จดหมายถึงส.เทอด

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 พฤษภาคม 2010 เวลา 13:17 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1124

ถึง ส.เทอด

สวัสดีเพื่อน เราไม่ได้พบกันประมาณสามสิบปี ดูเหมือน เทอดจะเมล์มาหาผมครั้งหนึ่งโดยบังเอิญแค่ทักทายแล้วก็หายไป ได้ข่าวแว่วๆมาจากลำพูนว่า เทอดอยู่ที่นั่น สักวันจะขึ้นไปหานะครับ

ที่เขียนถึงวันนี้เพราะผมได้เอกสาร “กลั่นจากความทรงจำ” ของเทอดสมัยเคลื่อนไหวกับ พคท. อ่านแล้วเหมือนดูหนังใหญ่เรื่องหนึ่งมีทุกบท ดูแล้วก็เข้าใจเทอดมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามขึ้นมากมาย เป็นคำถามที่ผมต้องการหาทางออก สังคมต้องการคำตอบ ประเทศชาติต้องการข้อสรุปที่ดีที่สุด

เห็นการทุ่มเทชีวิตที่หวุดหวิดความตายหลายครั้งของเทอด การผจญภัย บุกป่าฝ่าดง การอดอยาก การตื่นเต้น และการทำงานอย่างยากลำบากและต้องใช้อุดมการณ์ที่สูงส่งยิ่งนัก เพราะมิเช่นนั้นก็ถอดใจไปนานแล้ว

บางครั้งเทอดมาอยู่ใกล้ผมนี่เองโดยที่ผมไม่ทราบมาก่อน เราต่างคนต่างไม่ทราบแก่กัน แต่นั่นเป็นวิถีที่ชีวิตไหลไปตามลีลาที่ถูกกำหนดมาโดยภารกิจและการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

ผมศรัทธาและเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ของเทอดและเพื่อนๆเราสมัยโครงงานชาวนา พรรคประชาธรรมและการเคลื่อนไหวที่ภาคเหนือ แม้ว่าเทอดกับผมจะอยู่ต่างสถาบันแต่อุดมการณ์นั้นเราอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แม้ประสบการณ์ชีวิตของผมจะแตกต่างจากเทิดก็ตาม ผมเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เราต่างกระทำลงไปแล้ว

ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันนั้นเทอดได้ลงเอยกับคนรักเช่นไร ผมขอให้ทั้งคู่สุขสมและอยากมีโอกาสได้พบกันครับ

ผมเดาเอาว่าเทอดได้กลับเข้าทำงานกับขบวนการที่เทอดอุทิศทั้งชีวิตให้ นั่นแหละคือโจทย์ใหญ่ คำถามที่ต้องการการคลี่คลาย หาคำตอบก่อนที่สังคมจะพังทลายลงไปด้วยการทำงานที่ต่างวิธีการกันแต่เป้าหมายอันเดียวกัน เทิดครับผมทำงานทุกวันนี้ก็เพื่อชนบทตามเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ เทอดเองก็มีวัตถุประสงค์เช่นนั้น แต่วิธีการต่างกัน มองเห็นปัญหาใกล้เคียงกัน แต่มุมมองในรายละเอียดแตกต่างกัน เทอดใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกำลัง แต่ผมต้องการการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ใช้กำลัง แต่เป้าหมายใกล้เคียงกันคือ เพื่อชนบท เพื่อสังคมและเพื่อประเทศชาติที่ดีขึ้น

ผมไม่อยากเห็นเราเดินคู่ขนานกันไป แล้วสุดท้ายเรายืนคนละฝั่งกัน แต่ผมอยากให้เราเดินคู่ขนานไปและเราจับมือไปด้วยกัน แต่นั่นคือการที่เราควรพบปะพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสถานการณ์ปัจจุบันครับ..

ด้วยความศรัทธาเพื่อนยิ่งนัก

ป.ล. บันทึก 100 หน้าของกระดาษ A4 font 12 tahoma ของเทอดนั้นผมจะขออ่านอีกหลายเที่ยว บางช่วงบางตอนผมถึงกับหลั่งน้ำตาไปกับการสัมผัสได้ถึงอารมณ์สุดๆของเทอดน่ะครับ


แสดงความเห็นต่อโจทย์พ่อครูบาฯ 1

283 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 เวลา 23:14 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4351

โจทย์ ที่พ่อครูบาฯตั้งไว้ ว่า จะเอาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ออกไปพัฒนาวิถีชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร..??

โจทย์นี้ดีจริงๆ เพราะเป็นเป้าหมายของอุดมศึกษาโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าควรจะทำเช่นนั้น ที่ผ่านมาผมก็ว่าสถาบันอุดมศึกษาก็พยายามทำกันอยู่แล้ว มากน้อย แตกต่างกัน ทำได้มากน้อยแตกต่างกัน ทำแล้วก่อให้เกิดประโยชน์แตกต่างกัน.. แต่ประเด็นที่พ่อครูบาฯตั้งไว้น่าจะหมายถึงการสร้างประโยชน์สูงสุดทำได้อย่างไร..!!

ก่อนที่จะไปลองแสดงความเห็นในประเด็นนี้ ขอเลยไปแสดงความเห็นประเด็นพ่อครูบาทีกล่าวไว้ว่า ..โครงการทำนา 1 ไร่ให้ได้เงินแสน”.. ผมนึกถึงหลายสิบปีก่อนนั้นสมัยที่ผมทำงานกับโครงการ NET ที่สุรินทร์ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนของ CUSO ของประเทศแคนาดา เรามี ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์(ทอมสัน)เป็นที่ปรึกษา มี อ.ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ และ อ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเป็นทีมวิทยากรอบรมพวกเราก่อนเข้าทำงาน

สมัยนั้น ดร.สุธีรา ประสานงานเอานักวิชาการระดับสูงของ CP ไปแนะนำการทำงานของเราในมุมมองของนักธุรกิจ แล้วหลังจากนั้นทีมงานของเราก็เดินทางไปดูงานของบริษัท CP ที่หมวกเหล็ก และเราก็สะอึกต่อคำกล่าวของนักวิชาการระดับสูงท่านนั้น เขากล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าการทำงานของโครงการจะทำให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้ มีรายได้ที่ชัดเจนแน่นอน แต่เขามีโครงการที่ประกันได้ หากชาวบ้าสนใจมาเข้าโครงการเขา เขารับรองว่าชาวบ้านจะมีที่ดินทำกิน มีบ้านพักอาศัย มีรายได้ที่ชัดเจนแน่นอน..??!!

เมื่อเราลงรายละเอียดพบว่า เขามีโครงการผลิตพืชเกษตรป้อนเข้าโรงงาน เช่น ข้าวโพด บริษัทมีที่ดิน มีแผนงาน มีโรงงานรองรับผลผลิต มีระบบน้ำ ฯลฯ แต่เขาขาดคน ขาดแรงงาน นั่นเขามองถึงเกษตรกร เขาบอกว่าเขาจัดทำเป็นรูปสหกรณ์การเกษตรที่ใครก็ตามที่เข้าร่วมโครงการเขาให้บ้านพัก มีที่ดินจำนวนหนึ่งให้ มีปัจจัยการผลิตทั้งหมด มี….. เพียงแต่ทำงานตามกำหนดก็จะมีรายได้ที่แน่นอน เพราะบริษัทรับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์..

ผมก็ถึงบางอ้อ…เพราะเกษตรกรกลายเป็นแรงงานให้บริษัท เปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตไปหมดสิ้น ผมเชื่อว่าเกษตรกรนั้นๆมีรายได้ชัดเจนแน่นอน ภายใน 5 ปี เขาจะมีเงินเท่านั้นเท่านี้ ผมเชื่อครับ แต่วิถีชีวิตเขาเปลี่ยนไปหมดสิ้น

ผมไม่ได้ติดตามโครงการนี้ว่าไปถึงไหนอย่างไร แต่เชื่อว่าระบบธุรกิจที่มีทุนมหาศาลนั้นสามารถจัดการแรงงานเกษตรกรให้กลายเป็นแรงงานระบบฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีผลตอบแทนน่าพอใจได้ แต่วิถีเขาเปลี่ยนไปแน่นอน…

ผมเองคิดว่า ทำนา 1 ไร่ให้ได้เงินแสนนั้น ผมเชื่อว่าระบบธุรกิจทำได้แน่นอน ซึ่งมีรายละเอียดมากมายอยู่ภายใต้ประโยคดังกล่าว เช่น การบริหารจัดการ แผนงาน การพัฒนาการผลิต การควบคุมคุณภาพ การเอาวิชาการ ความรู้ลงไปด้วยระบบการบริหารจัดการแบบธุรกิจ และหากกล่าวเลยไปว่า ข้าวที่ผลิตได้เป็นข้าวคุณภาพ ที่ถูกควบคุมการผลิตด้วยวิชาการเต็มที่ นำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อาจถึงการส่งออก ซึ่งอาจจะมีคนกลางมารับประกันราคาผลผลิต

หากเป็นแนวนี้ผมก็เชื่อว่าทำได้ และประสบผลสำเร็จได้ เพราะนักธุรกิจนั้นเขามีวิสัยทัศน์ที่มาจากข้อมูลที่ชัดเจนเพราะอยู่ในวงการ ย่อมเห็นลู่ทางต่างๆนั้นว่ามีศักยภาพ..

แต่กิจกรรมดังกล่าวนี้อยู่ส่วนไหนของการพึ่งตนเอง การลดการพึ่งพา การลดความเสี่ยง การอยู่บนวิถีเดิมที่มีคุณค่า ฯลฯ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ใหม่ หากสามารถทำได้ผมก็เห็นด้วยและสนับสนุนครับ.


ความหิวหรือความตาย..

387 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 เมษายน 2010 เวลา 21:41 ในหมวดหมู่ มหากาพย์ดงหลวง, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 18780

อาจารย์ บางครั้งเราไม่ได้กินข้าวเลย 15 วันเต็มๆ

เรารูดใบไม้กินแทนข้าว

ความหิว ความทุกข์ ความสกปรก ความยากลำบาก

และการเสี่ยงโดนกระสุนปืน

ไม่มีใครกลัวตายสักคน แต่กลัวความหิวมากที่สุด

เพราะความตายก็จบสิ้นไป แต่ความหิวนี่ซิ มันทรมานพวกเรา..

