล้วไม่จ่ายเงิน รวมๆสัก ห้า หกพันบาทได้ หนูไม่กล้าทวงเขา กลัวเขาเป็นปอบจะทำใส่หนู…หนูไม่พูด แล้วแต่เขาจะคืนหรือไม่คืน หนูเลยเลิกขายเหล้า ขายแต่ก๊วยเตี๋ยวอย่างเดียว… พออยู่ได้..

สรุป

  • เป็นที่รู้กันว่าบ้านพังแดงมีปอบใหญ่ จำนวนหนึ่ง
  • คนต่างถิ่น หรือคนในหมู่บ้านก็ตาม ควรมีพฤติกรรมทำตัวไม่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ แต่อย่างใด หากทำตัวแตกต่าง ปอบจะแผลงฤทธิ ทำให้เจ็บป่วย ถึงตายได้ มีกรณีตัวอย่างหลายกรณี
  • โดยเฉพาะคนต่างถิ่นต้องทำพิธีครอบเข้าหมู่บ้านเมื่อเข้ามาอยู่ มาทำงาน มาทำมาหากิน และครอบออกหมู่บ้าน เมื่อต้องออกไปจากหมู่บ้าน
  • หากเกิดกรณีที่เป็นผลประโยชน์ขัด เช่น มีคนในหมู่บ้านไม่ให้เงิน กรณีซื้อของ หรือกรณีใช้น้ำแล้วไม่จ่ายค่าน้ำ ค่าสิ่งของ โดยทั่วไปไม่กล้าที่จะไปทวงถาม ปล่อยให้เกิดสถานการณ์คาราคาซังเช่นนั้น…
  • สภาวการณ์นี้ครอบงำหมู่บ้านนี้จนเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป
  • ทราย ยืนยันว่า บ้านพังแดงนั้นบางครอบครัวเขามีเงินนะ แต่เขาทำตัวเหมือนไม่มี เพราะเกรงกลัว อิทธิพลปอบ
  • ใครที่พูดจารุนแรงหรือ เด่นเกินไป จะอันตราย

ประเด็น

  • ยอมรับว่าละเลยเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติส่วนนี้ไป โดยไม่ได้นำมาพิจารณาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของพื้นที่ดงหลวงโดยเฉพาะพังแดง
  • เพราะเขาไม่พูดหากไม่ถาม และทุกคนพยายามเก็บปากเก็บคำต่อเรื่องนี้ แม้จะถามก็ตาม จึงมีส่วนทำให้เราไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร เพราะเราไม่คิดว่าจะมีผลต่องาน
  • เรายังขาดข้อมูลลึกๆอีก เช่น กรณีทราย คนที่มากินเหล้าแล้วไม่จ่าย ก็ไม่กล้าไปทวงถาม คำถามคือ คนที่ไม่จ่ายเงินค่าเหล้านั้นไม่ใช่คนเดียว แล้วทุกคนเป็นปอบตัวจริงหรือเปล่าที่มีอิทธิฤทธิ์ดังกล่าวมา หรือมีบางคนลักไก่ ไม่ใช่ปอบ แต่อาศัยอิทธิพลปอบหลอกกินเหล้าฟรี
  • การที่ชาวบ้านเก็บปากเก็บคำ เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะล้วงลึก เพราะใครต่อใครไม่อยากกล่าวถึง หากจะกล่าวก็ไม่หมด เพียงผิวเผิน เหมือนเกรงกลัวอิทธิพล
  • หลายท่านเรียนรู้เรื่อง ปอบ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ คือระบบควบคุมสังคม ในทางทฤษฎี และกรณีตัวอย่างในหลายแห่ง แต่ที่นี่ บ้านพังแดงอาจจะไม่ใช่

อ้อที่ตั้งชื่อ “ปายกะสอบ” จริงๆก็คือ “ปอบ กะ ทราย” อิอิ


วิถีปอบดงหลวง

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 25, 2010 เวลา 1:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2281

“สมัย” เป็นเด็กหนุ่มบ้านพังแดงเรียนจบ ปวช ไฟฟ้า จากวิทยาลัยเทคนิคดงหลวงที่ไม่มีชื่อเสียงอะไร เพียงเป็นสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ค่าใช้จ่ายไม่สูงนักและอยู่ใกล้บ้าน และเป็นวิชาชีพที่เรียนจบแล้วพอหางานทำได้ พ่อแม่ทั้งหลายที่ไม่มีโอกาสเลือกมากนักก็เอาลูกมาเรียนที่นี่

โครงการเราต้องการเด็กท้องถิ่นที่จบทางไฟฟ้า หรือช่างกล มารับผิดชอบดูแลโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สมัยเป็นลูกผู้นำชุมชนและมีความรู้เข้าเกณฑ์ เราจึงไม่ลังเลที่จะเลือกเขาเข้ามาทำงาน โดยเป็นลูกจ้างราชการรายเดือน…

วันนี้เขาเดินทางมาสำนักงานในเมือง เราจึงถือโอกาสเชิญมานั่งกินกาแฟคุยกัน ผมเองยังสนใจเรื่องวิถีปอบ เพราะมีสมมุติฐานในตัวเองว่า มันเป็นสภาวการณ์ที่ครอบงำชุมชนมากน้อยแค่ไหน ชาวบ้านเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน คนเป็นปอบมีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะสภาวะที่ความเชื่อเรื่องปอบครอบงำชุมชนอยู่นี้มีผลต่อการทำงานของโครงการอย่างไรบ้าง..ฯลฯ…

แม้ว่าผมจะทราบผลมาบ้างแล้วแต่ต้องการสอบถามชาวบ้านในทุกกลุ่มวัย และในจำนวนที่มากตามโอกาสที่มี เพื่อยืนยันวิถีปอบว่า..แค่ไหน….

