เวลาของการพัฒนา..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 16, 2010 เวลา 8:59 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1911

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเราก็เชิญเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาสรุปบทเรียนกัน ห้องประชุมของ อบต.ติดงานประชาสังคมแผนงานประจำปี เราก็ใช้ข้างบ้านผู้นำนั่นแหละเป็นสถานที่คุยกัน


แต่น้องๆเอาป้ายชื่อเกษตรกรมาติดหน้าอก เหมือนประชุมกันในโรงแรมใหญ่ในเมือง ขัดตาอย่างไรไม่รู้ แต่ก็ไม่เสียหายอะไร สถานที่ตรงนี้คือเกษตรกรชาวนาชาวสวนที่ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย ถึงสองคน ต้องปั่นเงินค่าเทอมให้ลูกจนจบจนได้ แต่ก็เห็นความยากลำบากของเขา เห็นการดิ้นรนของพ่อบ้านที่เอาทุกอย่างเพื่อลูก สภาพบ้านพักปกติชาวบ้านก็เดาได้ว่า ไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่สะอาด กรณีครอบครัวนี้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พ่อบ้านวิ่งวุ่นไปกับการหาเงินให้ลูกใช้ทุกเดือน แม่บ้านก็มีลูกน้อย ใครมีครอบครัวเดาสภาพออกนะครับว่ามันวุ่นแค่ไหน หากประคับประคองใจไม่ได้ดีละก็ ทะเลาะกันบ้านแตก


เจ้าหน้าที่โครงการออกไปนำการพูดคุย เอากระบวนการทำการเกษตร เทคนิค รายจ่ายที่เกิดขึ้น ผลที่ได้มา ฯลฯ แลกเปลี่ยนผลกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมนี้พึงพอใจและเห็นว่าการปลูกมันสำปะหลังคราวต่อต่อไปนั้นจะเพิ่มผลผลิตทำได้อย่างไร

เกษตรกรผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างมองเห็นจุดบกพร่องของการทดลองครั้งแรก และเห็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นแต่แสดงความมั่นใจ ว่าหากใส่ใจและเอาวิชาการเข้าไปอีกเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้

ถามว่าอนาคตเป็นเช่นไรต่อมันสำปะหลัง และทำไมเราจึงเลือกมันสำปะหลังทั้งที่เรารู้ดีว่าพืชตัวนี้ครั้งหนึ่งในอดีตรัฐบาลทำแผนระดับชาติเพื่อลดพื้นที่การปลูก และเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่เราเองรังเกียจมาในระยะเวลาหนึ่ง

เรามีเหตุผลสองสามข้อที่สนับสนุนการทดลองครั้งนี้คือ

หนึ่ง เป็นพืชที่เกษตรกรปลูกอยู่แล้ว มีความคุ้นชิน ง่ายและปลูกได้ในพื้นที่ที่พืชอื่นๆปลูกไม่ได้

สอง จากการศึกษาเราพบว่ามันสำปะหลังเป็นพืชเกษตรกรปลูกคู่ไปกับข้าว เพราะเป็นหลักประกันการมีข้าวกิน เพราะหากปีใดข้าวไม่ได้ผลผลิตเพียงพอ เขาสามารถขุดมันขายแล้วเอาเงินมาซื้อข้าวกิน เป็นการดิ้นรนสร้างหลักประกันการมีข้าวกินของเขาเอง


สาม มันสำปะหลังกลายเป็นพืชพลังงานไปแล้ว ในอนาคตอาจจะพัฒนามันสำปะหลังในพื้นที่แปลงเป็นพลังงานได้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า เอามันสำปะหลังไปหมักเมื่อได้แก๊ส ก็เอาแก๊สไปผ่านกระบวนการเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าได้และการทดลองของมหาวิทยาลัยประสพผลสำเร็จกำลังขยายจากห้องทดลองไปสู่ระดับชุมชน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อาจจะมีส่วนที่ดีในอนาคตต่อเรื่องนี้ด้วย


เราพบว่าส่วนบุคคลนั้นประสพผลสำเร็จ แต่เมื่อเราถามเกษตรกรว่าความรู้ หรือประสบการณ์ครั้งนี้เอาไปเผยแพร่ให้เกษตรกรในหมู่บ้านได้ไหม..? ต่างร้องโอย..กล่าวว่า

อาจารย์ เขาไม่ฟังผมหรอก… ต่างก็บอกว่า ต้องจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ทุกช่วงการผลิตจริง ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ช่วงเวลานี้การปลูกมันสำปะหลังก็ทำไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าไม่มีเกษตรกรคนไหนทำตามเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทดลองเลย ยังใช้วิธีการเดิมๆ ใช้ต้นพันธุ์ตัดสั้น ปลูกถี่เกินไป ไม่ปรับปรุงบำรุงดิน ฯลฯ ล้วนมีเหตุผลอธิบายเมื่อเราสอบถาม… การขยายผลนั้นไม่ง่ายเลยนะ