…บางช่วงบางตอนของชีวิตสหายในป่าดงหลวง…


ไพร่ของใคร..

1874 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 เมษายน 2010 เวลา 20:55 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 38864

เดี๋ยวนี้ วันวันมีคนส่ง FW mail เยอะมาก บางทีก็ขำๆนะครับ เช่น

 

คิดได้ไงเนี่ย



คำผวนวันนี้ เสนอคำว่า
ไพร่เพื่อทักฯ = พรรคเพื่อไทย”


เออ ทำไมเราไม่คิดผวนมาก่อนเนอะ!


มหากาพย์ดงหลวง

1814 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 เมษายน 2010 เวลา 7:05 ในหมวดหมู่ มหากาพย์ดงหลวง #
อ่าน: 49528

หลายปีก่อนได้คุยกับอาว์เปลี่ยนว่า เรามาทำงานที่ดงหลวงนี้ เรารู้ว่าดงหลวงมีประวัติศาสตร์ที่น่าบันทึกไว้ในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของสหายจำนวนมากมาย ที่ก้าวออกจากป่าด้วยนโยบายรัฐบาล 66/23 เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเป็นพื้นที่สุดท้ายของประเทศ.. เราคิดว่าน่าที่จะทำการบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อการศึกษาแก่ชนรุ่นหลังต่อไป แต่เราก็วุ่นอยู่กับงานประจำจนไม่มีเวลามาทำงานพิเศษนี้ มาบัดนี้เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของโครงการ ก่อนที่เราจะโยกย้ายไปตามวาระตัดสินใจว่าจะจัดการเวลามาทำงานนี้เท่าที่จะทำได้..


มีคำถามมากมายที่อยากถามพี่น้องสหายทั้งหลายที่ดงหลวงนี้ เราเตรียมร่างคำถามไว้ เพื่อจะสอบถามสาระให้ครอบคลุม จากประสบการณ์การทำ PRA เราก็จัดทำ semi structure interview ไว้ แล้วลุยทันที


เป้าหมายแรกนั้นคือสหายธีระ หรือพ่อบัวไล วงษ์กะโซ่ หรือเซียนผักหวานป่า เราเดินไปหลังบ้าน สหายธีระหอบเอาเสื่อ เอาน้ำดื่มมา ตามวัฒนธรรมพื้นบ้าน ผมหอบเครื่องบันทึกเสียง พร้อมที่จะบันทึกการพูดคุยไว้อย่างละเอียด พื้นที่หลังบ้าน ร่มเงากอไผ่เงียบสงบแบบชนบท ได้บรรยากาศดีครับ

ใครสนใจอยากถามเรื่องอะไรช่วยบอกด้วยนะครับ..

กะไว้ว่ามีเวลามากบ้างน้อยบ้างก็จะถอดเทปออกมาลงในลานแห่งนี้ให้สาธารณะได้เรียนรู้ ได้รู้จักสหายที่เป็นชาวบ้าน ทำไมถึงเข้าป่า ชีวิตในป่า ทำไมถึงออกมา มีใครบ้างที่ยังมีบทบาทในทางการเมืองปัจจุบัน ฯลฯ


ทำไมถึงเอาสหายธีระก่อนคนอื่นๆ? เพราะว่าสหายท่านนี้เมื่ออยู่ในป่าใกล้ชิดกับ เหวง ณ ราชประสงค์มากเพราะเป็น “หมอป่า” ด้วยกัน การบันทึกภาพแห่งความหลังอาจจะทำให้เรารู้จัก เหวง ได้เพิ่มขึ้น

ผมได้ไปปรึกษากับสหายหลายท่าน ถึงเรื่องนี้ ท่านเหล่านั้นเห็นด้วย และพอดีที่สหายดงหลวงทั้งหมดกำลังเริ่มเตรียมการจัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้น หากงานชิ้นนี้เสร็จก็จะถือเป็นองค์ประกอบของอนุสรณ์สถานนี้ไปด้วยเลย

อย่าลืมนะครับ ใครสนใจอยากถามเรื่องอะไร ตั้งคำถามได้นะครับ..


น้องนกหัวแดง..

90 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 เมษายน 2010 เวลา 20:07 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2053

บ่ายห้าโมงเย็นเศษวันนั้นที่บ้านขอนแก่น

เห็นนกตัวนี้ที่ไม่รู้จักและไม่เคยเห็นมาก่อน

บุคลิกเขาแปลกมาก ยืนขาถ่างๆมองซ้ายทีขวาที

แล้วก็บินหนีไป

แม้ว่าบนหัวเขาจะมีสีแดง

แต่ไม่เกี่ยวกับการวุ่นวายใดๆ

ตรงข้ามเขาให้ความรื่นรม น่ารักและความรู้สึกดีดี


คำบอกเล่าของพิลา..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 20:37 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 750

บางทราย: พิลา ในหมู่บ้านนายมีแดงลงไปกรุงเทพฯเยอะไหม

พิลา: ไม่มี พี่

บางทราย: หา…ไม่มีเลยรึ ก็พี่น้องไปกันโครมๆ บ้านนายไม่มีใครไปเลยรึ

พิลา: ไม่มีใครไป แต่เขาบริจาคข้าวกันพี่ คราวที่แล้วได้ตั้งสองตัน..

บางทราย: หา….สองตันข้าวนั่นน่ะรึ โห..ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ

พิลา: เขาไม่ลงไป แต่บริจาคข้าวกัน ไม่รู้เขากลัวตายกันมั๊ง และอีกอย่าง มันมีงานในไร่นาเยอะไปหมด ไม่มีใครอยากทิ้งไป

บางทราย: เขามีหัวหน้ามาเก็บข้าวรึไง

พิลา: มีพี่..เป็นตำรวจกองเมืองมุกดาหารนี่แหละ เป็นเขยของหมู่บ้านนี้…??????

บางทราย: หา…ตำรวจเลยรึ….

พิลา: พี่..ตำรวจนี่แหละ แค่นั้นยังไม่พอ หมู่บ้านอื่นนะเขาลงไปกรุงเทพฯกันเยอะ หลายคันรถเลย พี่รู้ไหม มีตำรวจทางหลวงนำขบวนหน้า-หลังเลยหละครับ…

บางทราย: หา…ตำรวจขับนำขบวนเลยรึ….โห…

พิลา: พี่ ชาวบ้านเขาไม่รู้เรื่องอะไร เหตุผล ต้นสายปลายเหตุอย่างไรเขาไม่รู้แจ้งหรอก สมัยกลุ่มเหลืองเดินขบวนชาวบ้านผมก็บริจาคข้าวให้เหมือนกัน…

บางทราย: หา…นี่บริจาคให้ทั้งเหลืองทั้งแดงเลยหรือ…โอพระเจ้า…

พิลา: ที่บ้านผมน่ะ ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งจับกลุ่มกันเปิดวิทยุแดง ฟังกันทั้งบ้าน ไม่เป็นอันทำอะไรหละ…

เชิญท่านวิเคราะห์กันเองเลยครับ…ว่านี่คือชนบทแห่งหนึ่งที่สะท้อนภาพการเคลื่อนตัวตามปรากฏการณ์ปัจจุบัน บอกอะไร บ่งชี้อะไร คนทำงานชนบทหัวปั่นเหมือนกัน งานที่ทำมันมากมายไปหมด หลายเรื่องนอกเหนือกรอบงานที่โครงการระบุ แต่มันก็พัวพันไปหมด แตะอย่างหนึ่งก็สาวไปถึงอีกเรื่องหนึ่งได้ไม่ยาก

ใครจะมาเนรมิตให้ชนบทสวยงาม บริสุทธิ์ผุดผ่องล่ะ ไม่มีทาง ยิ่งการเมืองที่เข้มข้น ชนบทคือเป้าหมายใหญ่เชียวหละ ไม่เชื่อลองใส่เสื้อแดงเดินไปที่ราชประสงค์ซิ แล้วขอดูบัตรแดงหน่อย มาจากชนบททั้งน้านนนนน

หมายเหตุ: พิลาคือพนักงานขับรถของโครงการที่ทำงานร่วมกันมาตลอด


ฉันถามตัวเอง..

22 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 13:31 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1024

 

ถามตัวเอง…..

ไม่มีใครไปปั้นแต่งเมฆให้เป็นรูปร่างแบบนั้นแบบนี้ได้โดยแท้

เขาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และจางหายไปด้วยปัจจัยของธรรมชาติล้วนๆ

แต่คนเรานี่ซิ รูปร่างยังตกแต่งให้สวยงามได้

จิตใจก็สามารถสร้างให้งดงามได้

ที่กล่าวกันว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะสามารถทำดีได้

แต่ใจเรานี่ซิยังปล่อยให้ไหลไปสู่ที่ต่ำ

ตามกิเลส ฯลฯ ได้

การทำในสิ่งที่งดงามนั้น เราทำไม่ได้

หรือเราไม่ได้ทำ


ความรู้สึกภายใน..ที่อยากบอก

1315 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 10:47 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, ทุนสังคม #
อ่าน: 18817

พูดไม่ออก…………

แต่รู้สึกได้ภายในว่า

หัวอกเราชอกช้ำเป็นที่สุด…


คิดนอกกรอบ..

