รับแขก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 8, 2010 เวลา 10:01 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2419

เป็นสำนวนที่เราต้อนรับผู้มาเยือน ความจริงคือเจ้าหน้าที่ JBIC มาดูงานโครงการในพื้นที่มุกดาหารที่ผมรับผิดชอบอยู่ เป็นปกติของงานลักษณะโครงการ แต่ผมมีประเด็นคิด

การมาลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นนั้น ส่วนมาก เป็นเจ้าหน้าที่คนหนุ่มสาวที่อายุไม่สูง แต่หน้าที่การงานเขาสูงมาก เป็นเพียงข้อสังเกตเฉยๆเพราะพบบ่อยเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ โดยเฉพาะ พี่ไทยเรา

การลงพื้นที่ของเขาเป็นแบบง่ายๆทีมกะทัดรัด ไม่ยกโขยงไปอย่างแบบพี่ไทย แค่ผู้ติดตามก็สองคันรถตู้อะไรทำนองนั้น ไปกิน ไปเที่ยว ไปทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ และไปใช้อำนาจสั่งนั่นสั่งนี้ แสดงบารมีคับฟ้าเสียมากกว่า จะสร้างสรรค์


ความจริงในโครงการที่ผมทำงานอยู่นั้นมี 4 จังหวัด แต่ผมรับผิดชอบมุกดาหาร การรับแขกนั้นน้อยกว่าจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม คงมีหลายเหตุผล ประการหนึ่งคือ การเดินทางสะดวก เพราะขอนแก่นมีสนามบิน บินมาเช้า กลับเย็นได้ ไม่เสียเวลาเดินทางมากนัก แต่ที่มุกดาหารนั้นต้องลงเครื่องบินที่อุบลฯหรือสกลนครแล้วนั่งรถไปอีก เกือบสองชั่วโมง หากไม่ตั้งใจไปจริงๆก็มักจะขอดูงานที่ขอนแก่น มหาสารคาม แต่ทั้งนี้ขึ้นกับผู้จัด จะจัดไปดูที่ไหนเสียมากกว่า

การมาดูงานมาในฐานะที่แตกต่างกัน พี่ไทยมาพร้อมกับอำนาจ แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่าข้านี่ใหญ่แค่ไหน ดุด่าว่ากล่าวกันแบบไม่ไว้หน้ากันเลย และหลายครั้งเป็นการแสดงเพื่อวัตถุประสงค์ที่ซ่อนเร้น กล่าวในที่นี้ไม่ได้ เหมือนกันไปหมด ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ยิ่งใหญ่มากก็ยิ่งแสดงอำนาจมาก ผมเคยพบขนาดสั่งย้ายหัวหน้าส่วนระดับจังหวัดในยี่สิบสี่ชั่วโมงทั้งที่ผู้สั่งและผู้ถูกสั่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกันมา เพียงตอบคำถามไม่ชัดเจน ต่อหน้าที่ประชุมคนเป็นร้อย โดยไม่เปิดใจกว้างรับฟังรายละเอียดของเหตุและผล ผมนั้นไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ก็สงสารจริงๆ และสงสารประเทศที่มีเจ้านายแบบนี้มาปกครอง

ถามว่าเคยพบเจ้านายดีดีบ้างไหม มีครับ พบครับ แม้ท่านจะหมดอายุราชการไปแล้วผมก็ยังระลึกถึงท่านเหล่านั้นอยู่เลย ท่านมีเมตตา นิ่งสงบ ให้กำลังใจและหาทางช่วยแก้ปัญหามากกว่า

แต่หนึ่งประเด็นที่ติดใจ คือ บางช่วงมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ มาติดตามผล มาประเมินผล ทั้งประเมินเล็กประเมินใหญ่ กรณีของJBIC นั้นก็ยังใช้คนหนุ่มสาว ซึ่งผมคิดว่า เขาช่างดีจริงเขาเอาเด็กหนุ่มสาวมาหาประสบการณ์ เพราะการมาทำหน้าที่แบบนั้นต้องลงลึกในรายละเอียด เหตุผล และเงื่อนไขต่างๆของกิจกรรมที่ดำเนินไป และสาระตรงนี้คือประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นข้อมูลด้านลึก เมื่อใครมาทำหน้าที่ย่อมที่จะได้สาระตรงนี้ไป ผมคิดว่า ทำไม ระบบของเราไม่สร้างเงื่อนไขให้คนไทยมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะประสบการณ์ที่ได้จะตกกับคนไทย ประเทศไทย


แต่นี่หนุ่มสาวญี่ปุ่นมาทำ ประสบการณ์ไปอยู่กับเขา เรารู้ดีว่าเมื่อเอาข้อมูลดิบในสนามไปเขียนรายงาน ในรายงานก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เขียนตามระบบ ตาม แบบฟอร์มที่กำหนดมา แต่รายละเอียดที่ไม่ได้เขียนมีอีกเยอะ และที่ร้าย ส่งรายงานให้พี่ไทย ก็ไม่อ่านอีก หรืออ่านแบบผ่านๆ

แล้วใครได้สาระมากกว่ากัน…. หลายครั้งผมคิดเลยไปถึงว่า ระบบนี้ เหมือนญี่ปุ่นส่งเด็กรุ่นใหม่มาฝึกงาน และความรู้ ประสบการณ์ที่ได้เขาจะพัฒนากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติในอนาคต โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาชนบท

ให้ตายซิ ญี่ปุ่นเขามีชนบทแบบไหนกัน เขามาเรียนและสร้างประสบการณ์จากบ้านเรานี่แหละ ที่เขียนมาไม่ได้จะโจมตีญี่ปุ่น แต่ตั้งประเด็นสำหรับพี่ไทยเราต่างหาก

เรากู้เงินเขามา แล้วเขายังส่งเด็กรุ่นใหม่มาพัฒนาเพื่อก้าวไปเป็นมืออาชีพในอนาคต และบางปีเขาเอาผู้แทนประชาชนจากญี่ปุ่นมาดูงานอีกนับสิบๆคน ผมงงว่าทำไมเขาต้องเอาชาวบ้านญี่ปุ่นมาดูงาน

เขาอธิบายว่า เงินที่เราไปกู้เขามานั้น เป็นเงินของประชาชนคนญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องเอาผู้แทนประชาชนตามมาดูว่า เอาเงินมาทำอะไรบ้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร..

แต่ผมเดาออกว่าความหมายมีมากกว่านั้น

ท่านคิดว่าอย่างไรล่ะครับ



อุปสรรคของการพึ่งตนเองของชาวบ้าน..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 26, 2010 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3116

งานพัฒนาชนบทคือการพัฒนาคน ล้วนเป็นงานที่ยากยิ่งหากหวังคุณภาพ

การพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นประเด็นใหญ่ที่นับตั้งแต่มีพระราชดำริ หน่วยงานต่างๆก็ขานรับเอาไปปฏิบัติ หน่วยงานที่ทำงานอยู่ก็น้อมรับเอาแนวทางนี้มาปฏิบัติ และมีการติดตาม มีการประเมินผลโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เน้นให้เขาคิดเองกำหนดตัวชี้วัดเอง แม้ว่าเราจะมีกรอบความคิดที่ครอบคลุมมากกว่า แต่ก็ยอมรับการพัฒนาระบบคิดของเขาก่อน แล้วใช้ผลการประเมินสะท้อนกลับไปพัฒนาตัวชี้วัดในช่วงเวลาต่อไป ….การพัฒนาต้องใช้เวลา

