เรื่องของมัน.. พัฒนาการ

อ่าน: 2400

ประมาณปีพ.ศ. 2525 ผมทำงานที่สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่าพระ ขอนแก่น สมัยนั้นในโครงการพัฒนาการเกษตรอาศัยน้ำฝน (NERAD=Northeastern Rainfed Agricultural Development) โดยมี USAID เป็นผู้ให้เงินทุน กับทีมผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัย Kentucky ผมเพิ่งก้าวข้ามมาจาก NGO มาร่วมงานเป็นผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ ครั้งแรก ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมประจำโครงการ ตื่นเต้นซะ..

ในที่ทำงานเดียวกันช่วงนั้นมีโครงการคู่ขนานกันและใช้สำนักงานเดียวกันคือโครงการของกลุ่มประชาคมยุโรปเรื่อง “การลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง”.. ลำดับเรื่องนี้คือ หลังจากที่มีการปฏิวัติเขียว Green Revolution ที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาเรื่องการปลูกปอกระเจา เพื่อทำกระสอบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จึงมีการนำเข้าปอมาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2503 ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เพียงไม่กี่ปีวาทกรรมทางการเกษตรระเบิดเถิดเทิงก็เกิดขึ้นคือ “ปอมาป่าแตก” ชาวบ้านถากถางป่าเพื่อใช้ปลูกปอกันมากมาย พื้นที่ป่าลดลงมหาศาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเก็บเกี่ยวปอต้องมีขั้นตอนมาก โดยเฉพาะอาศัยน้ำแช่ ซึ่งเกิดการเน่าส่งกลิ่นเหม็น ต้องเอามือมาลอกปอกเอาเปลือกออก มือไม้พังหมด และเพียงไม่กี่ปีราคาก็ตกต่ำ เพราะปอที่ใช้ทำกระสอบนั้นถูกพลาสติกที่เป็นผลผลิตของปิโตรเคมีตีแตก

ก็มาถึงยุคมัน ชาวบ้านเลิกปลูกปอ เริ่มมาปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพืชปลูกง่ายให้เทวดาดูแลก็ได้ผลผลิต การหักล้างถางพงก็ระเบิดอีกครั้ง ป่าไม้ถูกทำลายอีกขนานใหญ่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ่อค้าเปิดลานมันและส่งออกไปยุโรปเป็นอาหารสัตว์ ผลผลิตมากมายจากบ้านเราตีตลาดการเกษตรเพื่ออาหารสัตว์ของกลุ่มประเทศยุโรปกระเจิดกระเจิง จนในที่สุดกลุ่มประชาคมยุโรปเจรจากับประเทศไทยเพื่อขอให้ลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเอาพืชอื่นมาทดแทน โดยใช้เงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศมาต่อรอง…

โครงการนี้เองที่ทำคู่ขนานกับช่วงที่ผมมาทำโครงการเกษตรอาศัยน้ำฝนที่ท่าพระ อยู่คนละตึก และเพียงสองปีที่ทำก็เกิด “โครงการอีสานเขียว” ตามมาอีก.. อย่างไรก็ตามโครงการลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทำอยู่ประมาณ 5 ปีก็สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถลดพื้นที่ลงได้จริง เอาพืชอื่นมาทดแทนเช่น หม่อนไหม ไม้ผล ก็โดนไหมเวียตนามตีแตก โครงการไม้ผลก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มันสำปะหลังก็เป็นพืชควบคุมแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ชาวบ้านยังขยายพื้นที่ปลูกอย่างไร้ขอบเขต

ก่อนหน้านี้ในวงการพัฒนาชนบทมีการส่งเสริมแนวคิด “การพัฒนาเพื่อยืนอยู่บนขาตัวเอง” แนวคิดนี้องค์การสหประชาชาติประมวลแนวทางการพัฒนามาจากทั่วโลก จากการเติบโตมหาศาลของระบบทุน ผมจำได้ว่ามีตัวอย่างจากต่างประเทศมากมายที่เราเรียนรู้กัน ส่งข้าราชการไปดูงาน เช่น ซาโวดาย่าที่ประเทศศรีลังกา แซมาเอลอันดองที่เกาหลีใต้ คิบบุท และโมชาปที่อิสราเอล

ขณะที่ “ในหลวง” ของเราพัฒนา “โครงการหุบกระพง” มีนักวิชาการองค์การสหประชาชาติฝ่ายการพัฒนาเขียนหนังสือเล่มเล็กนิดเดียวชื่อ “การพัฒนาความด้อยพัฒนา” โดย อังเดร กุลเทอร์ แฟรงค์ โลกจึงแบ่งประเทศเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา อีเอฟ ชูเมกเกอร์เขียน “จิ๋วแต่แจ๋ว” ฟริจอบ คาปรา เขียนเต๋าออฟฟิสิกส์ เขียน “The Turning Point” หนังสือดีดีอีกมาก เช่น เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ฯลฯ

เป็นช่วงที่ NGO เติบโตในเมืองไทยมากที่สุดเพราะสงครามลาว เขมร เวียตนาม มีค่ายอพยพรอบชายแดนไทย International NGO เข้ามาทำงานมากมายและขยายมาทำงานพัฒนาชนบทไทยด้วย  วิพากย์งานพัฒนาของรัฐและชี้แนวทางการพัฒนาที่ควรจะเป็นไปที่สำคัญสุด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ท่านเอาแนวคิดของ ดร.เจมส์ ซี เยน จากประเทศฟิลิปปินส์มาใช้ในเมืองไทย ท่านไปตั้งโครงการบูรณชนบทขึ้นที่ชัยนาทที่ชื่อ Thailand Rural Reconstruction Movment โดยใช้หลัก Credo 10 ประการ แนวความคิดการการยืนอยู่บนขาตัวเองก็พัฒนามาเป็น “การพึ่งตัวเอง”เป็นครั้งแรกที่ใช้หลักการให้เคารพชาวบ้าน ไปหาชาวบ้าน ใกล้ชิดและเรียนรู้จากชาวบ้าน ร่วมคิดร่วมทำกับชาวบ้าน ไม่ใช่ไปสอนเขา ฯลฯ