ผมนึกย้อนไปที่ “พิลา” พนักงานขับรถของเราที่เขาแอบเอาความรู้ที่เราแนะนำชาวบ้านในโครงการเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยใช้วิธีอินทรีย์ไปทดลองทำเองโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ฉี่วัว และอื่นๆ และพบว่าประสพผลสำเร็จ ก็ไม่มีเพื่อนบ้านเอาอย่าง แม้พี่ชายของเขาเองที่ใกล้ชิดสนิทสนม แม้จะบอกว่าการปลูกข้าวแบบอินทรีย์นั้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และประหยัดมากกว่าแบบใช้ปุ๋ยเคมีก็ตาม

แต่…แต่ มาปีที่สาม พี่ชายหันมาทำตามแล้ว…

เรานึกย้อนเข้าไปในพื้นที่..คิดไปว่า เออ อีกปี สองปี เกษตรกรในพื้นที่อาจจะหันมาทำตามเกษตรกรที่เข้าร่วมทดลองการเพิ่มผลผลิตของเรานะ

อือ.. การเปลี่ยนแปลงนั้นใช้เวลา ไม่ใช่ข้ามคืนนะ


เรื่องของโจ้ย..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 14, 2010 เวลา 23:42 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2641


รักใครชอบใครนั้น มีต่างเหตุปัจจัยกันมากมาย ต่างมุมมองกันอย่างไม่น่าเชื่อ บางทีเห็นหน้ากันก็นึกชอบ ไม่มีเหตุผล หากถามก็ตอบไม่ได้ ก็มันชอบอ่ะ..

รูปข้างบนนั้น ถ่ายมาจากการประชุมชาวบ้านผู้เข้าร่วมการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบมีสัญญา เราต้องการสรุปบทเรียนก็เชิญมาคุยกัน น้องๆก็ทำป้ายชื่อห้อยคอ ซึ่งผมเองนึกในใจว่าไม่จำเป็นเล้ย เพราะชาวบ้านเขารู้จักกันหมด ทำไมต้องไปทำเป็นพิธีการมากไป เอามันง่ายๆ ลดงาน ประหยัด และไม่แปลกแยกด้วย แต่น้องๆเขาทำ เอ้าทำแล้วก็ใช้


ชาวบ้านนั้นมักได้รับของแจกจากพรรคการเมืองมากมาย หวังอะไรล่ะ..ไม่บอกก็รู้ และพรรคเจ้าบุญทุ่มก็จะปรากฏในชนบทมากมายรวมทั้งที่บ้านพังแดง ต.พังแดง อ.ดงหลวงแห่งนี้ด้วย เจ้าของเสื้อคนนี้ชื่อนายโจ้ย ชื่อนี้จริงๆ ชื่อพิสดารมากกว่านี้ก็มี อิอิ หลังจากที่เราสรุปบทเรียนการปลูกพืชเสร็จสิ้นแล้ว ผมก็พยายามถามชาวบ้านที่มาร่วมประชุมว่า ฤดูการผลิตต่อไปจะสนใจทำการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ต่อไปหรือไม่ นายโจ้ยตอบว่า …แล้วแต่หัวหน้าใหญ่..นายเสร็จโน่น.. หันไปถามคนอื่นก็โบ้ยหน้าไปหาพ่อเสร็จทั้งนั้น..


นายเสร็จหรืออีกชื่อก็คือพ่อเช็ค เชื้อคำฮด ผู้เฒ่าในชุมชนที่มีบทบาทเป็นผู้นำทางธรรมชาติของชาวบ้านในด้านการปลูกพืช ชาวบ้านที่เข้าร่วมการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างก็อ้างถึงพ่อเช็ค หากพ่อเช็คปลูกต่อทุกคนก็ปลูกต่อ หากพ่อเช็คไม่ปลูกต่อต่างก็ไม่ปลูกต่อ….เอากะพ่อซิ..ทำไมชาวบ้านต้องขึ้นต่อพ่อเสร็จ ทำไมไม่ตัดสินใจเอง.. งงอ่ะ…

ไม่งงหรอกครับหากเข้าใจชาวบ้าน รู้จักชาวบ้าน

มันเป็นเรื่องราวจากชนบทน่ะครับ…

สิ่งที่ชาวบ้านพูดนี่มีสอนในตำราพัฒนาชนบทที่ไหนบ้างล่ะ…


แดงไร้เดียงสา..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 2, 2010 เวลา 17:10 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2544


เที่ยงวันนั้นผมขับรถออกจากสำนักงานเพื่อไปร้านอาหารมังสวิรัติเจ้าประจำในตัวเมือง ออกประตูสำนักงานก็เห็นรถปิกอัพคันหนึ่งขับผ่านหน้าไป กระบะหลังมีเด็กหญิงสามคนนั่งอยู่ คนหนึ่งถือธงแดง ยกรับลม ธงแดงปลิวไสว


ผมขับรถไปประกบเพื่ออยากดูเธอ ผมยิ้มให้เธอก่อน เธอยิ้มตอบ ดูเหมือนเป็นเด็กขนาดมัธยมต้น เสื้อก็แดง แถมยกธงแดงเฉยเลย เมื่อผมจ้องเธอ เธอชักไม่แน่ใจ ไม่ยิ้มและเอาธงลง เมื่อผมปล่อยให้เธอเลยไปข้างหน้า เธอเอาธงขึ้นอีก..

