บันทึกของพ่อแสน

โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 15, 2010 เวลา 20:20 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 7653

คนไทยเรามักจะมีจุดอ่อนในเรื่องการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ยิ่งเป็นชาวบ้านด้วยแล้วเป็นที่ถอนหายใจของคนแนะนำทั่วไป ยกตัวอย่างการที่หน่วยราชการแนะนำให้ชาวบ้านจดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวัน ที่เรียกว่าบัญชีครัวเรือน พบว่าล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะว่าชาวบ้านไม่ใช่คนที่มีความถนัดในเรื่องบันทึก แม้พวกเรียนหนังสือก็มีน้อยรายที่เป็นคนที่ทำบันทึกอย่างสม่ำเสมอ


เรื่องการบันทึกอุณหภูมิของพ่อแสนนั้น จริงๆผมเป็นคนแนะนำให้พ่อแสนทำการบันทึก เพราะผมเองก็ไม่ได้คิดมาก่อน แต่ที่หมู่บ้านตีนเขาใหญ่ ริมน้ำลำตะคอง ตอนที่ผมและคนข้างกายสำรวจลำตะคองจากต้นสายไปปลายสายหลายปีก่อน พบคุณลุงท่านหนึ่ง จดบันทึกละเอียดยิบถึงอุณหภูมิเอง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ ตลอดปี ตลอดหลายปี และยังเก็บบันทึกปริมาณน้ำฝนแบบง่ายๆอีกด้วย โดยเอากระป๋องนมมาติดบนยอดเสา หากฝนตกก็เอาไปตวงเอาว่าปริมาณเท่าไหร่ ทำแบบง่ายๆ พบว่าหลายปีต่อมาลุงสามารถคาดการณ์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หากอุณหภูมิเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น….สุดยอดจริงๆ

ต่อมาผมทราบว่า ข้าว กข. 6 ที่คำชะอีเกิดโรคระบาด ขณะที่อีกหมู่บ้านในอำเภอเดียวกันไม่มีโรคระบาดเลย นักเกษตรเข้าไปศึกษาพบว่า บ้านที่โรคระบาดนั้นเป็นเพราะความชื้นสัมพัทธ์แตกต่างจากบ้านอื่นเพราะหมู่บ้านนั้นตั้งในหุบเขา…?? นักเกษตรจึงแนะนำให้เปลี่ยนพันธุ์ข้าว ก็ได้ผลไม่มีโรคนั้นระบาดอีก เพราะพันธุ์พืช สถานที่ และความชื้นสัมพัทธ์ แน่นอนหมายถึงอย่างอื่นด้วย เช่นความแปรปรวนของอุณหภูมิ ช่วงเวลาที่ปลูกพืช ฯลฯ


พ่อแสนก็เล่าให้ฟังว่า คนอีสานรู้กันโดยทั่วไปว่า เมื่อฤดูร้อนมาเต็มที่ และเกิดฝนตกแต่อากาศร้อนระอุ นั่นเห็ดป่าจะออก ชาวบ้านต่างมุ่งหน้าขึ้นป่าไปหาเห็ด โดยที่ไม่รู้ว่าความชื้นสัมพัทธ์เท่าไหร่ แต่สัญชาติญาณ และประสบการณ์เป็นผู้บอก

ผมจึงซื้อเทอร์โมมิเตอร์แบบง่ายๆที่มีตุ้มแห้งและตุ้มเปียกให้พ่อแสนไปติดตั้งที่สวนและจดบันทึกทุกวัน เช้า เที่ยง เย็น พร้อมทั้งปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆหากมี

พ่อแสนทำได้ดีมาก ไม่คิดว่าเกษตรกรจะมีความพยายามทำได้ขนาดนี้ เราทำแบบฟอร์มไปให้ พ่อแสนจดลงแบบฟอร์มพักใหญ่ก็ทำแบบฟอร์มตัวเองดีกว่า แล้วก็มีเล่มสรุปเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นแยกต่างหากอีกด้วย โดยให้ลูกๆช่วยกันเขียน ลอกจากเล่มต้นฉบับ

อะไรจะขนาดนั้นพ่อแสน..สุดยอดชาวบ้าน



ถังสี่ใบในรูปนั้น คือตู้เก็บเอกสารของพ่อแสน ชาวบ้านที่เอาเถียงนาเป็น Office จะมีที่ไหนเก็บเอกสารได้ วางที่โน่นที่นี่เดี๋ยวปลวกก็กินเอา เดี๋ยวลมฝนมาก็ปลิวหาย ว่าแล้วก็ลงทุนซื้อถังใบใหญ่น้อยมาใส่เอกสารเก็บมิดชิดกันฝนกันปลวก เป็นสัดส่วน แยกประเภท แยกลุ่ม แยกเรื่อง แยกโครงการ คิดได้ไงพ่อแสน…



รูปซ้ายมือข้างล่าง นึกถึงสวนป่าพ่อครูบาฯ ที่เราไปอาศัยร่มไม้นั่งคุยกันแบบง่ายๆ กันเอง ไม่มีพิธีรีตองอะไร ใกล้ชิดธรรมชาติ กาต้มน้ำนั้นคือสมุนไพร จิบไปคุยกันไป จะนั่งท่าไหนก็ตามสะดวก เป็น Small Group Dialogue ที่วิเศษ ถึงแก่น ถึงใจ สาระหลุดออกมาเต็มๆ ไม่มีกำแพงใดๆขวางกั้น



รูปขวามือนั่น พ่อแสนนำชมกล้า “เร่ว” หรือ “หมากเหน่ง” ที่เอามาจากป่ามาเพาะกล้าไว้ ใครซื้อก็ขาย ไม่ซื้อก็เอาไปปลูกในสวน เร่ว นี่ผมเขียนมาหลายครั้งแล้วว่าเป็นพืชป่าตระกูลข่า ผลเร่วมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็น “ส่วย” หรือ “เครื่องบรรณาการ” ที่โบราณหัวเมืองต้องเอาส่งรัฐบาลกรุงเทพฯ 80 หาบต่อปี ดงหลวงคือดงของ เร่วป่า

นอกจากนี้ยังมีเร่วหอม หอมทั้งใบ ต้น ราก หอมจริงๆ เคยเอาให้ป้าจุ๋มไปปลูก ขยายโดย “ไหล” หรือเหง้าของเขา ดูเหมือน สปาในกรุงเทพฯจะซื้อไปใช้เป็นเครื่องหอมอบห้องด้วย ใครอยากได้ ไปดงหลวงครับ…

« « Prev : พ่อแสนซาดิส..อิอิ..

Next : เรียนรู้จากการปฏิบัติ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.1628270149231 sec
Sidebar: 0.047163963317871 sec