เครือข่ายไทบรู ดงหลวง มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนคร เมื่อเราขอให้คณะกรรมการและสมาชิกประชุมเพื่อกำหนดตัวชี้วัดการพึ่งตนเองขึ้นมาก็ได้แบบฉบับของเขา


ที่ประชุมกำหนดตัวชี้วัดเป็น 4 ด้านหลัก และแบ่งเป็นรายละเอียดย่อยๆอีกเยอะแยะ ซึ่งที่ประชุมมีมาตรฐานการพึ่งตัวเองไว้เป็น “ธง” คณะกรรมการเครือข่ายก็สนับสนุนให้สมาชิกพยายามปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐาน เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ไปประเมินผลโดยใช้มาตรฐานของเขาเป็นตัวตั้ง โดยให้เขาเป็นผู้ถกเถียงกันให้ถึงที่สุดแล้วสรุปเอามาเป็นมติของที่ประชุม ซึ่งเรียกว่า Group Assessment


ผลการประเมินที่ออกมาเราพบว่า คณะกรรมการและสมาชิกมีการพึ่งตัวเองสูงกว่ามาตรฐานหรือบางประเด็นก็เท่ากับค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แม้ว่าจะมีสมาชิกบางส่วนที่มีบางตัวชี้วัดต่ำกว่ามาตรฐานที่เขากำหนด แต่ก็มีเหตุผลที่เรามักไม่ค่อยสืบสาวราวเรื่องมาตีแผ่กัน


ต่อไปนี้เป็นประเด็นหลักสองสามเรื่องที่น่าสนใจ

  • เมื่อเราใช้เทคนิคการประเมินตนเอง (Self Assessment) เมื่อเขาประเมินเสร็จ เอาผลไปให้เพื่อนๆพิจารณาพบว่า เกือบทั้งหมดประเมินตนเองต่ำ เพื่อนๆบอกว่าผลการปฏิบัติของเขาสูงกว่าที่เขาประเมินตนเอง…นี่คือชนเผ่าบรู… หากคนภายนอกควรที่จะเข้าใจความจริงข้อนี้ด้วยเพื่ออธิบายผลการทำการประเมินตนเอง
  • เรามีข้อสงสัยว่ามีสมาชิกหลายคน แม้กรรมการเครือข่ายหลายคน มีผลการปฏิบัติที่เราคิดว่าน่าจะสูงกว่าที่ผลการประเมินออกมา แม้ว่าจะอยู่สูงกว่าเกณฑ์ก็ตาม เราก็เลยถือโอกาสทำ Family profile คือเจาะลึกข้อมูลของครอบครัว แล้วเราก็พบคำตอบ
    • พบว่า ร้อยละ 80 ของสมาชิกเครือข่ายที่ทำการเกษตรผสมผสานและสร้างเงื่อนไขการพึ่งตนเองบนที่ดินที่ยังไม่ได้รับโอนมาจาก พ่อและแม่ ..อาจารย์ ผมยังไม่รู้ว่าพ่อแม่จะเอาที่ดินผืนนี้ที่ผมลงมือทำเกษตรผสมผสานนี้ให้ลูกคนไหน เรามีพี่น้องหลายคน เคยมีตัวอย่างแล้วที่ ลงมือทำเต็มที่ แต่ในที่สุดแม่เอาที่ดินตรงนั้นไปให้น้อง.. ประเด็นนี้สำคัญมากในมุมของชาวบ้าน เพราะไม่กล้าทำการเพาะปลูกเต็มที่ ทั้งที่คิดอยากจะปลูกนั่น นี่ …นี่คือเหตุที่ทำให้การประเมินผลออกมาไม่สูง เหมือนความคิดที่ยกระดับสูงไปนานแล้ว…นี่คือเรื่องใหญ่
    • พบว่า โครงการกองทุนเงินล้าน กองทุน กข.คจ. กองทุนปฏิรูปที่ดิน กองทุนสารพัด.. ที่รัฐบาลเองลงไปในหมู่บ้าน และบางส่วนมีหนี้นอกระบบ ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สินมากมาย อย่างน่าเป็นห่วง ชาวบ้านแก้ปัญหาโดยการกู้กองทุนนี้ไปปิดหนี้กองทุนโน้น วนไปวนมา บางคนก็รอดพ้น แต่จำนวนมากมีแต่หนักขึ้นเพราะอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีอัตราเสี่ยงสูง ทั้งธรรมชาติและการใช้จ่ายในครอบครัว ค่านิยม และความจำเป็นอื่นๆ เช่น บางครอบครัวส่งลูกเรียนหนังสือมหาวิทยาลัยถึงสองคน ภาระหนี้สินไปกระทบวิถีชีวิต เมื่อถึงกำหนดส่งเงิน หลายคนต้องออกจากหมู่บ้านไปหาเงิน โดยการขายแรงงานทุกรูปแบบเพื่อเอาเงินมาใช้คืน…แน่นอนการอุทิศเวลาเพื่อทำเกษตรผสมผสาน เพื่อบรรลุมาตรฐานการพึ่งตนเองก็ด้อยลงไป ถามว่ามีจำนวนเท่าไหร่…มากกว่าร้อยละ 60 หนักเบาแตกต่างกันไป..

การพึ่งตนเองของชาวบ้านในบางกรณีนั้นเริ่มต้นที่ติดลบ

การทำงานของหน่วยงานเป็นการทำงานเฉพาะส่วน หนี้สินของชาวบ้านที่มีกับที่อื่นเป็นเรื่องของชาวบ้านหน่วยงานนี้ไม่เกี่ยว… เหมือนธนาคารที่ไม่สนใจว่าคุณมีภาระอะไร แต่หนี้ที่คุณมีต้องเอามาคืนเงื่อนไขต่างๆนั้นธนาคารไม่รับรู้..

แต่การทำงานพัฒนาชนบทแบบ “ทั้งครบ” นั้นต้องเอาปัญหาชาวบ้านทั้งหมดมาแบกด้วย ไม่แยกส่วน นี่แหละยาก


เส้นทางของเพ็ญ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 22, 2010 เวลา 1:07 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2840

การนำหลักการพึ่งตนเองไปประกาศให้ประชาชนเป้าหมายได้นำไปพิจารณาปฏิบัตินั้น แต่ละคำพูดก็ออกมาจากฐานความคิดบนสิ่งที่เรียกว่าเหตุและผล ประกอบกับการศึกษาดู สัมผัสของจริงในสถานที่ต่างๆ จนเรามั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ควรนำไปประกาศ

แต่เราไม่เคยปฏิบัติเอง..เพียงหัวใจเราเชื่อมั่น

เพ็ญ เป็นชื่อของชาวบ้านคนหนึ่ง ไม่ใช่อีเพ็ญ แต่เป็นนายเพ็ญ ชายหนุ่มทั้งแท่งด้วยอายุ 47 ปี เขาตระเวนไปขายแรงงานทั่วประเทศไทย ที่ไหนมีงานจ้างเขาไปที่นั่น

แต่แล้ววันหนึ่งเขาเบื่อที่จะเร่ร่อนไปใช้แรงงานรับจ้าง เพราะมองไม่เห็นทางที่จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้เลย เพียงสติที่กระตุกเขากลับมาให้คิดในสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ เมื่อไม่มีคำตอบเขาเดินทางกลับบ้านดงหลวงของเขา ทั้งที่ก็ยังคิดไม่ออกว่า แล้วจะทำอะไร

