ใบไม้ใบนั้น..

อ่าน: 2115

ผมมีธุระต้องไป Lotus Express แห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อทำภารกิจเสร็จก็เดินกลับที่จอดรถ เป็นทางเดินข้างอาคารใหญ่ ผมพบใบโพธิ (ผมเดาว่าเป็นใบโพธิ์ หากไม่ใช่ก็ใกล้เคียงเพราะเหมือนมากๆ) ใบนี้ที่ทางเท้าอย่างแปลกใจมากๆ เพราะ ผมมองไปรอบๆไม่เห็นต้นโพธิ มีแต่ตึกและการจราจรที่หนาแน่น ผมว่าเป็นใบไม้ที่สวยงามมากจึงหยิบเอามาเก็บกลับบ้าน พร้อมจิตก็นึกไปถึง ศาสนา หลักธรรม ความสำคัญของต้นโพธิ์ที่เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์


ใบไม้ใบนี้ถูดเหยียบย่ำมานานเท่าไหร่แล้วไม่ทราบ คนที่เดินผ่านคงเห็น(ว่าเป็นเศษใบไม้ใบหนึ่งที่ไม่ได้คิดอะไร ก็แค่ใบไม้ จิตเขานึกถึงอย่างอื่นๆ) แต่ไม่เห็น ว่านี่คือใบไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ตัวแทนของธรรมะ ตัวแทนของการหลุดพ้น ฯลฯ ผมรู้สึกว่าเมื่อผมเห็นนั้น สำนึกผมดึงกลับมาอยู่ที่ตัวแทนของความบริสุทธิ์…

ผมไม่ได้เขียนเพื่อมาอวดอ้างตัวตนว่าดีเลิศประเสริฐศรีใดๆนะครับ แค่สะท้อนออกมาเฉยๆว่า ผมเห็นใบไม้ใบนี้แล้วผมรู้สึกอะไร..

ที่แปลกไปอีกคือ วันต่อมาผมไปธุระเรื่องเดิม สถานที่เดิมอีก ผมได้มาอีก 1 ใบ และวันที่ 3 ผมก็ได้มาอีก 1 ใบ แต่หลังสุดนี้ สภาพใบยับเยินทีเดียว เพราะถูกเหยียบน่ะซีครับ

ทั้งสามใบอยู่ในครอบครองของผม หรืออาจจะเรียกว่า ผมเอาเศษเท้าของประชาชนที่เหยียบผ่านใบไม้นี้มาเก็บไว้ แล้วระลึกถึงธรรมะ

ไม่มีวันที่ 4 เพราะผมมีกำหนดการไปที่อื่น….

อย่างไรก็ตาม สภาพงาน สังคมเมืองหลวงที่วุ่นวายตลอดเวลานั้น ทำให้ผมวุ่นวายใจมาตลอดเพราะไม่ชอบการใช้ชีวิตในสภาพแบบนี้ แต่ความจำเป็นที่จะต้องอยู่

ใบไม้ใบนี้ทำให้ผมเย็นลงเยอะเลยครับ…..


น้ำตาพ่อแสน

อ่าน: 1860

ท่านที่ติดตามบันทึกผมสมัยชื่อ “ลานดงหลวง” และ “ลานเก็บเรื่องมาเล่า” คงผ่านตาเรื่องของพ่อแสน แห่งดงหลวงมาบ้าง ขอทบทวนสั้นๆว่า พ่อแสนคือชาวบ้านชนเผ่ากะโซ่อยู่ที่บ้านเลื่อนเจริญ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาฯที่ผมรับผิดชอบจึงรู้จักพ่อแสนดี ในฐานะที่เป็นผู้นำกิจกรรมเรื่องการสร้างป่าครอบครัวจากพื้นที่โล่งเตียนเพราะถางป่าเดิมเอามาปลูกมันสำปะหลังตามกระแสยุคสมัยที่ใครๆก็หาที่ดินปลูกกัน

จากการเข้าไปคลุกคลีพ่อแสน พบว่า พ่อแสนไม่ใช่ธรรมดา เพราะเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่เรียนรู้ธรรมชาติแล้วดัดแปลงธรรมชาติให้มาอยู่ในพื้นที่สวนป่าของตัวเอง ไม่ว่าการเอาพืชป่ามาปลูก เอาเห็ดป่ามาเพาะ เลี้ยงสัตว์ป่าที่เป็นอาหารขึ้นในสวนป่า สร้างรังให้สัตว์ป่ามาอยู่อาศัย ต่างพึ่งพากัน เช่น สร้างบ้านให้ค้างคาว หอยแก๊ด แมงโยงโย่
และ…….

แม้ว่าโครงการ คฟป.ที่ผมมีส่วนรับผิดชอบจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ สปก. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสรุปบทเรียนและจัดทำสื่อ อาจเรียกว่าทำเป็นครั้งที่สองครั้งที่สามแล้ว หนึ่งในนั้นคือกรณีศึกษาพ่อแสน

ผมไม่ได้มีส่วนในเรื่องนี้ แต่คนข้างกายเป็นผู้รับผิดชอบ เธอมีทีมงานด้านนี้ออกไปทำการสัมภาษณ์และถ่ายทำวีดีโอ

เย็นวันนั้นคนข้างกายต้องเดินทางไปประชุมกทม. ผมก็ไปส่งที่สนามบินขอนแก่น เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน เสียงโทรศัพท์เธอตามมาว่า ทีมงานที่ไปสัมภาษณ์พ่อแสนรายงานมาว่า ขณะที่ทำการสัมภาษณ์พ่อแสนนั้น พ่อแสนร่ำไห้ จนทีมงานตกใจ แต่ก็ปล่อยให้พ่อแสนปลดปล่อยความรู้สึกสุดๆนั้นออกมา

หลังจากนั้นผมมีโอกาสสอบถามน้องๆว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแสน…..