20 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 10:36 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3030

วันนั้นเดินที่สวนป่า เห็นขนไก่ตกอยู่หยิบมาพิจารณาดู รู้สึกชอบ สวยดีครับ หากคนช่างคิดเห็นขนไก่ชิ้นนี้เข้าคงคิดต่อยอดไปหลายอย่าง เช่น

  • เอาไปตกแก่ง เสื้อผ้า หมวก กระเป๋า ถือว่าเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง
  • เอาไปตกแต่งบอร์ด การนำเสนอผลงานต่างๆ ตามโรงเรียน สถาบัน สถานที่หน่วยงานต่างๆ ฯ
  • เอาไปเป็นต้นแบบในการทำรูปภาพต่างๆ
  • เอาไปเป็นต้นแบบในการทำตกแต่งการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • หากมีจำนวนมากๆก็เอาไปฟอกแล้วเอาไปทำวัสดุทำหมอนรองหัวหรืออื่นๆ
  • หากเอานักต่างๆมาดู น่าจะเกิด “จินตนาการ” ต่างๆมากมายในการเอาไปใช้ประโยชน์น่ะครับ

ความจริงวันนั้นก็คิดอยู่ว่า จะเอาไปเป็นกรณีศึกษาให้นิสิตแพทย์ดูแล้วถามว่า ท่านเห็นวัสดุสิ่งนี้แล้ว

  • ท่านคิดอะไรบ้าง
  • ท่านคิดทำประโยชน์อะไรได้บ้าง
  • ท่านคิดว่าวัสดุสิ่งนี้จะเป็นที่มาของเชื้อโรคต่างๆอะไรได้บ้าง

แล้วเอาความคิดแต่ละคนจัดกลุ่มดูว่า คนเรานั้นคิดอะไร แบ่งได้กี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มนั้นผู้คิดมีพื้นฐานจากอะไร (อาจจะสะท้อนภูมิหลังของเขา) การเอาความคิดออกมาจากกลุ่มก็จะเรียนรู้กันเอง และจะช่วยฝึกฝนกระบวนการคิดได้ หลายคนอาจจะต่อยอดไปได้ บางคนอาจเกิดแรงบันดาลใจบางอย่างขึ้นมาได้…ฯลฯ

นี่คือการเรียนนอกกรอบ นอกห้องเรียน กลางป่า กับธรรมชาติ ฯลฯ

บางทีการเรียนรู้นอกกรอบแบบนี้ เอาสิ่งรอบตัวมาเป็นสื่อในการเรียนรู้ แล้วโน้มนำ เข้าสู่ชีวิตเราได้ สนุก กระตุกต่อมคิด สร้างสรรค์ ฯ และหลายครั้งเราได้แนวคิดที่เราคิดไม่ถึงบ่อยๆเช่นกันครับ


AAR นิสิตแพทย์มาสวนป่า

50 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 เมษายน 2010 เวลา 18:53 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3039

เท่าที่ฟังคุณหมอคุยกันถึงนิสิตแพทย์นั้น ดูจะมีแต่เรื่องเรียน สอบ เครียด ปัญหาการเรียนนิสิตแพทย์ ปัญหาหลักสูตรแพทย์ การมองทางออกต่างๆ การคงความเป็นวิชาชีพแพทย์ เกณฑ์ขั้นต่ำของการเป็นแพทย์ ความร่วมมือของทีมอาจารย์ ฯลฯ ล้วนหนักหนาทั้งนั้น ผมฟังแล้วก็หนักหัวไปด้วย…


ในฐานะที่ผมมีเพื่อนเป็นแพทย์หลายคน มีน้องมีพี่ร่วมสถาบันที่ใกล้ชิดกันเป็นแพทย์หลายคน ที่สนิทสนมรักใคร่ขนาดเตะกันได้ก็มี ที่เคยร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมก็มี เมื่อมาทำงานก็ใกล้ชิดวงการแพทย์อันเนื่องมาจากต้องดูแลคุณแม่(ยาย)ที่เข้าๆออกๆ 7 ปี กับโรงพยาบาลทั้งรัฐ ทั้งเอกชนจนพยาบาลร้องอ๋อกันหมดเมื่อเอ่ยชื่อคุณยาย ผมว่าวงการแพทย์นั้นเป็นข้าราชการที่ก้าวหน้าที่สุด มีระบบที่สุด และตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุด ทุกครั้งที่มีเรื่องของบ้านเมืองนั้น ต้องมีแพทย์นั่งร่วมโต๊ะให้ข้อเสนอแนะ แก้ปัญหา คัดหางเสือสังคมเสมอ..

แต่ก็ทราบมาว่าแพทย์ที่ “น่าตีก้น” ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องปกติของปุถุชน เพราะอาชีพไหนๆก็ย่อมมีคนต่างประเภทกัน แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า แพทย์นั้นมีมาตรฐานสูง..


อาชีพแพทย์นั้นเคลื่อนตัวเองตลอดเวลา ผมหมายถึง ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคม ดูจะมากกว่าอาชีพอื่นๆมั๊ง… ดูซิ ทีมอาจารย์หมอพานิสิตแพทย์มาลุยสวนป่าแทนที่จะไปใช้โรงแรมหรูคุยกัน ซึ่งพ่อครูบาฯและอาจารย์แสวงยังบ่นใส่อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์เลยว่า ไม่ออกลงสัมผัสดิน นั่งรากงอกอยู่แต่ในห้อง… อันนี้น่าที่จะเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารการศึกษาสถาบันนั้นๆ รวมทั้งทีมครู อาจารย์….

โดยส่วนตัวผมไม่ได้คาดหวังว่าการใช้เวลา 2-3 วันที่สวนป่านั้นจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้นิสิตแพทย์เปลี่ยนแปลงไปเฉกเช่น ทีมกลุ่มหมอชนบท หรือหมอเมืองพร้าวในสมัย 14 ตุลา ที่ เอาชนบทเป็นวิถีชีวิตของตัวแพทย์เอง แต่ผมคิดว่า บรรยากาศ การขับกล่อมของทีมวิทยากร การตั้งอกตั้งใจของทีมหมอพี่เลี้ยงหรือทีมอาจารย์หมอ ความยากลำบากบ้างในชีวิตคืออีกบทเรียนที่ความเป็นแพทย์ควรที่จะสัมผัส

ที่เด่นและชอบมากคือ การดึงการเรียนรู้ออกมาจากห้องแล็ป ออกมาจากหนังสือ Text ที่หนาเตอะ ออกจากห้องเรียนที่คุ้นชิน ออกจากบรรยากาศของโรงพยาบาล


ผมจำได้ว่าหลักสูตรการศึกษาในประเทศจีนนั้น ทุกสาขาวิชาก่อนจบจะต้องเข้าไปใช้ชีวิตในชนบทเป็นเวลา 1 ปีเป็นอย่างน้อย ผมสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะนิสิตแพทย์ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง และมากกว่าครึ่งของคนในเมืองนั้นถูกเลี้ยงดูมาแบบลูกแก้ว เหมือนไข่ในหิน และประเทศไทยสัดส่วนใหญ่ของพื้นที่และประชากรนั้นคือชนบท เราจะต้องลงไปสัมผัส ไปรับรู้ ไปเรียนรู้ ไปซึมซับ ไปเป็นหนึ่งในวิถีของเขา แล้วย้อนกลับมาร่ำเรียนและใช้ประสบการณ์ในชนบทนั้นๆคิดหาทางว่า “เราจะใช้วิชาชีพแพทย์สร้างสุขภาพชนบทให้ทัดเทียมเมืองได้อย่างไร” ผมว่านิสิตแพทย์มีความเก่งโดยพื้นฐานอยู่แล้ว การนำพา หรือเปิดโอกาสให้เธอเหล่านั้นสัมผัสชนบทอาจเป็นคุณูประการให้เขาเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆออกมาเพื่อสังคมชนบท เพื่อสังคมส่วนใหญ่


ในฐานะที่เป็นประชาชนที่คลุกคลีชนบท ขอชื่นชมคณะอาจารย์แพทย์จากจุฬาทุกท่านที่เฝ้าเติมต่อก่อสร้างคนที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้บรรลุเจตนารมณ์ ความเป็นแพทย์เพื่อสังคมสำหรับเธอเหล่านั้นในอนาคต ขอบคุณสวนป่าที่เปิดเวทีแห่งความเป็นธรรมชาติอีกมิติที่นิสิตแพทย์ได้สัมผัสและจะเป็นหน่ออ่อนของการเอ๊ะ..ในที่สุด


ตัวชี้วัดการพัฒนา..

55 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 เมษายน 2010 เวลา 19:44 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 2796

หากดวงจันทร์พูดได้

เขาคงสงสัยว่าจุดเล็กๆแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์

ทำไมมันวุ่นวายเสียจริง

โลกมนุษย์ยิ่งร้อน ความวุ่นวายยิ่งเร่งความร้อน

ยิ่งพัฒนาทำไมสติยิ่งถดถอย

การพัฒนาประเทศผ่านไปนับสิบแผนแล้ว

ความวุ่นวายนี่น่ะหรือคือผลของการพัฒนา

ฉันเป็นดวงจันทร์ อยากถามว่า

นี่คือตัวชี้วัดการพัฒนาใช่ไหม

ใช่ไหม..?


เบื้องหลัง session บางทรายที่สวนป่า

1644 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 เมษายน 2010 เวลา 22:13 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 20777

ได้รับโจทย์จากพ่อครูบาฯว่าจะกระตุ้นอย่างไรให้นิสิตแพทย์รู้จักคิดรักษาคนไปพร้อมๆกับรักษาไข้ในกรณีชนบท

ผมพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า นิสิตแพทย์กลุ่มนี้คือใคร ให้มากที่สุดเท่าที่เวลาและโอกาสจะมีอยู่ โดยการแอบฟังคนโน้นคนนี้คุยกัน โดยเฉพาะกลุ่มหมอพี่เลี้ยงและคุณสุชาดา SCG ที่มาช่วยงานนี้คุยกัน ก็พอได้ภาพคร่าวๆว่าเป็นกลุ่มนิสิตแพทย์กลุ่มพิเศษที่เข้าเรียนแพทย์จุฬาโดยโควตา และต้องออกไปประจำชนบทในท้องถิ่น ที่ผ่านมาหลายคนก็จ่ายเงินเพื่อซื้อตัวออกจากเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อก้าวไปข้างหน้า บางคนก็ไปเรียนต่อ… และสภาพปัจจุบันกลุ่มอาจารย์หมอบ่นว่านิสิตแพทย์เรียนหนักมากๆ แต่ละคนจึงไม่ค่อยสนใจอะไรเอาแต่เรียนๆๆๆเพื่อสอบ..และฯลฯ