มือที่จับจอบเสียมนั้นต่างจากมือในวันเวลาที่ผ่านไป ผืนที่ดินที่ “แปนเอิดเติด” (โล่งเตียน) ตรงหน้าเขานั้นเขาถามตัวเองว่า จะทำอะไรกับที่ดินตรงนี้ อนาคตเขาจะทำอะไรที่แตกต่างไปจากเพื่อบ้าน พ่อแม่ ที่ต่างก็ย่ำรอย ความยากจนมาตลอด

เป็นช่วงเวลาที่พวกเราเข้าไปทำงานในพื้นที่ ตระเวนไปหาชาวบ้านผู้มีแววแห่งศักยภาพ หรือสนใจ เรานั่งคุยกัน เราชักชวนผ่านผู้นำในพื้นที่ไปดูงานการทำเกษตรผสมผสานเพื่อการพึ่งตนเอง เพ็ญเดินทางไปกับพ่อใบลิกา และพวกเรา ไปดูงานอินแปง ที่นั่นเพ็ญเห็น พ่อเสาร์ พ่อนั่น พ่อนี่ปลูกแต่ต้นไม้เต็มไปหมดบนที่ดินทั้งผืนเล็กผืนใหญ่ แทบจะไม่มีช่องว่างจะให้เดิน ดูพ่อเหล่านั้นอิ่มเอิบมีความสุข มีกินทุกอย่าง มีเสียงนกเสียงกา มีมดแดง มีเห็ดของโปรด มีหน่อไม้ ใบไม้ที่เป็นของเคียงลาบบ้านเรา

เพ็ญแอบคิดเงียบๆว่านี่แหละคือสิ่งที่เขาเดินหา พบแล้ว นี่คือวิถีที่เราต้องการ

อาว์เปลี่ยนเอาระบบน้ำไปให้สนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการและมีแวว วันนั้นเพ็ญหลุดปากออกมาว่า “ผมจะทำให้ส.ป.ก.ดังให้ได้” พวกเราพยักหน้าแล้วก็ลืมไปหมดแล้วว่าเพ็ญพูดอะไรวันนั้น..

วันเวลาที่เปลี่ยนไป จากวันเป็นเดือนเป็นปี เป็นสองปี สามปี สี่ปี….กิจกรรมมากมายผ่านมือเรา สมองเรา ทีมงานและก้าวข้ามปัญหา อุปสรรค การทะเลาะเบาะแว้งกันตามปกติของคนทำงานและความคิด

วันนั้นเพ็ญจูงมือเราไปเยี่ยมแปลงของเขา ว่าอาจารย์ไปดูแปลงผมหน่อย

มันไม่ใช่.. เพ็ญทำอะไรลงไป …บนที่ดินที่เมื่อสามปีที่แล้วมีแต่ดินกับดินและดินไม่มีต้นไม้สักต้น… บัดนี้เต็มไปด้วยต้นไม้สารพัดชนิดเต็มพื้นที่ไปหมด เพียงสามปีบนที่ดินว่างเปล่า บัดนี้เป็นสวนไม้ผลไม้ยืนต้น พืชผัก ไม้ป่านับชนิดไม่ถ้วนที่เพ็ญใช้สองมือปลูกมันด้วยตัวเขาเอง กับศรีภรรยา

ผมจับมือเพ็ญแน่นๆ มองหน้าเขา พร้อมกับโอบไหล่เขา โดยไม่พูดอะไร เราสื่อกันด้วยความรู้สึก…

เมื่อเช้าผมตัดกล้วยไปขายริมถนนได้ 200 บาท วันก่อน ข่า ตะไคร้ คอนแคน ได้มา 300 บาทไม่ต้องไปตลาด แค่ตัดแล้ววางไว้ริมถนนแม่ค้าแย่งกันมาซื้อไปขายที่ อ.เขาวง วันไหนผมตัด เก็บพืชผัก ผมก็ได้เงินทุกวัน

ลูกหลานกลับจากโรงเรียนก็แวะมาสวนผม ผมก็เก็บหมากเม่าให้กิน ปากดำไปเลย เด็กๆก็วิ่งเล่นในสวน..มีความสุข

ผมหลับตาเห็นป่าครอบครัวกำลังโตขึ้นมาบนที่ดินผืนนี้ที่เมื่อสามปีที่แล้วไม่มีต้นไม้สักต้น.. เหมือนพ่อแสนบ้านเลื่อนเจริญ แล้วชีวิตวันวันก็วนไปวนมาอยู่ที่สวนนั่นแหละ เผลอไม่นานก็หมดวัน เพลินไปกับทำโน่นทำนี่กับต้นไม้ทุกต้นในสวน..

มันเป็นความสุขลึกๆของคนทำงานพัฒนา ที่ไม่มีใครมองเห็น

นี่คือฝีมือ ลุงเปลี่ยน.. เมืองหงสา.. เพ็ญเขาฝากความระลึกถึง


สึนามิ..ที่สกลนคร

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 18, 2010 เวลา 22:55 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 3921

ในงานสัมมนาใหญ่ของโครงการซึ่งไปจัดที่สกลนคร นั้น มีการจัดนิทรรศการ ออกร้านเล็กๆกัน และที่ขาดไม่ได้คือ ผ้าคราม อ.กุดบากบ้านคำข่าและบ้านอื่นๆ ที่โด่งดังไปถึงญี่ปุ่น


คนข้างกายผมนั้นประเภทคลั่งไคล้ผ้าฝ้ายพื้นบ้าน และย้อมคราม ในตู้เสื้อผ้าล้นออกมาข้างนอก ขนาดผมได้เสื้อฝ้ายย้อมครามมาจากหลวงพระบาง เธอก็ยึดเอาไปซะ อ้าว..เอาเธอมาขายซะแหล่ว อิอิ..


ในงานนี้ชาวบ้าน แม่ แม่ หลายท่านเอาตัวอย่างผ้าฝ้าย ย้อมครามมาเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ท่านรู้ดีว่าสมาชิกสัมมนาครั้งนี้เป็นชาวบ้านเหมือนกัน มีเพียงเจ้าหน้าที่ไม่กี่คน กระนั้นแม่แม่ก็เอาผ้ารุ่นใหม่ตัวอย่างมาให้ดู


แม่บอกว่าเป็นลาย “สึนามิ” คลื่นน้ำนั้น ย้อมด้วยมะเกลือจะได้สีน้ำตาลดำ สีคราม ย้อมด้วยคราม และสีน้ำตาลย้อมด้วยประดู่ ล้วนเป็นการย้อมสีธรรมชาติ และมีมากกว่านี้ ลายก็เล็กใหญ่ต่างกัน


แค่เอามาวางเท่านั้น สาวๆจากกรุงเทพฯก็วิ่งไปคว้าหมดเลย ทั้งกระเป๋า ผ้าสึนามิ แค่ผมไปหยิบเท่านั้น สาวๆจากกรุงเทพฯก็ร้อง พี่บู๊ด อยู่ใกล้ อยู่ในพื้นที่ ปล่อยให้หนูเถอะ แล้วเธอก็คว้าคนละผืนสองผืน เกลี้ยงเลย…

สกลนครนั้นเป็นแหล่งฝ้าย คราม ไม่ใช่ผลิตผ้าฝ้ายย้อมครามและแปรรูปเท่านั้น หลายท่านไม่ทราบว่าผ้าย้อมครามที่เชียงใหม่ แพร่ และอีกหลายจังหวัดนั้น ใช้ครามจากสกลนคร ปีปีหนึ่งเงินหมุนเวียนนับสิบล้านครับ…???!!!!

