จากหลักการสู่ปฏิบัติ…ไม่ง่ายเหมือนพูด..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 9, 2010 เวลา 1:43 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2361

“หลักการสนับสนุนให้มีการพึ่งตนเอง” นั้น มีพัฒนาการมานานแล้ว สมัยที่ทำงานพัฒนาชนบทที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปี 2518 นั้น เราใช้คำว่า “ยืนอยู่บนขาของตัวเอง” เมื่อเวลาผ่านไปก็พัฒนาแนวคิดและรายละเอียดเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งหลักการดังกล่าวมีที่มาที่ไปอันเดียวกัน


ความสำคัญอยู่ที่การนำแนวคิดลงสู่การปฏิบัติให้เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่งานปอกกล้วยเข้าปาก เพราะเงื่อนไขของความสำเร็จนั้นมีมากมาย เราลองผิดลองถูกกันมานานแม้จะมีการสรุปบทเรียน แต่ประเด็นใหม่ๆที่น่าคิดก็เกิดขึ้นมาเสมอ อาจเรียกได้ว่า โจทย์เปลี่ยนไปเรื่อย ตามความแตกต่างของท้องถิ่น ชนเผ่า ภูมิภาค ฯลฯ แต่เราสรุปร่วมกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การยืนอยู่บนขาของตัวเองไม่สำเร็จ หรือล้มเหลวนั่นเองนั้นมาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกคืออิทธิพลของกระแสหลัก ปัจจัยภายในคือทุนทางสังคมและความล่มสลายของสำนึกแห่งสติ

กระแสหลัก คือ กระแสทุนนิยมเสรี ซึ่งปัจจุบันนักวิชาการส่วนหนึ่งเรียก ทุนนิยมสามานย์

ทุกครั้งที่เราลงไปชนบท ชาวบ้านก็มีคำถาม มีข้อแลกเปลี่ยน มีประเด็นปลีกย่อยที่ไม่เกิดขึ้นในช่วงการจัดการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน หากไม่มี Follow up ก็จะไม่เกิดการแลกเปลี่ยนหลังการฝึกอบรม ก็ไม่มีการเติมเต็ม ก็ไม่มีโอกาสติดตามการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ แต่ไม่ง่ายนะครับ เพราะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้งบประมาณ หรือมีต้นทุนการทำงาน ซึ่งระบบราชการทำยาก แต่โครงการพิเศษมีโอกาสทำได้มากกว่า

ทุกครั้งที่เราไปพูดคุยกับชาวบ้าน เราก็จะได้เรียนรู้อีกมากมาย

แนวคิดที่สำคัญหนึ่งในปัจจุบันของการพึ่งตัวเองคือ “การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” คือพยายามทำของใช้เองในครัวเรือน คือ ทำสบู่ ทำยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ และเชิงวัฒนธรรมก็มีเช่นฟื้นฟูการใช้แรงงานร่วมกัน เช่น “การเอามื้อเอาแรงกัน” หรือ “วัฒนธรรมการลงแขกทำงาน” ก็ใครสร้างบ้านก็ไม่ต้องจ้างกัน ไหว้วานแรงงานมาช่วยกัน ใครเก่งช่างไม้ ช่างเหล็ก ต่างก็มาใช้ความถนัดของตัวเองช่วยเพื่อนบ้าน หรือลงมือเกี่ยวข้าว แทนที่จะจ้างก็นัดกันไปเกี่ยวนายทักษิณ ก่อน แล้วนายทักษิณก็มาเกี่ยวข้าวแปลงของนายสุเทพบ้าง

วันหนึ่งผมไปคุยกับชาวบ้านยากจน ประเภทไม่มีที่ดินทำกิน และถือว่าเป็นคนชายขอบในชุมชน ต้องอาศัยญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน แต่เขาเป็นคนดี เขาคุยกับเราว่า….อาจารย์จะให้ผมไปเอามื้อเอาแรงกัน ผมก็เห็นด้วย แต่ผมก็จะไม่มีรายได้น่ะซีครับ เพราะผมมีชีวิตที่มีรายได้มาจากการรับจ้างเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านก็เข้าใจ มักเรียกผมไปให้ทำโน่นทำนี่แล้วก็ให้ค่าแรงผม ก็เอามาใช้จ่ายในครัวเรือน ผมมีเมีย มีลูกต้องกินต้องใช้เหมือนทุกคนที่มีที่ดินทำกิน….


ผมสะอึก…. บางทีหลักการดีดีของเรามันไม่ดีกับบางคนในชุมชน.. ถามว่ามีคนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ โดยประมาณการจะมีประมาณร้อยละ 2-5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งชุมชน

อีกกรณี เราเห็นว่าในแต่ละชุมชนมีตลาดนัดทุกสัปดาห์ และทั้งหมดเป็นพ่อค้าเร่ที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่หมุนเวียนกันเอาสินค้ามาวางขาย ซึ่งชาวบ้านก็มักไปอุดหนุนดีมาก จึงเกิดตลาดนัดแบบนี้หลายแห่ง หลายเจ้า หลายกลุ่ม มาจากหลายจังหวัด เมื่อพิจารณาก็เห็นว่าสินค้าหลายชนิดก็จำเป็น แต่จำนวนมากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และประการสำคัญเป็นการจับจ่ายที่เงินไหลออกจากชุมชนแต่ละสัปดาห์เป็นเงินจำนวนมาก นับหมื่นนับแสนบาท

เราจึงสนับสนุนตลาดของชาวบ้านเอง เอาของมาขายเอง ผลิตเอง เงินหมุนเวียนภายในหมู่บ้านไม่ไหลออกไป และเรายังสามารถบริหารจัดการตลาดให้เน้นอาหารปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ โดยประสานงานกับอนามัยตำบล สาธารณสุขอำเภอให้มาช่วยแนะนำ เชิญเกษตรตำบลมาแนะนำการปลุกพืชแบบปลอดสารพิษ เชิญกรมวิชาการมา เชิญพัฒนาชุมชนมา เชิญ…..แบบบูรณาการกัน พบว่าตลาดชุมชนที่ดงหลวงก้าวหน้าไปมาก แนวคิดนี้จะสนับสนุนจุดเริ่มต้นหนึ่งของการพึ่งตนเองระดับชุมชน

ในโครงการมีตลาดชุมชนเกิดขึ้นในทุกจังหวัด มีกรณีหนึ่งที่ขอนแก่นเจ้าหน้าที่ที่นั่นเล่าให้ฟังว่ามีชาวบ้านที่เป็นแม่ค้ามาบอกว่า “…อาจารย์ ฉันน่ะไม่เคยเป็นแม่ค้าเลยพอมีตลาดฉันก็มาเป็นแม่ค้า ก็ดี ชอบเพราะได้เงินทองใช้ ได้ให้ลูกหลานไปโรงเรียน ผักบางชนิดขายดี ฉันก็ผลิตมากขึ้น วันหนึ่งญาติมาขอผักไปกิน ฉันก็บอกว่า “มาเอาไปเถอะ แต่วันหลังฉันวางขายที่ตลาดชุมชนของบ้านเรานั้นนะ” ความหมายก็คือ วันนี้ให้กิน แต่วันหน้าต้องไปซื้อเอานะ… “ฉันมาคิดทีหลังก็ละอาย แต่ก่อนบ้านเราไม่มีใครซื้อขายพืชผัก อยากกินก็มาขอกัน ฉันขอเธอ เธอขอฉัน แต่มาวันนี้ต้องเป็นเงินทองไปหมดแล้ว เอ..มันยังไงอยู่นา….”