เชื่อครับ…ผมเชื่อและไม่กล้าลองดี และไม่มีใครจะทำเช่นนั้น สมัยเอ่ยกับผม

ถามต่อว่า มีอะไรยืนยันว่าปอบมีอิทธิพลที่ทำให้ชาวบ้านทั่วทั้งหมู่บ้านกลัวเกรง..

อาจารย์.. เมื่อเร็วๆนี้อาจารย์ก็รู้ว่ามีเด็กหนุ่มคนหนึ่งตายลงไป หมอลงบันทึกว่าเพราะกินเหล้ามากไป…แต่ชาวบ้านคุยกันและเชื่อกันว่าเพราะปอบทำให้ตาย… กินเหล้าแค่นั้นมันไม่ตายหรอก แต่เพราะคนนี้ซื้อรถแทรกเตอร์มาใหม่…..ซึ่งไม่ใช่เรื่องทั่วไปที่ใครๆจะซื้อได้..

อ้าวแล้วมันเกี่ยวอะไรกับปอบ…

อาจารย์…ปอบเขาอิจฉาอะไรทำนองนั้น ใครๆก็รู้ว่าบ้านนี้อย่ามีอะไรเกินหน้า ไม่ได้… ??!! ก่อนเด็กหนุ่มคนนี้ตายมีหลายคนเห็นลูกไฟที่ใต้ถุนบ้านของเขา ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่านั่นคือปอบ…

อีกตัวอย่างหนึ่ง… หลายปีผ่านมา มีเด็กหนุ่ม เปิดร้านขายของในหมู่บ้าน แต่แล้วปอบมาเข้าแล้ว “ออกปาก” ว่า อย่าเปิดร้านค้า ให้หยุด แล้วเลิกซะ เด็กหนุ่มคนนั้นไม่ฟังเสียงห้ามนั้น หรือเสียงข่มขู่ของปอบนั้น ต่อมาไม่นานเด็กคนนั้นก็ผ่ายผอมลงและตายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ..

ผมถามต่อว่า ..บอกได้ไหมว่ามีปอบกี่ตัว สมัยบอกว่า มีประมาณ 4-5 ตัว ในอดีตมีมากกว่านี้เยอะ และในจำนวนนี้ ตายไปแล้วสาม เหลือสอง แต่จริงน่าจะมากกว่านี้ เพราะเราไม่รู้ทั้งหมด เพราะไม่มีใครพูดกัน แต่รับรู้

ปอบกินอะไร สมัยบอกว่า กินกบกินเขียด กินสัตว์พวกนี้.. อดีตเล่าลือกันว่ามีคนเห็นปอบออกหากินเขียด พวกนี้หากินรอบๆบ้าน ถูกแล้วที่พวกไปหาของป่ากลางคืนจะไม่เข้าบ้านในช่วงเวลา 5 ทุ่มถึงตี 5 ….

ผมถามแบบฟันธงไปเลยว่า สมัยคิดว่า ความเชื่อเรื่องปอบนั้นมีผลกระทบต่องานของโครงการไหม อย่างไร.. สมัยตอบว่า มีผลแน่นอนครับ แบบว่าไม่มีใครต้องการทำอะไรให้เด่น โด่ง หรือในความหมายก็คือ พยายามทำให้สำเร็จสูงสุด เพราะกลัวว่าจะโดนปอบไม่ชอบใจที่แตกต่างจากคนอื่นๆมากเกินไป อะไรทำนองนี้..???!!!

อาจารย์เชื่อไหมว่า บ้านพังแดงนี้ไม่มีใครกล้า “ออกรถปิคอัพ” เพราะกลัว….เกรง…ไม่กล้าลอง.

อาจารย์..เดี๋ยวนี้ทราบมาว่ามีเด็กหนุ่มบางคนแอบไปเรียนวิชาปอมกันบ้างแล้ว..

เราแลกเปลี่ยนกันนานพอสมควร ผมถือโอกาสเล่าประสบการเกี่ยวกับทำนองนี้สมัยทำงานที่สะเมิง ที่สุรินทร์กับพวกราษฎรไทยเชื้อสายเขมร พักใหญ่ๆสมัยก็ลากลับดงหลวง

ปล่อยให้ผมคิดอะไรต่ออะไรไปอีกนาน ผมนึกในใจว่า ผมไม่ได้พยายามเอาเรื่องปอบมาสร้างประเด็นเลย แต่ช่วงที่ผ่านมาในระยะเวลาเพียงเดือนเศษๆ การรับรู้ของเราบอกว่า ความเชื่อเรื่องปอบส่งผลต่อการทำงานจริงๆ…

แล้วคนที่บริหารงานอยู่ข้างบนจะหัวเราะ เยาะใส่ผมไหมนี่….