ผมถ่ายรูปด้วยมือถือ พอดีเห็นมอเตอร์ไซด์คันหนึ่งข้างหน้าซ้อนสอง ใส่เสื้อแดงโพกผ้าแดง ผมพยายามส่งสัญญาณให้เด็กท้ายกระบะรู้ว่าเธอมีเพื่อนบนถนนด้วย เธอตกใจคงแปรความหมายเป็นอื่น เธอดูสีหน้าตกใจเอาธงลงและทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้..อิอิ

เห็นดังนั้นก็ปล่อยไปไม่เล่นกับเธออีก

ผมเชื่อว่าเธอคงไม่เข้าใจอะไรมากนักว่าธงแดงนั้นมีความหมายอย่างไรบ้าง เสื้อแดงมีความหมายกว้างขวางอย่างไรบ้าง เธออาจจะได้รับข้อมูลจากพ่อแม่ที่บ้าน เพื่อนบ้านและทีวี.. เข้าร่วมโดยไม่เข้าใจ เป็นแนวร่วมโดยบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา


สังคมชนบทมีปรากฏการณ์แบบนี้มากมายนัก

ใครล่ะจะเป็นผู้ไปทำความเข้าใจ และจะมีกระบวนวิธีอย่างไร เขาเหล่านั้นจะเข้าใจไหม หรือไปตอกลิ่มเข้าไปอีก

รัฐจะมีบทบาทอย่างไรต่อปรากฏการณ์เหล่านี้ หรือปล่อยให้ความไร้เดียงสาพัฒนาไปสู่อุดมการณ์..?!


ภาพเหลืองแดงสมานฉันท์กัน..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 25, 2010 เวลา 20:59 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3101

แม้ว่าจะแดงทั้งดงหลวง แต่ผมก็จับเอาแดงมานั่งคู่กับเหลืองอย่างสันติได้ รักกันจะตายไป ใครก็รู้ว่าแดงดงหลวงนั้นไม่ใช่แดงปกติเพราะที่นี่คือเขตปลดปล่อยแห่งแรก และออกจากป่าเป็นกลุ่มสุดท้าย ดูที่หมวกวิทยากรหนุ่มคนกลางนั่นซิ ดาวแดงชัดๆไปเลย นี่หากเป็นสมัยก่อนก็เรียบร้อยไปแล้ว..


ผมก็ฝอยไป ภาพนี้คืองานวันนี้ที่เพิ่งสิ้นสุดลง มีน้องออตมานั่งชม ฟังสัมมนาแบบบ้านนอกด้วยทั้งสองวันครับ

การสัมมนาแบบบ้านนอกของวันไทบรูดงหลวงครั้งนี้ เราเล่นเรื่องการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ คือไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เน้นการปรับปรุงดินและใช้ปุ๋ยน้ำหมักสูตรต่างๆ เราใช้เยาวชนที่ร่วมการทำการทดลองมา เป็นวิทยากร เพื่อต้องการสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา ต้องการฝึกการเป็นวิทยากร ต้องการเอาผู้ทำจริงมาเล่าให้เพื่อนชาวดงหลวงได้ยินได้ฟังเอง


เยาวชนหนุ่มคนนี้ชื่อจริงก็ต๊อก ชื่อเล่นก็ต๊อก ใส่เสื้อแดงแจ๋ แถมหมวกดาวแดงชัดๆไปเลย เขาเข้าร่วมงานทดลองการเพิ่มผลผลิตเรามาและติดอกติดใจที่ประสบผลสำเร็จสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 2 ตันต่อไร่เป็น 9 ตันต่อไร่โดยการใช้วิธีอินทรีย์ของเรา แต่นายต๊อกเป็นคนขี้อายสุดๆกว่าจะลากขึ้นเวทีได้ต้องโอ้โลมกันมากมาย แต่เขาก็ขึ้นเวทีจนได้


ชาวเสื้อเหลืองที่นั่งคู่นายต๊อกนั้นชื่อนายหล่อง นี่คือพระเอกของเราเพราะเขาได้ผลผลิตถึง 10 ตันต่อไร่ แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่สูง แต่จาก 2-3 ตันต่อไร่เป็น 10 ตันนั้นมันเป็นตัวเลขที่ทุบสถิติ ทุบความรู้สึกของชาวบ้านแถบนั้นให้ทึ่ง แอบไปดูในแปลงมันกันจริงๆ นายหล่องยิ้มทั้งวัน จนเขาทำการลดพื้นที่ปลูกมันลงมาเพราะมั่นใจว่าแม้พื้นที่ลดลงแต่จะเพิ่มผลผลิตมากขึ้นได้ พื้นที่ที่เหลือก็ไปทำเกษตรผสมผสานซะดีกว่า