ดร.ป๋วยอีกนั่นแหละที่จัดตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น ฝึกอบรมและส่งนักศึกษาลงชนบท กลับมาให้วุฒิบัตรติดตัวไป ส่งผลกระทบให้หลายมหาวิทยาลัยมีโครงการบัณฑิตอาสาสมัครมากมาย จนถึงทุกวันนี้ เกิดภาควิชาพัฒนาชุมชนขึ้นในหลายมหาวิทยาลัยจนปัจจุบัน…

แต่ละประเทศก็ทบทวนการพัฒนา และมองหาทางออก ขณะที่ทุนนิยมก็ฟุ้งกระจายสุดจะยับยั้งในวงการจึงเรียกว่า “การพัฒนากระแสหลัก”ชักจูงประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกสนับสนุนแนวคิดนี้ว่าอุตสาหกรรมจะโอมอุ้มคนยากจนได้ในที่สุดตลอดช่วงการพัฒนากระแสหลักนี้ก็คู่ขนานไปกับการเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมไปทั่วโลก เกิดสงครามไปทุกภาคของโลก

ในวงการพัฒนาก็โจมตีมันสำปะหลังว่าเป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่พึ่งพาตลาดที่มีนักธุรกิจเกษตรกุมอำนาจราคาอยู่ ทางราชการที่เน้นงานพัฒนาเพื่อการพึ่งตัวเองก็ต่อต้านไม่แนะนำให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง โดยชี้จุดอ่อนของมันสำปะหลังที่กินดิน กินปุ๋ยทำให้ดินหมดความอุดมสมบูรณ์…ราคาต่ำ..

(ต่อตอนสอง…ให้การเท็จ)


เวลาของอีกวิถีหนึ่ง..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 2, 2010 เวลา 11:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2313

ดงหลวงนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในหุบเขาของเทือกเขาภูพาน หมู่บ้านที่ทำงานส่วนใหญ่ก็มีภูเขาล้อมรอบ ชาวบ้านเป็นชนเผ่าโส้ หรือไทโส้ หรือบรู เป็นเขตปลดปล่อยเก่าของพคท. เป็นสังคมปิดเพิ่งมาเปิดเอาโดยประมาณปี พ.ศ. 2527 อันเป็นช่วงที่ชาวไทโส้ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย


มาทำงานที่นี่กับอาว์เปลี่ยนก็หลายปี มีทั้งพึงพอใจตัวเองและไม่พึงพอใจในความก้าวหน้าของการพัฒนาทั้งนี้มีรายละเอียดมากมาย หลักๆก็เพราะเรื่องของ “คน” นั่นแหละจนผมเคยใช้คำอธิบายอาชีพตัวเองว่า เป็นคนเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งหนัก เหนื่อย และเริ่มใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็ครกมันกลิ้งลงเขาต้องกลับไปเริ่มเข็นขึ้นมาใหม่


นรินทร์เป็นหนุ่มโส้บ้านพังแดงที่ผมชอบแวะไปคุยกับเขาบ่อยๆ เพราะเป็นโส้ที่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆอยู่บ้าง คือ เป็นคนหนุ่มที่ทำมาค้าขาย รู้จักคิดอ่านทำธุรกิจเล็กๆแทนที่จะทำนาทำไร่อย่างเดียวเหมือนคนอื่นๆ มีความรู้พอสมควร แต่ก็ยังปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมโส้อยู่อย่างครบถ้วน เขารวบรวมเงินมาเปิดปั้มน้ำมันในหมู่บ้าน และค่อยๆขยายตัวไปทีละเล็กละน้อย เช่น เอาตู้แช่มาขายน้ำประเภทเครื่องดื่ม เอาวัสดุการเกษตรที่ชาวบ้านต้องใช้มาขาย ฯ

เมื่อคืนเรามีการประชุมชาวบ้านเรื่องกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเริ่มประชุมย่อยมาตั้งแต่บ่ายไปจบเอาเกือบห้าทุ่ม ตอนหัวค่ำเลยแวะไปคุยกับนรินทร์คนนี้ คุยถึงเรื่องการเข้าป่าไปหาของป่า เพราะขณะเรานั่งคุยเรื่องทั่วไปก็มีชาวบ้านหนุ่มๆขับรถอีแต๊ก มอเตอร์ไซด์นับสิบคนมาเติมน้ำมันที่ปั้มของนรินทร์ แต่ละคนแต่งตัวแปลกๆจึงรู้ว่านั่นคือชุดเข้าป่า “เข้าป่ากลางคืน” นี่แหละ


ไปหาสัตว์ป่าตามฤดูกาล หน้านี้ก็มีเขียด อึ่ง กบ ป่า และอื่นๆที่จะพบในป่า ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มชวนกันไปสองคนขึ้นไปต่อกลุ่มหนึ่ง โดยเอามอเตอร์ไซด์ หรืออีแต๊กขับไปใกล้ป่าที่หมายตากัน เอารถจอดทิ้งไว้ชายป่า แล้วก็เอาของติดตัวขึ้นภูเขาไปตามที่เตรียมกัน

สิ่งที่เตรียมก็มีปืนแก็บไทยประดิษฐ์ มีด ร่วมข้าวเหนียว พริก เกลือ ผงชูรส ยาสูบ นรินทร์บอกว่าขาดอะไรก็ขาดได้แต่ยาสูบขาดไม่ได้ ไม่ใช่เป็นซองๆที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังแต่เป็นยาสูบพื้นบ้าน ขายถุงละ 5 บาทพร้อมกระดาษมวน ชาวบ้านบางคนบอกว่า “มันแทงคอ” หรือมันฉุนดีกว่ายาสูบซองๆ