ช่วงเวลาที่จำกัดผมก็ออกแบบ session ของผมเป็นแบบเบาๆ ง่ายๆ แต่พยายามสะท้อนข้อเท็จจริงให้เขาได้หลักคิดบ้างเท่านั้น ในฐานะที่ผมจบมาทางการศึกษา แต่มาทำงานพัฒนาคนชนบท ก็ออกแบบ session นี้โดย 1) ผมขอกระดาษ a4 แล้วทำตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีรูปเล็กๆจำนวน 16 รูป 2) ผมจะต้องแบ่งกลุ่มนิสิตออกสัก 5 กลุ่ม เพื่อให้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยการวาดรูปชนบท 3) แล้วให้กลุ่มมา อธิบายงานวาดรูปที่เขาทำ นั้นให้เพื่อนฟัง 4) หลังจากนั้นเป็นการ สะท้อนมุมมองทั้งหมด โดยพยายามโยงให้เข้าโจทย์คือการเข้าใจคนชนบท ในมุมที่แพทย์จะเอามุมมองเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปในภายหน้า

กิจกรรมเหล่านี้ผมเล่นมาบ่อยๆ แต่คนละวัตถุประสงค์กัน แต่เครื่องไม้เครื่องมือต้องพร้อมกว่านี้เช่นมีบอรด์จำหรับการเขียนสรุป พื้นที่ติดรูปที่แสดง และ power point ซึ่งผมเตรียมไปบ้าง แต่การจัดสถานที่ต้องออกมานอกห้อง และไม่มีไวท์บอร์ด จึงบกพร่องไปบ้าง ไม่เป็นไร เราทำงานบนความไม่พร้อมตามแนวคิดที่พ่อครูกล่าวบ่อยๆ ได้.. ยืดหยุ่นได้ โชคดีที่ทีมงานอาจารย์แพทย์มีกระดาษ a4 มีสีเทียนกล่องเตรียมมาพร้อมจึงได้ใช้ประโยชน์

1) ผมเริ่มโดยการเอาตารางนี้มาให้นิสิตดู


แล้วถามนิสิตว่าช่วยกันดูว่ามีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทั้งขนาดเล็กและใหญ่รวมกันทั้งหมดกี่รูป ทิ้งช่วงเวลาให้นิสิตดูสักพัก จริงๆควรวาดรูปนี้ใหญ่ๆติดไวท์บอร์ดหน้ากลุ่ม แล้วให้ทุกคนพิจารณาดูสักช่วงเวลาหนึ่ง บางคนอาจจะเอากระดาษมาวาดรูปแล้วพยายามนับ หาคำตอบจากโจทย์

เมื่อได้เวลาพอสมควรก็ให้แต่ละคนช่วยกันตอบคำถาม ซึ่งมักพบว่า นับจำนวนได้ไม่เท่ากัน ขาดบ้างเกินบ้าง ซึ่งจริงๆมีจำนวน 30 รูป จริงๆแล้วควรเฉลยโดยการให้แต่ละคนออกมาอธิบายวิธีนับก็ได้ และหาจุดที่ไม่ได้นับ(มองไม่เห็นว่ามันคือรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในที่ประชุมนั้นว่าจริงๆแล้วมีจำนวนเท่าไหร่แน่ จนทุกคนเห็นพ้องต้องกันหมด เราก็เดินประเด็นต่อไปนี้


ประเด็นของการเรียนรู้ตรงนี้ก็คือ เพราะอะไรคนเราจึงนับจำนวนรูปสี่เหลี่ยมนี้ได้ไม่เท่ากัน ? และสามารถตั้งคำถามอีกมากมายให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ

จากบทเรียนนี้เราพบว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ 30 รูป นี่คือข้อเท็จจริง ที่เป็นที่สุด ประเด็นสำคัญ จากบทเรียนเราพบว่า ขนาดเรื่องราวที่เราเห็นกับตา สัมผัสได้ด้วยจักขุสัมผัส โสตสัมผัส อาจจะลุกเดินออกมาดูใกล้ๆ อาจจะเอากระดาษมาลอกโจทย์แล้วลองนับ ก็ยังพบว่า เรานับได้ไม่เท่ากัน ซึ่งนี่คือความจริงในสังคมเรา ทุกอย่างที่เราเห็นนั้น เราเข้าถึงความจริงได้ไม่เท่ากัน แม้รูปธรรมที่เห็นจะจะเราก็เห็นได้ไม่เท่ากัน เรานับได้ไม่เท่ากัน เราเข้าถึงความจริงได้ไม่เท่ากัน ซึ่งมาสาเหตุมากมายของแต่ละคน เบื้องหลังของแต่ละคน เบ้าหลอมของแต่ละคน พื้นฐานของแต่ละคน ประสบการณ์ของแต่ละคน

แล้วเรื่องราวที่เป็นจริงในสังคมนี่ล่ะ….???? แล้วคนที่อยู่ต่อหน้าของเรานี่ล่ะ แล้วคนไข้ที่อยู่ตรงหน้าคุณหมอนี่ล่ะ หมอจะวินิจฉัยอาการอะไรสักอย่างนั้นต้องมีข้อมูลที่มากที่สุด ซึ่งในทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นมีเครื่องมือช่วยเหลือมากมายที่จะได้มาซึ่งข้อมูลบอกอาการของคนไข้ แต่สาเหตุที่มาของอาการเหล่านั้นก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน…?????

2) ผมทิ้งเรื่องทั้งหมดไว้ตรงนั้นแล้ว เริ่มเรื่องใหม่ แบ่งกลุ่มนิสิตแพทย์เป็น 5 กลุ่ม แล้วเอากระดาษ a4 ให้ แล้วให้โจทย์ว่า แต่ละกลุ่มช่วยกันวาดภาพชนบทให้ได้รายละเอียดมากที่สุดเท่าที่กลุ่มจะทำได้ ให้เวลาสักพักหนึ่ง แล้วให้ตัวแทนกลุ่มออกมาอธิบายรูปที่ตัวเองช่วยกันวาดไปนั้นว่ามีอะไรบ้าง มีความหมายอย่างไรบ้าง ฯลฯ ส่วนมากสนุกครับเพราะความแตกต่างกัน เพราะรูปร่างต่างๆที่เขาวาดลงนั้นมันตลก มันแตกต่าง แต่สาระก็คือ


รูปแต่ละรูปนั้นอธิบายชนบทได้ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน…? ตลอดการเล่นมามักพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ มักจะมีภูเขาสองลูก มีดวงอาทิตย์ขึ้น มีนกบิน มีกระต๊อบ มีทุ่งนา มีลำธาร มีควาย มีเป็ด ไก่ มีชาวนา บางคนมีมีวัด มีโรงเรียน..ฯ

สรุปเราพบว่า ภาพวาดเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เป็นกายภาพของพื้นที่มากที่สุด คือสิ่งที่เห็นง่าย สัมผัสได้ง่าย นับได้ง่าย แล้วบางกลุ่มก็ลงลึกไปอีกมีวิถีชีวิต มีสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมบ้าง เช่นวัด โบสถ์ เป็นต้น

ประเด็นหลักที่ต้องการเน้น ให้กลุ่มย้อนกลับไปดูรูปสี่เหลี่ยมที่เรานับมาว่าเราพบว่าบางกลุ่มนับรูปสี่เหลี่ยมได้ไม่ครบข้อเท็จจริง คือ 30 รูป บางคนนับได้ 22 รูป เพราะเขามองไม่เห็นอีก 8 รูป มันเหมือนข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่เรายังไม่ได้เข้าถึง หรือเข้าถึงไม่ได้ หากไม่รู้คำตอบที่สุดของมันเราก็อาจจะทึกทักเอาว่า ความจริงที่สุดนั้นมีแค่ 22 รูปเท่านั้นทั้งๆที่จริงๆมี 30


แต่เรามักพบว่าสิ่งที่ขาดไปจากรูปที่วาดคือ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม และที่ขาดมากที่สุดคือคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คือความเชื่อ ต่างๆของหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ชนเผ่าฯ (อย่าไปเบรมนิสิตว่าเขาบกพร่อง เป็นเพียงการช่วยกันสะท้อนบทเรียนเท่านั้น)

3) สรุป โดยปกติเรามักจะเข้าถึงความจริงทั้งหมดไม่ได้อย่างทันที ต้องใช้เครื่องมือ ใช้ประสบการณ์ ใช้มุมมองที่ฝึกฝนมา ใช้ตัวช่วย ใช้…….เพราะไม่มีใครเข้าถึงความจริงของคนเพียงหนึ่งคนได้ทั้งหมด ยิ่งเป็นครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ฯ แต่การยับยั้งชั่งใจ การตั้งสมมุติฐาน การค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเรื่อยๆ สร้างฐานข้อมูลที่ครบถ้วนให้มากที่สุดเท่าที่ความจำเป็นควรจะมี ฯลฯ ข้อมูลเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการช่วยให้นักพัฒนาเข้าใจมากขึ้น เข้าถึงข้อเท็จจริงมากขึ้น ตัดสินใจถูกต้องมากขึ้น ในมุมมองของแพทย์ ข้อมูลบุคคลหากมีมากที่สุดช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องมากขึ้น…?