จากหลักการสู่ปฏิบัติ…ไม่ง่ายเหมือนพูด..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 9, 2010 เวลา 1:43 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2293

“หลักการสนับสนุนให้มีการพึ่งตนเอง” นั้น มีพัฒนาการมานานแล้ว สมัยที่ทำงานพัฒนาชนบทที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปี 2518 นั้น เราใช้คำว่า “ยืนอยู่บนขาของตัวเอง” เมื่อเวลาผ่านไปก็พัฒนาแนวคิดและรายละเอียดเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งหลักการดังกล่าวมีที่มาที่ไปอันเดียวกัน


ความสำคัญอยู่ที่การนำแนวคิดลงสู่การปฏิบัติให้เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่งานปอกกล้วยเข้าปาก เพราะเงื่อนไขของความสำเร็จนั้นมีมากมาย เราลองผิดลองถูกกันมานานแม้จะมีการสรุปบทเรียน แต่ประเด็นใหม่ๆที่น่าคิดก็เกิดขึ้นมาเสมอ อาจเรียกได้ว่า โจทย์เปลี่ยนไปเรื่อย ตามความแตกต่างของท้องถิ่น ชนเผ่า ภูมิภาค ฯลฯ แต่เราสรุปร่วมกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การยืนอยู่บนขาของตัวเองไม่สำเร็จ หรือล้มเหลวนั่นเองนั้นมาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกคืออิทธิพลของกระแสหลัก ปัจจัยภายในคือทุนทางสังคมและความล่มสลายของสำนึกแห่งสติ

กระแสหลัก คือ กระแสทุนนิยมเสรี ซึ่งปัจจุบันนักวิชาการส่วนหนึ่งเรียก ทุนนิยมสามานย์

ทุกครั้งที่เราลงไปชนบท ชาวบ้านก็มีคำถาม มีข้อแลกเปลี่ยน มีประเด็นปลีกย่อยที่ไม่เกิดขึ้นในช่วงการจัดการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน หากไม่มี Follow up ก็จะไม่เกิดการแลกเปลี่ยนหลังการฝึกอบรม ก็ไม่มีการเติมเต็ม ก็ไม่มีโอกาสติดตามการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ แต่ไม่ง่ายนะครับ เพราะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้งบประมาณ หรือมีต้นทุนการทำงาน ซึ่งระบบราชการทำยาก แต่โครงการพิเศษมีโอกาสทำได้มากกว่า

ทุกครั้งที่เราไปพูดคุยกับชาวบ้าน เราก็จะได้เรียนรู้อีกมากมาย

แนวคิดที่สำคัญหนึ่งในปัจจุบันของการพึ่งตัวเองคือ “การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” คือพยายามทำของใช้เองในครัวเรือน คือ ทำสบู่ ทำยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ และเชิงวัฒนธรรมก็มีเช่นฟื้นฟูการใช้แรงงานร่วมกัน เช่น “การเอามื้อเอาแรงกัน” หรือ “วัฒนธรรมการลงแขกทำงาน” ก็ใครสร้างบ้านก็ไม่ต้องจ้างกัน ไหว้วานแรงงานมาช่วยกัน ใครเก่งช่างไม้ ช่างเหล็ก ต่างก็มาใช้ความถนัดของตัวเองช่วยเพื่อนบ้าน หรือลงมือเกี่ยวข้าว แทนที่จะจ้างก็นัดกันไปเกี่ยวนายทักษิณ ก่อน แล้วนายทักษิณก็มาเกี่ยวข้าวแปลงของนายสุเทพบ้าง

วันหนึ่งผมไปคุยกับชาวบ้านยากจน ประเภทไม่มีที่ดินทำกิน และถือว่าเป็นคนชายขอบในชุมชน ต้องอาศัยญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน แต่เขาเป็นคนดี เขาคุยกับเราว่า….อาจารย์จะให้ผมไปเอามื้อเอาแรงกัน ผมก็เห็นด้วย แต่ผมก็จะไม่มีรายได้น่ะซีครับ เพราะผมมีชีวิตที่มีรายได้มาจากการรับจ้างเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านก็เข้าใจ มักเรียกผมไปให้ทำโน่นทำนี่แล้วก็ให้ค่าแรงผม ก็เอามาใช้จ่ายในครัวเรือน ผมมีเมีย มีลูกต้องกินต้องใช้เหมือนทุกคนที่มีที่ดินทำกิน….


ผมสะอึก…. บางทีหลักการดีดีของเรามันไม่ดีกับบางคนในชุมชน.. ถามว่ามีคนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ โดยประมาณการจะมีประมาณร้อยละ 2-5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งชุมชน

อีกกรณี เราเห็นว่าในแต่ละชุมชนมีตลาดนัดทุกสัปดาห์ และทั้งหมดเป็นพ่อค้าเร่ที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่หมุนเวียนกันเอาสินค้ามาวางขาย ซึ่งชาวบ้านก็มักไปอุดหนุนดีมาก จึงเกิดตลาดนัดแบบนี้หลายแห่ง หลายเจ้า หลายกลุ่ม มาจากหลายจังหวัด เมื่อพิจารณาก็เห็นว่าสินค้าหลายชนิดก็จำเป็น แต่จำนวนมากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และประการสำคัญเป็นการจับจ่ายที่เงินไหลออกจากชุมชนแต่ละสัปดาห์เป็นเงินจำนวนมาก นับหมื่นนับแสนบาท