ถามนรินทร์ว่าทำไมต้องเอาข้าวเหนียว พริกเกลือ ผงชูรสไปด้วยล่ะ เขาบอกว่า ..อาจารย์พวกนี้เข้าป่านั้นเขาเดินทางทั้งคืนไปหาสัตว์ตรงนี้ ตรงนั้น ตรงโน้นแล้วเดินทางบนภูเขากลางคืนมันลำบาก เหนื่อย ดึกๆมาสักเที่ยงคืนมันก็หิว ก็จะทำอาหารกินกัน ผมถามต่อว่า อ้าวก็ไม่เห็นเอาหม้อชามรามไหไปเลยแล้วทำอย่างไร นรินทร์ตอบว่า โห อาจารย์ ไม่ต้องเลย เมื่อได้สัตว์ป่ามาแล้วก็ไปหาแหล่งน้ำ แล้วก็ไปตัดไม้ไผ่ป่ามาหุงข้าว มาต้มแกง เขามีวิธีทำ อาจารย์มันหอมไผ่ป่า อร่อยที่สุด อย่างแกงป่าในกระบอกไม้ไผ่แล้ว ก็เอาอีกกระบอกมาผ่าซีก เอาแกงป่ามาเทใส่ทั้งน้ำทั้งเนื้อ


บางคนพกช้อนไปด้วยก็ใช้ซดน้ำแกง ส่วนใหญ่ใช้ใบไม้ชนิดหนึ่งเนื้อเนียนละเอียด เอาแบบไม่อ่อนไม่แก่มารนไฟพออ่อนๆ แล้วห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงป่าซดกิน อาจารย์เอ้ย…..หอม อร่อยจริงๆ ใบอ่อนๆก็กินได้เลย…ฯลฯ

ชีวิตกลางคืนในป่าแบบนี้ถูกถ่ายทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ขณะที่วัยรุ่นในเมืองอาจจะเข้าร้านเนต ไปเป็นเด็กแว้น ไปเที่ยวสถานเริงรมย์ต่างๆ หรือสุมหัวกัน แต่เด็กหนุ่มพังแดง หรือบ้านอื่นๆเข้าป่าไปหาสัตว์ป่ามากินมาขาย เป็นวัฒนธรรมการบริโภค เด็กหนุ่มดงหลวงทุกคนต้องผ่านวิถีชีวิตแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น

มีสิ่งหนึ่งที่คนในเมืองอย่างเราต้องตะลึง ฉงน และคิดมากมาย นรินทร์กล่าวว่า

อาจารย์…พวกนี้เดินป่ากันยันสว่าง ค่อยลงมา เด็กหนุ่มบางคนหาของป่าเก่งพักใหญ่ๆเมื่อได้สัตว์มาพอ ก็จะลงจากภูเขา แต่อาจารย์….เขาจะไม่เข้าบ้านหลัง 5 ทุ่มถึง ตี 5 เขาจะแวะนอนตามเถียงนาชายป่า หรือชายบ้าน ผมแปลกใจถามทำไม นรินทร์บอกแบบจริงจังว่า ชาวบ้านเขาถือ ถือว่าช่วงเวลานั้น “เป็นเวลาของอีกวิถีหนึ่งออกหากิน” เขาจะไม่เดินทางเข้าบ้าน พักซะที่เถียงนาก่อน สว่างค่อยกลับเข้าบ้าน

เวลาอีกวิถีหนึ่ง นั่นคือ เวลาออกหากินของภูติ ผี ปอบ และสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นความเชื่อของชาวบ้านดงหลวง….

คนในเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ รับรู้และเข้าใจ ยอมรับเรื่องแบบนี้แค่ไหน

งานพัฒนาคน ที่จะผสมผสานนวัตกรรมใหม่ๆกับเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร

การอภิปรายของสภาจบไปนานแล้ว… ผมยังคิดเรื่องเหล่านี้จนหลับไป

….!!!???…


วาดฟ้า..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 18, 2010 เวลา 14:06 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2393

อยากจะฝากฟ้าฝ่าฝันก็ฝืนฟ้า

อยากจะเหวี่ยงวาดตระหวัดสุดวัดวา

ได้ชื่นชมมิชินชาแต่ชุ่มชวย



ผู้เสพ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 6, 2010 เวลา 0:12 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2189

หากมีเวลา หรือมีจังหวะ ชอบที่จะปีนขึ้นไปบนภู เงียบๆ คนเดียว แม้เพลงที่ไพเราะที่สุดผมก็ยอมควักเงินซื้อมาเต็มตู้ แต่เสียงที่ไพเราะมากกว่านั้นคือเสียงที่ป่าบรรเลง

ไม่มีเส้นทางเดินเป็นเส้นตรงและราบเรียบตลอด

ไม่มีงานที่จบลงแล้วไม่มีประเด็นที่ต้องปรับปรุง


รถราคาหลายสิบล้านมีการเจิมเพื่อเป็นสิริมงคลแคล้วคลาดปลอดภัย

บนเส้นทางเดินในป่ามีการแสดงคารวะต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ


ความสวย งาม พึงพอใจ ล้วนเป็นอารมณ์ที่ตัวเองสัมผัสสรรพสิ่ง

ในธรรมชาติของสรรพสิ่งนั้นๆไม่มีความสวยมีแต่เหตุปัจจัยของการเกิดขึ้น คงอยู่ และเสื่อมสลายไปเท่านั้น


เพราะมีเราจึงมีเขา เพราะการมีอยู่จึงมีอยู่


การใช้ชีวิตในปกติแห่งปัจจุบัน มนุษย์ย่อมสร้างมลภาวะทั้งตรงและอ้อมทั้งเพื่อยังชีวิตและเพื่อเกินเลยความจำเป็นต่อการยังชีวิต ด้วยหน้าที่การงาน ฐานะ การยอมรับทางสังคม มนุษย์ผู้นั้นถูกกำหนดว่ามีคุณค่า เจ้าไม้ป่า ไร้ชื่อ ไร้ซึ่งความงามใดๆในสายตามนุษย์ ช่างไม่มีค่า แต่องค์ประกอบของไม้ป่าล้วนเพื่อยังชีวิตของมนุษย์ เจ้าไม้ป่าน้อยด้อยค่านี้ไม่เคยอยู่ในแผนงานชีวิตของมนุษย์ที่จะออกมาเอาอกเอาใจเขา มนุษย์จึงได้ชื่อว่าผู้เสพ..