ประเด็น:

  • การพึ่งตัวเองนั้นทุกคนต้องปลูกเองกินเองทุกอย่างเลยหรือ(แนวคิดนี้กลายไปเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ)
  • แต่ก่อนขอกันกินมาวันนี้สิ่งที่เคยขอกันต้องมาซื้อกินซะแล้ว มันพึ่งตัวเองบนวัฒนธรรมชุมชนอย่างไรกันหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้
  • เกษตรกรคนหนึ่งกล่าวว่า…ผมนั้นทำเกษตรทุกอย่างเกือบไม่ต้องซื้อกินเลย แถมได้ขายด้วย แต่รายได้นั้นก็พอได้ใช้จ่าย แต่หากต้องใช้จ่ายจำนวนมาก เช่นค่าเทอมลูกที่เรียนมหาวิทยาลัย เราไม่มีปัญญาหาเงินจำนวนมากมาได้ ก็จำเป็นต้อง วิ่งหาเงินตามช่องทางที่คนชนบทเขาทำกัน ในที่สุดก็เลยจูงให้เราหลุดจากการพึ่งตัวเองไปอีก เงื่อนไขเช่นนี้จะมีโครงสร้างการพึ่งตัวเองอย่างไร ? ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็เจ้ง..
  • เกษตรกรอีกรายที่กล่าวว่า… หากเอามื้อเอาแรงกันตามหลักการทางวัฒนธรรมชุมชน แล้วผมก็จะขาดรายได้ที่เคยได้จากการรับจ้างเพื่อนบ้าน เงื่อนไขเช่นนี้ โครงสร้างการพึ่งตัวเองคืออย่างไร..?
  • หลักการพัฒนาชุมชนนั้นเราพยายามฟื้นฟูทุนทางสังคมเดิม ตามจังหวะโอกาส และชนิดของกิจกรรม แต่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่ากิจกรรมตลาดชุมชนจะพาเรามาเผชิญมุมคิดเช่นนี้….

การแปลงหลักการไปสู่การปฏิบัตินั้น เราเผชิญรายละเอียดที่ใครไม่ลงไปสัมผัสก็จะไม่ทราบ.. คนทำนั้นเมื่อลงไปก็รู้ร้อนรู้หนาว แต่คนที่นั่งบริหารข้างบน อยากได้ตัวเลข อยากเห็นความสำเร็จ สั่งเอาสั่งเอา อิอิ อย่างนั้นต้องเสร็จ อย่างนี้ต้องได้เท่านั้นเท่านี้..ใช้เวลากันไม่น้อยกว่าจะพูดจากันรู้เรื่อง

นี่ดีนะที่พอรู้เรื่อง หากไม่รู้เรื่อง ต้องใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก… อย่าง “เสธ.ไก่อู” ประกาศ ห้า ห้า ห้า..


บันทึกของบางทราย..

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 6, 2010 เวลา 22:58 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2115

ผมรับผิดชอบงานโครงการฯ ที่มุกดาหารมาหลายปีตั้งแต่ อาว์เปลี่ยนอยู่ พอจบ Phase แรกก็รับงานชั่วคราวของบริษัทที่ลาว และไม่นานก็ต่อโครงการฯ ซึ่งไม่เรียก Phase 2 เรียกระยะขยายเพราะยังใช้งบประมาณที่เหลือจาก Phase 1

ในช่วง Phase 1 นั้นผมเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆจากงานที่รับผิดชอบ ส่วนใหญ่เป็นแง่คิด มุมมองของผมเองแล้ว mail ไปให้เพื่อนร่วมงานที่อยู่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ให้ได้รับรู้สิ่งที่ผมสื่อไป จริงๆหวังจะได้รับการ feed back กลับมา แต่แปลกครับ ไม่มีเลยซักฉบับเดียว

จริงๆการเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องงานนั้น ผมทำมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่อยู่โครงการ On Farm Water Management Project ของรัฐบาลฮอลแลนด์ ที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ตอนนั้นผมมีส่วนช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สนามและออกไปเยี่ยมสนาม น้องๆที่กระจายอยู่ตาม “ตอนส่งน้ำ” ของระบบส่งน้ำเขื่อนลำปาว มีเจ้าหน้าที่สนามเกือบ 30 คน

เนื่องจากเจ้าหน้าที่เป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบจากวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เรียกว่าเด็กใหม่ การฝึกอบรมก็ทำเต็มหลักสูตรซึ่งนานเป็นเดือน..!! ย้ำว่าเป็นเดือน เพราะต้องมี Session ของการฝึกจริงในสนาม หรืออาจะเรียกว่า OJT หรือ On the Job Training แล้วก็กลับเข้ามาห้องเรียน คุยกัน…

ผมทำหน้าที่ ออกเยี่ยมสนาม เยี่ยมน้องๆที่เป็นเด็กใหม่ หรือ มือใหม่ พบว่า เนื้อหาสาระที่เขาเรียนในห้องเรียนนั้น พอออกมาสนามจริง หลายเรื่องเขาทำได้ดี แต่ก็มีหลายเรื่อง “ไปไม่เป็นเลย” เมื่อผมเห็นก็เติมเต็มกันในสนามนั่นเลย แต่ก็คิดว่าน่าจะยังไม่พอ ผมจึงกลับมาเขียน สาระเรื่องราวต่างๆเพิ่มเติม ในลักษณะ Memo แล้วขออนุญาต Project Leader ใช้กระดาษ A 4 ทำสำเนาแจกให้น้องๆทุกคนในทุกสัปดาห์… นี่คือบันทึกครั้งแรก

แล้วผมก็เอามาใช้อีกในงานในปัจจุบัน

วันหนึ่งเราไปดูงานสวนโลกที่เชียงใหม่ น้องกาเหว่า(นศ.ปริญญาเอก มข.)มาบอกว่า พี่เขียนอย่างนี้ เอาไปลง Blog ดีกว่า.. ช่วงนั้นผมไม่รู้จัก Blog ด้วยซ้ำไป จึงศึกษาและเข้าไปเขียนจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ชื่อ เรื่องเล่าจากดงหลวงใน G2K และในลานดงหลวง ที่ Lanpanya นี่ พบว่าที่ทำงานไม่มีใครเข้าไปอ่านเลย มีเปลี่ยนคนเดียว นอกจากนี้ผมยังทำ www เฉพาะกลุ่มของโครงการที่  http://portal.in.th/alroproiad/ แต่พบว่าไม่ work เพราะไม่มีใครในโครงการเข้าไปใช้ประโยชน์ มีแต่ เอาข้อมูลใส่เข้าไป ใส่เข้าไป ผมก็เลยหยุด…ค้างคาไว้แค่นั้นเสียเวลาเปล่าๆ..??

