เวลาของอีกวิถีหนึ่ง..
ดงหลวงนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในหุบเขาของเทือกเขาภูพาน หมู่บ้านที่ทำงานส่วนใหญ่ก็มีภูเขาล้อมรอบ ชาวบ้านเป็นชนเผ่าโส้ หรือไทโส้ หรือบรู เป็นเขตปลดปล่อยเก่าของพคท. เป็นสังคมปิดเพิ่งมาเปิดเอาโดยประมาณปี พ.ศ. 2527 อันเป็นช่วงที่ชาวไทโส้ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
มาทำงานที่นี่กับอาว์เปลี่ยนก็หลายปี มีทั้งพึงพอใจตัวเองและไม่พึงพอใจในความก้าวหน้าของการพัฒนาทั้งนี้มีรายละเอียดมากมาย หลักๆก็เพราะเรื่องของ “คน” นั่นแหละจนผมเคยใช้คำอธิบายอาชีพตัวเองว่า เป็นคนเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งหนัก เหนื่อย และเริ่มใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็ครกมันกลิ้งลงเขาต้องกลับไปเริ่มเข็นขึ้นมาใหม่
นรินทร์เป็นหนุ่มโส้บ้านพังแดงที่ผมชอบแวะไปคุยกับเขาบ่อยๆ เพราะเป็นโส้ที่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆอยู่บ้าง คือ เป็นคนหนุ่มที่ทำมาค้าขาย รู้จักคิดอ่านทำธุรกิจเล็กๆแทนที่จะทำนาทำไร่อย่างเดียวเหมือนคนอื่นๆ มีความรู้พอสมควร แต่ก็ยังปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมโส้อยู่อย่างครบถ้วน เขารวบรวมเงินมาเปิดปั้มน้ำมันในหมู่บ้าน และค่อยๆขยายตัวไปทีละเล็กละน้อย เช่น เอาตู้แช่มาขายน้ำประเภทเครื่องดื่ม เอาวัสดุการเกษตรที่ชาวบ้านต้องใช้มาขาย ฯ
เมื่อคืนเรามีการประชุมชาวบ้านเรื่องกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเริ่มประชุมย่อยมาตั้งแต่บ่ายไปจบเอาเกือบห้าทุ่ม ตอนหัวค่ำเลยแวะไปคุยกับนรินทร์คนนี้ คุยถึงเรื่องการเข้าป่าไปหาของป่า เพราะขณะเรานั่งคุยเรื่องทั่วไปก็มีชาวบ้านหนุ่มๆขับรถอีแต๊ก มอเตอร์ไซด์นับสิบคนมาเติมน้ำมันที่ปั้มของนรินทร์ แต่ละคนแต่งตัวแปลกๆจึงรู้ว่านั่นคือชุดเข้าป่า “เข้าป่ากลางคืน” นี่แหละ
ไปหาสัตว์ป่าตามฤดูกาล หน้านี้ก็มีเขียด อึ่ง กบ ป่า และอื่นๆที่จะพบในป่า ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มชวนกันไปสองคนขึ้นไปต่อกลุ่มหนึ่ง โดยเอามอเตอร์ไซด์ หรืออีแต๊กขับไปใกล้ป่าที่หมายตากัน เอารถจอดทิ้งไว้ชายป่า แล้วก็เอาของติดตัวขึ้นภูเขาไปตามที่เตรียมกัน