ใบไม้ป่าแต่เรียกผัก..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 1, 2010 เวลา 1:20 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 7353

หากไม่บอกหลายท่านก็คงไม่รู้จักว่านี่มันลูกอะไร จริงๆมันเป็นลูกผักหวานป่าครับ ผมไปถ่ายมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 53 ที่ผ่านมาที่สวนของหมอธีระ ที่เรียกหมอเพราะสมัยอยู่ป่านั้นถูกอบรม ฝึกให้เป็นหมอรักษาทหารป่า มีหมอคนไทยอยู่ด้วยหนึ่งในนั้นก็คือหมอเหวง ที่กลายเป็นศัพท์ เหวงในปัจจุบันนี่แหละ


หมอธีระเพิ่งจะสูญเสียสุดที่รักไปเพราะมะเร็งที่เต้านม จึงเรียกลูกสาวกลับจากรุงเทพฯมาอยู่ด้วยกัน หมอธีระเอาความรู้ฝังเข็มและอื่นๆมาศึกษาและทดลองกับต้นผักหวานป่า โดยทดลองมากมาย และก็พบความจริงทางธรรมชาติของผักหวานป่าจนเป็นเซียนคนหนึ่งในดงหลวง น้อยคนที่จะเห็นผล หรือลูกผักหวานป่าเช่นนี้ เพราะ มันอยู่ในป่าน่ะซี ผลขนาดนี้ก็เอามาต้มกินได้ เขาว่าอร่อยซะไม่เมี๊ยะ ผมไม่เคยลองและไม่อยากลองเพราะเสียดายมัน


หมอธีระมีเคล็ดลับในการดูแลผักหวานป่า โดยใครที่ไม่ใช่คนรักชอบพอก็จะไม่บอก และไม่มีไทโซ่คนไหนที่ดูแลต้นผักหวานป่าจนได้ลูกดกและมากมายขนาดนี้ ปีที่แล้วก็มีคนมาขอซื้อไปเพาะได้ราคาดี ใครที่ไม่เคยกินผัดผักหวานป่าลองไปถามตามร้านดูนะครับว่ามีผักหวานป่าไหม …หากกินแล้วจะติดใจเหมือนผม อาว์เปลี่ยนบอกว่าที่เชียงใหม่เอามาทำใบชาราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท นี่หลายปีมาแล้วนะปัจจุบันน่าจะแพงขึ้นไปอีก


เทคนิคอย่างหนึ่งของการปลูกผักหวานป่าคือต้องอิงอาศัยไม้ใหญ่ และควรอยู่ทางตะวันออกของต้นไม้ใหญ่เพราะแดดตอนเช้าแสงแดดไม่ร้อนมากเท่าตอนบ่าย


ซ้ายมือนั่นคือยอดผักหวานป่าที่ถ่ายมาจากตลาดในปากเซ คราวไปเที่ยวลาวใต้ ส่วนภาพขวามือคือผักหวานป่าที่พบคราวไปดูน้ำตกตาดเฮืองส่วนใต้ของเมืองจำปาสัก


คราวนั้นผมพบแม่ค้าเอาถุงสีส้มซึ่งบรรจุผักหวานป่าจากดอนกลางแม่น้ำโขงไปขายในเมืองปากเซ ราคากิโลกรัมละ 100 บาท หากเป็นบ้านเรารึ จะซื้อกินให้พุงกางไปเลย ก็บ้านเรานั้น 200 บาทขึ้นไปทั้งนั้น

ผมเรียกผักหวานป่าว่าเป็นพืชป่าเศรษฐกิจที่มีราคาค่างวดมาก ปีปีหนึ่งทำเงินเข้าครอบครัวเป็นหมื่นบาท เข้าชุมชนหลายแสนบาท แต่มากกว่าร้อยละ 90 เป็นของป่า เพราะการปลูกแม้จะเริ่มนิยมกันมากขึ้นแต่ พ่อครูบาบอกว่าเป็นพืชปราบเซียนจริงๆ เป็นยาก เติบโตยาก ส่วนมากตายหมด


เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 53 ที่ผ่านมาท่านรองเลขาธิการ ส.ป.ก. ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ไปเปิดงานผมพาเดินชมแล้วพบพ่อแสน วงศ์กะโซ่ ซึ่งเป็นเซียนผักหวานท่านหนึ่ง ชี้ให้ดูว่าต้นนี้หากใครซื้อผมขาย 1,000 บาท ไม่มีใครกล้า มีคนวนเวียนดูหลายคนแต่ไม่กล้าซื้อเพราะราคามันแพงไป พ่อแสนกล่าวทีหลังว่าผมไม่ตั้งใจขายหรอก แค่เอามาให้ดูเท่านั้น เพราะผมเองก็อยากขยายมันเยอะๆมากกว่าที่จะขายมันไป จึงตั้งราคาสูงๆไว้

ไม่แน่ใจว่าช่วง 23-24 เมษายนที่จะไปสวนป่าผักหวานดงหลวงจะเหลือเท่าไหร่ หากไม่พลาดก็จะหอบไปให้คนที่มาสวนป่าชิมกันสักถุงใหญ่ๆครับ…โดยเฉพาะน้องสาวที่มาจากทางเหนือลองมาชิมผักหวานดงหลวงบ้างนะ….


อัสดงที่ดงหลวง

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 17, 2010 เวลา 23:32 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2287


ที่บ้านพังแดง ต.พังแดง อ.ดงหลวง เราเห็นพระอาทิตย์กำลังจะลาลับซีกโลกนี้ไป อดไม่ได้ที่จะหยิบกล้องตัวเก่าของเราขึ้นมาหยุดความงามไว้ที่เวลา 17:59 น.

เราไปพูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวแบบอินทรีย์ และแลกเปลี่ยนเรื่องอื่นๆ


เอาร่มเงาต้นไม้ที่บ้านสวนของชาวบ้านคนหนึ่งเป็นห้องเรียน ใช้งบราชการอย่างไรก็สลัดรูปแบบบางอย่างไม่หมด เพราะเขาต้องเอาไปรายงาน อิอิ เอาเถอะ เน้นสาระที่ควรเกิดขึ้นมากกว่าว่าคุยกันแล้วได้อะไร…

ดีครับเอาชาวบ้านที่ลงมือทำนาทดลองมาเล่าให้ฟังแล้วสอบถามกันแบบถึงแก่น แล้วเอาประสบการณ์ครั้งนี้ไปพิจารณาใช้ต่อไป


บางมุมของชนบทก็ดูมีความหมายลึกๆซ่อนอยู่นะครับ

เลยเอารูปที่ชอบมาฝากครับ


เรียนรู้จากการปฏิบัติ

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 16, 2010 เวลา 21:02 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2946

ยังอยู่ที่พ่อแสนครับ คราวนี้พ่อแสนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ จากการทดลอง แต่ละบทเรียนนั้นมาจากการปฏิบัติเอง ผ่านกาลเวลา แล้วก็ได้ข้อสรุป เก็บเอาไปสอนลูกหลานและผู้ผ่านเข้ามา


หลายปีก่อนผมบันทึกใน G2K ว่า พ่อแสนไล่ตีค้างคาว ภาษาถิ่นเรียก “เจี่ย” บนขื่อบ้านเพราะมันถ่ายและฉี่รดหลังคามุ้ง ที่พ่อแสนนอนในตูบน้อยๆในสวนป่า แต่ตีเท่าไหร่ก็ไม่ถูก อิอิ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันดี เลยอยู่กับมันซะเลย แต่ป้องกันโดยเอาพลาสติกมาคลุมหลังคามุ้งซะ….

แต่แล้ว..หลายวันต่อมาพ่อแสนมาดูพลาสติกนั้นพบสิ่งที่จุดประกายบางอย่างเกิดขึ้นกับพ่อแสน คือ เห็นมูลค้างคาวจำนวนไม่น้อย อ้าว…มูลค้างคาวมันคือปุ๋ยชั้นดีไม่ใช่หรือ…. และอะไรนั่น สิ่งที่ผสมอยู่ที่มูลค้างคาวคือ ปีกผีเสื้อกลางคืนหลายตัว….

เท่านั้นเองพ่อแสนเปลี่ยนใจที่จะไล่เจี่ย เป็นมีใจรักมัน เชื้อเชิญมัน เพราะปีกผีเสื้อนั้นคือผีเสื้อกลางคืนที่เป็นศัตรูพืชของพ่อแสน และมูลเขาก็คือปุ๋ยชั้นเลิศ พ่อแสน แวบความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้นเราอยากให้มันมาอยู่อาศัยมากๆ เราก็จะได้ผู้ที่มาช่วยจัดการผีเสื้อกลางคืน และได้ปุ๋ยสุดเลิศ เราจะทำอย่างไรดีล่ะ

พ่อแสนจึงตัดไม้ไผ่กระบอกใหญ่ๆ เอาข้อปล้องไว้ แล้วเอาไปแขวนคว่ำลง วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นบ้านของเจี่ย และทดลองเอากระป๋องพลาสติกสีดำแขวนแบบคว่ำไว้ด้วย เวลาผ่านไปเป็นปี..ไม่มีเจี่ยเข้าไปพักอาศัยในบ้านจัดสรรที่พ่อแสนสร้างไว้ให้เลย อิอิ.. แต่แปลก มันบินไปนอนหลังคาบ้านลูกสาวในตัวอำเภอ แต่บ้านจัดสรรในสวนป่านี้เจี่ยไม่เลือกที่จะเข้าไปอาศัย…


อาว์เปลี่ยนเคยเล่าไว้บ้างว่า พ่อแสนมีความคิดพิสดารเรื่องคอกหมู ใครๆเขาเลี้ยงหมูหลุม ใครๆเขาเอาขี้หมูไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เอาไปหมักแก๊ส แต่พ่อแสนเลี้ยงหมูในคอกเคลื่อนที่ได้ ความคิดพ่อแสนมาจากการสังเกตว่าหมูหากปล่อยมันไปอิสระ มันก็เข้าไปตามดงหญ้าเพื่อหาอาหารแล้วมันก็เหยียบย่ำหญ้าราบเรียบไปหมด สวนป่าพ่อแสนก็พบว่ามีหญ้าธรรมชาติรกเต็มไปหมด จะไปดายหญ้าก็ไม่ไหว เลยเอาหมูใส่ในคอกที่เคลื่อนที่ได้ ใช้ให้ธรรมชาติของหมูจัดการหญ้าซะราบเรียบ แล้วก็ขยับคอกไปเรื่อยๆ ตามที่ที่มีหญ้ามากๆ…สุดยอดพ่อแสน คิดได้ไง ไม่เคยมีความคิดแบบนี้ออกมาจากนักวิชาการเลย

ปีต่อมาพ่อแสนสั่นหัวแล้วพูดว่า .. ไม่เอาแล้ว ไม่เลี้ยงหมูแล้ว อ้าว…. พ่อแสนอธิบายว่า สวนป่านี้ผมเลี้ยงสัตว์หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ “หอยหอม” หรือ “หอยแก๊ด” มันอาศัยหญ้าที่รกนั่นแหละเป็นที่อยู่อาศัยและหากิน หมูของผมไปกินหอยซะหมดเลย…อิอิ นี่เองพ่อแสนเลือกหอย ไม่เลือกหมู..อิอิ


ตูบน้อยของพ่อแสนนั้นที่เสาทุกต้นจะมีสังกะสีพันรอบ เด็กหนุ่มจบวิศวะมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังถามว่า พ่อแสนเอาสังกะสีมาพันทำไม.. กันหนูขึ้นไปข้างบน กันได้ดีมาก แต่กันจิ้งจกตุ๊กแกไม่ได้…