ช่วงนั้น ผู้ประเมินผลโครงการจากญี่ปุ่นมาทำ Terminal Evaluation และทราบว่าผมเขียนบันทึกจึงศึกษาและสนับสนุนให้ผมทำต่อเนื่อง ทางโครงการจึงมอบตำแหน่ง KM expert ให้ในโครงการระยะขยายนี้ อิอิ จริงๆผมไม่ใช่ expert เลย ก็เป็นแค่คนพยายามเขียนความคิดเห็นของตัวเองออกมาเท่านั้น

เนื่องจากโครงการฯกำลังจะสิ้นสุด ท่านรองเลขาธิการ ส.ป.ก. mail ไปหาผมเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ให้รวบรวมบันทึกของผมทั้งหมด ตรวจสอบ ทบทวน ปรับปรุง แล้วพิจารณาพิมพ์….”


นับก้อนกรวด..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2010 เวลา 16:44 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2179

คนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นต้องเชื่อมั่นว่าชาวบ้านนั้นพัฒนาได้ นี่เป็นหลักพื้นฐานของการพัฒนาคน เงื่อนไขอาจจะอยู่ที่เรามีกระบวนการ วิธีการที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน และหรือ คุณสมบัติของชาวบ้านที่มีข้อจำกัดมากกว่าปกติ

ผมเชื่อในหลักการดังกล่าวเพราะตอนทำงานภาคเหนือก็เห็นฝรั่งไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้กับชนเผ่าต่างๆบนภูเขา แล้วชนเผ่าเหล่านั้นก็เปลี่ยนจากนับถือผีมานับถือพระเจ้า เราทึ่งกับความสำเร็จนั้น เราก็มั่นใจว่าเราก็น่าที่จะเข้าไปแนะนำชาวบ้านให้พัฒนาขึ้นได้

และผมก็พบความสำเร็จในหลายพื้นที่เมื่อมองย้อนหลังลงไป แต่ที่ดงหลวงนี่ผมถึงกับสะอึกในหลายครั้งหลายกิจกรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นความแตกต่างระหว่างชนเผ่าผู้ไทที่กกตูมกับพี่น้องไทโส้ที่ตำบลพังแดง และตำบลดงหลวง โดยเฉพาะที่พังแดงนี่สาหัสจริงๆ

บังเอิญเรามีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่นี่ ยิ่งนานวันยิ่งบอกตัวเองว่า นี่คือโจทย์ที่ยากมากๆ

เอื้อง เจ้าหน้าที่ของเราผู้ขยันทำงานและรับผิดชอบงานดีเยี่ยมลุยงานที่บ้านพังแดงมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เอื้องกับผมเคยมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชลประทานลำปาวมาก่อนจึงรู้และเข้าใจกระบวนการกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่สมัยนั้นเราทำงานกับพี่น้องไทอีสาน มิใช่ไทโส้..

เอื้องต้องปวดหัวเมื่อเข้าไปทบทวนระบบบัญชีกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด ทั้งกองทุนต่างๆต้องรื้อทำใหม่ ใช้เวลาไปมากมายทีเดียว แต่เธอก็ตั้งใจทำเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญแก่กลุ่มในวันข้างหน้า เธอจัดหาเครื่องมือในการทำระบบบัญชีไปให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่ออบรม แนะนำเสร็จก็ปล่อยให้กรรมการกลุ่มทำต่อ ทิ้งไว้เดือนสองเดือนก็ไปดูที ก็พบว่า ยังทำผิด ลงบัญชีไม่ถูก เขียนตัวเลขผิด ลงช่องบัญชีผิด รวมผิด จนกระทั่ง ไม่ได้ลงบัญชีตัวเลขนั้นตัวเลขนี้

เอื้องพยายามที่จะทบทวน แนะนำใหม่ เอาให้เข้าใจและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์และความสำคัญของระบบบัญชีที่จะเอาไปตอบสมาชิกได้ในทุกเรื่อง หลังสุดเราประมวลระบบบัญชีได้ว่ามีเงินกู้ค้างอยู่ 5 คน ด้วยยอดเงินประมาณ สามหมืนกว่าบาท และมีกำไรจากดอกเบี้ยจำนวนหนึ่ง เอื้องเสนอให้จัดระบบกำไรให้ลงตัวซะว่าจะเอาไปทำอะไรบ้าง

ที่ประชุมสรุปว่าจะเอากำไรแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 จำนวนร้อยละ 10 เอาไปเป็นค่าตอบแทนคณะกรรมการ ส่วนที่ 2 เอาไปเป็นสวัสดิการสมาชิกกลุ่ม ส่วนที่ 3 เป็นสมทบกองทุน และส่วนที่ 4 เอาไปปันผลให้แก่สมาชิกที่กู้จากกลุ่ม

ในการคิดรายละเอียดตรงนี้ ใช้เวลานานมากเพราะผมสังเกตว่าชาวบ้านนั้นไม่เคยมีประสบการณ์ในการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ จึงมองไม่ออกว่าจะแบ่งกำไรในแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ต่างถกเถียงกันและที่นิ่งเฉย ยิ่งไม่มีประสบการณ์ ไม่มีตัวเงินนำมาวางพิจารณาจริงๆก็ยิ่งคิดไม่ออก

เอื้องพยายามยกตัวอย่างมาให้เห็นความจริงว่าหากสมมุติว่าปันร้อยละสิบมาให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการนั้น หากกำไรหนึ่งพันบาทก็ได้มา 100 บาท เอาจำนวนนี้มาแบ่งปันกันให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการเอาจำนวนกรรมการมาหารแบ่งกัน ดูทุกคนพึงพอใจ

แต่การพิจารณาอีกสามส่วนนั้นตกลงกันไม่ได้ เพราะคิดในใจไม่ออก ผมเลยนึกถึงว่าเราเคยใช้หลักการพื้นฐานในการคิดกับชาวบ้านที่เอาสิ่งของมาเป็นตัวแทนง่ายๆให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นการจัดทำ PRA ว่าแล้วผมก็เดินหาก้อนหินเล็กๆซึ่งมีอยู่ทั่วไปบนผิวดิน ผมหยิบมา 10 ก้อนแล้วก็เอาไปกองให้กลางวงที่ประชุมคณะกรรมการ แล้วบอกว่าสมมุติว่านี่คือ 100 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เราจะพิจารณากัน หินหนึ่งก้อนเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์

พ่อกำนันซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มก็มาร่วมพิจารณาอธิบายและให้คำแนะนำด้วย ดูเหมือนว่าเมื่อเห็นก้อนกรวด 10 ก้อนกลางวงประชุมทุกอย่างก็ง่ายขึ้นทันใด

ที่ประชุมต่างก็จ้องไปที่ก้อนกรวด แล้วกรรมการคนหนึ่งก็หยิบก้อนกรวดออกมา 1 ก้อน บอกว่านี่คือส่วนที่จะตอบแทนคณะกรรมการ ที่เหลืออีก 9 ก้อนกรวด คือ ต้องเอาไปพิจารณาแบ่งให้กับสามเรื่องคือ สมทบกองทุนเงินกู้กลุ่ม แบ่งเป็นสวัสดิการสมาชิกทุกคน และส่วนที่จะเอาไปปันผล