เราจึงสนับสนุนตลาดของชาวบ้านเอง เอาของมาขายเอง ผลิตเอง เงินหมุนเวียนภายในหมู่บ้านไม่ไหลออกไป และเรายังสามารถบริหารจัดการตลาดให้เน้นอาหารปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ โดยประสานงานกับอนามัยตำบล สาธารณสุขอำเภอให้มาช่วยแนะนำ เชิญเกษตรตำบลมาแนะนำการปลุกพืชแบบปลอดสารพิษ เชิญกรมวิชาการมา เชิญพัฒนาชุมชนมา เชิญ…..แบบบูรณาการกัน พบว่าตลาดชุมชนที่ดงหลวงก้าวหน้าไปมาก แนวคิดนี้จะสนับสนุนจุดเริ่มต้นหนึ่งของการพึ่งตนเองระดับชุมชน

ในโครงการมีตลาดชุมชนเกิดขึ้นในทุกจังหวัด มีกรณีหนึ่งที่ขอนแก่นเจ้าหน้าที่ที่นั่นเล่าให้ฟังว่ามีชาวบ้านที่เป็นแม่ค้ามาบอกว่า “…อาจารย์ ฉันน่ะไม่เคยเป็นแม่ค้าเลยพอมีตลาดฉันก็มาเป็นแม่ค้า ก็ดี ชอบเพราะได้เงินทองใช้ ได้ให้ลูกหลานไปโรงเรียน ผักบางชนิดขายดี ฉันก็ผลิตมากขึ้น วันหนึ่งญาติมาขอผักไปกิน ฉันก็บอกว่า “มาเอาไปเถอะ แต่วันหลังฉันวางขายที่ตลาดชุมชนของบ้านเรานั้นนะ” ความหมายก็คือ วันนี้ให้กิน แต่วันหน้าต้องไปซื้อเอานะ… “ฉันมาคิดทีหลังก็ละอาย แต่ก่อนบ้านเราไม่มีใครซื้อขายพืชผัก อยากกินก็มาขอกัน ฉันขอเธอ เธอขอฉัน แต่มาวันนี้ต้องเป็นเงินทองไปหมดแล้ว เอ..มันยังไงอยู่นา….”

ประเด็น:

  • การพึ่งตัวเองนั้นทุกคนต้องปลูกเองกินเองทุกอย่างเลยหรือ(แนวคิดนี้กลายไปเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ)
  • แต่ก่อนขอกันกินมาวันนี้สิ่งที่เคยขอกันต้องมาซื้อกินซะแล้ว มันพึ่งตัวเองบนวัฒนธรรมชุมชนอย่างไรกันหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้
  • เกษตรกรคนหนึ่งกล่าวว่า…ผมนั้นทำเกษตรทุกอย่างเกือบไม่ต้องซื้อกินเลย แถมได้ขายด้วย แต่รายได้นั้นก็พอได้ใช้จ่าย แต่หากต้องใช้จ่ายจำนวนมาก เช่นค่าเทอมลูกที่เรียนมหาวิทยาลัย เราไม่มีปัญญาหาเงินจำนวนมากมาได้ ก็จำเป็นต้อง วิ่งหาเงินตามช่องทางที่คนชนบทเขาทำกัน ในที่สุดก็เลยจูงให้เราหลุดจากการพึ่งตัวเองไปอีก เงื่อนไขเช่นนี้จะมีโครงสร้างการพึ่งตัวเองอย่างไร ? ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็เจ้ง..
  • เกษตรกรอีกรายที่กล่าวว่า… หากเอามื้อเอาแรงกันตามหลักการทางวัฒนธรรมชุมชน แล้วผมก็จะขาดรายได้ที่เคยได้จากการรับจ้างเพื่อนบ้าน เงื่อนไขเช่นนี้ โครงสร้างการพึ่งตัวเองคืออย่างไร..?
  • หลักการพัฒนาชุมชนนั้นเราพยายามฟื้นฟูทุนทางสังคมเดิม ตามจังหวะโอกาส และชนิดของกิจกรรม แต่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่ากิจกรรมตลาดชุมชนจะพาเรามาเผชิญมุมคิดเช่นนี้….

การแปลงหลักการไปสู่การปฏิบัตินั้น เราเผชิญรายละเอียดที่ใครไม่ลงไปสัมผัสก็จะไม่ทราบ.. คนทำนั้นเมื่อลงไปก็รู้ร้อนรู้หนาว แต่คนที่นั่งบริหารข้างบน อยากได้ตัวเลข อยากเห็นความสำเร็จ สั่งเอาสั่งเอา อิอิ อย่างนั้นต้องเสร็จ อย่างนี้ต้องได้เท่านั้นเท่านี้..ใช้เวลากันไม่น้อยกว่าจะพูดจากันรู้เรื่อง

นี่ดีนะที่พอรู้เรื่อง หากไม่รู้เรื่อง ต้องใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก… อย่าง “เสธ.ไก่อู” ประกาศ ห้า ห้า ห้า..