บทเรียนจาก เจี่ย บทเรียนจากหมูในคอกเคลื่อนที่ บทเรียนจากสังกะสีพันเสา…และ..ฯ มาจากการกระทำกับมือของพ่อแสนทั้งนั้น

หากเอาเด็กน้อย เยาวชนรุ่นใหม่มาเดินให้พ่อแสนเล่านวัตกรรมเหล่านี้ ก็เป็นการต่อยอดความรู้กันเป็นอย่างดี ซึ่งเราทำมาบ้างแล้ว และจะทำต่อไปอีก


บทเรียนจากการปฏิบัติของช่วงชีวิตของพ่อแสนนี้ เด็กรุ่นลูกหลานควรมาซึมซับเอาไปด้วย

อิอิ งานน่ะมีเหลือล้นครับท่าน..แต่หลายคนมองไม่เห็น…


ฝ้ายคำดอกสุดท้าย..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 6, 2010 เวลา 21:10 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2795


ออกไปนอกชานห้องนอน เห็นฝ้ายคำดอกสุดท้ายบนต้น ยืนดูพักหนึ่ง แล้วก็คิดอะไรไปต่างๆนาๆ

เขามาพร้อมกับความสวยงาม ทำให้พื้นที่สวยงาม สบายตา นกบางตัวก็มาหาหนอน บางชนิดก็มาจิกกลีบอ่อนๆไปด้วย


ดอกใหญ่มีน้ำหนัก ก้านดอกอ่อน จึงคว่ำดอกลงดิน ทิ้งใบลงหมดสิ้นเหลือแต่กิ่งก้านกับดอก เข้าสู่ฤดูร้อนก็ลดการสังเคราะห์อาหารลง ชะลอการเจริญเติบโตลง


แต่ดอกยังเหลืองสดใส บ่อยครั้งที่เราเอามาลอยน้ำเก็บไว้ในห้องรับแขก ห้องครัวแม้ห้องนอน วันไหนเจ้าบานมาก ร่วงหล่นพื้นมาก ก็เอามาลอยในกระถางให้รอบบ้าน เหลืองทั้งบ้านเลย ไปมุมไหนก็เหลือง มุมนั่งเล่นก็เหลืองสวยชื่นใจ


มาวันนี้เจ้าเป็นดอกสุดท้าย ฉันขอบันทึกเจ้าไว้นะ


หากความอาลัยอาวรณ์เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ฉันก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ถึงกับฟูมฟายหรอก แค่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเท่านั้นแหละ


สายแก่ๆวันนี้เจ้าถึงที่สุดของกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับสูญไป


เจ้าละทิ้งขั้วดอกร่วงหล่นลงไปกับพื้นดินคืนสู่ธรรมอีกสถานะหนึ่ง


เจ้าเปลี่ยนคุณค่าในโลกของสีสันไปเป็นคุณค่าของธุลีที่สรรพสิ่งก็ต้องเดินมาสู่จุดนี้เช่นเดียวกัน

เวลาที่ต้นแม่เจ้าผลิตเจ้าออกมาเบ่งบานสร้างโลกสีเหลืองนี้เพียงสองเดือน ให้สรรพชีวิตได้อาศัยประโยชน์จากเจ้า แม้ตัวข้าฯเอง

ไปเถอะ..ฝ้ายคำ

เจ้ากลับคืนสู่สามัญแล้ว…


น้ำคลอง สารส้ม คลอรีน

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 21, 2009 เวลา 0:20 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3253

เมื่อเด็กๆสมัย 2500-2509 จำได้ว่าเราตักน้ำจากลำแม่น้ำน้อยมาใส่ตุ่มแดงซึ่งเป็นตุ่มโบราณที่ใช้ดินเผาไม่ได้เคลือบ ส่วนตุ่มลายมังกรจากราชบุรีนั้นเคลือบ น้ำดื่มเราใช้น้ำฝนที่รองจากหลังคาบ้าน หากน้ำฝนที่ใช้ดื่มหมด ก็ดื่มน้ำจากลำแม่น้ำน้อยนี่แหละ แต่จะฆ่าเชื้อโรคด้วยผงคลอรีน และแกว่งสารส้มทิ้งให้ตกตะกอนแล้วก็ใส่สายยางดูดเอาตะกอนทิ้งไป ก็จะเหลือน้ำใสๆ ทิ้งไว้นานๆกลิ่นคลอรีนก็หายไป ใช้ดื่มได้ เวลาเราจะซักเสื้อผ้าช่วงวันหยุดนั้นก็เอาถังใบใหญ่ๆไปตั้งริมตลิ่ง ตักน้ำแม่น้ำมาใส่ แกว่งสารส้ม เมื่อใสก็เอาน้ำในถังนั้นไปซักเสื้อผ้า

หากจะพูดถึงสิ่งแวดล้อมสกปรกนั้น มีตัวชี้วัดหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ความสกปรกของแม่น้ำลำคลอง ก็ตั้งแต่ความทันสมัยเข้ามา การปฏิบัติเขียวแพร่เข้ามาเมืองไทย นี่แหละ ชาวบ้านชาวช่องไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ภาครัฐนั่นแหละที่เป็นผู้ชักนำเข้ามา

คิดๆไปรัฐบาลโดยนักวิชาการเองก็ไม่ได้คิดว่าสักวันหนึ่งสิ่งที่เรียกว่าทันสมัยนั้นจะส่งผลร้ายต่อบ้านต่อเมืองเรา มันเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเขียว เอ…เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินคำนี้มานานแล้ว เด็กรุ่นใหม่คงไม่ทราบแล้วว่า การปฏิวัติเขียวคืออะไร พาลจะนึกไปถึงคนสีเขียวเอารถถังเอาปืนออกมาปฏิวัติรัฐประหารบ้านเมืองเอารึไง..ไม่ช่าย..