ต่างก็แสดงเหตุผลกันบนกองก้อนหินนั่น ความจริงเราอาจเขียนชื่อกลุ่มเงินที่จะแบ่งลงในกระดาษแล้วเอาไปวางตรงหน้าให้เห็นชัดเพิ่มขึ้นก็ได้ว่า เรากำลังจะพิจารณาแบ่งอีกสามส่วน แต่เห็นว่าทุกคนเข้าใจแล้วและฟังการถกเถียงกันก็รู้ว่าเขากำลังจัดการปันส่วนที่คิดว่าเหมาะสมกันว่าแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่…

ไม่ต้องบอกคำตอบสุดท้ายหรอกครับ เพราะต้องการสะท้อนว่า บางทีการทำงานเรากับชาวบ้านนั้นมาติดสิ่งที่เป็นนามธรรม เพราะเรามักมีแนวคิดที่เป็นนามธรรมเยอะ รูปธรรมน้อย แม้ว่าเราจะเอาสิ่งดีดีมาเล่าให้ชาวบ้านฟังมากมายแต่ไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่ได้สัมผัส ชาวบ้านก็นั่งปากหวอ ไม่โต้ตอบ พยักหน้างึกๆ หลายครั้งเราคิดเลยไปจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานง่ายๆเช่นก้อนกรวด

นึกย้อนไป..เหมือนชนเผ่าโบราณเลยนะ อิอิ


แรงกระเพื่อมราชประสงค์ถึงดงหลวง..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2010 เวลา 11:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2279

ที่กรุงเทพฯ: ไม่คิดว่า 19 พฤษภา 53 จะรุนแรงขนาดนี้


(แหล่งข้อมูลภาพ: จาก FW mail)

ทุกครั้งที่สื่อเสนอภาพออกมาเราอด หดหู่ใจไม่ได้ ทำไมพี่น้องคนไทยต้องมาฆ่าฟันกันอย่างนี้ ต่างไม่เคยรู้จักกัน แค่คิดต่างกันก็มาฆ่าแกงกันได้…

ที่มุกดาหาร: ก่อนปิดโครงการที่รับผิดชอบอยู่มีภารกิจมากมาย หนึ่งในนั้นน้องๆก็ชวนเข้าไปตรวจสอบกิจการของกลุ่มผู้ใช้น้ำก่อนที่จะทบทวนการถ่ายโอนให้กับ อบต. กิจกรรมย่อยเรื่องหนึ่งคือกองทุนเพื่อสนับสนุนการเกษตรในพื้นที่ชลประทานห้วยบางทราย เราเรียกย่อๆว่า กสบ.


มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกกลุ่มที่ขาดเงินลงทุนการเกษตรมากู้ไปได้ตามระเบียบที่กำหนดขึ้น เราสอบถามกรรมการและตรวจสอบระบบบัญชีพบว่า มีสมาชิกค้างจ่ายเงินกู้จำนวน 5 ราย

นายใจ …เป็นอดีตผู้นำของเราคนหนึ่งที่กู้เงินไปจำนวน 5,000 บาท แต่การเกษตรประสบความเสียหาย และมีรายจ่ายจำเป็นอื่นๆเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดรายได้และเงินที่สะสมเก็บออมเพื่อส่งคืนกองทุนต้องถูกนำไปใช้ จึงมีปัญหาไม่มีเงินคืน ด้วยสำนึกบางประการนายใจจึงขอลาออกจากกรรมการและไปหาทางคิดอ่านหาเงินมาคืน..

ปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบ สะเทือนต่อจิตวิทยาของกลุ่ม กล่าวคือ สมาชิกคนอื่นๆไม่ไว้วางใจกลุ่ม กล่าวคือนายใจไม่คืนเงินกู้โดยคนอื่นไม่ทราบข้อเท็จจริง สังคมมักรับรู้แต่ปรากฏการณ์ ไม่ค้นหาความจริงหรือเหตุผล การณ์นี้ทำให้กรรมการปัจจุบันไม่ยอมปล่อยเงินกู้ใหม่ เพราะกลัวว่าผู้กู้จะไม่ส่งคืนโดยอ้างเหมือน 5 คนนั้น สมาชิกที่ทำดีกับกลุ่มมาตลอดก็นินทาวงนอกกลุ่ม เล่าลือกันไปในชุมชน ทำให้กลุ่มมีภาพที่ไม่ดีโดยรวม


คณะกรรมการกลุ่มเองก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ยิ่งมีแรงกดดันกรรมการก็ยิ่งเครียด เราจึงเสนอขอประชุมร่วมระหว่างกรรมการกับสมาชิกผู้กู้เงินเพื่อศึกษารายละเอียด และปรึกษาหารือแนวทางการแก้ไขต่อไป

ผมทำหน้าที่นำการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

บางทราย: นายใจครับ กู้เงินจากกองทุนไปเท่าไหร่ครับ เอาไปทำอะไรครับ…ฯ

นายใจ: ผมกู้มา 5,000 บาท เอาไปลงทุนปลูกข้าวและการเกษตรอื่นๆ.. เกิดปัญหาการผลิต จึงไม่มีเงินมาคืน


หลังจากที่เราแลกเปลี่ยนกันพอสมควร …

นายใจ: เดิมนั้นผมมีแผนคืนเงินในเดือนนี้ คือลูกชายผมออกจากทหารก็ไปสมัครเป็นยามของบริษัทหนึ่งในกรุงเทพฯ บริษัทก็ส่งไปทำหน้าที่ตามห้างร้านต่างๆ ลูกผมเขาทราบปัญหาของพ่อก็รับปากจะช่วย เขาบอกว่าจะส่งเงินมาใช้หนี้แทนให้ในเดือนที่ผ่านมานี้ แต่เกิดเหตุการณ์แดงยึดกรุงเทพฯ ห้างร้านยกเลิกการจ้าง บริษัทไม่มีงานให้ลูกผมทำ ก็ไม่ได้เงินค่าจ้าง ลูกก็ไม่มีเงินส่งมาให้ผมเพื่อคืนกลุ่ม…!!!???

หลังจากที่ปรึกษาหารือกันถึงทางออกโดยใช้เชิงบวกคุยกัน ในที่สุดก็เห็นว่ามันสำปะหลังเป็นที่พึ่งสุดท้าย นายใจสัญญาว่าเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 จะขายมันสำปะหลังแล้วเอาเงินมาคืนให้กลุ่ม พร้อมดอกเบี้ย..

เป็นความจริงที่ผมไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์ที่แดงยึดกรุงเทพฯจะส่งผลไปถึงดงหลวง

ในจินตนาการของผมเห็นคลื่นของเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯส่งผลกระเพื่อมกระทบไปทั่วทิศไม่ใช่เฉพาะดงหลวง แต่ทั่วไปทั้งสังคมของประเทศ หนัก เบา แตกต่างกันไป..!!??