สิ่งที่เตรียมก็มีปืนแก็บไทยประดิษฐ์ มีด ร่วมข้าวเหนียว พริก เกลือ ผงชูรส ยาสูบ นรินทร์บอกว่าขาดอะไรก็ขาดได้แต่ยาสูบขาดไม่ได้ ไม่ใช่เป็นซองๆที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังแต่เป็นยาสูบพื้นบ้าน ขายถุงละ 5 บาทพร้อมกระดาษมวน ชาวบ้านบางคนบอกว่า “มันแทงคอ” หรือมันฉุนดีกว่ายาสูบซองๆ
ถามนรินทร์ว่าทำไมต้องเอาข้าวเหนียว พริกเกลือ ผงชูรสไปด้วยล่ะ เขาบอกว่า ..อาจารย์พวกนี้เข้าป่านั้นเขาเดินทางทั้งคืนไปหาสัตว์ตรงนี้ ตรงนั้น ตรงโน้นแล้วเดินทางบนภูเขากลางคืนมันลำบาก เหนื่อย ดึกๆมาสักเที่ยงคืนมันก็หิว ก็จะทำอาหารกินกัน ผมถามต่อว่า อ้าวก็ไม่เห็นเอาหม้อชามรามไหไปเลยแล้วทำอย่างไร นรินทร์ตอบว่า โห อาจารย์ ไม่ต้องเลย เมื่อได้สัตว์ป่ามาแล้วก็ไปหาแหล่งน้ำ แล้วก็ไปตัดไม้ไผ่ป่ามาหุงข้าว มาต้มแกง เขามีวิธีทำ อาจารย์มันหอมไผ่ป่า อร่อยที่สุด อย่างแกงป่าในกระบอกไม้ไผ่แล้ว ก็เอาอีกกระบอกมาผ่าซีก เอาแกงป่ามาเทใส่ทั้งน้ำทั้งเนื้อ
บางคนพกช้อนไปด้วยก็ใช้ซดน้ำแกง ส่วนใหญ่ใช้ใบไม้ชนิดหนึ่งเนื้อเนียนละเอียด เอาแบบไม่อ่อนไม่แก่มารนไฟพออ่อนๆ แล้วห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงป่าซดกิน อาจารย์เอ้ย…..หอม อร่อยจริงๆ ใบอ่อนๆก็กินได้เลย…ฯลฯ
ชีวิตกลางคืนในป่าแบบนี้ถูกถ่ายทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ขณะที่วัยรุ่นในเมืองอาจจะเข้าร้านเนต ไปเป็นเด็กแว้น ไปเที่ยวสถานเริงรมย์ต่างๆ หรือสุมหัวกัน แต่เด็กหนุ่มพังแดง หรือบ้านอื่นๆเข้าป่าไปหาสัตว์ป่ามากินมาขาย เป็นวัฒนธรรมการบริโภค เด็กหนุ่มดงหลวงทุกคนต้องผ่านวิถีชีวิตแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น
มีสิ่งหนึ่งที่คนในเมืองอย่างเราต้องตะลึง ฉงน และคิดมากมาย นรินทร์กล่าวว่า
อาจารย์…พวกนี้เดินป่ากันยันสว่าง ค่อยลงมา เด็กหนุ่มบางคนหาของป่าเก่งพักใหญ่ๆเมื่อได้สัตว์มาพอ ก็จะลงจากภูเขา แต่อาจารย์….เขาจะไม่เข้าบ้านหลัง 5 ทุ่มถึง ตี 5 เขาจะแวะนอนตามเถียงนาชายป่า หรือชายบ้าน ผมแปลกใจถามทำไม นรินทร์บอกแบบจริงจังว่า ชาวบ้านเขาถือ ถือว่าช่วงเวลานั้น “เป็นเวลาของอีกวิถีหนึ่งออกหากิน” เขาจะไม่เดินทางเข้าบ้าน พักซะที่เถียงนาก่อน สว่างค่อยกลับเข้าบ้าน
เวลาอีกวิถีหนึ่ง นั่นคือ เวลาออกหากินของภูติ ผี ปอบ และสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นความเชื่อของชาวบ้านดงหลวง….
คนในเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ รับรู้และเข้าใจ ยอมรับเรื่องแบบนี้แค่ไหน
งานพัฒนาคน ที่จะผสมผสานนวัตกรรมใหม่ๆกับเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร
การอภิปรายของสภาจบไปนานแล้ว… ผมยังคิดเรื่องเหล่านี้จนหลับไป
….!!!???…
« « Prev : ประเด็นวิจัยเพื่อการพึ่งตนเอง
7 ความคิดเห็น
เบิร์ดอยากทราบว่าหลังจากคิดจนหลับไปตื่นหนึ่งแล้วพี่บู๊ทคิดอะไรน่ะค่ะ ^ ^…ความเชื่อในเรื่องนี้ทำให้คนมีความยั้งใจเนาะคะพี่บู๊ท เหมือนคำกล่าวว่าแม้คนไม่เห็นแต่ผีเห็น เทวดาเห็น ก็ทำให้ละอายและเกรงกลัวต่อสิ่งไม่ดี
พี่บู๊ทเคยเล่าถึงผีปู่ตา และธรรมเนียมหลายๆอย่างที่ผูกพันระหว่างวัย การร้อยรัดทางสังคมเหล่านี้ยังทรงพลังอยู่หรือเปล่าคะ?
พี่ทบทวนเรื่องราวที่เราเข้ามาทำงานที่นี่ พบชาวบ้าน พบวิถี พบหลายอย่าง พี่คิดว่า
ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติอยู่มาก และความเชื่อเหล่านี้มีผลต่องานพัฒนา เช่น มีกรณีหนึ่ง ชาวบ้านไม่จ่ายค่าบริการน้ำในระบบชลประทาน กรรมการกลุ่มก้ไม่กล้าไปเก็บเพราะคนนั้นเป็นปอบ กลัวคนที่คิดว่าเป็นปอบโกรธและมาทำร้ายเอา..- เป็นโจทย์ที่ยากมากเลยในการทำความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาชุมชน ที่ยึดหลักการปรับตัวให้เกิดการสมดุลใหม่ระหว่างคนกันคน คนกับสิ่งแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติน่ะครับ
- ข้อสังเกต เวลาคุยกันแล้วปล่อยเวลาให้เขาแสดงความเห็น บางครั้งก็ถกเถียงกันจนจะเป็นจะตาย บางครั้งเงียบกริบนั่งมองหน้ากันตาแป๋วๆ
- จำนวนมากครั้งยอมรับในหลักการแต่ไม่ปฏิบัติ ถามว่าดีไหม ดี เอาไหม เอา แต่ไม่ทำ
- ในมุมมองของเรานั้นคิดว่าหลายเรื่องง่ายมากๆ แต่สำหรับเขายากมากๆ
- ลัทธิวีระชนเอกชนสูงมากๆ คือ กูคิดอย่างนี้ จะทำอย่างนี้ ใครจะทำไม ไม่สนกลุ่ม หลักการกลุ่ม เอาประโยชน์จากกลุ่ม ไม่เคารพกติกากลุ่ม
- เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากเลย คิดจะไปนอนในหมู่บ้านฝังตัวสักพักใหญ่ๆ เพื่อค้นหาแนวทางที่อาจมีอยู่แต่เราไม่เห็น จับไม่ได้ แต่งานที่เรารับผิดชอบหลายเรื่อง พื้นที่กว้าง จึงไม่มีเวลาลงเจาะลึกตามที่ต้องการ ยิ่งทีมงานดีดีลดจำนวนลงยิ่งโอกาสน้อนลง
- จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไร เพราะส่วนมากจะไม่ลงรายละเอียด คิดแต่ว่า input อะไรลงไป แล้ว out put ได้อะไรมา..