ใครไม่รู้จักการปฏิวัติเขียวก็ลองเข้าไปดู ที่นี่ ตำบลม่วงเตี้ย อ.วิเศษชัยชาญนั้นเป็นทุ่งนากว้างขวาง สุดลุกตา เมื่อเขื่อนเจ้าพระยาสร้างเสร็จเขาก็ทำคลองชลประทานเลาะสองฝั่งเจ้าพระยา ฝั่งขวาก็เป็นโครงการบรมธาตุ เลาะแม่น้ำน้อย ผ่าน อ.โพธิ์ทอง อ.วิเศษชัยชาญ ไป อ.ผักไห่ ครอบคลุมพื้นที่นากว้างขวางมาก


ที่บ้านผมนั้น พ่อแม้จะเป็นครูแต่ก็ทำนากับแม่ด้วย ได้รับคำแนะนำว่าให้ร่วมทำการทดลองการใช้ข้าวพันธุ์ใหม่มาจาก “สถาบันข้าว” จากฟิลิปปินส์ ที่เรียก IRRI (International Rice Research Institute)และพันธุ์ข้าวที่เอามาทดแทนสมัยนั้นเรียกพันธุ์ IR-8 เป็นนาดำ ทั้งๆที่ทุ่งนาทั้งหมดทำนาหว่านมาเป็นร้อยๆปี เมื่อมีระบบชลประทานก็ได้รับคำแนะนำให้ทำนาดำ ใช้ข้าวพันธุ์ใหม่
ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์

พ่อก็ลองทำตามนักวิชาการ เอาปุ๋ยวิทยาศาสตร์ใส่เข้าไป เราพบว่าวัชพืชขึ้นเต็มไปหมด เช่น “ต้นซิ่ง” ต้องซื้อยาปราบมาพ่นใบ ยาที่พ่นก็ต้องใส่ผงซักฟอกลงไปด้วยเพื่อวัตถุประสงค์ให้จับใบพืชชนิดนี้ ปรากฏว่า ปูปลา และสัตว์น้ำตายเกลื่อนไปหมด เนื่องจากเป็นยุคแรกๆของการใช้ปุ๋ยเคมี และยาปราบวัชพืช การระมัดระวังสารเคมียังทำกันอย่างหยาบๆ ต่างก็มีอาการปวดหัว มึนชากันมากบ้างน้อยบ้าง..

ในที่สุดหลายปีต่อมา ราชการก็เอาพันธุ์ข้าว IR-8 ที่พัฒนาขึ้นไปอีกที่เรียก ข้าว กข. เบอร์ต่างๆมาแลกพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจนหมดเกลี้ยง
จนลืมไปหมดแล้วว่า พันธุ์ข้าวท้องถิ่น พื้นบ้านนั้นมีชื่ออะไรบ้าง ต้องกลับไปถามแม่… หลายปีต่อมาก็มีข่าวคนบ้านโน้นตาย คนบ้านนี้ป่วยอันเนื่องมาจากสารเคมีจากยาปราบศัตรูพืช สัตว์ต่างๆนั่นแหละ

สมัยนี้ไม่มีใครเอาน้ำแม่น้ำน้อยมาใช้ดื่มเหมือนอย่างที่เคยทำต่อไปแล้ว ใช้น้ำกรอง ใช้น้ำบาดาล หรือบางคนก็ซื้อจากโรงผลิตน้ำขายแล้ว

ตอนที่ทำงานที่สำนักงานเกษตรภาคอีสาน มีการศึกษาว่า “บ่อน้ำส้าง” หรือบ่อน้ำตื้นที่ชาวอีสานนิยมขุดแล้วเอาน้ำจากบ่อนี้ไปดื่มไปใช้กันนั้น ปนเปื้อนสารเคมีเกินกว่ามาตรฐาน ทางราชการต้องสั่งปิดบ่อ แต่กว่าจะสั่งปิดก็ดื่มกันมาหลายปีแล้ว และราชการก็มิได้สำรวจแหล่งน้ำดื่มประเภทนี้ทุกบ่อในอีสาน…??

นับวันมลภาวะจะมีมากขึ้น รอบตัวทั้งที่รู้จักและป้องกันได้ และที่ไม่รู้จักและไม่ได้ป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บแปลกๆใหม่ๆก็เกิดขึ้นมากมาย หมอตามไม่ทันแล้ว

อย่างน้อยงานที่ทำที่ดงหลวงก็พยายามสร้างสำนึกชาวบ้านให้ลดละเลิกสารเคมีได้มากขึ้นทุกปี คนที่ทำอย่างได้ผลที่สุดคือ พนักงานขับรถของผมชื่อ พิลา ครับ ปีนี้เป็นปีที่สองที่เขาผลิตข้าวอินทรีย์ และญาติพี่น้องเริ่มทำตาม เพื่อนบ้านต่างมาชื่นชม มาขอหยิบจับข้าวอินทรีย์ ต่างกล่าวว่า “เมล็ดสวยและน้ำหนักดี” พิลาใช้สูตรน้ำหมักหลายสูตร เพราะเขาเองก็ทดลองไปเรื่อยๆ ส่วนมากเป็นหอยเชอร์รี่หมัก และฉี่วัวหมัก พ่นฉีดใบต้นข้าว

ปีนี้ การทดลองมันสำปะหลังอินทรีย์ที่บ้านพังแดงได้ผล จาก 2-3 ตันต่อไร่เป็น 9-10 ตันต่อไร่ พิลาบอกพ่อตาว่าจะทดลองแปลงมันสำปะหลังเพิ่มอีกสักสองไร่..