เป็นการตั้งคำถามปกติธรรมดาถึงที่มาที่ไปของการมาทำสวนป่าครอบครัวที่นี่…พ่อแสนเล่าเรื่องย้อนหลังไปสมัยหนุ่มๆที่มาถางป่ากับมือเพื่อเอาที่ดินปลูกพืชเศรษฐกิจ คือมันสำปะหลัง เหมือนเพื่อนบ้านทั่วไปที่ทำกันมา แต่แล้วมันมีแต่จนกับจน ป่าก็หมดไป ต้นไม้ที่เคยมีมากมายก็หมดสิ้น มันสำปะหลังที่ปลูกก็ไม่เห็นจะมีเงินทองมากขึ้น แถมมีหนี้สินอีก…

กว่าจะมาเปลี่ยนใจปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ บนพื้นที่ดินที่เตียนโล่งก็เกือบจะหมดแรงแล้ว…

ผมนึกถึงลุงฉ่ำที่นครสวรรค์ที่ผมเคยทำงานที่นั่น ลุงฉ่ำเป็นคนถางป่ามาก่อน ลุงบอกว่า ตีนเหยียบไม่ถึงดิน เพราะตัดไม้ใหญ่น้อยลงมาจนหมดสิ้นเพื่อเอาที่ดินปลูกข้าวโพด แต่แล้วลุงฉ่ำกลับลำมาเป็นผู้นำปลูกป่า รักษาป่า ที่เข้มแข็งคนหนึ่งในเขตแม่วงก์นั้น

สำนึกสูงส่งที่เฆี่ยนหัวใจให้เปลี่ยนความคิดจากการทำลายมาเป็นการสร้าง การรื้อฟื้นป่า มันมีทั้งปิติ และความรู้สึกแห่งการกลับใจใหม่ ที่สังคมมารองรับความถูกต้องแนวทางนี้

น้ำตาของพ่อแสนนั้นมีคุณค่าเหลือเกิน..ในสำนึกที่เราสัมผัสได้ ว่าข้างในของพ่อแสนนั้นคิดอะไรอยู่ มันเป็นสำนึกที่สูงส่ง..ที่งานพัฒนา งานสร้างคนพยายามสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาให้กับพี่น้องในชนบท….

ซึ่งเป็นงานที่ยากยิ่งนัก…


หิรัญญิการ์

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 9, 2012 เวลา 11:10 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3257

ตั้งแต่น้ำท่วมกรุงมานี่ หมู่บ้านไหนที่น้ำไม่ท่วมก็ขายดีมาก เป็นโอกาสผู้ประกอบการทันที สำหรับผู้อยู่อาศัยนั้นได้ตัวบ้านมาก็ตกแต่งเพิ่มเติมตามความชอบของใครของมัน ตามกำลังเงินในกระเป๋า ซึ่งจะเห็นความแตกต่างมากมาย


อย่างกระจกในห้องต่างๆก็ติดม่าน ติดลูกกรงเหล็ก ติดแผ่นพรางสายตา และหน้าบ้านที่โล่งก็เอาต้นไม้ที่ชอบมาปลูกกันสายตาจากภายนอกมองเข้าไป แม้ชั้นสองของห้องพัก


สำหรับห้องพักของลูกสาวนั้น ผมเคยออกความเห็นแต่เธอบอกว่านี่เป็นบ้านเธอขอรับผิดชอบเอง ผมก็ได้แค่ยืนมองห่างออกมาเพื่อให้เธอจัดการเองตามความเห็น ความชอบของเธอ เราก็แค่ออกความเห็นบ้างนิดหน่อยเมื่อเห็นว่าอะไรเหมาะ อะไรควร อย่างต้นไม้พรางสายตานี้ มีญาติพี่น้องเอามาให้ แต่เจ้าไม้เลื้อยที่เห็นนั่น แม่เธอนำมาให้ เป็น หิรัญญิการ์ ที่เรารู้จักแต่ชื่อไม่เคยมีประสบการณ์ปลูก

ปลูกง่ายมากครับ แค่ฝังดินใส่ปุ๋ย รดน้ำ ก็โตวันโตคืนทันตาทันใจทีเดียว เมื่อเขาเริ่มเลื้อยโตขึ้นก็เกิดไอเดียว่า เอ เจ้านี่น่าที่จะบังคับการเลื้อยของเขาให้เป็นต้นไม้พรางสายตาหน้าบ้านซะดีมั๊ง


ว่าแล้วลูกสาวก็จัดการเอาส่วนยอดอ่อนพันเลื้อยไปตามที่เธอต้องการคือ หักลงมาที่ซี่ลูกกรงหน้าบ้านเรียงไปทีละซี่ แผนเป็นเช่นนั้น เมื่อต้นเขาโตเลื้อยไปถึงเลข 2 เธอก็จับโน้มลงไปที่ 1 เพื่อให้มาที่ลูกกรงซี่ที่ 2, 3 ถัดมาทางซ้ายมือนั่น

เรารดน้ำไป โตเร็วจริงๆไม่น่าเชื่อ เราพบว่าใบเขาใหญ่ หนาและสะอาด สวยอาจเพราะสถานที่นี่ไม่มีฝุ่นละออง หรือเพราะเรารดน้ำที่จะล้างใบเขาด้วย สวยครับ ใบที่หนานั้นใช้พรางสายตาได้ดี และเป็นสีเขียว ถูกใจ ปัญหาที่เราพบคือ เวลาเราเลื่อนประตูเพื่อเอารถเข้า ออก ประตูเหล็กจะมาถูกกับใบและยอดใหม่ที่แตกมาจากตากิ่งทำให้ใบช้ำและยอดตรงนั้นช้ำ

และเมื่อนานวันเข้าเราพบว่า ความฝันของลูกสาวที่จะให้ยอดอ่อนของเขาเลื้อยไปตามซี่ลูกกรงจนเต็มพื้นที่นั้นคงไม่ได้แล้วหละ เพราะ ไม่พบว่ายอดอ่อนที่เลข 1 นั้นจะเติบโตตามต้องการ เขากลับแคระแกรน แต่ที่เลข 2 เป็นยอดอ่อนที่แตกมาจากตากิ่งนั้นกลับเติบโต อวบอ้วนชูสูงขึ้นหนีแรงดึงดูดโลกทุกวัน และมีแตกกิ่งมาใหม่ที่ 3 อีก และชูยอดอ่อนสูงขึ้น อวบอ้วน

เมื่อเราสังเกตเห็น ก็เข้าใจธรรมชาติของไม่เถาเลื้อยชนิดนี้เบื้องต้นแล้วว่า เขาพยายามไต่ขึ้นที่สูงเท่านั้น ไม่ออกข้าง ตามที่เราต้องการ


เราเลยทดลองว่า หากเอาเชือกมาผูกยอด 2 โน้มลงตรงเลข 4 ดูว่าเขาจะไปอย่างไรต่อ แต่ก็พอเดาได้ แต่ก็อยากดู

ลำต้นที่เลื้อยนั้นอวบอ้วน มีลักษณะแข็งไม่อ่อนเหมือนยอดตำลึง ผมไปเปิดวิกิพีเดียดู พบว่า เขามีดอกสีขาวใหญ่ หอมอ่อนๆ เรียก Nepal Trumpet หรือ Heral’s Trumpet หรือ Easter Lily Vine ชื่อน่ารักเชียวครับ

เขียนเรื่องเบาๆท่ามกลางบ้านเมืองที่ร้อนแรงจังเลย…


ครั่ง (Laccifer Lacca Kerr)

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 21, 2012 เวลา 20:18 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3303

เมื่อผมไปสำรวจข้อมูลสนามแห่งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีหลายเรื่องที่ผมค้างคาใจ หนึ่งในนั้นคือ ครั่ง ไม่ใช่อาการคลุ้มคลั่ง เพราะอากาศร้อนนะครับ แต่เป็น “ครั่ง” ที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ เด็กปัจจุบันอาจจะเคยได้ยินคำว่าครั่ง แต่น้อยคนนักจะเคยเห็นตัวครั่ง หรือแม้แต่รังหรือมูลของมันที่เราเอามาใช้ประโยชน์ น้อยคนนักจะเคยเห็น หรือเห็นแล้วไม่รู้จัก..