แต่หลายเรื่องมันไม่ง่ายนักของการได้มาของข้อมูล เช่น ความเชื่อต่างๆ หรือ วัฒนธรรมการบริโภคของคนบางชุมชน บางชนเผ่า บางท้องถิ่น ที่เหมือนเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่เรานับไมได้ เหมือนมันซ่อนอยู่ที่เรามองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ หากไม่มีระบบข้อมูลป้อนให้ หรือเราไม่ sense เราไม่ตระหนัก เราฉาบฉวย เราไม่ฉุกคิด เราไม่เอ๊ะ เรา..ฯลฯ

มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีเหตุมาจากเรื่องนี้


นอกจากนี้แล้วชนบท คนชนบทยังมีบริบทที่คนเมืองเข้าใจผิดพลาดมาก็เยอะ เช่น ภาษาถิ่น ยิ่งคนชนบทนั้นมีภาษาของเขา มีสำนวนของเขา มีบริบทการสื่อสารของเขาเอง.. คนเมืองย่อมเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ยิ่งคนที่ไม่คุ้นเคยกับชนบท บริบทของภาษาถิ่นย่อมรับทราบสำนวนคำตอบของชาวบ้านที่ผิดพลาดได้ แค่คำถามของคนเมืองบ่อยครั้งชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ …. ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือจุดเปราะบางที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงความจริงทั้งหมดได้ หากไม่ตระหนัก ไม่เข้าใจ และไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่พยายามสร้างระบบที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ฯลฯ

จากดังกล่าวทั้งหมด นักกระบวนกร สามารถที่จะให้เทคนิคของตัวเองเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปใช้ในสาระอื่นๆได้ตามการสร้างสรรค์ของกระบวนกร และใช้เทคนิคเฉพาะตัวสร้างสรรค์การเรียนรู้ได้มากกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดมากมาย


สะท้อน กรณีนิสิตแพทย์ที่สวนป่า

- นิสิตแพทย์ตอบคำถามเรื่องรูปสี่เหลี่ยมได้ดี ตอบจำนวนได้ถูกต้อง ซึ่งหลายครั้ง หลายกลุ่มไม่มีใครตอบถูกเลย ข้อสังเกตว่านิสิตแพทย์เก่งในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

- สาระภาพรวมทั้งหมดนั้น นิสิตมีพื้นฐานมาก่อนแล้วเพราะบางคนตอบว่า เคยเรียนเรื่องเหล่านี้มาแล้ว จึงเข้าใจได้…??

- นิสิตมีคำอธิบายภาพได้เป็นเรื่องราวได้ดีสมควร แต่ก็น้อยไปในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นคือความสัมพันธ์คนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อมและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพราะน้องๆเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ได้ถามบางคนที่เป็นเด็กอีสานว่ารู้จักเจ้าปู่ หรือปู่ตาไหม เธอบอกว่าไม่รู้จัก จริงๆ ปู่ตาคือศาลเจ้าที่ประจำชุมชนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ มากน้อยแตกต่างกันไป บางชุมชนนับถือมาก ใครจะเข้าจะออกจากหมู่บ้านก็ต้องไปกราบไหว้ รวมไปถึงยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย..

- บรรยากาศ อาจจะกร่อยไปหน่อยเพราะ ขาดเครื่องมือที่ผมมักใช้คือ ไวท์บอร์ด กระดาษร่างแบบ ที่ช่วยให้เกิดการบันทึก การเขียนความคิดเห็นลงไป ยิ่งในช่วงระดมความคิดเห็น ควรที่จะบันทึกลงในกระดานหน้าชั้นให้ทุกคนเห็นมากกว่าการพูดเพียงอย่างเดียว

- ฯลฯ อาจจะมีเพื่อนๆช่วยสะท้อนเพิ่มเติมได้ครับ



มีอะไรที่มุมแดง..

57 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2010 เวลา 22:19 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 1599

วันก่อน….

แตง ไม่ใช่ชื่อผลไม้ ประเภทแตงโม แตงไทยที่เอามาใช้กันบ่อยช่วงแดงกบฏนี่นะครับ แต่แตงที่ผมเอ่ยนี่เป็นชื่อพนักงานสำนักงานของผม เมื่อไม่ได้เจอกันช่วงสงกรานต์ก็ถามไถ่กัน

บางทราย: แตง เป็นไงช่วงสงกรานต์สนุกไหม แดงแถวบ้านลงไปกรุงเทพกันเยอะไหม (บ้านเธออยู่ชานเมือง)

แตง: โห อาจารย์ หนูกับครอบครัวไปรับจ้างสร้างห้องน้ำ ไม่ได้เที่ยวหรอก เรื่องแดงที่หมู่บ้านหนูนั่นหากรัฐบาลไม่เอาตำรวจมากักด่านมิให้แดงลงไปกรุงเทพฯละก็ กรุงเทพฯเปลี่ยนสีเป็นแดงหมดแน่นอน เขาตั้งใจจะลงกันเยอะ

คือว่าจะมีคนมาโฆษณาให้ไปเป็นสมาชิกแดง ไปทำบัตรแล้วหากทักษิณกลับมาได้แล้ว ก็จะได้นั่นได้นี่ คนก็ไปทำบัตรกันมากเกือบทั้งหมู่บ้าน เขาไม่เข้าใจอะไรหรอกค่ะ เพียงแต่ว่าการเข้าเป็นสมาชิกแดงแล้วจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็เอาแล้วหละ

วันนี้….

มีการประชุมชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆในระดับตำบล เรื่องตลาดชุมชน เสร็จแล้วก็พาชาวบ้านที่เป็นแม่ค้าไปกินข้าวกลางวันกันประมาณ 10 คน

บางทราย: นี่คนสวย แดงบ้านเรามีมากไหม เขาลงไปกรุงเทพฯกันมากไหม

คนสวย: มากกว่าครึ่งหมู่บ้านค่ะ มีนายหน้าเข้ามาหาคนลงไปกรุงเทพฯ เขาให้วันละ 500 บาท ต้องอยู่ที่นั่นอย่างน้อย 5 วันจึงจ่ายเงิน คนไปส่งแล้วก็ตีรถขึ้นมารับชุดใหม่อีก หมุนเวียนไป เขาจัดเป็นกลุ่มจังหวัด มีคนจัดการ มีการลงชื่อ…

บางทราย: เขาแจกเสื้อแดงไหม

คนสวย: ไม่แจก ต้องซื้อค่ะ แต่ได้ข่าวว่าใครอยู่ถึงสิบวันเขาจะให้เสื้อแดงค่ะ

บางทราย: เขาไม่กลัวโดนลูกหลงตายรึ

คนสวย: ไม่กลัว อยากได้เงินมากกว่า บ้านอื่นไม่รู้นะ แต่บ้านนี้น่ะ เขาไม่รู้เรื่องอะไรหรอก รู้ว่ายุบสภาแล้วหากมีบัตรแดงก็จะได้รับสิทธิพิเศษในสังคม เขาไม่เข้าใจอะไรหรอก

วิเคราะห์:

๑. เห็นว่าได้ประโยชน์ เช่น ได้เงินที่เรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ขอเรียกค่าจ้างก็แล้วกัน อย่างวันนี้ชาวบ้านบอกว่าได้ค่าจ้างวันละ 500 บาท กินอยู่ เขารับผิดชอบหมด แค่ไปร่วม 5 วันก็ได้ 2500 บาท ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ ประโยชน์อย่างอื่นที่อาจตามมา ก็อย่างที่เขาโฆษณาว่า หากทักษิณกลับมาจะแก้ปัญหาความยากจนใน 6 เดือน ทุกคนจะมีเงินใช้ ทุกคนจะมีงานทำ ประกอบกับนโยบายประชานิยมได้ผลในชนบทมาก ชาวบ้านติดอกติดใจ

๒. พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลดปล่อยเดิม เป็นอดีตพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่ที่มีแผลเดิม ใครมาสะกิดว่ารัฐเลว ไม่ดี กดขี่ คนส่วนนี้ก็พร้อมจะเดินเข้าร่วม ผู้นำแดงอย่างน้อยสองคนเคยอยู่ในป่าในพื้นที่นี้ จึงผูกพันกับชาวบ้าน ยังมีสายใยแก่กัน ผนวกกับนโยบายประชานิยมที่ถูกใจ เขาก็เดินตามต้อยๆ และออกหน้าออกตาในพื้นที่ด้วย.. แต่แปลกคนส่วนนี้ไม่ค่อยลงมากรุงเทพฯ แต่เข้าร่วมที่ศาลากลางจังหวัด.. มีผู้นำชุมชนหนุ่มคนหนึ่งที่สนิทสนมกับเรา ออกหน้าออกตามาก วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานขอยืมกล้องถ่ายรูปมาใช้เพราะกล้องของเธอถ่านหมด เมื่อเอารูปมาโหลดลงเครื่องคอมฯก็ตกใจ เพราะมีรูปผู้นำคนนี้กอดเอว..ไอ้กี้… คราวที่ไปไฮปารค์ที่หน้าอำเภอเดือนก่อนๆ ผู้นำคนนั้นก็โทรมาทวงกล้อง แล้วบอกว่าตอนนี้อยู่ที่หน้าศาลากลาง…????

๓. หากจากข้อมูลในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ ผมคาดการณ์ไว้ว่า หากฝนตกหนักๆลงมาสักครั้ง สองครั้ง ชาวบ้านที่ในพื้นที่ที่ลงมาร่วมชุมนุมต้องขอกลับบ้านหมด เพราะต้องลงมันสำปะหลัง เตรียมพื้นที่ทำนาปี.. แม้อยากได้เงิน แต่ข้าวเป็นหลัก เพราะเงินที่ได้ก็ไม่ได้มากมายจนทำให้ร่ำรวยเหมือนแกนนำ..

๔. สิ่งที่น่าสนใจกว่าของคนที่เฝ้ามองสังคม คือ พฤติกรรมสังคมเช่นนี้คือโจทย์ใหญ่ที่นักวิชาการต้องศึกษาเพื่อหาทางที่เหมาะสมในอนาคตป้อนให้รัฐบาลเพื่อประชาชนแท้จริงเอาไปพิจารณา นักพัฒนาสังคมต้องหยิบเอาปรากฏการณ์สังคมนี้มาเสวนาเพื่อหาทางสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในชนบทมิให้ใครมาลากไปเพราะเงิน ระบบสื่อสารมวลชนควรถูกคัดกรองอย่างไร ฯลฯ บทบาทของชุมชนเข้มแข็งกับการเมืองควรจะอยู่ในรูปใด..ฯลฯ


ถึงฯพณฯท่านนายก..