เพราะสกลนครเป็นแหล่งปลูกต้นคราม และผลิตเนื้อครามก้อน ส่งไปขายดังกล่าว

ชาวบ้านนั้น Creative ที่ลำพูนมี…ซิ่นแดง… ที่สกลมีผ้าฝ้าย “สึนามิ”

แต่จุ๊จุ๊..ผมแอบมี ผ้าลายสึนามิ แต่เป็นไหมเรยองจากจีน ที่มีคุณสมบัตินิ่มๆ เหมาะสำหรับสาวๆ ส่วนผ้าฝ้ายลายสึนามินั้น สั่งทอไว้แล้วครับ.. จะเอาไปให้คนข้างกาย สะสม อิอิ เอาใจเธอหน่อย


ทายาทเกษตรกร

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 18, 2010 เวลา 0:13 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2839

ผมไม่คิดว่าเธอจะเสแสร้ง ผมเชื่อว่าเธอเหล่านั้นพูดความจริง

ผมต้องชื่นชมงานของมูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน เพื่อนร่วมโครงการที่เป็น NGO รับงานด้านพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และงานที่สำคัญคือ สร้างทายาทเกษตรกรขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง


การสัมมนาของเรามีเกษตรกรในโครงการเข้าร่วมมากกว่า 200 คนมาจาก 4 จังหวัดในโครงการคือ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร มูลนิธินี้เป็น เพียงหนึ่ง NGO ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผ่านเครือข่ายอินแปงที่ลือลั่นในอีสานมานาน

ท่านอาจารย์อนันต์ กาญจนพันธ์ แห่งมช.รายงานมานานแล้วว่า โครงสร้างสังคมชาวนาเปลี่ยนไป และหลายปีก่อนเพื่อนรักที่กำลังจะบวชที่เชียงใหม่ก็โทรมาคุยว่า “เฮ้ย..บู๊ด ชาวนาเชียงใหม่เปลี่ยนไปแล้วว่ะ ไม่มีใครทำนาแล้ว เป็นผู้จัดการนาต่างหาก เพราะจ้างแรงงานต่างชาติ เช่นพม่ามาทำแล้ว…??”

ผมกึ่งไม่เชื่อ แต่ก็ต้องจำนนความจริง เหมือนใครต่อใครกล่าวว่า พ่อแม่สร้างสมประสบการณ์เกษตรมามากมาย ปราชญ์และไม่ปราชญ์ทั้งหลายนั้น ลูกหลานท่านจะสืบต่ออาชีพเกษตรกรสักกี่ราย ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่ตำหนิท่านเหล่านั้น แต่สังคมเราเคลื่อนไปทางนั้น ไม่ว่าใครก็หันหน้าไปทางนั้น หันหลังให้ภาคเกษตร ระบบสังคมไม่ได้ใส่ใจจริงจังมากกว่า

แต่วันนี้ NGO นี้ได้สร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาจากการโน้มนำลูกหลานผู้นำเกษตรกรที่ร่วมงานมาพูดคุย มาศึกษา อบรม ศึกษาดูงาน ทำกิจกรรม และลงมือรับผิดชอบงานร่วมกับพ่อแม่

หญิงสามชายหนึ่งบนเวทีในรูปนั่นคือตัวแทนกลุ่มลูกหลานชาวนาของจังหวัดสกลนคร ขอนแก่น มหาสารคามและมุกดาหารที่ล้วนจบปริญญาตรีจากสถาบันต่างๆไม่ไปทำงานที่อื่น กลับมาบ้านเอาศักยภาพมาปรับการเรียนรู้การเกษตรและหลักการการพึ่งตัวเองในท้องถิ่นที่เขาเหล่านั้นอาศัยอยู่


น้องแต๋ว เธอคือลูกสาวของพ่อหวัง วงษ์กระโซ่แห่งเครือข่ายไทบรูดงหลวงเธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า ….”หนูไม่ลืมกำพืดของเกษตรกร” หนูเรียนรู้การเพาะกล้าไม้ ทำเรือนเพาะชำ ทำของใช้ในครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ ทำเกษตรผสมผสาน แปรรูปน้ำผลไม้ และอื่นๆ…. แรกๆหนูก็ไม่สนุก แต่หนูได้คุยกับเพื่อนๆที่มาจากต่างจังหวัดต่างก็เป็นลูกชาวนาเหมือนหนู.. แล้วหนูก็สำนึกได้ว่า นี่คือกำพืดหนู..สิ่งที่หนูทำไปตามที่พี่พี่เขาแนะนำนั้น มันทำให้หนูตระหนักถึงชีวิตที่ควรดำรง…

เล่นเอาผู้ใหญ่ พ่อ พ่อ แม่ แม่ ทั้งหลายน้ำตาคลอไปเลยจากคำสารภาพหลังจากที่เธอกล่าวเสร็จแล้วพิธีกรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น พ่อท่านหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า ผมซาบซึ้งใจที่ลูกหลานเหล่านี้ได้สำนึกและก้าวเดินตามรอยพ่อแม่ ซึ่งเชื่อว่าเธอจะก้าวไปดีกว่า เพราะเธอเหล่านี้ผ่านระบบโรงเรียนมาสูงกว่าพ่อแม่ และหันกลับมาบ้านเรา ทุ่งนาของเรา วัวควายของเรา ต้นไม้ของเรา ในฐานะที่เป็นพ่อคน ตื้นตันใจที่ลูกๆหลานได้สำนึกในกำพืดของเรา.. เล่นเอาที่ประชุมซึมไปเลย…

น้องแต๋ว เธอเป็นลูกพ่อหวัง วงษ์กระโซ่(ที่เพิ่งออกรายการคุยกับแพะ) แม่ของเธอ สนิทสนมกับเรามาตลอดเราเห็นเธอเป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้ว่าจะเป็นวัยรุ่น ที่มีกลิ่นอายของวัยรุ่นติดอยู่ แต่สำนึกของเธอนั้น ก้าวข้ามสังคมทุนไปแล้ว

เหลือแต่หน่ออ่อนเหล่านี้ต้องคอยรดน้ำพรวนดินให้เติบโตเข้มแข็ง ต่อสู้กับปัญหาข้างหน้าอีกมากมาย หากผ่านไปได้เธอก็คือของจริงที่จะยืนอยู่เคียงข้างพ่อแม่ และสืบต่อสังคมในยุคสมัยของเธอ เราพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้เธอเหล่านั้นอยู่แล้ว…


ท่ามกลางความมืดมน ก็มีแสงสว่างส่องรอดช่องออกมาบ้างนะครับ

ความเหนื่อยล้าของพ่อครูบาฯไม่สูญเปล่าหรอกครับ..


เรื่องของมัน.. พัฒนาการ

อ่าน: 2400

ประมาณปีพ.ศ. 2525 ผมทำงานที่สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่าพระ ขอนแก่น สมัยนั้นในโครงการพัฒนาการเกษตรอาศัยน้ำฝน (NERAD=Northeastern Rainfed Agricultural Development) โดยมี USAID เป็นผู้ให้เงินทุน กับทีมผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัย Kentucky ผมเพิ่งก้าวข้ามมาจาก NGO มาร่วมงานเป็นผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ ครั้งแรก ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมประจำโครงการ ตื่นเต้นซะ..