ท่านที่ไม่รู้จักก็หาความรู้ได้ ที่นี่ สิ่งที่ผมอยากเขียนถึงครั่งก็คือ ชนบทแห่งนั้นที่ผมไปศึกษาข้อมูลสนามพบว่า เกษตรกรมีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน และทำครั่ง หรือเลี้ยงครั่งแล้วเก็บขาย ซึ่งข้อมูลราชการพบว่า ประเทศเราส่งครั่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก

ผมคุ้นเคยครั่ง เพราะสมัยเด็กนั้นที่บ้านผมปลูกต้นก้ามปู หรือ ฉำฉา หรือจามจุรี ด้วยหลายเหตุผล เช่นต้องการร่ม เขาโตเร็ว และแผ่กิ่งก้านกว้างขวาง ต้องการใช้ทำฟืน ผมจำได้ว่าก่อนที่ฤดูน้ำท่วมจะลดลงเข้าสู่ฤดูแล้ง และชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าวในนานั้น พ่อบ้านจะเตรียมฟืนเพื่อใช้ในช่วงเกี่ยวข้าว จะตัดกิ่งก้ามปูให้ได้ขนาดพอเหมาะ ผ่าให้เป็นชิ้นเล็กพอดี แล้วกอง เรียงไว้ใต้ถุนบ้าน และมีก้ามปูไว้เลี้ยงครั่งเพื่อเอาขี้ครั่งไว้ขายหรือใช้


แต่พ่อผมจะเลี้ยงครั่งเฉพาะต้นก้ามปูที่ไม่ได้ใช้ร่ม หรือห่างไกลออกไป ทั้งนี้เพราะ ต้นไหนที่เลี้ยงครั่ง เขาจะปล่อยน้ำลงมาเป็นฝอยๆ คนที่นั่งใต้ต้นก้ามปูรับรู้ได้ จึงไม่นิยมเลี้ยงต้นก้ามปูที่ต้องการใช้ร่มดังกล่าว

ในสนามที่ผมไปศึกษานั้น ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากครั่งมาช้านาน เป็นท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัด และเป็นที่รู้จักของพ่อค้ารับซื้อครั่งว่า จะซื้อครั่งจำนวนมากได้ที่นี่ แต่วันนี้ครั่งเกือบหมดไปจากพื้นที่แห่งนี้แล้วเพราะมลภาวะที่โรงงานชนิดหนึ่งมาตั้งแล้วปล่อยออกมา ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อวงจรชีวิตของครั่ง ครั่งตายไป หรือไม่เจริญเติบโต ซึ่งกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร


ในทางตรงข้าม การเปลี่ยนแปลงของครั่งที่เกิดขึ้นคือตายไป หรือไม่เติบโต กลายเป็นเครื่องชี้วัดมลภาวะไปแล้ว แม้ว่าเครื่องมือวัดมลภาวะจะบอกว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับมนุษย์ แต่ครั่งอาจจะ sensitive กว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เหมือนไลเคนส์ ที่จะเปลี่ยนสีไปเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ซึ่งตรงนี้ ยังไม่มีความรับผิดชอบจากโรงานนั้นๆ แม้ว่าเกษตรกรจะเคยกล่าวอ้างในเรื่องนี้ แต่ตัวเลขการวัดผลมลภาวะของเครื่องมือวัดนั้นกลายเป็นคำตัดสินไปว่า อยู่ในระดับมาตรฐาน

ผมว่าในอนาคตกฎหมายอาจจะต้องปรับปรุงในเรื่องเหล่านี้ เครื่องมือวัดมลภาวะอาจจะต้องปรับปรุงใหม่ สิ่งเหล่านี้ผมเพียงตั้งข้อสังเกต ไม่สามารถระบุรายละเอียดทั้งหมดได้เพราะเกี่ยวข้องกับงานที่ผมรับผิดชอบอยู่นะครับ

ด้วยความเป็นห่วงสิ่งแวดล้อมน่ะครับ

(รูปและข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก อินเทอร์เน็ต)


ศรัทธาของเมียนมาร์ต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ

อ่าน: 1755

ยังค้างการเขียนไปเที่ยวเมียนมาร์อีก 1 ตอน คือการไปเที่ยวพระธาตุอินแขวน ที่น่าประทับใจยิ่งของผม เพราะ การเดินทางลำบาก(แต่ชอบ) และเห็นพลังศรัทธาของพี่น้องประชาชนเมียนมาร์ที่แห่กันขึ้นไปสักการะมหาเจดีย์พระธาตุอินแขวนที่อยู่บนยอดดอยสูงนั้น


รถแอร์ที่พาเราเดินทางจากเมืองหงสาวดีไปเข้าเขต Mon state ข้ามแม่น้ำหงสา แม่น้ำสโตง ไกด์โจก็เล่าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระแสงปืน ว่าไม่น่าที่จะเกิดขึ้นจริงเพราะความกว้างของแม่น้ำนั้นมากกว่าระยะทางประสิทธิภาพของปืนสมัยนั้นจะยิงข้ามได้อย่างแม่ยำ และไม่มีบันทึกเรื่องนี้ในประวัติศาสตร์เมียนมาร์และโปรตุเกส เราไม่ถกเถียงในเรื่องนี้เพราะเราไม่มีหลักฐานมาโต้ตอบกัน ก็แค่รับฟังไว้