นับก้อนกรวด..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2010 เวลา 16:44 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2123

คนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นต้องเชื่อมั่นว่าชาวบ้านนั้นพัฒนาได้ นี่เป็นหลักพื้นฐานของการพัฒนาคน เงื่อนไขอาจจะอยู่ที่เรามีกระบวนการ วิธีการที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน และหรือ คุณสมบัติของชาวบ้านที่มีข้อจำกัดมากกว่าปกติ

ผมเชื่อในหลักการดังกล่าวเพราะตอนทำงานภาคเหนือก็เห็นฝรั่งไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้กับชนเผ่าต่างๆบนภูเขา แล้วชนเผ่าเหล่านั้นก็เปลี่ยนจากนับถือผีมานับถือพระเจ้า เราทึ่งกับความสำเร็จนั้น เราก็มั่นใจว่าเราก็น่าที่จะเข้าไปแนะนำชาวบ้านให้พัฒนาขึ้นได้

และผมก็พบความสำเร็จในหลายพื้นที่เมื่อมองย้อนหลังลงไป แต่ที่ดงหลวงนี่ผมถึงกับสะอึกในหลายครั้งหลายกิจกรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นความแตกต่างระหว่างชนเผ่าผู้ไทที่กกตูมกับพี่น้องไทโส้ที่ตำบลพังแดง และตำบลดงหลวง โดยเฉพาะที่พังแดงนี่สาหัสจริงๆ

บังเอิญเรามีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่นี่ ยิ่งนานวันยิ่งบอกตัวเองว่า นี่คือโจทย์ที่ยากมากๆ

เอื้อง เจ้าหน้าที่ของเราผู้ขยันทำงานและรับผิดชอบงานดีเยี่ยมลุยงานที่บ้านพังแดงมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เอื้องกับผมเคยมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชลประทานลำปาวมาก่อนจึงรู้และเข้าใจกระบวนการกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่สมัยนั้นเราทำงานกับพี่น้องไทอีสาน มิใช่ไทโส้..

เอื้องต้องปวดหัวเมื่อเข้าไปทบทวนระบบบัญชีกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด ทั้งกองทุนต่างๆต้องรื้อทำใหม่ ใช้เวลาไปมากมายทีเดียว แต่เธอก็ตั้งใจทำเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญแก่กลุ่มในวันข้างหน้า เธอจัดหาเครื่องมือในการทำระบบบัญชีไปให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่ออบรม แนะนำเสร็จก็ปล่อยให้กรรมการกลุ่มทำต่อ ทิ้งไว้เดือนสองเดือนก็ไปดูที ก็พบว่า ยังทำผิด ลงบัญชีไม่ถูก เขียนตัวเลขผิด ลงช่องบัญชีผิด รวมผิด จนกระทั่ง ไม่ได้ลงบัญชีตัวเลขนั้นตัวเลขนี้

เอื้องพยายามที่จะทบทวน แนะนำใหม่ เอาให้เข้าใจและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์และความสำคัญของระบบบัญชีที่จะเอาไปตอบสมาชิกได้ในทุกเรื่อง หลังสุดเราประมวลระบบบัญชีได้ว่ามีเงินกู้ค้างอยู่ 5 คน ด้วยยอดเงินประมาณ สามหมืนกว่าบาท และมีกำไรจากดอกเบี้ยจำนวนหนึ่ง เอื้องเสนอให้จัดระบบกำไรให้ลงตัวซะว่าจะเอาไปทำอะไรบ้าง

ที่ประชุมสรุปว่าจะเอากำไรแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 จำนวนร้อยละ 10 เอาไปเป็นค่าตอบแทนคณะกรรมการ ส่วนที่ 2 เอาไปเป็นสวัสดิการสมาชิกกลุ่ม ส่วนที่ 3 เป็นสมทบกองทุน และส่วนที่ 4 เอาไปปันผลให้แก่สมาชิกที่กู้จากกลุ่ม

ในการคิดรายละเอียดตรงนี้ ใช้เวลานานมากเพราะผมสังเกตว่าชาวบ้านนั้นไม่เคยมีประสบการณ์ในการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ จึงมองไม่ออกว่าจะแบ่งกำไรในแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ต่างถกเถียงกันและที่นิ่งเฉย ยิ่งไม่มีประสบการณ์ ไม่มีตัวเงินนำมาวางพิจารณาจริงๆก็ยิ่งคิดไม่ออก

เอื้องพยายามยกตัวอย่างมาให้เห็นความจริงว่าหากสมมุติว่าปันร้อยละสิบมาให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการนั้น หากกำไรหนึ่งพันบาทก็ได้มา 100 บาท เอาจำนวนนี้มาแบ่งปันกันให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการเอาจำนวนกรรมการมาหารแบ่งกัน ดูทุกคนพึงพอใจ

แต่การพิจารณาอีกสามส่วนนั้นตกลงกันไม่ได้ เพราะคิดในใจไม่ออก ผมเลยนึกถึงว่าเราเคยใช้หลักการพื้นฐานในการคิดกับชาวบ้านที่เอาสิ่งของมาเป็นตัวแทนง่ายๆให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นการจัดทำ PRA ว่าแล้วผมก็เดินหาก้อนหินเล็กๆซึ่งมีอยู่ทั่วไปบนผิวดิน ผมหยิบมา 10 ก้อนแล้วก็เอาไปกองให้กลางวงที่ประชุมคณะกรรมการ แล้วบอกว่าสมมุติว่านี่คือ 100 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เราจะพิจารณากัน หินหนึ่งก้อนเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์

พ่อกำนันซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มก็มาร่วมพิจารณาอธิบายและให้คำแนะนำด้วย ดูเหมือนว่าเมื่อเห็นก้อนกรวด 10 ก้อนกลางวงประชุมทุกอย่างก็ง่ายขึ้นทันใด