ประเด็น

  • นายใจนั้นเป็นระดับนำคนหนึ่งในเรื่องการทำเกษตรผสมผสาน แต่เรื่องรายได้จากกิจกรรมทางการเกษตรยังน้อย กิจกรรมนี้จะสร้างรายได้อย่างไรในเงื่อนไขของแต่ละครอบครัว..
  • คณะกรรมการกลุ่ม กสบ. ยังต้องการพัฒนาการบริหารกิจกรรมกลุ่ม
  • แม้ว่าเกษตรผสมผสานคือการพึ่งตัวเอง แต่สังคมปัจจุบันก็ต้องมีรายจ่าย ดังนั้นรายได้น้อยที่สุดเท่าไหร่ของระดับการพึ่งตัวเองในเงื่อนไขของแต่ละครอบครัว
  • มีประเด็นของงานพัฒนาอีกมากมาย..ฯ


มันคับ..อ่ะ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 3, 2010 เวลา 2:01 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 1780

ถนนสายมุกดาหารนครพนม ที่ขนานกับแม่น้ำโขงนั้น มีหมู่บ้านหนึ่งชื่ออย่างที่เห็นในรูปนั่นแหละ


เราผ่านไปมานับครั้งไม่ถ้วน ก็ไม่เคยแวะเข้าไปเยี่ยมเยือนสักที จะเข้าไปก็เกรงใจกลัวออกมาเดี๋ยวใครเห็นเข้าก็จะว่า เราเป็นคนบ้านนี้..


เพราะมันไม่สอดคล้องกัน ของเรามัน “คับพุง” มากกว่า ห้า ห้า ห้า เอิ้กกกกกก


เวลาของอีกวิถีหนึ่ง..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 2, 2010 เวลา 11:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2313

ดงหลวงนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในหุบเขาของเทือกเขาภูพาน หมู่บ้านที่ทำงานส่วนใหญ่ก็มีภูเขาล้อมรอบ ชาวบ้านเป็นชนเผ่าโส้ หรือไทโส้ หรือบรู เป็นเขตปลดปล่อยเก่าของพคท. เป็นสังคมปิดเพิ่งมาเปิดเอาโดยประมาณปี พ.ศ. 2527 อันเป็นช่วงที่ชาวไทโส้ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย


มาทำงานที่นี่กับอาว์เปลี่ยนก็หลายปี มีทั้งพึงพอใจตัวเองและไม่พึงพอใจในความก้าวหน้าของการพัฒนาทั้งนี้มีรายละเอียดมากมาย หลักๆก็เพราะเรื่องของ “คน” นั่นแหละจนผมเคยใช้คำอธิบายอาชีพตัวเองว่า เป็นคนเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งหนัก เหนื่อย และเริ่มใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็ครกมันกลิ้งลงเขาต้องกลับไปเริ่มเข็นขึ้นมาใหม่


นรินทร์เป็นหนุ่มโส้บ้านพังแดงที่ผมชอบแวะไปคุยกับเขาบ่อยๆ เพราะเป็นโส้ที่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆอยู่บ้าง คือ เป็นคนหนุ่มที่ทำมาค้าขาย รู้จักคิดอ่านทำธุรกิจเล็กๆแทนที่จะทำนาทำไร่อย่างเดียวเหมือนคนอื่นๆ มีความรู้พอสมควร แต่ก็ยังปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมโส้อยู่อย่างครบถ้วน เขารวบรวมเงินมาเปิดปั้มน้ำมันในหมู่บ้าน และค่อยๆขยายตัวไปทีละเล็กละน้อย เช่น เอาตู้แช่มาขายน้ำประเภทเครื่องดื่ม เอาวัสดุการเกษตรที่ชาวบ้านต้องใช้มาขาย ฯ

เมื่อคืนเรามีการประชุมชาวบ้านเรื่องกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเริ่มประชุมย่อยมาตั้งแต่บ่ายไปจบเอาเกือบห้าทุ่ม ตอนหัวค่ำเลยแวะไปคุยกับนรินทร์คนนี้ คุยถึงเรื่องการเข้าป่าไปหาของป่า เพราะขณะเรานั่งคุยเรื่องทั่วไปก็มีชาวบ้านหนุ่มๆขับรถอีแต๊ก มอเตอร์ไซด์นับสิบคนมาเติมน้ำมันที่ปั้มของนรินทร์ แต่ละคนแต่งตัวแปลกๆจึงรู้ว่านั่นคือชุดเข้าป่า “เข้าป่ากลางคืน” นี่แหละ


ไปหาสัตว์ป่าตามฤดูกาล หน้านี้ก็มีเขียด อึ่ง กบ ป่า และอื่นๆที่จะพบในป่า ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มชวนกันไปสองคนขึ้นไปต่อกลุ่มหนึ่ง โดยเอามอเตอร์ไซด์ หรืออีแต๊กขับไปใกล้ป่าที่หมายตากัน เอารถจอดทิ้งไว้ชายป่า แล้วก็เอาของติดตัวขึ้นภูเขาไปตามที่เตรียมกัน

สิ่งที่เตรียมก็มีปืนแก็บไทยประดิษฐ์ มีด ร่วมข้าวเหนียว พริก เกลือ ผงชูรส ยาสูบ นรินทร์บอกว่าขาดอะไรก็ขาดได้แต่ยาสูบขาดไม่ได้ ไม่ใช่เป็นซองๆที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังแต่เป็นยาสูบพื้นบ้าน ขายถุงละ 5 บาทพร้อมกระดาษมวน ชาวบ้านบางคนบอกว่า “มันแทงคอ” หรือมันฉุนดีกว่ายาสูบซองๆ

ถามนรินทร์ว่าทำไมต้องเอาข้าวเหนียว พริกเกลือ ผงชูรสไปด้วยล่ะ เขาบอกว่า ..อาจารย์พวกนี้เข้าป่านั้นเขาเดินทางทั้งคืนไปหาสัตว์ตรงนี้ ตรงนั้น ตรงโน้นแล้วเดินทางบนภูเขากลางคืนมันลำบาก เหนื่อย ดึกๆมาสักเที่ยงคืนมันก็หิว ก็จะทำอาหารกินกัน ผมถามต่อว่า อ้าวก็ไม่เห็นเอาหม้อชามรามไหไปเลยแล้วทำอย่างไร นรินทร์ตอบว่า โห อาจารย์ ไม่ต้องเลย เมื่อได้สัตว์ป่ามาแล้วก็ไปหาแหล่งน้ำ แล้วก็ไปตัดไม้ไผ่ป่ามาหุงข้าว มาต้มแกง เขามีวิธีทำ อาจารย์มันหอมไผ่ป่า อร่อยที่สุด อย่างแกงป่าในกระบอกไม้ไผ่แล้ว ก็เอาอีกกระบอกมาผ่าซีก เอาแกงป่ามาเทใส่ทั้งน้ำทั้งเนื้อ


บางคนพกช้อนไปด้วยก็ใช้ซดน้ำแกง ส่วนใหญ่ใช้ใบไม้ชนิดหนึ่งเนื้อเนียนละเอียด เอาแบบไม่อ่อนไม่แก่มารนไฟพออ่อนๆ แล้วห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงป่าซดกิน อาจารย์เอ้ย…..หอม อร่อยจริงๆ ใบอ่อนๆก็กินได้เลย…ฯลฯ

