จากฟักข้าวถึงงานสมุนไพรชุมชน

โดย bangsai เมื่อ กันยายน 28, 2010 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3954

ต้องเข้าไปดงหลวงเพราะงานที่ทำช่วงปิดโครงการ เลยหยิบเอาข้อมูลเรื่องฟักข้าวไปสอบถามชาวบ้าน ได้ข้อมูลจากอาว์เปลี่ยนว่าไปถ่ายรูปผลฟักข้าวมาจากบ้านพ่อชาดี เสร็จงานก็เลยไปดูซะหน่อย

ตรงไปบ้านพ่อหวัง เจอะแม่บ้านและลูกสาว ผมเอารูปที่อาว์เปลี่ยนให้ดู ลูกสาวก็บอกเลยว่าลูกฟักข้าว กินอยู่ มีที่สวน ปีนี้ออกลูกเดียว พร้อมทั้งชี้ไปที่ต้นไม้ของบ้านเพื่อนบ้าน นั่นไงต้นฟักข้าว เลื้อยพันจนไม่เห็นต้นไม้ที่เขาอาศัยเลย กำลังออกลูกส้มๆ


เราเลยไปบ้านพ่อชาดี ตามที่อาว์เปลี่ยนให้ข้อมูล พ่อชาดีนอนหลับก็เลยไปคุยกับศรีภรรยาพ่อชาดี ผมยื่นรูปให้ดู แม่บอกว่านั่นไง ต้นอยู่นั่นไง พร้อมชี้ให้ดู และเดินนำทางเราไปหลังบ้านซึ่งเป็นสวนเกษตรผสมผสานที่พ่อชาดีสร้างมันขึ้นมากับมือ โฮ..หนึ่งสอง สาม สี่ ลูก มีทั้งเหลืองส้มและส้มแดงแก่แล้ว เลยคุยกับแม่ว่าเอามากินไหม แม่ก็บอกว่ากิน เอาลูกอ่อนมาต้มจิ้มน้ำพริก ออกขมนิดๆ เอายอดมาแกง แต่คนไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เมื่อเทียบกับหวาย คนชอบหวายมากกว่า ทั้งที่หวายขมกว่า..

เด็กๆเอาลูกสุกมากินเหมือนกัน แต่ไม่ชอบมากเหมือนผลไม้อื่นๆ


เมื่อผมเอาสรรพคุณที่เป็นเอกสารที่เตรียมไปเผยแพร่ให้พี่น้องไทบรูได้เรียนรู้ แม่ก็ว่า เออ ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะบอกพ่อชาดีเขา…

ฟักข้าวเป็นพืชพื้นบ้านทั่วไป ชาวบ้านรู้จัก แต่ไม่นิยม เท่าที่ผมตรวจสอบความรู้นั้น ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยาของฟักข้าว รู้เพียงว่ามันกินได้ ผมคิดว่าแม้ชาวบ้านจะรู้จักสรรพคุณยาในพืชผักหลายชนิด แต่ก็มีพืชอีกหลายตัวที่ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยา นี่ก็น่าจะเป็นงานในการพัฒนาชุมชนที่สำคัญหนึ่ง

ปัจจุบันก็ทำกันบ้าง เครือข่ายไทบรูก็มีแผนงานด้านการรื้อฟื้นสมุนไพรโบราณ แต่ก็ยังไม่ได้กว้างขวางเท่าใดมากนัก

ประดงขาวใช้แช่น้ำหรือฝน แล้วเอาน้ำไปทา แก้ปวดเมื่อย

วันนี้ก็พบหมอยาสมุนไพรหนุ่มคนหนึ่ง เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าเขาเป็นผู้รู้สมุนไพร บังเอิญแท้ๆ ที่หลายสัปดาห์ก่อน พิลาพนักงานขับรถบ่นว่า ภรรยาเขาปวดหลังมาก ลุกเดินแต่ละที ยังกะคนเฒ่าคนแก่เดินหลังค่อมไปเลย ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำเราคนหนึ่งได้ยินเข้าก็บอกว่า เออ..ไปเอายาสมุนไพรไปลองดูไหม… พิลาหูผึ่ง แล้วก็ตามไปเอาสมุนไพร เป็นสมุนไพร ชื่อ “ประดงขาว” เป็นต้นไม้ยืนต้นใหญ่ เอาเปลือก ราก แก่น มาแช่น้ำ หรือฝน แล้วเอาน้ำนั้นไปทาตรงปวด พิลาบอกว่า ใช้แล้วได้ผล ภรรยาเดินดีขึ้น อาการปวดเมื่อยลดลง แม้จะยังไม่หายขาดก็ตาม แต่ดีขึ้นจริงๆ

วันนี้พิลาเลยได้ยาไปอีกอย่าง เป็นสมุนไพรรักษาริดสีดวงทวาร จากหมอยาคนเดียวกัน สำหรับญาติที่เป็นมานานและอาการหนักมากขึ้น หมอยาคนนี้บอกว่า หากไม่หายก็ไม่เอาเงิน


สมุนไพรแก้ริดสีดวงทวาร

ระหว่างเดินทางกลับ เราคุยกันว่า ชาวบ้านหลายคนไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นหมอยา แต่หลายคนในหมู่บ้านมีความรู้เรื่องสมุนไพร คนนี้รู้จักสมุนไพรดีสามสี่ชนิด อีกคนรู้จักสมุนไพรดี หก เจ็ดชนิด หรือบางคนรู้จักชนิดเดียว แต่มีประสบการณ์ใช้แล้วได้ผลดี… สมองคิดงานเรื่องนี้ไปเยอะแยะเลย…ทั้งรวบรวม ทั้งตรวจสอบ ทั้งสงวน อนุรักษ์ ทั้งงานวิจัย ทำระบบข้อมูล สัมมนาหมอยา … ทำแผนที่สมุนไพร ฯลฯ

งานแบบนี้มีคน มีกลุ่มทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีใครทำ แต่ที่ดงหลวงแค่เริ่มต้นเท่านั้นครับ

กลับมาที่ฟักข้าว ความจริง อ.แป๋วเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วที่ ลานเรียนรู้สบายๆ ที่นี่

http://lanpanya.com/paew/?p=102 และมีข้อมูลมากมายใน goo เช่นที่ หมอชาวบ้าน http://www.doctor.or.th/node/1060 หากสมุนไพรจำนวนมากถูกมหาวิทยาลัยก้าวลงมาในชุมชนสำรวจและเอาสมุนไพรทั้งหลายไปวิจัยน่าที่จะเกิดประโยชน์มากหลาย ซึ่งผมเชื่อว่า บางมหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งผ่านข้อมูลกลับสู่ชุมชนในระดับกว้าง และสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนหยิบขึ้นมาพัฒนาเป็นสินค้าท้องถิ่น มหาวิทยาลัยไปสนับสนุน ราชการไปสนับสนุนให้ท้องถิ่นนั้นๆผลิตสมุนไพรเหล่านั้นขึ้นมา คล้ายๆโรงพยาบาลอภัยภูเบศร นะครับ

งานเยอะ… จริงๆ ไม่มีทางจบสิ้น อิอิ

« « Prev : เฮ่อ ชาวนา..

Next : ทดสอบ 2 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "จากฟักข้าวถึงงานสมุนไพรชุมชน"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.20620608329773 sec
Sidebar: 0.044359922409058 sec