ที่ประชุมต่างก็จ้องไปที่ก้อนกรวด แล้วกรรมการคนหนึ่งก็หยิบก้อนกรวดออกมา 1 ก้อน บอกว่านี่คือส่วนที่จะตอบแทนคณะกรรมการ ที่เหลืออีก 9 ก้อนกรวด คือ ต้องเอาไปพิจารณาแบ่งให้กับสามเรื่องคือ สมทบกองทุนเงินกู้กลุ่ม แบ่งเป็นสวัสดิการสมาชิกทุกคน และส่วนที่จะเอาไปปันผล

ต่างก็แสดงเหตุผลกันบนกองก้อนหินนั่น ความจริงเราอาจเขียนชื่อกลุ่มเงินที่จะแบ่งลงในกระดาษแล้วเอาไปวางตรงหน้าให้เห็นชัดเพิ่มขึ้นก็ได้ว่า เรากำลังจะพิจารณาแบ่งอีกสามส่วน แต่เห็นว่าทุกคนเข้าใจแล้วและฟังการถกเถียงกันก็รู้ว่าเขากำลังจัดการปันส่วนที่คิดว่าเหมาะสมกันว่าแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่…

ไม่ต้องบอกคำตอบสุดท้ายหรอกครับ เพราะต้องการสะท้อนว่า บางทีการทำงานเรากับชาวบ้านนั้นมาติดสิ่งที่เป็นนามธรรม เพราะเรามักมีแนวคิดที่เป็นนามธรรมเยอะ รูปธรรมน้อย แม้ว่าเราจะเอาสิ่งดีดีมาเล่าให้ชาวบ้านฟังมากมายแต่ไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่ได้สัมผัส ชาวบ้านก็นั่งปากหวอ ไม่โต้ตอบ พยักหน้างึกๆ หลายครั้งเราคิดเลยไปจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานง่ายๆเช่นก้อนกรวด

นึกย้อนไป..เหมือนชนเผ่าโบราณเลยนะ อิอิ


แรงกระเพื่อมราชประสงค์ถึงดงหลวง..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2010 เวลา 11:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2217

ที่กรุงเทพฯ: ไม่คิดว่า 19 พฤษภา 53 จะรุนแรงขนาดนี้


(แหล่งข้อมูลภาพ: จาก FW mail)

ทุกครั้งที่สื่อเสนอภาพออกมาเราอด หดหู่ใจไม่ได้ ทำไมพี่น้องคนไทยต้องมาฆ่าฟันกันอย่างนี้ ต่างไม่เคยรู้จักกัน แค่คิดต่างกันก็มาฆ่าแกงกันได้…

ที่มุกดาหาร: ก่อนปิดโครงการที่รับผิดชอบอยู่มีภารกิจมากมาย หนึ่งในนั้นน้องๆก็ชวนเข้าไปตรวจสอบกิจการของกลุ่มผู้ใช้น้ำก่อนที่จะทบทวนการถ่ายโอนให้กับ อบต. กิจกรรมย่อยเรื่องหนึ่งคือกองทุนเพื่อสนับสนุนการเกษตรในพื้นที่ชลประทานห้วยบางทราย เราเรียกย่อๆว่า กสบ.


มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกกลุ่มที่ขาดเงินลงทุนการเกษตรมากู้ไปได้ตามระเบียบที่กำหนดขึ้น เราสอบถามกรรมการและตรวจสอบระบบบัญชีพบว่า มีสมาชิกค้างจ่ายเงินกู้จำนวน 5 ราย

นายใจ …เป็นอดีตผู้นำของเราคนหนึ่งที่กู้เงินไปจำนวน 5,000 บาท แต่การเกษตรประสบความเสียหาย และมีรายจ่ายจำเป็นอื่นๆเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดรายได้และเงินที่สะสมเก็บออมเพื่อส่งคืนกองทุนต้องถูกนำไปใช้ จึงมีปัญหาไม่มีเงินคืน ด้วยสำนึกบางประการนายใจจึงขอลาออกจากกรรมการและไปหาทางคิดอ่านหาเงินมาคืน..

ปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบ สะเทือนต่อจิตวิทยาของกลุ่ม กล่าวคือ สมาชิกคนอื่นๆไม่ไว้วางใจกลุ่ม กล่าวคือนายใจไม่คืนเงินกู้โดยคนอื่นไม่ทราบข้อเท็จจริง สังคมมักรับรู้แต่ปรากฏการณ์ ไม่ค้นหาความจริงหรือเหตุผล การณ์นี้ทำให้กรรมการปัจจุบันไม่ยอมปล่อยเงินกู้ใหม่ เพราะกลัวว่าผู้กู้จะไม่ส่งคืนโดยอ้างเหมือน 5 คนนั้น สมาชิกที่ทำดีกับกลุ่มมาตลอดก็นินทาวงนอกกลุ่ม เล่าลือกันไปในชุมชน ทำให้กลุ่มมีภาพที่ไม่ดีโดยรวม


คณะกรรมการกลุ่มเองก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ยิ่งมีแรงกดดันกรรมการก็ยิ่งเครียด เราจึงเสนอขอประชุมร่วมระหว่างกรรมการกับสมาชิกผู้กู้เงินเพื่อศึกษารายละเอียด และปรึกษาหารือแนวทางการแก้ไขต่อไป

ผมทำหน้าที่นำการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

บางทราย: นายใจครับ กู้เงินจากกองทุนไปเท่าไหร่ครับ เอาไปทำอะไรครับ…ฯ

นายใจ: ผมกู้มา 5,000 บาท เอาไปลงทุนปลูกข้าวและการเกษตรอื่นๆ.. เกิดปัญหาการผลิต จึงไม่มีเงินมาคืน