ในที่ทำงานเดียวกันช่วงนั้นมีโครงการคู่ขนานกันและใช้สำนักงานเดียวกันคือโครงการของกลุ่มประชาคมยุโรปเรื่อง “การลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง”.. ลำดับเรื่องนี้คือ หลังจากที่มีการปฏิวัติเขียว Green Revolution ที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาเรื่องการปลูกปอกระเจา เพื่อทำกระสอบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จึงมีการนำเข้าปอมาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2503 ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เพียงไม่กี่ปีวาทกรรมทางการเกษตรระเบิดเถิดเทิงก็เกิดขึ้นคือ “ปอมาป่าแตก” ชาวบ้านถากถางป่าเพื่อใช้ปลูกปอกันมากมาย พื้นที่ป่าลดลงมหาศาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเก็บเกี่ยวปอต้องมีขั้นตอนมาก โดยเฉพาะอาศัยน้ำแช่ ซึ่งเกิดการเน่าส่งกลิ่นเหม็น ต้องเอามือมาลอกปอกเอาเปลือกออก มือไม้พังหมด และเพียงไม่กี่ปีราคาก็ตกต่ำ เพราะปอที่ใช้ทำกระสอบนั้นถูกพลาสติกที่เป็นผลผลิตของปิโตรเคมีตีแตก

ก็มาถึงยุคมัน ชาวบ้านเลิกปลูกปอ เริ่มมาปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพืชปลูกง่ายให้เทวดาดูแลก็ได้ผลผลิต การหักล้างถางพงก็ระเบิดอีกครั้ง ป่าไม้ถูกทำลายอีกขนานใหญ่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ่อค้าเปิดลานมันและส่งออกไปยุโรปเป็นอาหารสัตว์ ผลผลิตมากมายจากบ้านเราตีตลาดการเกษตรเพื่ออาหารสัตว์ของกลุ่มประเทศยุโรปกระเจิดกระเจิง จนในที่สุดกลุ่มประชาคมยุโรปเจรจากับประเทศไทยเพื่อขอให้ลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเอาพืชอื่นมาทดแทน โดยใช้เงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศมาต่อรอง…

โครงการนี้เองที่ทำคู่ขนานกับช่วงที่ผมมาทำโครงการเกษตรอาศัยน้ำฝนที่ท่าพระ อยู่คนละตึก และเพียงสองปีที่ทำก็เกิด “โครงการอีสานเขียว” ตามมาอีก.. อย่างไรก็ตามโครงการลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทำอยู่ประมาณ 5 ปีก็สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถลดพื้นที่ลงได้จริง เอาพืชอื่นมาทดแทนเช่น หม่อนไหม ไม้ผล ก็โดนไหมเวียตนามตีแตก โครงการไม้ผลก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มันสำปะหลังก็เป็นพืชควบคุมแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ชาวบ้านยังขยายพื้นที่ปลูกอย่างไร้ขอบเขต

ก่อนหน้านี้ในวงการพัฒนาชนบทมีการส่งเสริมแนวคิด “การพัฒนาเพื่อยืนอยู่บนขาตัวเอง” แนวคิดนี้องค์การสหประชาชาติประมวลแนวทางการพัฒนามาจากทั่วโลก จากการเติบโตมหาศาลของระบบทุน ผมจำได้ว่ามีตัวอย่างจากต่างประเทศมากมายที่เราเรียนรู้กัน ส่งข้าราชการไปดูงาน เช่น ซาโวดาย่าที่ประเทศศรีลังกา แซมาเอลอันดองที่เกาหลีใต้ คิบบุท และโมชาปที่อิสราเอล

ขณะที่ “ในหลวง” ของเราพัฒนา “โครงการหุบกระพง” มีนักวิชาการองค์การสหประชาชาติฝ่ายการพัฒนาเขียนหนังสือเล่มเล็กนิดเดียวชื่อ “การพัฒนาความด้อยพัฒนา” โดย อังเดร กุลเทอร์ แฟรงค์ โลกจึงแบ่งประเทศเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา อีเอฟ ชูเมกเกอร์เขียน “จิ๋วแต่แจ๋ว” ฟริจอบ คาปรา เขียนเต๋าออฟฟิสิกส์ เขียน “The Turning Point” หนังสือดีดีอีกมาก เช่น เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ฯลฯ

เป็นช่วงที่ NGO เติบโตในเมืองไทยมากที่สุดเพราะสงครามลาว เขมร เวียตนาม มีค่ายอพยพรอบชายแดนไทย International NGO เข้ามาทำงานมากมายและขยายมาทำงานพัฒนาชนบทไทยด้วย  วิพากย์งานพัฒนาของรัฐและชี้แนวทางการพัฒนาที่ควรจะเป็นไปที่สำคัญสุด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ท่านเอาแนวคิดของ ดร.เจมส์ ซี เยน จากประเทศฟิลิปปินส์มาใช้ในเมืองไทย ท่านไปตั้งโครงการบูรณชนบทขึ้นที่ชัยนาทที่ชื่อ Thailand Rural Reconstruction Movment โดยใช้หลัก Credo 10 ประการ แนวความคิดการการยืนอยู่บนขาตัวเองก็พัฒนามาเป็น “การพึ่งตัวเอง”เป็นครั้งแรกที่ใช้หลักการให้เคารพชาวบ้าน ไปหาชาวบ้าน ใกล้ชิดและเรียนรู้จากชาวบ้าน ร่วมคิดร่วมทำกับชาวบ้าน ไม่ใช่ไปสอนเขา ฯลฯ

ดร.ป๋วยอีกนั่นแหละที่จัดตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น ฝึกอบรมและส่งนักศึกษาลงชนบท กลับมาให้วุฒิบัตรติดตัวไป ส่งผลกระทบให้หลายมหาวิทยาลัยมีโครงการบัณฑิตอาสาสมัครมากมาย จนถึงทุกวันนี้ เกิดภาควิชาพัฒนาชุมชนขึ้นในหลายมหาวิทยาลัยจนปัจจุบัน…

แต่ละประเทศก็ทบทวนการพัฒนา และมองหาทางออก ขณะที่ทุนนิยมก็ฟุ้งกระจายสุดจะยับยั้งในวงการจึงเรียกว่า “การพัฒนากระแสหลัก”ชักจูงประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกสนับสนุนแนวคิดนี้ว่าอุตสาหกรรมจะโอมอุ้มคนยากจนได้ในที่สุดตลอดช่วงการพัฒนากระแสหลักนี้ก็คู่ขนานไปกับการเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมไปทั่วโลก เกิดสงครามไปทุกภาคของโลก

ในวงการพัฒนาก็โจมตีมันสำปะหลังว่าเป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่พึ่งพาตลาดที่มีนักธุรกิจเกษตรกุมอำนาจราคาอยู่ ทางราชการที่เน้นงานพัฒนาเพื่อการพึ่งตัวเองก็ต่อต้านไม่แนะนำให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง โดยชี้จุดอ่อนของมันสำปะหลังที่กินดิน กินปุ๋ยทำให้ดินหมดความอุดมสมบูรณ์…ราคาต่ำ..

(ต่อตอนสอง…ให้การเท็จ)


ข้าหลวงกับดงหลวง

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 11, 2010 เวลา 23:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2393

ข้าหลวงในวัง และนายทหารระดับสูงเดินทางเข้าไปดูงานปราชญ์ดงหลวงวันนี้

พ่อชาดี พ่อแสน และผู้นำหลักของเรา เช่น พ่อหวัง และผู้นำรุ่นสองคือ สีวร

วัง..มีพระราชดำริจะศึกษาความสำเร็จของเกษตรกรในพื้นที่ไปเป็นตัวอย่างแก่หมู่บ้านในชนบทอื่นๆ


ท่านข้าหลวง..ติดต่อมาแบบไม่เป็นทางการ เพราะไม่ต้องการให้ข้าราชการในจังหวัด พื้นที่ทราบ ต้องการมาแบบส่วนตัวเพราะต้องการพบประชาชนจริงๆ เรียนรู้จริงๆ….