22 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2010 เวลา 18:18 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 870

ฯพณฯท่านนายก

ผมเรียนรู้ว่าสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

ทั้งในด้านเจริญก้าวหน้า แลเสื่อมถอย

ทั้งเคลื่อนไปโดยอัตโนมัติ ด้วยการสร้างสรรค์ด้านต่างๆของการพัฒนาประเทศ

และการเคลื่อนไปโดยการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างจงใจ

เส้นทางเดินของสังคมก็คดเคี้ยวโค้งงอในบางช่วง

แต่ผมก็เรียนรู้ว่า ทุกครั้งเนื้อในของสังคมจะพยายามปรับตัว

ปรับตัวให้การเดินทางของสังคมอยู่ในเส้นที่ตรง หรือใกล้เคียงเส้นตรงมากที่สุด

การปรับตัวให้สังคมอยู่ในเส้นตรงนั้นผมเรียกว่า พลังของความถูกต้อง เหมาะสม

มันเป็นพลังของคุณธรรม ที่ซ่อนอยู่ในสังคมทุกหนทุกแห่ง

ทุกครั้งที่เกิดการจงใจเปลี่ยนสังคมไปในทิศทางที่บิดเบี้ยว โค้งงอ

พลังนี้จะค่อยๆออกมา ทัดทาน ปรับแต่ง

บอกกล่าวในสิ่งที่ดีกว่า ถูกต้องกว่า เหมาะสมกว่า

แล้วสังคมจะค่อยๆปรับเข้าหาเส้นทางแห่งคุณธรรมที่อยู่ในแนวที่ตรงมากที่สุด

ตื่นเถิดคุณธรรม ตื่นเถิดพลังแห่งความถูกต้อง

มาช่วยกันคัดหางเสือเรือลำนี้ให้แล่นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นไปเถิด

พลังคุณธรรมจงออกมาช่วยกัน

สังคมเรียกร้องท่าน…


ถึงฯพณฯท่านนายก..

1300 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 เมษายน 2010 เวลา 13:02 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 17124

ผมทราบว่าท่านมีโจทย์หนักอึ้งดั่งภูผาใหญ่

บางโจทย์ต้องใช้เวลาและการเริ่มกระทำที่เป็นรูปธรรมเดี๋ยวนี้

บางโจทย์ก็ยากที่จะถอดสลักระเบิดออกมาอย่างนิ่มนวล

บางเรื่องซับซ้อนเกินกว่าความเร่งด่วนจะปัดเป่าได้

เมื่อฟังท่านยืนยันว่าไม่ถอดใจ และยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง

ประชาชนส่วนหนึ่งได้ทำบางอย่างที่สนับสนุนท่าน

ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งหูหนวก ตาบอด

ฟังแต่ไม่ได้ยินในสิ่งที่ท่านพูด

มองแต่ไม่เห็นเจตนา และความพยายามในเส้นทางที่ถูกต้องที่ท่านกำลังทำ

จะอย่างไรก็ตาม ท่านเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว

ขอได้จงเขียนประวัติศาสตร์นี้ด้วยสติ ธรรมภิบาล และความตั้งใจที่บริสุทธิ์ต่อไปเถิด

และแสดงออกมาให้ประชาชนได้เห็น แม้จะมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นก็ตาม

ประชาชนจะยืนอยู่ข้างท่าน

และวันข้างหน้าประชาชนอีกส่วนหนึ่งจะเข้าใจสิ่งที่ท่านทำ

ผมยืนอยู่ในด้านที่ถูกต้อง

ผมยืนอยู่เคียงข้างท่าน..


จดหมายถึงอ๋อย 3

16 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 เมษายน 2010 เวลา 20:16 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 727

อ๋อย การศึกษาเรื่องการปฏิวัติสังคมนั้น เราถกเถียง แลกเปลี่ยน เราหยิบเอาสภาพสังคมไทยมาวิเคราะห์ เราเชิญวิทยากรคนแล้วคนเล่ามาบรรยายเฉพาะกลุ่มให้ฟัง หลายครั้งเราจัดค่ายศึกษาตามบ้านชาวบ้านกลางสวน ทุ่งนา อาศัยร่มไม้ เป็นลานพูดคุยกัน บ่อยครั้งเราใช้ศาลาวัด วิทยากรบางท่านก็ยืนเคียงคู่กับอ๋อยอยู่ในปัจจุบันนี้

อ๋อย สมัย 14 ตุลา พี่จำได้ว่าใครคนหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ เข้าร่วมการชุมนุมมาตลอด ฟังการไฮปารค์ทุกวี่วัน สาระของการพูดนั้นกรอกเข้าสู่สมองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนจิตคิดไปเองว่า “พรุ่งนี้สังคมใหม่จะมาถึงแล้ว” แต่เมื่อออกไปชนบทในวันรุ่งขึ้น มันคนละเรื่องเลย มันมองไม่เห็นเลยว่าชาวบ้านจะเข้าใจในสาระทั้งหมดที่คนขึ้นพูดในที่ชุมนุมนั้น ชาวบ้านเขาพูดอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นหนังคนละม้วนแต่เรื่องเดียวกัน นี่คือความแตกต่างของสังคม นี่คือความแตกต่างของการรับรู้ นี่คือข้อเท็จจริง..

อ๋อย พี่นึกถึงราชประสงค์วันนี้ วันที่แกนนำกระหน่ำใส่รัฐบาล ให้ประชาชนเสื้อแดงฟังวันแล้ววันเล่า มวลชนนั้นก็มีอารมณ์ร่วม.. เชื่อว่าหลายคนในนั้นนึกว่าอีกไม่กี่วันเราจะดีขึ้นแล้ว…. อ๋อยนี่คืออะไรล่ะ เราเรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ว่าอะไรดีล่ะ เมื่อเวลาผ่านไปอารมณ์ร่วมนี้จะเปลี่ยนไปเป็นอะไรบ้าง เป็นอะไรก็ไม่สำคัญ สำคัญตรงที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติแท้จริงหรือไม่..

อ๋อย สมัยที่พี่เดินสู่ชนบท ยังย้อนระลึกได้ว่า เหมือนถือคัมภีร์เดินเข้าหาชุมชน เพราะเรา “สร้างวินัยในกลุ่ม” ขึ้นมาเอง เหมือนการเริ่มปรับตัวเพื่อเข้าสู่สังคมใหม่ คิดไปเหมือนเส้นทางเดินที่คู่ขนานไปกับหลักการของศาสนา เช่น ลดละเลิกความเป็นส่วนตัว วิจารณ์ตนเองให้มากกว่าวิจารณ์คนอื่น ฯลฯ… ยังขำอยู่เลยเมื่อเวลาเข้าห้องน้ำ ผิวปากเพลงลูกทุ่งลูกกรุง ออกมาก็โดนสามัคคีวิจารณ์ซะน่วมไปเลย พวกเรา สะสมพฤติกรรมใหม่เพื่อเตรียมการเปลี่ยนแปลง.. ศาสนาเน้นการหลุดพ้น แต่การปฏิวัติสังคมเน้นการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความเสมอภาค ภารดรภาพ ประชาธิปไตย ไม่มีชนชั้น ซึ่งเส้นทางนี้หนีไม่พ้นความรุนแรง เพราะสิ่งดังกล่าวนั้นไม่ได้ได้มาด้วยการร้องขอ..แต่..

อ๋อย พี่ๆน้องๆหันหน้าเข้าป่ากันนั้น หลับตาก็นึกภาพออกว่ากรอบความคิด หลักคิด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี จังหวะก้าว …ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อมี พคท.เป็นอาจารย์ใหญ่ให้ อุดมคติเหล่านั้นก็อยู่บนปลายกระบอกปืน และมวลชน ซึ่งใช้ยุทธวิธี ป่าล้อมเมือง แต่พี่คาบคัมภีร์เข้าทำงานกับชาวบ้านพี่ตระเวนจากบ้านนี้ไปบ้านโน้น กินกับชาวบ้านนอนบนบ้านชาวบ้าน คลุกคลีกับเขา เดินเข้าป่า ตามเข้าไปดูกิจกรรมต่างๆของเขา อาจารย์ใหญ่คือชาวบ้าน และการเข้ารับการฝึกอบรมการทำงานพัฒนาชนบทกับโครงการของ ดร.ป๋วย ที่ชัยนาท.. พี่สนุกกับการทำงานมาก ความสนิทสนมกับชาวบ้านใน อ.สะเมิงนั้นเรียกได้ว่า พี่สามารถขึ้นไปกินนอนในครอบครัวต่างๆได้ทั้งหมด ..

อ๋อย มองย้อนหลังไปก็หัวเราะให้กับตัวเอง เราแค่มือใหม่ หากเป็นหมอก็แค่ Intern แต่อาจหาญไปพัฒนาชาวบ้าน แน่นอนสมัยนั้นความก้าวหน้าทางหลักการพัฒนาชนบทยังมีบทสรุปน้อย เราก็แค่ เป็นคนหวังดี และเอาวิทยาการใหม่ๆเข้าไปสู่ชุมชน โดยตั้งเป้าไว้ว่า ให้ชาวบ้านยืนอยู่บนขาของตัวเอง..เรื่องนี้เขียนกันยาวเพราะเป็นบทเรียนการพัฒนาชนบทยุคแรกๆของเมืองไทย..นั่นคือ พ.ศ. 2518

อ๋อย พี่โชคดีที่นักพัฒนาชุมชนสมัยนั้นเกาะกลุ่มกันแน่น เราจึงนัดพบปะกันระหว่างองค์กรกันเสมอ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่เกี่ยวกับตัวองค์กรเลย ทั้งๆที่ ตัวองค์กรน่าที่จะทำหน้าที่นี้ แล้วในที่สุดเราก็เชื่อมกลุ่มเช่นนี้กันทั่วประเทศ แล้วตั้งเป็นชมรมขึ้นมาที่เรียก กป.อพช.