เด็กหนุ่มอีกคนที่ใส่เสื้อสีตองอ่อนนั้น ชื่อสยาม เพราะพ่อเคยเป็นคนป่า เขาเกิดในป่าจึงตั้งชื่อสยามซะเลย เขาร่วมทำการทดลองและสามารถทำสถิติเพิ่มขึ้นได้ 6 ตันต่อไร่ เด็กหนุ่มเหล่านี้ยังใหม่กับกระบวนการทอลอง หลายอย่างเขาก็ไม่ได้ทำตามคำแนะนำเมื่อลับหลังเรา แต่ผลงานก็ยังออกมาดีกว่าเดิมๆ แต่เมื่อเอาผลงานทั้งหมดมาคุยกัน เปรียบเทียบกัน เขาก็เกิดสำนึกว่า โอ….นี่ถ้าทำตามคำแนะนำทั้งหมด ผมจะได้ดีกว่านี้…


จริงๆแล้วสองคนนี้ไม่ใช่ชาวเหลือง หรือแดงอย่างที่เดินอยู่ในกรุงเทพฯนี้หรอกครับ ทั้งคู่คือเพื่อนรักกัน อยู่หมู่บ้านเดียวกันและร่วมมือกันทำการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังครั้งนี้ด้วยแต่แตกต่าง Treatment กัน และเป็นเยาวชนแม้จะมีครอบครัวแล้วทั้งคู่แต่วุฒิภาวะก็ยังออกวัยรุ่นมากอยู่


การที่นายต๊อกใส่หมวกดาวแดงนั้นก็เป็นเรื่องปกติ ยิ่งกว่านี้ก็เคยแต่งชุดทหารป่าก็มีให้เห็นครับ

ผมเชื่อว่าเราอยากเห็นแดงกับเหลืองจริงๆในขบวนการสังคมรักใคร่กันแบบนี้

และผมเชื่อว่าทุกท่านก็อยากเห็นเช่นเดียวกับผม…ใช่ใหมครับ..

(อิิอิ ไม่เกี่ยวกันเลยนะ จะเหลืองจะแดง กับการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพียงแต่มั่วเอามางั้นๆแหละ ห้า ห้า)


ระบบขายตรงกับวิถีชนบท..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 24, 2010 เวลา 4:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2773

ชนบทคือตลาดใหญ่ที่สุด ระบบขายตรงประเภทหนึ่งจึงพุ่งเป้าไปที่นั่น วันวันสินค้านานาชนิดที่กลุ่มนักธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่างไปจากในเมืองใหญ่คิดอ่านหาทางเอาเงินออกจากกระเป๋าชาวบ้านให้ได้ แม้จะรู้ว่าเขายากจน แต่ก็ต้องการสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในลักษณะต่างๆกัน

สินค้าสองชนิดที่วิ่งสวนทางกันบนถนนในดงหลวงนี้ ย้อนหลังไปสัก 20 ปีที่ผ่านมา ผลิตเองได้ทั้งนั้น สภาพสิ่งแวดล้อม ความรู้ความสามารถมีอยู่ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่เมื่อสังคมเคลื่อนตัวไป สังคมละทิ้งความรู้ความสามารถเหล่านี้ออกไปเป็นการบริโภคแทน ต่างมุ่งมองแต่หาเงินอันเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อได้มาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตเป็นต้นไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย และเลยไปถึงตอบสนองความอยากตามแรงกระตุ้นของระบบทุน


ความจริงหากเราจะทำตัวเป็นกระบวนการกบนอกกะลา ตามไปดูที่มาของสินค้าในรถคันนี้เราจะตกใจ…

เพราะที่นอนที่ดูภายนอกสวยงามนี้ ภายในคือนุ่น…นุ่นที่มาจากต้นนุ่น แต่ร้อยละ 90 เป็นนุ่นเก่า…ที่มีรถอีกธุรกิจหนึ่งตระเวนไปรับซื้อที่นอนเก่า เก่ามากๆที่ไม่ใช้นอนแล้ว เพื่อเอานุ่นข้างในไปใส่ที่นอนใหม่ที่เราเห็นนี่ เพราะต้นนุ่นในชนบทนั้นหายไปเกือบหมดแล้ว

และท่านลองหลับตาซิว่าที่นอนสวยๆที่เราเห็นนี้ แต่ข้างในคือของเก่าที่ประวัติ ความเป็นมาเป็นอย่างไรนั้นเราไม่มีทางรู้ที่มาที่ไปก่อนเลย คนสุดท้ายที่ใช้ที่นอนเก่านั้นเป็นโรคภัยไข้เจ็บอะไรมาบ้าง…