รถแอร์พาเรามาปล่อยที่ตลาดแห่งหนึ่งเป็นท่ารถที่ใช้เดินทางขึ้นพระธาตุอินแขวนโดยเฉพาะ เป็นรถ 6 ล้อ ที่นั่งอยู่ด้านหลังดังรูปนั่น เขาอธิบายว่ารถนี้มีพลังแรงเหมาะสมใช้ปีนเขา ซึ่งมีความชันและโค้งไปมามากมาย ถนนก็ไม่กว้าง การเดินทางไปก็ต้องเป็นแบบวิ่งไปพร้อมๆกันทีละหลายๆคัน แล้วก็ไปหยุดกลางทาง เพื่อรอให้รถขาลงซึ่งลงมาทีละหลายๆคันเช่นกัน มิให้สวนรกันกลางทาง ผมว่าดีนะ ลดอุบัติเหตุ การเดินทางเราจะไปพักบนยอดดอยใกล้พระธาตุอินแขวน 1 คืน เราต้องเตรียมเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเล็กไป ซึ่งทางบริษัททัวร์จะจัดเตรียมกระเป๋าเล็กนั้นให้เราคนละใบ


เมื่อรถหลีกกันแล้วก็เดินทางต่อไป แต่จะไม่ขึ้นไปจนถึงยอดสูงสุดนั่น จะจอดระหว่างทาง แล้วปล่อยสมาชิกเลือกว่าจะเดินขึ้นไปจนถึงยอดนั้น หรือจะนั่งเสลี่ยง 4 คนแบกขึ้นไป มีประชาชนท้องถิ่นรับจ้าง ไกด์ โจ สนับสนุนให้เรานอนเสลี่ยง เพราะเป็นการส่งเสริมอาชีพนี้แก่ประชาชนท้องถิ่น เขาก็จัดให้เราหมดเพราะบวกเข้าไปในราคาทัวร์แล้ว



ช่วงนี้เราหัวเราะกันใหญ่ เพราะ หัวหน้าทัวร์จะแจกเบอร์แก่ทุกคน ให้เดินหาลูกหาบที่เขาก็มีเบอร์ของเรา วุ่นวายแต่สนุก เหมือนเกมส์หาคู่ เมื่อเจอกันแล้วก็ดีใจและหัวเราะกัน เพราะว่า ลูกหาบเขาหวังว่าคู่ของเขานั้นเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ เบา แบกสบาย แต่เขามาจับคู่กับผม รูปซ้ายมือนั่นไงครับ เป็นเด็กหนุ่มเห็นผมเข้าก็หัวเราะ ขำ เอามือเกาหัว นัยว่า “ซวยแล้วกู ตัวใหญ่เบ่อเริ่มเลย”…ก๊ากสสส

เขาเดินเป็นจังหวะ แกว่งแขนเป็นจังหวะพร้อมกัน เมื่อเจ็บบ่าจะเปลี่ยนก็นัดกันเปลี่ยนทีละสองคนคู่หน้า คู่หลัง แบบคนขึ้นภูเขานั่นไม่ใช่ของเล่น ต้องพักสี่ครั้ง ห้าครั้ง แล้วแต่ลูกหาบ ไกด์ เตือนเราว่าเขาจะเรียกเงินบาทของเราเป็นการทิพ… ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เราก็สงสารเขาอยากจะให้ แต่บอกเขาว่าขอให้ช่วงขาลงก็แล้วกัน

มีโรงแรมสองสามแห่งข้างบนยอดดอยนั้นครับ พอใช้ได้ ผมนึกถึงดอยตุง แบบนั้นครับ อากาศเย็น เห็นทิวทัศน์ไกลสุดแดน


ไกด์ โจจะเล่าประวัติความเป็นมาของพระธาตุอินแขวน ยาวเหยียด มีความสำคัญหนึ่งในห้าแห่งของเมียนมาร์ ผมไม่บอกครับว่าที่เหลือมีอะไรบ้าง อิอิ

ผมประทับใจ ผู้คนมากมายมากราบ มานอนค้างบนลานวัดข้างบนนี้ หอบที่นอนแบบง่ายๆมา ทั้งหนุ่มสาว เยาวชน คนแก่คนเฒ่า ยังกะมีงานวัด แต่นี่ไกด์โจบอกว่า ปกติเป็นเช่นนี้ทุกวัน นี่คือความศรัทธาสูงสุดที่ชาวเมียนมาร์ฝันว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมากราบพระธาตุอินแขวน

ทำไมต้องนอนค้าง  ก็เพราะความศรัทธาซึ่งเชื่อกันว่า หากปรารถนาสิ่งใดให้อธิษฐานกับพระธาตุและไปกราบไปปิดทองท่านสามครั้งในหนึ่งคืน ตอนหัวค่ำ ตอนดึกและตอนเช้ามืด นี่เป็นเหตุที่ต้องนอนค้าง และไม่ต้องการเสียเงินเช่าที่พัก นอนที่ลานวัดนี่แหละ เต็มไปหมด ผมว่านับพันคน ที่สำคัญคือ ทุกคืน…?????!!!!!

นี่คือศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ ศาสนาพุทธ ผสมผสานกับความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ไกด์ โจ ขยายความว่า เขาเองก็มาอธิษฐานขอให้มีงานทำตลอดไป และอธิษฐานสามครั้งในหนึ่งคืน เขาเล่าว่า กลับลงไปเขามีงานไกด์ตลอด ไม่ได้หยุดเลย เขาเสริมความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิแห่งนี้…

ตอนหนึ่งของประวัติความเป็นมาของก้อนหินที่ลอยเหนือหน้าผาแห่งนี้มานานแสนนานโดยไม่ตกหล่นลงไป เขากล่าวว่า The National Geographic มาพิสูจน์แล้วว่าเป็นหินที่ลอยโดยการเอาวัตถุลอดผ่านฐานก้อนหินนี้ได้ และเป็นหินทะเล..????? แต่มาอยู่บนยอดเขา ซึ่งตรงกับประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าของเมียนมาร์มาช้านานว่าเป็นหินที่เอามาจากมหาสมุทร…

จริงๆเรื่องนี้ผมไม่แปลกใจ เพราะเคยมีกรณีเช่นเดียวกัน ปรากฎการณ์ต่างๆคล้ายๆกันที่หิน หอย หรือซากฟอซซิลบนยอดเขานั้น เป็นสิ่งที่มีชีวิตในอดีตที่อยู่ในทะเลมาก่อน แต่ที่มาอยู่บนยอดเขานั้นนักธรณีวิทยามีคำอธิบายมากมายครับ

การไหว้พระธาตุนั้นห้ามสตรีเข้าไปด้านใน อยู่แต่วงนอก หากจะปิดทองต้องฝากผู้ชายเข้าไปปิด ผมเองก็เข้าไปปิดทอง และช่วยไกด์โจ ที่รับแผ่นทองของเพื่อนทัวร์สตรีมาติดกำเบ่อเริ่ม ผมติดอยู่พักหนึ่งก็ร็สึกว่า หินที่เราติดนั้นอ่อนนุ่ม…เมื่อเอานิ่วมือกดลงไปเพื่อให้แผ่นทองติดแน่นกับหินฐานเจดีย์ ก็รู้สึกได้ว่านุ่ม อธิบายได้ว่ามีแผ่นทองมาติดจำนวนมากมายมหาศาล ทับลงไปทุกวันทุกคืนทุกเดือนทุกปีนานนับร้อยๆปีมาแล้ว เหมือนกับพระพุทธที่เมืองพะโค ที่ขึ้นชื่อว่าตัวพระท่านนิ่ม ก็เพราะเหตุเดียวกันคือความศรัทธาที่มหาชนเมียนมาร์และชาวต่างชาติมากราบไหว้และเอาแผ่นทองมาบูชา ปิดทับมากมายมหาศาลนานแสนนานมาแล้ว จึงหนามากๆจึงเป็นเหตุทำให้องค์พระพุทธรูปนิ่ม ไปเสริมความเชื่อ ความศรัทธามากขึ้นไปอีกถึงอภินิหาร….