อ๋อย พี่ทำกิจกรรมต่างๆตามหลักการที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “ให้ชาวบ้านสามารถยืนบนขาของตัวเองได้” ซึ่งก็เป็นฐานรากความคิดที่พัฒนามาเป็นการพึ่งตนเอง พี่เห็นรายละเอียดของคน ครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต การอิงอาศัยธรรมชาติ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อมและกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรเลยเกี่ยวกับชนชั้น ประชาธิปไตย ความเสมอภาค ภราดรภาพ เขามีแต่พ่อใหญ่แม่ใหญ่ มีหมอพื้นบ้าน มีผู้ทำพิธีกรรม มีพระ มีความเชื่อ..ฯลฯ และทั้งหมดเคารพรักสถาบัน

อ๋อย การปฏิวัติสังคมตามที่ลัทธิมาร์ค เลนิน เหมา กล่าวนั้นล้วนต้องใช้กองกำลังปฏิวัติ และมวลชน ซึ่งก็ต้องมีฝ่ายปลุกระดมเพื่อสร้างมวลชนมากๆ ให้เป็นแนวร่วมในการสร้างพลังไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่วิธีนี้ย่อมต้องมีการสูญเสีย หลายปีที่สะเมิงนั้นความจริงที่พี่สัมผัสนั้นคือ ชุมชนมุ่งมั่นอยู่แค่เรื่องการประกอบอาชีพ แค่นี้ก็หนักหนาสาหัสแล้ว แต่กลุ่มคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งพัฒนาความคิดทางการเมืองนั้นไปไกลแล้ว มีช่องว่างความรู้ความเข้าใจนี้จริงๆ

อ๋อย พี่คิดว่า การปฏิวัติสังคมที่แดงประกาศอยู่นั้น คือ การปฏิวัติของชนชั้นกลางต่างหาก ไม่ใช่ไพร่ คำว่า ไพร่คือชาวบ้านที่เป็นแนวร่วมที่ชนชั้นกลางไปดึงเข้ามา โดยอาศัยฐานการเมืองเดิมของผู้นิยมทักษิณ พี่เชื่อว่า หากการปฏิวัติครั้งนี้สำเร็จ ปัญหายิ่งใหญ่ตามมาคือ คุณจะบริหารจัดการสังคมใหม่ได้อย่างไร พี่ไม่เชื่อว่าหลักการเดิมนั้นจะสามารถนำมาใช้ใน “สังคมนาโน” ยุคนี้ได้ พี่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ตรงข้ามพี่เชื่อมั่นในการพัฒนาชุมชนแบบค่อยเป็นค่อยไป.. พี่เห็นด้วยกับการพัฒนาประเทศในรูปแบบสมดุล.. พี่เห็นด้วยกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง เพราะประสบการณ์ของพี่ตอกย้ำเช่นนั้น

ที่ประกาศว่าจะปฏิวัติก้าวไปสู่สังคมใหม่นั้น มีแดงที่นั่งฟังนั้นกี่คนที่เข้าใจ และมีสักคนไหมที่ลุกขึ้นมาถามรายละเอียดของสังคมใหม่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มันไม่ง่ายเกินไปที่จะทำการปฏิวัติสังคมใหม่แต่ไม่มีใครทราบเลยว่าสังคมใหม่นั้นเป็นอย่างไร แค่โค่นอำมาตย์ แล้วไม่ใช่เราจะได้อำมาตย์ใหม่ขึ้นมาหรือ

อ๋อย เมื่อได้อำนาจมาแล้วสาวกแดงทั้งหมดเข้าใจเจตนาจริงๆแล้ว คิดบ้างไหมว่าเขาเหล่านั้นจะคิดอะไรต่อไป สาวกที่เข้าใจว่าตัวเองนั้นคือ “ผู้หลงผิด” เขาจะกลับตัวอย่างไร หากเขาผู้หลงผิดขอกลับเนื้อกลับตัว เขาเหล่านั้นอาจจะหันกระบอกปืนมาทางแกนนำแดงก็ได้ มันไม่จบนะ..

อ๋อย พี่เสียดายพลังสร้างสรรค์ของอ๋อยและทีมงาน ซึ่งจำนวนไม่น้อยทั้งที่เปิดตัวและปิดลับก็คือเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาตั้งแต่สมัย 2516 แม้ว่าพี่จะไม่ใช่ผู้อยู่วงใน แต่ภาพที่ปรากฏนั้นพอเข้าใจได้ว่าใครกำลังทำอะไรซึ่งพี่ไม่เห็นด้วย …

…และพี่จะคัดค้าน


มุมอับ..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 เมษายน 2010 เวลา 9:05 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 1068


ไม่ทำอะไรก็โดนประชาชนด่า

พอทำลงไปก็โดนฆ่า และเกรงว่าประชาชนจะตายอีก

ไม่ทำอะไร นักธุรกิจก็หงุดหงิด บางคนยุส่งให้ยุบฯไปเลย

อีกฝ่าย รุกตลอด “เดี๋ยวยกระดับ เดี๋ยวยกระดับ”

ส่งหมาต๋าไปจับ ก็โดนเขาจับหม๋าต๋า ขำไม่ออกจริง

กองกำลังไม่ทราบฝ่าย (จริงๆทราบว่าเป็นฝ่ายไหน)

จะทำอย่างไรจึงจะเรียบร้อยที่สุด..

จะควบคุมตัวแกนนำอย่างไร จึงจะเรียบร้อยที่สุด..

จะจบเกมส์นี้อย่างไรจึงจะเรียบร้อยที่สุด

โธ่.โธ่..ประเทศชาติ


ซ่อมบ้าน

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 เมษายน 2010 เวลา 0:46 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 747

ค้น Internet เพื่อหาข้อมูลการกำจัดปลวก ซึ่งกำลังเป็นปัญหากับบ้านผม ความจริงก็เป็นปัญหามาตลอด สมัยก่อนก็เอาบริษัทที่มีสำนักงานที่ขอนแก่นจัดการ แต่มันเป็นสารเคมี เรารังเกียจ ก็พยายามหาข้อมูลว่ามีวิธีใดบ้างที่ดีกว่า และไม่ใช้สารเคมี ญาติ พี่น้องแนะนำมาหลายวิธีใช้หมดเลย พบว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร ในที่สุดก็เรียกใช้บริการของบริษัทหนึ่ง เขาโฆษณาว่าใช้สมุนไพรนำเข้า กำจัดได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราสอบถามก็ตกใจเพราะเขาคิดค่าบริการสูงกว่าแบบอื่นๆเกือบสามเท่า ปรึกษากันในครอบครัวตัดสินใจเรียกใช้บริการ

ตอนนั้นเดือนธันวาคม 52 แผ่นปาเก้ห้องเริ่มมีร่องรอยปลวกกัดกิน เมื่อพนักงานบริษัทมาก็ให้ข้อมูลเขา เด็กหนุ่ม เอาสาวมาด้วยดูเหมือนกำลังจีบกันอยู่ ไอ้หนุ่มก็อธิบานความวิเศษของน้ำยาสมุนไพร ผลไม่ได้เรื่อง พื้นปาเก้แผ่นแล้วแผ่นเล่าถูกปลวกกัดกินไปเรื่อยๆ ตรงไหนที่พ่นน้ำยาก็ได้ผลตรงไหนที่ไม่ได้พ่นน้ำยา ปลวกก็จัดปาร์ตี้กินไม้ปาเก้กันดังลั่นห้อง สัญญาที่ทำกันไว้ หากมาทำการพ่นยา 7 ครั้งไม่สามารถกำจัดปลวกได้หมดยินดีคืนเงิน

โอย แค่ ครั้งที่ 5 พื้นปาเก้ทั้งห้องก็เสียหายจนหมดรูปแล้ว ผมเมล์ไปร้องเรียนบริษัท เขาก็ส่งเด็กคนนั้นมาพ่นสมุนไพรอีก มันไม่เหลือแล้ว พื้นปาเก้ก็ไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว จึงตัดสินใจรื้อและปูกระเบื้อง และจะต้องทำช่วงสงกรานต์เพราะทุกคนสามารถอยู่บ้านดูแลการทำงานของช่างได้

บ้านมีปัญหาหลายอย่างจึงถือโอกาสซ่อมซะช่วงนี้เลย บ้านทรุด ก็เอาช่างแถวๆบ้านมาเอาทรายถมตรงปัญหา ซ่อมรางน้ำ ทางระบายน้ำรอบบ้าน

ปูกระเบื้องห้องนี่ซิ เราก็ให้ช่างมาคำนวณว่าจะใช้กระเบื้องเท่าไหร่ เราเองก็วัดและคำนวณของเราเองบ้าง ต่างกัน ครับช่างคำนวณ 30 ตารางเมตร เราคำนวณได้ 32 ตารางเมตร ไปดูกระเบื้องตามร้านโน้นร้านนี่ ให้คนข้างกายตัดสินใจเป็นคนเลือกลาย ชนิด สีเอง ในที่สุดได้ที่ Home pro เขาจะส่งให้ฟรีถึงบ้าน หากไปเอาที่ Global House ลายเดียวกัน เขาจะไม่ส่ง หากส่งจะคิดเงินเพิ่ม เราก็เอาที่เขาส่งฟรี โดยพนักงานขายแนะนำว่าควรจะซื้อเผื่อการแตกหักในอนาคตไว้ อีก 1 กล่อง เป็นหลักการที่ดี

เมื่อเริ่มปูใกล้เสร็จ ช่างบอกว่ากระเบื้องขาดไป 1 กล่อง..เราก็ขับรถไปที่ห้าง โชคดีที่เขาไม่ปิดช่วงสงกรานต์ แต่โชคร้ายที่เขาบอกว่าไม่มีในสต็อคต้องสั่งจากกรุงเทพฯซึ่งใช้เวลา 14 วัน..??? จ๊ากสสส ต้องการเพียงสามสี่แผ่นต้องรอ 14 วัน..อธิบายให้พนักงานทราบว่าขณะนี้บ่ายโมงครึ่งช่างกำลังปูพบว่าขาดเพียงสามสี่แผ่น ซึ่งต้องซื้อยกกล่อง ช่วยแนะนำหน่อยงว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้วันนี้ เดี๋ยวนี้เพื่อให้งานเสร็จ วันหยุดที่เหลือเราจะค่อยๆทำความสะอาดและย้ายสิ่งของคืนห้อง

พนักงานบอกว่าไปดูที่ Global House ซิครับ เออ จริงนะ เราบึ่งไปทันที โชคร้ายเขาไม่มีในสต็อคเช่นกัน เรากลับไปที่ห้างเดิม เพื่อปรึกษาอีก เขาก็พยายามเช็คไปที่สาขาที่ใกล้ที่สุดคืออุดร พบว่ามีอยู่ 12 กล่อง แต่เขาบอกว่า เป็นการผลิตรุ่นเก่า สีอาจจะไม่ตรงกับรุ่นที่ซื้อไปก่อนแล้ว หากไม่รังเกียจก็ไปเอาได้เลยตอนนี้

ผมบึ่งรถไปอุดร เพื่อซื้อกระเบื้อง 2 กล่อง (สำรอง 1 กล่อง) กลับมาทันช่างซึ่งยอมอยู่จนค่ำเพื่อทำงานให้เสร็จ

เป็นประสบการณ์ในการซ่อมบ้านอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ทั้งวันค่อยๆทำความสะอาด และค่อยๆขนย้ายบางส่วนเข้าที่ โอย อีก สองวันก็ไม่จบครับ เพราะถือโอกาสจัดบ้านไปด้วยเลย ทำเท่าที่สองคนตายายจะทำได้ อิอิ เพราะลูกสาวกลับไปทำงานแล้ว..