ไม่มีระบบตรวจสอบความมีมาตรฐาน…ไม่มี QC ไม่มีกฎหมาย รึมีแต่ไม่เวิร์ค โรงงานหนึ่งที่ทำลักษณะรีไซเคิ่ลนี้อยู่ที่ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิครับ

ระบบธุรกิจที่ขับเคลื่อนสังคมด้านหลักนี้ ระบบสังคมภายใต้งานที่ราชการทำอยู่มีจำนวนมากที่ไม่ได้ครอบคลุมสิ่งเหล่านี้ในวิถีชีวิตของชนบท และไม่มีทางที่จะวิ่งตามทัน

มีแต่สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ติดอาวุธปัญญาดูแลกันเองมากขึ้น จับรถกลุ่มเหล่านี้มาพิสูจน์ความถูกต้องต่อสุขอนามัย หรือปฏิเสธแล้วกลับไปสู่การปลูกนุ่น รื้อฟื้นสังคมการทอถักขึ้นมาใหม่ ชุมชนต้องหันหน้ามาคุยกันหาข้อสรุปกันเอง …

มิใช่ปล่อยให้สังคมชุมชนขับเคลื่อนไปแบบตั้งตัวไม่ติด..

งานทั้งน้านนนนน

ไม่ง่ายที่คนในชนบทจะมีมุมมองนี้

เจ้ารถเหล่านี้วิ่งผ่านหน้า คนหนุ่มสาวชนบทไปทุกวี่ทุกวัน ซึ่งมีบางวันเขาเองที่เป็นผู้เรียกกรถเหล่านี้ให้หยุดเพื่อซื้อสินค้านี้ แล้วเขาก็เดินทางเข้าสู่เมืองเพื่อทำงานแลกเงินต่อไป โรงเรียนมีหลักสูตรที่ถามว่า ใครคือนายกรัฐมนตรีที่ร่ำรวยที่สุด แต่ไม่เคยตั้งประเด็นสิ่งรอบตัวนี้มาให้ขบคิดกัน สื่อมีแต่มอมเมา มือถือรุ่นใหม่สุด สารพัดลูกเล่นกระตุ้นต่อมอยากให้หลั่งสารความทะเยอทะยานอยากได้ออกมาท่วมหัวใจที่ไร้สติ..

มีแต่สร้างชุมชนให้มีสติ ตั้งคำถามตัวเองมากขึ้น สร้างเครื่องกรองหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มิเช่นนั้นก็ถูกลากจูงไป แล้วก็งมงายกับลมปากของนักการเมืองพวกกินบ้านกินเมืองที่โหวกเหวกอยู่นั่น

เปล่าเทศนานะครับ..อิอิ


เมื่อคนรักมีชู้..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 22, 2010 เวลา 17:14 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2652

เมื่อภารกิจสังคมและส่วนตัวเบาบางลงมา ก็หยิบงานสำคัญเร่งด่วนมาทำทันที นั่นคือ การเตรียมงานวันไทบรู ซึ่งจะจัดในวันที่ 24-25 มีนานี้ ท่านรองเลขา ส.ป.ก. จะไปเป็นประธาน ผมมีคนทำงานเต็มๆเพียงสามคนกับงานใหญ่ๆอย่างนี้ก็วุ่นวายเอาการ ไหนจะต้องเตรียมสาระทางวิชาการ ไหนจะจัดการเรื่องชาวบ้าน ไหนจะประสานงานข้าราชการที่ต้องเอาตัวเองไปพบหน้าค่าตา พูดจาให้ชัดเจน


ผมบึ่งรถอีแก่ที่วิ่งรอบโลกมาแล้ว 11 รอบ เข้าดงหลวงแต่เช้า เพราะต้องไปประสานงานครั้งที่สอง ที่สาม ที่สี่ กับ เทศบาล อบต. วิทยากร รวมทั้ง โรงเรียนที่เชิญคุณครูนำนักเรียนมาเรียนรู้สาระจากงาน เข้าพบนายอำเภอ ย้ำเรื่องการต้อนรับผู้ใหญ่ ฯลฯ…แล้วก็เข้าลุยถนนฝุ่นแดงๆไปพบผู้นำเพื่อย้ำเรื่องงานต่างๆที่พรุ่งนี้ต้องจัดการ


แล้วสายตาผมก็ไปเห็นกระต๊อบพี่น้องชาวโซ่ หรือ บรู ข้างถนนแดงๆ เอ..ทำไมมีธงแดงอยู่หน้ากระต๊อบนั่น ผมหยุดรถลง และพยายามสอดส่ายสายตาว่ามีใครแถวนั้นบ้าง จะได้ซักถามกัน


ไม่มีใครอยู่.. ผมก็คว้ากล้องถ่าย ฉับๆ…เอนั่นมันธงของชาวเสื้อแดงนี่….