ผมไม่วิจารณ์ในเรื่องเหล่านี้ แต่ตรงข้ามผมส่งเสริม เพราะการทำเช่นนี้มัยผูกพันไปถึงการพยายามปฏิบัติตัวที่อยู่ในเส้นทางศาสนา ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญแห่งการอยู่ร่วมกัน ส่วนการก้าวข้ามไปนั้นเป็นอีกขั้นหนึ่งของการเข้าถึงธรรม ก็เป็นปัญญาของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นมหาศรัทธาของประชาชนเมียนมาร์ต่อศาสนสถาน ของเขา

เอ ยังมีอีกตอนนา ที่น่าเขียนถึง ฤษี ในเมียนมาร์…เก็บเอาไว้ก่อนนะ…


คำถามถึงสวนป่าที่เฮฮาเก้า…

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 4, 2012 เวลา 1:23 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 1805

ส่งสัญญาณมานานพอสมควรเรื่องเฮเก้าที่สวนป่า ผมก็ตั้งท่าเรื่องแผนงานชีวิตไว้ อาว์เปลี่ยนก็เช่นกัน เพราะชีวิตเราขึ้นกับงาน มิใช่งานจะขึ้นกับชีวิตเรา แต่ก็พอจูนเครื่องได้บ้างและลงล๊อคพอดี แต่สำหรับท่านอื่นๆคงปรับตารางชีวิตยาก เพราะเงื่อนไขแต่ละคนแตกต่างกันไป ผมกับอาว์เปลี่ยนตั้งใจอยากเอา ป้าหวานและ ออต ไปด้วย แต่ทั้งสองท่านติดงาน ติดภารกิจดังกล่าว เข้าใจได้ครับ เพราะหลายครั้งเราก็ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เอาเถอะ สบายๆ ตามสไตล์เฮ..

ได้พบเพื่อนใหม่ หลายท่านครับ น่าสนใจ จริงๆทำไมจึงมีคนหนุ่มสาวหันหน้ามาสวนป่า ขณะที่จำนวนมากมายหลงใหลกับห้างสรรพสินค้าที่แอร์เย็นเฉียบ และชีวิตทันสมัยในเมืองหลวง ผมถือโอกาสพูดคุยกับท่านเหล่านั้น แต่ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดที่นี่ ผมนั้นสนใจ The turning point ของแต่ละคน น่าศึกษา น่าหาจุดคลิก แล้วมองย้อนกลับมาเราจะสร้างคนให้ คลิกได้อย่างไร ในฐานะที่เป็นคนทำงานพัฒนาคน จึงสนใจแง่มุมเหล่านี้…

จริงๆผมกับอาว์เปลี่ยนมีงานจะต้องทำ แต่บังเอิญ งานที่จะทำนั้นเกี่ยวข้องกับสวนป่าและพื้นที่ของจังหวัดบุรีรัมย์ แผนงานเราจึงสอดคล้องกับเฮเก้า แม้ว่าเวลาที่เราจะอยู่น้อยไปหน่อยก็ตาม

ด้วยงานที่เราทำมีส่วนเกี่ยวข้องกับมูลนิธิพัฒนาอีสานที่สุรินทร์ จึงนัดน้องสองคนจากสุรินทร์มาพบกับอาว์เปลี่ยน เพื่อคุยกันเรื่องงาน เมื่อจบน้องกลับไป ก็เหลือแต่พวกเฮ ผมก็ร่วมวงคุยกับพ่อครูบา แม่หวี คอน เปลี่ยน และน้องใหม่ ท่ามกลางอากาศที่เย็นมากๆ ประมาณ 21 องศา เย็นจนคอนบอกว่าเกือบไม่สบาย

ระหว่างที่คุยกันนั้น เรื่องราวสาระก็พาไปหลายเรื่อง จนมาถึงเรื่องสวนป่า ผมนั่งหนาวไปก็นึกไปร้อยแปด