ชีวิตกลางคืนในป่าแบบนี้ถูกถ่ายทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ขณะที่วัยรุ่นในเมืองอาจจะเข้าร้านเนต ไปเป็นเด็กแว้น ไปเที่ยวสถานเริงรมย์ต่างๆ หรือสุมหัวกัน แต่เด็กหนุ่มพังแดง หรือบ้านอื่นๆเข้าป่าไปหาสัตว์ป่ามากินมาขาย เป็นวัฒนธรรมการบริโภค เด็กหนุ่มดงหลวงทุกคนต้องผ่านวิถีชีวิตแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น

มีสิ่งหนึ่งที่คนในเมืองอย่างเราต้องตะลึง ฉงน และคิดมากมาย นรินทร์กล่าวว่า

อาจารย์…พวกนี้เดินป่ากันยันสว่าง ค่อยลงมา เด็กหนุ่มบางคนหาของป่าเก่งพักใหญ่ๆเมื่อได้สัตว์มาพอ ก็จะลงจากภูเขา แต่อาจารย์….เขาจะไม่เข้าบ้านหลัง 5 ทุ่มถึง ตี 5 เขาจะแวะนอนตามเถียงนาชายป่า หรือชายบ้าน ผมแปลกใจถามทำไม นรินทร์บอกแบบจริงจังว่า ชาวบ้านเขาถือ ถือว่าช่วงเวลานั้น “เป็นเวลาของอีกวิถีหนึ่งออกหากิน” เขาจะไม่เดินทางเข้าบ้าน พักซะที่เถียงนาก่อน สว่างค่อยกลับเข้าบ้าน

เวลาอีกวิถีหนึ่ง นั่นคือ เวลาออกหากินของภูติ ผี ปอบ และสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นความเชื่อของชาวบ้านดงหลวง….

คนในเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ รับรู้และเข้าใจ ยอมรับเรื่องแบบนี้แค่ไหน

งานพัฒนาคน ที่จะผสมผสานนวัตกรรมใหม่ๆกับเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร

การอภิปรายของสภาจบไปนานแล้ว… ผมยังคิดเรื่องเหล่านี้จนหลับไป

….!!!???…


ประเด็นวิจัยเพื่อการพึ่งตนเอง

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2010 เวลา 0:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2161

เขียนบันทึกจากคนไม่มีกรอบถึงคนชายขอบแล้วก็ปิ๊งประเด็นวิจัยขึ้นมา..



สังคมเราน้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักของการทำงานพัฒนาสังคม ครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการและหน่วยงานพัฒนาชนบทต่างก็เอาไปเป็นสาระสำคัญของการทำงาน

หากจะมองลงไปในรายละเอียดนั้น หลักการนี้ หรือแนวคิดนี้ก็คือการพยายามสร้างระบบการพึ่งตัวเองขึ้นมาตามเงื่อนไขของแต่ละคน แต่ละครอบครัว ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามรายละเอียด


ประเด็นก็คือ ครอบครัวหนึ่งในชนบท มีที่นาทำกิน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆเพราะต้องแบ่งให้ลูกหลายคน ที่สวนก็พอมีและลดลงเรื่อยๆเพราะต้องแบ่งให้ลูก ความรู้ก็แค่ ป.4 ลูกสามคนก็กำลังเป็นวัยรุ่น เสื้อผ้าต้องซื้อ น้ำมันรถมอเตอร์ไซด์ต้องซื้อ ทำนาต้องจ้างรถไถ บางครั้งต้องจ้างแรงงานบ้าง หยูกยาบางครั้งต้องซื้อ เครื่องใช้ในครัวเรือน สารพัดต้องซื้อ หมดยุคผลิตเองใช้เอง..

วันดีคืนดี มีโครงการฯเข้ามาบอกว่า เพื่อการพึ่งตนเองนั้น ต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้ทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น บางเรื่องก็ดี ชอบ บางเรื่องก็แปลกๆ ฝืนๆยังไงไม่รู้ เมื่อทำตามคำแนะนำแล้ว แต่ทั้งหมดก็ยังต้องหารายได้จำนวนหนึ่งเพื่อซื้อหาสิ่งของที่ผลิตไม่ได้อยู่นั่นเอง..

เอ… “ในครอบครัวชนบทแบบนี้ ต้องมีรายได้ขั้นต่ำเท่าไหร่จึงจะพออยู่ได้” เป็นรายได้ขั้นต่ำที่ไปประกอบกับการพึ่งตัวเองในด้านต่างๆ แบบมีหลักประกันด้วย…

นี่คือประเด็นการวิจัย ตั้งไว้กว้างๆแบบนี้แหละ ใครสนใจก็ไปพัฒนาเอาเองเด้อครับ


จากคนไม่มีกรอบถึงคนชายขอบ

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2010 เวลา 0:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1869

….ผมแนะนำผู้บริหารทรูไปดูเรื่องโสเภณีชายขายตัวแถวๆสนามหลวง พาไปดูโสเภณีแถวคลองหลอด พาไปดูลุงแก่ๆที่แกอยู่ในสลัม ครูน้อยที่เขาช่วยเหลือเด็กยากจน ถ้าเศรษฐีไม่ช่วยกันทำตรงนี้นะ ประเทศไทยพังไหม วันใดก็ตามที่เศรษฐีในโลกนี้ไม่รู้จักคำว่าแบ่งปัน สงครามเกิดแน่นอน บิล เกตส์ มันคิดได้แล้วไง แล้วถามว่าแล้วเศรษฐีไทยล่ะ ยูๆๆ คิดจะคืนหรือยังล่ะ สังคมประชาธิปไตยมันทำร้ายคนเล็กกว่านะ เพราะเสรีภาพ คือ ใครทำอะไรก็ได้ จริงมันไม่ใช่นะ สังคมประชาธิปไตยมันสร้างความแตกแยกเยอะมาก คือมันโตแต่มันต้องกลับมาแบ่งปัน…

นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของคนไม่มีกรอบ อาจารย์ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ กับสกุลไทย (หน้า 47 ) คำกล่าวของคนไม่มีกรอบมันถีบหัวใจผมน่ะซี

ทุกวันนี้ไม่ว่าส่วนไหนของสังคม ทั้งกลางราชดำเนิน ราชประสงค์ ที่ลานคนเมือง ที่หนองประจักษ์ บนถนนท่าแพ บนถนนประชาสโมสร แม้ในตำบลซอกภูเขาต่างก็อ้างประชาธิปไตย เสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย แสดงความเป็นประชาธิปไตย อธิบายสิ่งที่เขาทำว่านี่คือการใช้สิทธิประชาธิปไตย แต่สิทธิที่เขาอ้างนั้นมันไปทำร้าย ทำลายอีกตั้งหลายสิ่งหลายอย่าง แล้วมันประชาธิปไตยแบบไหนวะ..