ผมซูมเข้าไป มันชัดเจนเลยครับ….


“โค่นรัฐบาลอำมาตย์ ยุบสภา” เจ็บแปลบเข้าไปในหัวใจ เมื่อคนที่ผมรักไปมีชู้เช่นนี้ พี่น้องโซ่ที่ผมรักไปรักคนอื่น มันเจ็บแปลบจริงๆ แม้ว่าผมจะรู้มานานว่า ดงหลวงนั้นแดงทั้งดง แต่ไม่คิดว่าพี่น้องจะชักธงรบเช่นนี้….


แม้แต่ไก่ดงหลวง ยังแดงไปทั้งตัวเลย คอ งี้แดงแป๋เลย…..

ไม่เชื่อดูใกล้ๆซิ


แดงดงหลวง..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 16, 2010 เวลา 15:58 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2476


บางทราย: พ่อเวทครับ ผมถามจริงๆ ทำไมพี่น้องเราถึงแดงเป็นเทือกเลยล่ะครับ..

พ่อเวท: เขาจริงจังนะ ตรงไปตรงมา …. ไม่ซับซ้อนเหมือนอภิสิทธิ์

บางทราย:…..?!!!???

บางทราย: พ่อเวทครับ…ถามตรงๆอย่าโกรธกันนะ ผมอยากรู้จริงๆว่าทำไมชาวบ้านถึงชอบทักษิณ…


พ่อเวท: เอ้า…ก็นี่อาจารย์ เขาแก้ปัญหาประเทศชาติได้จริงๆ ประเทศเป็นหนี้สิน เขาก็ปลดหนี้ให้ได้ ตรงข้าม อภิสิทธิ์ มีแต่กู้ กู้ กู้ ดูทักษิณซิ เขาหาเงินได้ 10 บาท แม้เขาจะเอาเงินเข้ากระเป๋า 5 บาท แต่อีก 5 บาทเขาก็ยังแบ่งมาให้เกษตรกรเรา แต่อภิสิทธ์ไม่มีเลย….

บางทราย: อ้าว เขาโกงแล้วพ่อยังยอมรับเขาหรือ….

พ่อเวท: รับได้ครับ ยอมรับได้ ดีกว่ากินกันลูกเดียวเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย..

บางทราย: ….??!!??……


บางทราย: แล้วอำมาตย์ล่ะเป็นอย่างไร

พ่อเวท: เรื่องนี้มันยาว…พวกเรารับรู้มาตั้งแต่เรื่องรัชกาลที่ 8 แล้ว แต่เราพูดกันไม่ได้..เราพูดไม่ได้ อำมาตย์ก็พวกอภิสิทธิ์ พวกอาญาสิทธิ์…

บางทราย: แล้วแดงบ้านเราลงไปกรุงเทพฯหลายคนไหมครับ

พ่อเวท: ไม่มี ไม่มีใครลงไปหรอก มีคนมาชวนอยู่ แต่พวกเราไม่ลงไปปล่อยให้เขาไปกันเถอะ เราคนยากคนจน ต้องทำมาหากินวันต่อวัน…

—————

อดีตสหายท่านนี้ ตอนอยู่ในป่าโดยลูกระเบิดเหลือขาข้างเดียว เข้าไปอยู่ในประเทศจีนนับสิบปี รู้จักกันดีกับชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ….แต่เขาไม่รู้จักผมหรอกเดี๋ยวนี้น่ะ.. กว่าจะเดินทางกลับไทยได้ก็แทบเลือดตากระเด็น เพราะเป็นกลุ่มที่ถูกลืม แต่การดิ้นรนทำให้กลับมาไทยได้ ปัจจุบันเป็นผู้นำสำคัญคนหนึ่งของเครือข่ายไทบรู เป็นคนตรงไปตรงมา ทำงานเพื่อส่วนรวม ทำเกษตรผสมผสาน เพื่อการพึ่งตนเองด้วยขาข้างเดียว

ผมไม่ได้ถือโทษโกรธพี่น้องที่แดงเถือกไปทั้งดง เราก็ทำงานด้วยกัน เรื่องงานก็ทำกันไป เรื่องความคิดเห็นส่วนตัวก็มีอิสระ แต่เขาก็ฟังเราอยู่ แต่เรื่องนี้จะมานั่งอบรมสามวันแปดวันแล้วให้เขาเข้าใจเหมือนเรา คิดเหมือนเรานั้นไม่ได้ งานที่เราทำไม่เคยแตะเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองเลย

คำบอกเล่าสุดท้ายของวันนี้ก่อนที่ผมจะแยกตัวกลับมุกดาหาร พ่อเวทกล่าวว่า.. นี่อาจารย์ คนรุ่นผมนั้นยังจำในใจได้สนิทเหมือนเรื่องมันเกิดเมื่อวานต่อการกระทำของ ทหาร ตชด. ที่มีต่อเราก่อนที่เราจะเข้าป่าไป แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีอะไรกันแล้ว แต่ลึกๆพวกเรายังเจ็บอยู่ครับ…

ผมไม่ต้องการรื้อฟื้นนะครับได้โปรดเข้าใจ ..แค่บันทึกลักษณะความคิดเห็น ภาวะจิตใจของพี่น้องดงหลวงไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของสังคมไทย เท่านั้นเอง… เท่านั้นจริงๆ..