  • มหัศจรรย์จริงๆที่เดิมตรงนี้มันแปนเอิดเติด (เตียน โล่ง ว่าง) มันกลายมาเป็นป่าได้อย่างไร ผมเห็นเทศบาลขอนแก่นหรือที่ไหนๆใช้งบประมาณปีหนึ่งมากมาย พาคุณหญิงคุณนาย พาผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงาน มาปลูกต้นไม้ ถ่ายรูป ลงหนังสือ ชื่นชมกันไม่ได้หยุด แต่แล้วต้นไม้นั้นก็เฉาตายหลังจากนั้นไม่นานเท่าไหร่ ผมทราบมาว่าป่าของเดนมาร์คเพิ่มขึ้น 2 % แต่ป่าไม้บ้านเราหดหายไปทุกปี แต่ที่สวนป่าเป็นป่า ท่านผู้เป็นเจ้าของที่แห่งนี้สร้างมันขึ้นมาได้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์
  • ที่เดิมตรงนี้มันแปนเอิดเติดนั้นมันสะท้อนวิถีการพัฒนาสังคมเกษตรของบ้านเรา ของประเทศเรา เอาป่ามาปลูกพืชเศรษฐกิจ แล้วก็เสียภาษี แล้วเอาภาษีนั้นกลับมาปลูกป่า ซึ่งก็ไม่ได้ดีเท่าของเดิมที่เคยมีอยู่
  • หากผมเป็นพ่อครูในสมัยสามสิบปีย้อนหลังไปนั้น ผมหรือใครๆที่เป็นชาวบ้านที่คิดจะเอาที่ดินตรงนี้มาปลูกป่านั้น คงคิดยาก และไม่คิด หนทาง แนวทางจะขายเสียมากกว่าเพื่อเอาเงินไปทำอย่างอื่น หรือทู่ซี้ปลูกมัน ปลูกอ้อย ต่อไปอีก มุ่งสร้างปริมาณโดยเพิ่มการลงทุนลงไปมากขึ้น เพียงหวังว่าจะได้กลับคืนมามากพอตามต้องการ ในจิตใจพ่อครูคิดอย่างไรจึงหันมาปลูกป่า มันแหวกม่านความคิดทั่วไปของชาวบ้านไปสิ้นเชิง พ่อครูคิดอะไร ทำไมถึงคิดเช่นนั้น
  • แค่คิดก็มหาศาลแล้ว แต่นี่ท่านผู้นี้ลงมือทำ ลงมือปลูกป่าในที่ดินที่ใครๆเขาปลูกอ้อน ปลูกมันสำปะหลังกันในสมัยนั้น… คิดแบบง่ายๆว่า ปลูกอ้อย ปลูกมันขายไปก็ได้เงิน แต่ปลูกป่านี่มันได้เงินตรงไหน เมื่อไหร่มันได้ แปลกคนจริงเชียวพ่อครูนี่….
  • ผมคิดต่อไปว่า เอ เอาละจะปลูกป่า ก็คือปลูกต้นไม้เยอะๆลงในพื้นที่ที่เตียนโล่งนี่น่ะ ตัดสินใจเอาต้นอะไรมาปลูกเป็นต้นแรก ทำไมถึงเอาต้นนี้ เพราะอะไร แล้วมันอยู่รอดหรือเปล่า เอาน้ำที่ไหนมารดมันล่ะ หรือรอเพียงน้ำฝนเท่านั้น กล้าหาญจริงๆ กล้ามากที่คิดปลูกป่าในพื้นที่ที่เป็นเศรษฐกิจ
  • ผมสนใจระบบคิด การตัดสินใจ เหตุผล ปัจจัยรอบข้าง เงื่อนไข และ…สารพัดประเด็นคำถามที่อยากถามพ่อครูบา…

คืนนั้นผมและเพื่อนๆนั่งซักถามพ่อครูบา และแลกเปลี่ยนกันจนถึงเที่ยงคืน จึงล่ำลากันไปนอน เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมก้าวลึกเข้าไปในพัฒนาการสวนป่าจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน ซึ่งความจริงเราไม่ได้หยุดอยู่แค่ปัจจุบัน เรายังมองไปในอนาคต ซึ่งผมคิดว่า ชาวเฮหลายท่านคิดเรื่องนี้มาก่อนผมแล้วด้วย องค์ความรู้ที่ไหลออกมาจากสมองของพ่อครูบา ที่มันหลุดมาจากปากพ่อครูบา ที่มันอยู่ในมือของพ่อครูบานั้น จะถูกบันทึกเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะชนอีกมากมายได้อย่างไร

ความรู้ ความจริงอีกมากมายที่ยังรออาสาก้าวเข้าไปช่วยสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นมา แล้วเผยแพร่ออกไป

ส่วนประเด็นข้างบนนั้นผมไม่มีคำตอบ หากท่านอยากทราบ

คำตอบอยู่ที่สวนป่าครับ


ไปกินฝิ่น..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2012 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3942

ไปขุดเอาภาพที่ไปทำงานในลาวมาเขียนบันทึก ให้เห็นบางมุมของชนบท ที่เหมือนบ้านเราในอดีต สภาพยังต้องการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

พูดถึงเรื่องนี้มีบางมุมในทฤษฎีทางสังคมที่กล่าวว่า ระดับของการพัฒนานั้นขึ้นกับชุมชนนั้นอยู่ห่างไกลตัวเมืองมากน้อยแค่ไหน แต่ปัจจุบันหลักการนี้อาจจะไม่จริงเสียแล้วเพราะ หลักการนี้จะใช้สภาพถนนเป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงชุมชน หากถนนดี ก็จะมีการเดินทางเข้าออกมาก ระบบธุรกิจก็เข้าไปมาก การลงทุนก็มีมาก ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก แต่ปัจจุบันมีระบบสื่อสารที่เป็นคลื่น ไม่มีถนน หรือถนนไม่ค่อยดี แต่การรับรู้ข่าวสารทางอื่นมีมากมาย อย่างผมเคยพบ ชุมชนชายป่าห้วยขาแข้งที่นครสวรรค์ โทรศัพท์ติดต่อกับลูกสาวที่ญี่ปุ่นได้..


ดูภาพเหล่านี้สิครับ มันเป็นธรรมชาติของวิถีชนบท พี่เลี้ยงน้อง เพื่อนเด็กชายหญิงเล่นด้วยกัน มีความผูกพัน ใกล้ชิด เห็น สัมผัสชีวิตกันและกัน เหล่านี้คือพื้นฐานแรกๆของแรงเกาะเกี่ยวทางสังคมอันเป็นฐานของ ทุนทางสังคมชุมชน


ที่บ้านนี้ผมตื่นเต้นที่เกือบทุกบ้านปลูกต้นไม้ทำเป็นรั้ว ผมสงสัยว่าต้นอะไร พ่อท่านนี้บอกว่าต้นกฤษณา ที่พ่อค้าซื้อเอาเนื้อไม้ไปกลั่นเป็นน้ำหอม หากต้นที่มีแก่นก็ราคาแพง หากไม่มีแก่นอยากได้เงินก็ตัดขายได้ ชั่งเป็นน้ำหนักขาย ผมไม่ได้ค้นสมุดบันทึกดูว่าราคาเท่าไหร่ แต่ถูกมาก พ่อท่านนี้กล่าว


ผมเดินไปอีกหน่อยก็เห็นกะบะยกพื้นสูงปลูกผักสวนครัว คือหอมแดง แต่มีต้นฝิ่นแซม ดอกฝิ่นสีขาวกำลังชูช่อสวยงามเชียว ผมคุ้นเคยดอกฝิ่นทั้งสีขาวและสีแดง เพราะสมัยทำงานที่สะเมิงที่นั่นเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นเป็นไหล่เขาเลย ผมปีนไปถ่ายรูปบ่อยๆ ต่อมาจึงมีการปราบปรามและเป็นพืชต้องห้าม แต่ที่นี่ปลูกในบ้านเลย


ผมถามพ่อที่เดินมาด้วยกันว่า เขาไม่ห้ามปลูกหรือ และปลูกทำไมในกะบะที่บ้านเช่นนี้ พ่อเขายิ้มๆแล้วตอบผมว่า หากปลูกเล็กน้อยเช่นนี้ไม่เป็นไร ก็ปลูกเอาไว้กินใบอ่อนนั่นไง อร่อยด้วยนะ กรอบ กินสดๆกับน้ำพริก กับลาบ และสารพัดเหมือนผักทั่วไป….