คำว่าประชาธิปไตยนั้น มันเป็นเสมือนพระเจ้า ใครที่อ้างพระเจ้าแล้วสิ่งที่กระทำนั้นถูกต้องเสมอ อะไรทำนองนั้น คนชั้นกลางพอแยกแยะได้ แต่คนชั้นล่างนี่ซิ มิได้ดูถูก แต่รายละเอียดของคำว่าประชาธิปไตยนั้น มีคำอธิบายมากมายกว่าที่หลายคนจะเข้าใจเพียงมองเห็นสิทธิในการกระทำต่างๆเท่านั้น

คุยกับนักปลุกระดมมวลชนของ ผกค. ดงหลวงมาหลายต่อหลายคน เราเข้าใจได้ว่าทำไมชาวบ้านชายขอบจึงลุกขึ้นมาเดินเข้าป่าไปร่วมกับเขา เพราะการเข้าไปชี้จุดอ่อนของสังคม ตอกย้ำความล้มเหลวของการบริหารแผ่นดิน เปิดแผลน้ำเน่าของการเอารัดเอาเปรียบ การแก่งแย่ง การเข้าพวกเข้าสังกัด การใช้ความได้เปรียบ ขณะที่เขาด้อย ขณะที่การเยียวยาของสังคมต่อเขานั้นก็แค่น้ำหยดสุดท้ายในขวดเท่านั้น

ยิ่งการประพฤติตัวตนของผู้มีอำนาจในเครื่องแบบกระทำต่อชุมชนให้ปรากฏ มันไปตอกย้ำการวิเคราะห์ การพูดคุยของผู้เห็นใจกับผู้ยากไร้ในชนบท เมื่อผู้เห็นใจยื่นมือมาให้จับ แล้วบอกว่า มาเถอะ เราไปด้วยกัน เราไปเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราควรจะได้ด้วยกัน ยิ่งการแสดงบทตีแตกถึงการเอาจริงเอาจัง นั้นคือเทวดาของเขา นั่นคือผู้ปลดปล่อย…..

หากผมเป็นนายจืด อยู่บ้านคำป่าหลาย ยากจน ด้อยการศึกษา ขาดปัจจัย …เมื่อมีผู้ปลดปล่อยมาเป็นเพื่อน ผมก็อุ่นใจว่าชีวิตนี้ดูมีหวัง มากกว่าสิ้นหวัง มากกว่านั่งๆนอนๆมองคนในเมืองเติบโต มองข้าราชการมีเงินเดือนกิน… ผมก็ขอจับมือผู้ปลดปล่อยไว้ก่อน ผมไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก…

แล้วสังคมทุกหย่อมหญ้าทุกวันนี้มันต้องใช้เงิน เพราะมันเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับชีวิตเสียแล้ว แน่นอนเราไม่ได้หวังก้มหน้าหาแต่เงินๆ แต่ควรมีจำนวนต่ำสุดที่ควรจะมีรายได้ประกอบการพึ่งตัวเองแบบชนบท เพราะลูกต้องใช้จ่าย และครอบครัวต้องใช้จ่าย…

สภาพสังคมในปัจจุบันที่เคลื่อนตัวไปนั้น ได้สร้างความอึดอัดให้แก่ครอบครัวชนบท การจะมาฟังใครต่อใครพร่ำบ่นว่า ต้องพึ่งตัวเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้นั้น นายจืดอย่างผมก็คิดออก แต่เงื่อนไขของผมนั้นดูจะตีบตัน อุกอั่ง

หากไม่มีกระบวนใดๆของแผ่นดินก้าวออกไป จริงจังกับการเป็นเพื่อนคู่คิดกับเขา ละก็ มีคนที่อยากเป็นเพื่อนเขาจ้องอยู่ และกำลังทำงานเงียบๆอยู่แล้ว

ดูเหมือนคำกล่าวของฯพณฯพลเอกเปรมจะถูกต้องที่ว่า ..นโยบาย 66/23 ที่ท่านทำมากับมือนั้นล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่เสียแล้ว…


ที่นี่มีแรงงานขาย..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 19, 2010 เวลา 13:41 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1875

เช้านี้นายหล้อง เชื้อคำฮด เกษตรกรรุ่นใหม่ของเราที่ประสบผลสำเร็จในการทำการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาพบที่สำนักงานในเมือง

ผมเอาเงินมาคืน ส.ป.ก.ครับ ผมจ่ายคืนปีละ 7,000 บาท ปีหน้าก็หมดแล้วครับ นายหล้องบอกพวกเรา


ทางเราแอบดีใจที่หล้อง มีทัศนคติที่ดีต่อการทำการเกษตรแบบผสมผสานและการร่วมทดลองกับโครงการของเรา แม้ว่าจะใส่เสื้อแดง แต่หล้องไม่มีความคิดทางการเมืองแต่อย่างใด เขามุ่งหน้าสร้างครอบครัวใหม่ของเขาอย่างเข้มแข็งและมั่นใจ

อาจารย์ จะเอารถเข้าไปขุดสระน้ำประจำไร่นาให้ผมเมื่อไหร่ ผมอยากทราบ หล้องเอ่ยปากปรึกษากับผม ผมเลยเชคข้อมูลกับวิศวกรโครงการเรื่องนี้ ก็พบว่ารถจะเข้าไปขุดสระน้ำให้ประมาณปลายเดือนหน้า ผมถามว่า ที่ถามเรื่องนี้เป็นห่วงเรื่องการทำไร่ทำนาหรือ..เพราะฝนตกลงมาแล้ว ใครๆก็เริ่มขยับเรื่องนี้กัน

หล้องตอบว่า เปล่า..ผมจะไปจันทร์บุรี… จะไปรับจ้างเก็บเงาะ ผมเคยไปมาแล้ว ค่าจ้างแรงงานคิดกิโลกรัมละ 3 บาท ทำเพียงเดือนครึ่งเดือนก็ได้เงินก้อนเล็กๆกลับบ้าน… มีนายหน้าติดต่อแรงงานอยู่ที่บ้านเปียด ใกล้ๆอำเภอดงหลวงนั่นแหละ นายหน้าคิดค่ารถ 500 บาทต่อเที่ยว บางทีเจ้าของสวนก็ออกค่ารถให้ บางสวนก็ไม่จ่ายให้เราออกเอง