หลังจากที่เราแลกเปลี่ยนกันพอสมควร …

นายใจ: เดิมนั้นผมมีแผนคืนเงินในเดือนนี้ คือลูกชายผมออกจากทหารก็ไปสมัครเป็นยามของบริษัทหนึ่งในกรุงเทพฯ บริษัทก็ส่งไปทำหน้าที่ตามห้างร้านต่างๆ ลูกผมเขาทราบปัญหาของพ่อก็รับปากจะช่วย เขาบอกว่าจะส่งเงินมาใช้หนี้แทนให้ในเดือนที่ผ่านมานี้ แต่เกิดเหตุการณ์แดงยึดกรุงเทพฯ ห้างร้านยกเลิกการจ้าง บริษัทไม่มีงานให้ลูกผมทำ ก็ไม่ได้เงินค่าจ้าง ลูกก็ไม่มีเงินส่งมาให้ผมเพื่อคืนกลุ่ม…!!!???

หลังจากที่ปรึกษาหารือกันถึงทางออกโดยใช้เชิงบวกคุยกัน ในที่สุดก็เห็นว่ามันสำปะหลังเป็นที่พึ่งสุดท้าย นายใจสัญญาว่าเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 จะขายมันสำปะหลังแล้วเอาเงินมาคืนให้กลุ่ม พร้อมดอกเบี้ย..

เป็นความจริงที่ผมไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์ที่แดงยึดกรุงเทพฯจะส่งผลไปถึงดงหลวง

ในจินตนาการของผมเห็นคลื่นของเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯส่งผลกระเพื่อมกระทบไปทั่วทิศไม่ใช่เฉพาะดงหลวง แต่ทั่วไปทั้งสังคมของประเทศ หนัก เบา แตกต่างกันไป..!!??

ประเด็น

  • นายใจนั้นเป็นระดับนำคนหนึ่งในเรื่องการทำเกษตรผสมผสาน แต่เรื่องรายได้จากกิจกรรมทางการเกษตรยังน้อย กิจกรรมนี้จะสร้างรายได้อย่างไรในเงื่อนไขของแต่ละครอบครัว..
  • คณะกรรมการกลุ่ม กสบ. ยังต้องการพัฒนาการบริหารกิจกรรมกลุ่ม
  • แม้ว่าเกษตรผสมผสานคือการพึ่งตัวเอง แต่สังคมปัจจุบันก็ต้องมีรายจ่าย ดังนั้นรายได้น้อยที่สุดเท่าไหร่ของระดับการพึ่งตัวเองในเงื่อนไขของแต่ละครอบครัว
  • มีประเด็นของงานพัฒนาอีกมากมาย..ฯ


เวลาของอีกวิถีหนึ่ง..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 2, 2010 เวลา 11:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2255

ดงหลวงนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในหุบเขาของเทือกเขาภูพาน หมู่บ้านที่ทำงานส่วนใหญ่ก็มีภูเขาล้อมรอบ ชาวบ้านเป็นชนเผ่าโส้ หรือไทโส้ หรือบรู เป็นเขตปลดปล่อยเก่าของพคท. เป็นสังคมปิดเพิ่งมาเปิดเอาโดยประมาณปี พ.ศ. 2527 อันเป็นช่วงที่ชาวไทโส้ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย


มาทำงานที่นี่กับอาว์เปลี่ยนก็หลายปี มีทั้งพึงพอใจตัวเองและไม่พึงพอใจในความก้าวหน้าของการพัฒนาทั้งนี้มีรายละเอียดมากมาย หลักๆก็เพราะเรื่องของ “คน” นั่นแหละจนผมเคยใช้คำอธิบายอาชีพตัวเองว่า เป็นคนเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งหนัก เหนื่อย และเริ่มใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็ครกมันกลิ้งลงเขาต้องกลับไปเริ่มเข็นขึ้นมาใหม่


นรินทร์เป็นหนุ่มโส้บ้านพังแดงที่ผมชอบแวะไปคุยกับเขาบ่อยๆ เพราะเป็นโส้ที่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆอยู่บ้าง คือ เป็นคนหนุ่มที่ทำมาค้าขาย รู้จักคิดอ่านทำธุรกิจเล็กๆแทนที่จะทำนาทำไร่อย่างเดียวเหมือนคนอื่นๆ มีความรู้พอสมควร แต่ก็ยังปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมโส้อยู่อย่างครบถ้วน เขารวบรวมเงินมาเปิดปั้มน้ำมันในหมู่บ้าน และค่อยๆขยายตัวไปทีละเล็กละน้อย เช่น เอาตู้แช่มาขายน้ำประเภทเครื่องดื่ม เอาวัสดุการเกษตรที่ชาวบ้านต้องใช้มาขาย ฯ

เมื่อคืนเรามีการประชุมชาวบ้านเรื่องกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเริ่มประชุมย่อยมาตั้งแต่บ่ายไปจบเอาเกือบห้าทุ่ม ตอนหัวค่ำเลยแวะไปคุยกับนรินทร์คนนี้ คุยถึงเรื่องการเข้าป่าไปหาของป่า เพราะขณะเรานั่งคุยเรื่องทั่วไปก็มีชาวบ้านหนุ่มๆขับรถอีแต๊ก มอเตอร์ไซด์นับสิบคนมาเติมน้ำมันที่ปั้มของนรินทร์ แต่ละคนแต่งตัวแปลกๆจึงรู้ว่านั่นคือชุดเข้าป่า “เข้าป่ากลางคืน” นี่แหละ