แหม เราทราบดีว่าฝิ่นนั้น ยางที่ผลนั้นมีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวด หากกินมากๆก็ติด แต่ใบฝิ่นนี่มีคุณสมบัติทางยาอย่างไรบ้างผมไม่ทราบ และไม่ได้ทดลองชิมด้วยซี แหม….มังสวิรัติแบบผม แบบพ่อครูบาฯ มีพืชที่น่าทดลองเพิ่มขึ้นอีกแล้วซิ

แต่เป็นพืชต้องห้าม อิอิ….



ธรรมนูญชุมชน

อ่าน: 2358

เป็นต้นข่อยใหญ่ต้นหนึ่งที่เหมือนๆกับต้นข่อยทั่วไปที่มีประโยชน์สารพัดอย่างในวิถีดั้งเดิมของชนบท แต่ข่อยต้นนี้ที่บ้านพังแดงแตกต่างจากที่อื่นเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่อยู่ของเจ้าปู่ ผู้คุ้มครองกฎ ฮีตคองของบ้านแห่งนี้

ประเทศชาติปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่นักการเมืองต่างเสนอแก้ไขกันฉบับแล้วฉบับเล่า ต่างก็เพื่อประโยชน์ที่ใฝ่ปอง ชีวิตชนบทนั้นก็มีหลักการปกครองร่วมกันที่เรียกธรรมนูญชีวิต คือ ฮีตคอง ที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมาหลายชั่วคน คือกติกาสังคม มีไม่กี่มาตรา ไม่เคยมีใครเสนอให้แก้ไข ปรับปรุง ไม่เคยมีใครเสนอประชุมเปลี่ยนธรรมนูญชีวิตฉบับนี้

ผู้เฒ่า เจ้าโคตร คือประธานธรรมนูญนี้ในนามเจ้าปู่ มันผู้ใดที่ยึดฮีตคองเป็นแนวทางปฏิบัติตัวตน มันผู้นั้นจะมีเจ้าปู่คุ้มครอง มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู มันผู้ใดที่ลบล้าง ละเลย หมิ่น แคลน มันผู้นั้นต้องมีอันเป็นไป โดยที่ไม่ต้องพึ่งศาลปกครอง หรือศาลคดีผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ผู้ลงโทษคือ สังคม ฟ้าดิน


เมื่อไปก็ลา เมื่อมาก็ไหว้ เทียนน้อยสองเล่มถูกจุด ขันธ์ 5 วางเบื้องหน้า ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ผู้เป็นล่ามทรงม้าใช้ ทำหน้าที่สื่อสารบอกกล่าวเจ้าปู่ว่าข้าน้อยมากราบลาคราวสิ้นสุดวาระการทำงานในพื้นที่แห่งนี้ สิ่งใดที่ล่วงเกินทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ขอขมาลาโทษ สิ่งใดที่ทำดีแล้ว ขอเจ้าปู่ได้อนุโมทนาสาธุ


เสียงเอะอะ อึงอล ของผู้เฒ่าเจ้าโคตร บอกกล่าวต่อเจ้าปู่ ตามหลักฮีตคอง สื่อให้เราขนลุกขนพองถึงธรรมนูญชีวิตชนบทที่ห่อหุ้มสำนึกชนบทให้รู้ว่า สิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นธรรมนูญชีวิตนั้น คือการรวบรวมสิ่งดีงามให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข อำนาจวาสนา ทรัพย์ ศฤงคาร คือโลกธรรม ที่หากมีแต่โลภโมโทสัน ปลีกตัวออกห่างจากฮีตคอง เจ้าก็คือผู้ทำลาย แต่หากเจ้ามีสำนึกแห่งการอยู่ร่วมกัน โลกธรรมก็มิอาจมาทำลายได้ เพราะเจ้าเลือกแก่นมากกว่ากะพี้

การครอบครองรังแต่จะทำลาย การให้ต่างหากคือการสร้างสรรค์

19 ตุลาคม 2553


จากฟักข้าวถึงงานสมุนไพรชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 28, 2010 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3928

ต้องเข้าไปดงหลวงเพราะงานที่ทำช่วงปิดโครงการ เลยหยิบเอาข้อมูลเรื่องฟักข้าวไปสอบถามชาวบ้าน ได้ข้อมูลจากอาว์เปลี่ยนว่าไปถ่ายรูปผลฟักข้าวมาจากบ้านพ่อชาดี เสร็จงานก็เลยไปดูซะหน่อย

ตรงไปบ้านพ่อหวัง เจอะแม่บ้านและลูกสาว ผมเอารูปที่อาว์เปลี่ยนให้ดู ลูกสาวก็บอกเลยว่าลูกฟักข้าว กินอยู่ มีที่สวน ปีนี้ออกลูกเดียว พร้อมทั้งชี้ไปที่ต้นไม้ของบ้านเพื่อนบ้าน นั่นไงต้นฟักข้าว เลื้อยพันจนไม่เห็นต้นไม้ที่เขาอาศัยเลย กำลังออกลูกส้มๆ


เราเลยไปบ้านพ่อชาดี ตามที่อาว์เปลี่ยนให้ข้อมูล พ่อชาดีนอนหลับก็เลยไปคุยกับศรีภรรยาพ่อชาดี ผมยื่นรูปให้ดู แม่บอกว่านั่นไง ต้นอยู่นั่นไง พร้อมชี้ให้ดู และเดินนำทางเราไปหลังบ้านซึ่งเป็นสวนเกษตรผสมผสานที่พ่อชาดีสร้างมันขึ้นมากับมือ โฮ..หนึ่งสอง สาม สี่ ลูก มีทั้งเหลืองส้มและส้มแดงแก่แล้ว เลยคุยกับแม่ว่าเอามากินไหม แม่ก็บอกว่ากิน เอาลูกอ่อนมาต้มจิ้มน้ำพริก ออกขมนิดๆ เอายอดมาแกง แต่คนไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เมื่อเทียบกับหวาย คนชอบหวายมากกว่า ทั้งที่หวายขมกว่า..