เมื่อเดือนก่อนผมก็ไปรับจ้างแบกเสาปูนที่หว้านใหญ่ ทำงานแค่ครึ่งเดือนครับ…

พิเคราะห์

  • ปกติโครงการหรือใครๆก็พยายามดึงแรงงานให้อยู่กับไร่นา โดยการสนับสนุนให้ทำการเกษตร ทำอาชีพเสริมต่างๆ และอื่นๆ
  • แต่กรณีนี้ หล้องไม่ได้เป็นแรงงานอพยพถาวร แต่เป็นแบบชั่วคราวที่ไปแล้วกลับในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน เมื่อภารกิจเสร็จก็กลับบ้าน ไม่ได้หางานอื่นต่อ
  • หล้องยังยึดการเกษตรเป็นอาชีพหลัก การขายแรงงานเป็นแบบชั่วคราว ครั้งคราว
  • หล้องใช้เวลาเพื่อขายแรงงาน ต่างจากหนุ่มรุ่นเดียวกันที่มักเลือกการขึ้นป่า ไปหาของป่าเพื่อกินเองและขาย
  • แม้หล้องจะเหล่ รถมอเตอร์ไซด์คันในฝันไว้ แต่ยังไม่มีเงินก้อนจะไปซื้อมา แต่ก็รับผิดชอบเงินกู้ ส.ป.ก. ที่ต้องเอามาคืนตามกำหนด
  • หล้องมุ่งหวังจะได้สระน้ำจากโครงการและใช้เลี้ยงปลา ขอบบ่อจะปลูกพืชสารพัดชนิด และแปลงมันสำปะหลังก็จะเอาความรู้ที่ร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตไปทำต่อ นาไร่ก็ทำตามปกติ แต่จะหันมาใช้ปุ๋ยน้ำหมักมากขึ้น
  • ผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านหล้องที่จะไปจันทร์บุรีเพื่อขายแรงงานกับสวนเงาะ ผมแอบสนับสนุนในใจเพราะรู้ว่าเป็นแรงงานชั่วคราว ดีกว่าอยู่บ้านในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
  • การเขามาถามช่วงเวลาที่ ส.ป.ก.จะไปขุดสระน้ำประจำไร่นา นั้น เป็นการมาหาข้อมูลเพื่อวางแผนงานตารางชีวิตของเขาว่าจะไปจันทร์บุรีไหม ไปเมื่อไหร่ เพื่อไม่สับสนกับช่วงที่มีการขุดสระ ใจจริงเขาให้น้ำหนักการได้สระน้ำมากกว่าไปจันทร์บุรี
  • หล้องเติบโตขึ้น พัฒนามากขึ้น รู้จักคิด พิจารณาอะไรก่อนหลัง อะไรควรไม่ควร


ผมป่าวนา..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 17, 2010 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3089

เส้นทางเข้า อ.ดงหลวง วันนี้กับเมื่อยี่สิบปีก่อนต่างกันลิบลับ


ลึกเข้าไปในพื้นที่ดงหลวงเพียงเลยที่ว่าการอำเภอไม่ถึงกิโลเมตร ถนนหนทางก็เป็นสีแดงที่โครงการผมรับผิดชอบไปพัฒนาขึ้นมาให้ใช้ได้ตลอดทั้งปี


เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระต๊อบหลังเล็กด้านในนั้น ยกธงแดง “โค่นอำมาตย์” ผมเห็นแล้วก็เจ็บปวดลึกๆด้านใน ที่พื้นที่ทำงานของผมปรากฏสิ่งเหล่านี้ เขาประกาศตรงไปตรงมาว่าเขาคือใคร คิดอะไร ต้องการอะไร ฯลฯ ผมซะอีกที่ไม่เคยเปิดเผยด้านลึกข้างใน อันเนื่องมาจากหน้าที่การงาน

วันนี้ผมมีความจำเป็นต้องเดินไปหาเขา ที่กระต๊อบหลังเล็กที่มีธงแดงปักอยู่นั้น


มีชายต่างวัยสามคน “นอนฟังวิทยุแดง” รายงานสถานการณ์ราชประสงค์จากรุงเทพฯอยู่พอดี ผมแนะนำตัวแล้วก็ขอนั่งลงคุยกัน

ความจริงวันนี้ผมไปเรื่อง “ผีปอบ” ที่ชายหนุ่มคนที่ไม่ได้ใส่เสื้อคนนั้นมีน้องชายถูกยิงตายเมื่อสองปีที่แล้วในเหตุที่เป็น ผีปอบ แล้วจะลงรายละเอียดเรื่องนี้อีกครั้ง..


คนที่ 1 คือ เจ้าของกระต๊อบหลังนี้ และเป็นเจ้าของธงแดง ลงมาร่วมกับเสื้อแดง 2 ครั้งแล้ว และติดตามสถานการณ์ตลอด อดีตคือทหารป่า คนที่ 2 คือ อดีตทหารป่าฝ่ายลำเลียงอาวุธ และเงินเดือน ปัจจุบันอายุ 87 ปี คนที่ 3 คือ อดีตนักปลุกระดมมวลชนที่เดินทางไปฝึกฝนมาจากเวียตนาม อายุ 76 ปีแล้ว

คนที่ 1 นั้นมาขออาศัยที่ดินลุงคนที่ 2 โดยปลูกกระต๊อบในที่ดินของลุง วันไหนไม่ได้ไปไหนๆก็จะมาร่วมกันฟังวิทยุเสื้อแดง และคุยกัน…

ผมสอบถามเรื่องราวตามวัตถุประสงค์จบแล้วก็วกเข้ามาเรื่องราชประสงค์


ชายคนนี้ กับเพื่อนอีกสามสี่คน เดินทางเข้าร่วมเสื้อแดงมาตลอด และเข้าร่วมค่ายการเมืองของเสื้อแดงที่นิคมคำสร้อย ด้านใต้ของจังหวัดมุกดาหาร

ผมถามว่าเขาอบรมกี่วัน เขาตอบว่าวันเดียว แล้วทำบัตรแดงหรือเปล่า เขาบอกว่าไม่ได้ทำ ไม่ทันได้ทำ ตั้งใจจะทำอยู่ แล้วได้เอกสารการเมืองมาเล่มหนึ่ง ผมเปิดดูคร่าวๆ มีแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่หมอเหวงและคุณธิดา ภรรยาหมอเป็นวิทยากรหลัก… ผมยังคิดว่า โห..ชาวบ้านจะอ่านรู้เรื่องรึ.. ผมขอยืมมาศึกษาดู แล้วชายคนนั้นก็หยิบแผ่น CD มาให้ผม อ้าวนั่นมัน อ๋อยนี่


ผมมาถึงบางอ้อ เขารู้ว่ากลุ่มคนเป้าหมายรากหญ้าในชนบทนั้นมีปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือ เขาก็ทำ CD ให้มาเปิดฟัง เพียงฟังเท่านั้น ฟังอ๋อย คุยเรื่องการเมือง…


แต่เสียใจนะอ๋อย ก็ชาวบ้านรากหญ้านั้นแค่ถือ CD มาดูรูปนายหล่อๆเท่านั้น ไม่มีเครื่องเปิดน่ะซี เขาก็ให้ผมมาเปิดฟัง

อ๋อย นายน่าจะไปเป็นพระเอกหนังฮอลลิวู้ด ประเภทเจมส์บอนด์ ได้เลยนะ รูปนายหล่อมากว่ะ..

แต่เอ..ผมหันไปพิจารณาวิทยุที่ชาวบ้านรากหญ้าเอาหูแนบฟังนั้น มีชื่อผมไปปรากฏที่นั่นด้วย..


เฮ้ย…..ผมเปล่านา…จริง จริง.. ผมถามเขาก็บอกว่า ไม่เคยสนใจ มันเป็นยี่ห้อวิทยุน่ะ.. เออ เอาซิ กลายเป็นกระบอกเสียงแดงไปแล้วววววววว

ผมป่าวนาาาาาา



Main: 0.10973000526428 sec
Sidebar: 0.59256410598755 sec