สงกรานต์ปีนี้ ซ่อมบ้าน.. นั่งลุ้นเหตุการณ์กรุงเทพฯที่หน้าจอทีวี


จดหมายถึงอ๋อย 2

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 เมษายน 2010 เวลา 0:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 711

อ๋อย สมัยที่เราเรียนเราอ่านหนังสือกันมาก ล้วนเป็นเรื่องหนักๆทั้งสิ้น แม้แต่ Selected Work of Mao หรือ The Capitalist ของ Marx หรือ แม่ ของ Maxim Gorgi ฯลฯ ของคนไทยเองเราก็อ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์, ยอดธง ทับทิวไม้, ท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์, ท่านปรีดี พนมยงค์ และอีกมาก บางคนสนใจกวี ก็อ่านของ คาลิล ยิบราล ฯลฯ เราไม่ได้อ่านใครอ่านมัน อ่านแล้วเอามาถกกันมากกว่าอ่านหนังสือเรียน มีหลายคนที่อ่านหนังสือ “แตก” จับประเด็นเก่ง สามารถมาสรุปให้เพื่อนฟังได้อย่างดี

อ๋อย คนรุ่นเราสมัยนั้นไม่เที่ยวเตร่ ดูหนังฟังเพลง ไม่ได้เมาเหล้า เล่นไพ่ตามหอพัก แต่เราเอาเวลาเหล่านั้นมาศึกษาเรื่องราวต่างๆของโลก หนังสือเหล่านี้หลายเล่มเราต้องเผาทิ้ง หรือซ่อนในที่ลับเพราะผิดกฎหมาย อย่างโฉมหน้าศักดินาไทย เดี๋ยวนี้ยังหาอ่านไม่ได้ แต่เราถกกันซะป่น บดกันเป็นผง คุยกันยันสว่างครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเราเรียกกันว่า ตกผลึกทางความคิดใช่ไหมอ๋อย

เรื่องที่หวาดเสียวดูจะเป็นระบบชนชั้นในสังคมนี่แหละที่เราเอาทฤษฎีของ Marx เป็นตัวตั้ง เอาบทเรียนของ “อเยลเด” ในอาเจนตินา บทเรียนจากรัสเซีย ในจีนฯ มาศึกษา สมัยนั้นเราเป็นคนหนุ่มสาว ที่บริสุทธ์ผุดผ่อง เจตนาทั้งหมดเพื่อสังคมที่ดีกว่า คิดเอาบ้านเอาเมือง หรือที่เรียกคิดใหญ่ เพราะสภาพสังคมในช่วงนั้นอ๋อยก็รู้ว่ามันอยู่ในสภาพเผด็จการ ในคราบประชาธิปไตย สร้างเพื่อนพ้องน้องพี่ให้มีอุดมการณ์ ใกล้เคียงกับเรา พี่นิสิต จิรโสภณ รุ่นพี่เราที่แกร่งที่สุดก็ถูกถีบตกรถไฟเสียชีวิตด้วยความจัดจ้านของพี่เกินใครๆ .

อ๋อย เพื่อนเราที่ลุยเรื่องชาวนา ก็ไปสร้างชาวนาในภาคเหนือจนเดินตามเรามามากต่อมาก และเป็นเป้าให้กับบ้านเมือง และพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรืองก็สังเวยให้กับอุดมการณ์ ซึ่งสรุปกันว่า กอ.รมน.สั่งเก็บผู้นำชาวนา จนประเมินว่าอยู่ในเมืองกันไม่ได้ ต้องหลบรี้หนีภัยเข้าป่า พี่เป็นคนไปส่งหลายคน ตามระบบที่วางไว้ หลายคนไปเสียชีวิตไม่ได้กลีบคืนบ้านอีกเลย

อ๋อย เมื่อน้ำเดือด เพื่อนฝูงก็บอกว่าถึงเวลาที่ทุกคนต้องตัดสินใจต่อชีวิตครั้งใหญ่ คือการเข้าป่าแล้ว เพราะช่วงนั้นที่กรุงเทพฯ ทหารออกมาฆ่าผู้เดินขบวนแล้ว.. เพื่อนบางคนเก็บเสื้อผ้าด้วยน้ำตาแล้วเข้าป่าไปด้วยหัวอกที่ชอกช้ำ ไปนั่งกอดกันร้องให้ท่ามกลางป่าเขาที่เงียบสงัด พ่อแม่ พี่น้องยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกๆได้ตัดสินใจครั้งใหญ่แล้ว..

เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง ขัดแย้ง สัมพันธ์ สังคมเคลื่อนตัวออกไป วุฒิภาวะแต่ละคนสูงขึ้น พี่ตัดสินใจเลือกทางเดินของพี่คือสู่ชนบท แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคทางบ้านเมือง และก็ไม่พ้นข้อหาทางการเมือง ที่ศูนย์การุณยเทพเชียงใหม่นั้น พี่พบท่านอาจารย์องุ่น มาลิกที่เราเคารพรักท่าน พบอาจารย์วิทยาลัยครู พบผู้นำชาวนาที่ตกขบวน และเพื่อนนักศึกษาหลายคน.. รวมทั้งไอ้แอ๊ด เดลินิวส์ การ์ตูนนิสต์ชื่อดังก็นอนเตียงติดกับพี่..


อ๋อย เพื่อนๆแอบออกมาจากป่ามาเยี่ยมพี่บ้างเป็นครั้งคราว แล้วก็หายหน้าไปจนป่าแตกนั่นแหละทุกคนก็อกหักออกมาสังคมเมืองอีกครั้ง

อ๋อย แดงที่เคลื่อนตัวทุกวันนี้ คนผ่านชีวิตช่วงของเรานั้นอ่านก็ออกว่านี่คือ แนวคิดเดิมที่เคยใช้มาก่อนปัดฝุ่นเอามาปรับใช้ในเงื่อนไขปัจจุบัน

อ๋อย แดงกล้าหาญเหลือเกินกว่าที่พี่คาดคิด กล้าหาญประกาศกลางกรุงเทพมหานคร ถึงการล้มอำมาตย์ ใครๆก็เข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร วันที่พี่เข้าไปในพื้นที่ทำงานของพี่เห็นธงแดงยกขึ้นเหนือกระต๊อบชาวบ้านของพี่นั้น พี่รู้สึกเจ็บปวดลึกๆ จริงๆ….

อ๋อย คนที่อ๋อยปกป้องอยู่น่ะ แค่ใช้วาทะกรรมทางการเมืองสร้างผลงานเพราะอ๋อยและทีมงานของพวกเราในอดีตป้อนกระบวนวิธีให้ใช่ไหม อ่านสังคมชนบทออกมาแล้วใช้จุดอ่อนนั้นเป็นประโยชน์ทางการเมือง การเมืองที่อ้างแต่คะแนนเสียง อ้างผลการเลือกตั้ง แล้วก็ไปยืนยืดอกเป็นผู้มีเกียรติในอาคารที่โอ่อ่า แล้วใช้โอกาสนั้นแสวงหาประโยชน์ที่แนบเนียนมากขึ้นฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็อดทนที่จะก้าวสู่อุดมคติของกลุ่มตนที่วาดฝันมา เช่นนั้นหรือ ต่างใช้ซึ่งกันและกัน

อ๋อย ปัจจุบันนี้ พี่ไม่เชื่อ ว่าขั้นตอนการปฏิวัติสังคมนั้นจะหยิบอดีตมาใช้ได้ในปัจจุบัน หรือว่ากลุ่มของอ๋อยพัฒนาไปไกลแล้ว และกำลังทดสอบขั้นตอนเหล่านั้น แต่ปากหนึ่งตะโกนว่า สันติ อหิงสา ไร้ความรุนแรง แต่มือข้างหลังเต็มไปด้วยอาวุธร้ายที่พร้อมจะลงมือเมื่อมีจังหวะ

อ๋อย ทฤษฎีปฏิวัติสังคมที่ใช้วิธีรุนแรงนั้น ไม่เคยจบลงด้วยเป้าหมายที่ต้องการ แนวความคิดสร้างสังคมที่วาดบนกระดาษและมิได้มาจากการปฏิบัติจริงนั้น ย่อมขาดสาระและรายละเอียดในสภาพจริง แนวคิดนั้นก็เป็นเพียงบลูปรินส์สวยที่ลอยอยู่บนฟากฟ้าเพียงเท่านั้น

อ๋อย ทางเดินชีวิตของพี่อยู่ในวงการพัฒนาชนบท มากกว่าสามสิบปี ในระหว่างทางเดินของช่วงเวลาดังกล่าว พี่สัมผัสในหลวงด้วยงานของพระองค์ พี่ชื่นชมพระองค์ท่านที่ก้าวลงมาผลักดันให้สังคมชายขอบของไทยได้ก้าวพ้นความทุกข์ยาก หากพระองค์ไม่ก้าวลงมา พี่ก็เชื่อแน่ว่าชายขอบของประเทศจะมีปัญหามากมายซึ่งหน่วยงานของรัฐก็เอื้อมมือไปไม่ถึง แค่นี้ก็ล้นพ้นแล้ว คนพูดน่ะมีมาก คนคิดก็มีเยอะ แต่พระองค์ทำ และนำประสบการณ์นั้นๆมาสร้างทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง.

พี่เชื่อในสิ่งที่พี่เห็น และได้สัมผัส อ๋อย พี่ไม่เชื่อในความฝัน และยิ่งความฝันที่รุนแรงนั้น พี่ไม่เห็นด้วย..



Main: 0.12244510650635 sec
Sidebar: 0.053655862808228 sec