วันไทบรู ดงหลวง..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 10, 2010 เวลา 22:54 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2539

กำหนดการ การประชุมสัมมนาเครือข่ายไทบรู อ.ดงหลวง ครั้งที่ 4

วันที่ 24-25 มีนาคม 2553

ณ ห้องประชุมอำเภอดงหลวง ต.ดงหลวง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร

วันที่ 24 มีนาคม 2553

รายการ

ผู้รับผิดชอบ/หมายเหตุ

1100-1200 ลงทะเบียน
1200-1300 รับประทานอาหารกลางวัน
1310 ทุกท่านพร้อมกันที่สถานที่จัดงาน ห้องประชุมอำเภอดงหลวง
1310-1320 ประธานเครือข่ายไทบรูกล่าวรายงานประธานพิธี นายสวัสดิ์ ไชยเพชร
1320-1335 นายอติชาต อุณหเลขกะ นายอำเภอดงหลวงกล่าวต้อนรับท่านรองเลขาธิการ ส.ป.ก. ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ และผู้ร่วมงานทุกท่าน นายอติชาต อุณหเลขกะนายอำเภอดงหลวง
1335-1400 ท่านรองเลขาธิการ ส.ป.ก. ดร. วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ กล่าวปราศรัยแก่ผู้ร่วมงานพร้อมเปิดงานวันไทบรู ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ รองเลขาธิการ ส.ป.ก.
1400-1500 การสัมมนาเรื่อง ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อมโลกต่อวิถีชนบทไทย ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ นายทีปกร กาลวิทยี
1500-1630 การอภิปรายเรื่อง ข้าวพื้นบ้านกับวิถีดั้งเดิมของเกษตรกร คณะวิทยากร
1630 พักผ่อน

วันที่ 25 มีนาคม 2553

รายการ

ผู้รับผิดชอบ/หมายเหตุ

0800-0900

ลงทะเบียน(เพิ่มเติม)

0900-1000

นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆแบ่งกลุ่มเดินชมนิทรรศการความรู้ต่างๆ เครื่องมือประกอบอาชีพแบบพึ่งตนเองของชาวบรูโบราณ ผลผลิตจากกลุ่มเครือข่ายไทบรู ผลผลิตผักปลอดสารพิษจากตลาดชุมชนแก่งนาง นิทรรศการจากหน่วยงานราชการและเอกชน ผู้นำเครือข่ายไทบรูนำการศึกษารายกลุ่ม

1000-1020

การแสดงท้องถิ่นโดยนักเรียน โรงเรียนดงหลวงวิทยา

1100-1200

การอภิปรายเรื่องการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ ผลการทดลองในโครงการ คฟป. ธัญญา ตันตระกูล และผู้นำเกษตรกร

1200

ปิดงานวันไทบรู อ.ดงหลวง ปี 2553 โดยปฏิรูปที่ดินจังหวัด


ขยะ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 22, 2010 เวลา 19:31 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3978

เช้าวันที่จะต้องเข้าไปดงหลวงเพื่อจัดประชุมชาวบ้านวันนั้น อากาศหนาวลง หลังจากที่อุ่นขึ้นมาสองสัปดาห์ เราเองชอบอากาศแบบนี้ แต่หลายคนต้องคว้าเอาเสื้อหนาๆแขนยาวมาใส่ ผมขับรถเอง มีน้องร่วมงานนั่งไปด้วย คุยกันไปหลายเรื่อง


แล้วสายตาผมก็เห็นเด็กกลุ่มหนึ่งเดินหิ้วถุงดำข้างถนน สัญชาติญาณนักข้าวเก่า ผมก็หยุดรถแล้วก็ลงมาดูเด็กกลุ่มนี้ แล้วก็เดินไปสอบถามเพื่อให้กระจ่างต่อพฤติกรรมที่เห็น


หนูมาเก็บขยะหน้าบ้านต่างๆค่ะ เอาไปให้ที่สถานีอนามัยค่ะ หมูเพิ่งมาครั้งแรก แต่คนอื่นมากันก่อนหลายวันแล้ว คุณครูจัดเวรมาเก็บขยะค่ะ….