บังเอิญเหลือเกินที่วันอาทิตย์ผมมีนัดกับผู้นำเครือข่ายไทบรู ซึ่งปกติอยู่กับครอบครัวที่ขอนแก่น ขณะที่ประชุมกับชาวบ้าน ดร.วีระชัยฯ ท่านรองเลขาฯ สปก.โทรเข้ามือถือว่า พี่บู๊ดอยู่ไหน ผมบอกว่ากำลังประชุมกับผู้นำไทบรู ท่านบอกว่าดีเลย รอรับคณะข้าหลวง..จะมาดูงาน เดี๋ยวจะมาถึง และมาแบบส่วนตัวจริงๆไม่แจ้งอำเภอ จังหวัด ตำรวจ ทหาร ไม่ต้องทั้งสิ้น….

คณะนี้ท่านผ่านการดูงานปราชญ์ดังๆมาทั่วประเทศแล้ว เมื่อมาพบ พ่อชาดี พ่อแสน พ่อหวังก็ทึ่ง..และทึ่งมากก็คือ การขยายการปฏิบัตินั้นเกิดขึ้นภายในชุมชนเอง แต่ที่อื่นๆนั้น เช่น ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมนั้น ท่านดังทะลุฟ้า คนทั่วประเทศไปดูงานท่าน และเอาแบบท่านไปปฏิบัติ แต่รอบๆบ้านท่านไม่มีใครทำตาม.. แต่ที่ดงหลวงนี่แปลก เดินไปไหนก็พบป่าหัวไร่ปลายนา ป่าครอบครัว เกษตรผสมผสาน ปลูกต้นไม้กันรกไปหมด….


คณะของท่านข้าหลวงถ่ายทำวีดีโอเอาไปถวายวัง..  ตลอดเวลาเลยครับ

ท่านสั่งให้ผมส่งข้อมูลเชิงละเอียดอีกหลายรายการด่วน…..

เป็นปลื้มที่ท่านชมเชย..

แต่ทั้งหมดเพราะพี่น้องไทบรูเท่านั้น เราเป็นเพียงผู้อยู่เบื้องหลัง…


ปายกะสอบ..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 29, 2010 เวลา 20:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2518

กระต๊อบสองหลังนี้ต่อเนื่องกัน อยู่ตรงสามแยกบ้านพังแดง บนถนนเปรมพัฒนากับถนน รพช.(เดิม) สร้างมาสองปีแล้ว เจ้าของคือ คุณ “ทราย” อยู่ที่บ้านเปี๊ยด ใกล้อำเภอดงหลวง ห่างจากบ้านพังแดงประมาณ 10 กม.


หนูเห็นว่าที่บ้านพังแดงมีร้านก๊วยเตี๋ยวร้านเดียวในตัวหมู่บ้าน น่าที่จะตั้งได้อีก จึงปรึกษากับสามีอยากมาทำร้านขายก๊วยเตี๋ยว มีเงินในมือแค่หนึ่งพันห้าร้อยบาท ไปกู้เพื่อนบ้านมาสองหมื่นบาท เสียดอกร้อยละสิบ..มาเปิดที่นี่ บางวันก็ขายดี บางวันก็ไม่ได้ ดูร้านในหมู่บ้านซิปิดไปแล้ว..

สามีเธอเป็นช่างไม้ รับจ้างไปเรื่อยๆ หนูมีลูกสองคน คนโตเรียน ม 2 อยู่กรุงเทพฯ กับน้าสาว หนูต้องส่งเงินเขาเดือนละสองพันบาท เหลือยอดอีกครึ่งหนึ่ง ที่ดินตรงนี้เช่าตา..ตอนแรกเขาคิดปีละสองพันบาท หนูต่อรองเขาได้หนึ่งพันบาทต่อปี

พออยู่ได้ เฉลี่ยแล้วหนูมีรายได้วันละ สองถึงสามร้อยบาท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นขาจร คนผ่านไปมา ขาประจำก็เป็นเจ้าหน้าที่ อบต.สาวๆ สาม สี่ คนเท่านั้น มีคนมาขอเช่าที่เพิ่มเติมจะเปิดปั้มน้ำมัน แต่ตา..เขาไม่ยอมให้เช่า


ผมยกชามก๊วยเตี๋ยวไปนั่งใกล้ๆ แล้วคุยเรื่องที่ผมสนใจ

ทรายมาอยู่นี่เจอะอะไรดีดีไหม หมายถึงปอบน่ะ..

หนูเข้าใจดี..หนูรู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรในหมู่บ้านนี้ เพราะหนูเป็นคนที่อื่นมาอาศัย “หนูก็ทำตัวนอบน้อม ไม่แสดงอาการแข็งกร้าว ใหญ่โตอะไร หนูไม่จำเป็นต้องพกพาวัตถุมงคลป้องกันอะไร แค่ปฏิบัติตัวนอบน้อม ไม่ต่อปากต่อคำอะไรกับใครก็อยู่ได้…

ตอนหนูมาใหม่ๆก็ไปใหว้เจ้าปู่ หัวหมูกับเหล้าและเงินสองร้อยบาท ที่เรียกครอบ

ผมถามเคยพบอะไรพิเศษไหม..ทรายบอกว่า เคย..คืนหนึ่งสามีหนูเมา หนูก็ลุกขึ้นจะไปจ่ายตลาดประมาณตี 4 เอามอเตอร์ไซด์ไปคนเดียว ตรงทางโค้งโน้น หนูพบลูกไฟใหญ่ข้างทาง หนูกลัวมาก เลยไม่ไปจ่ายตลาดเวลาเช้ามืดอีกเลย สว่างแล้วค่อยไป..


อย่างอื่นล่ะ…ผมเซ้าซี้ อยากเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ

อาจารย์..ปีแรกที่หนูมาเปิดร้านน่ะ หนูขายเหล้าด้วย สักพักใหญ่ๆหนูเลิกขายเหล้าเลย เพราะมีคนกินเหล้าแล้วไม่จ่ายเงิน รวมๆสัก ห้า หกพันบาทได้ หนูไม่กล้าทวงเขา กลัวเขาเป็นปอบจะทำใส่หนู…หนูไม่พูด แล้วแต่เขาจะคืนหรือไม่คืน หนูเลยเลิกขายเหล้า ขายแต่ก๊วยเตี๋ยวอย่างเดียว… พออยู่ได้..

สรุป

  • เป็นที่รู้กันว่าบ้านพังแดงมีปอบใหญ่ จำนวนหนึ่ง
  • คนต่างถิ่น หรือคนในหมู่บ้านก็ตาม ควรมีพฤติกรรมทำตัวไม่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ แต่อย่างใด หากทำตัวแตกต่าง ปอบจะแผลงฤทธิ ทำให้เจ็บป่วย ถึงตายได้ มีกรณีตัวอย่างหลายกรณี
  • โดยเฉพาะคนต่างถิ่นต้องทำพิธีครอบเข้าหมู่บ้านเมื่อเข้ามาอยู่ มาทำงาน มาทำมาหากิน และครอบออกหมู่บ้าน เมื่อต้องออกไปจากหมู่บ้าน
  • หากเกิดกรณีที่เป็นผลประโยชน์ขัด เช่น มีคนในหมู่บ้านไม่ให้เงิน กรณีซื้อของ หรือกรณีใช้น้ำแล้วไม่จ่ายค่าน้ำ ค่าสิ่งของ โดยทั่วไปไม่กล้าที่จะไปทวงถาม ปล่อยให้เกิดสถานการณ์คาราคาซังเช่นนั้น…
  • สภาวการณ์นี้ครอบงำหมู่บ้านนี้จนเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป
  • ทราย ยืนยันว่า บ้านพังแดงนั้นบางครอบครัวเขามีเงินนะ แต่เขาทำตัวเหมือนไม่มี เพราะเกรงกลัว อิทธิพลปอบ
  • ใครที่พูดจารุนแรงหรือ เด่นเกินไป จะอันตราย