เด็กๆเอาลูกสุกมากินเหมือนกัน แต่ไม่ชอบมากเหมือนผลไม้อื่นๆ


เมื่อผมเอาสรรพคุณที่เป็นเอกสารที่เตรียมไปเผยแพร่ให้พี่น้องไทบรูได้เรียนรู้ แม่ก็ว่า เออ ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะบอกพ่อชาดีเขา…

ฟักข้าวเป็นพืชพื้นบ้านทั่วไป ชาวบ้านรู้จัก แต่ไม่นิยม เท่าที่ผมตรวจสอบความรู้นั้น ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยาของฟักข้าว รู้เพียงว่ามันกินได้ ผมคิดว่าแม้ชาวบ้านจะรู้จักสรรพคุณยาในพืชผักหลายชนิด แต่ก็มีพืชอีกหลายตัวที่ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยา นี่ก็น่าจะเป็นงานในการพัฒนาชุมชนที่สำคัญหนึ่ง

ปัจจุบันก็ทำกันบ้าง เครือข่ายไทบรูก็มีแผนงานด้านการรื้อฟื้นสมุนไพรโบราณ แต่ก็ยังไม่ได้กว้างขวางเท่าใดมากนัก

ประดงขาวใช้แช่น้ำหรือฝน แล้วเอาน้ำไปทา แก้ปวดเมื่อย

วันนี้ก็พบหมอยาสมุนไพรหนุ่มคนหนึ่ง เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าเขาเป็นผู้รู้สมุนไพร บังเอิญแท้ๆ ที่หลายสัปดาห์ก่อน พิลาพนักงานขับรถบ่นว่า ภรรยาเขาปวดหลังมาก ลุกเดินแต่ละที ยังกะคนเฒ่าคนแก่เดินหลังค่อมไปเลย ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำเราคนหนึ่งได้ยินเข้าก็บอกว่า เออ..ไปเอายาสมุนไพรไปลองดูไหม… พิลาหูผึ่ง แล้วก็ตามไปเอาสมุนไพร เป็นสมุนไพร ชื่อ “ประดงขาว” เป็นต้นไม้ยืนต้นใหญ่ เอาเปลือก ราก แก่น มาแช่น้ำ หรือฝน แล้วเอาน้ำนั้นไปทาตรงปวด พิลาบอกว่า ใช้แล้วได้ผล ภรรยาเดินดีขึ้น อาการปวดเมื่อยลดลง แม้จะยังไม่หายขาดก็ตาม แต่ดีขึ้นจริงๆ

วันนี้พิลาเลยได้ยาไปอีกอย่าง เป็นสมุนไพรรักษาริดสีดวงทวาร จากหมอยาคนเดียวกัน สำหรับญาติที่เป็นมานานและอาการหนักมากขึ้น หมอยาคนนี้บอกว่า หากไม่หายก็ไม่เอาเงิน


สมุนไพรแก้ริดสีดวงทวาร

ระหว่างเดินทางกลับ เราคุยกันว่า ชาวบ้านหลายคนไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นหมอยา แต่หลายคนในหมู่บ้านมีความรู้เรื่องสมุนไพร คนนี้รู้จักสมุนไพรดีสามสี่ชนิด อีกคนรู้จักสมุนไพรดี หก เจ็ดชนิด หรือบางคนรู้จักชนิดเดียว แต่มีประสบการณ์ใช้แล้วได้ผลดี… สมองคิดงานเรื่องนี้ไปเยอะแยะเลย…ทั้งรวบรวม ทั้งตรวจสอบ ทั้งสงวน อนุรักษ์ ทั้งงานวิจัย ทำระบบข้อมูล สัมมนาหมอยา … ทำแผนที่สมุนไพร ฯลฯ

งานแบบนี้มีคน มีกลุ่มทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีใครทำ แต่ที่ดงหลวงแค่เริ่มต้นเท่านั้นครับ

กลับมาที่ฟักข้าว ความจริง อ.แป๋วเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วที่ ลานเรียนรู้สบายๆ ที่นี่

http://lanpanya.com/paew/?p=102 และมีข้อมูลมากมายใน goo เช่นที่ หมอชาวบ้าน http://www.doctor.or.th/node/1060 หากสมุนไพรจำนวนมากถูกมหาวิทยาลัยก้าวลงมาในชุมชนสำรวจและเอาสมุนไพรทั้งหลายไปวิจัยน่าที่จะเกิดประโยชน์มากหลาย ซึ่งผมเชื่อว่า บางมหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งผ่านข้อมูลกลับสู่ชุมชนในระดับกว้าง และสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนหยิบขึ้นมาพัฒนาเป็นสินค้าท้องถิ่น มหาวิทยาลัยไปสนับสนุน ราชการไปสนับสนุนให้ท้องถิ่นนั้นๆผลิตสมุนไพรเหล่านั้นขึ้นมา คล้ายๆโรงพยาบาลอภัยภูเบศร นะครับ

งานเยอะ… จริงๆ ไม่มีทางจบสิ้น อิอิ


เฮ่อ ชาวนา..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 20, 2010 เวลา 10:48 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 1944

หัวอกชาวนา หากไม่แล้งจนข้าวเหลืองเพราะแดดเผาไหม้ ก็น้ำท่วมอย่างนี้

ความพอดีเกือบจะไม่มี ขาดๆเกินๆ ชาวนารู้ดี

การคาดคะเนกับธรรมชาติมีประสบการณ์และประเพณี และตารางจันทรคติ

เป็นแผนที่ชีวิตคร่าวๆ ก็พอได้กินข้าว

ขาดเกินอย่างไร ประเพณีท้องถิ่นก็เอื้อเฟื้อกันไป สังคมอยู่ได้

แต่เมื่อฟ้าฝนแปรปรวนมากขึ้น มันกะเกณฑ์อะไรไม่ได้เลย

ยิ่งนาน้ำฝนที่ต้องใช้น้ำฝนเท่านั้น ทางเลือกชาวบ้านคือ

น้ำดี–> ดำ

น้ำไม่ค่อยดี--> ดำแห้ง

น้ำไม่ดี แต่ดินพอเปียกๆ–> สัก หยอด

ข้าวพอขึ้นฝนกระหน่ำท่วม พอน้ำลด–>ดำซ่อมส่วนที่เสียหาย

ฝนตกมาครั้งเดียวก็หายไปจะเอาไงดี ต้องเสี่ยงครั้งสุดท้ายแล้ว–> หว่านแบบไม่หวังผล หากมีโชคบ้างก็คงพอได้

ทั้งหมดนี้ขึ้นกับเงื่อนไขมากมาย เช่น แรงงานในครัวเรือน กล้าข้าว พันธุ์ข้าว ปริมาณ ภาระสำคัญอื่นๆ..สุขภาพ ญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน ทุนจ้างแรงงาน ที่ตั้งของนา ลุ่ม ลุ่มตรงคลอง ลุ่มตรงประตูระบายน้ำ ลุ่มทั่วไป ลุ่มๆดอนๆ ดอน ที่สูง ….ฯ

นาเขตชลประทานจึงเป็นนาชั้นหนึ่ง นาน้ำฝนจึงลูกผีลูกคน



Main: 0.12892985343933 sec
Sidebar: 0.07694411277771 sec