- ฯลฯ
อืม….สภาเลิกตีสอง
ใช่ครับน้องสร้อย คืนนั้นนอนดึกมาก
อิอิอิ เป็นเวลาของอีกวิถีหนึ่งพอดี๊พอดีเนาะคะพี่สร้อย-พี่บู๊ท ^ ^
ขึ้นชื่อว่า “งานพัฒนา” ก็มีโจทย์รออยู่เป็นล้านเรื่อง … เป็นประโยคที่จำได้ขึ้นใจของ อ.ทวีศักดิ์ เศวตเศรณี (อาจารย์คณะวิจัยประชากรและสังคม มหิดล) ตอนที่ท่านสอนวิชาเกี่ยวกับการวิจัยในพื้นที่ชนบทเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้วค่ะ
การพัฒนาที่ดี เหมาะสมและเป็นประโยชน์ อาจไม่ใช่ การพัฒนาตามหลักการของหน่วยงานต่าง ๆ (โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ) คนในพื้นที่อาจไม่เห็นว่า จะพัฒนาทำไม อยู่อย่างนี้ก็ดีแล้วนี่ ในขณะที่นักพัฒนา (ในด้านต่าง ๆ) ต้องพยายามฝ่า “กำแพง” และชี้ให้เห็นให้ได้ว่าหากเปลี่ยนแปลงจะมีประโยชน์ ชีวิตเขาโดยรวมจะดีขึ้นอย่างไร … ส่วนตัวไม่มีประสบการณ์การพัฒนาค่ะ แต่ได้ลงพื้นที่บ้างช่วงที่เรียนป.โท จำได้ขึ้นใจว่า…ไม่สนุกเลย
และท้ายที่สุดที่อาจารย์สำทับนักศึกษาของท่านก็คือ จำไว้เลย เราไม่ใช่พระเจ้า เรามีหน้าที่เพียงไปช่วยและชี้ (อย่างเคารพในวัฒนธรรมและวิถีของชาวบ้าน) สิ่งที่ดีที่สุดให้เขา แต่เขาตัดสินใจและเลือกเอง
ขออนุญาตส่งกำลังใจและชื่นชมพี่บางทราย … ในฐานะนักพัฒนาค่ะ
น้องเบิร์ด และ Freemind ครับ อาว์เปลี่ยน เคยมีประสบการณ์เองที่หมู่บ้านนี้ครับเพราะเคยมานอนในหมู่บ้านเป็นครั้งคราว เคยคิดว่าจะให้ดีเราต้องทำคล้ายกับนักมานุษยวิทยาที่ไปคลุกคลีกินนอนกับเขา เรียนรู้ระเอียดยิบ แล้วค่อยๆแลกเปลี่ยนกับเขาไปเรื่อยๆ บนฐานความสนิทสนมและเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะเราเป็น “คนนอก” แม้จะสนใจและทำตัวแนบสนิทกับเขามากที่สุดแต่ก็ยังมีช่องว่างอีกมากที่หากเ้ราไม่ถามเขาก้ไม่ได้บอกเรา หากเราไม่เอะใจเขาก็ไม่ได้คิดว่าจำเป็นจะต้องเล่าให้เราฟัง เพราะมันเป็นวิถีของเขา เราต่างหากที่ค่อยๆเข้ามาซึมซับเขาทีละนิด ทีละนิดที่ใช้เวลามาก นี่ขนาดเราเป็นคนสนใจ และเข้าใจ ยอมรับและพยายามทำตัวให้แตกต่างจากชาวบ้านให้น้อยที่สุด และให้เวลากับชาวบ้านมาก ยิ่งนานวันก็มีเรื่องใหม่ๆที่เราเพิ่งรู้เพิ่งทราบ เพิ่งเข้าใจ หากคนอื่นๆก็อาจจะไม่ได้สนใจอะไร หรือแค่รับรู้แล้วผ่านไป แต่เราให้น้ำหนักมาก แม้ว่าจะปะติดปะต่ออะไรได้ไม่มาก แต่เราสนใจที่จะค่อยๆติดต่อรูปนี้ให้เข้าใจมากขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจวิถี และการเข้าถึงแก่น และร่วมกันพัฒนา..
หลายเรื่องได้แต่คิด แต่ด้วยเงื่อนไขทำอะไรยังไม่ได้มากครับ อายุขนาดนี้ก็ยังเป็นแค่นักเรียนน้อยอยู่ครับ