ครั่ง (Laccifer Lacca Kerr)
อ่าน: 3349เมื่อผมไปสำรวจข้อมูลสนามแห่งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีหลายเรื่องที่ผมค้างคาใจ หนึ่งในนั้นคือ ครั่ง ไม่ใช่อาการคลุ้มคลั่ง เพราะอากาศร้อนนะครับ แต่เป็น “ครั่ง” ที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ เด็กปัจจุบันอาจจะเคยได้ยินคำว่าครั่ง แต่น้อยคนนักจะเคยเห็นตัวครั่ง หรือแม้แต่รังหรือมูลของมันที่เราเอามาใช้ประโยชน์ น้อยคนนักจะเคยเห็น หรือเห็นแล้วไม่รู้จัก..
ท่านที่ไม่รู้จักก็หาความรู้ได้ ที่นี่ สิ่งที่ผมอยากเขียนถึงครั่งก็คือ ชนบทแห่งนั้นที่ผมไปศึกษาข้อมูลสนามพบว่า เกษตรกรมีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน และทำครั่ง หรือเลี้ยงครั่งแล้วเก็บขาย ซึ่งข้อมูลราชการพบว่า ประเทศเราส่งครั่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก
ผมคุ้นเคยครั่ง เพราะสมัยเด็กนั้นที่บ้านผมปลูกต้นก้ามปู หรือ ฉำฉา หรือจามจุรี ด้วยหลายเหตุผล เช่นต้องการร่ม เขาโตเร็ว และแผ่กิ่งก้านกว้างขวาง ต้องการใช้ทำฟืน ผมจำได้ว่าก่อนที่ฤดูน้ำท่วมจะลดลงเข้าสู่ฤดูแล้ง และชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าวในนานั้น พ่อบ้านจะเตรียมฟืนเพื่อใช้ในช่วงเกี่ยวข้าว จะตัดกิ่งก้ามปูให้ได้ขนาดพอเหมาะ ผ่าให้เป็นชิ้นเล็กพอดี แล้วกอง เรียงไว้ใต้ถุนบ้าน และมีก้ามปูไว้เลี้ยงครั่งเพื่อเอาขี้ครั่งไว้ขายหรือใช้
แต่พ่อผมจะเลี้ยงครั่งเฉพาะต้นก้ามปูที่ไม่ได้ใช้ร่ม หรือห่างไกลออกไป ทั้งนี้เพราะ ต้นไหนที่เลี้ยงครั่ง เขาจะปล่อยน้ำลงมาเป็นฝอยๆ คนที่นั่งใต้ต้นก้ามปูรับรู้ได้ จึงไม่นิยมเลี้ยงต้นก้ามปูที่ต้องการใช้ร่มดังกล่าว
ในสนามที่ผมไปศึกษานั้น ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากครั่งมาช้านาน เป็นท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัด และเป็นที่รู้จักของพ่อค้ารับซื้อครั่งว่า จะซื้อครั่งจำนวนมากได้ที่นี่ แต่วันนี้ครั่งเกือบหมดไปจากพื้นที่แห่งนี้แล้วเพราะมลภาวะที่โรงงานชนิดหนึ่งมาตั้งแล้วปล่อยออกมา ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อวงจรชีวิตของครั่ง ครั่งตายไป หรือไม่เจริญเติบโต ซึ่งกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร
ในทางตรงข้าม การเปลี่ยนแปลงของครั่งที่เกิดขึ้นคือตายไป หรือไม่เติบโต กลายเป็นเครื่องชี้วัดมลภาวะไปแล้ว แม้ว่าเครื่องมือวัดมลภาวะจะบอกว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับมนุษย์ แต่ครั่งอาจจะ sensitive กว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เหมือนไลเคนส์ ที่จะเปลี่ยนสีไปเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ซึ่งตรงนี้ ยังไม่มีความรับผิดชอบจากโรงานนั้นๆ แม้ว่าเกษตรกรจะเคยกล่าวอ้างในเรื่องนี้ แต่ตัวเลขการวัดผลมลภาวะของเครื่องมือวัดนั้นกลายเป็นคำตัดสินไปว่า อยู่ในระดับมาตรฐาน
ผมว่าในอนาคตกฎหมายอาจจะต้องปรับปรุงในเรื่องเหล่านี้ เครื่องมือวัดมลภาวะอาจจะต้องปรับปรุงใหม่ สิ่งเหล่านี้ผมเพียงตั้งข้อสังเกต ไม่สามารถระบุรายละเอียดทั้งหมดได้เพราะเกี่ยวข้องกับงานที่ผมรับผิดชอบอยู่นะครับ
ด้วยความเป็นห่วงสิ่งแวดล้อมน่ะครับ
(รูปและข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก อินเทอร์เน็ต)
« « Prev : เขียนถึง หมอสวัสดิ์ ห้างฉัตร
Next : เรื่องเล่าจากดงหลวงจะตีพิมพ์ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ครั่ง (Laccifer Lacca Kerr)"