งานพัฒนาฅน ใช้เวลานาน แต่ลึกๆเราก็หวังว่าสักวันหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีนั้นจะเกิด Critical Mass ขึ้น และวันนั้นจะไม่มีสารเคมีในท้องทุ่งอีกต่อไป มีแต่สารชีวภาพ…



Knowledge gap..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 19, 2009 เวลา 9:28 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2702

วันหนึ่งผมไปทานอาหารกลางวันที่ร้านตะวันทอง ขอนแก่น ซึ่งเป็นร้านมังสวิรัติที่ใหญ่ที่สุด และผมเป็นลูกค้ามาตั้งแต่สิบปีที่ผ่านมา ผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อ “ควอนตัมกับดอกบัว” เขียนโดย มาตินเยอ ริการ์ และ ตริน ซวน ตวน แปลโดย กุลศิริ เจริญศุภกุล และดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ เป็นอีกเล่มที่ผมชอบมาก เพราะสนใจศาสนากับวิทยาศาสตร์ และสังคม ผมอ่านไม่เท่าไหร่ก็ Post ไปคุยกับ น้องชิว ต่อไปนี้เป็นการแสดงความเห็นของผมกับน้องชิวครับ


น้องชิว(ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ)ครับ

แว๊ปมาคุยด้วย ทั้งๆที่งานเขียนยังเร่งไม่เสร็จเลย เบื่อๆก็แว๊ปมาบ้าง

ตาม ติด ติดตามงานของชิวแล้ว พี่กลับเข้าหมู่บ้านที่ดงหลวง ก็เห็น..เอ…จะเรียกว่าอะไรดีล่ะ ช่องว่าง หรือ หลุมดำ หรือ Knowledge gap หรืออะไรก็ช่าง แต่ความหมายมันคือ วิทยาศาสตร์ คือการที่คนเราพยายามเข้าใจกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ และเมื่อโลกมีอายุเท่านี้ นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาความรู้ที่เข้าใจกฏเกณฑ์ทางธรรมชาติ ของจักวาร มากมาย จนคนธรรมดาอย่างพี่ตามไม่ทัน และคนส่วนใหญ่ก็ตามไม่ทัน กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นั้นไปไกลมากๆ นักสังคมวิทยามานุษยวิทยาดูจะไม่เขยื้อนเท่าไหร่…


ในขณะที่การดำรง ชีวิตของคนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกยังพัฒนาบนพื้นฐานการมีชีวิตรอด ที่ไม่ได้ไปไกลไปกว่าเมื่อ 30 ปีหรือ 50 ปีที่ผ่านมา เช่นชุมชนในชนบท หนึ่งปีที่ชนบทก้าวไปนั้น พัฒนาช้ากว่าหนึ่งปีที่วิทยาศาสตร์ก้าวไปข้างหน้า ตรงนี้เองคือหลุมดำ ตรงนี้คือช่องว่าง

พี่วนเวียนในวงการพัฒนาชนบทมามากกว่า 30 ปี กล่าวได้ว่า การพัฒนาเมื่อ 30 ปีที่แล้วกับวันนี้ เราก็ยังทำเรื่องซ้ำๆ กิจกรรมซ้ำๆ แม้ว่าจะขยับออกไปบ้างก็เป็นเรื่องเครื่องมือ เทคนิค มุมมอง วัตถุ แต่ความรู้ความเข้าใจ จิตสำนึก มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะกลุ่มคนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนทางการเงิน เครื่องมือ ตรงข้ามเราสูญเสียหลายอย่างไปด้วยซ้ำ เช่น ทุนทางสังคม วัฒนธรรมที่ดีดี จิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หดหายไปมากกว่าที่จะงอกงามขึ้นมา


ทุกครั้งที่พี่เข้าไปชนบท เห็น พูด สัมผัส ชาวบ้าน ก็หนักใจเพราะการก้าวเดินของงานพัฒนาเชิงคุณภาพนั้น ช้ากว่าการไหลบ่าเข้ามาของค่านิยมใหม่ๆ ที่ใครต่อใครก็พูดกันมานานแล้ว การสำนึก และการตื่นขึ้นมาตั้งสติต่อการออกแบบการดำรงชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบันอย่าง เหมาะสมนั้น ดูจะไม่นิ่ง กว่าที่จะโน้มน้าวให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาใช้สารชีวภาพก็ยาก เย็นแสนเข็ญ แต่ง่ายเหลือเกินที่เขาจะเดินไปที่ร้านข้างบ้านแล้วบอกซื้อเครื่องดื่มชู กำลัง วันละขวด หรือมากกว่า

เมื่อพี่ออกมาจากชนบท ตระเวนมาในสังคมแห่งนี้ สัมผัสเรื่องราวสารพัดเรื่อง ความรู้สึกเปรียบเทียบมันเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ นึกเลยไปในอนาคตว่า หากคนเราห่างกันทางด้านความรู้มากมายจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ลุงชาลีในดงหลวงแม้จะถูกยกย่องว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน แต่แกไม่ประสีประสาเลยในเรื่อง นาโนเทคโนโลยี่ ตรงข้าม อีตา McKenna แกไปไกลสุดๆโลกแล้วแกจะเข้าใจไหมว่าพิธีฆ่าหมูบูชาผีที่บ้านดงหลวงเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ในชุมชนนั้น คือ คุณค่าดั้งเดิมที่ชุมชนนี้ยอมรับและปฏิบัติกัน เมื่อมีคนใหม่เข้ามาอยู่ในชุมชน และอยู่กันอย่างพี่น้องร่วมกัน


พี่ยอมรับว่าคนเราไม่จำเป็นต้องรู้ไปหมดทุกเรื่อง แต่สังคมทุนนั้นมักจะเอาช่องว่างตรงนี้แหละทำมาหากิน หากวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต วิทยาศาสตร์เพื่อสังคม จะเป็นสิ่งประเสริฐยิ่ง และหากทุนนิยมเพื่อชีวิต เพื่อสังคม พี่ก็จะไม่คิดอย่างที่แสดงไว้ข้างบน

เป็นเพียงตั้งประเด็นเล่นๆน่ะครับ เพราะพี่เป็นคนสามโลก คือโลกชนบท โลกในเมืองที่รับรู้การเคลื่อนที่ไป และโลกจินตนาการที่อยากให้สังคมเป็นไป

แค่มาเล่าให้ฟังน่ะครับน้องชิวครับว่ามีมุมมองแบบนี้อยู่ครับ..อิอิ



Main: 0.28627705574036 sec
Sidebar: 0.1487410068512 sec