ประเด็น

  • ยอมรับว่าละเลยเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติส่วนนี้ไป โดยไม่ได้นำมาพิจารณาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของพื้นที่ดงหลวงโดยเฉพาะพังแดง
  • เพราะเขาไม่พูดหากไม่ถาม และทุกคนพยายามเก็บปากเก็บคำต่อเรื่องนี้ แม้จะถามก็ตาม จึงมีส่วนทำให้เราไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร เพราะเราไม่คิดว่าจะมีผลต่องาน
  • เรายังขาดข้อมูลลึกๆอีก เช่น กรณีทราย คนที่มากินเหล้าแล้วไม่จ่าย ก็ไม่กล้าไปทวงถาม คำถามคือ คนที่ไม่จ่ายเงินค่าเหล้านั้นไม่ใช่คนเดียว แล้วทุกคนเป็นปอบตัวจริงหรือเปล่าที่มีอิทธิฤทธิ์ดังกล่าวมา หรือมีบางคนลักไก่ ไม่ใช่ปอบ แต่อาศัยอิทธิพลปอบหลอกกินเหล้าฟรี
  • การที่ชาวบ้านเก็บปากเก็บคำ เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะล้วงลึก เพราะใครต่อใครไม่อยากกล่าวถึง หากจะกล่าวก็ไม่หมด เพียงผิวเผิน เหมือนเกรงกลัวอิทธิพล
  • หลายท่านเรียนรู้เรื่อง ปอบ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ คือระบบควบคุมสังคม ในทางทฤษฎี และกรณีตัวอย่างในหลายแห่ง แต่ที่นี่ บ้านพังแดงอาจจะไม่ใช่

อ้อที่ตั้งชื่อ “ปายกะสอบ” จริงๆก็คือ “ปอบ กะ ทราย” อิอิ


วิถีปอบดงหลวง

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 25, 2010 เวลา 1:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2350

“สมัย” เป็นเด็กหนุ่มบ้านพังแดงเรียนจบ ปวช ไฟฟ้า จากวิทยาลัยเทคนิคดงหลวงที่ไม่มีชื่อเสียงอะไร เพียงเป็นสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ค่าใช้จ่ายไม่สูงนักและอยู่ใกล้บ้าน และเป็นวิชาชีพที่เรียนจบแล้วพอหางานทำได้ พ่อแม่ทั้งหลายที่ไม่มีโอกาสเลือกมากนักก็เอาลูกมาเรียนที่นี่

โครงการเราต้องการเด็กท้องถิ่นที่จบทางไฟฟ้า หรือช่างกล มารับผิดชอบดูแลโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สมัยเป็นลูกผู้นำชุมชนและมีความรู้เข้าเกณฑ์ เราจึงไม่ลังเลที่จะเลือกเขาเข้ามาทำงาน โดยเป็นลูกจ้างราชการรายเดือน…

วันนี้เขาเดินทางมาสำนักงานในเมือง เราจึงถือโอกาสเชิญมานั่งกินกาแฟคุยกัน ผมเองยังสนใจเรื่องวิถีปอบ เพราะมีสมมุติฐานในตัวเองว่า มันเป็นสภาวการณ์ที่ครอบงำชุมชนมากน้อยแค่ไหน ชาวบ้านเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน คนเป็นปอบมีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะสภาวะที่ความเชื่อเรื่องปอบครอบงำชุมชนอยู่นี้มีผลต่อการทำงานของโครงการอย่างไรบ้าง..ฯลฯ…

แม้ว่าผมจะทราบผลมาบ้างแล้วแต่ต้องการสอบถามชาวบ้านในทุกกลุ่มวัย และในจำนวนที่มากตามโอกาสที่มี เพื่อยืนยันวิถีปอบว่า..แค่ไหน….

เชื่อครับ…ผมเชื่อและไม่กล้าลองดี และไม่มีใครจะทำเช่นนั้น สมัยเอ่ยกับผม

ถามต่อว่า มีอะไรยืนยันว่าปอบมีอิทธิพลที่ทำให้ชาวบ้านทั่วทั้งหมู่บ้านกลัวเกรง..

อาจารย์.. เมื่อเร็วๆนี้อาจารย์ก็รู้ว่ามีเด็กหนุ่มคนหนึ่งตายลงไป หมอลงบันทึกว่าเพราะกินเหล้ามากไป…แต่ชาวบ้านคุยกันและเชื่อกันว่าเพราะปอบทำให้ตาย… กินเหล้าแค่นั้นมันไม่ตายหรอก แต่เพราะคนนี้ซื้อรถแทรกเตอร์มาใหม่…..ซึ่งไม่ใช่เรื่องทั่วไปที่ใครๆจะซื้อได้..

อ้าวแล้วมันเกี่ยวอะไรกับปอบ…

อาจารย์…ปอบเขาอิจฉาอะไรทำนองนั้น ใครๆก็รู้ว่าบ้านนี้อย่ามีอะไรเกินหน้า ไม่ได้… ??!! ก่อนเด็กหนุ่มคนนี้ตายมีหลายคนเห็นลูกไฟที่ใต้ถุนบ้านของเขา ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่านั่นคือปอบ…

อีกตัวอย่างหนึ่ง… หลายปีผ่านมา มีเด็กหนุ่ม เปิดร้านขายของในหมู่บ้าน แต่แล้วปอบมาเข้าแล้ว “ออกปาก” ว่า อย่าเปิดร้านค้า ให้หยุด แล้วเลิกซะ เด็กหนุ่มคนนั้นไม่ฟังเสียงห้ามนั้น หรือเสียงข่มขู่ของปอบนั้น ต่อมาไม่นานเด็กคนนั้นก็ผ่ายผอมลงและตายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ..

ผมถามต่อว่า ..บอกได้ไหมว่ามีปอบกี่ตัว สมัยบอกว่า มีประมาณ 4-5 ตัว ในอดีตมีมากกว่านี้เยอะ และในจำนวนนี้ ตายไปแล้วสาม เหลือสอง แต่จริงน่าจะมากกว่านี้ เพราะเราไม่รู้ทั้งหมด เพราะไม่มีใครพูดกัน แต่รับรู้

ปอบกินอะไร สมัยบอกว่า กินกบกินเขียด กินสัตว์พวกนี้.. อดีตเล่าลือกันว่ามีคนเห็นปอบออกหากินเขียด พวกนี้หากินรอบๆบ้าน ถูกแล้วที่พวกไปหาของป่ากลางคืนจะไม่เข้าบ้านในช่วงเวลา 5 ทุ่มถึงตี 5 ….

ผมถามแบบฟันธงไปเลยว่า สมัยคิดว่า ความเชื่อเรื่องปอบนั้นมีผลกระทบต่องานของโครงการไหม อย่างไร.. สมัยตอบว่า มีผลแน่นอนครับ แบบว่าไม่มีใครต้องการทำอะไรให้เด่น โด่ง หรือในความหมายก็คือ พยายามทำให้สำเร็จสูงสุด เพราะกลัวว่าจะโดนปอบไม่ชอบใจที่แตกต่างจากคนอื่นๆมากเกินไป อะไรทำนองนี้..???!!!