ไปหาสัตว์ป่าตามฤดูกาล หน้านี้ก็มีเขียด อึ่ง กบ ป่า และอื่นๆที่จะพบในป่า ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มชวนกันไปสองคนขึ้นไปต่อกลุ่มหนึ่ง โดยเอามอเตอร์ไซด์ หรืออีแต๊กขับไปใกล้ป่าที่หมายตากัน เอารถจอดทิ้งไว้ชายป่า แล้วก็เอาของติดตัวขึ้นภูเขาไปตามที่เตรียมกัน

สิ่งที่เตรียมก็มีปืนแก็บไทยประดิษฐ์ มีด ร่วมข้าวเหนียว พริก เกลือ ผงชูรส ยาสูบ นรินทร์บอกว่าขาดอะไรก็ขาดได้แต่ยาสูบขาดไม่ได้ ไม่ใช่เป็นซองๆที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังแต่เป็นยาสูบพื้นบ้าน ขายถุงละ 5 บาทพร้อมกระดาษมวน ชาวบ้านบางคนบอกว่า “มันแทงคอ” หรือมันฉุนดีกว่ายาสูบซองๆ

ถามนรินทร์ว่าทำไมต้องเอาข้าวเหนียว พริกเกลือ ผงชูรสไปด้วยล่ะ เขาบอกว่า ..อาจารย์พวกนี้เข้าป่านั้นเขาเดินทางทั้งคืนไปหาสัตว์ตรงนี้ ตรงนั้น ตรงโน้นแล้วเดินทางบนภูเขากลางคืนมันลำบาก เหนื่อย ดึกๆมาสักเที่ยงคืนมันก็หิว ก็จะทำอาหารกินกัน ผมถามต่อว่า อ้าวก็ไม่เห็นเอาหม้อชามรามไหไปเลยแล้วทำอย่างไร นรินทร์ตอบว่า โห อาจารย์ ไม่ต้องเลย เมื่อได้สัตว์ป่ามาแล้วก็ไปหาแหล่งน้ำ แล้วก็ไปตัดไม้ไผ่ป่ามาหุงข้าว มาต้มแกง เขามีวิธีทำ อาจารย์มันหอมไผ่ป่า อร่อยที่สุด อย่างแกงป่าในกระบอกไม้ไผ่แล้ว ก็เอาอีกกระบอกมาผ่าซีก เอาแกงป่ามาเทใส่ทั้งน้ำทั้งเนื้อ


บางคนพกช้อนไปด้วยก็ใช้ซดน้ำแกง ส่วนใหญ่ใช้ใบไม้ชนิดหนึ่งเนื้อเนียนละเอียด เอาแบบไม่อ่อนไม่แก่มารนไฟพออ่อนๆ แล้วห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงป่าซดกิน อาจารย์เอ้ย…..หอม อร่อยจริงๆ ใบอ่อนๆก็กินได้เลย…ฯลฯ

ชีวิตกลางคืนในป่าแบบนี้ถูกถ่ายทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ขณะที่วัยรุ่นในเมืองอาจจะเข้าร้านเนต ไปเป็นเด็กแว้น ไปเที่ยวสถานเริงรมย์ต่างๆ หรือสุมหัวกัน แต่เด็กหนุ่มพังแดง หรือบ้านอื่นๆเข้าป่าไปหาสัตว์ป่ามากินมาขาย เป็นวัฒนธรรมการบริโภค เด็กหนุ่มดงหลวงทุกคนต้องผ่านวิถีชีวิตแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น

มีสิ่งหนึ่งที่คนในเมืองอย่างเราต้องตะลึง ฉงน และคิดมากมาย นรินทร์กล่าวว่า

อาจารย์…พวกนี้เดินป่ากันยันสว่าง ค่อยลงมา เด็กหนุ่มบางคนหาของป่าเก่งพักใหญ่ๆเมื่อได้สัตว์มาพอ ก็จะลงจากภูเขา แต่อาจารย์….เขาจะไม่เข้าบ้านหลัง 5 ทุ่มถึง ตี 5 เขาจะแวะนอนตามเถียงนาชายป่า หรือชายบ้าน ผมแปลกใจถามทำไม นรินทร์บอกแบบจริงจังว่า ชาวบ้านเขาถือ ถือว่าช่วงเวลานั้น “เป็นเวลาของอีกวิถีหนึ่งออกหากิน” เขาจะไม่เดินทางเข้าบ้าน พักซะที่เถียงนาก่อน สว่างค่อยกลับเข้าบ้าน

เวลาอีกวิถีหนึ่ง นั่นคือ เวลาออกหากินของภูติ ผี ปอบ และสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นความเชื่อของชาวบ้านดงหลวง….

คนในเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ รับรู้และเข้าใจ ยอมรับเรื่องแบบนี้แค่ไหน

งานพัฒนาคน ที่จะผสมผสานนวัตกรรมใหม่ๆกับเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร

การอภิปรายของสภาจบไปนานแล้ว… ผมยังคิดเรื่องเหล่านี้จนหลับไป

….!!!???…



Main: 0.07780385017395 sec
Sidebar: 0.034027099609375 sec