ผมเอ่ยปากขอดูขยะในถุงดำได้ไหมว่าได้อะไรมาบ้าง.. เด็กๆตอบว่าได้ซิคะ


ผมคุยอีกสองสามคำถามก็ปล่อยให้เด็กทำหน้าที่ของเขาไป ก่อนที่ผมจะขึ้นรถไปยังภารกิจที่นัดหมายเช้านี้ ผมมองไปอีกซอยซึ่งอยู่อีกฟากของถนน ผมเห็นกลุ่มเด็กชายทำในสิ่งเดียวกัน เขาคงแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกัน…


แหมน่ารักที่สุดเลยที่เห็นภาพเหล่านี้ และชุมชนนี้ก็สะอาด ชื่นอกชื่นใจ ผ่านไปมาก็เห็นทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สกปรก รุงรัง น่าอยู่น่าอาศัย ชุมชนนี้เป็นผู้ไท อยู่บริเวณตะวันออกของตัวอำเภอดงหลวง

ผมขับรถไปก็รู้สึกว่าเช้านี้รู้สึกดีดีจังเลย


ใบไผ่..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 21, 2010 เวลา 21:37 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4663



หลายวันที่ผ่านมาอากาศที่ดงหลวงเย็นลงพรวดพราด เหลือ 19 C การเสวนากลางป่าจึงมีภาพอย่างที่เห็น แต่ละคนนั้นฉกาจฉกรรกับอดีตมา ผมกำลังให้เวลารวบรวมเรื่องราวของท่านเหล่านี้อยู่ครับ


หลังจากหลงไปหลายปีเราก็หันมาคุยเรื่องหลักของชีวิตคือ ข้าว เราพบว่าข้าวพันธุ์พื้นบ้านหายไปมากแล้ว เราจึงพยายามค่อยๆรื้อฟื้นมาใหม่ ขณะเดียวกันก็ค่อยๆขยับกระบวนวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าวด้วยวิธีที่ห่างไกลจากสารเคมี

ไม่ขอลงรายละเอียดเพราะมันยาว…..

มีหลายขั้นตอน หลายวิธี หลายประเด็น ที่เป็นองค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิตข้าว ทุกคนนั้นใช้น้ำหมักชีวภาพ สูตรต่างๆ ช่วงเวลาที่ใส่ก็แตกต่างกันไป เทคนิคการใส่ก็หลากหลาย เอามาแบ่งปันกัน ….


สิ่งหนึ่งที่ พูดเป็นเสียงเดียวกันคือการฟื้นฟูดิน หลังจากที่หลงไปกับราชการที่มาเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์พื้นบ้านเดิมมาเป็นข้าว กข. แต่ต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใช้สารเคมี ดูแลน้ำ วัชพืช ฯลฯ แล้วดินก็ตายลงไปเรื่อยๆ


พ่อสำบุญ วงศ์กะโซ่ ลุกขึ้นเดินไปหยิบใบไผ่ที่มีอยู่เต็มทั่วไปมากำมือใหญ่ แล้วพูดว่า…พี่น้องผมใช้สิ่งนี้ปรับปรุงดิน ใบไผ่นี่แหละคือปุ๋ยชั้นเลิศ ไม่ต้องคอยให้มันผุพังไปแล้วจึงเอาไปใส่นา มันช้าไป ผมเอาไปใส่คอกหมู ปกติเราทำหมูหลุมใช่ไหม และเราไปซื้อแกลบมาใส่รองพื้น แล้วก็เอาแกลบนั้นไปใส่นา พี่น้องก็ทราบว่าแกลบเดี๋ยวนี้เป็นราคาไปหมดแล้ว คันรถอีแต๊กราคา 80-100 บาท นาเรามีกี่ไร่ กว่าจะใส่หมด เราสู้ไม่ไหวหรอก อย่าไปหวังแกลบ เอาใบไผ่นี่แหละครับ เก็บกวาดเยอะๆ แล้วเอาไปใส่คอกหมู คอกวัว คอกควายของเรา มันก็ซับขี้ เยี่ยว และสัตว์มันก็ย่ำใบไผ่ ป่น คลุกเคล้ากันดี ไม่นานเท่าไหร่ ก็พอดีเอาไปใส่นาของเรา เอาไปทำเถอะครับ ผมทำมาแล้วได้ผลดีมาก ข้าวงาม รวงใหญ่ น้ำหนักดี ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากทีเดียว…


เราเพียงแค่จัดกระบวนการเรียนรู้ใต้ร่มไผ่ กลางธรรมชาติแห่งวิถีของเขา ค่อยๆกระตุก เคาะมุมมอง การทดลองและผลที่เกิดขึ้นจริง การเรียนรู้ในแนวราบมีคุณค่าและเกิดผลมากด้วยเงื่อนไขที่เขาไม่มีกำแพงมาขวางกั้น

เดินไปข้างหน้าอย่างค่อยๆไปเถอะพี่น้องไทโซ่ดงหลวง..ด้วยความมั่นใจ.



Main: 0.07820987701416 sec
Sidebar: 0.070394039154053 sec