อาจารย์เชื่อไหมว่า บ้านพังแดงนี้ไม่มีใครกล้า “ออกรถปิคอัพ” เพราะกลัว….เกรง…ไม่กล้าลอง.

อาจารย์..เดี๋ยวนี้ทราบมาว่ามีเด็กหนุ่มบางคนแอบไปเรียนวิชาปอมกันบ้างแล้ว..

เราแลกเปลี่ยนกันนานพอสมควร ผมถือโอกาสเล่าประสบการเกี่ยวกับทำนองนี้สมัยทำงานที่สะเมิง ที่สุรินทร์กับพวกราษฎรไทยเชื้อสายเขมร พักใหญ่ๆสมัยก็ลากลับดงหลวง

ปล่อยให้ผมคิดอะไรต่ออะไรไปอีกนาน ผมนึกในใจว่า ผมไม่ได้พยายามเอาเรื่องปอบมาสร้างประเด็นเลย แต่ช่วงที่ผ่านมาในระยะเวลาเพียงเดือนเศษๆ การรับรู้ของเราบอกว่า ความเชื่อเรื่องปอบส่งผลต่อการทำงานจริงๆ…

แล้วคนที่บริหารงานอยู่ข้างบนจะหัวเราะ เยาะใส่ผมไหมนี่….



สิ่งเหนือธรรมชาติกับการทำงานพัฒนาชนบท

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 14, 2010 เวลา 17:03 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2915

เรารู้เรื่องปอบที่บ้านพังแดง และบ้านอื่นๆของดงหลวงมานานแล้ว แต่ไม่ได้ติดใจมาก เพราะเรายอมรับการมีอยู่ ยอมรับการเชื่อ ยอมรับการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เกี่ยวกับปอบในดงหลวง แล้วก็ผ่านไปแค่นั้น

มาวันนี้ตะลึงกับเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติเรื่องนี้ และกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา เมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมาเรามีนัดประชุมใหญ่สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ เราทบทวนกติกากลุ่มออมทรัพย์ภายใต้กองทุนเพื่อการส่งเสริมการเกษตรในโครงการสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทราย ว่าหากมีการกู้ยืมกันแล้ว ผู้กู้ไม่ส่งคืนจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงความเห็นกัน มักจะบอกว่า “ก็แล้วแต่..” ซึ่งพยายามไล่เลียง และกระตุ้นให้แสดงความเห็นในที่ประชุม ก็ไม่ค่อยมีการแสดงความเห็น มีน้อยมาก แต่แล้วก็มีคนเสนอว่า หากกู้เงินไปแล้วไม่คืนก็เตือน เมื่อเตือนแล้วไม่คืนก็ให้ยึดทรัพย์สิน เช่นวัว ควาย มาเป็นของกลุ่ม แล้วจัดการต่อ ……………

ในที่สุดสรุปว่าหากเตือนสองครั้งแล้วไม่ส่งคืนให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าว (ซึ่งลึกๆผมก็ไม่เห็นด้วย) เมื่อประชุมสิ้นสุด ผมจึงนั่งคุยต่อกับกรรมการกลุ่ม พบว่า ประธานไม่เห็นด้วยต่อข้อสรุปดังกล่าว และในทางปฏิบัติทำไม่ได้ ทำนองว่าเป็นเพื่อนบ้านกันจะไม่ทำอย่างนั้น แต่สีหน้ากรรมการ โดยเฉพาะประธาน ดูหนักใจมากๆ และกระสับกระส่าย เหมือนมีอะไรในใจแต่ไม่ได้พูด หรือพูดไม่ได้

ผมพยายามทุกวิถีทางเพื่อขุดเอาความในใจของทุกคนออกมาให้ได้ และทราบว่า เงื่อนไขดังกล่าวนั้น ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ เพราะหากคนที่ไม่ส่งเงินกู้นั้นเป็นคนที่มี “มิติของปอบ” แฝงในตัวคนนั้นอยู่ ทุกคนในหมู่บ้านนี้รู้ดีว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรกับคนคนนั้นที่เป็นปอบ เช่น ไม่สร้างอะไรที่ไปขัดแย้งเขา ไม่ว่าเป็นเพราะกฎ กติกาของกลุ่ม หรือ จะกล้าหาญชาญชัยแค่ไหน ก็หายากที่จะมีคนกล้าไปขัดใจ หรือไปสร้างเงื่อนไขที่ทำให้คนนั้นโกรธ .. ปอบในหมู่บ้าน ไม่ใช่มีคนเดียว..

เรื่องนี้ติดค้างในใจผมไปตลอดวัน คืน เช้าวันรุ่งขึ้น เราทราบว่าสตรีนางหนึ่งมีปอบบ้านพังแดงเข้าเมื่อหลายวันก่อน จึงอยากคุยเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆไว้ รวมทั้งหากเป็นไปได้ก็ขอทราบชื่อคนที่เป็นปอบของบ้านพังแดง บังเอิญมีผู้นำชุมชนคนหนึ่ง มาบ้านหลังนี้จึงถือโอกาสไปคุยด้วย และดูบรรยากาศจะคุยกับสตรีในเรื่องที่ตั้งใจไว้คงไม่เหมาะสม การคุยกับผู้นำคนนี้ถึงเรื่องราวของปอบบ้านพังแดง ผู้นำกล่าวว่า

  • บ้านพังแดงมีปอบหลายคน ตั้งแต่เขาย้ายบ้านมาจากบ้านติ้วใหม่ๆนั้น ภรรยาเขาก็โดยปอบเข้า ต้องรักษากันมาจนหายและพยายามทำตัวให้เข้ากับสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อความเชื่อเรื่องนี้
  • เขากล่าวว่า อาจารย์เห็นไหมว่าผมไม่พูดอะไรเลยในที่ประชุมทั้งที่อยากจะพูดหลายเรื่อง ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า หากใครพูดมากไปก็จะอันตรายเพราะปอบจะทำร้าย
  • อย่างที่สรุปไว้ว่า อย่าทำตัวเด่นในหมู่บ้าน อย่าทำตัวร่ำรวยแปลกแตกต่างไปจากเพื่อนบ้านอื่นๆ
  • อย่าทำอะไรให้คนเป็นปอบไม่ชอบ หรือ โกรธ
  • แต่ก่อนนี้บ้านพังแดงไม่ใช่สภาพนี้ ทุกหลังคาเรือนเป็นแบบชั่วคราว และไม่มีใครอยากปลูกบ้านแตกต่างออกไป ต่อมาค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นแบบปัจจุบัน
  • สิ่งที่เขาเน้นคือ อย่าทำเด่น อย่าทำอวดร่ำรวย ทำตัวให้เหมือนๆกับเพื่อนบ้าน บังเอิญไปตรงกับสิ่งที่ผมทราบมาว่า พวกไทโส้นั้นยึดถือ “ลัทธิเฉลี่ยสมบูรณ์” กล่าวคือ แบ่งเท่าๆกัน อะไรก็ได้ต้องแบ่งให้เท่าๆกัน อย่าให้ใครเหนือใคร

ลองสรุปสาระเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นแผนผังดังนี้


เรื่องนี้ไม่จบ คงต้องศึกษาข้อมูล และผลกระทบต่อการทำงาน และอื่นๆต่อไป แต่ที่คิดไว้ก็คือ ปัจจุบันที่บ้านพังแดงเราได้รับผลโดยตรงจากเรื่องนี้แล้วในกรณีกลุ่มผู้ใช้น้ำ



Main: 0.086246967315674 sec
Sidebar: 0.076111078262329 sec